ไม่ใช่เรื่องแปลก หากความคลั่งไคล้ในวัตถุ และวิถีการดำเนินชีวิตที่ฟุ่มเฟือย สไตล์แม่แบบแห่งทุนนิยม จะส่งผลให้สหรัฐอเมริกา กลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศซึ่งแผดเผาโลกของเรามากกว่าชาติอื่นๆในหน้าประวัติศาสตร์
David G. Victor นักวิชาการด้านสภาพภูมิอากาศการเมือง ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก กล่าวว่า “อย่างแน่นอน เราเองคือเจ้าของปัญหานี้มากกว่าใครๆ” หลายคนแย้งว่าประเด็นนี้ ทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้ความพยายาม และเร่งหาแนวทางเพื่อช่วยชะลอการเกิดภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ กลับประกาศว่า สหรัฐฯจะขอถอนตัวออกจากข้อตกลง ณ กรุงปารีส อันเป็นอนุสัญญาระหว่าง 195 ประเทศทั่วโลก ที่มีเป้าหมายเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะเรือนกระจกมากไปกว่านี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของมนุษยชาติในภายภาคหน้า
การถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงดังกล่าว นับเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์เป็นอย่างมาก หลายฝ่ายผิดหวังกับการตัดสินใจของทรัมป์ และถือว่ามันคือความพ่ายแพ้ ทั้งในเชิงปฏิบัติและเชิงนโยบายทางการเมือง ในการช่วยแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก
ถึงแม้ว่า มาครง – ประธานาธิบดี แห่งฝรั่งเศส จะออกแถลงข่าว ยอมรับการตัดสินใจของทรัมป์ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจครั้งนี้ มาครง ยังกล่าวเชิญชวนนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และปัญญาชนจากสาขา และวิชาชีพต่างๆ ว่า ใครก็ตามที่ผิดหวังกับการตัดสินใจของทรัมป์ ให้ถือเสียว่า ฝรั่งเศสเป็น “มาตุภูมิที่สอง” ของพวกเขา อีกทั้งยังเชื้อเชิญให้มาทำงานอยู่ในฝรั่งเศสด้วยกันเพื่อ “make our planet great again” (ทำให้โลกของเรายิ่งใหญ่อีกครั้ง) อันเป็นการเสียดสีไปยังสโลแกนหาเสียงของทรัมป์ที่ว่าจะ “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง” (make America great again)
ทั้งนี้ การถอนตัวออกของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบทำให้ประเทศอื่น ๆ ถอนตัวออกมาด้วยเช่นกัน หรือจะทำให้ชาติต่างๆ ลังเล และหันมาทบทวนข้อตกลงในการปล่อยมลพิษจากประเทศของตน ซึ่งจะยิ่งเป็นการเพิ่มความยากลำบาก ให้กับการไปถึงยังเป้าประสงค์ของข้อตกลงดังกล่าว ในการจำกัดสภาวะโลกร้อนให้อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ ซึ่งเดิมที มันก็เป็นอะไรที่ยากจะทำให้สำเร็จอยู่แล้ว
เนื่องมาจากภาพที่สื่ออกมานั้น คือ สหรัฐอเมริกา – ในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจเชิงพลวัตรที่ใหญ่และมากที่สุด เลือกที่จะถอนตัวออกจากบทบาทผู้นำ ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
“มันเป็นเรื่องผิดศีลธรรม” Mohamed Adow ผู้ซึ่งเติบโตขึ้นมากับการเลี้ยงปศุสัตว์ในประเทศเคนยากล่าว ณ ตอนนี้เขากำลังทำงานในกรุงลอนดอน ในฐานะ ผู้นำเกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ประจำกลุ่มบรรเทาทุกข์และการพัฒนา Christian Aid เขากล่าวเสริมว่า “ประเทศที่ก่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด กลับกลายเป็นประเทศที่จะต้องทุกข์ทรมาน(จากปัญหา)ก่อนและเลวร้ายที่สุด”
ผู้สนับสนุนบางส่วนของข้อตกลงนี้ แย้งว่า บทบาทของชาวอเมริกัน ที่ส่งผลอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดหน้าที่รับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะมาช่วยต่อกรกับปัญหาโลกร้อนดังกล่าว เพราะมันส่งผลกระทบในระดับที่กว้าง และลึกไปกว่านั้น นี้รวมไปถึง ภาระผูกพัน ในการดำเนินการส่งเงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือคนในประเทศที่ยากจนกว่าซึ่งได้รับผลกระทบ
รัฐบาลโอบามา ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคเงินจำนวน 3 พันล้านเหรียญ เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากไร้ที่สุด ทว่ามีเพียง 1 พันล้านเหรียญเท่านั้นที่ถูกโอนไปให้กับกองทุน เมื่อถึงเวลาที่ประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 20 มกราคม
ทรัมป์ได้อ้างไปยังงานค้นคว้าที่ได้รับการตีพิมพ์ และแย้งว่า การบรรลุข้อตกลงปารีส จะบีบรัดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งผลให้คนจำนวน “มากถึง 2.7 ล้านคน ต้องสูญเสียอาชีพภายในปี 2025” ซึ่งในจำนวนนี้ 440,000 คน จะมาจากอุตสาหกรรมการผลิต เขายังกล่าวอีกว่า ภายในปี 2040 ความสูญเสียจะเพิ่มขึ้น จะเกิดภาวะขาดแคลนอาชีพกว่า 6.5 ล้านตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรม หรือ ผลผลิตทางเศรษฐกิจจะขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ รายได้ต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ยจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 7,000 เหรียญ
หลายฝ่ายจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้ล็อบบี้ กล่อมให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลง ทั้งนี้ มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในหมู่บริษัทมหาชน ขณะที่ การถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส คือ คำมั่นสัญญาหลักในการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์
ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีส่วนผิดชอบต่อการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากกว่าประเทศอื่น ๆ ทว่า ก็ไม่ใช่ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก จีนแซงทะลุสหรัฐฯ เมื่อประมาณทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปัจจุบัน ตัวเลขการปล่อยมลพิษของจีน สูงเป็นสองเท่าของสหรัฐฯ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกบางส่วนของจีน มาจากการผลิตสินค้าเพื่อส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศร่ำรวยอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นระยะเวลาที่นานกว่า และในปัจจุบันประเทศนี้มีประชากรกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งมีส่วนผิดชอบเกือบหนึ่งในสามของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินที่กำลังแผดเผาโลก ประเทศจีนมีส่วนต้องรับผิดชอบน้อยกว่า 1 ใน 6 ขณะที่กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปรวมกัน 28 ประเทศ มีตัวเลข อยู่เป็นรองหลังจากสหรัฐอเมริกาในประวัติ การปล่อยมลภาวะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก
แม้จีน จะมีประชากรเป็นจำนวนมากถึงสี่เท่าของสหรัฐฯ แต่ชาวจีนก็ยังคงเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลได้น้อยกว่าครึ่งของชาวอเมริกันโดยเฉลี่ย
ชาวอเมริกันทั่วไป ยังเผาไหม้พลังงาน มากกว่า ประมาณสองเท่าของคนทั่วไปในยุโรปหรือญี่ปุ่น และ 10 เท่าของคนทั่วไปในอินเดีย
คณะบริหารของทรัมป์ได้ทำให้ชัดเจนแล้ว เมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า จะยกเลิกเป้าหมายการปล่อยมลพิษที่กำหนดไว้โดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา และถอนตัวออกจากคำมั่นสัญญาที่จะช่วยเหลือประเทศยากจนในการต่อกรกับภาวะโลกร้อน และยังพยายามที่จะลดงบประมาณด้านการวิจัย เพื่อมุ่งแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศต้องร่วมกันแก้ปัญหา โดยต้องไม่เปิดโอกาสให้มีการปล่อยมลพิษในประเทศกำลังพัฒนา จนอยู่ในระดับสูง ตามแบบประเทศที่ร่ำรวย
นับเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางการเมือง อันนำไปสู่ข้อตกลงปารีส เมื่อเกือบทุกประเทศทั่วโลก ร่วมกันเผชิญหน้ากับความเป็นจริงและตกลงที่จะทำสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าว มองเห็นและยอมรับว่า ประเทศที่ยากจนที่สุดไม่มีความสามารถจะดำเนินกิจการต่างๆได้ด้วยตัวเอง เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม พวกเขาจึงถูกสัญญาให้ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านเทคนิคจากประเทศที่พัฒนายิ่งกว่า
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวว่า ประเทศที่ยากจนอาจจะสามารถพัฒนาประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลล์ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น พลังงานทดแทน และรถยนต์ไฟฟ้า ที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้กับ ความเป็นไปได้ในการกวาดล้างระบบพลังงานโลกแบบเก่าที่ส่งผลร้ายแรงต่อโลก
“จริงๆ ไม่มีใครต้องการน้ำมันมากมาย (หลายบาเรล) หรือถ่านหินเป็นตันๆ” – John D. Sterman ศาสตราจารย์ด้านบริหาร สถาบันเทคโนโลยี Massachusetts และผู้ก่อตั้ง “คลังสมอง” (Think-Tank) ที่เรียกว่า Climate Interactive กล่าวว่า “สิ่งที่ผู้คนต้องการ คือ ที่ที่อบอุ่น แห้ง และปลอดภัย สำหรับใช้อยู่อาศัย และต้องการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และแสงสว่างยามมืดมิด”
*Think-Tank มีบทบาทในฐานะผู้ศึกษาวิจัยและให้ข้อมูลแก่รัฐบาล ในกระบวนการกำหนดนโยบายต่างๆ
หากว่า สินค้าเหล่านี้สามารถผลิตและจัดจำหน่ายด้วยพลังงานสะอาดได้จริง นี่อาจเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 และประเทศต่างๆ เช่นจีนและอินเดีย ดูเหมือนจะมองเห็นอะไรๆในแง่มุมเดียวกันนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งงานวิเคราะห์โดย Climate Action Tracker พันธมิตรของ “คลังสมอง” (Think-tank) ในยุโรป เมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้เผยว่า ทั้งสองประเทศต่างก็อยู่ในลู่ทางที่สามารถเอาชนะเป้าหมายที่ตั้งไว้ในข้อตกลงปารีสได้ แม้สหรัฐฯจะขอถอนตัวออกก็ตาม
The New York Times ถามไปยัง Climate Interactive เพื่อคำนวณหาช่วงเวลาโดยประมาณ ที่ชาวอเมริกันจะไม่มีเชื้อเพลิงฟอสซิลหลงเหลือให้ใช้ได้ ในกรณีที่หากว่า ประชากรของประเทศสหรัฐฯ ในตอนต้นของยุคอุตสาหกรรม ได้รับการจัดสรรส่วนแบ่งในการใช้พลังงานเท่าๆกับประชากรโลกที่เหลืออยู่ การคำนวณดังกล่าว ตั้งอยู่บนสมมติฐานและทฤษฎี อันเกี่ยวข้องกับการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ
คำตอบที่ได้คือ: หากคำนวณตามนี้ ชาวอเมริกันจะหมดโควต้าให้สามารถใช้พลังงานไปแล้ว ตั้งแต่ปี 1944 ปีที่กองทัพพันธมิตรบุกชายหาด Normandy
_________
ที่มา: https://www.nytimes.com/interactive/2017/06/01/climate/us-biggest-carbon-polluter-in-history-will-it-walk-away-from-the-paris-climate-deal.html
Source: Carbon Dioxide Information Analysis Center, Oak Ridge National Laboratory; country classifications via United Nations