ผู้นำสูงสุดอิหร่านแนะ ชาติมุสลิมควรกำหนดใช้มาตรการในทางปฏิบัติเพื่อกดดันรัฐบาลพม่าต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

211

อายะตุลลอฮ์ อะลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลามเมื่อวันที่ 12 กันยายน ในช่วงเริ่มต้นของบทเรียนระดับสูงวิชาฟิกฮ์ (นิติศาสตร์อิสลาม) ได้ชี้ถึงเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดในพม่า พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อการนิ่งเงียบและการไม่ดำเนินการใดๆ ของประชาคมระหว่างประเทศและบรรดาผู้กล่าวอ้างถึงสิทธิมนุษยชนที่มีต่อเหตุการณ์ร้ายแรงเหล่านี้

นอกจากนี้ ผู้นำสูงสุดรัฐอิสลามแห่งอิหร่านยังได้เน้นย้ำว่า วิธีแก้ปัญหานี้ คือ การกำหนดใช้มาตรการในทางปฏิบัติโดยบรรดาประเทศมุสลิมทั้งหลาย ผ่านการกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อรัฐบาลที่โหดร้ายของประเทศพม่า พร้อมกันนั้นได้กล่าวว่า  “สาธารณรัฐอิสลามจะต้องประกาศจุดยืนที่ชัดเจนและห้าวหาญในการต่อต้านการกดขี่ในทุกส่วนของโลก”

ทั้งนี้ การลดความสำคัญของเหตุการณ์ร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า ให้กลายเป็นความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธนั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ผู้นำสูงสุดรัฐอิสลามแห่งอิหร่านกล่าว พร้อมเสริมว่า แน่นอนเป็นไปได้ว่า ในเหตุการณ์นี้ ความมีอคติทางศาสนาอาจจะส่งผลกระทบอยู่บ้าง แต่ประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นเพียงประเด็นทางการเมือง เพราะผู้ดำเนินการ คือ รัฐบาลพม่า และในส่วนหัวของรัฐบาลนั้นก็เป็นสตรี ผู้ไร้ความเมตตาที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และด้วยกับเหตุการณ์เหล่านี้ ในความเป็นจริงแล้ว ชี้ให้เห็นถึงวาระสิ้นสุดของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอย่างแท้จริง

ผู้นำสูงสุดอิหร่านได้เสริมว่า   “เหตุการณ์ร้ายแรงเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นโดยรัฐบาลที่โหดร้ายของพม่าท่ามกลางสายตาของบรรดาประเทศและรัฐบาลอิสลามและประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งบรรดารัฐบาลที่หลอกลวงและกล่าวอ้างอย่างมดเท็จในส่วนของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน”

ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลาม ได้วิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการของเลขาธิการสหประชาชาติ ที่กระทำแค่การประณามอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในพม่าเพียงเท่านั้น และกล่าวเสริมว่า  บรรดาผู้กล่าวอ้างสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ในบางครั้ง เพื่อที่จะลงโทษผู้กระทำผิดเพียงคนเดียว ได้สร้างความวุ่นวายและโกลาหลขึ้นในประเทศๆหนึ่ง ทว่ากลับไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ เลยต่อกรณีการสังหารหมู่และการพลัดถิ่นของประชาชนพม่าจำนวนนับหมื่นคน

อายะตุลลอฮ์อะลี คาเมเนอี ได้เน้นถึงความจำเป็นในการเข้ามามีบทบาทและการกำหนดใช้มาตรการในทางปฏิบัติของบรรดารัฐบาลอิสลาม พร้อมกับกล่าวว่า  อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์จากคำว่า การกำหนดใช้มาตรการในทางปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายถึงการส่งกองทัพเข้าไป แต่ทว่าจำเป็นต้องเพิ่มการกดดันทางการเมือง เศรษฐกิจและการค้าของตนต่อรัฐบาลพม่า และจะต้องเปล่งเสียงตะโกนต่อต้านอาชญากรรมเหล่านี้อย่างแข็งขันในเวทีระหว่างประเทศ

ผู้นำสูงสุดอิหร่านถือว่า การจัดการประชุมขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ในประเด็นของเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในพม่านั้นเป็นสิ่งจำเป็น และกล่าวว่า  โลกในวันนี้เป็นโลกที่เต็มไปด้วยการกดขี่ และสาธารณรัฐอิสลามจำเป็นที่จะต้องรักษาความเด็ดเดี่ยว โดยการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนและกล้าหาญของตน ในการต่อต้านการกดขี่ทุกที่ในโลก ไม่ว่าจะในดินแดน (ปาเลสไตน์) ที่ถูกยึดครองโดยอิสราเอล หรือ ไม่ว่าจะเป็นในเยเมน ในบาห์เรนหรือในพม่าก็ตาม

Source: fa.alalam.ir