เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเตหะราน และนายกสมาคมนักเรียนไทยในอิหร่าน พร้อมคณะนักศึกษาไทย ร่วมกันทำความดีใน “โครงการจิตอาสา” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่9 เมื่อวานนี้ ณ สถานทูตไทย ประจำกรุงเตหะราน สาธารณะรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน
วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ณ สถานทูตไทย ประจำกรุงเตหะราน นายซัยยิดฮาซัน ฮูซัยนี
นายกสมาคมนักเรียนไทยในอิหร่าน พร้อมคณะนักศึกษาไทย-มุสลิม นิกายชีอะฮ์ ณ สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ร่วมใจกันเข้าร่วมพิธีซ้อมและช่วยกันเตรียมสถานที่ สำหรับโครงการจิตอาสา เฉพาะกิจ งานพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ตามคำเชิญชวนของสถานเอกอัครทูตฯ ในเจตนารมณ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9
ตั้งแต่เดือนกันยายน ตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมา ทางสถานเอกอัครทูตไทย ประจำกรุงเตหะราน ได้ประกาศรับสมัคร เชิญชวนประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า ทุกอาชีพ ทุกวัย อายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป เข้าร่วมโครงการจิตอาสา เฉพาะกิจ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สำหรับประเภทของกิจกรรมจิตอาสาที่คณะนักศึกษาฯ ได้ร่วมปฎิบัติ ได้แก่ งานบริการประชาชน งานจราจร และงานประชาสัมพันธ์ จากกิจกรรมทั้งสิ้น 8 ด้านตามที่กำหนดมาโดยสถานเอกอัครราชทูตฯ
ทั้งนี้ผู้ที่สมัครเข้าร่วมได้รับสิ่งของพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูล ดังนี้ บัตรประจำตัวจิตอาสาเฉพาะกิจงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เสื้อ หมวก ผ้าพันคอ และปลอกแขน
นักศึกษาไทยในอิหร่าน ส่วนมากจะเป็น ชาวไทยมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะฮ์ ซึ่งได้เดินทางมายังประเทศอิหร่าน เพื่อทำการศึกษาศาสนาอิสลามต่อในระดับมหาวิทยาลัย
แม้ว่าจะเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย และทั่วโลก ทว่ามุสลิมชีอะฮ์ และประเทศอิหร่าน ก็มีบทบาทที่สำคัญหลายๆกรณี โดยเฉพาะยังมีความสัมพันธ์และประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกับราชวงศ์พระมหากษัตริย์ของไทย นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยา
มุสลิมชีอะฮ์มีบทบาท ดำรงตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ของไทย นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยา หรือ เมื่อประมาณ 500 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน มีมุสลิมชีอะฮ์ทั้งสิ้น 13 คนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ ซึ่งเป็นตำแหน่ง ผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย และเป็นตำแหน่งฝ่ายมุสลิมให้ข้อปรึกษาด้านศาสนาอิสลามแก่รัฐบาลไทย โดยเฉพาะแก่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวัฒนธรรม
สมัยกรุงศรีอยุธยา ทำเนียบศักดินาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1991 – 2031 ระบุว่ามี “จุฬาราชมนตรี” บางแห่งเรียกว่า “จุลาราชมนตรี” ซึ่งในชั้นหลังเรียกว่า “กรมท่าขวา” เป็นหัวหน้าฝ่ายแขก ทั้งนี้ไม่ปรากฏนามว่าเป็นใครในแผ่นดินสมเด็จพระเอกทศรถ พ.ศ. 2148 – 2163 ทว่าว่ามีตัวตนปรากฏอยู่
อย่างไรก็ดี ที่มีความชัดเจนด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. 2163 – 2171 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเฉกอะหะหมัด ชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน)เป็นมุสลิมนิกายชีอะฮ์ อิสนาอะชะรียัต เข้ารับราชการ มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาเฉกอะหะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา จึงนับได้ว่าท่านเฉกอะหะหมัด เป็นปฐมจุฬาราชมนตรีแห่งกรุงสยาม ทำหน้าที่เป็นทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ควบคุมเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติการรับแขกเมือง เก็บภาษีอากร สินค้าขาเข้า สินค้าขาออก เรื่องการเดินเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศกับควบคุมดูแลเกี่ยวกับกิจการทางด้าน ศาสนาอิสลามในราชอาณาจักรสยาม
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์และเป็นคนในสายสกุลเฉกอะหมัดที่นับถือนิกายชีอะหฺมาตลอด เปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งโดยตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้นับถือนิกายสุหนี่ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของมุสลิมในประเทศไทย