ชัยชนะของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 เป็นการประกาศศักราชใหม่ของการพัฒนาระหว่างประเทศ
นับว่าเป็นครั้งแรกในช่วงสองสามศตวรรษที่ผ่านมา ที่ขบวนการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าของประชาชาติหนึ่ง โดยไม่อาศัยความช่วยเหลือใดๆจากอำนาจภายนอก และมีเพียงความเชื่อมั่นไปยังพระเจ้าผู้ทรงอำนาจ สามารถพิชิตชัย และประสบความสำเร็จในการโค่นล้มระบบปกครองเผด็จการ และนำเข้ามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ส่งผลกระทบในระดับโลกได้ อย่างกว้างขวาง
การปฏิวัติในอิหร่าน ด้วยกับนโยบายที่ว่า “ไม่มีตะวันออก ไม่มีตะวันตก; มีเพียงอิสลามที่ดีที่สุด” ทำให้สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน เป็นผู้ส่งเสริมเอกภาพของอิสลาม และความสามัคคีระหว่างชุมชนมุสลิมเป็นอย่างมาก จนทำให้ศัตรูมุสลิมต้องประหลาดใจ และเนื่องในสัปดาห์เอกภาพของชาวมุสลิมในปีนี้ ซึ่งเป็นสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลองการประสูติของท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ผู้เขียนใคร่อยากนำเสนอผู้อ่านด้วยบทความชิ้นนี้ ภายใต้หัวข้อ “7 บทบาทเด่นของรัฐปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน กับการผลักดันเอกภาพและภราดรภาพสู่ประชาชาติอิสลาม!“
ในบทความฉบับหนึ่งของนักคิดมุสลิมชาวฝรั่งเศส Roger Garaudy ผู้ล่วงลับ ได้กล่าวถึงชัยชนะของชาวอิหร่านว่า:
“การปฏิวัติอิสลามอย่างแท้จริง นำโดยอิมามโคมัยนี (ขอพระเจ้าอวยพร) ไม่เหมือนกับการปฏิวัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือระบบการเมืองใดๆที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ การปฏิวัติทางสังคมเกิดขึ้นในบางประเทศ เนื่องจากความไม่พอใจของคนจนที่มีต่อคนรวย
ทว่าการปฏิวัติครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะยึดตามกระแสเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม มันได้มอบความหมายใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถโค่นล้มระบบการเมือง สังคม และลัทธิล่าอาณานิคมเท่านั้น แต่ยังได้ทำลายคำโกหกที่ถูกกุขึ้นโดยบรรดาผู้นิยมแนวคิดแบบเซคิวลาห์ (ไม่เอาศาสนา) ที่มีต่อความเชื่อทางศาสนา และบทบาทของมันในการบริหารจัดการสังคมและประเทศ และหนึ่งในผลที่ได้จากการปฏิวัติอิสลาม คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของพี่น้องอิสลาม และส่งเสริมความสามัคคีระหว่างชาวมุสลิม”
การปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน โดยได้รับแรงดลใจจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และดำเนินตามแบบฉบับอันบริสุทธิ์ของท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ได้สถาปนารูปแบบของความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างประชาชาติมุสลิม
บิดาแห่งการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการขึ้นมามีอำนาจ อิมามโคมัยนี (ร.ฎ) ได้เชิญชวนมุสลิมทั่วโลกมาสู่ความเป็นหนึ่งเดียว และเป็นปึกแผ่น ในการเผชิญหน้ากับศัตรูของศาสนาอิสลาม ในแถลงการณ์ของท่าน อิมามโคมัยนีกล่าวว่า:
“โอ้ ชาวมุสลิมในโลก ที่ศรัทธาในสัจธรรมของศาสนาอิสลาม! จงลุกขึ้นชุมนุม และยืนหยัดอยู่ใต้ธงแห่งพระเจ้าองค์เดียว และจงตัดมือของมหาอำนาจที่ทุจริตออกจากประเทศของเจ้า เพื่อฟื้นฟูศักดิ์ศรีของอิสลาม ด้วยการเอาชนะความแตกต่างและดำรงไว้ซึ่งความสามัคคีเถิด”
เมื่อรัฐธรรมนูญของอิหร่านถูกคิดค้นขึ้น หลังจากชัยชนะของการปฏิวัติอิสลาม แนวคิดเรื่อง “เอกภาพและภราดรภาพ” ก็ถูกรวมอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้นด้วยเช่นกัน ในฐานะรากฐานของนโยบายของรัฐโดยรวม จากประเด็นนี้ ในมาตรา 11 ของบทที่ 1 (หลักการทั่วไป) ของรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านระบุว่า:
“ในความสอดคล้องกับโองการของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน (“แท้จริง นี่คือประชาชาติของพวกเจ้า ซึ่งเป็นประชาชาติเดียวกัน และข้าเป็นพระเจ้าของพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงเคารพภักดีข้าเถิด” [21:92]) ชาวมุสลิมทุกคนล้วนมาจากประชาชาติหนึ่งเดียวกัน และรัฐบาลอิสลามแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายทั่วไปของตน ด้วยกับโลกทัศน์ที่มีไว้เพื่อบ่มเพาะมิตรภาพ และสร้างเสริมความสามัคคีของชาวมุสลิมทุกคน และ(สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน) จะต้องมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความสามัคคีทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของโลกอิสลาม“
อิมามผู้ล่วงลับ ไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ แต่ท่านยังได้ดำเนินภารกิจและนโยบายต่างๆเพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นเดียวกันของประชาชาติอิสลามอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย ตัวอย่างเช่น:
1) สถาปนา “สัปดาห์แห่งเอกภาพ”
ท่านได้สถาปนา “สัปดาห์แห่งเอกภาพอิสลาม” หรือ Islamic Unity Week ทันทีภายหลังจากการขึ้นเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นสัปดาห์ระหว่างวันสำคัญ 2 วันในเดือนรอบีอุลเอาวัล (ตามปฏิทินอิสลาม) ที่เชื่อกันว่า เป็นวันครบรอบวันประสูติของท่านศาสดาอิสลาม เนื่องจากว่า ชาวมุสลิมนิกายซุนนี เชื่อว่าท่านศาสดาถือกำเนิดในวันที่ 12 ขณะที่ชาวมุสลิมชีอะฮ์มีรายงานว่า ท่านศาสดามูฮำหมัดประสูติเมื่อวันที่ 17 ทั้งนี้ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฎ) จึงได้ใช้ความแตกต่างระหว่างความเชื่อทั้งสอง ให้เป็นโอกาสทองแห่งการสร้างเสริมความสามัคคีระหว่างพี่น้องซุนนีและชีอะฮ์ ในการเฉลิมฉลองวันแห่งการประสูติของท่านศาสดาอย่างยิ่งใหญ่ร่วมกัน เพราะทั้งสองนิกาย ต่างก็มีศรัทธาไปยังการสดุดีเกียรติคุณและจริยวัตรอันประเสริฐของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) นอกจากนี้ท่านอิมามยังได้ประกาศให้มีการประชุมอุลามาอ์ซุนนีและชีอะฮ์ร่วมกันทั่วโลก ณ กรุงเตหะราน เนื่องในโอกาสดังกล่าว และได้จัดการประชุมเช่นนี้ทุกปีอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อที่ประชาคมมุสลิมจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ อันจะนำไปสู่การธำรงไว้ซึ่งศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์
2) สถาปนา “วันกุดส์สากล”
วันกุดส์สากล หรือ International Quds Day ถูกสถาปนาขึ้นครั้งแรกในปี 1979 โดยอิมามโคมัยนี ผู้ปฏิวัติและสถาปนารัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ได้ประกาศให้ทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน เป็น “วันอัลกุดส์สากล” อันเป็นวันแห่งการปลดปล่อย “อัลกุดส์” กิบลัตแรกของมวลมุสลิมจากการยึดครองของยิวไซออนิสต์ และเป็นวันแห่งการต่อสู้กับระบอบไซออนิสต์ (อิสราเอล) ที่เข้ามารุกรานและยึดครองแผ่นดินปาเลสไตน์ และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพคืนให้แก่ประชาชนผู้ถูกกดขี่ชาวปาเลสไตน์
3) จัดตั้ง “สมัชชาโลกเพื่อความใกล้ชิดระหว่างสำนักคิดในอิสลาม”
อีกก้าวหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง คือ การจัดตั้งสมัชชาโลกเพื่อความใกล้ชิดระหว่างสำนักคิดในอิสลาม เป็นเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีพ. ศ. 2533 โดยคำสั่งการของท่านอิมามโคมัยนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความใกล้ชิดระหว่างสาวกของนิกายมุสลิมต่างๆ เพื่อให้พวกเขาได้ทำความคุ้นเคยกับพี่น้องมุสลิมจากสำนักคิดอื่น และด้วยเหตุนี้จึงสามารถบรรลุความเป็นพี่น้องทางศาสนา และความเป็นพี่น้องกันตามหลักศาสนาอิสลามได้อย่างสมบูรณ์
การประชุมนี้ประกอบไปด้วยคณะกรรมการสูงสุด และสมาชิกสภา ร่วมด้วยบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิ ปัญญาชน และผู้นำที่โดดเด่น ที่มาจากสำนักคิดที่แตกต่างกัน และจากประเทศทั่วโลกอิสลาม การประชุมนี้จะถูกจัดขึ้นทุกปี โดยเป็นที่ที่การตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาในทางปฏิบัติต่างๆถูกหยิบยกขึ้นอภิปรายร่วมกันเพื่อหาทางออก ขณะที่สมาชิกมีหน้าที่ในการกำหนดทิศทางและกิจกรรมระหว่างการประชุมในแต่ละวาระ
เวทีการประชุมระดับโลกอ้าแขนตอนรับ ตัวแทนจากสำนักคิดต่างๆ อาทิเช่น สำนักคิดฮานาฟี, ชาฟีอี, มาลิกี, ฮัมบาลี, ญะฮฺฟารี และยังมีตัวแทนจากนิกายเล็กๆที่แตกสาขาย่อยออกมาจากนิกายใหญ่เข้าร่วมด้วย โดยภาพรวม ความพยายามทั้งหมดเป็นไปเพื่อให้ทุกสำนักคิดในศาสนาอิสลามที่มีความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว และศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) มีส่วนร่วมและแสดงบทบาทของตนอย่างแข็งขันในการประชุมดังกล่าว
นอกจากนี้การประชุมนี้ยังได้ผลิตและเผยแพร่ผลงานด้านวิชาการจำนวนมาก ที่ปูทางและเชิญชวนประชาชาติมุสลิมไปสู่การสร้างความสามัคคี และความเป็นพี่น้องกันระหว่างชาวมุสลิม
4) ออกคำฟัตวา (วินิจฉัย) ให้มุสลิมชีอะฮ์แสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่างกับมุสลิมในสำนักคิดอื่นๆ
ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฎ) ได้ออกคำวินิจฉัยทางศาสนา ให้ผู้ปฏิบัติตามแนวคิดของท่าน ปฏิเสธและหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งในสังคมโดยสิ้นเชิง เช่น ท่านได้ออกคำวินิจฉัยอนุญาตให้มุสลิมชีอะฮ์สามารถทำละหมาดร่วมกับมุสลิมซุนนี่ได้ในการละหมาดญะมาอัต (รวม) และการออกคำสั่งห้าม (ถือเป็นบาปหากกระทำ) มิให้มุสลิมชีอะฮ์ดูหมิ่นบุคคลอันเป็นที่เคารพของมุสลิมซุนนี หรือแสดงทัศนะเกี่ยวกับพวกเขาที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง เป็นต้น
5) นำเสนอทัศนะเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล
ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฎ) คือผู้ที่รับรู้ปัญหาของโลกอิสลาม และปัญหาของกลุ่มประชาชาติที่อ่อนแออย่างถ่องแท้ กับคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดคนบนโลกนี้จึงคิดที่จะปฏิวัติและปฏิรูประบบการปกครอง? คำตอบ คือมหาอำนาจตะวันตกไม่สามารถทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีงาม หรือตั้งตนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามทำนองครองธรรมได้นั่นเอง ดังนั้น ท่านอิมามจึงได้นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาโลกในระบบโครงสร้างใหม่ เพื่อจัดการดูแลสังคมให้เจริญเติบโตไปในทางที่ดี ท่านอิมามได้นำเสนอ แนวทางของวิลายะตุลฟะกีฮฺ ระบบการปกครองที่วางอยู่บนพื้นฐานของอิสลามและศาสนา ซึ่งมีจุดจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับขบวนการต่อสู้ทั้งหลายในยุคสมัยปัจจุบัน และโดยความช่วยเหลือของประชาชน ท่านจึงได้จัดตั้งรัฐอิสลามามขึ้น โดยเปิดให้มีการเลือกตั้งอิสระในรูปแบบใหม่ในประทศอิหร่าน ท่านอิมามได้เขียนถึงการวางรากฐานรัฐอิสลามไว้ในหนังสือ วิลายะตุลฟะกีฮฺ ของท่านว่า:
“การสนับสนุนและส่งเสริมความเป็นเอกภาพของมวลมุสลิมทั้งหลาย เพื่อว่าประเทศอิสลามจะไม่ถูกนักล่าอาณานิดคมรุกรานหรือเข้ายึดครอง หรือตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐที่ไม่ให้อิสรภาพแก่ประชาชน มือาจบังเกิดขึ้นได้ นอกเสียจากว่า เราจะต้องจัดตั้งรัฐอิสระของเราเอง (ไม่พึ่งอำนาจนอก เช่นอำนาจตะวันตก) ดังนั้น ถ้าต้องการให้ความสมานฉันท์เกิดขึ้นในสังคมอิสลาม และต้องการให้ประชาชาติมีความเสรี เราจำเป็นต้องขจัดการกดขี่และสมุนผู้ให้ความช่วยเหลือผู้กดขี่ให้หมดไปเสียก่อน หลังจากนั้นจึงจัดตั้งรัฐที่ดำรงความยุติธรรมขึ้นปกครอง การจัดตั้งรัฐขึ้นมาก็เพื่อรักษาระบบและความสามัคคีในหมู่ประชาชาติ ดังที่ ท่านหญิงซะฮฺรอ (บุตรีของท่านศาสดา) ได้กล่าวไว้ในคุฎบะฮฺของท่านว่า (ระบบผู้นำแบบ)อิมามะฮฺ คือผู้รักษาระบบและเปลี่ยนความแตกแยกให้เป็นเอกภาพ”
6) ออกคำฟัตวาครั้งประวัติศาสตร์ให้สังหาร “ซัลมาน รุชดี”
เมื่อโลกแห่งความอธรรมของตะวันตกได้ใช้กำลังความสามารถทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อทำลายรากฐานการปฏิวัติอิสลาม และตรงกับช่วงที่การปฏิวัติอิสลามยังไม่แข็งแกร่งพอ โดยการเผยแพร่หนังสือเรื่อง วิวรณ์แห่งซาตาน (The Satanic Verses) เพื่อโจมตีศาสนาอิสลามอย่างผิดๆ และดูหมิ่นท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ในความต้องการสกัดกั้นกระแสการฟื้นฟูอิสลาม ทว่าท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ผู้เข้าใจถึงแผนการอันแยบยลของศัตรู ได้เรียกร้องให้มุสลิมทั้งหมดสามัคคีกัน เพื่อผนึกกำลังต่อต้านตะวันตก
ในช่วงเวลานั้นท่านอิมามได้ออกคำสั่งสังหาร ซัลมาล รุชดี ผู้แต่งหนังสือดังกล่าว ซึ่งบรรดาอุละมาอฺอิสลามและนักปราชญ์ทั้งหมดต่างเห็นพร้องต้องกัน คำประกาศดังกล่าวเท่ากับเป็นการฟื้นฟูอิสลามให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อต่อต้านศัตรู และในที่สุดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1989 (พ.ศ. 2532) จึงกลายเป็นวันที่ประวัติศาสตร์ต้องถูกจารึก หลังจากที่ตัวบทฟัตวาในประเด็นดังกล่าวของท่านอิมามโคมัยนีได้รับการเผยแพร่ออกไปทั่ว
ทั่วโลกต่างขานรับคำฟัตวานี้ของอิมามโคมามโคมัยนี (รฎ.) โดยเฉพาะในอินเดีย พี่น้องมุสลิมชาวอินเดียได้ออกมาเดินประท้วงกันอย่างมากมายเป็นปรากฏการ และความเป็นเอกภาพที่ยิ่งใหญ่ระหว่างมุสลิมก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
มุสลิมคนหนึ่งที่ได้ออกมาเดินประท้วงได้ให้สัมภาษณ์ว่า “วันนี้ท่านอิมามโคมัยนี คือธงแห่งการพิทักษ์ศาสดามุฮัมมัด (ศ) และนี่คือหน้าที่ของมวลมุสลิมทั่วโลก ที่จะต้องขานรับคำฟัตวาของอิมามโคมัยนี การขานรับคำฟัตวาของอิมามโคมัยนี คือการปกป้องเกียรติยศของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ)“
7) ฟื้นฟูพิธีฮัจย์ และพิธีละหมาด ในฐานะสิ่งเชื่อมประชาชาติมุสลิม
ในทัศนะของท่านอิมามโคมัยนี ท่านคิดเห็นว่า การอุทิศตนไปยังพระผู้เป็นเจ้า และการแสดงความรับผิดชอบต่อการเมืองและสังคมในศาสนาอิสลาม ถือเป็นสองสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และท่านเคยกล่าวไว้ว่า การละหมาดญะมาอัต (ละหมาดรวม) โดยเฉพาะการละหมาดประจำวันศุกร์ และวันอีดของชาวมุสลิม คือสัญลักษณ์ของความสามัคคีระหว่างมวลมุสลิม
นอกจากนี้ อิมามโคมัยนียังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนการของอำนาจตะวันตกและนักล่าอาณานิคม ในการหว่านเมล็ดพันธ์แห่งความแตกแยกระหว่างประชาชาติมุสลิม (ตามกลยุทธ แบ่งแยกแล้วปกครอง) ท่านอิมามได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษไปยังพิธีแสวงบุญฮัจญ์ประจำปี และถือว่าการประกอบพิธีฮัจย์ของชาวมุสลิมทั่วโลกเป็นโอกาสที่ดีที่สุด ในการส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอิสลาม ด้วยการใช้ประโยชน์จากการปรากฏตัวของชาวมุสลิม ที่มาจากเชื้อชาติ ภาษา สีผิว วัฒนธรรม เสื้อผ้า และชนชั้นทางสังคมที่แตกต่างกัน แต่มีศรัทธาไปยังพระเจ้าผู้ทรงอำนาจ และมีความมุ่งมั่นเพื่อต่อกรกับมหาอำนาจผู้กดขี่เหมือนกัน
และที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนจาก แนวคิดที่ถูกนำมาปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฎ.) ผู้นำแห่งการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน ว่าด้วยการส่งเสริมเอกภาพและภราดรภาพระหว่างประชาชาติอิสลาม
ทั้งนี้ การเน้นย้ำถึงความสำคัญของเอกภาพระหว่างประชาชาติมุสลิม ยังคงเป็นแนวคิดและนโยบายที่ได้รับการสานต่อสู่ผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำแห่งการปฏิวัติต่อจากท่านอิมามผู้ล่วงลับ นั่นคือ ท่านผู้นำสูงสุด อยาตุลลอฮฺ อะลี คาเมเนอี ผู้นำการปฏิวัติคนปัจจุบัน โดยท่านได้เคยชี้แนะในโอกาสเฉลิมฉลองสัปดาห์แห่งเอกภาพเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า
เป้าหมายของเอกภาพ มิใช่การที่พี่น้องมุสลิมต้องละทิ้งความเชื่อตามนิกายของตน แล้วเข้ามายอมรับความเชื่อของอีกนิกายหนึ่ง ทว่าเป้าหมายของเอกภาพ คือการเรียกร้องให้ “มุสลิมทุกคนรักษาการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ดูถูกความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของกันและกัน และหากผู้ใดได้หลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของผู้อื่นโดยอ้างความเชื่อของตนเองนั้น ในทรรศนะของเราถือเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ความรักต้องเกิดจากสองฝ่าย โปรดลุกขึ้นมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนกว่าความรักจะเกิดขึ้นในระหว่างพวกเรา และจนกว่าศัตรูไม่สามารถนำมันไปใช้ในทางที่ผิดได้ ศัตรูไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งซุนนีและชีอะฮ์ เพราะพวกเขาขัดแย้งกับเสาหลักของอิสลาม พวกเขามีความคับแค้นต่อศาสนาอิสลาม อิสลามที่ทั้งซุนนีและชีอะฮ์นับถือเป็นอิสลามที่สหรัฐฯ และพันธมิตรจงเกลียดจงชัง”
ในขณะที่เรากำลังเฉลิมฉลองสัปดาห์แห่งเอกภาพ และวันคล้ายวันประสูติของท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ในปีนี้ ศัตรูของชาวมุสลิมก็กำลังติดตามผลงานจากนโยบายของพวกเขา ในการรณรงค์ให้เกิดความแตกแยกระหว่างประชาชาติมุสลิม ผ่านการส่งเสริมกลุ่มผู้ก่อการร้ายตักฟีรีย์ และลัทธิที่นิยมความรุนแรงสุดโต่ง วะฮาบีย์ ที่กำลังปฏิบัติการก่อการร้าย และเสี้ยมสอนให้เกิดความแตกแยกในสังคม ทั้งยังคอยบ่อนทำลายภาพลักษณ์อันดีงามของอิสลามให้มัวหมอง ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย ด้วยกับนโยบายสร้างความแตกแยก และการพึ่งพาไปยังอำนาจของสหรัฐอเมริกา คือ ผู้สนับสนุนหลักของลัทธิตักฟีรีย์วาฮาบี ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับแก่นแท้ของศาสนาอิสลาม และความเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาชาติมุสลิม
ศาสนาอิสลามตามแบบฉบับของท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ไม่เพียงแต่ไม่สนับสนุนความแตกแยก และการสงครามเท่านั้น แต่ยังได้เชิญชวนให้มุสลิมรวมตัวกัน มุสลิมผู้เลื่อมใสในนิกายและสำนักคิดต่างๆในศาสนาอิสลาม ล้วนมีมีสิทธิ์ที่จะเผยแพร่คำสอนของของตนได้อย่างอิสระ โดยไม่มีการเผยแพร่เชิงลบและโจมตีไปยังแนวความคิดที่แตกต่างกับตน เราหวังว่าแรงบันดาลใจจากอุดมคติของการปฏิวัติอิสลาม และการยึดถือไปยัง “สายเชือกของอัลลอฮ์ (ซ.บ)” โดยการปฏิบัติตามแนวทางของท่านศาสดาอิสลาม (ศ็อลฯ) จะทำให้สำนักคิดและรัฐมุสลิมทั้งหมดร่วมมือกันได้ เพื่อส่งเสริมเอกภาพอิสลาม ในการเผยแพร่คุณธรรมความดี และต่อกรกับอำนาจความชั่วอย่างที่ควรจะเป็น
_____________
Sources: