ไฟแห่งการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์เพื่อต่อต้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากการตัดสินใจกรณีกรุงเยรูซาเล็ม ทวีความรุนแรงขึ้นในวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม ซึ่งปะทุขึ้นมาอีก หลังวอชิงตันให้ความเห็นรับรอง กำแพงร้องไห้เป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล โดยกล่าวว่า “เราไม่สามารถมองเห็นสถานการณ์ใดๆได้ หากกำแพงร้องไห้ (Western Wall, Wailing Wall) จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล ทว่าอย่างที่ประธานาธิบดีเคยกล่าว ขอบเขตเฉพาะเจาะจงของอธิปไตยอิสราเอลจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสถานะสุดท้าย”
ทัศนะดังกล่าว มาพร้อมกับการประกาศว่า รองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ จะเดินทางไปเยือนกำแพงร้องไห้นี้ ในวันพุธที่ 20 ธันวาคม ระหว่างทัวร์ไปตะวันออกกลางของเขา
เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีทรัมป์เองก็ได้เยี่ยมเยียนกำแพงร้องไห้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม แต่ ณ ตอนนั้น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสหรัฐฯ ได้ละเว้นไม่ให้กองกำลังรักษาความปลอดภัยของอิสราเอล คู่เจรจาและพันธมิตรของพวกเขาทำหน้าที่คุ้มกันประธานาธิบดีทรัมป์ โดยอ้างว่า บริเวณกำแพงร้องไห้ดังกล่าว อยู่นอกอาณาเขตของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม แปดเดือนต่อมา ในช่วงเวลาที่ซึ่งรองประธานาธิบดีของเขาจะเข้าไปสวดวิงวอน ณ ที่นั่น ทรัมป์ก็ได้มอบอำนาจอธิปไตยแก่อิสราเอลเหนือกำแพงร้องไห้นั้น ซึ่งมันล้อมรอบบริเวณที่เป็นที่สักการะบูชาของวิหารยิวแห่งสุดท้าย
สำหรับชาวปาเลสไตน์ นี่ถือเป็นอีกหนึ่งความคืบหน้าของคณะบริหารทรัมป์ เพื่อเอาอกเอาใจอิสราเอล ผลของมันก็คือ การที่สหรัฐฯต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือ ในฐานะนายหน้าที่ซื่อสัตย์สำหรับข้อพิพาทกรณีปาเลสไตน์ – อิสราเอล
เมื่อวันเสาร์ ผู้มีอำนาจในปาเลสไตน์ ในเมืองรอมัลเลาะห์ ได้เน้นย้ำถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ หลังจากการประกาศบอยคอตการเยี่ยมเยียนกำแพงร้องไห้ของเพนซ์ และตัดสัมพันธ์กับวอชิงตัน อันเป็นตำแหน่งเสี่ยงที่พวกเขาไม่สามารถจะรักษาได้อย่างยั่งยืนนัก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้พวกเขาเอื่อมระอามากยิ่งกว่า ท่าทีสนับสนุนอิสราเอลอย่างออกนอกหน้าของประธานาธิบดีทรัมป์กรณีกรุงเยรูซาเล็ม คือ การรับรองเรื่องนี้ โดยผู้ครอบครองวิหารอันศักดิ์สิทธ์ของชาวมุสลิม อย่างยาวนาน – “กรุงริยาด” ซาอุดิอาระเบีย
แม้ว่าสำนักพระราชวังแห่งซาอุดิอาระเบียจะออกมากล่าวว่า การตัดสินใจของทรัมป์เป็น “ความไม่ยุติธรรมและขาดความรับผิดชอบ” และ “เป็นก้าวถอยหลังก้าวใหญ่ ในความพยายามเคลื่อนไปสู่กระบวนการสันติภาพ” ทว่าเจ้าหน้าที่อาหรับหลายฝ่ายกลับเผยว่า ดูเหมือนริยาดจะเข้าร่วมกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในแผนสันติภาพอิสราเอล – ปาเลสไตน์ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของความคืบหน้าดังกล่าว
ข้อตกลงที่ยิ่งใหญ่
ลูกเขยของทรัมป์ นาย เจเร็ด คุชเนอร์ ซึ่งบิดาของเขารู้จักกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลเป็นการส่วนตัว ได้บรรลุความเข้าใจกับซาอุดิอาระเบีย ผ่านทาง มกุฏราชกุมาร โมฮัมมัด บิน ซัลมาน เกี่ยวกับแผนใหม่ ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
ทั้งนี้แผนการดังกล่าว ถูกบอกใบ้ให้ประชาคมโลกระแคะระคายเป็นครั้งแรกบนหน้าหนังสือพิมพ์ The New York Times ประจำวันที่ 11 พฤศจิกายน ภายใต้หัวเรื่อง “ทีมทรัมป์เริ่มร่างแผนยุทธศาสตร์สันติภาพตะวันออกกลาง” (“Trump Team Begins Drafting Middle East Peace Plan.”) แผนการนี้ ได้รับการอธิบายว่า เป็นการผลักดัน การดำเนินการอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากปัจจัย 3 ประการ:
1) แรงสนับสนุนจากมกุฏราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีอียิปต์ อับดุล ฟัตตาห์ อัลซีซี ที่มีต่อสหรัฐฯ
2) ความไม่แน่นอนในอนาคตของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนธันยาฮูของอิสราเอล ในการเผชิญหน้ากับตำรวจนครบาลที่กำลังดำเนินต่อต้านเขาอย่างยาวนาน
3) อำนาจที่เสื่อมลงของประธานาธิบดี มาห์มุด อับบาส ของปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง ในฐานะประธานาธิบดีปาเลสไตน์ จากที่ความนิยมของเขาลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอายุที่มาก ในวัย 82 ปี และการทุจริตที่เกิดขึ้นในเมืองรอมัลเลาะห์ อันเป็นสิ่งที่ถูกสะท้อนให้เห็นผ่านการสำรวจความคิดเห็นชาวปาเลสไตน์ เมื่อวันที่ 7-10 ธันวาคม (ร้อยละ 70 ต้องการให้เขาออกจากตำแหน่ง: 84 % ในเขตเวสแบงก์ และอีก 26 %ในฉนวนกาซา)
วอชิงตันจึงเลือกช่วงเวลาที่อ่อนแอในความเป็นผู้นำของปาเลสไตน์ ในการผลักดันแผนการที่จะแก้ไขข้อพิพาทของอิสราเอลและปาเลสไตน์
สัปดาห์ก่อนรายงานของ NYT ถูกตีพิมพ์ อับบาส (หรือ อาบู มาเซน) ได้เดินทางไปเยือนริยาด เพื่อพบปะกับมกุฏราชกุมาร โมฮำหมัด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับการพูดคุยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตามที่ระบุโดยรายงานฉบับหนึ่ง กล่าวว่า ซาอุดีอาระเบีย ได้วางพิมพ์เขียวของอเมริกัน – ซาอุดีอาระเบีย ให้แก่ผู้นำปาเลสไตน์
เจ้าหน้าที่ชาวปาเลสไตน์สี่คน ที่ไม่ประสงค์ออกนาม บอกกับ Reuters ว่า มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีปาเลสไตน์มาห์มุด อับบาส ได้พูดคุยกันถึงรายละเอียดของการเจรจาต่อรองที่ยิ่งใหญ่ อันเป็นข้อตกลงซึ่งทรัมป์ และและเจเร็ด คุชเนอร์ ผู้เป็นลูกเขย และที่ปรึกษาของเขา แสดงความคาดหวังจะเปิดเผยในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า
รายงานหลายฉบับ และเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในนี้ กล่าวว่า โมฮัมเหม็ด ได้ดำเนินการตามเจเร็ด โดยมีการเรียกร้องให้อับบาส แสดงการสนับสนุนความพยายามด้านสันติภาพของคณะบริหารสหรัฐฯ เมื่อทั้งสองพบกันที่กรุงริยาด ในเดือนพฤศจิกายน
เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ต่างกังวล ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ชาวอาหรับหลายคนก็ตั้งข้อสงสัยว่า การปิดประตู ไม่ให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์ในอนาคต คือ การปล่อยให้ทรัมป์ดำเนินการสอดคล้องกับอิสราเอล ในการนำเสนอชาวปาเลสไตน์ ซึ่งรัฐบาลที่มีข้อจำกัด ภายในเมืองที่ปราศจากการเชื่อมต่อกับเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์จะไม่มีสิทธิในการกลับคืนถิ่น – ชาวปาเลสไตน์ต้องตกอยู่ในสภาพผู้ลี้ภัย จากสงครามอาหรับ – อิสราเอล ในปี 1948 และ 1967
เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์กังวลว่า ข้อเสนอที่โมฮัมหมัด สื่อสารกับอับบาส ซึ่งดูเหมือนจะมีที่มาจากลูกเขยของทรัมป์ จะนำไปสู่สถานการณ์ในลักษณะเช่นที่ว่า
ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่ามันจะเป็นจริง ตามที่พวกเขากังวล Middle-east Monitor รายงาน ว่า ข้อเสนอของซาอุดิอารเบียเพื่อริเริ่มสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ คือ การนำเสนอให้เมือง “อาบูดิส” (Abu Dis) เป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์
“อาบูดิส” (Abu Dis) เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณชายขอบเยรูซาเล็มตะวันออก โดยรัฐนั้นจะมีอำนาจอธิปไตยจำกัด ในบางส่วนของเขตเวสต์แบงก์ (รัฐนี้ไม่เชื่อมติดกันในฝั่งเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา) ในขณะที่นิคมชาวยิวส่วนใหญ่ในฝั่งเวสต์แบงก์จะยังคงอยู่เหมือนเดิม เยรูซาเล็มตะวันออกจะไม่ถูกประกาศเป็นเมืองหลวง และ “สิทธิในการคืนถิ่น” ของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในต่างแดนก็จะถูกละทิ้งไป กล่าวคือ ข้อเสนอนี้ไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์และลูกหลานของพวกเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ มีสิทธิ์ที่จะกลับไปยังอิสราเอลอีก ดังเช่นที่มันเคยถูกกล่าวเอาไว้ ในช่วงก่อนปี 1967
ภาพถ่ายที่ปรากฏขึ้นจากบทสนทนาของมกุฏราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบียกับอาบู มาเซน กำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ขณะที่ได้เน้นย้ำไปยังประการสำคัญต่างๆดังต่อไปนี้:
• แผนสันติภาพเก่าของซาอุดีอาระเบีย – อาหรับ ในปี 2003 คือ ใบสั่งตาย;
• ริยาดได้ลดความต้องการ ที่ว่า อิสราเอลต้องยอมรับรัฐปาเลสไตน์ โดยมีเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวง;
• ตั้งแต่ข้อเสนอสันติภาพของซาอุดิอาระเบียฉบับเดิม ซึ่งมกุฏราชกุมารเรียกมันว่า แผน A ได้ตายลงแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกับแผน B
• แผน B จะมีสาระสำคัญดังนี้: รัฐปาเลสไตน์จะมีการจัดตั้งขึ้นในฉนวนกาซา รวมทั้งเขตแดนขนาดใหญ่ที่จะผนวกเข้ามาจากทางเหนือของไซนาย อียิปต์เห็นด้วยกับรูปแบบนี้ ข้อตกลงนี้จะส่งผลทำให้ความต้องการของชาวปาเลสไตน์ เพื่อเรียกคืนเขตแดนก่อนปี 1967 (pre-1967 boundaries) สำหรับรัฐของตนเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล
• เมื่อ Abu Mazen ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขตเวสต์แบงก์ มกุฏราชกุมาร ตอบว่า “เรายังสามารถเจรจาเรื่องนี้ได้ต่อไป”
• และเมื่อเขาจี้ถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เยรูซาเล็ม การตั้งถิ่นฐาน พื้นที่ B และ C คำตอบที่ได้รับคือ: “เหล่านี้จะเป็นประเด็นปัญหาสำหรับการเจรจาระหว่างสองรัฐ และเราจะช่วยเหลือคุณ”
ขณะนี้ ชาวปาเลสไตน์ต่างมีความคับข้องใจ ไปยังคณะบริหารทรัมป์ โดยการตัดสัพันธ์กับวอชิงตัน อย่างน้อยที่สุดด้วยเหตุผลสามประการ : 1) กรณีที่ทรัมป์รับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล 2) สัญญาของทรัมป์ที่ว่าจะย้ายสถานทูตสหรัฐฯในอิสราเอลจากเมืองเทลอาวีฟ ไปยังเยรูซาเล็ม 2) การประกาศให้ ‘กำแพงร้องไห้’เป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล ไม่ว่าในสถานการณ์ทางการเมืองแบบใด โดยประการนี้ถูกตอกย้ำอีกครั้ง ภายหลังจากการมาเยือนของเพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังกำแพงดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ทำให้พวกเขาต้องเอื่อมระอามากกว่า คือการสนับสนุนของซาอุดิอาระเบียที่มีต่อแผนสันติภาพของทรัมป์ แม้จะเป็นเช่นนั้น ทว่าทั้งกรุงวอชิงตันและกรุงริยาด ก็ยังไม่ได้ให้สัญญาณบ่งบอกถึงการเพิกถอนแผนไกล่เกลี่ย ที่ท้าทายกฎหมาย และข้อตกลงทั้งหมดที่มีมาแต่อดีต
อาบู มาเซน กำลังหัวหมุน แม้ว่าเขาจะพยายามเอาตัวออกห่างตัวออกจากวอชิงตัน เขาก็ไม่สามารถหย่าร้างชาวปาเลสไตน์จากทั้งสองผู้นำประเทศอาหรับ ซาอุดีอาระเบียและอียิปต์ เพราะจะถือเป็นการทลายกิ่งก้านของต้นไม้อาหรับที่เขากำลังอยู่อาศัย การทำเช่นนั้นอาจจะผลักดันให้เมืองรอมัลเลาะห์ อยู่บนเส้นทางเดียวกันกับอีกฝั่งที่ต่อต้านตะวันตก นั่นคือ ตุรกี – อิหร่าน และกองกำลังฮิซบุลลอฮ์แห่งเลบานอน ทั้งนี้มีสัญญาณบ่งชี้ว่า กองกำลังต้านทานติดอาวุธ กลุ่มฮามาส คู่แข่งของเขาในฉนวนกาซา กำลังใช้เส้นทางนี้อยู่
หลังจากพิธีละหมาดวันศุกร์ภายในมัสยิด ฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ถือเป็นครั้งแรก ที่เรามองเห็นผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่ง ณ กองกำลังชายแดนของอิสราเอล ถือป้ายขนาดใหญ่ไว้ พร้อมกับภาพของนายพล กอเซม ซุไลมานี ผู้บัญชาการกองทัพกุดส์ ผู้นำกองกำลังปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) หากอิหร่านสามารถเข้าสู่ชุมชนปาเลสไตน์ได้ ความขัดแย้งกับอิสราเอลของอิหร่าน อาจเป็นไปในมิติใหม่ทั้งหมด
เส้นตาย
จอร์แดน – พันธมิตรของสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติภาพ ตั้งแต่เริ่มเจรจากับอิสราเอลในปี 1994 ยืนยันว่าจะไม่สามารถบรรลุสู่สันติภาพใดๆได้ หากปราศจากกรุงเยรูซาเล็ม
นักวิเคราะห์การเมืองชาวจอร์แดน Oraib Rantawi ผู้ซึ่งได้พูดคุยกับกษัตริย์อับดุลลาห์ หลังจากที่กษัตริย์ได้พบกับเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของสหรัฐฯเมื่อไม่นานมานี้ กล่าวว่า อัมมาน กังวลว่าจะถูกละเลย หากนั่นเป็นความชอบของซาอุดิอาระเบีย
“(ซาอุฯ) มีการติดต่อโดยตรง และมีความปรารถนาที่จะเสนอข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวปาเลสไตน์ เพื่อแลกกับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และการปูทางให้กับความร่วมมือระหว่างรัฐอ่าว – อิสราเอล เพื่อเผชิญหน้ากับอิหร่าน” เขากล่าว
อันที่จริง รัฐอาหรับส่วนใหญ่ไม่น่าจะคัดค้านการประกาศของทรัมป์ เพราะจากสถานการณ์ดังกล่าว พวกเขาจะพบว่าตนเองเข้ากันดีกับอิสราเอลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อกรกับอิทธิพลของอิหร่าน – Shadi Hamid ผู้อาวุโสของสถาบัน Brookings ในกรุงวอชิงตัน กล่าว
“ถ้าเจ้าหน้าที่ของซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งมกุฏราชกุมาร มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานะของกรุงเยรูซาเล็ม(จริง) พวกเขาก็คงจะใช้สถานะพิเศษที่เขามี ในฐานะพันธมิตรชั้นนำของทรัมป์ ล็อบบี้ให้คณะบริหารเพิกถอน ความเคลื่อนไหวที่เป็นพิษเช่นนั้นไปแล้ว” – เขาเขียนไว้ในบทความที่ถูกตีพิมพ์ใน The Atlantic
“มันไม่น่าเป็นไปได้ ที่ทรัมป์จะยังคงดำเนินการเช่นนั้น ถ้าซาอุฯ ได้ส่งสัญญาณบ่งชี้ เส้นตายสีแดงเอาไว้”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของอิสราเอล Yuval Steinitz ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงได้กล่าวกับวิทยุกองทัพบก เมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า อิสราเอลมีการติดต่อกับซาอุดิอาระเบียอย่างเปิดเผย นี่เป็นการเปิดเผยข้อตกลงลับระหว่างสองประเทศ ที่ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ตามที่มีข่าวลือออกมาอย่างยาวนาน
แม้ซาอุฯ จะปฏิเสธ แต่ด้วยการที่ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล ต่างมองว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามหลักที่สำคัญในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี ความสนใจที่มีร่วมกัน ก็อาจผลักดันให้พวกเขาทำงานร่วมกัน
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดิอาระเบีย ก็ดีขึ้นเป็นอย่างเห็นได้ชัด ภายใต้การบริหารของทรัมป์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้นำมีวิสัยทัศน์ในการเผชิญหน้ากับอิหร่าน คู่แข่งตัวฉกาจก์ของริยาดในภูมิภาค