5 อย่าง ที่สื่อกระแสหลักไม่เคยบอกคุณ ในความขัดแย้ง “สหรัฐฯ” VS “อิหร่าน” !

2793

นับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามเกิดขึ้นในอีกหนึ่งแหล่งอารยธรรมโลก – ดินแดนเปอร์เซีย – โดยนักการศาสนา รูฮุลลอฮ มูซาวี อัล โคมัยนี ในปี 1979 สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยมา

ล่าสุด ในต้นเดือนที่ผ่านมา เกือบทุกสื่อกระแสหลักจากค่ายตะวันตกล้วนนำเสนอรายงาน บทวิเคราะห์ และลงความเห็น เกี่ยวกับเหตุจราจล อ้างความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจที่ปะทุขึ้นในอิหร่าน เมื่อช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ (2018) อย่างต่อเนื่อง

หลายฝ่ายวิจารณ์ ถึงสาเหตุเบื้องหลังที่ส่งผลทำให้มีผู้ประท้วงต่อระบอบปกครอง แบบรัฐอิสลามของอิหร่าน ในประการนี้ อิหร่านย่อมหนีไม่พ้นข้อกล่าวหา กรณีที่ประเทศมิได้อยู่ในสถานะซึ่งเป็น “ประชาธิปไตย” ในความชอบของรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธมิตร แม้ในความเป็นจริง อิหร่านจะมีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย และในวันนี้ มีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าในยุคก่อนหน้าซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ชาฮ์ ปาลาห์วี ที่ดำรงอยู่ในอำนาจได้ โดยอาศัยแรงสนับสนุนจากรัฐบาลตะวันตก

แม้การกล่าวอ้างว่า สหรัฐฯคือ ผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วง อาจเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดสำหรับใครบางคน และเราเองก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงข้อเท็จจริงในวิกฤติข้าวยากหมากแพงที่กำลังเกิดขึ้นในอิหร่าน อย่างไรก็ดี เราได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนประการหนึ่งว่า ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองนั้น สหรัฐฯ ได้แสดงเจตจำนงในการสนับสนุนการชุมนุมดังกล่าวอย่างโจ่งแจ้ง โดยเห็นได้จากกรณีที่ ทรัมป์ออกโรงทวีตพาดพิงถึงเหตุประท้วงรัฐบาลอิหร่านในทันทีหลังเกิดเหตุ

หนึ่งในข้อความทวิตเตอร์ของทรัมป์ ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 31 ธ.ค 2017 เตือนว่า ประชาชนอิหร่านต้องการความเปลี่ยนแปลงและรัฐบาลที่ปกครองอย่างกดขี่จะไม่สามารถบริหารประเทศได้ตลอดไป และอีกครั้งในวันที่ 3 ม.ค. 2018 ทรัมป์ได้ทวีตข้อความว่า “เราเคารพชาวอิหร่านที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลที่ฉ้อฉล และคุณจะเห็นการสนับสนุนครั้งใหญ่จากสหรัฐในเวลาที่เหมาะสม”

นอกจากนี้ เรายังสามารถสังเกตได้จากท่าทีของ ‘นิกกี ฮาเลย์’ ทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ ที่พยายามเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติเข้าไปก้าวก่ายอิหร่านจากข่าวการลุกฮือของประชาชน ตามที่ สำนักข่าว press TV   ได้มีการนำเสนอในวันที่ 7 ม.ค. 2018 ว่า สหรัฐฯพยายามสร้างให้สถานการณ์ในอิหร่านฟังดูรุนแรงมากกว่าที่เป็นจริง เพื่อผลักดันนโยบายในการแทรกแซงต่างประเทศของตนเอง แต่กระนั้นความพยายามของนิกกี ก็เป็นอันต้องล้มเหลวอย่างน่าอับอาย เมื่อรัสเซียส่งเสียงวีโต้ไปล่วงหน้าทันที พร้อมวิพากษ์ว่า ‘ในสหรัฐอเมริกาก็มีเหตุประท้วงอยู่หลายครั้ง แต่ทำไมจึงไม่มีเจ้าหน้าที่แจ้งสิ่งนี้ให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณา?’ ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงรัสเซียเท่านั้นที่วีโต้ แต่ยังมีจีนและฝรั่งเศสรวมอยู่ในการนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน และสหรัฐฯ ก็จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป และไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดลงได้อย่างง่ายดาย อิหร่านมีนโยบายที่ชัดเจน ทั้งในเชิงทฤษฎี และปฏิบัติ เกี่ยวกับเป้าหมายของตน ในการปลดปล่อยปาเลสไตน์ และอัลกุดส์ จากการถูกยึดครองโดยอิสราเอล

ทันทีที่อิหร่านทำการปฏิวัติอิสลาม ได้ยกเลิกไม่ให้มีสถานทูตอิสราเอล และสหรัฐฯภายในประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด ที่เราจะพบอีกข้อเท็จจริงหนึ่งที่น่าสนใจ กรณีที่อิหร่านเป็นประเทศเดียวในภูมิภาค ซึ่งไม่อนุมติให้ฐานทัพสหรัฐฯประจำการอยู่ในพื้นที่ของตน ประการนี้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อิหร่านกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอำนาจอิสราเอล และพันธมิตร

ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรง และอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างเห็นได้ชัด ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ถูกมองข้าม โดยมักมิได้ถูกนำเสนอโดยสื่อกระแสหลัก ในความสนับสนุนของอำนาจปกครองชาติตะวันตก เกี่ยวกับความขัดแย้งอิหร่านสหรัฐฯ ณ ที่นี่ มี 5 ประการสำคัญ ทีเราจะขอกล่าวถึง ดังต่อไปนี้:

1) สงครามกับอิหร่านถูกวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างน้อยที่สุด นับตั้งแต่ปี 2001 

อ้างจาก Democracy Now – พลเอกเวสลี คลาร์ก (Wesley Clark) อดีตผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังพันธมิตรนาโต้ในสงครามโคโซโวของสหรัฐฯ ได้ออกมาเปิดเผยในรายการโทรทัศน์ว่า ในปี 2001 ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐได้วางแผนที่จะโจมตีอิรัก ซีเรีย เลบานอน ลิเบีย โซมาเลีย ซูดานและอิหร่าน และยึดครองประเทศเหล่านี้ให้ได้ภายใน 5 ปี

นายพลคลาร์ก ได้เล่าถึงข้อมูลที่ตนได้รับจากการเยือนแพนตากอน ประมาณ 10 วัน หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 และได้พบปะเจรจากับโดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีกลาโหม และพอล วูล์โฟวิตซ์ รองของเขา และจากนั้นได้ลงไปที่ชั้นล่างเพื่อที่จะพบกับเจ้าหน้าที่บางคนที่อยู่ภายใต้คำสั่งของตน

ทั้งนี้ สิ่งที่นายพลเวสลี คลาร์กกล่าวไว้นั้นมิได้เป็นเรื่องที่ไกลความเป็นจริงแต่ประการใด เพราะอิรักและลิเบียต่างก็ถูกโจมตีไปแล้วอย่างย่อยยับ เหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังเป็นไปเพื่อแสวงหาอำนาจ และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเงินในประเทศของชาติมหาอำนาจเอง

ซัดดัม ฮุสเซนถูกกล่าวหาว่าสะสมอาวุธร้ายแรงที่เป็นภัยต่อสันติภาพ แต่เมื่อกองทัพสหรัฐฯยึดอิรักและสังหารประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนไปแล้ว จวบจนทุกวันนี้ ทหารสหรัฐฯทั้งกองทัพยังไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันคำกล่าวร้ายของตนได้

เช่นเดียวกับในลิเบีย ที่ซึ่งถูกกองกำลังนาโต้ยึดครอง และทำให้พันเอก มุอัมมาร์ กัดดาฟี ต้องถูกสังหาร และซีเรียในขณะนี้ ที่กำลังถูกปั่นกระแสให้โลกเข้าใจว่าประธานาธิบดี บะชัรฺ อัลอัซซัด เป็นเผด็จการสังหารประชาชน พร้อมกันนั้น ข้อกล่าวหาแบบหมาป่ากับลูกแกะว่า อิหร่านกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพของโลกก็กำลังถูกแพร่กระจายออกไป เป็นการสร้างเหตุผลให้สหรัฐฯสามารถทำหน้าที่เป็นตำรวจโลกอีกครั้ง ในการโจมตีอิหร่าน และเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆทำการคว่ำบาตรอิหร่าน เพื่อ พิทักษ์ไว้ซึ่ง “สันติภาพ”ของโลกใบนี้

2) อิหร่านไม่ได้รุกรานชาติใดๆเลย มานานมากกว่า 200 ปี

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ แม้อิหร่านจะถูกโอบล้อมด้วยฐานทัพทหารสหรัฐฯ ทั่วทั้งภูมิภาค และรอบเขตแดนประเทศ ทว่ากองกำลังต่อสู้ที่เป็นพันธมิตรของอิหร่านอย่าง ฮิซบุลลอฮ์ และฮามาส ก็ไม่เคยเล็งเป้าหมายไปยังชาวอเมริกันเลย

3) อิหร่านมีทรัพยากรที่เอื้อประโยชน์แก่สหรัฐฯ

ขณะที่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากฝั่งสหรัฐฯและพันธมิตรได้ส่งผลทำให้การผลิตของอิหร่านลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อิหร่าน คือ ประเทศที่สำรองน้ำมันดิบใหญ่เป็นอันดับ 4 และสำรองก๊าสธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ขณะที่เราต่างทราบดีว่า สหรัฐฯรักที่จะนำ “เสรีภาพ” และ “ประชาธิปไตย” ไปยังประเทศนอก ที่ครอบครองทรัพยากรธรรมชาติมากมายขนาดไหน

4) CIA เป็นหน่วยงานที่ล้มล้างระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยในอิหร่านเมื่อปี 1953

สื่ออังกฤษ The Guardian  ได้เผยแพร่บทความ ระบุ CIA ออกมายอมรับว่าตน ร่วมสหรัฐฯ และอังกฤษมีบทบาทในการรัฐประหารอิหร่านเมื่อปี 1953 ทั้งนี้รัฐประหารของ CIA ยังแทนที่ ผู้นำระดับสูงที่มาจากการเลือกตั้งของอิหร่านด้วยหุ่นเชิดของสหรัฐฯ นั่นคือ กษัตริย์ ชาฮ์ ปาลาห์วี และการขึ้นมามีอำนาจของชาฮ์นี่เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การปฏิวัติอิสลามของอิมามโคมัยนี ในเวลาต่อมา และให้กำเนิด “ระบอบการปกครองเผด็จการ” ตามทัศนะของสหรัฐฯและพันธมิตรในปัจจุบัน

5) อิหร่านพังทลายระบบเงินดอลลาร์ ในปี 2017

รัฐบาลอิหร่านยุติใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ตามรายงานประจำวันภาษาอังกฤษของ Financial Tribune – การตัดสินใจดังกล่าวได้รับการประกาศโดย ผู้ว่าการธนาคารกลางอิหร่าน Valiollah Seif ในระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ในตอนเย็นของวันที่ 29 มกราคม 2017 และตามรายงานฉบับนี้ระบุว่า มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ ในวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งมันจะส่งผลต่อรายงานทางการเงินและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างเป็นทางการทั้งหมด

การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีนัยสำคัญ เมื่อคำนึงถึง คำสั่งแบนพลเมือง 6 ชาติมุสลิมเข้าสหรัฐฯ โดยโดนัลด์ ทรัมป์ ครั้งได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงแรกเริ่ม – สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ประเทศมุสลิมทั้ง  6 ได้แก่ อิหร่าน ลิเบีย ซีเรีย โซมาเลีย เยเมน และอิรัก ล้วนเป็นเป้าหมายจากใน 7 ประเทศที่สหรัฐฯมีแผนจะโค่นล้ม ตั้งแต่ปี 2001 ตามคำพูดของนายพลเวสลีย์ คลาร์ก

ขณะที่ ประเทศอื่นๆ ซึ่งเคยกระทำการดรอปเงินดอลลาร์สหรัฐฯเช่นนี้ ได้แก่ ลิเบีย อิรัก และซีเรีย..

ทั้งนี้ จากคอลัมน์ เดินคนละฟาก เผยแพร่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดย กมล กมลตระกูล  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2550 กล่าวว่า

อิหร่านเริ่มยุติการซื้อขายน้ำมันของตนจากเงินดอลลาร์มาเป็นเงินยูโรแทนเมื่อปี 2003 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ค่าเงินดอลลาร์ก็ลดลงเป็นอย่างมาก ตามหลักความต้องการซื้อ (demand) และความต้องการขาย (supply) เมื่อความต้องการซื้อลดลง ราคาของสิ่งนั้นก็ลดตามด้วย

การแก้เกมของอเมริกาคือ การปั่นราคาน้ำมันโลกให้สูงขึ้นเพื่อสร้างความต้องการซื้อดอลลาร์ให้อยู่ในระดับเดิม ทุกวันนี้ราคาน้ำมันจึงพุ่งทะยานขึ้นสูงเป็นอย่างมาก

ถ้าวิธีนี้ไม่ได้ผล อเมริกาอาจจะตัดสินใจ โจมตีอิหร่านเหมือนเช่นที่ทำกับอิรักด้วยเหตุผลเดียวกันคือ กำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยใช้ยุทธวิธี “โจมตีก่อนแล้วพิสูจน์ทีหลัง” (pre-emptive strike ) และตามข้อมูลที่ออกมาในปัจจุบัน มันก็กำลังเป็นไปเช่นนั้น

อย่างไรก็ตามอิหร่านเป็นประเทศใหญ่กว่าอิรักมาก มีประชากรมากกว่า ถ้าอเมริกาโจมตี และเข้ายึดครอง ก็อาจจะเป็นสงครามยืดเยื้อกว่าสงครามอิรัก และอาจจะต้องลงทุนด้วยชีวิต ทหารอเมริกันมากกว่าอิรักอีกหลายเท่า

คนอเมริกันจำนวนมากจึงไม่เห็นด้วย รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ รัฐบาล และสื่อมวลชน ดังนั้นจึงมีรายงานวิจัย เผยแพร่ออกมาว่าอิหร่านได้ยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาแล้วตั้งแต่ปี 2003 เพื่อป้องกัน ไม่ให้ประธานาธิบดีบุชโจมตีอิหร่านเสียก่อน แล้วพิสูจน์ทีหลัง

ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ก็ยุติการขาย น้ำมันของตนด้วยเงินดอลลาร์ไปแล้ว แต่ขายเป็นเงินยูโรแทน ดังนั้นโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่ากลับมามีอิทธิพลในตลาดเงินโลกเหมือนเดิมจึงมีโอกาสน้อย หรือเป็นไป ไม่ได้เลย

สถานการณ์ข้างต้นเป็นสัญญาณขาลงของอภิมหาอำนาจที่ครองความเป็นเจ้ามาเป็นเวลาเกือบ 60 ปี ซึ่งสั้นกว่ายุคล่าอาณานิคมที่ยาวนานเป็นร้อยปี

Source: The Free Thought Project