ต่อจากตอนที่ 1: อีกด้านของ”ฮาลาล”-ปรัชญาคุ้มครองผู้บริโภค สัตว์ ระบบนิเวศน์ และสวัสดิภาพของสังคมโดยรวม (ตอน1)
2) ฮาลาล คุ้มครองและเสริมสร้างคุณภาพระบบนิเวศน์
การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นทั่วโลก เป็นกระแสที่ทำให้การอุปโภค/บริโภค พุ่งสูงขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดี เราพบว่า ความฟุ่ยเฟื่อยที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ ได้นำไปสู่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาโลกร้อน อากาศเปลี่ยนแปลง มลภาวะทางน้ำ และทางบก เป็นต้น ทั้งนี้การตระหนักรู้ถึงความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และสุขภาพที่ย่ำแย่ของผู้คนในปัจจุบัน ผลักดันโลกให้ก้าวเข้าสู่ยุคที่ผู้ประกอบการ หันมาให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ และสุขภาพมากขึ้น สังเกตได้จากการตลาดในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นไปที่การรักษาสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของผู้คน หรือที่เรียกกันว่า Green Marketing (การตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม) อันเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภค/อุปโภค
อย่างไรก็ดี ลักษณะการตลาดเพื่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนั้น อันที่จริงแล้ว มีความสอดคล้องกับสิ่งที่อิสลามนำเสนอ และเรียกร้องไปยังมนุษยชาติ มาเป็นระยะเวลานานกว่า 1400 ปี ตั้งแต่ยุคสมัยของท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) โดยจากการศึกษาชีวประวัติของท่าน เราสามารถกล่าวได้ว่า ท่านศาสดาเป็นหนึ่งใน นักปฏิวัติเพื่อสิ่งแวดล้อม นักอนุรักษ์ธรรมชาติ และนักส่งเสริมสิทธิสัตว์
กรณีตัวอย่าง: อิสลามกับรูปแบบการเลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อการค้าขายและประกอบอาหาร
มีรายงาน และวจนะจากท่านศาสดาเป็นจำนวนมาก ที่ได้เน้นย้ำถึงสิทธิของสัตว์ ตัวอย่างเช่น การกำชับให้ประชาชาติรู้จักเมตตาต่อสัตว์ การสอนให้มนุษย์แบ่งปันอาหารแก่สัตว์ ปกป้อง และไม่ละเมิดสัตว์ทั้งหลาย และตามที่เราทราบดีว่า ท่านศาสดามูฮำหมัด ยังเคยประกอบอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์อีกด้วย
นอกจากนี้ เราจะสังเกตว่า ในคัมภีร์อัลกุรอาน ยังคงมีบางบท (ซูเราะห์) ที่มีชื่อบท เป็นชื่อของสัตว์ เช่น วัวตัวเมีย (อัลบะกอเราะห์) , ปศุสัตว์ (อัลอันอาม) , มด (อันนัมลฺ) เป็นต้น การตั้งชื่อบทของอัลกุรอานด้วยกับชื่อของสัตว์ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานนั้น แน่นอนไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไร้สาระแต่ประการใด ทว่ามันเป็นสัญญาณหนึ่งจากพระผู้เป็นเจ้า ให้มนุษย์เห็นถึงความสำคัญของสัตว์ ในฐานะสิ่งที่ถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นแหล่งที่มาของปัจจัยยังชีพที่พระเจ้าทรงประทานให้กับมนุษย์ ดังที่อัลลอฮฺ (ซ.บ) ทรงตรัสว่า:
وَمَا مِنْ دَابَّةٍ فِي الْأَرْضِ وَلَا طَائِرٍ يَطِيرُ بِجَنَاحَيْهِ إِلَّا أُمَمٌ أَمْثَالُكُمْ } ـ الأنعام
“ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใดที่อยู่บนโลก หรือสัตว์ปีกที่บินด้วยกับสองปีกของมัน ต่างก็เป็นประชาชาติเยี่ยงเดียวกับประชาชาติของสูเจ้าทั้งหลาย”
(ซูเราะห์อัลอันอาม โองการที่ 38)
เมื่อกล่าวถึง การฆ่าสัตว์เพื่อการค้า และนำมารับประทานเป็นอาหาร อิสลามยังแนะนำให้ใช้วิธีการเชือด และดังที่เราได้กล่าวไว้แล้วก่อนหน้า ตามหลักการวิทยาศาสตร์นั้น ถือเป็นวิธีการฆ่าที่ไม่ทรมานต่อสัตว์ ไม่เพียงเท่านั้น อิสลามยังกำชับให้มุสลิมปฏิบัติอย่างดีต่อสัตว์ที่จะถูกนำไปเชือด โดยการมอบสิทธิที่จำเป็นต่างๆ เช่น การให้น้ำ-อาหารที่ปลอดจากสารพิษ และเพียงพอ การจัดหาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด ปราศจากความกลัวและความทุกข์สำหรับให้สัตว์อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล หากสัตว์มีอาการเจ็บป่วย และฯลฯ ทั้งยังแนะนำว่า มิให้ฆ่าสัตว์ตัวนั้นๆ ต่อหน้าสัตว์ตัวอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้ความสำคัญต่อสิทธิสัตว์แล้ว ยังเป็นการชี้ให้เห็นว่า อิสลามมีแบบอย่าง (Model) การเลี้ยงปศุสัตว์ ที่สอดคล้องกับเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เพื่อสุขภาพแบบ Organic หรือ การเลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์ ที่มุ่งเน้นให้อาหาร พืชผัก สัตว์ ผลิตภัณฑ์ และสินค้าต่างๆ มาจากกระบวนการเพาะปลูก/ผลิต ที่ไม่ใช้สารเคมี เช่น สารกำจัดศัตรูพืช และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์
กรณีตัวอย่าง: อิสลามกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า
อิสลามได้วางกฎระเบียบ แก่ชีวิตของมุสลิม ให้มีศรัทธาและปฎิบัติตามคำสั่งใช้อนุมัติให้กระทำได้ (ฮาลาล) และคำสั่งห้าม(ฮาราม) ที่มาจากพระองค์ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน ในเรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ พระเจ้าได้ประกาศต่อมนุษย์ว่า พระองค์ไม่ทรงรักผู้ทำลายธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ดังที่อัลกุรอานบัญญัติว่า:
وَيَسْعَوْنَ فِي الْأَرْضِ فَسَادًا ۚ وَاللَّهُ لَا يُحِبُّ الْمُفْسِدِينَ
“และพวกเขาได้ทำความเสียหายบนผืนแผ่นดิน(มนุษย์/ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)ที่กว้างขวางขึ้น และอัลลอฮไม่รักผู้ทำความเสียหาย/ผู้ทำลาย“
(อัล-มาอิดะห์/64)
นอกจากนี้ เรายังสังเกตเห็นว่า หลักปฎิบัติหรือพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม ยังเกี่ยวโยงและพึ่งพาธรรมชาติที่สะอาดและสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น ก่อนจะทำการละหมาด (นมัสการ) มุสลิมจะต้องอาบน้ำละหมาดด้วยน้ำที่สะอาด มิเช่นนั้นการละหมาดจะถือเป็นโมฆะ
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทั้งหลักศรัทธา และหลักปฏิบัติในอิสลาม ต่างได้วางหลักคิดให้มนุษย์รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด รู้คุณค่า และไม่ฟุ่มเฟือย โดยถือว่า ผู้ละเมิดเป็นพวกพ้องของมารร้ายชัยฏอน ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานความว่า
وَآتِ ذَا الْقُرْبَىٰ حَقَّهُ وَالْمِسْكِينَ
وَابْنَ السَّبِيلِ وَلَا تُبَذِّرْ تَبْذِيرًا
إِنَّ الْمُبَذِّرِينَ كَانُوا إِخْوَانَ الشَّيَاطِينِ ۖ وَكَانَ الشَّيْطَانُ لِرَبِّهِ كَفُورًا
“และเจ้าอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงบรรดาผู้ฟุ่มเฟือยเป็นพวกของมารซัยฏอน
และมารชัยฏอนนั้นเป็นผู้เนรคุณต่อผู้อภิบาลของมัน”
(อัลอิสรออฺโองการที่ 26-27)
ในทางปฏิบัติ ท่านศาสดาก็ได้แสดงแบบอย่างไว้อย่างชัดเจน ครั้งหนึ่งท่านศาสดาเดินผ่านซะอัด ขณะที่เขากำลังอาบน้ำละหมาดอยู่ ท่านศาสดาทักเขาว่า “ทำไมใช้น้ำฟุ่มเฟือยเช่นนี้?” เขาถามว่า “ในการอาบน้ำละหมาดมีความฟุ่มเฟือยกระนั้นหรือ?” ท่านศาสดาตอบอย่างเน้นย้ำว่า “มีสิ ถึงแม้ท่านจะอยู่ข้างแม่น้ำที่ไหลผ่านก็ตาม”
หรือในกรณีที่ท่านศาสดาได้ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ หรือปลูกป่าทดแทน กล่าวคือ ผู้ที่ทำการปลูกต้นไม้หรือหว่านเมล็ดพืชลงในดิน หากมีมนุษย์ สัตว์หรือนกได้มากินพืชผลเหล่านั้น เขาก็จะได้รับผลบุญเป็นค่าตอบแทน
ดังนี้ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า จึงเป็นคำสั่งใช้โดยตรงจากพระองค์ เป็นเรื่องที่ผูกติดกับความเชื่อที่มีต่อพระเจ้า ซึ่งประชาชาติผู้นับถือ ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร หรือ ประกอบอาชีพใด ทั้งฝ่ายผู้ประกอบการ และฝ่ายผู้อุปโภค/บริโภคในอุตสาหกรรม ล้วนมีส่วนต้องรับผิดชอบ หาวิธีพัฒนา และบำรุงรักษาคุณภาพที่ดีของสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรตามธรรมชาติอย่างจริงจัง
ในกรณีนี้ ย่อมทำให้ สินค้าที่ผลิตโดย อุตสาหกรรมใดก็ตาม ซึ่งจงใจละเมิด หรือเพิกเฉยต่อกฎเกณฑ์ข้อนี้ ในขั้นตอนการผลิตและจัดจำหน่าย ไม่มีความเหมาะสม คู่ควรกับการได้รับเครื่องหมายรับรอง ฮาลาล หากเราจะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาตามหลักเกณฑ์อิสลามที่ถูกต้อง
กรณีตัวอย่าง: อิสลามกับการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์
วิกฤติทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานของความตกต่ำทางด้านจริยธรรมของมนุษย์ที่ผ่านมา ทำให้งานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมนุษย์เริ่มยอมรับความจริงของชีวิตที่ว่า ตนไม่สามารถดำรงอยู่อย่างผาสุกได้ หากปราศจากความสมบูรณ์ และสมดุลของธรรมชาติ
สัจธรรมประการหนึ่งในศาสนาอิสลาม กล่าวไว้ให้มนุษย์ทำความรู้จัก หรือ เข้าหา พระเจ้า โดยการรู้จักสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างในธรรมชาติต่างๆ จากการศึกษาพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เราพบว่า มีโองการเป็นจำนวนมาก ที่พระองค์ได้ตรัสสาบาน ผ่านสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง เช่น การที่อัลลอฮ์ได้สาบาน กับจุดที่ตั้งของดวงดาว จากซูเราะฮ์ อัลวากิอะฮ์ โองการที่ 75-77 ความว่า:
۞ فَلَا أُقْسِمُ بِمَوَاقِعِ النُّجُومِ
ข้า (อัลลอฮ.) ขอสาบานด้วยตำแหน่งต่าง ๆ ของดวงดาว
وَإِنَّهُ لَقَسَمٌ لَّوْ تَعْلَمُونَ عَظِيمٌ
และแท้จริงมันเป็นการสาบานอันยิ่งใหญ่ หากพวกเจ้ารู้
إِنَّهُ لَقُرْآنٌ كَرِيمٌ
นั่นคือ กุรอานอันทรงเกียรติ
โดยวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็ได้ให้คำอธิบายพอสังเขปเกี่ยวกับ ความยิ่งใหญ่ของจุดที่ตั้งของดวงดาวที่ว่านี้ และความสมดุลกันระหว่างการโคจรของดวงดาวต่างๆในจักรวาล
ในการนี้ เราจะขอยกเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ไม่ซับซ้อน เพื่อพิสูจน์ถึงสัจธรรมของโองการข้างตน จากดาวเพียงดวงเดียวเท่านั้นในระบบจักรวาลทั้งหมด คือ ดวงอาทิตย์ ซึ่งเราค้นพบว่า มันคือ ดาวฤกษ์ที่เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์แคระ ดาวเคราะห์น้อย และ ดาวหาง ล้วนแล้วแต่โคจรรอบดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น และสำหรับโลกของเรา ดวงอาทิตย์มีอิทธิพลต่อทุกๆสิ่งมีชีวิตน้อย ใหญ่ ในการดำรงชีวิต เพราะเป็นแหล่งพลังงานความร้อนและพลังงานแสง
อนึ่ง พลังงานจากดวงอาทิตย์ได้ถูกดูดซับเข้าไปในพืช จากนั้นพืชก็สามารถตรึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศได้เป็นน้ำตาล ผ่านกระบวนการสังเคราะห์อาหาร (สังเคราะห์แสง) น้ำตาลที่ได้นั้น พืชจะนำไปแปรรูปเป็นทั้งผนังเซลล์ เยื่อหุ้มเซลล์ ออแกเนลล์ภายในเซลล์ และ ฯลฯ เพื่อดำรงชีพตนเอง เมื่อพืชเป็นผู้ผลิตอาหารเองได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ก็ทำให้สัตว์มีอาหารจากส่วนต่าง ๆ ของพืช สิ่งสำคัญที่สุดนอกจากเป็นอาหารให้แก่สิ่งมีชีวิตอื่นแล้ว พืชยังช่วยในการผลิต ออกซิเจน ซึ่งเป็นของเสียในกระบวนการสังเคราะห์แสง แต่เป็นสิ่งจำเป็น ทำให้มนุษย์และสัตว์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ในขณะเดียวกันสัตว์ก็หายใจเอาแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกให้แก่พืช สำหรับนำกลับมาใช้ในกระบวนการสร้างอาหาร (สังเคราะห์แสง)อีกครั้งเป็นวัฏจักร ทั้งนี้ หากปราศจาก จุดที่ตั้งของดวงอาทิตย์ โดยการอนุมัติของพระเจ้า กระบวนการทั้งหมดนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
ข้างต้น เป็นเพียงหยดหนึ่งจากวิทยปัญญามากมายมหาศาลเบื้องหลังโองการจากพระผู้เป็นเจ้า เพียงโองการเดียว และเฉกเช่นเดียวกับคำสั่งใช้ และคำสั่งห้ามอื่นๆที่มาจากพระบัญชาของพระองค์ อย่างในกรณีของระบบนิเวศ ดั่งที่เราพบว่า ยังคงมีสิ่งถูกสร้างหลายอย่างที่อิสลามไม่อนุมัติ(ไม่ฮาลาล)ให้นำมาใช้สำหรับการอุปโภค/บริโภค เช่น สัตว์เลื้อยคลาน อย่าง งู เป็นต้น โดยวิทยปัญญาเบื้องหลังข้อบัญญัตินี้ประการหนึ่ง คือ การรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
เราสังเกตว่า งู มีบทบาทที่สำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหาร เช่นในระบบนิเวศทุ่งนา นาย สัญชัย เมฆฉาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลาน จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ปทุมธานี กล่าวว่า จริงๆ แล้ว งูหลายชนิดในระบบนิเวศจะกินหนู ซึ่งมีอัตตราการแพร่พันธุ์ที่เร็วมาก ทั้งยังเป็นพาหะนำโรคที่หลากหลายมาสู่มนุษย์
การหายไปของงู จะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ปัญหาหนูเต็มนา และเกิดความเสียหายต่อมนุษย์ตามลำดับ การหมดไปของงู อาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้ต้นไม้บางพันธ์สูญหาย เพราะงูมักกินสัตว์ฟันแทะ ขณะที่สัตว์ฟันแทะ กัดกินเมล็ดพันธ์พืชเป็นอาหาร
ด้วยประการฉะนี้ ทำให้การยึดในหลักการอุปโภค และบริโภค ที่ฮาลาล หรือ อนุมัติในอิสลาม ถือเป็นการปฏิบัติในสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างคุณภาพและสมดุลที่ดีของระบบนิเวศ และหากโลกนี้ ปราศจากหลักธรรม หรือ หลักยึดของคำว่า อาหารจะทำให้มนุษย์อยากกินทุกอย่าง อันนำไปสู่ความสูญเสีย และความไม่สมดุลทางธรรมชาติ และเหตุนี้เอง ความสวยงามของโลกจำนวนมากจึงหายไปพร้อมกับคำว่าคุณธรรมและจริยธรรมในการกิน – (จากโอวาท โดยฮุจตุลอิสลามซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี)
3) ฮาลาล คุ้มครองและเสริมสร้างสวัสดิภาพของสังคมโดยรวม
เมื่อพิจารณาจากบทลงโทษต่างๆ สำหรับใช้เป็นกฎคาดโทษบุคคลที่กระทำในสิ่งที่ไม่ได้รับอนุมัติ (ไม่ฮาลาล) ตามหลักศาสนาอิสลาม เราพบข้อสรุปที่ชัดแจ้งประการหนึ่งว่า อิสลามเป็นศาสนาที่สั่งใช้ให้มนุษย์แสวงหาปัจจัยยังชีพในวิถีทางที่สุจริต เพื่อผดุงไว้ซึ่งสวัสดิภาพของสังคมโดยรวม โดยที่การละเมิดบทบัญญัตินี้ จะนำไปสู่การลงโทษ ที่ในกรณีหนึ่งๆ อาจฟังดูโหดร้ายเกินไปในบริบทของสังคมปัจจุบัน เช่น บทลงโทษให้ตัดนิ้วมือ ผู้ต้องหาที่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า กระทำการลักทรัพย์โดยมิชอบ ซึ่งขโมยเงิน หรือทรัพย์สินของผู้ที่ทำงานหนักในการเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่ทว่าเมื่อเราคำนึงถึงสิทธิของผู้เสียหาย และความสำคัญของสันติภาพทางสังคม เราจะพบว่า ขโมยแบบนั้นเป็นผู้ที่กระจายความเสื่อมทรามสู่สังคม ดังนั้นการลงโทษในลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น ในเป้าหมายเพื่อมอบคืนความยุติธรรมแก่ผู้เสียหาย ปกป้องเสรีภาพของผู้คน และขจัดให้พ้นซึ่งความยากจนไปจากสังคม
ในการนี้ อิสลามเน้นย้ำว่า ทรัพย์สินที่มนุษย์หามาได้ จะต้องได้มาจากการประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบือน ละเมิด กดขี่ หรือ เอารัด เอาเปรียบผู้อื่น ในทุกๆขั้นตอน ดังนี้ ผู้ประกอบกิจการที่ฮาลาล จะต้องคำนึงถึงสิทธิ และเสรีภาพของผู้มีส่วนได้เสียทุกๆฝ่าย เช่น จะต้องไม่ละเมิดสิทธิแรงงาน และไม่ฉ้อโกงผู้บริโภค/อุปโภค นับตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การโปรโมทสินค้า ไปจนถึงขั้นจัดจำหน่าย เป็นต้น
และการประกอบอาชีพที่ทุจริต ไม่ว่าจะในแง่ของการฉ้อโกง และ/หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้เพียงเล็กน้อย ในทัศนะอิสลาม ล้วนถือ เป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสังคม ส่งผลทำให้เกิดปัญหาความยากจน และนำไปสู่รความขัดแย้ง ในวงกว้าง อันทำให้บ้านเมืองระส่ำ ระส่าย เสียหาย และปราศจากความสงบสุข
กรณีตัวอย่าง: หลักเศรษฐกิจเบื้องต้นในอิสลาม
وَيْلٌ لِّلْمُطَفِّفِينَ
ความหายนะจงประสบแด่บรรดาผู้ทำให้พร่อง (ในการตวงและการชั่ง)
الَّذِينَ إِذَا اكْتَالُوا عَلَى النَّاسِ يَسْتَوْفُونَ
คือบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาตวงเอาจากคนอื่นก็ตวงเอาเต็ม
وَإِذَا كَالُوهُمْ أَو وَّزَنُوهُمْ يُخْسِرُونَ
และเมื่อพวกเขาตวงหรือชั่งให้คนอื่นก็ทำให้ขาด
(ซูเราะฮฺอัลมุฏอฟฟีฟิน: 1-3)
จากโองการของพระคัมภีร์อัลกุรอานข้างต้น เราพบสัจธรรมประการหนึงที่ว่า อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงสอนให้มนุษย์ทราบถึงรูปแบบเศรษฐกิจที่หยั่งยืน ด้วยการสาปแช่งไปยังผู้ค้าขาย หรือ ผู้ประกอบการใดก็ตาม ที่จงใจกระทำการฉ้อโกงต่อผู้บริโภค/อุปโภค เพื่อประโยชน์ส่วนตน แม้จะเป็นเพียงแค่การโกงตาชั่งตวงก็ตาม
นอกจากนี้ เศรษฐกิจอิสลาม ยังให้ความสำคัญกับการกระจายความร่ำรวย และต่อต้านไปยังระบอบทุนนิยม ด้วยการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมทางสังคม และรักษาสิทธิของประชาชนทุกคนในการเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน โดยมีกฎห้ามต่างๆ (ไม่ฮาลาล หรือ ฮาราม) เช่น การห้ามกินดอกเบี้ย ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการขูดรีด กดขี่ ระหว่างผู้คน นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการทำลายศีลธรรมและศักดิ์ศรีของมนุษย์ด้วยกัน ดั่งที่เราเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า ในปัจจุบันนี้ มีชายเพียง 5 คนเท่านั้น ที่กอบโกยความมั่งคั่งเกือบเท่าครึ่งของประชากรโลก และนี่คือผลร้ายจากระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลวแบบตะวันตก
งานวิเคราะห์ชิ้นหนึ่ง ในปี 2016 พบว่า ประชากรที่ยากจนที่สุดในโลก จำนวนห้าสิบล้านคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดรวมกันประมาณ 4.1 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ภายหลัง วันที่ 06/08/17 เป็นต้นมา คนร่ำรวยที่สุดของโลก 5 คน กลับมีทรัพย์สิน รวมกันมากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละคนจะครอบครองจำนวนทรัพย์สินมากพอ ต่อการกระจายไปยังประชากรอื่นๆได้ประมาณ 750 ล้านคน
ทั้งนี้ ผู้ที่เห็นดีเห็นงามด้วยกับช่องว่างระหว่างความมั่งคั่งที่เกินจะควบคุมได้นี้ ยืนกรานว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ นั่นเป็นเพราะ อย่างไรก็ตามประเทศมหาอำนาจตะวันตก อย่างเช่น สหรัฐฯ ปกครองด้วย หลักการบริหาร’meritocracy’ ที่เน้นความรู้ความสามารถของบุคคลเป็นหลัก อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า หลักบริหารเช่นนี้ส่งผลทำให้สังคม เชิดชู และให้ค่า “คนเก่ง” เป็นสำคัญ ฉะนี้คนที่ร่ำรวยมากๆ จึงมีสิทธิ์สมบูรณ์ที่จะครอบครองสิ่งที่พวกเขามีอยู่ (มือใครยาว สาวได้ สาวเอา)
เมื่อเราเห็นถึงปัญหาที่ใหญ่หลวง ซึ่งเกิดจากความฝืดเคืองในการกระจายรายได้ข้างต้น ในทางตรงกันข้าม เราอาจเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าทำไมอิสลามจึงให้ความสำคัญกับการกระจายความมั่งคั่ง และเหตุใด “มัยซัม ตัมมาร” จึงเป็นชาวสวรรค์?
บรรดานักปราชญ์อิสลาม ได้เคยอธิบายถึง สาเหตุหนึ่งที่ส่งผลทำให้อัลลอฮ์ (ซ.บ) ยอมรับการวิงวอน ของ “มัยซัม ตัมมาร” สหายคนสนิทของท่านอิมามอะลี (อฺ) ที่ได้ขอต่อพระองค์ ให้ตนสามารถไปถึงยังตำแหน่งชะฮีด – หนึ่งตำแหน่งที่สูงที่สุดในการเป็นมนุษย์ โดยหนึ่งในเหตุผลนั้น คือ การที่มัยซัม เป็นผู้ค้าขายอิทผาลัมแก่ผู้คนอย่างเท่าเทียมกัน กล่าวคือ เขาได้คละเกรด (ระดับคุณภาพ)ของสินค้าอิทผาลัมรวมกันเป็นกองเดียวสำหรับจำหน่าย และจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรมแก่ทุกคน โดยเฉพาะคนยากไร้
ยิ่งไปกว่านั้น อิสลามยังวางกลไกต่างๆให้มนุษย์ผูกพันธ์กับการเสียสละนับตั้งแต่ถือกำเนิด อิสลามมีคำสั่งให้ทำการเชือดสัตว์พลี ในพิธีกรรมอากีเกาะฮ์ (โกนผมไฟ)แก่เด็กทารก และกำชับให้บริจาคเนื้อสัตว์ที่เชือดนั้น แก่ผู้ยากไร้ เพื่อฝึกฝน อบรบให้ประชาชาติตระหนักอยู่เสมอว่า ไม่มีใครประสพความสำเร็จในการนับถือศาสนาได้ ถ้าไม่รู้จักการให้ ไม่รู้จักเสียสละ ไม่รู้จักการบริจาค ไม่รู้จักการช่วยเหลือ ดังที่อัลกุรอานตรัสว่า :
لَن تَنَالُوا الْبِرَّ حَتَّىٰ تُنفِقُوا مِمَّا تُحِبُّونَ
พวกเจ้าจะไม่ไปถึงซึ่งความดีใดๆเลย จนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้ารักร
(ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน: 92)
ในหลักปฏิบัติทางศาสนา อิสลามยังมีกฎระเบียบให้มนุษย์จ่ายทานซากาต หรือ การจ่ายทานให้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับเมื่อครบรอบปี โดยหากมุสลิมคนใดมีทรัพท์สิน เงินทอง สินค้าที่เหลือในรอบปีแล้วไม่ทำการบริจาค ผู้นั้นจะถือเป็นผู้หนึ่งที่ทำผิดบัญญัติของอิสลาม
นอกจากนี้ อิสลามยังส่งเสริมให้มนุษย์มีความรักในการเสียสละ และบริจาค ทั้งในยามมั่งมี และยามขาดแคลน ในกรณีนี้ อัลกุรอาน ได้ยกตัวอย่าง จากแบบฉบับของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อฺ) บุตรีของท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ในครั้งที่ท่านหญิงได้เสียสละอาหารที่มีอยู่อย่างน้อยนิด สำหรับการละศีลอดของท่านและครอบครัว เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน ให้แก่ เด็กกำพร้า คนยากไร้ และเชลยสงคราม ในช่วงที่บ้านเมืองต้องเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ
จากเหตุการณ์นี้ เราเรียนรู้ว่า ไม่มีอะไรหยุดยั้งความรักของท่านหญิงที่มีต่อการบริจาคได้ ไม่ว่าจะเป็น ความน้อยนิดของอาหารที่มี, ความจำเป็นต่ออาหาร, การถือศีลอด ในฤดูร้อน, บ้านเมืองที่กำลังประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ และยิ่งไปกว่านั้น คือ เมื่อบรรดาผู้ที่ได้รับทานจากท่านหญิงกล่าวขอบคุณ หนึ่งในคำตอบที่ท่านหญิงได้ตอบไปยังพวกเขาคือ ..”เราบริจาคด้วยพระพักตร์ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เราไม่ต้องการการตอบแทน เราไม่ต้องการแม้แต่คำขอบคุณ” ดังที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า
وَيُطْعِمُونَ الطَّعَامَ عَلَىٰ حُبِّهِ مِسْكِينًا وَيَتِيمًا وَأَسِيرًا
และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์แก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก
(ซูเราะฮฺ อัลอินซาน: 8)
สรุป:
เนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งจาก ข้อเท็จจริง และวิทยปัญญาเบื้องหลังบทบัญญัติอิสลาม ว่าด้วยเรื่อง “ฮาลาล” แน่นอนว่า ยังคงมีปรัชญาอีกมากมายที่แฝงอยู่ในสิ่งที่ศาสนาอิสลามอนุมัติให้กระทำ หรือ ไม่กระทำได้ และครอบคลุมกิจการในด้านอื่นๆที่นอกเหนือจากด้านอุตสาหกรรมและการค้าขาย ถึงกระนั้น กรณีศึกษา และการใคร่ครวญต่างๆ ก็ทำให้เรารับรู้ได้ในระดับหนึ่งว่า หลักการอิสลามมิได้ถูกกำหนดมาอย่างไร้เป้าหมาย ทว่าทุกๆบทบัญญัติถูกบรรจุไว้ด้วยความรู้ที่สูงส่ง ซึ่งเหมาะสมแก่การนำมาใช้เพื่อปฏิวัติสังคมมนุษย์ไปสู่ความยุติธรรม ความสุข และสันติภาพที่แท้จริง
กว่า 14 ศตวรรษมาแล้ว ที่อิสลามได้นำเสนอ “มาตรฐานรับรอง” ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยคุ้มครองและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้บริโภค/อุปโภค สัตว์ ระบบนิเวศน์ และสวัสดิภาพของสังคมโดยรวม เราอาจกล่าวได้ว่า “ฮาลาล” คือ เครื่องหมายเดียวที่สามารถทำหน้าที่แทน เครื่องหมายอาหารและยา (อย.), เครื่องหมายมาตรฐานไอเอสโอ, เครื่องหมายมาตรฐาน Q, สัญลักษณ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ, สัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และฯลฯ หากผู้ประกอบการ และผู้รับรองมาตรฐานฮาลาล ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และใส่ใจในการทำความเข้าใจต่อปรัชญา “ฮาลาล” อย่างแท้จริง..