ว่าด้วยนิยามของ “ซียาซัต” หรือ การเมือง

174
ซียาซัต เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมรัฐศาสตร์อิสลาม คำถามคือ เมื่อมุสลิมหรือผู้ที่ศึกษารัฐศาสตร์อิสลามพูดถึง”ซียาซัต” อะไรคือความหมายของมัน ? การศึกษาถึงคำนิยามของคำๆนี้จะช่วยเพิ่มความเข้าใจให้กับผู้ที่ประสงค์จะศึกษารัฐศาสตร์แบบอิสลาม เพื่อทำความเข้าใจการเมืองอิสลามในระดับพื้นฐานให้ดียิ่งขึ้น 

1.นิยามทางภาษาของคำว่า ซียาซัต 

ซียาซัต หรือ ซียาซะฮ์  (سیاسة) ในความหมายทั่วไป หมายถึง การเมือง เป็นคำที่มีพื้นเพมาจากภาษาอาหรับและถูกโอนถ่ายขนย้ายคำๆนี้ผ่านวัฒนธรรมของชาวมุสลิม มักปรากฏในภาษาที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน อิหร่าน และ ประเทศในคาบสมุทรอาหรับ พวกเขาจะใช้คำว่า “ซียาซัต” ให้เป็นตัวแทนของคำที่มีความหมายว่า”การเมือง” แต่มีความแตกต่างระหว่าง การเมือง กับ ซียาซัต และ Policy ในบางแง่มุม เพราะ ซียาซัต เป็นคำที่มีหลายความหมาย ซึ่งแต่ละความหมายมีความเกี่ยวข้องกัน
ตามที่เราได้กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่าพื้นเพของคำคำนี้มีรากมาจากภาษาอาหรับ ซึ่งความหมายดั้งเดิมของมันก็คื
“การดำเนินกิจกรรมหรือกระบวนการบางอย่างของบุคคล โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์บางอย่างสำหรับบุคคลผู้นั้น”
หนังสือลีซานุลอาหรับ ซึ่งเป็นพจนานุกรมคลาสสิค ภาษาอาหรับสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษารากศัพท์ อธิบายไว้ว่า ซียาซัต เดิมใช้เรียกผู้เป็นเจ้าของสัตว์ที่ใช้เป็นยานพาหนะ หรือผู้กุมบังเหียน  และในความหมาย หนึ่ง ซียาซะต์ หมายถึงเจ้านายผู้บริหารกิจการของประชาชน  นอกจากนี้ ยังมีความหมายอื่นๆ เช่นการรักษา,การพิทักษ์,การปกป้อง,การดูแล,การบริหาร เป็นต้น
(มูฮัมมัด บิน อักรอม บิน มันซูร รู้จักในนาม อิบนิมันซูร,ลีซานุลอาหรับ เล่ม 6 หน้า 108)

2.ความหมายเชิงสำนวนวิชาการของคำว่า ซียาซัต 

ในทางวิชาการ ซียาซัต มีสองความหมาย
2.1 ซียาซัตอาม หรือ การเมืองแบบทั่วไป 
ได้แบบทั่วไป ซียาซัต หมายถึงรูปแบบการบริหารทั่วไป ที่มนุษย์ใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของปัจเจกและสังคม ซียาซัต ในความหมายนี้จะมีความหมายในลักษณะครอบคลุมอย่างกว้างขวาง และครอบคลุมมิติต่างๆของชีวิตทางสังคมของมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นการเมืองแบบมีศาสนาหรือไม่มีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง
ตามหลักนิยามนี้ ซียาซัต ครอบคลุมบริบททางเศรษฐศาสตร์ การทหาร วัฒนธรรม การคลัง สังคม 9ล9  แล้วเช่นเดียวกันตามนิยามนี้แม้แต่ประชาชนก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ตาม
2.2 ซียาซัตคอส หรือการเมืองแบบเฉพาะ 
ซียาซัตคอส หรือ การเมืองแบบเฉพาะนั้น จะหมายถึงรูปแบบการบริหารและการปกครองประเทศ ที่รัฐเลือกใช้สำหรับการปกครองเขตแดนของตน ตามหลักการนิยามนี้ การเมืองหรือ ซียาซัต ก็คือ”วิธีในการบริหารสังคมและการปกครอง” อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า  ซียาซัต ใยความหมายนี้ ก็คือ “หลักการปกครองประเทศ”
ประเด็นเพิ่มเติม
ประการที่ 1 เมื่อคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่มีสังกัดเฉพาะซึ่งในบางกรณีอาจจะเป็นสังกัดทางนิกายพูดถึง ซียาซัต เป็นไปได้ว่าความหมายของการเมืองที่พวกเขากล่าวถึงจะเป็นการเมืองตามหลักการของนิกายหรือสำนักคิดที่พวกเขายึดถือ จึงมีความแตกต่างกันระหว่างรัฐศาสตร์ของกลุ่มวะฮาบีย์ รัฐศาสตร์ในมุมมองของกลุ่มชีอะฮ์ และรัฐศาสตร์ในมุมมองของซุนนี่ ซึ่งการเมืองในวาระนี้คือการเมืองที่วางอยู่บนหลักการหรือแนวคิดเฉพาะที่ถูกพิจารณาและนำเสนอไว้แล้ว ตัวอย่างของความแตกต่างในเรื่องนี้ก็คือแนวคิดเรื่องการขับรถของผู้หญิงในซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน ตำรวจศาสนาของมาเลเซียกับกลุ่มตำรวจศาสนาของอาการอัฟกานิสถาน การเข้าใจอัตลักษณ์ดังกล่าว จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความแตกต่างในเรื่องของนโยบายของแต่ละสำนักคิด รวมไปถึงความรุนแรง-การประนีประนอมของพวกเขาด้วยเช่นเดียวกั
ประการที่ 2 ซียาซัตแบบอาม หรือ การเมืองแบบทั่วไป หากถูกกล่าวถึง หรืแถูกระบุถึงโดยไม่มีค่านิยมของกลุ่มหรือสังกัดใดเข้ามาเกี่ยวข้อง ในเนื้อหาบทความหรือการกล่าวถึงคำดังกล่าว จะมีความหมายเหมือนกันกับที่คนทั่วโลกใช้คำว่า การเมือง แบบทั่วไป

3.ความเป็นกลาง ซียาซัต 

ในบริบทนึงที่ควรนำเสนอความหมายในทางภาษาของคำว่า ซียาซัต เป็นคำที่ไม่มีแง่บวกหรือแง่ลบ ไม่มีดีหรือร้ายในตัวของมันเอง ดังนั้นหามีมุมมองในแง่ลบต่อคำดังกล่าว ย่อมชี้ให้เห็นว่ามุมมองนั้นเป็นมุมมองที่ตกผลึกจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง หรือเป็นมุมมองที่เกิดจากพฤติกรรมทางการเมืองที่ผิดของนักการเมือง และองค์กรบางกลุ่ม (ซึ่งในที่นี้ครอบคลุมองค์กรก่อการร้ายด้วยเช่นเดียวกัน)
ข้อพิสูจน์ของเรื่องนี้ คือในบริบทของศาสนาอิสลาม ซียาซัต ครอบคลุมถึงการเมืองของเหล่าศาสดาแห่งพระเจ้า และตัวแทนของพวกเขาด้วยเช่นเดียวกัน เราจะเห็นเรื่องนี้ได้จากประวัติศาสตร์ของศาสดาแห่งอิสลาม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือการที่ศาสดาได้ริเริ่มรณรงค์ให้ยกเลิกวฒนธรรมอวิชาแบบเก่าของอาหรับ การเปลี่ยนค่านิยม เช่น มุมมองว่าผู้หญิงเป็นสิ่งไร้เกียรติ ลูกสาวควรถูกฝังทั้งเป็น หรือการต่อสู้กับระบบดอกเบี้ย ก็เป็นการเมืองของศาสดาแห่งอิสลาม ดังนั้น ซียาซัต จึงมีความหมายเป็นกลางไม่มีแง่บวกหรือแง่ลบใดๆ

4.ซียาซัต อยู่บนหลักการบางอย่างเสมอ 

ทุกการตัดสินใจหรือการดำเนินการบางอย่างในทางการเมือง ล้วนตั้งอยู่บนแนวคิดความเชื่อของปัจเจกและบุคคลในสังคมนั้นเสมอ ไม่มีรัฐใดสามารถบริหารบ้านเมืองได้โดยไม่มีข้อมูล หรือหลักการล่วงหน้าที่ใช้สำหรับประกอบการตัดสินใจ แม้แต่ เซคิวลาร์ลิสม์ ก็ดำเนินนโยบายทางการเมืองบนพื้นฐานหลักการและความเชื่อของตน
ดังนั้นการเมืองทุกรูปแบบซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเชื่อและมุมมองของรัฐและสังคมที่รัฐนั้นปกครอง ล้วนแต่มีหลักการเบื้องต้นทั้งสิ้น ซึ่งความเชื่อและหลักการถูกวางโครงสร้าง จากญาณวิทยา มนุษยศาสตร์ คุณวิทยา อภิปรัชญา ประวัติศาสตร์ และปรัชญาที่สังคมนั้นยึดถือ ศาสตร์เหล่านี้จึงเป็นตัวแยกแยะความแตกต่างของระบบการปกครองรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตย ฟาสซิสต์ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือการปกครองแบบอิสลาม ความแตกต่างและสีสันของการเมืองเริ่มต้นจากโลกทัศน์ของระบบนั้
ประเด็นเพิ่มเติม
ประการที่ 1 ความแตกต่างระหว่างการปกครองแบบอิสลามกับการปกครองลักษณะอื่นในด้านหนึ่งก็คือความเชื่อที่ยึดมั่นในเรื่องของโลกที่อยู่เหนือโลกแห่งวัตถุ ความเชื่อมั่นในเรื่องของพระเจ้า และตัวแทนผู้นำสารของพระองค์ ผลลัพธ์ของแนวคิดนี้ทำให้ได้ระบบการเมือง 2 ชั้นคือระบบการเมืองที่ประกอบไปด้วยผลประโยชน์ทางด้านวัตถุและผลประโยชน์ทางด้านจิตวิญญาณ การบริหารที่ออกมาก็จะมีนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ทั้งสองด้านเช่นเดียวกัน อันนั้นเมื่อเราพูดถึงรัฐศาสตร์แบบอิสลามเรากำลังพูดถึงรัฐศาสตร์ที่วางอยู่บนหลักคิดของคนที่มีความเชื่อแบบส่องโลกก็คือโลกแห่งวัตถุกับโลกแห่งจิตวิญญาณ
ประการที่ 2 หากระบบความคิดวัตถุนิยมคือระบบที่เป็นรากฐานของการเมืองในรัฐนั้น รูปแบบของการบริหารก็จะเป็นไปเพื่ออำนวยผลประโยชน์ทางวัตถุเป็นหลัก
ประการที่ 3 ความแตกต่างระหว่างการเมืองอิสลามกับการเมืองรูปแบบอื่น นอกจากจะมีค่านิยมหรือความเชื่อเป็นหลักการของรูปแบบทางการเมืองแล้ว ยังมีเรื่องของพันธสัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยในอิสลามมีความเชื่อว่ามนุษย์มีพันธะต่อพระผู้เป็นเจ้า และหนึ่งในพันธะที่พระผู้เป็นเจ้าได้วางไว้ ก็คือการเคารพสิทธิ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน โดยมีหลักการจําเพาะของตนเองซึ่งผลิตออกมาจากอัลกุรอานและแบบฉบับ และปรัชญาที่ผลิดอกออกผลมาจากแนวคิดทางศาสนา ขณะที่พันธสัญญาของระบบอื่น มักมาจากการกลั่นกรองและผลิตจากนักคิดของแต่ละยุคสมัย การเข้าใจแนวคิดนี้จะช่วยทำให้เราเข้าใจอัตลักษณ์ของรัฐศาสตร์แบบอิสลามได้ดียิ่งขึ้น กล่าวคือเมื่อพูดถึงสิทธิ์มนุษยชนและกฎหมายของอิสลาม เรากำลังมองหาว่าสิทธิ์และกฎหมายเหล่านี้มีต้นตอและแหล่งกำเนิดมาจากรากฐานใด
สรุป : ซียาซัต หมายถึง รูปแบบการบริหารและการปกครอง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ความหมายได้แก่ ซียาซัตอาม หรือ การเมืองแบบทั่วไป กับ ซียาซัตคอส หรือ การเมืองแบบเฉพาะ และคำว่า ซียาซัต เป็นคำกลางที่ไม่มีทั้งแง่บวกและลบ แต่หากมีการเมืองแบบอิสลามใดก็ถูกวิจารณ์ในทางไหนบวกหรือลบ การเมืองนั้นคือการเมืองที่วางอยู่บนหลักการจำเพาะแล้ว แน่นอน การเมืองทุกรูปแบบล้วนวางอยู่บนความเชื่อหรือหลักคิดบางประการ และหลักคิดอันเป็นลักษณะเด่นของการเมืองแบบอิสลามเป็นการเมืองของคนสองโลกที่แสวงหาผลประโยชน์ทั้งทางวัตถุและทางจิตวิญญาณ…