ในชีวิตของแต่ละคน จะต้องเจอกับสถานการณ์ที่ทดสอบศักดิ์ศรีของตนเอง สถานการณ์เหล่านี้ได้เสนอ 2 ทางเลือกนั่นคือ การเลือกรักษาศักดิ์ศรีเกียรติยศไว้ หรือการเลือกความอัปยศ ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือคำถามที่ใช้ทดสอบสังคมว่า หากตกอยู่ในสภาวะคับขัน ที่อาจเป็นภัยต่อชีวิต ผู้คนควรจะเลือกสิ่งใดระหว่างตายอย่างมีเกียรติ หรือมีชีวิตอยู่อย่างอัปยศ
- คำว่าเกียรติและคำว่าอัปยศ เป็นสองคำที่ไม่จำเป็นต้องนิยาม
เพราะเกียรติ คือ “ภาษาสากลแห่งสามัญสำนึก คือภาษาแห่งมนุษยธรรม” และมันยังเป็นค่านิยมที่ไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผลใดๆเพื่อพิสูจน์ว่าเกียรติยศเป็นสิ่งที่ดีและความอัปยศเป็นสิ่งที่เลวร้าย ดังนั้นความเข้าใจใดก็ตามในเชิงศีลธรรมที่ถูกผลิตออกมาจากสามัญสํานึกของมนุษย์ ความเข้าใจนั้นย่อมเป็นความเข้าใจที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์แต่อย่างใด และเพราะเกียรติยศและความอัปยศเป็นความเข้าใจที่ถูกผลิตออกมาจากสามัญสำนึกอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์หรือหาเหตุผลใดๆที่จะบอกว่าเราควรเลือกสิ่งไหนมากกว่ากัน
2.การทดลองทางความคิด ระหว่างเกียรติยศและความอัปยศ
เราสามารถทำความเข้าใจและศึกษาเรื่องนี้ได้ผ่านการทดลองทางความคิดเพื่อหาปฏิกิริยาตอบสนองและผลลัพธ์ที่จะออกมาจากการทดลองชิ้นนี้ ให้ สมมุติว่า
มีบุคคลผู้หนึ่งกำลังเดือดร้อนและตกอยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน เขากำลังจะอดตายอยู่ในทะเลทรายแห่งหนึ่ง และเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง เขาได้เจอกับบุคคลที่เคยกดขี่ครอบครัวของเขา เขารู้ดีว่าบุคคลผู้นั้นเป็นคนชั่ว บุคคลผู้นั้นได้เสนออาหาร เพื่อประทังชีวิต แต่มีเงื่อนไขว่าถ้ารับอาหารจากคนเลวคนนั้น เขาจะต้องทำตามสิ่งที่คนเลวคนนั้นบอก หรือพูดอีกแบบหนึ่ง เขาจะต้องเป็นเหมือนกับที่คนเลวคนนั้นอยากให้เป็น
คำถาม คือถ้าหากคุณคือบุคคลที่ถูกทดสอบในสถานการณ์เช่นนี้คุณจะยอมทำตามคนเลวคนนั้นหรือไม่ เพื่อแลกกับอาหารประทังชีวิต ?
หากคำตอบคือ “ไม่” นั่นย่อมหมายความว่าในมุมมองของผู้ที่เลือกคำตอบนี้ คือ ผู้ที่ถือว่า “มีบางสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายมากกว่าการเอาตัวรอด” แต่หากคำตอบคือ “ใช่” นั่นหมายความว่า ผู้ที่เลือกคำตอบนี้ จะต้องโดนทดสอบด้วยคำถามที่จะตามมานั่นก็คือ การยอมเสียเกียรติของตนเอง เพื่อเอาตัวรอด จะทำให้เรามีความสุขหรือไม่ ? ถ้าหากคำตอบนั้นคือใช่ นั่นหมายความว่า ในมุมมองของผู้ที่เลือกคำตอบนี้ “เกียรติยศเป็นสิ่งที่มีคุณค่าน้อยกว่าการเอาตัวรอด” ผลที่จะตามมาก็คือมุมมองจากสังคมที่มีต่อผู้เลือกคำตอบ บุคคลที่มีลักษณะเช่นนี้จะไม่ได้รับความไว้วางใจจากสังคมได้อีก เพราะเขามีมุมมองและความเชื่อว่าการเอาตัวรอดแม้จะอัปยศเป็นสิ่งที่ต้องมาก่อนเกียรติและศักดิ์ศรี สังคมจึงไม่สามารถไว้วางใจบุคคลเช่นนี้ได้ เพราะถ้าเขาถูกบีบหรือได้รับข้อเสนอให้ทิ้งเกียรติและศักดิ์ของตนเอง เขาจะเลือกตัวเอง ถ้าหากเขาถูกบังคับให้กดปุ่มระเบิดนิวเคลียร์โดยขู่ว่าถ้าไม่ทำแล้วจะถูกเอาชีวิต หรือ ถ้าทำแล้วจะได้ทรัพย์สิน ตำแหน่ง ลาภยศ เงินทอง ไม่มีอะไรจะเป็นตัวการันตีได้เลยว่า เขาจะเลือกเกียรติยศ มากกว่า การเอาตัวรอด และชีวิตที่สุขสบายของตนเอง แต่หากคำตอบคือ”ไม่” ตลอดชีวิตของบุคคลผู้นั้นจะกลายเป็นความพยายามเพื่อกู้ศักดิ์ศรี และเกียรติของตนเอง เขาจะมีความหวังอันเรือนลางว่า เขาจะสามารถกู้จิตวิญญาณที่แตกสลายด้วยฝีมือของตนเองได้ ที่มันไม่ชัดเจน เพราะเมื่อเลือกอัปยศ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงอดีตได้อีก
เราจะเห็นว่าในหลายครั้ง หลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ผู้คนบ้างก็เลือกความอัปยศ หรือการเอาตัวรอดมากกว่าการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง บ้างก็เลือกการรักษาเกียรติมากกว่าการอยู่อย่างอัปยศ คำถามคือ ประวัติศาสตร์บอกอะไรเราบ้าง ?
ประวัติศาสตร์ได้บอกเราว่าผู้ที่เลือกอยู่กับความอัปยศ มักมีจุดจบที่ไม่สวยงามนัก
-ยูดาส อิสคาริโอท เขายอมทรยศต่อพระเยซู เพื่อเงินเพียง 30 เหรียญ ซึ่งจุดจบของเขาก็คือการตายในแบบที่เขาเองก็คิดไม่ถึง
-เบเนดิคต์ อาโน ผู้ทรยศต่อเมริกาในสงครามกับอังกฤษในอดีต เขาทรยศชาติโดยแลกกับตำแหน่ง และเงินที่ไม่มีวันใช้หมด แต่หลังจากอเมริกาชนะสงคราม เบเนดิคต์ ก็ต้องหอบข้าวหอบของไปอยู่กรุงลอนดอน แต่ชีวิตของเขาก็ต้องพบเจอกับความอัปยศ และความไม่ใว้ใจจากชาวอังกฤษ เพราะถ้าหากเขาทรยศชาติตัวเองได้ แล้วทำไมเขาถึงจะไม่ทรยศอังกฤษ ชีวิตของเขาอยู่อย่างทุกข์ ไร้เกียรติ จนเสียชีวิต
-วิทคุน วิซลิง นายทหารชาวนอร์เวย์ ขายตัวเองให้นาซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการบุกยึดอำนาจจากรัฐในปี 40 ทำให้นอร์เวย์แพ้สงครามเยอรมัน แต่หลังจากนาซีแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง วิทคุน ก็ถูกจับประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าโดยชาวนอร์เวย์
-มีร์ จาฟา นายธนาคารชาวอินเดีย ที่ทรยศต่อชาติโดยขายตัวเองให้อังกฤษ เพื่อตำแหน่งผู้ครองนครในแคว้นเบงกอล แต่สุดท้ายก็โดนอังกฤษปลดจากตำแหน่ง เขาทำสงครามกับอังกฤษ เขาถูกตีตราว่าเป็นผู้ทำให้อินเดียต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่ และความอัปยศ เพราะทำให้อินเดียถูกปกครองโดยอังกฤษยาวนานถึง 190 ปี
-อิบนุมุลญิม สังหารคอลีฟะฮ์ อาลี พ่อบุญธรรมของตัวเองเพื่อเงินทอง แต่สุดท้ายก็ถูกจับได้และประหารชีวิต โดยที่ไม่ได้เงินสักเหรียญเดียว
–อุมัร อิบนุซะ สังหารฮูเซน บิน อาลี ผู้เป็นหลานชายศาสดามูฮัมมัด(ศ) เพื่อแลกกับตำแหน่ง ผู้ปกครองนครเมืองเรย์ แต่สุดท้าย กษัตริย์ผู้มีนามว่ายาซีด ก็ปัดความรับผิดชอบโดยโยนความผิดให้เขา เขาต้องตายอย่างอัปยศ และไม่เคยได้เป็นผู้ครองเมืองใดๆหลังจากนั้น เขาไม่มีโอกาสแม้กระทั่งการกินข้าวสารจากเมืองเรย์แม้แต่เม็ดเดียว
ประวัติศาสตร์ได้บอกเราว่า ผู้ที่เลือกเกียรติยศ มีจุดจบที่งดงาม และเป็นแบบอย่างสำหรับคนรุ่นๆต่อๆไป
-โสเครตีส ถูกกล่าวหาว่า ได้สอนให้วัยรุ่นในกรุงเอเทนเป็นกบฎต่อพระเจ้าหลายองค์ของกรีก หลังจากรอพิจารณาคดี มีข้อเสนอให้โสเครตีสหนีเพื่อเอาชีวิตรอด แต่เขากลับเลือกปฏิเสธ และยอมดื่มยาพิษ เพราะตายอย่างมีเกียรติ ดีกว่าอยู่อย่างอัปยศ โสเครตีสถูกยกย่องให้เป็นผู้ต่อสู้เพื่อความรู้ และเป็นต้นน้ำของปรัชญา
-มหาตมะคานธี ยอมอดอาหาร เพราะในตอนนั้น อังกฤษได้นำเสนอนโยบายที่ทำให้คนอินเดียไม่ต้องอดอยากอีกต่อไป ในช่วงนั้น ชาวอินเดียต้องเลือกระหว่างมีอยู่มีกินแต่ต้องอยู่ภายใต้การกดขี่ของอังกฤษต่อไป หรือการต่อสู้แต่ต้องอยู่อย่างอดอยาก ชาวอินเดียในยุคนั้นนำโดยมหาตมะคานธีเลือกที่จะอยู่อย่างอดอยากเพื่อต่อสู้กับการกดขี่ในยุคสมัยของตน ผลก็คือชัยชนะแห่งการปฏิวัติ คานธีถูกยกให้เป็นบุคคลผู้ที่น่ายกย่องสรรเสริญและมีเกียรติคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
-เนลสัน แมนเดล่า แห่งแอฟริกาใต้ ต่อสู้กับการเหยียดสีผิว ยอมติดคุก และยอมเสียสละความสุขสบาย เพื่อยืนหยัดในการต่อสู้กับการเหยียด และกฎหมายที่ถูกเขียนขึ้นเพื่ออำนวยการเหยียดสีผิว การต่อสู้ของเขาทำให้เขาต้องถูกจำคุกเป็นเวลานาน 27 ปี บนเกาะโรบเบิน แต่สุดท้ายเขาก็ได้รับชัยชนะ และกลายเป็นบุคคลที่มีเกียรติคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
-ฮูเซน บิน อาลี (as)หลานชายของศาสดามูฮำหมัด(ศ) เจ้าของสโลแกน “ตายอย่างมีเกียรติ ดีกว่า อยู่อย่างอัปยศ” คือ ผู้ที่ยอมสละชีวิตของตนเอง เพื่อต่อสู้กับยาซีด ผู้กดขี่แห่งยุคสมัย เขาถูกปิดล้อม และสังหารหมู่อย่างเหี้ยมโหดแม้กระทั่งลูกชายวัยไม่กี่เดือน การเข่นฆ่าลูกหลานศาสดา กลายเป็นตราบาปยุคใหม่แห่งคาบสมุทรอาหรับ และการต่อสู้ของฮูเซน ได้กลายเป็นต้นแบบของการตายอย่างมีเกียรติ ดีกว่าอยู่อย่างอัปยศ ชื่อของเขาถูกรำลึกในนามของผู้เสียสละ และผู้มีเกียรติที่สุดในประวัติศาสตร์โลกท่านหนึ่ง และเขายังเป็นต้นแบบการต่อสู้สำหรับ คานที และ เนลสัน แมนเดลา รวมถึงนักต่อสู้ท่านๆอื่นๆในห้วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
ดังนั้น จะเห็นว่าผู้ที่เลือกหนทางแห่งความอัปยศ มักมีจุดจบชีวิตที่น่าอดสูอยู่เสมอ ส่วนผู้ที่เลือกหนทางแห่งเกียรติยศ แม้ร่างกายจะจากไปแต่จิตวิญญาณของเขาจะถูกรำลึกและนำมาเป็นแบบอย่างตลอดไป ซึ่งนี่คือรูปแบบทางประวัติศาสตร์รูปแบบเดียวที่พิสูจน์ว่าผู้ชนะ ไม่ใช่ผู้ที่เขียนประวัติศาสตร์เสมอไป แต่คือผู้ที่อยู่อย่างมีเกียรติ และไม่ขอเลือกหนทางแห่งความอัปยศ