เมื่อวานนี้ (11 มกราคม) เจ้าหน้าที่กองบัญชาการทหารสูงสุดอิหร่านได้ออกแถลงการณ์กรณีเครื่องบินของสายการบินยูเครนถูกขีปนาวุธยิงตก ว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นความ “ผิดพลาดของบุคคล” (human error) และได้ให้คำมั่นว่าจะส่งตัวผู้กระทำการผิดพลาด แก่องค์กรตุลาการของกองทัพ
เครื่องบินดังกล่าวได้บินเข้าใกล้ “พื้นที่อ่อนไหวทางทหาร” และถูกยิงตกจากความบกพร่องของมนุษย์ ในช่วงนาทีวิกฤตจากความเสี่ยงที่สหรัฐเป็นผู้สร้างขึ้น
ภายหลังจากการแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อนร่วมชาติ และผู้เสียชีวิตที่เป็นคนต่างชาติจากประเทศอื่น ๆ แถลงการณ์ได้กล่าวเสริมว่า จะ “ดำเนินการปฏิรูปขั้นพื้นฐานในกระบวนการปฏิบัติงานในระดับกองทัพ” ให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในลักษณะเช่นนี้อีก และจะส่งรายงานเรื่องนี้ต่อองค์กรตุลาการของกองทัพ “อย่างเร่งด่วน” เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
รายละเอียด
ในเช้าวันที่ 8 มกราคม สายการบินนานาชาติยูเครนโบอิ้ง 737-800 (เที่ยวบิน PS752) ที่มุ่งหน้าไปยังเคียฟ เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก เพียงไม่กี่นาที หลังจากบินออกจากสนามบินอิหม่ามโคมัยนีในเมืองหลวงของอิหร่าน เหตุเกิด ใกล้กับ Parand ชานเมืองแห่งหนึ่งของกรุงเตหะราน ส่งผลทำให้มีผู้โดยสาร 167 ราย และลูกเรืออีก 9 ราย รวมทั้งสิ้น 176 คน เสียชีวิต ในขณะที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่าน และชาวแคนาดา เหตุการณ์สุดสลดดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยกว่า 3 ชั่วโมงหลังจากกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) ดำเนินการโจมตีฐานทัพทหารสหรัฐฯในอิรัก ด้วยขีปนาวุธ ในปฏิบัติการ “ชะฮีด สุไลมานี”
จากรายงานของเจ้าหน้าที่อิหร่านก่อนหน้านั้น พบว่ามี “ความผิดปกติทางเทคนิค” เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความผิดพลาด การสอบสวนเบื้องต้นพบว่า เครื่องบินประสบปัญหา ขณะเดินทางออกจากเขตสนามบิน
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 11 มกราคม ทางการอิหร่าน ได้แก้ไขการประเมินในเบื้องต้น เปิดเผยว่า สายการบินนานาชาติยูเครนโบอิ้ง 737-800 (เที่ยวบิน PS752) ถูกยิงตกด้วยขีปนาวุธ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการคุกคามโดยประธานาธิบดี และผู้บัญชาการทหารของสหรัฐฯ เพื่อกำหนดเป้าหมายจำนวนมากในอาณาเขตของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ซึ่งสหรัฐฯ มีการปฏิบัติการเพิ่มปริมาณการจราจรทางอากาศในภูมิภาคมากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กองกำลังของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านจึงอยู่ในระดับความพร้อมขั้นสูงสุด เพื่อการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้น
Cyber Warfare เบื้องหลังความเป็นไปไม่ได้ ที่เป็นไปแล้ว
ทฤษฏี กล่าวว่า อิหร่านได้ปล่อยขีปนาวุธ แบบพื้นสู่อากาศ (surface-to-air missile) และมันก็ได้พุ่งชนเครื่องบิน PS752 โดยไม่เจตนา แม้อิหร่านจะออกมายอมรับในภายหลัง ทว่าในเบื้องต้น ทฤษฎีนี้ ก็ไม่น่าจะสมเหตุสมผลเท่าที่ควร เพราะมันชี้แนะว่า ขีปนาวุธเพียงลูกเดียว ได้ถูกปล่อยออกไปสู่ เป้าหมายที่ไม่ชัดเจน ในบริเวณใกล้เคียงกับสนามบินประจำเมืองหลวงของประเทศ ซึ่งยังคงมีการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง
และถึงแม้ เราจะไม่คำนึงถึงการปล่อยขีปนาวุธแบบฉายเดี่ยว แต่ความคลางแคลงก็ยังหลงเหลืออยู่: เป้าหมายศัตรูในลักษณะใดหรือ ที่อิหร่านต้องการกำหนดเป้าหมาย? เป็นไปได้อย่างไร ที่เครื่องบินของศัตรู ในขนาดของโบอิ้ง 737-800 จะเป็นสิ่งที่อยู่ในจินตนาการของพวกเขา โดยเฉพาะที่มันอยู่ในบริเวณใกล้กับกรุงเตหะราน และห่างไกลจากพื้นที่จู่โจม? เป็นไปได้อย่างไร ที่เป้าหมายของศัตรูจะปรากฎขึ้นในบริเวณใกล้กับเมืองหลวง โดยปราศจากการแจ้งเตือน?
การตั้งคำถามเหล่านี้ จะตกไปในทันที หากเราถือว่า ปฏิบัติการขีปนาวุธของอิหร่าน ได้ถูกแทรกแซงด้วยกลยุทธ์ทาง Cyber กล่าวคือ สหรัฐฯ ได้ก่อกวนระบบเรดาร์ หอควบคุมการบิน และคลื่นการติดต่อของเครื่องบิน ความไม่น่าจะเป็นไปได้ ที่เราได้ตั้งข้อกังขาไว้ข้างต้น จึงเป็นไปได้ ประเด็นนี้ ยังสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ตามถ้อยแถลงของทางการอิหร่าน ที่ระบุว่า
สหรัฐฯได้ส่งเครื่องบินรบขึ้นสู่น่านฟ้าในภูมิภาคหลายลำในช่วงวิกฤต หน้าจอเรดาร์ได้ตรวจพบเป้าหมายทางอากาศที่มุ่งเป้ามายังศูนย์ยุทธศาสตร์ในประเทศ และอื่นๆ ทำให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศมีความไวมากขึ้น – ในภาวะวิกฤตและละเอียดอ่อน ที่ซึ่ง IRGC กำลังอยูในระดับความพร้อมขั้นสูงสุดจากภัยคุกคามของสหรัฐฯ นั้น ปรากฎว่ามีเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737 ของสายการบินยูเครนแอร์ไลน์ บินออกจากสนามบินอิหม่ามโคมัยนี และในขณะที่เครื่องบิน กลับลำ “ได้บินเข้าใกล้กับศูนย์บัญชาการทางทหาร” ที่ตั้งอยู่ในระดับความมั่นคงขั้นสูง ท้ายที่สุด IRGC ภายหลังจากที่ได้พยายามติดต่อไปยังเครื่องบิน และรอสัญญาณตอบกลับเป็นเวลา 10 วินาที จึงสั่งการยิง ด้วยความเข้าใจผิดว่า เครื่องบินลำดังกล่าวเป็นขีปนาวุธ
ทั้งนี้ การแทรกแซงด้วยเทคโนโลยีในโลก Cyber เป็นยุทธสงครามที่อาจนำมาใช้สำหรับการเผด็จศึก ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้จริง เพราะคู่ขัดแย้ง ต่างก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม การคำถึงความเสียหาย และชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธ์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรแก่การละเลยเป็นอย่างยิ่ง
สหรัฐฯ อเมริกา และเครือข่ายผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องในตะวันออกกลาง และพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลก มีพฤติกรรมใช้สงครามพันทาง (Hybrid war) ที่ประกอบด้วย กลยุทธ์ Cyber warfare ในการแทรกแซงประเทศอื่นๆ มาโดยตลอด
โดยเฉพาะ CIA หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ นั้นไม่เคยสะอาดจากเรื่องโจรกรรมต่างๆ ประเด็นนี้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป พูดได้ว่า เกือบจะกลายเป็น Common Knowledge ไปแล้ว หลักการตลอดมา ที่อดีต ผู้อำนวยการ CIA อย่างไมค์ ปอมเปียว เคยพูดเอง คือ “เราโกหก เราคดโกง และเราโจรกรรม (We lie, we cheat, we steal) ซึ่งนอกจากตัวเขาเองแล้ว ยังมีการแฉพฤติกรรรมเช่นนี้ จากคนภายในองค์กรอื่นๆ (Whistle blowers) อีกหลายกรณี
เงื่อนงำจากการวิพากษ์วิจารณ์ของ “ชาวเน็ต”
นอกจากประเด็นเรื่อง Cyber Warfare แล้ว ผู้เขียนยังคงมีอีกแง่มุมหนึ่งจากชาวเน็ต ที่ได้รวบรวมมา และใคร่อยากจะนำเสนอ ในเบื้องต้น ทัศนะต่างๆ ต่อจากนี้ มีที่มาจากข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่ใน the global research เว็ปไซต์ที่มุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลเชิงวิเคราะห์ตามทฤษฎีสมคบคิด สัญชาติแคนาดา ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในแหล่งค้นหา รวบรวม และเผยแพร่งานเขียน บทวิจัย วารสารวิชาการ และบทความทั่วไปเกี่ยวกับโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่มีชื่อเสียง สำหรับนักวิชาการ และนักเขียนทั่วไป
อย่างไรก็ดี ผู้อ่านสมควรทราบว่า ข้อมูลที่ถูกนำมาอ้างส่วนหนึ่ง ซึ่งรับมาจากบทความที่ถูกเผยแพร่ในเว็ปไซต์ดังกล่าวนี้ มีพื้นฐานมาจากการวิเคราะห์ของแหล่งข้อมูลนิรนาม เป็นการประเมินข้อเท็จจริง จาก“ ภาพถ่ายดาวเทียมสอดแนม” และการคาดเดาของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์
ถึงแม้จะไม่ใช่แหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือในทัศนะของหลายๆ ฝ่าย แต่หากมันได้รับการเผยแพร่ในเว็ปไซต์ดังกล่าว ก็เป็นไปได้ว่าพอจะมีความสมเหตุ สมผล อยู่บ้าง การนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้สำหรับการประเมินสถานการณ์ต่างๆ จัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ไม่น่าจะมีความเสียหายอะไร ไม่ว่าอย่างไร สื่ออันดับต้นๆ ทั้งในและนอกที่อ้างกันว่ามีความน่าเชื่อถือ ต่างก็มีวาระซ่อนเร้นเป็นของตนทั้งสิ้น ไม่มีสื่อชั้นนำใด พูดความจริงในทุกเรื่อง บางสื่ออาจจงใจปกปิดความจริงด้วยซ้ำ ทุกข้อความของทุกสื่อ เป็นสิ่งที่ถูกคัดกรอง และบิดเบือนไม่มากก็น้อย ก่อนจะถูกนำเสนอต่อผู้อ่าน ท้ายสุดแล้ว แต่ละข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกไป ล้วนแต่แฝงไว้ด้วยเจตนาให้ผู้อ่านมองเห็นเพียงมุมใด มุมหนึ่ง และไม่เห็นในอีกมุมอื่นๆ
ต่อไปนี้ คือ การตั้งข้อสังเกตบางประการ จากภาพถ่าย และการตั้งข้อสันนิษฐานต่างๆ ที่ปรากฎ ซึ่งไม่ได้มาจากแหล่งข่าวกระแสหลักทั่วไป:
- มีการคาดเดาเกี่ยวกับ ‘รูที่ไม่ได้ถูกอธิบาย’ ในภาพถ่ายที่แสดงความเสียหายของเครื่องบิน:
ประเด็นนี้ เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการแสดงความคิดเห็นต่างๆ จากผู้ติดตามสถานการณ์ เนื่องจาก ยังไม่มีสื่อใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อชั้นนำตะวันตก ที่ได้นำเสนอเรื่องนี้ รูที่ปรากฎ เกิดจากสาเหตุอะไร ยังไม่มีใครออกมายืนยัน
2) ภาพถ่าย ซึ่งอ้างว่าถูกถ่ายจากบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ที่เครื่องบินตก แสดงให้เห็นส่วนหนึ่งของขีปนาวุธ Tor M-1 ตกอยู่ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งตรงกับแถลงการณ์ของนายพลจัตวา อามีร อาลี ฮัจ ซอเดะฮ์ ที่ออกมาเปิดเผยว่า เครื่องบินถูกยิงตก ด้วยกับขีปนาวุธที่ระเบิดอยู่ในบริเวณใกล้กัน
แน่นอนว่า อิหร่านมีระบบวิถีขีปนาวุธ Tor ที่มีความแม่นยำทั้งจากระดับต่ำ จนถึงระดับปานกลาง และขีปนาวุธพิสัยใกล้ภาคพื้นสู่อากาศ ที่ได้รับมาจากรัสเซีย แต่มันยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ชิ้นส่วนขีปนาวุธนี้ ได้ไปปรากฎอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณที่เครื่องบินตกได้อย่างไร ในเมื่อขีปนาวุธดังกล่าว พุ่งชนเครื่องบินกลางเวหา และนำไปสู่การเผาไหม้หลังจากนั้น
3) ประเด็นเกี่ยวกับ วิดีโอที่ถูกถ่ายจากย่านที่พักอาศัยในชานเมือง Parand ซึ่งถูกเผยแพร่ไม่กี่ชั่วโมง ภายหลังเหตุการณ์เผชิญหน้าด้วยความรุนแรงระหว่างอิหร่าน-สหรัฐฯ เป็นวิดิโอที่ถูกนำมาอ้าง ในฐานะหลักฐานแสดงการยิงโดยขีปนาวุธของสื่อทั่วไปในขณะนี้
หากวิดีโอดังกล่าว เป็นภาพเคลื่อนไหวที่ไม่ได้ผ่านการตัดต่อ หรือปลอมแปลง และมันแสดงให้เห็นการยิงขีปนาวุธจริงๆ คำถามก็คือ คนถ่ายวิดิโอ รู้ได้อย่างไรว่าควรจะถ่ายอะไร และเมื่อไหร่? บางรายงานพยายามอธิบายประเด็นนี้ว่า เป็นเพราะ มีการยิงขีปนาวุธ 2 ลูก ซึ่งมันแทบจะเป็นคำกล่าวอ้าง ที่ใช้ไม่ได้เลย
มีวิดีโอที่ชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เครื่องบินที่กำลังเผาไหม้ตกลงมาอย่างไร ถ้ามันถูกยิงด้วยขีปนาวุธ 2 ลูก จริง มันย่อมมีโอกาสมากกว่า ที่จะระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆกลางเวหาไปแล้ว ซึ่งตรงข้ามกับข้อเท็จจริง ที่เครื่องบินบินกลับลำไปยังสนามบิน ก่อนจะเกิดการเผาไหม้
หากการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับขีปนาวุธในทางทฤษฎีที่ว่านี้ ทำให้ผู้อ่านคล้อยตาม ก็ถือว่า มีเหตุผลเพียงพอสำหรับการอธิบายต่อว่า มีความเป็นไปได้ ที่วิดิโอโชว์การพุ่งชนของ “ขีปนาวุธ” ดังกล่าว จะถูกถ่ายทำ ด้วยกับความรู้ล่วงหน้าว่าจะมีเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น
มีการแสดงความคิดเห็นในหมู่ผู้ติดตามสถานการณ์ในชุมชนสื่อออนไลน์ “ชาวเน็ต” จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อ้างว่า มีประสบการณ์ตัดต่อวิดิโอ เชื่อว่า เป็นคลิปที่ผ่านการตัดต่อ
ข้อสังเกตเรื่องระยะเวลา จากท่าทีของสื่อกระแสหลัก
นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องน่าสนใจ ที่จะกล่าวถึงระยะเวลาของเหตุการณ์เมื่อโศกนาฏกรรมเกิดขึ้น ในเบื้องต้น ทฤษฎีความผิดปกติทางเทคนิคได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทุกฝ่าย มันต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง จนกว่า ที่บรรดา “ชุมชนระหว่างประเทศ” นำโดยสหรัฐฯ จะเริ่มชูประเด็นข่าวที่ว่า อิหร่านยิงเครื่องบินตก มีสองคำอธิบายที่เป็นไปได้สำหรับเรื่องนี้:
1) ย้อนกลับไปก่อนที่อิหร่านจะออกแถลงการณ์เปิดเผยเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม มีการรายงานอย่างมากมาย เสมือนแคมเปญทางการทูตขนาดใหญ่จากสื่อกระแสหลักชั้นนำของตะวันตก เกี่ยวกับประเด็นนี้
โดยตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 9 มกราคม สื่อต่างๆ เริ่มประโคมข่าวนี้ ด้วยการเผยแพร่รายงานต่างๆ ในเชิงชี้นำมวลชนว่า ว่า ขีปนาวุธของอิหร่าน เป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก นัยยะที่เป็นไปได้ของมันก็คือ สหรัฐฯ ได้ชี้แนะให้ ’พันธมิตร’ ของตน โปรโมทการกล่าวโทษไปยังอิหร่านก่อน โดยไม่คำนึงถึงสาเหตุที่แท้จริงของการตกของเครื่องบิน เพราะการประโคมข่าวในลักษณะนี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างแรงกดดันต่ออิหร่าน และเป็นการปูพื้นฐานสำหรับการดำเนินการเชิงรุกต่ออิหร่านที่เป็นไปได้ต่อไปไ และเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ติดตามสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศเกี่ยวกับความสำเร็จของอิหร่าน ในการบรรลุเป้าหมาย การถล่มฐานทัพสหรัฐฯ เพราะสำหรับสหรัฐฯแล้ว เหตุการณ์ถล่มนี้ นับเป็นครั้งแรก ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯ ไม่ได้มีมาตรการตอบโต้ทางทหารไปยังการจู่โจมตีด้วยขีปนาวุธหรือการทิ้งระเบิดในฐานทัพของรัฐ โดยตัวแสดงของรัฐ (state actor)
นอกเหนือจากนี้ เรายังควรตั้งข้อสังเกตไปยังแคนาดา ในประเด็นนี้ โดยที่แคนาดาเป็นกลุ่มแรกๆที่ออกมาเปิดเผยว่า อิหร่านยิงเครื่องบิน หากพิจารณาจากโครงสร้างทางพันธมิตรในตะวันออกกลาง และประวัติแคนาดาแล้ว เป็นไปได้ที่จะกล่าวว่า แคนาดา อาจมีเรื่องต้องสะสางกับอิหร่าน โดยเฉพาะเรื่องนายพลกอเซ็ม
แคนาดาเป็นหนึ่งในชาติสนับสนุนหลักไอสิส มีสมาชิกก่อการร้ายหลายรายเป็นมุสลิมหัวรุนแรงที่รัฐบาลอนุญาตให้มารับจ้างรบได้ ในภายหลังไอสิสถูกกำจัดโดยปฏิบัติการนำโดยนายพลสุไลมานี ทำให้ต้องถอยทัพ หนีกลับประเทศ นายกทรูโดของแคนาดาก็ได้อ้าแขนรับเอาไว้
2) ปฏิบัติการเที่ยวบิน PS752 ได้ถูกจัดเตรียมไว้ เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการใช้มาตรการความแข็งกร้าวทางทหารต่ออิหร่าน อย่างไรก็ตาม เมื่อวอชิงตันไม่อยากเสี่ยงต่อการตอบโต้ทางทหารไปยังการโจมตีขีปนาวุธของอิหร่าน ปฏิบัติการเครื่องบินถูกยิงตก จึงถูกแขวนเอาไว้ จนกระทั่งระยะเวลาต่อมา เมื่อปฏิกิริยาของผู้ติดตามสถานการณ์ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ว่าด้วยการที่สหรัฐฯ ไม่แสดงการตอบโต้ใดๆไปยังการโจมตีด้วยขีปนาวุธของอิหร่าน เริ่มปรากฎชัด และมีการพูดถึงเพิ่มมากขึ้น คราวนี้ สถานการณ์เกี่ยวกับเที่ยวบิน PS752 จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญสำคัญ สำหรับการชดเชยความพ่ายแพ้ของสหรัฐฯ
ไม่ว่าในกรณีใด โศกนาฏกรรมของวันที่ 8 มกราคม ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งจากแคมเปญในการสร้างความเสื่อมเสียให้แก่อิหร่าน และเพื่อเพิ่มความกดดันทางการทูต และทางการสื่อไปยังอิหร่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ประวัติศาสตร์การใช้พลเรือนเป็นเครื่องมือ ในการโจมตีจัดฉาก และใส่ร้ายป้ายสี
การที่อิหร่านยิงขีปนาวุธผิดพลาดนั้น เป็นความไม่ตั้งใจ จากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้กับทุกกองทัพในสถานการณ์อันตราย และภาวะสงคราม เช่นที่สหรัฐฯเอง ก็เคยยิงเครื่องบินอิหร่าน เที่ยวบินที่เที่ยวบิน 655 ตกในเหตุการณ์เมื่อปี 1989 โดยปราศจากการแสดงความเสียใจใดๆ
อย่างไรก็ตาม การโจมตีจัดฉาก (False Flag Attack) ฆ่าพลเรือน และใส่ป้ายสีชาติอื่น กลับเป็นสิ่งที่มีปรากฎในประวัติศาสตร์อเมริกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรณี เช่น
- อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ CIA David Steele – เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองนาวิกโยธิน เคยแฉว่า ทั้งหมดของการโจมตีก่อการร้ายในประเทศสหรัฐฯ เป็นฝีมือการจัดฉากของรัฐบาล
- รัฐบาลอเมริกา ร่วมกับพันธมิตร และเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในภูมิภาค เคยร่วมกันใส่ร้ายซีเรียเรื่องก๊าสพิษ ในกรณีนี้ เคยมีกลุ่มบุคคลและองค์กรที่มีชื่อเสียง อย่างน้อยที่สุดไม่ต่ำกว่า 10 ราย ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้
- รายงาน “58 การโจมตีจัดฉาก ที่ได้รับการสารภาพ” โดยเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า จากสถิติดังกล่าว สหรัฐฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง มากกว่า 12 การโจมตีจัดฉาก ที่ส่งผลต่อชีวิต และทรัพย์สินของพลเรือน ในหลายภูมิภาค
- นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ถึงเรื่องเครื่องบิน MH17 ของมาเลเซีย ว่า อันที่จริงอเมริกาและเครือข่ายพันธมิตร รวมถึงในยูเครน เป็นเบื้องหลังเหตุการยิงเครื่องบินตก แต่กลับใส่ร้ายรัสเซีย
- และที่ดังกระฉ่อนโลก เป็นการโจมตีจัดฉาก ที่จำเป็นต้องยกมากล่าวถึง คือ เหตุการณ์ 9/11 อันนำไปสู่การรุกรานอิรัก และอัฟกานิสถาน เป็นเงื่อนไขสร้างความชอบธรรมสำหรับการเปิดฉาก “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ที่หายนะของมันยังคงดำเนินอยู่ในภูมิภาค และส่งผลกระทบต่อชีวิตและความสงบสุขของผู้คนทั่วโลก จวบจนถึงทุกวันนี้
ทัศนะอื่นๆ
ความหวาดระแวงที่สมเหตุ สมผล
มีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น อิหร่านอยู่ในภาวะตึงเครียด อิหร่านมีความเสี่ยงจากภัยคุกคาม และการข่มขู่ของทรัมป์ภายหลังจากเหตุลอบสังหารนายพลกอเซ็ม สุไลมานี
การดำเนินการตอบโต้ของอิหร่าน เป็นการป้องกันตนเอง ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่มีการยืนยันในข้อความทวิตเตอร์ของนายญะวาด ซารีฟ รมต. กระทรวงการต่างประเทศ ทำให้การเตรียมการพร้อมรบ ในระดับสูงสุด อันเนื่องมาจากความหวาดระแวงไปยังภัยคุกคามใดๆ มีความ สมเหตุ สมผล
ถึงแม้ เราจะตัดเอาประเด็นเรื่องการแทรกแซงด้วยระบบ Cyber ออกไป กล่าวอย่างง่ายก็คือ แม้อิหร่าน และเครื่องบินจะไม่ได้ถูกศัตรูแฮกระบบ หรือ สหรัฐฯไม่ได้ส่งเครื่องบินบินว่อนน่านฟ้าในภูมิภาค ในช่วงเวลานั้น ตามที่มีการกล่าวอ้าง อย่างไรก็ดี คำสั่งยิงเครื่องบินยูเครน ก็ไม่ใช่ความผิดอย่างเต็มเป้า ของอิหร่านเสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิงเมื่อคำนึงถึงทฤษฎีที่ว่า รัฐบาลยูเครนในขณะนี้ เป็นรัฐบาลภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ
การไม่ตอบสนองของกัปตันเครื่องบิน ภายหลังจากที่กองกำลัง IRGC ได้มีการสื่อสารออกไปแล้ว ประกอบกับลักษณะการบินออกนอกเส้นทางของเครื่องบินลำดังกล่าว ไปยังเขตพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางทหารที่มีความเสี่ยงสูง เป็นเงื่อนไขที่สมเหตุ สมผล ในระดับหนึ่ง สำหรับการดำเนินคำสั่งจู่โจม ในสภาวการณ์ที่สุ่มเสี่ยงและอ่อนไหวเช่นนี้
ความผิดร่วมของสหรัฐอเมริกา
Medea Benjamin ผู้ร่วมก่อตั้ง Code Pink เครือข่ายแกนนำสตรีต่อต้านสงคราม กล่าวถึงเหตุเครื่องบินยูเครนตก โดยระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ “มีส่วนผิด” ที่ทำให้เครื่องบินยูเครนถูกยิงตก
เธอเชื่อว่า เหตุสลดดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ถูกยกระดับ หลังปธน.ทรัมป์ออกคำสั่งลอบสังหารนายพล กอเซ็ม สุไลมานีในประเทศอิรัก
เธอเปิดเผยต่อว่า กองทัพอิหร่านอยู่ในสถานะเตรียมพร้อมขั้นสูงสุด ท่ามกลางความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นกับสหรัฐ และในภาวะที่สับสนนั้น อิหร่านได้ล็อกเป้ายิงขีปนาวุธเข้าใส่เครื่องบินของยูเครนโดยไม่ได้ตั้งใจ
“ปธน.ทรัมป์มีส่วนผิด พวกคุณไม่คิดแบบนั้นกันหรือ? “ความเสียหายโดยไม่ตั้งใจ” เป็นผลจากการฆาตกรรมนายพลสุไลมานี” เธอเสริม
สปิริตของอิหร่าน เทียบกับสหรัฐฯ
หลังจากการตรวจสอบ จนได้ข้อสรุปแล้ว รัฐบาลอิหร่าน ได้ออกแถลงการณ์ยอมรับว่า โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดของตน พร้อมกับกล่าวแสดงความเสียใจ และกำชับว่าจะนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมในทันที
จากแถลงการณ์ในลักษณะเช่นนี้ กล่าวคือ ยอมรับความผิดพลาดอย่างเปิดเผย ผู้นำประเทศ ทั้งจากฝ่ายของผู้นำสูงสุดรัฐอิสลามอิหร่าน ซัยยิดอะลี คาเมเนอี และประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี รวมถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการทหารระดับนายพลในภารกิจดังกล่าว รวมถึง รตม. ต่างประเทศเอง ได้ออกมาแถลงการณ์แสดงความเสียใจ พร้อมกับเน้นย้ำไปยังมาตรการลงโทษผู้กระทำผิด การดำเนินการนี้ ชี้ให้เห็นว่า อิหร่านมีความกล้าหาญ และมีความเป็นธรรม
โดยที่ก่อนหน้านั้นเอง ก็แสดงเจตนาบริสุทธิ์ในขั้นตอนการสอบสวน โดยการอนุญาต และเชื้อเชิญให้ผู้ตรวจสอบต่างๆ รวมถึงองค์กรของสหรัฐฯ เข้ามาสืบสวนสาเหตุเครื่องบินตกได้ ในการนี้ ตัวแทนของอิหร่าน ณ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ได้บอกกับสำนักข่าว Reuters เมื่อวันพฤหัสบดีอีกว่า อิหร่านได้เชิญ คณะกรรมการความปลอดภัยทางการคมนาคมแห่งชาติ สหรัฐฯ (NTSB) เข้าร่วมในการสอบสวนอย่างเป็น “ทางการ” และได้ตกลงมอบหมายให้ NTSB ดำเนินการเป็นผู้ตรวจสอบ
ต่างจากสหรัฐฯ ในเหตุยิงเครื่องบินอิหร่านเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งอเมริกาได้ยิงเครื่องบินโดยสารอิหร่าน เที่ยวบินที่ 655 เมื่อปี 1989 ตก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต รวมเด็ก ทั้งสิ้น 290 คน แต่กลับปฏิเสธไม่ยอมรับผิด และไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ในประเด็นดังกล่าว จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะนั้น กล่าวว่า “ผมจะไม่ขอโทษแทนรัฐบาลอเมริกัน ผมไม่สนใจว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร”
สำหรับเหตุการณ์ เครื่องบินโดยสารพลเรือน ถูกยิงตกจากสภาวะความขัดแย้งที่น่าสลดครั้งนี้ ถูกสรุปในขณะนี้ว่า เกิดจากความบกพร่องของบุคคลากร ซึ่งเป็นความบกพร่องของมนุษย์ (human errors) แต่ท้ายที่สุดแล้ว ยังจะมีเงื่อนงำอะไรซ่อนอยู่ หรือ ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ล้วนขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้สำหรับการสืบสวนต่อไป หากมี และแน่นอนที่สุด คือ วิจารณญาณของผู้ติดตามสถานการณ์ทั้งสิ้น
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวและมิตรสหายของเหยื่อผู้เสียชีวิตทุกๆคน จากทุกๆเชื้อชาติ ขอพระผู้เป็นเจ้า ทรงประทานความโปรดปราน และความเมตตา แด่ดวงวิญญาณของพวกเขา และประทานซึ่งความอดทน ความชอบธรรม และรางวัลตอบแทนอย่างมากมายแด่บรรดาญาติ ครอบครัวและมิตรสหายทุกๆคน