ตุรกีมีส่วนเกี่ยวข้องทางการทูต และการทหารในสงครามกลางเมืองซีเรีย ตั้งแต่ที่ความขัดแย้งปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 2011 ในขั้นต้น มีการประณามไปยังรัฐบาลซีเรียสำหรับความไม่สงบที่เกิดขึ้น ต่อมา การมีส่วนร่วมของรัฐบาลตุรกีค่อยๆพัฒนาไปสู่การสนับสนุนทางการทหารแก่กองกำลังกลุ่มกบฎ Free Syrian Army (FSA) ในเดือนกรกฎาคม 2011 เพื่อต่อต้านรัฐบาลอัสซาด, การปะทะกัน ณ ชายแดนในปี 2012, และการแทรกแซงทางทหารโดยตรงจากปี 2016 จนถึงปัจจุบัน ปฏิบัติการทางทหารส่งผลให้ตุรกีสามารถยึดครองทางตอนเหนือของซีเรียได้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2016 เป็นต้นมา
ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรข่าวกรองแห่งชาติตุรกี (MIT) และโดยความเห็นชอบและการสนับสนุนของพันธมิตรนาโต้ ในช่วงแรกของสงคราม ตุรกีได้ทำการฝึกสมาชิกกองกำลังหนีทหาร Syrian Army (SAA) ที่หลบหนีออกนอกซีเรีย กลุ่มผู้ซึ่งปรากฎตนเป็นกลุ่มกบฎ Free Syrian Army (FSA) ในเวลาต่อมา ในเดือนพฤษภาคม 2012 MIT เริ่มติดอาวุธและฝึกอบรม FSA และจัดตั้งฐานปฏิบัติการแก่พวกเขา
ในปัจจุบัน FSA แทบจะไม่เหลือซากความเป็น กองทัพปลดแอกชาวซีเรีย ตามชื่อที่อ้างเลยแม้แต่น้อย ส่วนใหญ่จากสมาชิกของพวกเขาได้หันหน้าเข้าร่วมขบวนการก่อการร้าย อย่าง ไอสิส หรือ แนวร่วมอัล นุศรอ ในซีเรีย
ความตึงเครียดระหว่างซีเรียและตุรกีเลวร้ายลงเป็นอย่างมาก หลังจากกองกำลังซีเรีย ยิงเครื่องบินขับไล่ตุรกีตกลง ในเดือนมิถุนายน 2012 และการปะทะกัน ณ แนวชายแดน ที่ปะทุขึ้นในเดือนตุลาคม 2012
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2016 กองทัพตุรกีได้ประกาศการแทรกแซงทางทหารโดยตรงไปยังซีเรีย โดยส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่กองกำลังของพวกเคิร์ด รู้จักในนาม YPG (Kurdish People’s Protection Units) กลุ่มสิทธิมนุษยชน รวมถึงหน่วยสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนซีเรีย และ Human Rights Watch รายงานว่า กองกำลังทหารตุรกีได้สังหารพลเรือน 443 คนที่ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย ซึ่งประกอบด้วยเด็ก 77 คน และผู้หญิง 45 คนถูกสังหารโดยทหารป้องกันชายแดนตุรกี
นอกจากนี้ ตุรกียังให้ความคุ้มครองผู้คัดค้านชาวซีเรีย มีการหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ระหว่างนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านของซีเรียในอิสตันบูล และตุรกียังให้ที่พักพิงแก่พันเอก Riad al-Asaad หัวหน้า FSA ตุรกีเป็นศัตรูกับนโยบายของรัฐบาลอัสซาดอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการปรองดองท่ามกลางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย โดยประธานาธิบดีตุรกีแอร์โดกัน ประกาศความตั้งใจของเขา ในการพัฒนา “ความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลใด ๆ ก็ตามที่จะเข้ามาแทนที่อัสซาด”
สมมุติฐานที่ว่า มีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นในซีเรีย ได้รับการวิพาก์วิจารณ์ว่าเป็นการลวงโลก โดยมีสื่อมวลชนหลากหลายที่ออกมาแฉเรื่องนี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่นี่ คือ การรุกรานระหว่างประเทศ การกระทำที่มี นาโต้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และ หน่วยสืบราชการลับอิสราเอล ให้การสนับสนุน จนสามารถรวบรวบชาติราชาธิปไตย์แห่งอ่าวเปอร์เซีย ( ซาอุฯ และการ์ตาร์) พร้อมกับรัฐบาลจอร์แดนและตุรกี เอาไว้ได้ ทั้งนี้ก็ด้วยจุดประสงค์เพื่อ เริ่มต้นแผนการโอบล้อมซีเรีย
ในกรณีนี้ พวกเขาได้ใช้ประโยชน์จากหลากหลายกลวิธี แง่หนึ่งคือ มีการใช้ประโยชน์จากองค์กรเพื่อทำลายความมั่นคงทางการเมือง ก่อตั้งขึ้นมาด้วยกับอำนาจทางการทูตของสหรัฐฯ และนาโต้ เช่นองค์กรสิทธิมนุษยชนจอมปลอมในซีเรีย อาทิ กลุ่มหมวกกันน็อกขาว ที่ได้รับการพิสูจน์ในภายหลังว่า เป็นหนึ่งในหมากสำคัญของนาโต้ ที่ใช้สำหรับการสร้างความชอบธรรมในการกำจัดรัฐบาลบาชาร์
ในอีกแง่หนึ่ง คือ การจัดการเข้าครอบงำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมบราเธอร์ฮูด ที่รู้จักกันดี กลวิธีที่เคยได้ถูกงัดออกมาใช้ในอียิปต์ ลิเบีย ตูนีเซีย และประเทศอื่นๆ โดยพยายามใช้ความสุดโต่งในศาสนาเข้ามาเอี่ยวในการจราจล
ดังนี้ เราจึงเห็นความพยายามของแอร์โดกันในการสวมกอดกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏมุสลิมหัวรุนแรงในการต่อสู้กับระบอบการปกครองของบาชาร์ตลอดมา ภาพแอร์โดกันในฐานะ คาหลิปแห่งเมโสโปเตเมีย ผู้นำชุมชุมมุสลิมซุนนี่ที่ถูกฉายไปทั่วโลก ตั้งแต่ที่ความขัดแย้งปะทุขึ้นในซีเรีย นับจากปี 2011 จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกประหลาดใจแต่ประการใด
ตุรกีเป็นท่อลำเลียงอาวุธและการเงินที่สำคัญ ด้วยคิดว่าชัยชนะของเหล่านักรบรับจ้างเป็นสิ่งที่แน่นอน อย่างไรก็ตามกองกำลังของอัสซาดนั้น ก็ดื้อรั้นไม่ต่างกัน
แอร์โดกัน ตัดสินใจขยายการสนับสนุนกลุ่มกบฏ และการล้มล้างประธานาธิบดีอัสซาด สำนักข่าวกรองแห่งชาติของตุรกี ได้จัดตั้งทางหลวงนักรบรับจ้างญิฮาดี จากชันลืออูร์ฟาในตุรกี ไปจนถึงรักกาห์ เมืองหลวงของไอซิส (ISIS) ในประเทศซีเรีย การกระทำดังกล่าวได้ให้การช่วยเหลือนักรบรับจ้างต่างชาติกว่า 40,000 คน จากกว่า 100 ประเทศที่เดินทางผ่านตุรกีไปยังแนวหน้าในซีเรีย
การปรากฏตัวของชาวเชเชน และมุสลิมอื่น ๆ จากคอเคซัสทางใต้ ทำให้รัสเซียต้องสั่นคลอน ความก้าวหน้าของพวกเขานำเสนอความเสี่ยงต่อฐานของรัสเซียใน Latakia และ Tartous ซึ่งคุกคามท่าเรือน้ำอุ่นของรัสเซียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนี้ ตุรกียังข่มขู่เส้นทางบินของอิหร่านผ่านทางอิรักและซีเรีย ที่ใช้สำหรับการลำเลียงขีปนาวุธให้แก่กองกำลังฮิซบุลเลาะห์ เพื่อการโจมตีอิสราเอล
ต่อมา นายพลกอเซ็ม สุไลมานี หัวหน้ากองกำลังปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) และผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์ หน่วยรบพิเศษ ผู้ล่วงลับ ได้มีการพบปะกับประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซียในมอสโก สืบเนื่องจากการก้าวเข้าสู่ดามัสกัสของกลุ่มกบฏ ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากตุรกี นายพลสุไลมานีได้เปิดเผยแผนที่ตำแหน่งกบฏแก่พันธมิตรรัสเซีย
เจ้าหน้าที่ของรัสเซีย และอิหร่าน ต่างเห็นด้วยกับแผนการช่วยเหลืออัสซาด กองกำลัง IRGC ฮิซบุลเลาะห์ และกองกำลังติดอาวุธชีอะห์อื่น ๆ จะสู้รบกับกลุ่มกบฏในทางบก ขณะเดียวกัน รัสเซียจะให้การสนับสนุนทางอากาศ
ปูตินประกาศการแทรกแซงทางทหารของรัสเซีย ณ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2015 ในการนี้ ตุรกีและรัสเซียอยู่ฝั่งตรงข้ามกันและกันอย่างสิ้นเชิง โดยตุรกีสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและมอบอาวุธแก่พวกกบฏ ในขณะที่รัสเซียสนับสนุนระบอบการปกครองความสัมพันธ์รัสเซีย – ตุรกีทรุดตัวลง เมื่อ F-16 ของ ตุรกี ยิง Sukhoi-24 ของรัสเซีย ตกตามแนวชายแดนซีเรีย
อย่างไรก็ดี ตุรกีเองก็ปลีกตนออกจากสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา และตุรกีต้องเผชิญกับความล้มเหลวครั้งใหญ่ หลังจากแอร์โดกันอ้าง การสมรู้ร่วมคิดของวอชิงตันในการรัฐประหาร เมื่อกรกฎาคม 2015 ซึ่งในทางปฏิบัติ แอร์โดกันได้เอื้อมมือไปยังปูติน และพยายามสร้างพันธมิตรในซีเรีย
ตุรกีเข้าร่วมกับรัสเซียในด้านการทูตคู่ขนาน ที่เรียกว่ากระบวนการแอสตานา (Astana process) ในเดือนมกราคม 2017 ขณะที่กระบวนการแอสตานา ไม่ให้ความสำคัญกับสหประชาชาติ และละเว้นสหรัฐฯ
ปูตินยินยอมที่จะหันไปทางอื่น ในขณะที่กลุ่มนักรบญิฮาดิสต์รับจ้าง ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากตุรกีและกองกำลังติดอาวุธของตุรกี กำลังเล็งเป้าหมายไปยังกลุ่มเคิร์ดซีเรีย ที่ซึ่งแอร์โดกันถือว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายตัวจริง”
พวกเคิร์ดเป็นหอกข้างแคร่ของตุรกี เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในทั้งตุรกี ซีเรีย อิรักและอิหร่าน แต่พื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของพวกเคิร์ดอยู่ในตุรกี หากตุรกีปล่อยให้เคิร์ดตั้งตัวเป็นประเทศที่นานาชาติรับรอง ต่อไป มีโอกาสที่พวกเคิร์ดในตุรกีจะขอแบ่งแยกดินแดน ด้วยเหตุนี้รัฐบาลตุรกี จึงทำการปราบปรามพวกเคิร์ดในตุรกี แบนพวกเคิร์ดทางการเมือง และทำสงครามกับพวกเคิร์ดในทั้งซีเรียและอิรัก โดยให้พวกนักรบอาชีพหรือผู้ก่อการร้ายช่วยรบด้วย
ตุรกีบุกอาฟริน ในเดือนมกราคม 2018 การรุกราน ที่เรียกว่า “ปฏิบัติการกิ่งมะกอก” (Operation Olive Branch) สังหารชาวเคิร์ดหลายร้อยคน และส่งผลกระทบให้เกิดผู้พลัดถิ่นนับแสนๆราย
เมืองอาฟรินตั้งอยู่ระหว่างชายแดนตุรกี และมีประชาชนเคิร์ดอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ประมาณ 170,000 คน บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ปกครองตัวเอง ตั้งแต่ปี 2013 เรียกว่า Rojava หรือเคิร์ดดีสถานซีเรีย
ต่อมาตุรกีบุกดินแดนเคิร์ดิชไปทางตะวันออกของยูเฟรติส ในเดือนตุลาคม 2019 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และผู้พลัดถิ่นหลายราย ประกอบด้วยชาวเคิร์ด ชาวอาเมเนียน และคริสตศาสนิกชนชาวซีเรีย
ความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงล่าสุด
กองทหารรัฐบาลซีเรีย โดยการสนับสนุนของรัสเซีย ได้เริ่มบุกเข้าโจมตีจังหวัดอิดลิบ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย เพื่อยึดพื้นที่คืนจากฝ่ายกบฏ แอร์โดกัน พยายามห้ามปรามปูตินจากการโจมตีอิดลิบ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของกลุ่มกบฏในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย แต่ถึงแม้จะมีการร้องขอของแอร์โดกัน อย่างไรก็ตาม กองกำลังภาคพื้นดินของซีเรีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังทางอากาศของรัสเซีย ก็ยังคงดำเนินการโจมตีอย่างจริงจัง
สถานการณ์ส่อแววว่าจะมีทีท่าบานปลาย เมื่อทหารตุรกีที่ถูกส่งเข้าไปในดินแดนซีเรีย โดยอ้างว่ามาเพื่อสร้างเขตปลอดทหาร ตลอดแนวชายแดนตุรกี-ซีเรีย ลึกเข้าไปในดินแดนซีเรีย 20 กิโลเมตร และมีบางส่วนเข้ามาตั้งกองกำลังสังเกตการณ์ในแถบชานเมืองอิดลิบ พลอยถูกระเบิดและปืนใหญ่ เสียชีวิตไปหลายคน และ บาดเจ็บอีกนับสิบนาย ทำให้ตุรกีแสดงการตอบโต้ทางทหารและอาวุธอย่างมากมายในทันที
ด้วยเหตุของการรบพุ่งที่ประทุขึ้นนี้ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าสหรัฐฯและพันธมิตร จะฉวยโอกาสเพิ่มกำลังทหาร หรือเพิ่มการโจมตีทางอากาศต่อซีเรีย ทั้งนี้แน่นอนว่าอิสราเอลย่อมมีส่วนสำคัญในการโจมตีทางอากาศ ซึ่งอาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งหรือเกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของกองทัพรัสเซีย
รัสเซียเองก็คงไม่นิ่งเฉย และจะต้องขยายกองกำลังเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อปกป้องตนเองและช่วยพันธมิตร ประธานาธิบดีอัสซาดแห่งซีเรีย ซึ่งกำลังจะประสบความสำเร็จในการปราบกบฏ ที่ชาติตะวันตกและรัฐบาลตุรกีให้การสนับสนุน และยึดคืนพื้นที่มาได้สำเร็จ
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กองทัพตุรกีได้ยิง Mil Mil-17เฮลิคอปเตอร์ของรัฐบาลซีเรีย ใกล้กับ Nayrab เป็นผลทำให้ลูกเรือทั้งหมดถูกสังหาร
ความตึงเครียดที่ทวีขึ้นระลอกต่อมา เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาล่าสุด หลังจากกองทหารตุรกี 33 นายถูกสังหาร และถูกทำให้บาดเจ็บอีกหลายรายจากการโจมตีทางอากาศในทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย ขณะที่รัสเซียซึ่งหนุนหลัง บาชาร์ อัลอัสซาด ปฏิเสธบทบาทใด ๆ ในการโจมตี แต่เจ้าหน้าที่ตุรกีก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ไปยังมอสโก ที่ไม่ทำหน้าที่ควบคุมพันธมิตรของตน
ข้อเท็จจริงก็คือ ทหารซีเรียและพันธมิตรมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการขับไล่กลุ่มก่อการร้ายและกองกำลังต่างชาติอย่างตุรกี จึงไม่แปลกที่ ทั้งทหารตุรกีและกลุ่มก่อการร้ายจึงตกเป็นเป้าของรัฐบาลซีเรียและพันธมิตร เพราะตุรกีให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในอิดลิบ อย่างผิดกฎหมาย ทั้งรัสเซีย และซีเรียยืนยันตรงกันในกรณีนี้
ทางมอสโก ออกมาชี้แจงว่า ทหารตุรกีที่เสียชีวิตนั้น อยู่ในกลุ่มติดอาวุธ และผู้ก่อการร้ายที่ทำการโจมตีตำแหน่งของกองทัพซีเรียในอิดลิบอย่างหนักหน่วง กระทรวงกลาโหมรัสเซียปฏิเสธรายงานว่าเครื่องบินรบของรัสเซียโจมตีกองทหารตุรกี และเผยว่า อังการาไม่ได้แจ้งให้มอสโกทราบถึงการมีอยู่ของทหารตุรกีใน อิดลิบ
นอกจากนี้ ในวันพฤหัสบดี กระทรวงกลาโหมรัสเซียยังออกมากล่าวถึงกรณีที่ตุรกีส่งโดรนรบปฏิบัติการทางทหารในอิดลิบ เพื่อสนับสนุนกลุ่มกบฏซีเรียที่กำลังทำสงครามกับรัฐบาลกลางซีเรียว่า เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
หลายชั่วโมงก่อนที่กระทรวงกลาโหมรัสเซีย จะออกแถลงการณ์ ทางสถานีโทรทัศน์ 24 ของรัสเซียรายงานว่า กองทหารตุรกีในพื้นที่อิดลิบได้ยิงจรวดโจมตีเครื่องบินทหารของรัสเซียและซีเรีย และพยายามยิงเครื่องบินให้ร่วง
ขณะเดียวกัน ด้านผู้แทนถาวรของซีเรียในสหประชาชาติ ก็ได้กล่าวในวันพฤหัสบดีเช่นเดียวกัน โดยกล่าวว่าตุรกีสนับสนุนการก่อการร้ายในซีเรีย และเสริมว่าผู้ก่อการร้ายได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานในเมืองต่างๆในซีเรียและทำให้พลเมืองซีเรียนับล้านคนต้องอพยพตลอดหลายปีที่ผ่านมา
Bashar al-Jaafari ผู้แทนถาวรของซีเรียในสหประชาชาติกล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยชี้ถึงการรุกรานของตุรกีในทางตอนเหนือของซีเรีย ว่า ตุรกีพยายามดำเนินโครงการก่อการร้ายในซีเรีย แต่พวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ
เขาเผยว่า การที่กองทัพซีเรียและพันธมิตรได้ปฏิบัติกวาดล้างฐานที่มั่นสุดท้ายของกลุ่มก่อการร้าย ในจังหวัดอิดลิบ ทางตอนเหนือของซีเรีย เป็นเหตุให้ตุรกีออกมาแสดงปฏิกิริยาเชิงลบและคุกคามซีเรียอย่างต่อเนื่อง และระบุว่า ตุรกีเป็นผู้สนับสนุนหลักของกลุ่มก่อการร้ายในซีเรีย และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมากองทัพตุรกีได้กำหนดเป้าหมายตำแหน่งและโครงสร้างพื้นฐานของซีเรียซ้ำ ๆ ในจังหวัดอิดลิบ เพื่อสนับสนุนผู้ก่อการร้าย
ทั้งนี้ ความขัดแย้งด้านอาวุธระหว่างตุรกีและรัสเซียนี้ เป็นผลโดยตรงจากข้อผิดพลาดเชิงกลยุทธ์ของแอร์โดกัน ในการนี้ ตุรกีนำเสนอตัวเองในฐานะเหยื่อของการกระทำโดยรัสเซียและซีเรีย แม้ในความเป็นจริง ตุรกีจะเป็นผู้รุกรานก็ตาม
ขณะนี้ แอร์โดกัน ต้องการให้นาโต้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ตามมาตรา 5 ของกฎบัตรแอตแลนติกเหนือกำหนดว่า ถ้าประเทศนาโต้ประเทศหนึ่งถูกโจมตี ประเทศภาคีนาโต้อื่นๆ จะช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม คำอุทธรณ์ของแอร์โดกัน กลับถูกเมินเฉย เพราะนอกเหนือจากการตีสองหน้าของเขาแล้ว จากประวัติที่ผ่านมา จุดยืนในการต่อต้านอเมริกา ยุโรปและนาโต้ของแอร์โดกันก่อนหน้านี้ ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ตะวันตกขุ่นเคือง ประเด็นก็คือ ตุรกีมิได้ถูกรุกรานจากใคร ตรงข้าม ตุรกีส่งทหารเข้ารุกรานซีเรีย นาโต้จึงไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือใดๆ ได้ นอกจากนั้น สิ่งที่สหรัฐฯ คาดหวังก็คือ การยกเลิกโครงการซื้อจรวดแซม S-400 ของรัสเซีย ตามที่ นางเคย์ ไบเลย์ อัทชินซัน ทูตอเมริกาประจำนาโต้ออกมาพูดชัดว่า ‘ตุรกีควรจะรู้ได้แล้วว่าใครเป็นพันธมิตรและใครไม่ใช่ หวังว่าแอร์โดกันจะรู้ว่าพวกเรานาโต้คือพันธมิตรในอดีต และจะเป็นพันธมิตรในอนาคต แล้วเลิกโครงการซื้อจรวดแซม S-400 เสีย
แน่นอนว่าการสูญเสียชีวิตเป็นเรื่องน่าเศร้า อย่างไรก็ตาม มันยากที่จะเข้าข้างตุรกี เมื่อการกระทำของแอร์โดกันนำไปสู่ความทุกข์ยากของตุรกีเสียเอง
ตุรกี ปลุกระดมความรุนแรงในสงครามกลางเมืองซีเรียให้ทวีความรุนแรงขึ้น โดยการลำเลียงและสนับสนุนนักรบรับจ้างญิฮาดิส เมื่อสงครามสงบลง และผู้ลี้ภัยหลายล้านคนเดินทางไปตุรกี แอร์โดกันก็รีดไถเงินจากสหภาพยุโรป เพื่อจัดการกับวิกฤตผู้ลี้ภัย ปัญหาที่เขาเองเป็นผู้ช่วยก่อให้มันเกิดมันขึ้นมาตั้งแต่ต้น ตุรกีเย้ยหยันสหประชาชาติ เข้าร่วมกระบวนการแอสทานา และปฏิเสธสหรัฐฯ โดยใช้เงิน 3 พันล้านดอลลาร์ไปกับการซื้ออาวุธของรัสเซีย
ทั้งนี้ทั้งนั้น หลังจากที่พันธมิตรตะวันตกมีท่าทีเฉยเมยไปยังการร้องขอความช่วยเหลือของตุรกี ในช่วงวันที่อันตรายถึงที่สุดสำหรับกองกำลังตุรกีในความขัดแย้งซีเรีย ตุรกีจึงขู่ว่าจะปล่อยคลื่นลูกใหม่จากบรรดาผู้ลี้ภัยไปยังยุโรป
แถลงการณ์โดยผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดกัน มีขึ้นไม่นาน หลังจากที่โฆษกสหภาพยุโรประบุว่า ไม่ได้รับข้อมูลจากตุรกีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายผู้ย้ายถิ่นฐาน
ไฮไลท์ปฏิกิริยาของพันธมิตร ตั้งแต่ที่มีการปะทะกันในวันพฤหัสบดี
นาโต้ยอมเรียกประชุมด่วนเพื่อตุรกี
Jens Stoltenberg เลขาธิการขององค์กรกล่าวว่า สมาชิกของนาโต้ขอแสดง “ความเป็นปึกแผ่นอย่างเต็มรูปแบบร่วมกับตุรกี” หลังจากการโจมตีซึ่งเกิดขึ้นในอิดลิบ อันเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของกลุ่มกบฏ
การเจรจาอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับวิกฤตการณ์นี้ มีขึ้นในวันศุกร์ หลังจากตุรกีร้องขอการประชุมฉุกเฉินระหว่างสมาชิกภายใต้มาตรา 4 ของสนธิสัญญาการปกครองของพันธมิตร โดยอ้างว่าความมั่นคงของตนอยู่ภายใต้การถูกคุกคาม
เจ้าหน้าที่ตุรกีกล่าวโทษระบอบการปกครองของซีเรีย สำหรับการโจมตีครั้งสำคัญไปยังกองกำลังตุรกี ซึ่งถูกส่งเข้าไปประจำการ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อให้การสนับสนุน และฝึกปรือกลุ่มกบฎ
ปอมเปียว กล่าวโทษอัสซาด รัสเซีย อิหร่าน สำหรับวิกฤตครั้งนี้
ไมเคิล ปอมเปียว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวโทษระบอบการปกครองของอัสซาด, รัสเซีย, อิหร่าน และกองกำลังฮิซบุลเลาะห์ สำหรับการยับหยั้งการจัดตั้งมาตรการหยุดยิง ทางตอนเหนือของซีเรีย และกล่าวว่าสหรัฐฯ “กำลังทบทวนตัวเลือก เพื่อช่วยเหลือตุรกี” สำหรับวิกฤตในครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ตุรกีได้ขอให้สหรัฐฯ ติดตั้งแท่นยิงขีปนาวุธป้องกันสองแท่น ณ บริเวณชายแดนทางตอนใต้ เพื่อจัดการกับการโจมตีในอนาคตโดยกองทหารซีเรียที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย
หัวหน้าองค์การสหประชาชาติประกาศแสวงหา “การหยุดยิงโดยทันที”
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า สถานการณ์ที่มีการขยายขอบเขตล่าสุด ถือเป็นหนึ่งใน “ช่วงเวลาที่น่าตื่นตระหนกที่สุดในระยะเวลาของความขัดแย้งในซีเรีย”
“หากไม่มีการดำเนินการเร่งด่วน ความเสี่ยงของการขยายขอบเขต(สงคราม)นี้จะทวีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกชั่วโมง” กูเตอร์เรส กล่าวกับผู้สื่อข่าว ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนิวยอร์ก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา “ความต้องการเร่งด่วนที่สุดคือการหยุดยิงทันที ก่อนที่สถานการณ์จะไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด”
ทรัมป์ยืนยันการสนับสนุนตุรกี ตามการเรียกร้องของแอร์โดกัน
ตามแถลงการณ์ของทำเนียบขาว ประธานาธิบดีสหรัฐฯโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียของกองกำลังทหารตุรกีและ“ยืนยันการสนับสนุนความพยายามของตุรกีอีกครั้งในการลดระดับสถานการณ์ในซีเรียตะวันตกเฉียงเหนือ และเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม”
แมร์เคิล แสดงความเป็นปึกแผ่น ร่วมกับตุรกี
ตามข้อมูลจากสำนักงานของ แมร์เคิลชี้ว่า ในการติดต่อกับแอร์โดกัน นายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิลนำเสนอ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมสำหรับผู้คนที่ถูกขับออกจากอิดลิบ” ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นในการหยุดยิงครั้งใหม่ และการเจรจาทางการเมืองโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เทลอาวีฟ แสดงความเสียใจต่อตุรกี
สถานทูตเทลอาวีฟในอังการาแสดงความเสียใจแก่เจ้าหน้าที่ตุรกี กรณีการสังหารทหารตุรกีในอิดลิบ ซึ่งมันแสดงให้เห็น และยืนยันถึงการเป็นพันธมิตรที่ดีระหว่างตุรกีและระบอบการปกครองอิสราเอล ในประเด็นอิดลิบ อย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนอีกครั้ง
ตามรายงานระบุว่า บนหน้า Twitter ของสถานทูตระบอบยิวไซออนิสต์ในอังการาเขียนว่า: การเสียชีวิตของทหารตุรกีจำนวนหนึ่งในอิดลิบนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้า เราขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิต
ตุรกีมีส่วนได้ส่วนเสียอะไรในอิดลิบ?
ตุรกี มีจุดมุ่งหมายหลายอย่างในสงครามกลางเมืองซีเรีย ซึ่งบางครั้งเป้าหมายเหล่านั้นก็ขัดแย้งกัน แอร์โดกัน สนับสนุนการลุกฮือของชาวอาหรับ ที่แพร่สะพัดไปทั่วตะวันออกกลางในปี 2011 และสนับสนุนการก่อการกบฏของซีเรียที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด ซึ่งต่อมาเผยโฉมเป็นกลุ่มก่อการร้ายโลก
หลังจากหลายปีของการต่อสู้ รัฐบาลซีเรียและพันธมิตรเข้าใกล้ความสำเร็จในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย ขณะที่ แอร์โดกัน ยังคงต้องการสนับสนุนเศษซากสุดท้ายที่เหลืออยู่ของฝ่ายค้านซีเรียในอิดลิบ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย และเขาก็ยังต้องการ จำกัดเอกราช ที่ได้ถูกมอบให้แก่กลุ่มชาวเคิร์ดซีเรีย ที่ปกครองส่วนใหญ่ของภาคนี้ ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติของอังการาด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า หนึ่งในสิ่งที่ตุรกีให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ คือ การป้องกันไม่ให้คลื่นของผู้ลี้ภัยข้ามพรมแดนตุรกี – ซีเรีย เนื่องจากปฏิบัติการปรามปรามกลุ่มก่อการร้ายของซีเรียในจังหวัดอิดลิบ ส่งผลทำให้เกิดการพลัดถิ่นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มขึ้นในปี 2011 ตามรายงานของสหประชาชาติ โดยมีประชาชน 948,000 คนถูกบังคับให้ลี้ภัยในเวลาน้อยกว่าสามเดือน ตุรกีซึ่งมีพรมแดนติดกับอิดลิบ ได้ให้บริการพื้นที่แก่ชาวซีเรียกว่า 3.6 ล้านคนแล้ว และความไม่พอใจของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ทำให้แอร์โดกันประกาศว่าประเทศของเขา จะไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยได้อีกต่อไปแล้ว
ขณะเดียวกัน ฝั่งซีเรียเองก็ได้ยืนยันว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในอิดลิบนั้น มีสาเหตุมาจากการกระทำของตุรกี และพันธมิตร ประธานาธิบดีบาชาร์อัลอัสซาดของซีเรียในระหว่างการสัมภาษณ์เมื่อปี 2015 กล่าวว่าการสนับสนุนทางทหารและโลจิสติกส์จากตุรกี เป็นปัจจัยสำคัญในการยึดครองอิดลิบของกลุ่มก่อการร้าย ISIL
แนวโน้ม
ปูติน และแอร์โดกันอาจหารือร่วมกัน ณ มอสโกในสัปดาห์หน้า
ตามการรายงานของ Tass สำนักข่าวอย่างเป็นทางการของรัสเซีย โดยอ้างไปยัง Dmitry Peskov โฆษกของ พระราชวังเครมลิน (ที่ทำการรัฐบาลรัสเซีย) ระบุว่า ปูตินและแอร์โดกัน อาจมีการประชุมร่วมกัน ณ กรุงมอสโกในวันที่ 5 หรือ 6 มีนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตดังกล่าว
source:
https://ahvalnews.com/syria-turkey/truth-about-turkeys-role-syria
https://www.nytimes.com/2020/02/28/world/europe/turkey-refugees-Geece-erdogan.html