1. แนวความคิดของฟูโกต์
แนวคิดของฟูโกต์เริ่มแพร่หลายในตลาดความคิดไทย จากหนังสือ วาทกรรมการพัฒนา ซึ่งเขียนโดย อาจารย์ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร หลังจากนั้นผู้ศึกษาหลายท่านก็เริ่มรู้จักกับคำว่า “วาทกรรม” “อำนาจ” “ความแปลกแยก” ในมุมมองที่แตกต่างมากขึ้น แต่ในประเทศอิหร่านเหล่าผู้ศึกษาได้รู้จักกับความแนวคิดฟูโกต์ตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านเมื่อสี่สิบปีก่อน เหตุผลนั่นก็เพราะฟูโกต์ และอาจจะเป็นเขาเพียงคนเดียวในช่วงแรกๆที่เข้ามาในประเทศอิหร่าน และเขียนหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัตินี้โดยผ่านการสวมแว่นตาแห่งปรัชญาเพื่อศึกษาและสังเกตกระบวนการการผลิบานของการปฏิวัตินี้อย่างใกล้ชิดในฐานะนักปรัชญา แม้เขาจะเข้าอิหร่านในฐานะนักข่าวก็ตาม
2. มิชเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault)
เกิดที่เมืองปัวติเยร์(Poitiers) ประเทศฝรั่งเศสในปี 1926 และศึกษาปรัชญาที่เมือง ซอร์บอน(Sorbonne) จนสำเร็จการศึกษาในปี 1948 เขาเคยเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็ได้ถอนตัวออกจากพรรคในปี 1951 หลายปีต่อมาฟูโกต์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านจิตวิทยาและอนุปริญญาด้านโรคจิต จากนั้นเขาก็ไปสวีเดน โปแลนด์และเยอรมนีและสอนที่โรงเรียนสอนภาษาฝรั่งเศสในประเทศเหล่านั้น ในที่สุดเขาก็ได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ด้วยผลงานวิทยาพนธ์ “ประวัติศาสตร์ความบ้า” และในปี 1964 เขากลายเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ในฝรั่งเศส และสอนในฐานะศาสตราจารย์วิชา “ประวัติศาสตร์ของระบบความคิด” ที่วิทยาลัยการศึกษาชั้นนำของฝรั่งเศสแห่งนั้น
ชื่อเสียงของฟูโกต์เติบโตอย่างรวดเร็วและค่อยๆกลายเป็นที่นิยมในหมู่ปัญญาชนชาวฝรั่งเศส ภายในเวลาไม่นานแนวคิดของเขาก็มีอิทธิพลในระดับโลก เพราะการเปิดมุมมองใหม่ในวงการปรัชญา-ประวัติศาสตร์-สังคมวิทยา ถึงกับมีการตั้งฉายาไว้ใช้บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ทางความคิดเขากันเช่น ลูกอกตัญญูของโครงสร้างนิยม,นักบรรพชีวินวิทยาวัฒนธรรมตะวันตก,คนไร้สาระ,ผู้ทำลายสังคมศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์สังคมวิปริต
3. น่านฟ้าความคิดของฟูโกต์
3.1 ฟูโกต์ ฝักใฝ่แนวคิดของ โครงสร้างนิยมใหม่ (neo structuralism)
โดยเหตุผลที่ฟูโกต์นิยมในทางนี้ เพราะนัยยะในทฤษฎีและแนวคิดของเขาต่างไปจากโครงสร้างนิยมแบบดั้งเดิม เพราะ
ประการแรก น่านฟ้าแห่งความคิดของฟูโกต์ เหนือไปกว่า โครงสร้างนิยม และอรรถปริวัติศาสตร์ หรือจะเรียกว่า เป็นอภิโครงสร้างนิยม และ อภิอรรถปริวัติศาสตร์ก็ได้ คำว่า “เหนือ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง เก่งกว่า หรือ ดีกว่า แต่หมายถึง ฟูโกต์เป็นผู้ที่มองความรู้นั้นในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผู้วิพากษ์ ผู้มองหาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้นั้นกับศาสตร์อื่นหรือสิ่งอื่น ถึงแม้ว่าตัวเขาเองจะได้รับอิทธิพลจากความรู้นั้นด้วยเช่นเดียวกัน
ประการที่สอง น่านฟ้าแห่งความคิดของฟูโกต์ ประกอบไปด้วย โครงสร้างนิยม อรรถปริวัติศาสตร์ ปรากฎการณ์วิทยา และ มาร์กซิสม์
ประการที่สาม ฝรั่งเศสในสมัยที่ฟูโกต์นยังเป็นหนุ่ม มีสามค่านิยมหลักๆที่กำลังเป็นเทรนด์อยู่ในยุคสมัยนั้น ได้แก่ ปรากฎการณ์วิทยา,อัตถิภาวนิยม,มาร์กซิสม์
คำถาม : ทำไมถึงต้องรู้เรื่องน่านฟ้าความคิดของฟูโก้ ?
คำตอบ เพราะมันคือพื้นหลังความคิดที่จะช่วยให้เราเห็นถึงทิศทางการเคลื่อนไหวทางความคิดของฟูโกต์ และเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงพูดในสิ่งที่เขาพูด และทำไมเขาถึงเป็นในสิ่งที่เขาเป็น ตัวอย่างเช่น แนวคิดเรื่องอำนาจของฟูโกต์ “อำนาจ มันไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่หนึ่งที่ใด หรือ สั่งการจากบนลงล่าง แต่มันปรากฏอยู่รอบตัวเรา แสดงตัวอยู่ในบัตรประชาชนของเรา ในไฟจราจร ในเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ ในสิ่งที่สังคมอนุญาตให้เราทำ และในสิ่งที่สังคมไม่อนุญาตให้เราทำ” จะเห็นว่า แนวคิดนี้มีพื้นหลังคือแนวคิดแบบปรากฎการณ์นิยม ซึ่งมุ่งเน้นให้มนุษย์เข้าใจถึงสิ่งที่ปรากฏแก่เรา ไม่ใช่สิ่งที่มันเป็น
คำถาม : โครงสร้างนิยม คือ อะไร ?
คำตอบ โครงสร้างนิยม คือ วิธีการศึกษา เพื่อค้นหาโครงสร้างที่รับรอง หรือโครงสร้างที่เป็นฐานของบางสิ่ง เช่น หากศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ แนวคิดโครงสร้างนิยม ก็คือ แนวคิดที่พยายามหาหลักการ หรือ กฎบางอย่างที่ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์ถูกแสดงออกมาในรูปแบบนั้น
จากคำนิยามที่เรียบง่าย มีแกนหลักสำคัญของโครงสร้างนิยม คือ
[I]จะคิดแบบนี้ได้ ต้องเชื่อก่อนว่า พฤติกรรมของมนุษย์ มีกฎเกณฑ์ มีหลักการ ที่คอยควบคุมพฤติกรรมเหล่านั้นอยู่ เหมือนกับภาษาที่ประกอบไปด้วยประธาน+กริยา+กรรม และอื่นๆ ซึ่งมนุษย์จะสื่อสารได้ ก็ต้องตรงกับไวยกรณ์หากไม่ตรงกับไวยกรณ์ ก็จะไม่สามารถสื่อสารได้หรือสื่อสารไม่ถูกต้อง ในแง่ของพฤติกรรม โครงสร้างนิยม ก็เชื่อว่ามีหลักไวยกรณ์ของพฤติกรรมมนุษย์อยู่ ซึ่งมันคือ โครงสร้างที่พวกเขาพยายามค้นหา
[II] จากหลักการข้อแรก โครงสร้างนิยมกำลังจะบอกกับทุกคนว่า แท้ที่จริงแล้วมนุษย์ไม่ใช่ผู้กระทำ แต่เป็นผู้ถูกกระทำ เป็นปรภาวะ หรือ ออบเจค(Object) ด้วยเหตุนี้งานของพวกเขาคือความนพยายามหักล้าง และทำลาย ความเป็นศูนย์กลางของจิตภาวะ อัตภาวะ หรือ ความเป็นผู้กระทำ(Subject)ของมนุษย์ และเชื่อว่า วัตถุวิสัย เป็นผลผลิตจากสิ่งที่เรียกว่า “วาทกรรม” เพิ่มเติมคือ นี่คือประเด็นที่ฟูโกต์หยิบมาใช้ในการอธิบาย ทฤษฎีอำนาจของเขา และหลากหลายมุมมอง.
ในช่วงปี 1980 โครงสร้างนิยมเริ่มสูญเสียสถานะและความนิยมของตัวเอง เนื่องจากมีการวิพากษ์และชี้ถึงข้อบกพร่องอย่างมากมาย หลังจากก้าวใหม่ของฝรั่งเศสก็เกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่แนวคิดโมเดิร์นนิสต์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และกลุ่มผู้วิพากษ์ก็ได้กลายเป็นโพสต์โมเดิร์นนิสต์ โครงสร้างนิยมใหม่ก็ถือกำเนิดมาจากโครงสร้างนิยมแบบคลาสสิคด้วยเช่นเดียวกัน นักโครงสร้างนิยมใหม่เน้นความสำคัญไปที่ภาษาโดยใช้ความคิดและนิยามของนิทเช่ และจิตวิเคราะห์เป็นหลัก โดยทั่วไปแล้ว ถึงแม้ว่า โครงสร้างนิยมใหม่ (หรือ จะเรียกว่าโครงสร้างนิยมยุคหลังก็ได้) จะทำลายแนวคิดโครงสร้างนิยมแบบเก่า กระนั้นก็ตามระหว่างใหม่กับเก่าก็มีจุดร่วมเดียวกัน คือ ความพยายามในการทำลาย Subject ในความหมายของปรัชญาและพวกเขาเชื่อว่า Subject เป็นผลผลิต เป็นสิ่งถูกสร้างที่มาจากวาทกรรม
คำถาม : ประโยค Subject เป็นผลผลิต เป็นสิ่งถูกสร้างที่มาจากวาทกรรม หมายความว่าอย่างไร ?
คำตอบ : แน่นอนว่าตามข้อเท็จจริงมนุษย์เกิดจากการสืบพันธุ์ ไม่ได้เกิดมาจากคำพูด เพราะฉะนั้นสิ่งที่โครงสร้างนิยมพยายามสื่อถึง จึงไม่ใช่ความหมายนี้ สิ่งที่พวกเขาต้องการบอกกับเราคือ มีวาทกรรมบางอย่างที่คอยควบคุมมนุษย์ในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่เป็นตัวกำหนดให้คนเราทำบางสิ่ง และไม่ทำบางสิ่ง เช่น ในยุคหนึ่ง “ทาส” เป็นวาทกรรม มนุษย์เรามองว่าเป็นเรื่องปกติ ที่สังคมจะมี หรือ ทำธุรกิจด้วยสินค้าเช่น มนุษย์ แต่ในยุคสมัยหนึ่ง “ทาส” เป็นวาทกรรมที่เพียงแค่นึกถึงก็จะถูกมองไปในแง่ลบ ความผิดพลาด อาชญากรรม และเมื่อพิจารณาพฤติกรรมของมนุษย์ หรือ หากจะมองให้กว้างกว่านั้น เมื่อพิจารณาจิตสำนึกของสังคม หรือ สามัญสำนึกของสังคมในแต่ละยุคสมัย กับ วาทกรรม ก็จะพบว่า วาทกรรมนี่เองที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของผู้คนในสถานที่แห่งหนึ่ง ในยุคสมัยหนึ่ง และด้วยเหตุนี้เอง โครงสร้างจึงไม่ได้มองว่ามนุษย์เป็นผู้กระทำ แต่เป็นผู้ถูกกระทำเมื่อเทียบกับวาทกรรม
คำถาม : แน่นอนว่ามนุษย์เป็นผู้กระทำ เพราะ กริยา หรือ พฤติกรรม ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีมนุษย์ แล้วเหตุใด โครงสร้างนิยมจึงถือว่า มนุษย์เป็นผู้ถูกกระทำ ?
คำตอบ : ตามแนวคิดของโครงสร้างนิยม หากพิจารณาเพียงแต่มนุษย์โดยไม่สัมพันธ์หรือเทียบกับสิ่งใดเลย พิจารณาเพียงแต่มนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ แน่นอนว่ามนุษย์เป็นผู้กระทำ แต่หากพิจารณามนุษย์โดยสัมพันธ์กับความวาทกรรมที่มีผลต่อพฤติกรรมของพวกเขา มนุษย์ คือ ผู้ถูกกระทำ และหากจะกล่าวอย่างกระทัด “มนุษย์คือผู้กระทำที่เป็นผลผลิตมาจากวาทกรรม”
อย่างไรก็ตามจุดอ่อนที่โครงสร้างนิยมถูกวิพากษ์ก็คือ เรื่องนี้ = ความย้อนแย้งกันของการเป็นผู้กระทำระหว่างมนุษย์กับวาทกรรม ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึงในส่วนของการวิพากษ์ในพื้นที่ของมัน
คำถาม : โครงสร้างนิยมกับฟูโกต์เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?
คำตอบ : ประการแรก งานเขียนของฟูโกต์ ถูกมองว่าอยู่ภายใต้ร่มเงาและอิทธิพลของโครงสร้างนิยม และก็ด้วยเหตุผลนี้ฟูโกต์จึงถูกเรียกว่า “นักโครงสร้างนิยม”ในบางครั้ง และ “นักโครงสร้างนิยมใหม่”ในบางครั้ง อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนก็มองว่า ถึงแม้ความคิดของเขาจะได้รับอิทธิพลจากโครงสร้างนิยม แต่ตัวฟูโกต์เองก็พยายามฉีกกรอบความคิดที่ถูกผูกและยึดติดกับเขาเสมอ
ประการที่สอง ข้อแรกคือ ฟูโกต์เกี่ยวข้องกับโครงสร้างนิยมในทางปฏิปักต์ เพราะ เขาเมินเฉยต่อประเด็นเรื่อง “ความหมาย”อย่างสมบูรณ์แบบ กล่าวคือ เขาได้หลีกเลี่ยงการวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยมที่มองว่า “ความหมาย”ปรากฏขึ้นมาจากกรอบแห่งการกระทำของมนุษย์ซึ่งล้วนมีกฎมีเกณฑ์ หรือจะพูดในด้านตรงข้าม สำหรับฟูโกต์แล้วพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ใช่ตัวละครหนึ่งในภาษาที่กำลังเดินไปตามกฎเกณฑ์บนหลักไวยกรณ์ของภาษานั้น แต่มันไม่มีแกรมม่าตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ไม่มีกฎตายตัวใดๆเลยที่มาควบคุมมนุษย์ หรือ ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่มีสิ่งตายตัว และสองคือเขาได้ปฏิเสธการวิเคราะห์แบบปรากฎการณ์วิทยาที่เชื่อว่ามี Subject ที่เป็นเอกเทศน์ และอยู่เหนือธรรมชาติ ที่เป็นที่มาของทุกความหมาย สามคือ จากข้อสองฟูโกต์พยายามเลี่ยงการใช้วิธีอรรถปริวัติศาสตร์แบบค้นพบความหมาย กล่าวคือ ความหมายที่ปรากฏจากแนวคิดของฟูโกต์ คือ ไม่มีผู้กระทำที่อยู่เหนือธรรมชาติ,ความหมาย กับ คำ มักเป็นสิ่งที่มาคู่กันแต่ทั้งสอง ไม่ได้สัมพันธ์กันในแบบที่อรรถปริวัติศาสตร์เข้าใจ และฟูโกต์ต้องการเอาวิธีที่ใช้กันค้นคว้า มาใช้ และ วิจารณ์ ควบคู่กันไป
ประการที่สาม ก็เป็นเชิงปฏิปักต์เช่นเดียวกัน โครงสร้างนิยมพยายามอธิบายกิจกรรมการเคลื่อนไหวของมนุษย์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์โดยการค้นพบองค์ประกอบที่สำคัญของการเคลื่อนไหวนั้น (เช่นแนวคิด-การกระทำ-คำศัพท์) และกฎหรือกฎในการทำให้องค์ประกอบสามารถรวมตัวกัน
นี่คือ เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างนิยม กับ ฟูโกต์อย่างคร่าวๆ
คำถาม : ฟูโกต์ กับ ปรากฎการณ์วิทยา สัมพันธ์กันอย่างไร ?
คำตอบ : ฟูโกต์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิดของปรากฎการณ์วิทยาด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งอย่างน้อยๆ ผู้ศึกษาแนวคิดของฟูโกต์ ควรจะรู้ความแตกต่างระหว่าง สิ่งที่มันปรากฏแก่เรา กับ สิ่งที่มันเป็น เช่น แอปเปิ้ล ปรากฏให้เห็นเป็นสีแดงสำหรับเรา แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นมันอาจปรากฏเป็นสีอื่นสำหรับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ส่วนความเป็นจริงอาจจะมีสี หรือ ไม่มีเลยก็เป็นได้ อาจจะเข้าถึง หรือ ไม่อาจเข้าถึงเลยก็เป็นไปได้(ถ้ายึดตามแนวคิดของสำนักนี้ในขั้นต้น)และ ผู้กระทำ หรือ Subject กับ ผู้ถูกกระทำ Object
ความเกี่ยวข้องระหว่างฟูโกต์กับปรากฎการณ์วิทยา คือ ฟูโกต์มองว่า ไม่มี Subject ใดๆเลย(รวมมนุษย์ด้วย)ที่จะเป็นอิสระ เป็นเอกเทศน์ หรือมีความหมาย
3.2.ฟูโกต์ ฝักใฝ่ แนวคิดหลังยุคนวนิยม (Postmodernism)[1]
ในเรื่องราวความคิดของฟูโกต์มีแนวคิดที่น่าศึกษาอยู่หลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับสำหรับผู้ที่ต้องการมุมมองใหม่ๆในวงการมนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา จริยศาสตร์ อรรถปริวัตศาสตร์ เป็นต้น แนวคิดสำคัญของเขาได้แก่
-ทฤษฎีวาทกรรม คือกระบวนทัศน์ที่มองว่า แท้ที่จริงแล้ว มนุษย์ เป็นเพียง Object ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ วาทกรรม และบทบาทของทุกคนเป็นไปตามวาทกรรมที่ครอบงำยุคสมัยของผู้คนในยุคสมัยนั้น
-อำนาจกับความรู้ เป็นการศึกษาว่า ความรู้ มีอำนาจ และได้ใช้อำนาจใดต่อมนุษย์บ้าง ฟูโกต์ได้นำเสนอมุมมองใหม่ของความรู้ในฐานะอำนาจที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้บางสิ่งเกิดและไม่เกิดขึ้น
-วงศาวิทยา เป็นหลักการที่พิจารณาคุณค่าของสิ่งต่างๆที่เดินทางผ่านมาจากประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน แต่มิได้ปฏิเสธ หรือ กล่าวว่า ค่าใด ผิดหรือถูก แต่มองในลักษณะวิวัฒนาการ เพียงแต่ว่า ในครานี้ไม่ใช่วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต แต่คือ วิวัฒนาการในมนุษยศาสตร์
-อรรถปริวัตศาสตร์ พิจารณาคล้ายกันกับ วงศาวิทยา เพียงแต่มองกลไกของอดีต และอธิบายมันผ่าน “วาทกรรม” และมองว่ามนุษย์คือ ตัวบทที่ความหมายไม่ได้ถูกซ่อนอยู่แต่ปรากฏอยู่พร้อมกับตัวบทนั้น
-ศาสนาวิทยา อธิบายศาสนาผ่านแนวคิด “วาทกรรม”ด้วยเช่นเดียวกัน
-จริยศาสตร์ นำเสนอจริยศาสตร์ผ่านแนวคิด วงศาวิทยาจริยศาสตร์ โดยไม่ปฏิเสธ หรือ ยืนยันว่านิยามใดถูกหรือผิด แต่มองว่า แม้แต่จริยศาสตร์ ก็มีวิวัฒนาการ
-วิธีวิทยา ฟูโก้คือผู้นำหลักการโครงสร้างนิยม-แนวคิดจิตวิทยาของฟรอย์ด-แนวคิดของดาร์วิน และระบบวิภาษวิถี รวมถึง อรรถปริวัติศาสตร์มาใช้ศึกษามนุษย์ศาสตร์ในรูปแบบของตนเอง
4. โดยส่วนใหญ่แล้ว หนังสือที่เกี่ยวข้องหรืออธิบายแนวคิดของฟูโกต์
ในภาคภาษาไทยนั้นเป็นหนังสือชั้นสอง(หนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือหรือแนวคิดของบุคคลผู้เป็นเป้าหมาย)และเท่าที่ผู้เขียนค้นคว้าในตอนที่เขียนบทความนี้พบว่ายังไม่มีหนังสือชั้นต้นที่มาจากงานเขียนโดยตรงของฟูโกต์ในฉบับภาษาไทยเลย เป็นไปได้ว่า หนังสือชั้นต้น(หนังสือที่ฟูโกต์เขียน)เป็นภาษาฝรั่งเศส การขนย้ายความคิดจากภาษาหนึ่ง สู่อีกภาษาจำเป็นต้องมีปัจจัยมากมายเพื่อทำให้มันเกิดขึ้น กระนั้นก็ตามหนังสืออ้างอิงชั้นสองก็สามารถใช้เป็นประตูในการทำความเข้าใจแก่นความคิดของฟูโกต์ได้ไม่ต่างกัน ส่วนที่อยู่ในมือของผู้เขียน เป็นหนังสือทั้งหมดของฟูโกต์ที่ถูกแปลเป็นภาษาฟารซีขาดอยู่เพียงสี่เล่มที่ยังไม่มีการแปลในภาษานี้
5.ระดับความยากง่ายของหนังสือมีต่างกัน ซึ่งหนังสือหลักในการทำความเข้าใจแนวคิดของฟูโกต์ ได้แก่
- ระบบหรือที่ทางของสรรพสิ่ง มีเนื้อหาความยาวมากที่สุด และหนาที่สุดในหนังสือทั้งหมด
- วินัยและการลงทัณฑ์ เป็นการวิเคราะห์ของฟูโกต์ที่เกี่ยวของกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการปฏิบัติทางวัฒนธรรม (ตะวันตก) จาก ‘อำนาจอธิปไตย’ ถึง ‘อำนาจทางวินัย’ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้วิธีวงศาวิทยาของเขา ถึงแม้ว่าเนื้อหาเกี่ยวกับคุกและการควบคุมนักโทษ หรือประวัติศาสตร์ของการจองจำ แต่วิธีการอธิบายของเขา กินความครอบคลุมพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมของสังคมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคุก โรงพยาบาล โรงเรียน วัด หรือค่ายทหาร ที่ทำให้เขาพบการก่อรูปของวาทกรรม
- กำเนิดคลินิก – เป็นการอธิบายกลไกลของอำนาจ และอธิบายโดยใช้วิธีที่คล้ายคลึงกับ หนังสือวินัยและการลงทัณฑ์
- ประวัติศาสตร์ความบ้า – เป็นวิทยานิพนธ์เขียนและจบปริญญาเอก
- ความรู้ และ อำนาจ – เป็นหนังสือที่เขาได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้
- โบราณวิทยาความรู้ -เป็นหนังสือที่เขามองความรู้ผ่านวิธีวิทยาของฟูโกต์เอง
หากผู้ศึกษาต้องการทำความเข้าใจแนวคิดของนักปรัชญาท่านนี้ หนังสือทั้งห้าเล่มนี้ ก็ถือว่าเพียงพอ เพราะหนังสือเล่มอื่นๆ เช่น วาทกรรมกับความจริง,อรรถปริวัตศาสตร์ของตนเอง,วินัยและการลงทัณฑ์ และอื่นๆล้วนเป็นหนังสือที่ใช้กระบวนทัศน์จากหนังสือ ห้าเล่มแรกในการมุมมองของเขาเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ
6.การอ่านหนังสือหรือแนวคิดของฟูโกต์จะเป็นการเข็นครกขึ้นภูเขา หากผู้ศึกษาไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับรัฐศาสตร์,ปรัชญาตะวันตก,ประวัติศาสตร์ปรัชญาตะวันตก,ปรัชญาการเมืองในระดับพื้นฐาน (โดยเฉพาะแนวคิดของนิทเช่ แนวคิดเฮอโมเนติก หรือ อรรถปริวัตศาสตร์ของชไลมาร์เกอร์,กาดาเมอร์,ฮัยเดเกอร์) แนวคิดโครงสร้างนิยม แนวคิดคอมมิวนิสต์ เป็นเบื้องต้น
7. ประเมินระดับความยาก
– มีความยากระดับสูงสำหรับการศึกษาแนวคิดของเขา แต่ยังไม่ยากเท่าคานท์ หรือ ฮัยเดเกอร์ และไม่ซับซ้อนจนเสียทิศทางเหมือนปรัชญาภาษาวิตเกนไสตน์ ถ้าเข้าใจ และผ่านปรัชญาคานท์ หรือ เฮเกลมาได้ ก็สามารถเข้าใจฟูโกต์ได้เช่นเดียวกัน
8. ผู้ที่มีอิทธิพลต่อฟูโกต์
-เฟดริก วิลเฮม นิทเช่
-คาร์ล มาร์กซ์
-ซิก มุนด์ ฟรอยด์
10.แนวคิดที่มีอิทธิพลต่อฟูโก้
-วงศาวิทยาจริยศาสตร์ของนิทเช่
-แนวคิดเรื่อง เจตจำนง และอำนาจของนิทเช่
-อรรถปริวัติศาสตร์
-ปรัชญาโครงสร้างนิยม
-แนวคิดจิตไร้สำนึกของฟรอยด์
11.แนวคิดหลักของฟูโกต์
– แนวคิดเรื่องการวิพากษ์
แนวคิดเรื่อง ‘วิพากษ์’ ของฟูโก้ต์ ถูกนำไปใช้เป็นหลักในการมองหาจุดร่วมของความสัมพันธ์เชิงอำนาจมีที่มาและพัฒนามาจากสำนักคิดแฟรงค์เฟิร์ต (Frankfurt School) ในเรื่องทฤษฎีวิพากษ์ หัวใจหลักในเรื่องนี้ คือไม่ใช่การมองหาความขัดแย้งหรือมุมมองที่เป็นจริง หรือแม้แต่มุมมองที่เป็นกลาง หรือ แม้แต่เหตุผล แต่คือการเปิดเผยความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซ่อนเร้น ซึ่งส่วนใหญ่อำนาจซ่อน หรือ ถูกสร้างผ่านภาษา โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นและท้าทาย ความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่ได้รับการเสริมสร้างและทำแบบนั้นอย่างซ้ำ เช่น คนบ้า หรือ คนวิกลจริต เป็นวาทกรรมทรงอำนาจที่สามารถตัดสินคุณค่าของคนในศตวรรษหนึ่ง คือ คนที่ไม่ทำตามบรรทัดฐานทางสังคมที่นิยมในสมัยนั้น แต่ในศตวรรษต่อมา บุคคลผู้นั้นอาจเป็นผู้ทรงปัญญาในมุมมองของโลก เช่น โสเครตีส ถูกหาว่าบ้า เพราะสอนให้เยาวชน ครุ่นคิดเกี่ยวกับภาพใหญ่ของบรรทัดฐานทางสังคมในยุคสมัยของตนเอง เช่น การตั้งภาคีต่อพระเจ้าหลายองค์ การท้าทายศีลธรรมแบบเชื่อตามๆกัน การใช้เหตุผลแทนคำบอกเล่าของผู้อาวุโส
วาทกรรม
วาทกรรม เป็นคำที่โต้เถียงและสามารถโต้แย้งได้ James Gee (1990) ได้ใช้อักษรย่อของวาทกรรมด้วยตัว D ’ เมื่อต้องการถกเถียงถึงภาษาที่ใช้งานอยู่ หรือวิธีการใช้ภาษาในบริบททางสังคมเพื่อ ‘ตรากฎหมาย’ (enact) กิจกรรมและเอกลักษณ์ นี่เป็นงานหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง การรับอิทธิพลจาก ฟูโกต์
สิ่งพึงรู้ก่อนวิเคราะห์ด้วยวาทกรรม
การวิเคราะห์แบบฟูโกต์ คือการใช้มุมมองที่ต้องพิจารณาข้อความ-คำศัพท์-ประพจน์ ในแง่ของสิ่งที่มีผู้บอกว่าสิ่งนั้นเกี่ยวข้องอะไรบ้าง และมองในแง่ของสิ่งที่มีผู้ละเว้นและมองว่าสิ่งนั้นไม่เกี่ยวข้อง เช่น ในยุคหนึ่ง คนบ้าถูกนิยามโดยแพทย์-ชนชั้นผู้ถือครองความรู้ ว่าหมายถึง คนที่เชื่อผิดแปลกจากบรรทัดฐานทางสังคมในยุคสมัยตน เช่น เชื่อว่าโลกกลม เชื่อว่ามีพระเจ้าองค์เดียว และละเว้น ผู้ที่มีอาการทางจิตแต่ยังคงเชื่อแบบเดียวกันกับบรรทัดฐานทางสังคมในยุคสมัยของตน
จากตัวอย่างจะเห็นว่า การวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์ ไม่เพียงแต่อ่านอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมไปพร้อมกับข้อความ ไม่เพียงแต่อ่านสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยนั้นตัดสินว่าอะไรเป็นอะไร แต่ยังอ่านและพิจารณาถึงสิ่งที่พวกเขาตัดสินว่าไม่เกี่ยวข้อง หรือ ปฏิเสธมันว่าไม่เกี่ยวข้องด้วย และจะเห็นอีกว่า เมื่อวาทกรรม “คนบ้า”ถูกนำมาใช้ มันได้ส่งผลกระทบอะไรต่อมนุษย์บ้าง ทั้งในเรื่องมุมมองวิถีชีวิตที่เกิดขึ้น และมุมมองวิถีชีวิตที่ยังไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ จากตัวอย่าง เรายังเห็นได้ว่า ไม่มีการตัดสินว่า คนบ้าในยุคสมัยหนึ่ง เป็นการตัดสินที่ถูกหรือผิด แต่การวิเคราะห์นี้ เป็นรูปแบบการวิเคราะห์วาทกรรมโดยมุ่งเน้นที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมซึ่งแสดงออกผ่านภาษาและการปฏิบัติเป็นหลัก นั่นคือการดูว่า “วาทกรรมหนึ่งเมื่อครอบงำสังคมแล้ว มันทำงาน และส่งผล และไม่ส่งผลอย่างไรบ้าง ไม่ได้ดูว่าวาทกรรมนั้นที่ใช้ในสมัยนั้น ผิดหรือถูกแต่อย่างใด นี่คือ วิธีการศึกษามนุษย์ในแบบของฟูโกต์” Keyword ในการเข้าใจว่าฟูโกต์พูดอะไร คือ ภาษากับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาว่า คำใดบ้างในสังคมที่เมื่อถูกนำมาใช้ คนในสังคมนั้นจะรู้สึกถึงมันในแง่ลบ หรือ ในแง่ดี เช่น ช้างเท้าหลัง เผด็จการ ทาส แล้วลองดูว่า เมื่อคำเหล่านี้ถูกนำมาใช้ มันได้สร้างความคิดแบบใดต่อผู้อ่านบ้าง และความคิดแบบที่เกิดกับผู้อ่าน เหมือนหรือแตกต่างกับความเข้าใจต่อความคิดนั้นของคนในอดีตก่อนหน้าท่านหรือไม่
วิธีใช้งาน
ขั้นตอนที่ 1 ลองยกวาทกรรมมาหนึ่งคำ โดยหาวาทกรรมที่กลายเป็นระบบ หรือ เป็นเรื่องธรรมดา ในอดีต หรือ ในยุคปัจจุบันก็ได้
ขั้นตอนที่ 2 ดูว่าวาทกรรมนั้น ส่งผลต่อสังคมมนุษย์ในยุคนั้นอย่างไรบ้าง เช่นการดูว่าวาทกรรมนั้น ทำให้เราสามารถพูด หรือไม่สามารถพูดเรื่องอะไรได้บ้าง นั่นแหละคืออำนาจที่มันกระทำต่อเรา
ขั้นตอนที่ 3 เรียบเรียงผลจากข้อสองทั้งหมด และพิจารณามันโดยไม่ตัดสินว่า ผลที่เกิดขึ้นผิดหรือถูก ผลลัพธ์ที่ตามมานี่เอง คือ สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในภาษา และคือการหาจุดเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
ตัวอย่างของผู้เขียน
ขั้นตอนที่ 1 วาทกรรม “ความเสมอภาค” เป็นเรื่องที่ทุกคนในยุคสมัยนี้ต่างยอมรับกันจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในอดีตความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องธรรมดาของผู้คนในยุคนั้น
ขั้นตอนที่ 2 วาทกรรม “ความเสมอภาค ส่งผลให้ไม่สามารถพูดเรื่อง “การแบ่งชนชั้น” หรือ “ความไม่เท่าเทียม” สังคมในสมัยนี้ไม่อนุญาตให้มีความคิดเช่นนี้เกิดขึ้น (เราจะคงภาวะความเป็นกลางและไม่ตัดสินเหตุผลของสังคมสมัยนี้ เพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายของวิธีนี้) ผลที่เกิดขึ้นจากการทำสิ่งที่สังคมไม่อนุญาต เช่น การเหยียดเชื้อชาติ การเหยียดอาชีพ การเหยียดศาสนา การเหยียดสีผิว การเหยียดภาษา มีผลทำให้สังคมลงทันฑ์ผู้เหยียดเพื่อกลับสู่ความ “เสมอภาค”อีกครั้ง ในทางกลับกัน เมื่อพรรคการเมืองพูดเรื่องความเสมอภาค จะได้รับการยอมรับจากสังคม และอนุญาตให้นโยบายเกี่ยวกับความเสมอภาคของพรรคการเมืองนั้น แทรกซึมเข้ามาในสังคมได้
ขั้นตอนที่ 3 ความเสมอภาค เป็นวาทกรรมที่ซ่อนอำนาจในตัวของมันเอง และเมื่อมีผู้พยายามต่อต้านมัน มันจะลงทัณฑ์ผู้คนเหล่านั้น แต่หากมีใครสนับสนุนมัน มันก็จะสนับสนุนคนเหล่านั้น และยอมให้ใช้อำนาจที่ได้จากมันมากขึ้น
ผู้อ่านสามารถยกตัวอย่างได้เอง โดยใช้สามขั้นตอนง่ายๆเหล่านี้ แน่นอนว่า วิธีของฟูโกต์ละเอียดและซับซ้อนกว่านี้ยิ่งนัก แต่ความสามารถผู้เขียนสามารถถ่ายทอดวิธีการให้ผู้อ่านได้ในระดับเบื้องต้น ได้อนุญาตให้ผู้เขียนนำเสนอหลักการผิวเผินเช่นนี้
ลักษณะสำคัญของการวิเคราะห์แบบฟูโกต์
นอกจากวิเคราะห์เรื่อง สิ่งที่ทำได้ กับ สิ่งที่ทำไม่ได้ เพื่อดูความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีลักษณะสำคัญดังนี้
-การวิเคราะห์ว่าสังคมโลกแสดงออกผ่านภาษาได้รับผลกระทบจากแหล่งอำนาจต่าง ๆ อย่างไรบ้าง
-การวิเคราะห์โดยอิงว่าโครงสร้างทางสังคมมีรูปทรง แบบแผน หรือแบบแผนของมันคือ ไม่มีแบบแผน ด้วยภาษาซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของอำนาจที่มีอยู่
-การวิเคราะห์โดยพยายามที่จะเข้าใจว่าแต่ละคนมองโลกอย่างไรและศึกษาหมวดหมู่ความสัมพันธ์ปัจเจกบุคคลและสถาบันอุดมการณ์และการเมือง
-การมองว่าวาทกรรมเป็นตัวแทนของความเป็นจริงที่สร้างขึ้นทางวัฒนธรรมไม่ใช่การลอกเลียนแบบ
-วาทกรรมสร้างความรู้และควบคุมโดยผ่านการจัดหมวดหมู่ของความรู้และการรวบรวมข้อความสิ่งที่เป็นไปได้ที่จะพูดคุยและสิ่งที่ไม่ได้เป็น (ที่นำมาใช้สำหรับกฎการรวม / การยกเว้น) เช่นนี้จะสร้าง / ก่อกำเนิดทั้งอำนาจและความรู้พร้อมกัน
-วาทกรรมกำหนดกรอบของวิชาและการวางตำแหน่งว่าใครเป็นไปได้และสิ่งที่เป็นไปได้ที่จะทำ
-อำนาจแพร่หลายไปทั่วสังคมและในขณะที่ลำดับชั้นไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์จากบนลงล่าง
-มีความเป็นไปได้ที่จะตรวจสอบระบอบการปกครองด้วยการสร้างโครงสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของระบบหรือระบอบการสร้างความหมายที่สร้างขึ้นและเป็นวาทกรรมเพื่อดูว่า ทำไมความคิดและแนวโต้เถียงบางประเภทและทำไมจึงเป็นความจริงในขณะที่วิธีคิด /สิ่งที่ดำรงอยู่ / ทำให้มีความสำคัญน้อยลงหรือลดความสำคัญลง
การตั้งคำถามตามวิธีวิเคราะห์ของฟูโกต์
-การแสดงอะไรบ้างที่กลายเป็นความจริงหรือเป็นบรรทัดฐาน?
-สิ่งนี้ หรือ ค่านี้ ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร? มีการใช้ “หลักฐาน” อะไรบ้าง สิ่งที่หรือค่าที่หลงเหลืออยู่มีอะไรบ้าง?
-สิ่งหนึ่งหรือค่าหนึ่งมีรากฐานก่อนและหลังอย่างไร? อะไรที่ทำให้เกิดปัญหาและสิ่งที่ไม่มีรากฐาน ไม่มีรากฐานได้อย่างไร? ความหมาย และ คำอธิบายทางเลือกใดถูกละเว้นและอันใดถูกกล่าวถึง?
-อะไรบ้างถูกแยกออกจากกันและอะไรบ้างที่เชื่อมต่อกัน?
-อะไรบ้างทำให้เกิดการระดมตัวหรือการทำหน้าที่และอะไรบ้างไม่ใช่?
-สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
-อัตลักษณ์, การกระทำ, การปฏิบัติอะไรที่เป็นไปได้และเป็นไม่ได้ หรือเป็นที่ต้องการและไม่เป็นที่ต้องการ หรือจำเป็นโดยวิธีการคิด / การพูด / การทำความเข้าใจนี้ หรือ ไม่จำเป็น? สิ่งใดบ้างที่อนุญาต และสิ่งที่ไม่อนุญาต อะไรที่ทำให้เป็นมาตรฐานและอะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิด
นี่คือ เนื้อหาเบื้องต้น สำหรับผู้ที่สนใจศึกษา รัฐศาสตร์ ปรัชญา สังคม มนุษย์ศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ในรูปแบบของฟูโกต์ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาข้างต้น เป็นเนื้อหาที่ถูกบีบอัดจากองค์ความรู้ขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถนำเสนอแนวคิดของฟูโกต์ รวมถึง เนื้อหาในประเด็นอื่นๆที่มีอิทธิพลต่อระบบความรู้ในสมัยปัจจุบัน ดังนั้น บทความนี้จึงเปรียบเสมือน ก้าวแรกสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าใจ วาทกรรม และความเป็นฟูโกต์นั่นเอง
[1] ถึงแม้ว่าจะมีนักวิชาการส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อเท็จจริงนี้ และส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับความเป็นโครงสร้างนิยมใหม่ ถึงอย่างไรก็ตามงานเขียนช่วงแรกของเขาก็ได้รับอิทธิพลมาจากโครงสร้างนิยม แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยๆเปลี่ยนไปเป็น โครงสร้างนิยมใหม่ หลังเขาเห็นช่องโหว่ในโครงสร้างนิยม