อคติ เป็นคำศัพท์ที่มนุษย์เราแทบไม่จำเป็นต้องนิยาม แต่หากจะนิยามอย่างเป็นทางการ ก็อาจนิยามได้ว่า อคติ หมายถึง ความคิดแบบลำเอียง ความคิดที่ไม่ถูกต้อง ความคิดที่ผิดวิปลาสจากความเป็นจริง
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์การเมืองต้องเผชิญกับทางตัน คือ ความอคติในทางการเมือง มันคือสภาวะที่เกิดขึ้นกับอัตลักษณ์ทางการเมืองของหลายประเทศ และยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ระบบการเมืองในประเทศนั้น[I]หยุดชะงักหรือเคลื่อนไหวได้ช้าลง[II]สูญเสียเสถียรภาพ[III]สูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ[IV]นำไปสู่ความขัดแย้งในระดับชาติ[V]จนไม่อาจอยู่ร่วมกันได้
ข้อเสนอในการแก้ปัญหาสภาวะดังกล่าว คือ การให้ผู้มีส่วนร่วมในทางการเมืองของดินแดนหรือประเทศนั้นตัดสินระบบการเมืองและการบริหารของนักการเมืองในประเทศของตนด้วยม่านแห่งสามัญสำนึก อย่างไรก็ตามการทำลายอคติในทางการเมือง ถือเป็นเรื่องยากและเข้าข่ายสิ่งที่ใกล้เคียงกับ “ความเป็นไปไม่ได้” แต่หากปลูกจิตสำนึกของม่านแห่งสามัญสำนึก ความอคติก็จะลดลงไม่มากก็น้อย
เงื่อนไขการใช้ม่านแห่งสามัญสำนึก ควรจะกล่าวก่อนว่าการตัดสินด้วยม่านแห่งสามัญสำนึกเป็นการตัดสินภาพรวมมิใช่รายละเอียด แต่ก็สามารถตัดสินได้หากรายละเอียดของปัญหาถูกนำเสนอโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่มีการยืนยันว่าถูกต้อง โดยคำนึงถึงสามัญสำนึกเหนือสิ่งอื่นใดเป็นหลัก และจะสามารถใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่ความเห็นทางการเมืองมีความขัดแย้งกันในลักษณะที่แต่ละความเห็นเป็นความคิดที่มีหลักฐานหรือเหตุผลรับรอง หากทั้งสองหรือมากกว่าขัดแย้งกัน ให้พิจารณาโดยใช้สามัญสำนึกเป็นหลัก
ข้อโต้แย้งของแนวคิดนี้ได้แก่ [I]เป็นไปได้ที่ผู้อคติจะอ้างว่าความอคติของเขาคือความรู้ที่มีหลักฐาน หลักการและเหตุผลกล่าวคือ ผู้อ้างได้อ้างว่าอคติของตนไม่ใช่อคติหรือเป็นความอคติในเชิงบวก ข้อโต้แย้งนี้สามารถหักล้างได้ด้วยการแยกแยะระหว่างอคติในเชิงลบกับเชิงบวก [II]เป็นไปได้ที่ข้อเสนอของผู้เขียนจะถูกโต้แย้งว่า การแก้ไขความอคติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ข้อโต้แย้งนี้สามารถหักล้างได้ด้วยการพิสูจน์ว่า อคติ เป็นภาคแสดงที่เป็นอนิจจังและไม่ถาวร [III]ม่านแห่งสามัญสำนึก คือการตัดสินบนความไม่รู้ การตัดสินโดยใช้ความไม่รู้เป็นหลัก ย่อมเป็นการตัดสินที่ไม่สมเหตุสมผล ข้อโต้แย้งนี้สามารถหักล้างได้ด้วยการชี้แจ้งว่าสามัญสำนึกที่กล่าวถึงในงานชิ้นนี้ หมายถึงทุกการตัดสินที่ไม่อาศัยการตีความแต่พิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือการตีความในแบบที่สอดคล้องกับความเป็นจริง
เหตุผล
1.ส่วนที่กล่าวว่า อคติเป็นคำศัพท์ที่แทบไม่จำเป็นต้องนิยาม เพราะเป็นความเข้าใจเชิงวิถีประชา(Mores)
2.ส่วนที่กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์การเมืองต้องเผชิญกับทางตัน คือ ความอคติในทางการเมืองซึ่งเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นกับอัตลักษณ์การเมืองของหลายประเทศ เพราะการตัดสินการเมืองบนพื้นฐานของความอคติมีผลทำให้ทัศนะคติของผู้มีความอคติกับความเป็นจริงไม่สอดคล้องกัน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนการให้เหตุผลนี้ ได้แก่ ความอคติของชาวโรมันต่อการเผยแพร่ศาสนาคริสต์โดยพระเยซู(อ)จนมีผลทำให้อาณาจักรโรมต้องล่มสลาย,ความอคติของคริสตจักรยุคมืดต่อวิทยาศาสตร์และผู้ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างจากคนทั่วไป เช่น จิงเจอร์(ผู้ที่มีผมสีส้ม จะถูกสังสยว่าเป็นแม่มด)จนมีผลทำให้คริสตจักรต้องล่มสลายเพราะวิกฤตศีลธรรม,ความอคติของชาวอาหรับต่อชนชาติอื่น และความอคติของชาวอาหรับต่อการเผยแพร่คำสอนไม่แบ่งเชื้อชาติของศาสดามูฮัมมัด จนมีผลทำให้เผ่าอาหรับต้องล่มสลายเพราะวิกฤตศีลธรรมและความอวิชชา, ความอคติของบริษัทโทรศัพท์มือถือบางบริษัทจนมีผลทำให้บริษัทล้มละลายเพราะยึดติดกับการผลิตโทรศัพท์มือถือแบบมีปุ่มกด
3.ส่วนที่กล่าวว่า ข้อเสนอในการแก้ปัญหาสภาวะดังกล่าว คือการให้ผู้มีส่วนร่วมในทางการเมืองของดินแดนหรือประเทศนั้นตัดสินระบบการเมืองและการบริหารของนักการเมืองในประเทศของตนด้วยม่านแห่งสามัญสำนึก เพราะม่านแห่งสามัญสำนึกเป็นวิธีการตัดสินโดยปราศจากอคติวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ
คำอธิบายที่ 1 เหตุผลที่ผู้เขียนเลือกที่จะเรียกว่า “ม่านแห่งสามัญสำนึก”เป็นเพราะงานเขียนของจอห์น รอส์ล เขาได้เสนอทฤษฎีความยุติธรรมด้วยการ “ใช้ม่านแห่งความไม่รู้” แต่ปัญหาของม่านแห่งความไม่รู้คือ มันเป็นเพียงสิ่งสมมติ มีลักษณะคล้ายการจำลองด้วยการคิดแบบทฤษฎีเกมเพื่อหาจุดสมดุล และอีกปัญหาหนึ่งคือ ม่านแห่งความไม่รู้ ปฏิเสธความรู้ของมนุษย์ แน่นอนว่าการปฏิเสธภาวการณ์รับรู้ของมนุษย์ในเรื่องที่ทางและสถานะของสังคมสามารถสร้างคำวินิจฉัยที่ปราศจากอคติได้ แต่หากมีด้านนี้เพียงด้านเดียวยังไม่ถือว่าเงื่อนไขของการตัดสินอย่างไร้อคติครบถ้วนเพียงพอ เพราะหากตัดสินบนความไม่รู้ ผลสุดท้ายก็คือการตัดสินบนพื้นฐานของความไม่รู้ ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องมีอีกเงื่อนไขหนึ่ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นซึ่งก็คือ “การตัดสินบนพื้นฐานของความรู้” และเนื่องด้วยความรู้ประเภทอื่นมีลักษณะของความไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ความรู้ที่มั่นใจได้ว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีเสมอกัน และความรู้ดังกล่าวไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจาก “สามัญสำนึก”
คำอธิบายที่ 2 เนื่องจากสามัญสำนึกของมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นกับยุคสมัย วัฒนธรรม ประเพณี และมีอยู่ในตัวของทุกคน มันจึงเป็นหลักศีลธรรมตามธรรมชาติที่มนุษย์ต่างมีเสมอกัน เช่น ความต้องการแสวงหาความจริง,ความรักในสิ่งสวยงาม,การเกลียดชังการกดขี่ เมื่อเข้าสู่ม่านแห่งสามัญสำนึก มนุษย์จะตัดสินปรากฏการณ์ต่างๆได้โดยปราศจากความลำเอียง จึงไม่มีการตัดสินด้วยการเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่มีการตัดสินโดยดูที่เพศสภาพ หรือตัดสินโดยคำนึงถึงลำดับขั้นของความอาวุโส หรือตัดสินโดยคำนึงถึงสถานะทางสังคม หรือหากจะกล่าวกลับกัน การตัดสินโดยสวมหมวกแห่งตำแหน่งและที่ทางใดๆเหล่านี้นั่นแหละ คือเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้มุมมองพื้นฐานในเรื่องการเมืองของมนุษย์มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการตัดหัวโขนทั้งหมดออกจากความคิดจะทำให้ผลลัพธ์ในการตัดสินแตกต่างออกไปจากเดิม จะขอยกตัวอย่างสมมติดังนี้
ตัวอย่างที่ 1 รัฐบาลประเทศ A บริจาคเงินสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากโรคร้ายเป็นจำนวน 1,000,000 USD ซึ่งเป็นจำนวนที่คำนวนตามสัดส่วนของประชากรที่ประสบภัย
หากคิดเรื่องนี้ โดยสมมติว่า ตัวของผู้คิดก็ประสบภัย แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศ A ผู้คิดย่อมมองว่าการช่วยเหลือของประเทศ A เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ไม่ใช่เพราะตัวของการกระทำเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ไม่ดีเพราะมันไม่ดีกับตัวของผู้คิด ไม่ดีเพราะตัวของผู้คิดพิจารณาว่าระหว่างการช่วยเหลือผู้อื่นกับการช่วยเหลือตนเอง การช่วยเหลือตนเป็นสิ่งที่ต้องมาก่อน แต่ในความเป็นจริงอาจเป็นไปได้ว่าผู้คิดเองก็ถูกจัดอยู่ในสัดส่วนของประชากรที่ประสบภัยเช่นเดียวกัน เพียงแต่การช่วยเหลือยังมาไม่ถึง แต่หากผู้คิดตัดสินการกระทำของรัฐบาลประเทศ A โดยพิจารณาที่คุณค่าของการกระทำ โดยไม่คำนึงถึงตนเอง การตัดสินก็จะแตกต่างออกไป
ตัวอย่างที่ 2 รัฐบาลประเทศ B ออกคำสั่งให้ประชาชนของตนเข้ารับราชกาลทหารเพื่อยึดดินแดนของประเทศ C เพราะตำนานกล่าวไว้ว่าดินแดนที่เป็นของประเทศ C ในปัจจุบันนั้นเคยเป็นดินแดนของชนชาติ B ในอดีต ดังนั้นการยึดคืนมาจึงไม่ผิดศีลธรรมแต่ประการใด เพราะเป็นการเอาของที่เป็นของตัวเองกลับมา จากตัวอย่างนี้ หากผู้คิดถือชนชาติเดียวกับประเทศ B และมีอุดมการณ์เดียวกับรัฐบาล B การสังหารประชาชนประเทศ C ตลอดจนการยึดดินแดนจากประเทศ C ก็จะไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรมสำหรับชาว B แต่หากถอดหัวโขนนี้ออก การตัดสินของผู้คิดจะต่างออกไป เช่นเดียวกัน หากผู้คิดคือชาว C หากอยู่ๆวันหนึ่งชาว B เข้ามารุกรานดินแดน C แต่เพราะผู้คิดได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากการเซ็นใบอนุญาตให้รุกราน ผู้คิดซึ่งเป็นชาว C ก็จะไม่มองว่าการรุกรานของชาว B เป็นการกระทำที่ผิด เพราะมันนำมาซึ่งผลประโยชน์สำหรับผู้คิด แต่หากตัดหัวโขนนี้ออกไป คำตัดสินก็จะต่างออกไป
ตัวอย่างที่ 3 ผู้คิดคือลูกขุนที่ถูกเชิญให้มาตัดสินชายฉกรรจ์ในข้อหา ฆ่าข่มขืน เผอิญว่าผู้ต้องหามีหน้าตาคล้ายคลึงกับผู้ที่เคยกลั่นแกล้งผู้คิดในวัยเด็ก และในวัยหนุ่มผู้คิดก็โดนคนที่มีหน้าตาลักษณะนี้ทำร้ายร่างกาย และในตอนวัยกลางคนก็เช่นกัน ผู้ที่มีหน้าตาคล้ายชายฉกรรจ์ผู้ต้องหาสำหรับผู้คิดจึงอาจถูกเหมารวมว่าเป็นคนไม่ดี ซึ่งอาจมีผลทำให้ผู้คิดตัดสินให้เขาสมควรรับโทษ แต่หากผู้คิดตัดอดีตของตนออกแล้วพิจารณาจากหลักฐาน คำตัดสินก็จะต่างออกไป (ในที่นี้การพิจารณาตัดสินโดยอาศัยหลักฐานเป็นหลัก ซึ่งก็คือการแสวงหาความจริง ซึ่งกลับไปหาสามัญสำนึก เพราะหากพิจาณาจากประสบการณ์เลวร้ายในอดีต ประสบการณ์ไม่อาจใช้เป็นเครื่องมือในการหาความจริงได้ถูกต้องเสมอไป โดยเฉพาะประสบการณ์ส่วนตัว แต่หากพิจารณาจากหลักฐานในแง่อัตวิสัยจะไม่มีอคติของผู้ตัดสินว่าเป็นที่ตั้ง แต่จะเป็นการตัดสินโดยใช้สิ่งที่มันเป็น แตกต่างจากการตัดสินโดยใช้สิ่งที่เราคิดว่ามันเป็น) เช่นเดียวกัน หากเป็นทหารก็จะตัดสินโดยพิจารณาด้วยมุมมองของทหาร หากเป็นวิศวกรก็จะมองแบบวิศวกร หากเป็นนักธุรกิจก็จะมองแบบนักธุรกิจ แม้แต่การเป็นกรรมกรก็จะมองโดยคำนึงถึงสถานะของตนเองในสังคม และคำนึงถึงที่ทางสำหรับตนเองในสังคม ในภาพรวมแล้วหากเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สังคมจัดวางไว้ให้การตัดสินก็จะเป็นการตัดสินโดยอาศัยสิ่งนั้นเป็นพื้นฐาน แต่หากตัดสิ่งเหล่านี้ออกไป ไม่มีทหาร ไม่มีครู ไม่มีนักเรียน ไม่มีนักการเมือง ไม่มีนักธุรกิจ ไม่มีกรรมกร ไม่มีเรื่องเพศหรืออายุเข้ามาเกี่ยวข้อง คำตัดสินที่ผลิตออกมาย่อมบริสุทธิ์และมีความศักดิ์สิทธิในตัวของมันเองอย่างไม่อาจที่จะจินตนาการถึง และหากการตัดสินเป็นไปในรูปของสังคม วิถีประชาของสังคมนั้นก็จะมีความบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในแง่ของการเมือง
คำอธิบายที่ 3 เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ระหว่างวิถีประชาและจารีต(ซึ่งหมายถึงสิ่งที่สังคมหนึ่งตัดสินว่าดีหรือไม่ดี)ไม่ใช่สามัญสำนึก แต่เป็นไปได้ว่า วิถีประชาของสังคมบางแห่งสอดคล้องกันกับสามัญสำนึก เพราะทั้งจารีตและวิถีประชาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไปตามยุคสมัย แตกต่างจากสามัญสำนึกที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง
4.ส่วนที่กล่าวถึงเงื่อนไขของม่านแห่งสามัญสำนึก ว่าสามารถตัดสินภาพรวม มิใช่รายละเอียด แต่ก็สามารถตัดสินได้หากรายละเอียดของปัญหาถูกนำเสนอโดยอาศัยหลักฐานที่สามารถยืนยันว่าถูกต้องทั้งหมด เพราะโดยปกติแล้วรายละเอียดไม่สามารถตรวจสอบยืนยันหรือปฏิเสธได้ทั้งหมด หากข้อมูลที่ได้มาเป็นการสันนิษฐานหรือเป็นการตีความและเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ข้อมูลดังกล่าวที่จะถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลจูงใจในการตัดสินต้องมีน้ำหนักในระดับ 100 %แต่หากไม่ถึง 100% การตัดสินด้วยสามัญสำนึกก็ยังทำได้อยู่เพียงแต่ตัดสินบนความน่าจะเป็นของข้อมูลที่ได้รับมา ซึ่งการตัดสินแบบนี้สามารถผิดพลาดได้หากความน่าจะเป็นผิดพลาด อย่างไรก็ตามความผิดพลาดดังกล่าวไม่ใช่ความผิดพลาดที่เกิดจากสามัญสำนึกแต่เป็นความผิดพลาดที่เกิดจากข้อมูลและการคาดการณ์อนาคตของข้อมูลที่ได้รับมา
หากเป็นสถิติหรือการอนุมาน ทั้งสองจะต้องมีความแข็งแรงและน่าเชื่อถือมากกว่า 50% ในระดับต่ำสุด จึงจะสามารถใช้ม่านแห่งสามัญสำนึกได้อย่างเหมาะสม เพราะหากความน่าจะเป็นต่ำกว่า 50% โอกาสที่จะตัดสินด้วยสามัญสำนึกอย่างแม่นยำก็จะลดลงไปตามข้อมูล ดังนั้นความน่าจะเป็นที่เหมาะสมกับการใช้สามัญสำนึกคือด้านที่มีน้ำหนักมากกว่า
อาจมีคำถามตามมาว่า หากสถิติและการอนุมานก็มีโอกาสผิดพลาดได้ เหตุใดจึงสามารถใช้สามัญสำนึกประกอบการตัดสินได้อีก ? คำตอบคือ เนื่องจากสถิติหรือการอนุมานหากชี้ถึงความน่าจะเป็นในด้านที่เกิดขึ้นจริง/ไม่เกิดขึ้นจริงด้านใดด้านหนึ่งมากกว่ากัน สติปัญญาของมนุษย์เองเป็นผู้ตัดสินให้พวกเขายึดด้านที่น้ำหนักของความน่าจะเป็นมากกว่า ไม่ใช่เพราะความน่าจะเป็นมีความหมายเท่ากับความถูกต้องหรือสอดคล้องกับความเป็นจริงโดยปราศจากข้อกังขา แต่เพราะระบบวิเคราะห์ของสติปัญญาที่เรามีถูกออกแบบมาให้เลือกด้านที่มีความน่าจะเป็นมากกว่าเสมอ และมันยังเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ทั้งสถิติและการอนุมานจึงต้องถือเป็นแหล่งข้อมูลอีกด้านหนึ่งของมนุษย์ เพียงแต่จะต้องเข้าใจว่าทั้งสองเป็นเพียงเหตุผลจูงใจให้เชื่อรองลงมาจากเหตุผลหรือหลักฐานที่มีน้ำหนัก 100 % เพราะหากทิ้งแม้แต่การอนุมานหรือสถิติที่เกิน 50 % ออกไปความสามารถในการวิเคราะห์และการวิจัยจะลดลงซึ่งไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของโลกนี้ที่ความเสี่ยงและโอกาสสามารถเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลาเราจึงสามารถพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของข้อมูลบนหลักของความน่าจะเป็น
ส่วนที่กล่าวว่า ให้ตัดสินโดยคำนึงถึงสามัญสำนึกก่อนสิ่งอื่นใดเป็นหลัก เป็นไปตามเหตุผลในข้อ 3 เพิ่มเติมคือข้อพิพาทในทางการเมืองไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยสิ่งที่แต่ละฝ่ายไม่ยอมรับว่าสามารถตัดสินได้ หรือ ตัดสินอย่างลำเอียง เพราะหากคิดตั้งต้นไว้ก่อนว่าคณะตัดสินได้ตัดสิน,มาตรการที่ใช้ตัดสิน,กฎที่ใช้ตัดสินมีอคติอย่างมีเป้าหมาย ผู้ถูกตัดสิน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการตัดสินย่อมปฏิเสธคำตัดสินนั้น หรือจำใจยอมรับคำตัดสินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากโครงสร้างของการตัดสินตั้งอยู่บนหลักแห่งสามัญสำนึก แม้ว่าผู้ถูกตัดสินจะปฏิเสธเช่นไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวก็สามารถมอบความมั่นใจได้ว่าเป็นกระบวนการที่ไม่มีความลำเอียงเพราะใช้สามัญสำนึกเป็นหลักซึ่งทุกฝ่ายยอมรับอย่างเป็นสากล
ส่วนที่กล่าวว่า จะสามารถใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขในกรณีที่ความเห็นในทางการเมืองมีความขัดกันในรูปแบบที่แต่ละความเห็นเป็นความเห็นที่มีหลักฐานหรือเหตุผลรับรอง หากทั้งสองหรือมากกว่าขัดแย้งกัน ให้พิจารณาโดยใช้สามัญสำนึกเป็นหลัก เพราะ
หากความขัดแย้งเกิดขึ้นในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งมีเหตุผลและหลักฐานสนับสนุนอย่างเพียงพอ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งขาดเหตุผลและหลักฐาน ฝ่ายมีน้ำหนักมากกว่าย่อมเป็นฝ่ายแรก
หากความขัดแย้งเกิดขึ้นในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งมีเหตุผลสนับสนุน แต่ไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ที่เพียงพอใช้สำหรับสนับสนุนเหตุผลอ้างอิง ส่วนอีกฝ่ายมีทั้งเหตุผลและหลักฐานสนับสนุนอย่างเพียงพอ ข้อเสนอของฝ่ายที่สองย่อมมีน้ำหนักมากกว่า
ทว่าทั้งสองกรณีเป็นกรณีที่ผู้ตัดสินใช้ข้อมูลความเป็นจริงที่แข็งแรงมากพอในการตัดสิน แต่หากทั้งสองฝ่ายต่างมีเหตุผลสนับสนุนและมีหลักฐานเพียงพอ จะต้องใช้สามัญสำนึกเป็นตัวตัดสิน เพราะสามัญสำนึกเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับสัจพจน์มากกว่าหลักฐานและเหตุผล หรือหากจะกล่าวในอีกบริบทหนึ่ง เนื่องจากหลักฐานเป็นวัตถุวิสัยที่สุดท้ายแล้วต้องอาศัยมุมมองเชิงอัตวิสัย มันจึงมีความเป็นไปได้ที่ตัวบทหลักฐานจะถูกปรุงแต่งให้สอดคล้องกับทิศทางเป้าหมายของผู้ตัดสิน เช่นเดียวกับเหตุผลในระดับการคาดคะเน-การอนุมาน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะผิดพลาด ตรงข้ามกันกับสามัญสำนึกที่ปราศจากความผิดพลาด[1]
ส่วนที่กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการทำลายอคติในทางการเมือง ถือเป็นเรื่องยากและเข้าข่ายสิ่งที่ใกล้เคียงกับ “ความเป็นไปไม่ได้” แต่หากปลูกจิตสำนึกของม่านแห่งสามัญสำนึก ความอคติก็จะลดลงไม่มากก็น้อย เพราะต้นตอของความอคติเกิดจาก[I]การตามอย่างปิดหูปิดตา[II]อารมณ์ใฝ่ต่ำ[III]ความไม่รู้ ซึ่งการจะทำลายอคติอย่างเบ็ดเสร็จได้นั้นจำเป็นต้องทำลายต้นตอของมันเสียก่อน ดังนั้นหากปราศจากการทำลายต้นตอแห่งอคติ อคติก็สามารถก่อเกิดได้ใหม่เสมอ
5.ส่วนที่กล่าวว่า ข้อโต้แย้งของแนวคิดนี้ได้แก่ [I]เป็นไปได้ที่ผู้อคติจะอ้างว่าความอคติของเขาคือความรู้ที่มีหลักการและเหตุผล กล่าวคือ ผู้อ้างอ้างว่าอคติของตนไม่ใช่อคติหรือเป็นความอคติในเชิงบวก ข้อโต้แย้งนี้สามารถหักล้างได้ด้วยการแยกแยะระหว่างอคติในเชิงลบกับเชิงบวก เพราะระหว่างอคติในเชิงบวกกับอคติในเชิงลบให้ผลแก่สังคมแตกต่างกัน อคติในเชิงบวกมีความใกล้เคียงกับ “ความภาคภูมิใจ” เช่น การยึดเอาผลประโยชน์ของสังคมที่ตนสังกัดเป็นหลัก หรือ การยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศที่ตนอยู่อาศัยเป็นหลัก แต่มีเงื่อนไขว่าความอคติในลักษณะนี้จะต้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์และไม่ขัดหลักมนุษยธรรมเท่านั้น ส่วนอคติในเชิงลบมีความหมายใกล้เคียงกับยโสโอหังในความไม่รู้และความลำพองตน มันจึงเป็นค่านิยมทางศีลธรรมที่ให้ผลลัพธ์ในแง่ลบแก่สังคมที่เคลือบแคลงมัน
6.ส่วนที่กล่าวว่า[II]เป็นไปได้ที่ข้อเสนอของผู้เขียนจะถูกโต้แย้งว่า การแก้ไขความอคติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ข้อโต้แย้งนี้สามารถหักล้างได้ด้วยการพิสูจน์ว่า อคติ เป็นภาคแสดงที่เป็นอนิจจังและไม่ถาวร เพราะความอคติมีค่าในเชิงจริยศาสตร์แบบสัมพัทธ์ สามารถเป็นไปทั้งในทางที่ดีและร้ายได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอหากผู้กระทำเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางศีลธรรมของตนเอง โดยผู้กระทำเป็นได้ทั้งปัจเจกหรือสังคม ดังนั้นหากอคติเป็นค่านิยมเชิงสัมพัทธ์ ย่อมมีสถานะเป็นอนิจจังซึ่งเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
7.ส่วนที่กล่าวว่า[III]ม่านแห่งสามัญสำนึก คือการตัดสินบนความไม่รู้ การตัดสินโดยใช้ความไม่รู้เป็นหลัก ย่อมเป็นการตัดสินที่ไม่สมเหตุสมผล ข้อโต้แย้งนี้สามารถหักล้างได้ด้วยการชี้แจ้งว่าสามัญสำนึกที่กล่าวถึงในงานชิ้นนี้ หมายถึงทุกการตัดสินที่ไม่อาศัยการตีความแต่พิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะสามัญสำนึกนับเป็นความรู้พื้นฐานที่มีสถานะใกล้เคียงกับสัจพจน์ มิใช่ความไม่รู้ อาจมีผู้โต้แย้งว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาบนพื้นฐานของความไม่รู้กันทั้งสิ้นเปรียบเหมือนผ้าขาว(Tabula rasa) วิพากษ์ [I]หากไมมีความรู้ใดถูกฝังอยู่ในความเป็นมนุษย์อยู่เลยเหตุใดทารกจึงรู้ว่าต้องดูดนมจากเต้าของมารดาทั้งที่ไม่มีผู้สอน หากกล่าวว่ามันคือสัญชาตญาณ แล้วใครสอนสัญชาตญาณให้แก่ทารก ? [II]หากผ้าขาวเปรียบถึงความบริสุทธิ์ของมนุษย์ในทางการกระทำ แนวคิดดังกล่าวถือว่าถูกต้อง เพราะยังไม่มีการกระทำผิดเกิดขึ้น แต่เมื่อยังไม่กระทำผิดก็ไม่สามารถตัดสินได้[III]ต่อให้ปฏิเสธเช่นไรก็ไม่มีผู้ใดที่ปฏิเสธการมีตัวตนของตนเองได้เพราะทันทีที่มีผู้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าตัวเองมีอยู่จริง เท่ากับเขาผู้นั้นกำลังยืนยันว่าตัวเองมีอยู่จริง” เพราะจะปฏิเสธการมีอยู่ของตัวเองได้ต้องยอมรับเสียก่อนว่าตัวเองมีอยู่จริงจึงจะปฏิเสธได้ เพราะหากปราศจากมันมนุษย์จะไม่ใช่มนุษย์ และหากละเลยมันมนุษย์ก็จะไม่ใช่มนุษย์เช่นเดียวกัน และการที่มนุษย์ทุกคนมีสามัญสำนึกเหมือนกันโดยไม่จำกัดเวลา สถานที่ เชื้อชาติ อายุ เพศ ตำแหน่งและสถานะทางสังคม
[1] แน่นอนว่าประพจน์”สามัญสำนึก เป็นสิ่งที่ไม่ผิดพลาด”จำเป็นต้องพิสูจน์อีกชั้นหนึ่งว่าเหตุใดธรรมชาติในแง่นี้ของมนุษย์จึงไม่มีโอกาสผิดพลาด ซึ่งข้อพิสูจน์ที่ผู้เขียนเลือกนำเสนอเป็นประพจน์แบบมีเงื่อนไขคือ หากสามัญสำนึกของมนุษย์ผิดพลาดได้ มนุษย์จะไม่มีจุดร่วมใดๆเลยในเรื่องของศีลธรรมหลัก จะไม่มีใครสามารถกล่าวได้อย่างมีเหตุผลได้อีกว่า บุคคลผู้นั้นหรือผู้นี้ทำสิ่งที่ขัดแย้งกับสามัญสำนึก เพราะสามัญสำนึกของแต่ละคนแตกต่างกัน การฆ่าชีวิตสำหรับคนหนึ่งอาจถูกใช้อ้างว่าที่ทำเพราะสามัญสำนึกบอกให้ทำเช่นนั้น เช่นเดียวกับการปฏิเสธการช่วยชีวิตของอีกคนหนึ่ง เขาสามารถอ้างได้เช่นกันว่า การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไม่ใช่สามัญสำนึกของเขา แต่เพราะมนุษย์มีจุดร่วมกันในเรื่องศีลธรรมหลัก แม้แต่ฆาตกรก็เข้าใจว่าการฆ่าเป็นความผิด พวกเขาจึงยอมรับผิดในสิ่งที่ตนกระทำ อย่างไรก็ตามนี่เป็นกรณีทั่วไป ผู้ที่มีปัญหาทางจิตจึงไม่ครอบคลุมกรณีนี้
image: https://www.vox.com