อำนาจ เป็นหนึ่งในศัพท์การเมืองสมัยใหม่ ซึ่งนักรัฐศาสตร์บางท่านมีทัศนะว่า รัฐศาสตร์-การเมือง คือ ความรู้เพื่อใช้สร้างอำนาจ บ้างกล่าวว่า “คนเราเล่นการเมืองเพื่ออำนาจ” และบ้างก็มองว่า “อำนาจคือวิญญาณของการเมือง” สิ่งที่แยกระหว่างความสัมพันธ์ในเชิงการเมืองของมนุษย์กับความสัมพันธ์ในเชิงอื่นก็คือ “อำนาจ”นี่เอง
หลักฐานและเหตุผล
1.ส่วนที่กล่าวว่า รัฐศาสตร์-การเมือง คือ ความรู้เพื่อใช้สร้างอำนาจนั้น เป็นการยืนยันโดยตัดสินจากการกระทำของพรรคการเมือง,นักการเมือง,และผู้ที่อยู่ภายใต้บรรยากาศแบบการเมือง แม้เขาจะมีอาชีพที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ตาม และเหตุผลที่สอง เงื่อนไขจำเป็นอันขาดไม่ได้สำหรับผู้ปรารถนาในอำนาจก็คือ ความรู้ในเรื่องการเมือง
2.ส่วนที่กล่าวว่า “คนเราเล่นการเมืองเพื่ออำนาจ” เป็นคำพูดทั่วไปที่ไม่ว่าผู้ใดก็มักได้ยินอยู่เสมอ เพราะผู้ที่ยืนยันเช่นนี้คือผู้ที่มองพฤติกรรมของมนุษย์ในมุมการเมือง อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องระมัดระวังต่อประโยคลักษณะนี้ เพราะประพจน์เช่นนี้เข้าข่าย การสรุปเหมารวม (converse accident) หากประโยคตัดสินแบบเหมารวมและให้ความหมายเชิงลบต่อ “อำนาจ” จะทำให้มองว่าอำนาจเป็นสิ่งชั่วร้าย นี่คืออคติบังตา เพราะไม่ใช่ทุกคนที่แสวงหาอำนาจคือคนชั่ว เช่นเดียวกันไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการมันจะเป็นคนดี
3.ส่วนที่กล่าวว่า “อำนาจคือจิตวิญญาณของการเมือง” เป็นประพจน์ที่ความถูกต้องของมันมีสถานะไร้ข้อกังขา เพราะ
[I]ทันทีที่แยกอำนาจออกจากการเมือง การเมืองก็จะไม่ใช่การเมืองอีกต่อไป
[II]สิ่งที่แยกระหว่างความสัมพันธ์ในเชิงการเมืองของมนุษย์กับความสัมพันธ์ในเชิงอื่นก็คือ “อำนาจ” จึงไม่มีนักการเมือง หรือพรรคการเมือง หรือรัฐบาลใดที่เล่นการเมืองโดยไร้เจตนาแสวงหาอำนาจ การทำสงครามก็เพื่อแสวงหาอำนาจ หรือรักษาอำนาจ หรือขยายอำนาจ แม้แต่ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การต่อสู้ของแต่ละประเทศก็ล้วนมีเรื่องของอำนาจที่ตนมีมาเกี่ยวข้อง
ดาฮ์ล โรเบิร์ต กล่าวว่า
“เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ละเลยต่อรูปแบบการกระจายตัวของอำนาจ เช่น การคิดว่าอำนาจกำลังกระจายทั้งๆที่มันยังรวมตัวกันหรือคิดว่ามันยังรวมตัวกันทั้งๆที่มันกระจายตัว เขากำลังทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงโดยที่ไม่รู้ตัว และเมื่อมนุษย์เข้าใจการกระจายอำนาจอย่างไม่ถูกต้อง เขาจะไม่มีวันเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่มาจากอำนาจนั้น”[1]
อำนาจ เครื่องมือ การเมือง
นักวิชาการมีทัศนะที่แตกต่างกันในประเด็นนี้ กลุ่มแรกมีทัศนะว่า การเมือง คือ เครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ กลุ่มที่สองมีทัศนะว่า อำนาจ คือ เครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งการเมือง กลุ่มที่สามมีทัศนะว่าจุดประสงค์ของการเมืองก็เพื่อความผาสุกของสังคมมนุษย์ แต่การจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้จำเป็นต้องมีอำนาจเป็นเครื่องมือ ทัศนะที่ผู้เขียนเลือกคือทัศนะที่สาม
หลักฐานและเหตุผล
1.ส่วนที่กล่าวถึงทัศนะของกลุ่มแรกว่า การเมือง คือ เครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนั้น เป็นมุมมองที่นักวิชาการในสายการเมืองและปรัชญากล่าวถึงทั่วไป จึงขอยกตัวอย่างตำราบางเล่ม อาทิ หนังสือเจ้าผู้ครองนคร(The Prince) โดยนิคโคโล มาเคียเวลลี(Niccolò Machiavelli) ทั้งเล่มของหนังสือเล่มนี้ คือคำสอนเพื่อให้ได้-แสวงหา-ฉกฉวย-รักษา อำนาจ ด้วยการใช้การเมือง และในปัจจุบันมีอีกเล่มหนึ่งที่กำลังโด่งดังคือหนังสือ The 48 Laws of Power เขียนโดย Robert Greene ทั้งสองเล่มมีทิศทางเดียวกัน คือ ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ต่างแต่เพียง กฎ 48 ข้อ ไม่ได้จำกัดผู้อ่านแต่เพียงนักการเมืองหรือนักปกครองเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น และยังมีลักษณะคล้ายหนังสือ How to
ตัวอย่างคำพูดจากส่วนหนึ่งในหนังสือ The Prince
“การสร้างคุณงามความดีอาจเป็นอันตราย แต่การทำให้ดูเหมือนกำลังสร้างความดีงาม กลับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง” และอีกคำพูดหนึ่งในเล่มเดียวกัน “การหลอกลวงราษฎรเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าสิ่งที่ท่านคิด แต่มีเงื่อนไขว่าพวกเขาจะต้องพร้อมใจกันโดนหลอก” อีกประโยคในหนังสือคือ “เพื่อรักษาอำนาจ จงทำคุณงามความดี แต่จงโกหกประชาชน”
ตัวอย่างคำสอนหนึ่งในหนังสือ กฎ 48 ข้อแห่งอำนาจ
ต่อหน้าเป็นเพื่อนลับหลังเป็นสาย, ให้ผู้อื่นทำงานเพื่อท่าน แต่เอาเครดิตไว้กับตัวเอง, อย่าให้มือแปดเปื้อนจงยืมมือคนอื่นทำเรื่องสกปรก
วิพากษ์
[I]อำนาจในลักษณะนี้สอดคล้องกับแนวคิดปัจเจกนิยม ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ตัวของอำนาจจะถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของผู้แสวงหามันเป็นหลักมากกว่าเพื่อสังคม มันคือทองคำสำหรับผู้ปกครอง แต่คือยาพิษและเครื่องประหารสำหรับประชาชน เพราะหากผู้ใช้มีจิตอกุศล คิดแต่ใช้อำนาจเพื่อตนเองอยู่ฝ่ายเดียว ประชาชนจะเผชิญหน้ากับผู้ปกครองจนเกิดปัญหาและวิกฤตโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว แต่ในบางกรณีประชาชนก็อาจถูกหลอกให้เข้าใจว่าควรจะพึงพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ของตนเองในขณะนี้
[II]อำนาจเช่นนี้สามารถปรับให้เข้ากันได้กับแนวคิดเผด็จการ และแนวคิดประชาธิปไตย แต่ไม่สามารถไว้ใจผู้ที่ใช้มันได้เลย เว้นแต่ฝ่ายตรงข้ามจะรู้ถึงจุดอ่อนที่ทำให้ผู้ใช้มันต้องยินยอมเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง เพราะเงื่อนไขของผู้สร้างอำนาจคือ “การแสดง” เพื่อให้ตนได้มาซึ่งอำนาจในช่วงเริ่มต้น
[III]อำนาจเช่นนี้ มีแต่จะทำให้สังคมเกิดความหวาดระแวง เสื่อมเสีย และไม่ศรัทธาต่อกฎหมายและระบบการปกครอง เพราะผู้ใช้อำนาจสามารถเขียนกฎขึ้นเพื่ออำนาจตนเองได้
2.ส่วนทัศนะที่สองซึ่งกล่าวว่า อำนาจ คือ เครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งการเมือง เป็นทัศนะทั่วไปที่วิถีประชาต่างคุ้นเคยข้อความในลักษณะนี้ มุมมองของแนวคิดนี้คือ ต้องสร้างอำนาจก่อน ถึงจะเล่นการเมืองได้ มองว่าการเมืองเป็นขั้นตอนที่สอง และเจตนาของการเล่นการเมืองอาจแตกต่างกันออกไป บ้างก็เพื่อปรับปรุงระบบบางอย่างที่เขาเห็นว่าไม่เหมาะสม บ้างก็เพื่อได้อำนาจเต็ม บ้างก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ณ ที่นี้ในทางอ้อมแนวคิดที่คล้ายคลึงกันกับแนวคิดของอันโตนีโอ กรัมชี่(Antonio Gramsci ) เขาได้นำเสนอทฤษฎีเฮเกโมนี ในหนังสือ Prison Notebook ใจความหลักของทฤษฎีคือ “หากมีแต่อำนาจรัฐเพียงด้านเดียวแต่ไม่มีอำนาจที่ได้จากการยอมรับของประชาชน จะถือว่าชนชั้นปกครองผู้นั้นยังมีอำนาจได้ไม่สมบูรณ์ ชนชั้นปกครองจึงต้องทำให้ประชาชนยินยอมเสียก่อน ทำให้พวกเขาพอใจต่อการขึ้นมาปกครอง จึงจะปกครองได้โดยมิมีผู้ใดทักท้วง หรือต่อให้มีผู้คิดโค่นชนชั้นปกครองผู้นั้นหากเขาชนะใจประชาชนได้ ประชาชนจะปกป้องเขาเองโดยที่เขาไม่จำเป็นต้องทำสิ่งใดเลย[2]
วิพากษ์
[I]การสร้างอำนาจก่อนสร้างการเมืองก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์มักเลือกใช้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าไม่ใช่ “ก้าวขึ้นมาได้อย่างไร” แต่เป็น “จุดจบของพวกเขาเป็นอย่างไร”
[II]เฮเกโมนีอธิบายเพียงกลไกของการสร้างอำนาจสมบูรณ์ และการวางรากฐานอำนาจเป็นชั้นๆ แต่มิได้ปฏิเสธหรือยืนยันอย่างตรงไปตรงมาว่าอำนาจแบบใดควรถูกถอนรากและแบบใดควรให้มีอยู่ต่อไป(แน่นอนว่ากรัมชี่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่แนวคิดของเขากลับให้ประโยชน์กับชนชั้นปกครองในฐานะคัมภีร์ผู้นำ มากกว่าจะเป็นการเปิดโปงและทำลายชนชั้นปกครองในยุโรปเพื่อผู้ฝักใฝ่แนวคิดสังคมนิยมเสียด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุนี้เองผู้เขียนจึงไม่ได้มองว่ากรัมชี่เขียนขึ้นเพื่อโค่นทุนนิยม แม้ว่านั่นเป็นหนึ่งในเจตนาของเขา แต่มองว่าเฮเกโมนีสามารถนำมาใช้เป็นวิธีสร้างอำนาจของชนชั้นปกครองของนายทุน แม้ว่ากรัมชี่จะไม่มีเจตนาให้เป็นเช่นนั้นก็ตาม)
3.ส่วนทัศนะที่สามซึ่งกล่าวว่า จุดประสงค์ของการเมืองก็เพื่อความผาสุกของสังคมมนุษย์ แต่การจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้จำเป็นต้องมีอำนาจเป็นเครื่องมือ มีนักปรัชญาและนักปกครองหลายท่านสนับสนุนแนวคิดนี้ อาทิอริสโตเติล, ฟารอบี, อบูอาลีซีนา, มุลลาศอดรอ, ซัยยิดรูฮุลลอฮ มูซาวี โคมัยนี แตกต่างตรงที่นักปรัชญาอิสลามนิยามความผาสุกว่าหมายถึง “การเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ตามวิถีของพระเจ้า ส่วนอริสโตเติลอธิบายในทำนองว่า การพัฒนาจริยธรรมและนิสัยที่ดีของมนุษย์ให้ประเสริฐนั่นแหละคือความผาสุก
ทัศนะของอริสโตเติล : เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง พวกเขาจึงต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ เพื่อรับมือกับอารมณ์ใฝ่ต่ำของมนุษย์เอง และหลักแห่งความสุขในสังคมจะเกิดขึ้นก็ต่อมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน[3] จากคำอธิบายดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม และกิ่งหนึ่งของอำนาจคือความสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคม และเนื่องด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการเมือง ด้วยเหตุนี้เองการใช้อำนาจจึงเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้ความสุขที่แท้จริงเกิดขึ้น
ทัศนะของนักปรัชญาอิสลาม : ซัยยิด รูฮุลลอฮ มูซาวี โคมัยนี นำเสนอว่า
“โดยเนื้อแท้แล้วอำนาจไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายแต่อย่างใดเลย เพราะสิ่งใดก็ตามที่มีอยู่จริง ย่อมได้รับสัต(ภาวะการดำรงอยู่)หรือภวันต์มาจากสิ่งสัมบูรณ์และเนื่องจากอำนาจเป็นสิ่งที่มีสัต(Being)อำนาจจึงมาจากสิ่งสัมบูรณ์ และเนื่องด้วยกฎ “ทุกสิ่งที่มีอยู่ย่อมเป็นสิ่งที่ดีงาม” อำนาจจึงเป็นสิ่งที่ดีโดยตัวของมันเอง[4] ทว่าเป็นไปได้ที่มนุษย์จะใฝ่หาอำนาจและใช้มันเพื่อสนองความเห็นแก่ตัวของตนเอง ความเห็นแก่ตัวนี่เองเป็นบ่อเกิดแห่งความผิดพลาดและเป็นที่มาของจริยธรรมไม่พึงประสงค์ ด้วยเหตุนี้เองอำนาจจึงถูกเปลี่ยนจากสิ่งที่ดีงามไปเป็นเครื่องมือเพื่อสนองความต้องการของตน[5]ดังนั้นหากอำนาจตกอยู่ในมือของผู้ที่ไม่ขัดเกลาจิตใจตนเอง หายนะจะเป็นสิ่งที่ตามมา[6]
ซัยยิดรูฮุลลอฮ ยังกล่าวอีกว่า
การมองอำนาจในแง่ดีของนักปรัชญาอิสลามมีผลทำให้พวกเขาไม่มองว่าเรื่องการเมืองการปกครองคือเป้าหมาย แต่มองว่าการเมืองเป็นเพียงเครื่องมือ เพื่อทำให้เป้าหมายที่สูงส่งเกิดขึ้นจริง[7]
ในมุมมองของซัยยิดรูฮุลลอฮ ทั้งอำนาจและการเมืองล้วนเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้ความสูงส่งของมนุษย์เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งความสูงส่งดังกล่าวคือการพัฒนามนุษย์ไปสู่การเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ และสิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากผู้ใช้อำนาจไม่ใช่ผู้ที่ขัดเกลาจิตวิญญาณ และต่อสู้กับอัตตาตนเอง ผู้ที่คู่ควรแก่การใช้อำนาจจึงต้องเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเอาชนะอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเองเท่านั้น
วิพากษ์
[I]แนวคิดของอริสโตเติล บอกแต่เพียงหลักผาสุกหรือยูไดโมเดียว่าคือการยึดหลักกึ่งกลาง ซึ่งเรียกกันในอีกชื่อว่า The Golden Mean แต่หลักการนี้ไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่ง
[II] หากจุดกึ่งกลางในมุมมองของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่มีทางที่จะมนุษย์เราจะมีจุดกึ่งกลางร่วมกัน และในความเป็นจริงโดยเฉพาะในเรื่องการเมือง จุดกึ่งกลางของแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน
[III]เงื่อนไขสำคัญที่นักปรัชญาอิสลามได้ระบุไว้คือ ผู้ใช้อำนาจ ต้องเป็นผู้ที่ขัดเกลาจิตวิญญาณตนเอง เป็นเงื่อนไขที่ถูกต้องและสมเหตุสมผล
[IV]มุมมองของนักปรัชญาและนักรัฐศาสตร์อิสลามสอดคล้องกับระบบชะรีอะฮ์ และการขัดเกลาตามจารีตอิสลาม ซึ่งเท่ากับบอกว่าเงื่อนไขสำคัญในการได้มาซึ่งความผาสุกในทัศนะของนักปรัชญาอิสลาม คือ การมีระบบคิดเดียวกันในสังคมเป็นบันไดขั้นแรก แต่แนวคิดนี้อาจถูกวิพากษ์ได้ง่ายจากผู้ที่ไม่ยอมรับในระบบอิสลาม หรือ ผู้ที่เข้าใจไม่ถูกต้องจากระบบอิสลาม ข้อโต้แย้งนี้จะตกไปหากพิสูจน์ได้อย่างถูกต้องว่าวิถีอิสลามเป็นวิถีที่เหมาะสมกับสังคมลักษณะใดด้วยเหตุผลใดบ้าง
[V]เหตุผลที่ผู้เขียนเลือกทัศนะนี้เพราะ ทัศนะดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นของอริสโตเติล หรือ นักปรัชญาอิสลาม ล้วนมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน คือการขัดเกลาตนของผู้ใช้อำนาจ ในมุมมองของผู้เขียนการขัดเกลาจิตใจเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับผู้ที่จะเป็นนักปกครอง และในทางกลับกันเหตุที่ความขัดแย้งในโลกนี้ยังคงดำเนินต่อไปอยู่เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็เพราะผู้ใช้อำนาจมิใช่ผู้ที่เริ่มจากการขัดเกลาจิตใจของตัวเอง แน่นอนผู้เขียนอาจถูกโต้แย้งได้เช่น เราไม่สามารถวัดว่าใครขัดเกลาจิตใจของตนเองได้ง่ายๆ เพราะเรื่องของจริยธรรม เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น พ้นญาณวิสัย คำโต้แย้งนี้สามารถหักล้างได้ นั่นคือ จริยธรรมสามารถพิจารณาได้จากการกระทำ-ทัศนคติ หรือก็คือ การดูทั้งภาคปฏิบัติและภาคความคิดของผู้ใช้อำนาจ ก็จะทำให้เรารับรู้ได้ว่าผู้ใช้อำนาจขัดเกลาตนเองมากน้อยเพียงใด
สิ่งที่คนเราศึกษาเกี่ยวกับอำนาจ
สิ่งที่นักวิชาการศึกษาเกี่ยวกับอำนาจได้แก่ สารัตถะของอำนาจ ลักษณะของอำนาจ รูปแบบของอำนาจ กลไกหรือวิธีการได้มาซึ่งอำนาจ ผู้ที่ได้มาซึ่งอำนาจ และจุดจบของผู้มีอำนาจ และวิธีควบคุม-ทำลายอำนาจและผู้ครอบครองมัน
หลักฐานและเหตุผล
1.ส่วนที่กล่าวถึงหัวข้อนี้ เนื่องจากพบว่าตำราที่เกี่ยวข้องกับรัฐศาสตร์-สังคม จะมีหนึ่งบทที่เปิดประเด็นให้ผู้ค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับอำนาจอยู่เสมอ ตำราเหล่านี้มักนำเสนออำนาจโดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างมันกับการเมือง และหาก “อำนาจ”ปรากฏในบทความเชิงวิจารณ์ มักหมายถึงการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจ บ้างก็เป็นการตำหนิและมีความเห็นเป็นลบ บ้างก็เป็นการชมเชยและมีความเห็นส่งเสริม ตัวอย่างของอำนาจที่มักถูกนำเสนอผ่านสื่อ คือ อำนาจของรัฐบาล และอำนาจของตำรวจ กระแสการวิพากษ์หรือการชมเชยโดยวิถีประชายังทำให้เข้าใจได้ด้วยว่าผู้ใช้อำนาจเป็นกลุ่มที่ประชาชนจับตามองอยู่เสมอ แม้ว่าระดับความรู้ของแต่ละคนในสังคมจะแตกต่างกันก็ตาม แต่ทุกระดับชั้นต่างสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจของผู้มีอำนาจเหมือนกัน
อำนาจในมุมมองของศีลธรรม
โดยเนื้อแท้แล้วอำนาจเป็นสิ่งที่ดีโดยมีเงื่อนไขว่าผู้ใช้อำนาจต้องมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจทั้งตัวผู้ใช้ ทั้งการกระทำ หากไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้ การใช้อำนาจจะมีสถานะแบบสัมพัทธ์ ขึ้นอยู่กับการกระทำและตัวของผู้ใช้ จะกลายเป็นสิ่งที่ดี หรือร้ายก็ได้ ไม่ต่างกับเหล็กที่สามารถนำมาหลอมเป็นขวานเพื่อสร้างบ้าน แต่ก็สามารถใช้มันพรากชีวิตอย่างอธรรม
เหตุผลและหลักฐาน
1.ส่วนที่กล่าวว่า โดยเนื้อแท้แล้วอำนาจเป็นสิ่งที่ดี พิจารณาบนพื้นฐานหลักปรัชญา “ทุกสิ่งที่มีอยู่ล้วนเป็นสิ่งที่ดีโดยธรรมชาติ” เป็นแนวคิดของปรัชญาฮิกมัตมุตะอาลียะฮ์,เพลโต,ซัยยิดรูฮุลลุอฮ มูซาวีโคมัยนี แต่หากไม่ยอมรับทฤษฎีดังกล่าว งานวิจัยทางจิตวิทยาของรอตเตอร์(ซึ่งเราจะกล่าวถึงในส่วนท้ายของงานชิ้นนี้)ก็สามารถใช้เป็นข้อพิสูจน์ได้อีกบริบทหนึ่ง และหากไม่ยอมรับทั้งสองก็ยังเหลือวิถีประชาเป็นข้อยืนยันนั่นคือ หากมนุษย์ไร้อำนาจ พวกเขาไม่อาจทำได้ทั้งสร้างสรรค์และทำลาย
หมายเหตุ
-แนวคิดในหัวข้อนี้อาจถูกแย้งว่านี่เป็นความสับสนระหว่าง “อิสระในการเลือก” กับ “อำนาจ” คำตอบ หากมีอิสระในการเลือก แต่ไม่มีความสามารถจะทำในสิ่งที่ตนเลือก อิสระจะไม่มีความหมาย ดังนั้นอำนาจการทำสิ่งที่ตนเลือก จึงเป็นสิ่งที่มาก่อนอิสระในการเลือก
-แนวคิดในหัวข้อนี้อาจถูกโต้แย้งว่า การที่มนุษย์ไม่สามารถทำทุกสิ่งที่ตนเลือกได้ เช่น ไม่สามารถเปลี่ยนคนตายให้เป็น ไม่สามารถเลือกเกิดได้ ไม่สามารถเลือกที่จะไม่เลือกได้ และไม่สามารถเลือกไม่ตายได้ ย่อมชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่า มนุษย์ไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง หากอำนาจคือความดีตามหลักปรัชญาและแนวคิดเชิงศาสนาที่กล่าวอ้างแล้ว ย่อมหมายความว่า มนุษย์ถูกสร้างมา โดยปราศจากความดีที่สมบูรณ์ คำตอบ การพิสูจน์ว่ามนุษย์เราไม่ได้มีอำนาจในทุกเรื่อง ย่อมพิสูจน์ไปในตัวว่ามนุษย์มีอำนาจในบางเรื่อง เพราะการปฏิเสธว่ามนุษย์ไม่มีอำนาจทั้งหมด ย่อมเป็นการยืนยันว่าพวกเขามีอำนาจบางส่วน และการที่มนุษย์มีอำนาจเพียงบางส่วนก็ไม่ได้หมายความว่าหากปราศจากอำนาจเต็มแล้ว ชีวิตของมนุษย์จะไม่ได้รับความดี หรือไม่สามารถสร้างความดี เพราะสภาวะของโลกใบนี้ไม่ใช่สภาวะที่มนุษย์เริ่มต้นชีวิตด้วยความพร้อมสมบูรณ์ แต่เป็นสถานที่สำหรับเก็บเกี่ยวและพัฒนาความสมบูรณ์ และเพื่อการนั้นความไม่สมบูรณ์จึงเป็นเงื่อนไขตั้งต้น และนั่นคือสภาวะของโลกีย์
2.ส่วนที่กล่าวว่า ผู้ใช้อำนาจต้องมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจทั้งตัวผู้ใช้ ทั้งการกระทำ หากไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้ การใช้อำนาจจะมีสถานะแบบสัมพัทธ์ เพราะหากอำนาจไร้ความชอบธรรม แม้ผู้กระทำจะเป็นคนดี การงานที่มาจากอำนาจอันมิชอบนั้นย่อมไม่ถูกต้อง และหากผู้กระทำเป็นคนเลว หรือมีจิตอกุศล แม้อำนาจจะชอบธรรม ผลของการกระทำที่เกิดจากบุคคลดังกล่าว ก็จะไม่มีค่าในทางศีลธรรม หรือหากมีประโยชน์ก็มีเพียงเล็กน้อย ตัวอย่างแรก คือ การใช้อำนาจต่อผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะไม่อยากให้ตนได้รับความอับอายหรือรู้สึกผิด ไม่ใช่เพราะเป็นหน้าที่ ตัวอย่างที่สอง การประหารชีวิตผู้ต้องหาด้วยน้ำมือญาติของเหยื่อโดยไม่ผ่านการไต่สวนและไม่ผ่านการพิจาณาคดี หรือโดยปราศจากหลักฐานและใช้ความรู้สึกเป็นที่ตั้ง ทั้งสองกรณีแสดงถึงเงื่อนไขของผู้ใช้อำนาจ นั่นคือจะต้องถูกต้องทั้งผู้กระทำและพฤติกรรมของอำนาจ
อำนาจในเชิงจิตวิทยา
ในมุมของจิตวิทยา มนุษย์เราอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีอำนาจ อย่างน้อยที่สุดคนเราจะต้องมีอำนาจต่อร่างกายตนเอง และเมื่อเทียบระหว่างคนกับสถานการณ์ คนที่รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจจะสามารถสร้างผลกระทบและรับมือต่อสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี แม้สุดท้ายมันอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่เขาคาดหวัง หรือไม่ประสบความสำเร็จแบบที่ตั้งเป้าไว้ ทว่าในทางกลับกันผู้ที่เชื่อว่าตนเองทำอะไรไม่ได้ตั้งแต่เริ่มต้น มันจะส่งผลทำให้บุคคลเชื่อว่าเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ฉะนั้นอำนาจจึงเป็นสิ่งจำเป็นทางจิตใจสำหรับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตบนโลกนี้
เหตุผลและหลักฐาน
1.ในส่วนที่กล่าวถึงมุมมองทางจิตวิทยา เป็นงานวิจัยของจูเลี่ยน รอตเตอร์ (Julian Rotter)นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ได้นำเสนอทฤษฎี Locus Control[8] หรือ ความเชื่ออำนาจ เป็นแนวคิดที่เสนอว่า การควบคุมสถานการณ์ของมนุษย์มีผลมาจากความเชื่อของบุคคลเกี่ยวกับอำนาจและความสามารถที่พวกเขามี โดยหากบุคคลมีความเชื่ออำนาจในตน(Internal Locus of Control) เช่น ไม่เชื่อเรื่องโชคดี-โชคร้าย และเชื่อว่าเขาเป็นผู้กำหนดชะตากรรมตนเอง เขาจะสามารถรับมือและควบคุมทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต และสามารถรับมือกับภาวะความตึงเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากบุคคลมีความเชื่ออำนาจนอกตน(External Locus of Control) เขาจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจ และเชื่อว่าตัวเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้ ซึ่งมันจะมีผลทำให้เขาเชื่อว่าตนเองถูกควบคุมจากอำนาจภายนอกจิตใจของตนเอง เขาจะรู้สึกตัวเล็กและทุกสิ่งจะดูใหญ่สำหรับคนที่มีความคิดแบบนี้
โครงของอำนาจเป็นแบบแนวตั้งและแนวนอน
อำนาจมีลักษณะทั้งแนวตั้ง และแนวนอน โดยอำนาจในแนวตั้งพิจารณาจากบนลงล่าง คือ อำนาจแห่งภวันต์จากผู้มีอำนาจสัมบูรณ์ (พระเจ้า)ซึ่งถือเป็นการพิจารณาแหล่งอำนาจสูงสุด และอำนาจแนวนอนพิจารณาจากความสามารถในกระทำที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งสองสิ่ง อย่างไรก็ตามนักปรัชญาบางท่านปฏิเสธอำนาจแนวตั้ง และนำเสนออำนาจแนวนอน และทัศนะที่ถูกเลือกคืออำนาจมีลักษณะทั้งแนวตั้งและแนวนอน และยังมีสัมพันธ์กันอย่างเป็นเอกภาพในทางภวันต์ ซึ่งการยอมรับทั้งสองลักษณะไม่ได้ขัดกันแต่ประการใด
เหตุผลและหลักฐาน
1.ส่วนที่กล่าวถึงอำนาจแนวตั้งพิจารณาจากกฎ
“ภาวะความเป็นไปได้ทางภวันต์(Possible being)[9] จำเป็นต้องเกิดจากสิ่งที่มีภาวะความจำเป็นทางภวันต์[10] (Nessescery Being)”
หากไม่เป็นเช่นนี้ จะมีผลทำให้เกิดวัฏจักรและลูกโซ่ในทางตรรกะ ซึ่งเป็นโมฆะตามการตัดสินของสติปัญญา และหากขืนต่อกฎนี้จะมีผลเท่ากับ การให้น้ำหนักต่อข้อสรุปหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลว่าทำไมถึงให้ข้อสรุปนั้นมีน้ำหนักกว่าข้อสรุปอื่น เช่น การสรุปว่าจักรวาลเกิดขึ้นมาจากความว่างเปล่า ซึ่งผู้ตอบเช่นนี้จะถูกถามสวนกลับไปในทันทีว่า แล้วทำไมจักรวาลต้องเกิดขึ้นมาจากความว่างเปล่า ? จำเป็นอะไรที่มันต้องเกิดจากความว่างเปล่า ? ถ้ามันไม่จำเป็นแล้วทำไมถึงให้น้ำหนักว่าจักรวาลมาจากความว่างเปล่ามากกว่าข้อสรุปอื่น ? จักรวาลที่มีจริง เกิดจากความว่างเปล่าที่ไม่มีจริงได้อย่างไร สิ่งที่ไม่มีอยู่จริงสามารถทำให้สิ่งที่มีเกิดขึ้นจริงได้ด้วยหรือไม่ ? ด้วยเหตุนี้เอง ทุกสิ่งที่มีจริงในโลกแห่งความจริงจึงต้องได้รับ “การมีอยู่” หรือที่ในสำนวนวิชาการใช้คำว่า “ภวันต์” มาจากสิ่งที่จำเป็นต้องมีอยู่จริงตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อกระจ่างในกฎดังกล่าว ขั้นตอนต่อไปคือการพิสูจน์ว่าอำนาจเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง กล่าวคือ เนื่องด้วยอำนาจเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เพราะเจตนารมณ์และการกระทำอันเป็นเงื่อนไขของอำนาจเป็นสิ่งที่มีจริง เราอาจเรียกการกระทำเช่นการกระทำของมนุษย์ว่า “ภาชนะรองรับอำนาจ” ก็ได้ พิจารณาตามหลักการนี้ หากภาชนะมีจริง สิ่งที่อยู่ในภาชนะก็จะต้องมีจริง ด้วยเหตุนี้เองอำนาจจึงมีอยู่จริงและเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ความเป็นมนุษย์ และเมื่อพิสูจน์การมีอยู่ของ “อำนาจ” คำถามที่ตามมาคือ อำนาจที่มนุษย์มี มีที่มาจากแหล่งไหน ? คำตอบคือ อำนาจของมนุษย์ก็มาจากอำนาจของสิ่งสัมบูรณ์ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะอำนาจของมนุษย์มีภาวะความเป็นไปได้ทางภวันต์ มันจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้มาจากสิ่งที่มีภาวะความจำเป็นทางภวันต์ ในกรณีของสรรพสิ่งอื่นๆก็เป็นเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้เอง อำนาจจึงเป็นแบบบนลงล่างในรูปแบบหนึ่ง
2.ส่วนที่กล่าวถึง อำนาจแนวนอน พิจารณาจากความสามารถในการทำให้เจตนาของสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นต่ออีกสิ่ง คนหนึ่งต่ออีกคนหนึ่ง เช่น ไฟแดงกับการหยุดจอดรถ พาสปอร์ตกับการเดินทางเข้าประเทศ ตำรวจกับประชาชนที่ทำผิดกฎหมาย ประชาชนกับผู้นำประเทศ แต่ละสิ่งมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบแนวนอน และผู้อยู่ภายใต้อำนาจกับผู้ใช้อำนาจ และมีลักษณะเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในสิ่งเดียวกันเพียงแต่คนละด้านกัน เช่น นายกรัฐมนตรี หรือ ประธานาธิบดี มีอำนาจสั่งการและกำหนดบทบาทของประชาชนในประเทศ ในทางกลับกัน ประชาชนก็มีอำนาจในการเลือก ตรวจสอบ หรือแม้แต่โค่นล้มผู้นำของพวกเขา ด้วยเหตุนี้เองอำนาจในโลกนี้จึงมีลักษณะเป็นแนวนอนหากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งที่ฐานะในทางภวันต์เท่าเทียมกัน
3.ส่วนที่กล่าวถึงนักปรัชญาที่ปฏิเสธอำนาจแนวตั้งและนำเสนออำนาจแนวนอน คือ มิเชล ฟูโกต์ เพราะฟูโกต์มองอำนาจในเชิงโครงข่ายที่มีบทบาทแบบ “ผู้กระทำ” และมองมนุษย์ว่าเป็น “กรรม” ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะเป็นราชา หรือ ยาจก ซึ่งแนวคิดนี้คือการมองหา “วาทกรรม” ที่ทรงอำนาจพอจะทำให้มนุษย์ทำบางสิ่ง และไม่อนุญาตให้พวกเขาทำบางอย่างได้ อำนาจของฟูโกต์จึงเปรียบเสมือนตาข่ายใยแมงมุมแห่งคำพูด มันคำหนึ่งคำหรือประโยคบางประโยคที่มีมนุษย์เป็นเหยื่อ ทำให้พวกเขาสามารถทำได้บางเรื่องและบางเรื่องก็ทำไม่ได้ เช่น ทำไมสังคมถึงตัดสินว่าการดูร่างกายและสรีระในทางการแพทย์เป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ในสภาวะปกติทั่วไปเป็นกิจกรรมวิตถาร ทำไมการฝ่าไฟแดง ถึงมีค่าปรับทั้งๆที่ถนนก็ไม่ได้เป็นของใคร ทำไมการไม่กักตัวในช่วงที่มีโรคระบาด ถึงถูกตัดสินว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งๆที่การออกนอกบ้านเป็นหนึ่งในวิถีชีวิต จะเห็นว่าแต่ละกรณีมีอำนาจที่บังคับมนุษย์เราปรากฏอยู่ทั่วไปไม่ได้มาจากการสั่งการของกลุ่มคณะที่มีอำนาจ หรือ คนเพียงคนเดียว แต่มาจากตัวของมันเองที่ห้อมล้อมมนุษย์ทุกคน
4.ส่วนที่กล่าวว่า อำนาจมีลักษณะทั้งแนวตั้งและแนวนอน และยังมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นเอกภาพในทางภวันต์ ซึ่งการยอมรับทั้งสองแนวไม่ได้ขัดกันแต่ประการใด เพราะเมื่อพิจารณาถึงอำนาจในทางภวันต์ จะพบว่าภวันต์มีลักษณะไล่ระดับ หมายถึง ภวันต์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีภาวะจำเป็นทางภวันต์ หรือ ภาวะเป็นไปได้ทางภวันต์ ล้วนมีภวันต์เหมือนกัน แตกต่างกันตรงที่ภวันต์ของสิ่งจำเป็นคือที่มาของภวันต์ของสิ่งที่เป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้ในทางภวันต์ทุกสิ่งจึงมีเอกภาพกัน แต่เป็นเอกภาพในลักษณะไล่ระดับ(Gradation of Being)[11]และในเมื่ออำนาจก็มีภวันต์ในลักษณะเป็นไปได้ อำนาจจึงเป็นอีกสิ่งซึ่งมีที่มาจากสิ่งที่มีภาวะจำเป็นในทางภวันต์ นี่คือสิ่งที่มุลลาศอดรอได้นำเสนอแนวคิดความเป็นเอกภาพของสรรพสิ่ง และเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น เราจะยกตัวอย่างดวงอาทิตย์ แสงของดวงอาทิตย์ที่อยู่ใกล้ดาวดวงนี้มีความเข้มข้นมากกว่าแสงที่อยู่ไกล แต่ไม่ว่าจะแสงใกล้หรือไกลก็ล้วนมาจากแหล่งเดียวกันแตกต่างกันที่ระดับความเข้มข้น และแสงที่อยู่ไกลกว่าก็ยังไม่พ้นสภาพจากความเป็นแสงของดวงอาทิตย์ ดังนั้นไม่ว่าจะใกล้หรือไกลล้วนเรียกแสงอาทิตย์เหมือนกัน ภวันต์ตามหลักปรัชญาดังกล่าวก็มีลักษณะเช่นนี้ ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว วัตถุ พืช สัตว์ จนไปถึง มนุษย์ ล้วนได้รับภวันต์มาจากสิ่งที่มีภาวะจำเป็นในทางภวันต์ ต่างตรงที่ระดับความเข้มข้นของภวันต์ แต่การมีอยู่ของทุกสรรพสิ่งล้วนมาจากสิ่งจำเป็นในทางภวันต์เหมือนกัน ซึ่งรวมถึงอำนาจด้วยเช่นเดียวกัน และนี่คือภาวะเอกภาพแบบแนวตั้งซึ่งพิจารณาระดับความเข้มข้นของภวันต์ในแต่ละสรรพสิ่ง ส่วนสิ่งมีภวันต์ที่อยู่ในระดับเดียวกันอย่างเช่นมนุษย์ ก็มีอำนาจในระดับที่สามารถครอบครองได้แตกต่างกัน ซึ่งมันกระจายตัวแบบแนวนอน แต่ในขณะเดียวกันมันก็อยู่กับสิ่งที่มีภวันต์ในระดับเดียวกันเฉกเช่นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เองอำนาจจึงมีรูปแบบแนวนอนด้วยเช่นเดียวกัน
อำนาจในศตวรรษที่ 21
ประเด็นใหม่ๆที่มีการนำเสนอกันเป็นวงกว้างเมื่อพูดถึง“อำนาจ”ในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ อำนาจในเทคโนโลยี,อำนาจในวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาพยนตร์ ดนตรี และสิ่งบันเทิง,อำนาจในภาษา,อำนาจในโซเซียลมีเดีย,อำนาจข่าว ส่วนประเด็นที่มีการนำเสนอกันมาหลายศตวรรษแล้ว และในปัจจุบันก็ยังมีการเสนออยู่ได้แก่ อำนาจในการเมือง อำนาจในเศรษฐกิจ อำนาจทางจิตวิญญาณ อำนาจในการทหารและการสงคราม อำนาจในหน้าที่ อำนาจจากความเชี่ยวชาญ และอำนาจของสิ่งของเป็นต้น
1.อำนาจในเทคโนโลยี ปรับปรุงมาจากคติ ความรู้คืออำนาจ (Knowledge is a power) ของฟรานซิสต์เบคอน คือ การศึกษาอำนาจที่เกิดมาจากเทคโนโลยี ซึ่งเป็นมุมมองใหม่ที่เสนอว่า ชาติที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าย่อมมีอำนาจมากกว่า ซึ่งความพยายามอยู่เหนือชาติอื่นในแง่ของเทคโนโลยีเป็นอุดมคติของแทบตจะทุกองค์กรหรือชาติ และมันยังมีผลทำให้ปริมาณอำนาจของชาติที่พัฒนาเทคโนโลยีมากกว่ามากกว่าชาติอื่นๆ ในขณะเดียวกันชาติที่พัฒนาเทคโนโลยี ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศคู่แข่งพยายามก้าวข้ามพวกเขาไปด้วยเช่นเดียวกัน โดยประเด็นเรื่องอำนาจจากเทคโนโลยีเริ่มมีการนำเสนอกัน เมื่อมีการยิ่งจรวดอวกาศไปดวงจันทร์ จนทำให้ชาติอื่นๆเร่งพัฒนาความรู้เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าด้วยการเดินทางสู่อวกาศ และในปัจจุบันประเทศที่แข่งขันกันในเรื่องเทคโนโลยีชาวงศตวรรษที่ 19-20 ก็กลายมาเป็นประเทศที่มีอำนาจมากกว่า ด้วยเหตุนี้เองเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศ,สังคม,องค์กรมีอำนาจมากขึ้น หากจะกล่าวในอีกรูปแบบหนี่ง ความรู้ คือ อำนาจนั่นเอง และในทางกลับกันประเทศที่ละเลยต่อเทคโนโลยี มีผลทำให้เกิดความล้าหลังขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และผลของความล้าหลังนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไร้อำนาจด้วยเช่นเดียวกัน
ในมุมประวัติศาสตร์ นักวิจารณ์ตะวันตกมีความเห็นเกี่ยวกับการทดสอบระเบิดอะตอมของสหภาพโซเวียตในปี 1949 แตกต่างกัน กลุ่มแรกรู้สึกแปลกใจต่อความก้าวหน้าของสหภาพโซเวียต เนื่องด้วยช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สอง โซเวียตสามารถผลิตเหล็กได้มากกว่าอังกฤษถึง 50 เปอร์เซ็น และยังสามารถผลิตพลังงานได้เพิ่มสูงขึ้น[12] จากนั้นทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรความรู้ก็เริ่มเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับว่าเป็นขุมอำนาจ การยิงจรวด Sputnik จึงถือเป็นสาส์นและหลักฐานการเพิ่มพูนอำนาจของสหภาพในยุคสมัยนั้น นักรัฐศาสตร์ในยุคนั้นจึงได้ข้อสรุปว่า “เทคโนโลยีและความรู้สามารถเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มอำนาจให้แก่ประเทศได้
2.อำนาจทางวัฒนธรรม ทำไมคนเราถึงยอมซื้อกระเป๋า น้ำหอม เสื้อผ้าราคาแพง ทั้งๆที่จุดประสงค์ของมันก็คือการสวมใส่ไม่ต่างกับเสื้อผ้าราคาถูก ทำไมครีมหน้าขาวถึงเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทั่วไปต้องมี ทั้งๆที่สีผิวของมนุษย์แตกต่างกันโดยธรรมชาติ ทำไมอาหารญี่ปุ่น อาหารตะวันตกถึงขายได้ทั่วโลก ทำไมอาหารไทยจึงเป็นที่นิยมในหลากหลายประเทศ ทำไมความคิดหรือหลักปรัชญาชีวิตของวัฒนธรรมหนึ่งถึงสามารถถ่ายทอดและครอบงำอีกวัฒนธรรมได้ คำตอบคือ เพราะประเทศเหล่านั้นมีอำนาจในทางวัฒนธรรมมากกว่าประเทศเป้าหมาย พวกเขาวางสินค้าในตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดความคิด ตลาดอุปโภคบริโภค แต่ก่อนจะผ่านการขาย จำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้ประเทศหรือกลุ่มเป้าหมายคิดและเชื่อว่าพวกเขาจำเป็นต้องมีสิ่งนั้นและการต้องมีมันเป็นสิ่งปกติ(Norm)เสียก่อน มันอาจผ่านมาด้วยเนื้อหาในเพลง ความดึงดูดของตัวเอกในภาพยนตร์และบทที่ถูกเขียน หนังสือ,มังงะ,อนิเมะ เมื่อซึมซับวัฒนธรรมจนยอมรับ ความต้องการบริโภคสิ่งที่วัฒนธรรมนั้นผลิตจะตามมา และเมื่อมันเกิดขึ้นประเทศผู้เผยแพร่วัฒนธรรมก็จะมีอำนาจเหนือประเทศผู้กลืนกินวัฒนธรรม และนี่คือการขยายอำนาจในรูปแบบใหม่แทนที่การล่าอาณานิคม
นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับอำนาจจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชิ้นหนึ่งชี้ว่า วัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการขยายอิทธิพลในรัฐศาสตร์และในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในแง่การเผยแพร่วัฒนธรรม การตอบรับวัฒนธรรม การโจมตีวัฒนธรรม ล้วนเป็นปัจจัยที่สามารถทำให้ประเทศหนึ่งแข็งแกร่งขึ้นหรืออ่อนแอลงได้[13]
พิจารณาจากสภาพความคล่องตัวของการส่ง-รับข้อมูลในปัจจุบันซึ่งมีสถานะไร้พรหมแดน ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การเผยแพร่วัฒนธรรมไม่ว่าจะกล่าวออกมาโดยตรงหรือทางอ้อม มีผลทำให้ผู้เผยแพร่ได้รับผลประโยชน์จากการยอมรับวัฒนธรรมของตนโดยชาติอื่น อาจจะกล่าวได้ว่า อำนาจแห่งวัฒนธรรมนับเป็นอำนาจที่น่ากลัวไม่แพ้อำนาจในสงคราม เพราะหากยอมรับในวัฒนธรรมหากมีสงครามเกิดขึ้นโอกาสที่ประชาชนคู่สงครามจะฝักใฝ่ในวัฒนธรรมของผู้เผยแพร่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้
3.อำนาจทางภาษา เป็นปัจจัยในการเพิ่มโอกาสและอำนาจให้แก่ประเทศด้วยเช่นเดียวกัน โดยภาษาที่ส่งผลต่อปริมาณอำนาจในปัจจุบัน คือ ภาษาอังกฤษ แม้จะไม่เปิดเผยแต่การกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ย่อมเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าของภาษาไปโดยปริยาย มันคือ ความพยายามทำให้ประเทศอื่นๆต้องมาเจรจาด้วยภาษาของตน พยายามเรียนรู้อารยธรรมที่มาจากภาษาตน พยายามเข้าใจกฎกติกาของตน ทำให้สินค้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้าใจภาษาของตนเองสามารถกระจายได้ทั่วโลก ซึ่งอำนาจเช่นนี้นับเป็นความได้เปรียบทางความรู้ในอีกด้านหนึ่ง เพราะเมื่อต้องศึกษาภาษาที่ถูกทำให้กลายเป็นสากล ย่อมมีผลทำให้ผู้ศึกษาต้องศึกษากฎกติกา เนื้อหา ข้อมูล ในแบบที่เจ้าของภาษาต้องการไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ยังมีอำนาจในอีกแบบหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในภาษาคือ อำนาจการควบคุมสังคมให้สามารถทำบางสิ่ง และไม่อาจทำบางสิ่ง อาทิ คำว่า“พุทโธเลี่ยน-มุสซี้-คริสตี้ ซึ่งใช้เรียกศาสนิกชนของสามศาสนาในเชิงเสียดสี สามารถสร้างความเกลียดชังให้แก่ผู้ที่ถูกเรียกได้ และทำให้คำพูดทั้งหมดของผู้ที่ถูกเรียกขานเช่นนั้นกลายเป็นคำพูดที่ถูกตัดสินว่าสุดโต่ง แม้ความจริงอการเหยียดลักษณะนี้อาจเป็นอคติส่วนตัวของผู้ใช้คำก็ตาม,คำว่า “ผู้มีความเชื่อต่อพระเจ้า”ในอาเซอร์ไบจาน สะท้อนความหมายเชิงเสียดสีและหมายถึง ”คนโง่” หรือ “งมงาย”ร้อยละ 75.7 ชาวอาเซอร์ฯเป็นผู้ที่ระบุว่าไม่มีศาสนา[14] คำว่า Economy กับ Business บนเครื่องบินเป็นการจัดแบ่งชนชั้นในสังคมด้วยความสามารถในการซื้อ
แต่ละคำพูดมีอิทธิพลในการกำหนดบทบาทให้คนหนึ่งคนสามารถทำบางสิ่งและไม่อาจทำบางสิ่งได้ มีบทบาททำให้ทัศนคติสำหรับคนหนึ่งคนเป็นเรื่องที่ดูผิด,น่าละอาย ไม่เหมาะสมไม่ควรทำ แต่กับอีกคนหนึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เหมาะสม และควรกระทำ แม้จะเป็นสิ่งเดียวกัน คำพูดจึงมีอำนาจในเชิงผู้กระทำ และมนุษย์เป็นผู้ถูกกระทำ แม้ว่ามนุษย์จะเป็นผู้สร้างคำพูดขึ้นมาเองก็ตาม เหตุผลเพราะในภาษามีบางคำที่มีคติถูกฝังไว้ และคติที่นำสู่การสร้างคำเหล่านั้นเป็นผลมาจากบรรทัดฐานที่วิถีประชายุคหนึ่งกำหนดว่าอะไรควรผิด อะไรควรถูกนั่นเอง
4.อำนาจโซเซียลมีเดีย เป็นอำนาจที่ผู้มีความคิดแบบเก่ามักละเลยและไม่ให้ความสำคัญ บ้างมองว่ามันไม่มีผลต่อชีวิตของพวกเขามากนัก แต่นี่แหละคือสาเหตุที่ทำให้เสถียรภาพของพวกเขาระเหยไปในอากาศ โซเซียลกลายเป็นขุมอำนาจในยุคใหม่ด้วยพลังจากจารีตและวิถีประชา(Mores)ทั้งสองสิ่งถูกยกระดับกลายเป็นพลังไร้พรหมแดน มีผลในการทำลาย บุคคล-รัฐบาล หรือแม้แต่ผู้ทรงอำนาจ มาเฟียหรือผู้มีอิทธิพล ในยุคนี้พวกเขาจะถูกสั่นคลอนได้ด้วยอำนาจจากโซเซียลมีเดีย และในทางกลับกันก็สามารถเพิ่มอำนาจให้แก่ฝ่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากวิถีประชาได้ด้วย หากเข้าใจว่า “ต้องแสดงอย่างไรให้ประชาชนหันมาสนับสนุน”
อำนาจข่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับอำนาจโซเซียลมีเดีย จึงขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ
ปัจจัยการก่อตัวของขุมอำนาจในลักษณะนี้ได้แก่ จำนวนการถูกใจ จำนวนการแชร์ จำนวนการทวีต แฮ็ชแท๊ก จำนวนคอมเม้นต์ มันจะผลักดันทำให้สิ่งที่ผู้คนดันกลายเป็นกระแสพัดไปตามทิศทางที่พวกเขาปรารถนาอยากให้เป็น หรืออย่างน้อยก็สามารถเพิ่มจำนวนผู้มีความอุดมการณ์ร่วม หรือ ทำให้ผู้เห็นต่างมีพื้นที่น้อยลง
อำนาจในโซเซียมีเดียเมื่อขยับแล้ว มันไม่ได้ต้องการเสนอความจริงเสมอไป แต่ต้องการให้เชื่อ ต้องการให้มีกระแส และไม่ได้ต้องการให้ผู้คนระลึกได้ว่าสิ่งที่ตนกำลังสนใจอยู่นั้นมีความสำคัญในระดับไหน เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นและดับอย่างรวดเร็ว สามารถทำให้คนผิดดูถูกและทำให้คนถูกดูผิดได้ และทำให้คนถูกที่ถูกทำให้ผิดกลับมาถูกต้องได้เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างกรณีการโค่นล้มรัฐบาลด้วยอำนาจแห่งโซเซียลมีเดีย คือ ปรากฏการณ์ Arabspring ในประเทศไทยคือ คดีเสือดำ แต่ก็มีตัวอย่างความโกลาหล และปรากฏการณ์แยกแยะระหว่างจริงเท็จไม่ได้ คือ สงครามข่าวในซีเรีย ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างใช้พลังโซเซียลในการสร้างความเป็นตัวร้ายให้ฝ่ายตรงข้าม
อำนาจในโซเซียลมีเดีย สามารถสร้างอย่างเป็นระบบ เช่น ปฏิบัติการกระจายข้อมูลและทำให้ประชาชนยอมรับในข้อมูลนั้น เรียกว่า Information Operation หรือ IO ซึ่ง IO ไม่ได้มีแค่รัฐบาล แต่ทุกฝ่ายที่ต้องการให้ทิศทางของวิถีประชาพัดไปตามทิศทางที่ตนประสงค์ล้วนมี IO เหมือนกัน ในระดับโลก IO ขนาดใหญ่คือ การเลี้ยงข้อมูลให้รู้สึกว่าประเทศโลกที่สาม คือประเทศที่ชั่วร้าย ล้าหลัง ก่อการร้าย Islamophobia,Holocaust,หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ความเป็นผู้ช่วยให้รอด ผู้นำเสนอความทันสมัยของตะวันตก ก็เป็นการกระจาย IO ของพวกเขาด้วยเช่นเดียวกัน
นักวิชาการบางท่านเรียกอำนาจโซเซียลมีเดียว่า “อำนาจใหม่ของประชาชน” ซึ่งเป็นอำนาจที่สามารถใช้ต่อร่องกับรัฐบาล หรือ ผู้มีอำนาจได้อย่างสะดวกและง่ายดาย และเรียกปรากฏการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ว่า New Democracy Movement[15] แนวคิดนี้น่าสนใจแต่ก็มีช่องโหว่อยู่และข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย
5.อำนาจในการเมือง เป็นอีกปัจจัยที่ในปัจจุบันก็คงยังคงมีการศึกษากัน อาทิ การแบ่งขุมอำนาจเป็นสามแหล่งเพื่อถ่วงดุลกัน อย่างตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ การวางโครงสร้างแบบสาธารณรัฐ การวางโครงสร้างแบบสภาผู้แทน ล้วนเป็นแนวคิดที่เสนอเพื่อจัดสรรอำนาจในทางการเมือง ปริมาณของแต่ละองค์กรมีทั้งภาครัฐ และภาคอื่นๆก็เป็นสิ่งที่อยู่ในประเด็นอำนาจทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน
มีหลายปัจจัยที่ทำให้อำนาจทางการเมืองของประเทศหนึ่งมีปริมาณมากกว่าอีกประเทศ เช่น ภูมิศาสตร์ของประเทศดีกว่า คุณภาพชีวิตและการศึกษาที่ดีกว่า ทรัพยากรของประเทศที่มีมากกว่า สิ่งเหล่านี้มีผลในการเพิ่มอำนาจในทางการเมืองแก่ประเทศทั้งสิ้น
ตัวอย่างของประเทศที่มีอำนาจเพราะภูมิศาสตร์ คือ ประเทศอิหร่านซึ่งมีช่องแคบฮอร์มูซเป็นจุดยุทธศาสตร์ การสั่งปิดช่องแคบนี้มีผลทำให้เกิดอุปสรรคการขนส่งน้ำมัน มีผลทำให้ภาวะเศรษฐกิจของผู้ที่ส่งออกน้ำมันผ่านช่องแคบนี้เป็นอัมพาต การถือครองช่องแคบนี้จึงเป็นสิ่งที่สามารถทำให้อิหร่านมีอำนาจการต่อรองด้วยความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ด้วยเหตุนี้เองภูมิศาสตร์ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะเป็นตัวชี้วัดอำนาจของแต่ละประเทศ
สิ่งที่มีผลต่ออำนาจในทางการเมืองมากที่สุด คือ ระดับความรู้ของประชาชนต่อการเมืองของประเทศตนเอง ความรู้ของประชาชนต่อการเมืองในประเทศตนเองแบ่งออกเป็นสามระดับ
ระดับที่หนึ่ง ประชาชนไม่มีความรู้เรื่องการเมืองของประเทศตนเอง เช่น ผู้คนที่ยังอยู่อาศัยในป่า ชนเผ่าที่ปลีกตัวจากสังคมใหญ่
ระดับที่สอง ประชาชนมีความรู้ต่อการเมืองในประเทศของตนเอง แต่ไม่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงการเมืองของประเทศตนเอง เช่น ประเทศที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์
ระดับที่สาม ประชาชนมีความรู้ต่อการเมืองในประเทศของตนเอง และมีส่วนร่วมในการเมืองด้วย
ประชาชนในระดับแรกไม่สามารถขยายอำนาจของประเทศตนเองได้ เนื่องจากไม่มีความรู้ในเรื่องการเมือง อำนาจจึงไม่อาจขยายขึ้นด้วยฝีมือของประชาชน ระดับที่สองก็ไม่สามารถทำได้ด้วยฝีมือประชาชน แต่สามารถขยายได้ด้วยฝีมือของชนชั้นปกครอง แต่ก็เจอปัญหาแบบเดียวกับระดับแรก ระดับที่สามประชาชนมีโอกาสขยายอำนาจให้แก่ประเทศตนเอง เพราะมีความรู้ในเรื่องการเมืองและมีความสามารถในการตัดสินใจในทางการเมือง การขยายอำนาจจึงกระทำผ่านทั้งสองทางคือ ภาครัฐ กับ ภาคประชาชน
ระดับนอกเหนือความคาดหมาย คือ ระดับ 0 คือระดับที่ประชาชนคิดว่าตนมีความรู้อย่างถูกต้องต่อการเมืองในประเทศของตนเอ แต่ที่จริงแล้วไม่รู้ เรียกได้ว่า ไม่รู้ว่าไม่รู้ ในระดับนี้การมีความรู้อย่างไม่ถูกต้องต่อการเมืองในประเทศตนเอง อาจหมายถึงหายนะในระดับชาติ ความแตกแยก ความอคติ จนนำไปสู่สงครามกลางเมือง ในอีกแง่หนึ่งการทำให้ประชาชนในประเทศหนึ่ง มีความรู้ในเรื่องการเมืองแบบระดับ 0 ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่เลวร้ายและถือเป็นโอกาสในการแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของตนเหนือประเทศอื่น สงครามตัวแทน สงครามการแบ่งเชื้อชาติในประเทศเดียวกัน เป็นสิ่งที่สามารถใช้ยืนยันได้ถึงข้อเท็จจริงนี้
6.อำนาจในเศรษฐกิจ เป็นอีกปัจจัยที่ยังคงมีการศึกษาและมีทฤษฎีที่หลากหลายในปัจจุบัน ในอดีตสงครามเกลือในยุคสงครามกลางเมืองอเมริกา การครอบครองน้ำมัน น้ำตาล และสนธิสัญญาการค้าทั้งชั่วคราว หรือแบบผูดขาดสินค้าล้วนมีผลต่อปริมาณอำนาจของแต่ละประเทศทั้งสิ้น ตัวอย่าง การสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน,วิกฤติต้มยำกุ้ง,วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
ประเด็นที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนขั้วอำนาจในทางเศรษฐกิจจะมีผลอย่างไรต่อโลกบ้าง มีงานวิจัยที่ระบุว่า ในอนาคต จะมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจจากอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น (ส่วนแบ่ง GDP จากร้อยละ 51 ในปี 2000 เป็นร้อยละ 21 ในปี 2040) เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ส่วนแบ่ง GDP จากร้อยละ 22 ในปี 2000 เป็นร้อยละ 63 ในปี 2040)[16]
7.อำนาจทางจิตวิญญาณ เป็นอำนาจที่มองไม่เห็นแต่มีความทรงพลังมากกว่าอำนาจขุมอื่น เป็นขุมอำนาจที่มีความสำคัญและมีบทบาทในการกำหนด-ชี้ชะตาชาติและกลุ่มคน เพียงแต่ขุมอำนาจนี้ไม่สามารถวัดปริมาณหรือเจาะจงได้อย่างชัดเจน แต่ก็สามารถสรุปลักษณะสำคัญของอำนาจประเภทนี้ได้ 5 ประการได้แก่
[I] ตัวผู้นำและการปกครอง หากวิธีการปกครอง และนักปกครองหลอมรวมเข้ากับความเสื่อมเสีย ความเห็นแก่ตัว ความไร้ระเบียบ หรือถูกทำให้ดูเป็นเช่นนั้น อำนาจทางจิตวิญญาณก็ไม่อาจถือเป็นขุมอำนาจของประเทศนั้นได้ แต่หากผู้นำมีภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งทางจิตวิญญาณ หรือมีบุคลิคภาพที่ประชาชนให้ความนิยม ผู้นำและการปกครองนั้นก็จะเป็นขุมอำนาจหนึ่งของประเทศ ตัวอย่างเช่นผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างเหล่าศาสดา นักการศาสนาเช่นซัยยิดรูฮุลลอฮ มูซาวี โคมัยนี ซัยยิดอาลีคาเมเนอีย์ ผู้นำสูงสุดอิหร่าน,มหาตมะคานทีผู้นำอินเดียในอดีต,วลาดีเมียร์ ปูติน
[II]เจตนารมณ์และเป้าหมายร่วมของประชาชน หากประชาชนมีจิตวิญญาณต่อค่านิยมหนึ่งร่วมกัน ค่านิยมดังกล่าวจะมีผลและมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของประเทศ และสามารถแผ่ขยายอิทธิพลของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ความภาคภูมิใจต่อชาติ เป้าหมายร่วมในทางศาสนา หรือจารีตบางประการ เช่น ความคิดว่าชาวรัสเซียเป็นชนชาติที่อดทน มีผลทำให้ประชาชนต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศ,ความเชื่อเรื่องการเสียสละของอิมามฮูเซน(อ) บุตรชายศาสดามูฮำหมัด(ศ)มีผลทำให้คติ”ช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่ เป็นศัตรูผู้กดขี่”กลายเป็นนโยบายหลักในเรื่องมนุษยธรรมของอิหร่าน ความหวังต่อการมาของอิมามมะฮดี(อ)มีผลทำให้อิหร่านสามารถฝ่าฝันการคว่ำบาตรรนานเกือบสี่สิบปี และยังกลายเป็นทัศนคติในเชิงบวก เป็นแรงจูงใจในการสร้างโลกที่ดีขึ้น[17],จารีตความตรงระเบียบวินัยและความตรงต่อเวลาของชาวญี่ปุ่น มีผลทำให้พวกเขาได้รับความไว้วางใจในการร่วมมือทำงาน
[III]ขวัญกำลังใจของประชาชน เป็นสิ่งที่มีอำนาจในการกำหนดบทบาทของประเทศ กล่าวในอีกลักษณะหนึ่งคือ ความรู้สึกอยากอยู่ในประเทศของตนเอง หรือ มีความหวังต่อประเทศของตนก็เป็นปัจจัยในการขยายอำนาจของประเทศได้เช่นเดียวกัน
[IV] ความเป็นเอกภาพของประชาชน หากประชาชนมีความกลมเกลียวและเป็นเอกภาพ จะทำให้รัฐบาลมีความพร้อมในการพัฒนาอำนาจมากยิ่งขึ้น
[V] ระดับความรู้ของประชาชนในเรื่องการเมือง ถือเป็นขุมอำนาจสำหรับประเทศด้วยเช่นกัน เพราะหากประชาชนมีความรู้ต่อเรื่องการเมืองอย่างเพียงพอ จะทำให้พวกเขาสามารถสนับสนุนประเทศของตน หรือรู้ว่าต้องสนับสนุนประเทศของตนได้ด้วยวิธีใดบ้าง
8.อำนาจในการทหารและการสงคราม คือ ศักยภาพและความสามารถในการรบ แผนยุทธการ กลศึก จำนวนทหาร จำนวนอาวุธ การมีอาวุธทำลายล้างสูง เช่น นิวเคลียร์ ขีปนาวุธพิสัยใกล้-ไกล รวมไปถึงการมีอาวุธสงครามล้ำสมัย ล้วนเป็นปัจจัยในการเพิ่มอำนาจให้แก่ประเทศผู้ผลิตอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพียงแต่อุปกรณ์เพื่อเพิ่มอำนาจในลักษณะนี้ มักถูกนำมาใช้เพื่อประกาศศักดามากกว่านำมาใช้จริง ตัวอย่าง บลิทซ์ครีค หรือ สงครามสายฟ้าแลบของพรรคนาซี คือปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธีของกองทัพเยอรมันนาซี WII ซึ่งเป็นผสานการใช้แสนยานุภาพทั้งภาคพื้นดิน และอากาศเข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากการปูพรมทิ้งระเบิดโดยเครื่องบินรบก่อนที่จะใช้รถถังยานเกราะบุกเข้าโจมตีตามอย่างรวดเร็ว จนทำให้ฝ่าตรงข้ามตั้งตัวและพ่ายแพ้ในที่สุด[18]
สิ่งที่มักเข้าใจผิดคืออำนาจในทางการทหารบางครั้งไม่จำเป็นต้องหมายถึง ปริมาณของทรัพยากรมนุษย์เสมอไป แต่คือวิธีการใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพและสามารถใช้เป็นอำนาจในการต่อรองต่อประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ต่อให้อีกฝ่ายมีจำนวน 100 คน แต่หากฝ่ายตรงข้ามมีจำนวน 10 คนที่มีความรู้และผ่านการฝึกฝนมากกว่า มีอาวุธที่ทันสมัยมากกว่า และมีความเข้าใจต่อการทำศึกสงครามมากกว่า ก็มีโอกาสที่จะมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายได้
ในตำราพิชัยสงครามซุนวู และตำราพิชัยสงครามขงเบ้ง สะท้อนให้เห็นว่า หลักการทหารสำคัญในอดีตเพื่อรักษาอำนาจ หรือ ยึดครองอำนาจ ไม่ว่าจะกลศึกรุก-รับ-ถอย-หนี ล้วนมีสามปัจจัยพื้นฐานได้ เป้าหมาย-วิธีการ-ทรัพยากร ทำสามปัจจัยเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ
หลักจากเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ทฤษฎีนักการทหารล้วนพัฒนามาจากทฤษฎีที่ได้มาจากการค้นคว้าการทำศึกในยุคนโปเลียนและยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ปัญหาคือ ยุทธศาสตร์ที่เรียนรู้จากยุคนโปเลียน ไม่สามารถปรับใช้กับการทำสงครามที่สภาพเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การไม่ปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้เข้ากับศตวรรษที่ 21 และยึดตำราหรือหลักการเก่า ย่อมหมายถึงความเสี่ยงของการสูญเสียอำนาจในทางทหารได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างระหว่างยุทธศาสตร์การทหารในอดีตกับในปัจจุบัน ตรงที่ในปัจจุบันจะคำนึงถึงผลลัพธ์และการป้องกันความผิดพลาดมากกว่า เพราะยุคข้อมูลข่าวสารสามารถลดความชอบธรรมของฝ่ายหนึ่งฝ่ายในประเทศคู่สงครามได้อย่างรวดเร็ว
ในปัจจุบันเกณฑ์ในการพิจารณามีสองรูปแบบใหญ่ๆได้แก่ Maximalist กับ Minimalist หากใช้หลักเกณฑ์ผิดจะมีผลต่ออำนาจทางการทหารของประเทศไปโดยปริยาย
Maximalist คือ เกณฑ์การพิจาณาในสภาพสงครามที่มีความซับซ้อน และไม่สามารถใช้หลักการเดียวครอบคลุม หรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์สงครามได้ เราอาจเรียกง่ายๆได้ว่า “หลักเกณฑ์พิจารณาสงครามพันทาง” ผู้บัญชาการอาจประเมินและเลือกทำสงครามแบบเบ็ดเสร็จ (Conventional Warfare) หรือสงครามแบบกองโจร(Guerilla Warfare)หรือสงครามข่าวสาร(Information Warfare)
Minimalist คือเกณฑ์การพิจารณาในสภาพสงครามที่ไม่ได้ซับซ้อนเท่ารูปแบบแรก ผู้บัญชาการสามารถหาหลักการสงครามที่เหมาะสมในการทำสงคราม[19]
ตัวอย่าง ผู้นำประเทศที่ใช้เกณฑ์ผิดวิธีจนนำสู่การล่มสลายของรัฐบาลตนเองได้แก่ ซัดดัม ฮุสเซน ที่ใช้เกณฑ์ Maximalist ในการทำสงครามแบบเบ็ดเสร็จกับประเทศอิหร่านเป็นเวลา 8 ปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และท้ายที่สุดทำให้อิรักกลายเป็นประเทศรัฐล้มเหลว และสูญเสียอำนาจเนื่องจากการใช้งบประมาณที่มากเกินไปในการสงคราม
ตัวอย่าง การรบแบบกองโจรของกลุ่มก่อการร้ายไอเอส แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากสูญเสียอิทธิพลทางข่าวสาร จนนำมาสู่การสูญเสียอำนาจและการล่มสลายของกลุ่ม
ตัวอย่าง การทำสงครามเบ็ดเสร็จในสงครามหกวัน(Six-Day War)ระหว่างอิสราเอล กับ อิยิปต์ จนทำให้อิสราเอลสามารถยึดดินแดนอาหรับได้เป็นจำนวนมาก อาทิ ฉนวนกาซา คาบสมุทรซีนาย เยรูซาเล็ม ที่ราบสูงโกลาน โดยเหตุที่พ่ายแพ้เพราะความผิดพลาดของข่าวสาร และการจัดทัพวางตำแหน่งผิดกระบวน
แต่ละตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงการสูญเสียอำนาจเพราะการเลือกเกณฑ์การตัดสินใจที่ผิดพลาดในการทำสงคราม และถ้าหากจะกล่าวในทางกลับกัน การเลือกเกณฑ์อย่างถูกต้องก็จะกลายเป็นตัวชี้วัดการขยายอำนาจไปโดยปริยาย แต่ไม่สะท้อนว่าอำนาจที่ขยายออกไปชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม
9.อำนาจในหน้าที่ คือ อำนาจที่แต่เดิมบุคลากรหรือกลุ่มคนไม่ได้มีอำนาจนั้นมาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่เพราะรับหน้าที่และตำแหน่งบางตำแหน่ง พวกเขาจึงมีอำนาจเหนือคนบางกลุ่มในบางเรื่อง เช่น ตำรวจก่อนเป็นตำรวจไม่มีสิทธิจับกุมใคร แต่เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ก็จะมีอำนาจพิเศษที่ได้มาจากตำแหน่งที่ตนรับ หรือ คณะรัฐบาลเดิมก่อนเป็นรัฐบาลก็คือกลุ่มคณะที่มีเจตนารมเฉพาะต่อการเมือง แต่ไม่มีอำนาจในการทำให้นโยบายของตนเกิดขึ้นจริง แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลพวกเขาจะมีอำนาจในการทำให้นโยบายของพวกเขาถูกนำมาบังคับใช้
ในอดีตปัญหาที่เกิดจากการใช้อำนาจในหน้าที่เกิดจากการสะสมอำนาจไว้ในแหล่งเดียว จนทำให้ผู้รับหน้าที่ถือครองอำนาจสามารถเขียนและควบคุมกฎหมายเพื่อรักษาอำนาจที่ตนถือครองไว้ได้ การตรวจสอบผู้ใช้อำนาจในลักษณะนี้จึงเป็นเรื่องยาก และหากผิดพลาดมันจะหมายถึงความตายของผู้ตรวจการ ฌ็อง ฌัก รูโซ มองเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้นำเสนอทฤษฎีสัญญาประชาคม(Social Contract)เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่อธิบายถึงการหั่นอำนาจอธิปไตยออกมาเป็นสามส่วน(Separation of Power) ได้แก่ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ รากเหง้าของความคิดนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ รัฐศาสตร์ของอริสโตเติล งานเขียนของจอฮ์น ล๊อค ในศตวรรษที่ 17 และในหนังสือจิตวิญญาณแห่งกฎหมายของมองเตสกิเออในศตวรรษที่ 18 แทนที่จะไปกระจุกอยู่ที่จุดเดียว การหั่นอำนาจเช่นนี้จะมีผลทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจของแต่ละฝ่าย และสามารถตรวจสอบอำนาจของแต่ฝ่ายได้อย่างอิสระ และนี่คือสิ่งที่คล้ายคลึงกับระบบการเมืองในยุคปัจจุบัน แต่คำถามคือเมื่อหั่นอำนาจให้เล็กลงปัญหาจะหมดไปหรือไม่ คำตอบไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะปัญหาที่ตามมาคือ หากมีใครสักคนมีอิทธิพลเหนือทั้งสามฝ่าย ถึงแม้ภาพนอกจะดูเหมือนมีอำนาจถ่วงดุลกัน แต่สุดท้ายอำนาจก็จะไปกระจุกตัวอยู่ที่คนเดียวอยู่ดี และยังมีอีกปัญหาที่ตามมาคือการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบเพื่อผลประโยชน์ของตนเองซึ่งในปัจจุบันเราเรียกมันว่า”คอรัปชั่น” แม้จะอำนาจจะถูกหั่นไปแล้ว แต่การหั่นมันเป็นชิ้นเล็กไม่ได้ขจัดปัญหาคอรัปชั่นให้หมดไป การทุจริตและการหาช่องทางแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ของตนคือการสร้างอิทธิพลให้ผู้ครองตำแหน่งและเปลี่ยนผู้รับหน้าที่ให้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในระดับชุมชน พวกเขาก็คือมาเฟียที่ชาวอิตาลีเรียกขาน เพียงแต่เป็นมาเฟียที่รับตำแหน่งหน้าที่ในทางการเมือง การสั่งเก็บสส.คู่แข่ง การโจมตีคู่แข่งด้วยข่าวสาร การโจมตีคู่แข่งด้วยการใช้กฎหมาย ล้วนเป็นพยานการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ และเป็นช่องโหว่ของอำนาจอธิปไตยที่ได้มาจากระบบ สส สจ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และผู้ที่มีตำแหน่งและเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการปกครอง แต่ก็แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเป็นคนเลว เมื่อมองจากการแย่งชิงอำนาจในระดับชุมชนของพวกเขาแล้ว แทบไม่มีความต่างกับการต่อสู้ในระบบฟิวดัล หรือระบบชนชั้นสูงในสมัยอดีตเลย นี่คือปัญหาของอำนาจที่ได้จากหน้าที่ในปัจจุบัน เกราะป้องกันของอำนาจนี้คือการที่ทุกคนสามารถอ้างได้ว่า”ทำเพื่อประชาชน”
บางคนกล่าวว่าการมีฝ่ายค้าน ก็เป็นเครื่องมือที่ดีชนิดหนึ่งในการตรวจสอบรัฐบาล แนวคิดนี้ใช้ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่จะต้องไม่ลืมว่าในบางกรณีการตรวจสอบของฝ่ายค้าน ก็ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อตามหาการใช้อำนาจในทางที่ผิดเสมอไป การมีสื่อมาตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง ย่อมพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าแค่ฝ่ายค้านไม่เพียงพอ และในเหตุการณ์ฝ่ายค้าน ค้านรัฐบาลไม่ใช่เพื่อทำให้ประเทศดีขึ้น แต่มีจุดประสงค์เพื่อบั่นทอนอำนาจรัฐบาล และเข้าไปนั่งในตำแหน่งนั้นแทน และหากพิจารณากันในแง่ของความเป็นจริง ไม่ได้มีแค่ระบบการปกครองที่เป็นแหล่งกำเนิดอำนาจในหน้าที่แต่เพียงระบบเดียว สายบังคับบัญชาของระบบอื่นก็มีการมอบอำนาจในหน้าที่ให้แก่บุคลากรของตน ไม่ว่าจะเอกชนหรือภาครัฐ ซึ่งไม่ใช่ทุกที่จะมีกลุ่มถ่วงดุลแบบฝ่ายค้านเหมือนรัฐบาล ดังนั้นฝ่ายค้านจึงใช้ได้แค่ในระบบใหญ่ๆ แต่ไม่ครอบคลุมทุกระบบ
อีกระบบหนึ่งที่เป็นปัญหาในหลายศตวรรษและยังเป็นปัญหาอยู่ในยุคปัจจุบัน คือ ระบบอำนาจอุปถัม หรือ ระบบตอบแทนบุญคุณด้วยอำนาจในหน้าที่ ระบบนี้จะสกัดผู้มีความสามารถและมีทักษะการใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ และล๊อกตำแหน่งไว้ให้แก่ผู้ที่ติดหนี้บุญคุณ หรือ ถูกนับเป็นพวกพ้อง ซึ่งพฤติกรรมการเมืองเหล่านี้ มีแหล่งที่มาจากความเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเอง
ซัยยิด รุฮุลลอฮ มูซาวี โคมัยนี ก็มองเห็นปัญหานี้เช่นเดียวกัน และไม่ได้มองว่าปัญหาเกิดจากอำนาจในหน้าที่[20] แต่มันเกิดจากผู้ใช้อำนาจไม่ขัดเกลาจิตใจ และขาดศีลธรรมจึงทำให้พวกเขาเลือกใช้อำนาจที่ได้มาในทางที่ผิด ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชกาล แม้แต่พ่อแม่ก็สามารถกลายเป็นเผด็จการในบ้านตัวเอง แม้แต่เจ้านายก็กลายเป็นเผด็จการในที่ทำงานได้ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่อัตลักษณ์ของอำนาจ แต่อยู่ที่ตัวของผู้ใช้อำนาจ ทางแก้ที่แท้จริงคือการแก้ไขคุณธรรมของนักปกครอง ซึ่งมันคล้ายคลึงกับสิ่งที่ท่านอาลี บิน อบีฏอลิบ (อ) เคยวางมาตรการไว้ในยุคสมัยของท่านในจดหมายเหตุมาลิก อัชตัร
10.อำนาจจากความเชี่ยวชาญ จะเกิดจากการสะสมประสบการณ์และความรู้ของบุคคล เช่น หมอ นักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกต์ นักประวัติศาสตร์ นักปรัชญา ครู โปรแกรมเมอร์ เป็นต้น แต่เดิมหมอไม่มีอำนาจสั่งให้คนไข้ทำหรือไม่ทำบางอย่าง แต่เพราะความรู้และความเชี่ยวชาญที่หมอมี หมอจึงมีอำนาจเหนือคนไข้ต่อร่างกายของพวกเขา แต่แน่นอนอำนาจแบบนี้จะต้องเกิดจากการยินยอมของทั้งสองฝ่าย หรือ บรรทัดฐานทางสังคมตัดสินโดยอัตโนมัติแล้วว่า เมื่อหมอพูดเราต้องฟัง
ปัญหาของอำนาจนี้คือ การวินิจฉัยผิดพลาด,การใช้ชื่อเสียงจากความเชี่ยวชาญของตนอย่างมิชอบ,ภาวะความเชี่ยวชาญเสื่อมสภาพ,การใช้ความเชี่ยวชาญของตนทำในสิ่งผิดกฎหมาย
อนึ่งการวินิจฉัยผิดพลาด อาจมีผลต่อความชอบธรรมในการใช้อำนาจของบุคคลกลุ่มนี้ และความผิดเพียงเสี้ยวเดียวอาจหมายถึงชีวิตของผู้อื่น สิ่งที่ควรระมัดระวังที่สุดจึงเป็นความรอบคอบและความละเอียด แต่หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการสอบสวนเพื่อพิจารณาว่า ความผิดพลาดดังกล่าวเป็นความผิดพลาดแบบประมาท หรือความผิดพลาดแบบไม่ประมาท เพราะการตัดสินแบบเหมารวมต่อผู้เชี่ยวชาญในสังคม จะมีผลในทางลบส่งกลับมาสู่สังคมนั้น
ปัญหาการใช้ชื่อเสียงในทางมิชอบ มีลักษณะเดียวกันกับตรรกวิบัติกับการอ้างความเห็นผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่ในคราวนี้ผู้เชี่ยวชาญที่ถูกอ้างถึงคือตัวเขาเอง มันคือการโกหกหรือรับบางสิ่งด้วยการอ้างความเชี่ยวชาญของตนเอง โดยปราศจากหลักฐานหรือผลการทดลองอย่างแน่ชัด
ภาวะความเชี่ยวชาญเสื่อมสภาพ เกิดจากความชราภาพของผู้เชี่ยวชาญ หรือ การทำงานผิดปกติของอวัยวะที่ผู้เชี่ยวชาญใช้ อาจมีผลทำให้เกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัย
การใช้ความเชี่ยวชาญของตนทำในสิ่งผิดหรือผิดกฎหมาย เช่น การเปิดคลินิกทำแท้งผิดกฎหมาย,การขายข้อสอบผิดกฎหมาย,การผลิตยาเสพติด,การแฮ็กข้อมูล ต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของการใช้ความเชี่ยวชาญของตนเองไปในทางที่ผิด ซึ่งบางครั้งอาจมีผลต่อสังคม หรือชีวิตของปัจเจก และเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้เฝ้ามองต้องจับตาดูอยู่เสมอ
11.อำนาจของสิ่งของ เป็นการศึกษาระหว่างความสัมพันธ์ของสิ่งของกับบุคคลหรือสังคม โดยดูว่าสิ่งของอะไรบ้างที่มีอิทธิพล และมีบทบาทต่อชีวิตของพวกเขาทั้งในเชิงบวกและลบ
สิ่งของที่มีอำนาจต่อมนุษย์ได้แก่ปัจจัยทั้งสี่ และสิ่งของที่ถูกทำให้เป็นปัจจัยที่ห้าได้แก่ เครื่องมือสื่อสาร มันสามารถใช้จัดลำดับชนชั้นทางสังคม หรือทำให้สังคมยอมรับและค่อยๆกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการอยู่รอดในสังคม ,สิ่งของที่ไม่จำเป็นต่อการมีชีวิตแต่สังคมยุคปัจจุบันไม่ยอมให้มันขาดหายไป คือ ความบันเทิงจากภาพยนตร์ รายการเกมโชว์ เพลงดนตรี
สิ่งของเหล่านี้สามารถสร้างความผ่อนคลายให้แก่ผู้ครอบครอง แต่ก็สามารถสร้างค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องการครอบครองมัน อาจกลายเป็นภาระหนี้สิ้นสำหรับผู้ที่ลุ่มหลงมัน จนไปถึงขั้นทำให้ทิศทางชีวิตของบุคคลและสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ ในทางกลับกันมันสามารถใช้สร้างรายได้ และกลายเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ใช้มันอย่างถูกต้อง มันจึงเป็นดาบสองคมแม้เราแทบจะไม่เห็นคมดาบของมันก็ตาม สิ่งที่ควรใช้เป็นเกณฑ์อยู่เสมอเมื่อต้องการสิ่งของ คือสติและหิริโอตับปะแห่งการครอบครอง
สิ่งของที่ไม่ใช่สิ่งของโดยตรง ได้แก่ เกมส์,ตัวตนในสังคมออนไลน์ ก็มีอำนาจและอิทธิพลต่อปัจเจกเช่นเดียวกัน และในบางครั้งอำนาจของมันมีความรุนแรงจนทำให้ปัจเจกให้ความสำคัญกับโลกเสมือนมากกว่าโลกความเป็นจริง หรือทำให้ปัจเจกก่ออาชญากรรมเพื่อพัฒนาตัวตนในโลกแห่งเกมส์ มันจึงเป็นขุมอำนาจแบบใหม่ที่มีคุณค่ามากพอแก่การศึกษา
เราอาจอธิบายถึงสาเหตุที่ผู้คนปล่อยให้สิ่งของมีอำนาจเหนือตนได้ด้วยทฤษฎี ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs)[21]
-จุดเริ่มต้นของการปล่อยให้สิ่งของมีอำนาจต่อตัวคน อาจเกิดจาก ความต้องการทางกายภาพ หรือการเชื่อว่า สิ่งของเหล่านั้นจำเป็นสำหรับตอบสนองต่อความต้องการทางกายภาพ แน่นอนว่ามนุษย์เราไม่อาจอยู่รอดหากไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการประเภทนี้ แต่ปัญหาคือความพยายามตอบสนองมันมากเกินไป
-สิ่งของที่ตอบสนองต่อความมั่นคงและความปลอดภัย สามารถมีอำนาจและอิทธิพลต่อการกระทำและพฤติกรรมของบุคคล ซึ่งความต้องการประเภทนี้ถือเป็นแรงจูงใจที่ดีในการทำให้บุคคลแสวงหาสิ่งของบางประเภทเพื่อทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนปลอดภัยความต้องการความมั่นคงปลอดภัย รวมถึง ความมั่นคงปลอดภัยส่วนบุคคล,ความมั่นคงปลอดภัยทางการเงินสุขภาพที่ปกติความเป็นอยู่ที่ดี,ความรู้สึกวางใจ-การรับประกัน การช่วยเหลือ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือความเจ็บไข้ได้ป่วย
-ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ เป็นอีกแรงจูงใจในการครอบครองบางสิ่ง มนุษย์ต้องการที่จะรู้สึกเป็นเจ้าของและถูกยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นในระดับกลุ่มสังคมใหญ่หรือสังคมเล็กก็ตาม อาจมองได้ว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้ โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ที่มีระบบถูกใจ เป็นที่นิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะมันสามารถทำให้ผู้ใช้รู้สึกได้รับความรัก และได้ครอบครองภาพลักษณ์ในแบบที่ตนต้องการให้ผู้อื่นเห็น
–ความต้องการความเคารพนับถือ ก็เป็นอีกแรงจูงใจที่ทำให้บุคคลแสวงหาสิ่งของบางอย่าง เพื่อแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่า ตนสมควรได้รับการเคารพนับถือ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ สไตล์การใช้ชีวิต ในด้านหนึ่งจึงถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการในแง่นี้ของมนุษย์
–ความต้องการความสมบูรณ์ เป็นเหตุผลที่ทำให้บางส่วนหลงใหลโลกเสมือนจริง และยอมเสียเงินเพื่อมันมากกว่าจะเสียเงินเพื่อโลกแห่งความเป็นจริง
Virtual World หมายถึง โลกเสมือนจริง เป็นมโนทัศน์ที่มีมานานก่อนจะมีคอมพิวเตอร์ เมื่อก่อนคือโลกแห่งจินตนาการที่บันดาลโดยนักเขียนนิยายซึ่งพูดถึงโลกต่าง”มิติ” เช่น The Chronicles of Narnia(1950) และเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์ โลกเสมือนจริง ก็ถูกสร้างขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ โดยโลกจำลองแรก คือ เกมส์ Habtat พัฒนาโดย Chip Morning Star และ Joseph Romero ในปี 1985 ตัวละครในโลกเสมือนจริง ถูกเรียกว่า Avatar ซึ่งก็คือ “ตัวตนที่สอง” เป็นตัวแทนเข้าไปอยู่ในโลกมิติใหม่ อวตารก็คือ Username ที่เราใช้ใน เกมส์ออนไลน์,Skype,Facebook,Tweet,Msn และโซเซียลมีเดียอื่นๆ มันพัฒนามาพร้อมๆกับเครือข่ายออนไลน์ ผู้ใช้สามารถกำหนดตัวตนของตัวเองได้ ทั้งลักษณะของตัวละคร อาชีพ และภารกิจ เราจะเห็นความก้าวหน้าของเรื่องเหล่านี้ผ่านเกมส์แนว MMORPGs ที่ดังๆอย่าง Ragnarok,Trickster เนื่องด้วยเกมส์เหล่านี้นำเสนอมุมชีวิตด้านเดียว คือ สงคราม-การผจญภัย บริษัทใหญ่ๆ จึงสร้างเกมส์อีกแบบที่ตอบสนองชีวิตในหลายๆด้าน เช่น The Sim เพื่อเสนอให้ผู้ใช้เล่นบทบาท Second Life ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
มีการศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้ Avatar 0kdข้อมูลจากการวิจัยของ Nowak และ Rauh ปี 2006 จากการศึกษาชาวอเมริกัน พบว่า คนส่วนใหญ่จะเลือกใช้ Avatar ที่บ่งบอกเพศชัดเจนมากกว่า[22] และจากงานวิจัยของ Ducheneaut ปี2009 ชี้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เลือกใช้ Avatar แบบแรกที่โปรแกรมเลือกให้ (Default) และยังระบุว่า ยิ่งต่างโลกมีลักษณะเป็น Second Life มากเท่าไหร่ (ครอบคลุมชีวิตมนุษย์ในหลายๆด้าน) ผู้คนจะยิ่งเลือก Avatar ที่มีความสวย-หล่อ ตามแฟชั่น หรือ ตามโลกความเป็นจริงมากเท่านั้น[23]
ส่วนของ Avartar ที่คนให้ความสนใจมากที่สุดคือ “ผม” ไม่ว่าจะเป็นสีผมหรือทรงผม เหตุผลเพราะร่างจริงของเราปรับอะไรไม่ได้มาก จากข้อมูลนี้ สะท้อนความจริงข้อหนึ่งคือ ผู้ใช้ Avartar จะพยายาม เปลี่ยนสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไได้ในโลกแห่งความเป็นจริงให้มีความสมบูรณ์ขึ้น โดยรักษาความเป็นตัวเองไว้ โปรแกรม”ตัดต่อรูป” เปลี่ยนสีผิว เพิ่มดั้งจมูก จึงขายดี เพราะมนุษย์มีกลไกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Self Enhancement คือ “ความพยายามที่จะทำให้ตัวเองมีลักษณะที่ดี หรือ หาทางทำให้ตัวเองดีขึ้น” (งานวิจัยของ Messinger และคณะ 2009) แต่ก็มีอีกกลไกหนึ่งเรียกว่า Self-Verification คือ “กลไกที่พยายามคงตัวเราให้เป็นตัวเรามากที่สุด ไม่ใช่คนอื่น” โดยสรุปแล้ว Avatar ของทุกคน วางอยู่บน 2 เกณฑ์ใหญ่ๆ คือ ถ้าไม่พยายามทำให้ดูดีกว่าตัวจริง ก็พยายามรักษาความเป็นตัวเอง[24]
หากพิจารณาตามหลักบุคลิคภาพทั้งห้า BIG FIVE 5 ได้แก่ Surgency(ความเปิดเผยตัวเอง)Agreeableness (ความเป็นมิตร)Conscientiousness (ความสามารถในการจัดการกับตัวเอง) Emotional Stability (ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์) Openness (ความสามารถในการเปิดรับประสบการณ์)จะพบว่า
-สาย Extrovert เป็นพวกชอบสังสรรค์ จะสร้าง Avartar ที่ดูเหมือนตัวเองมากกว่า
-สาย Introvert เป็นพวกชอบสันโดษ จะสร้าง Avartar ที่ดูดีกว่าตัวจริง
– Emotional Stability เป็นอารมณ์ต่ำ จะสร้าง Avartar ที่ดูดีกว่าตัวจริง
-คนที่มี Agreeableness สูง หรือ มียอด Follow สูง จะสร้าง Avatar ให้มีหน้าตาแบบที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับ
-คนที่มี Openness สูง จะสร้าง Avatar ในแบบแปลกๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่คิด
-คนที่มี Conscientiousness Avatar ของคนประเภทนี้ไม่ได้มีผลจากบุคลิกของพวกเขา
-คนที่ Self Esteem สูง หรือ เห็นคุณค่าในตัวเองมาก จะสร้าง Avartar ที่คล้ายตัวเองมากกว่า
จากงานวิจัยสำรวจผู้ใช้ออนไลน์ทั่วโลกของ Ducheneaut และคณะ ทำให้เราได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าผู้คนมักสร้าง Avatar หรือ ตัวตนในโลกออนไลน์ ให้ออกมาเป็น”ตัวเองในอุดมคติ” และนั่นก็เพื่อตอบสนองความต้องการความสมบูรณ์ ตัวตนที่สองและโลกออนไลน์จึงมีอำนาจต่อตัวตนแรก เพราะมันคือตัวตนแห่งความสมบูรณ์ที่ผู้ใช้ต้องการจะเป็น และถ้าหากตัวตนที่สองสมบูรณ์แบบมากเกินไป อาจส่งผลทำให้เกิดปรากฎการณ์โพรทีอุส(Proteus Effect) เดิมเป็นชื่อเทพองค์หนึ่งของกรีกที่สามารถแปลงร่างได้หลายแบบ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เป็นการอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของ USER ให้เป็นไปตามบุคลิกภาพของ Avatar ตัวเอง ที่จะเปลี่ยนตัวตนในจริงให้เหมือนตัวตนในโลกเสมือน
นอกจากโลกออนไลน์ยังมีแหล่งอื่นที่สามารถตอบสนองความต้องการจะเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ของมนุษย์ได้แก่ วิถีการเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ในมุมมองของศาสนา และปรัชญา
ในศาสนาอิสลาม การพัฒนาสู่การเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ คือ การประสบความสำเร็จในทางความรู้ และในทางปฏิบัติ ได้แก่การแสวงหาแก่นแท้ และการขัดเกลาจิตใจ และต่อสู้กับอัตตาของตนเอง จนสามารถครอบครองความสมบูรณ์ทางจิตวิญญาณในทุกระดับ ภายใต้กระบวนทัศน์แบบอิสลาม[25]
ในศาสนาพุทธ ความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ หมายถึง การที่มนุษย์รู้จักใช้สติ ปัญญารักษาคุณธรรมต่าง ๆ ไว้ในการ ดำเนินชีวิต และการหมดทุกข์คือการกลายเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์[26]
นอกจากนี้ยังมีแนวคิด “มนุษย์ผู้สมบูรณ์”ในเชิงปรัชญาซึ่งจะขอนำเสนอในหัวข้อ “มนุษย์ผู้สมบูรณ์เชิงเปรียบเทียบ หากมีโอกาส
ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอีกหลายประเด็น หลักการใช้อำนาจ ทฤษฎีอำนาจ จรรยาบรรณของผู้ใช้อำนาจ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าศึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจและค้นคว้าเกี่ยวกับอำนาจในหลากหลายแง่มุม อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้ว อำนาจอยู่รอบตัวเรา อยู่ที่เราจะรู้หรือไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง
[1] Dahl Robert A,Modern Political Analysis,P24
[2] ผู้เขียนได้อธิบายแนวคิดของกรัมชี่ในบทความ”อ่านการเมืองด้วยเฮเกโมนี”ผู้อ่านที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความนี้
[3] A little History of philosophy,Nigel Warburton,P21
[4] ชัรฮ์ดุอาซะฮัร,ซัยยิดรูฮุลลอฮมูซาวี โคมัยนี (ภาษาฟารซี)หน้า 109-113
[5] ซอฮีฟะฮ์อิมาม เล่ม 18 หน้า 206
[6] อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน
[7] หนังสือ วิลายัตฟะกีฮ์,ซัยยิดรูฮุลลอฮ มูซาวี โคมัยนี หน้า 52
[8] https://en.wikipedia.org/wiki/Locus_of_control
[9] สิ่งที่เดิมมันไม่เคยมีอยู่ แต่เป็นไปได้ที่จะมีอยู่จริง เช่น มนุษย์ สัตว์ โลก เป็นต้น
[10] สิ่งมีอยู่ที่ภาวการณ์มีอยู่ของสิ่งนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และไม่สามารถสมมติได้ว่า เคยไม่มีช่วงเวลาหนึ่ง และมามีในเวลาถัดไป หรือ เคยมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง และไม่มีหลังจากนั้น
[11] https://www.iep.utm.edu/sadra/#SH3b
[12] War Economy and Society 1939-45 ,Milward Alan
[13] Culture and Power in International Relations, Mohammad Hoossein Jamshidi and Farzaneh Naghdi,P 22-24
[14] Dentsu Communication Institute Inc, Japan Research Center (2006)
[15] จากบทความ อำนาจของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คคืออำนาจของประชาชน,อัฎธิชัย ศิริเทศ
[17] หนังสือ กิยาม วะ แองเกลอบอิมามมะฮ์ดี อาซ นะซัร ฟัลซาเฟะฮ์ตอรีค(การลุกขึ้นยืนหยัดและการปฏิวัติของอิมามมะฮ์ดีในมุมมองของปรัชญาประวัติศาสตร์,มุรตะฏอ มูเฏาะฮฮารี หน้า 13-14
[18]https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%8B%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%84
[19] William Thomas Johnsen, Douglas C. Lovelace Jr., Steven Metz, James Kievit, Douglas V. Johnson, The Principles of War in the 21st Century: Strategic Considerations
[20] เราได้กล่าวไปแล้วในช่วงตอนต้น
[21] A Theory of Human Motivation,A. H. Maslow P370-386
[22] งานวิจัย The Influence of the Avatar on Online Perceptions of Anthropomorphism, Androgyny, Credibility, Homophily, and Attraction
[23] งานวิจัย Body and mind: A study of avatar personalization in three virtual worlds
[24] งานวิจัย On the relationship between my avatar and myself
[25] หนังสือ มนุษย์ผู้สมบูรณ์ ,มุรตฎอ มุเฏาะฮารี
[26] หนังสือ คู่มือมนุษย์ พระธรรมโกศาจารย์