กลุ่มตาลีบันมีความคิดแนว ดิวบันดียะห์ (Deobandiyya) ในด้านนิติศาสตร์และจะยึดปฏิบัติตามนิกายฮานาฟี (Hanafi) ในแง่ของเทววิทยาจะปฏิบัติตามอบูมันศูร มาตุรีดี (Abu Mansour Matridi) และในระดับหนึ่งจะโน้มเอียงไปยังอัชอารียะห์ (Ash’ari) และแนวทางของซูฟี (Sufi) ซึ่งสามารถมองเห็นได้ในพฤติกรรมของพวกเขาบางคน เนื่องจากผู้นำตอลีบันส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนดิวบัน ( Deoband) และกำลังเผยแพร่ความคิดนี้ในอัฟกานิสถาน
บทนำ
ในปี ค.ศ.1994 ระหว่างสงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถาน กลุ่มคน 30 คนที่เรียกว่ากลุ่มตาลีบันได้ปรากฏตัวขึ้นในภูมิภาคกันดาฮาร์ และในเวลาอันสั้น ก็ได้พัฒนาเป็นกองกำลังที่มีสมาชิกหลายพันคน และภายในสิ้นปี ค.ศ. 1994 นักรบของกลุ่มตาลีบันมีจำนวนประมาณ 35,000 คน
ตาลีบันอาศัยในช่วงวุ่นวายภายในและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ภายในสองปีสามารถโค่นล้มรัฐบาลของบุรฮานุดดีน รับบานี (Burhanuddin Rabbani) ในกรุงคาบูลในปี 1996 และได้จัดตั้งรัฐบาลตอลีบัน ภายใต้ชื่อ “เอมิเรสต์อิสลามอัฟกานิสถาน” นำโดยมุลลา มุฮัมมัด โอมาร์
บางประเทศในภูมิภาค เช่น ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ให้การยอมรับและสนับสนุนรัฐบาลตอลีบันทันที กลุ่มตอลีบันกีดกันเด็กผู้หญิงจากการศึกษาและสตรีในงานสังคมสงเคราะห์ สังหารหมู่ชีอะห์ชาวเมืองฮาซารา และเป็นปรปักษ์กับทาจิกิสถานและซุนนีอุซเบก
กลุ่มตอลีบันได้ปกครองอัฟกานิสถานมากกว่าร้อยละ 90 ตั้งแต่ปี 2539 ถึง 2544 จนถึงเหตุการณ์ 9/11 ในสหรัฐอเมริกา ผู้ร้ายหลักในเหตุการณ์ครั้งนี้คืออัลกออิดะห์ และเนื่องจากผู้นำอัลกออิดะห์ โอซามา บิน ลาเดน อยู่ในอัฟกานิสถาน ทำให้สหรัฐฯ บุกเข้าประเทศและโค่นล้มกลุ่มตอลีบัน แต่กลุ่มตอลิบานไม่เคยหายตัวไปและสามารถยึดครองดินแดนได้มากขึ้นทุกวัน ตามแผนที่ในปี 2017 ประมาณร้อยละ 50 ของอาณาเขตของอัฟกานิสถานอยู่ในมือของกลุ่มตอลีบัน และความน่าเชื่อถือและตำแหน่งของรัฐบาลฮามิด คาร์ไซ และอัชราฟ กานี ลดลงทุกวันและเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มตอลีบันมากขึ้น
สหรัฐอเมริกาซึ่งทุ่มงบประมาณมหาศาลสำหรับการปรากฏตัวในอัฟกานิสถาน แต่ล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายและอ่อนแอลงทุกวัน นั่นคือเหตุผลที่เขาได้วางแผนสันติภาพกับกลุ่มตอลีบันในวาระการประชุมของเขา และประกาศว่าเขาจะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคมถึง 31 สิงหาคม ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของตอลีบันที่มีความมุ่งมั่นที่จะควบคุมและยึดครองกรุงคาบูลอีกครั้ง ภายในไม่ถึงหนึ่งเดือนต่อมาพวกเขามาถึงกรุงคาบูลจากกันดาฮาร์ และด้วยการหลบหนีของประธานาธิบดีอัชราฟ กานี แห่งอัฟกานิสถาน เมื่อกลางเดือนสิงหาคม รัฐบาลก็ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มตอลีบัน
ที่มาของการเกิดตอลีบัน
หลังการรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียต องค์กรศาสนาของปากีสถานที่นำโดยเมาลาวี ฟัฏลุเราะห์หมาน (Maulvi Fazlur Rehman ) แห่งเผ่าปัชตุน (Pashtun) ได้รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันในปากีสถาน ด้วยเหตุนี้ เยาวชนชาวอัฟกันจากเผ่าปัชตุน (Pashtun)จำนวนหนึ่งเข้าไปศึกษาในโรงเรียนศาสนาขององค์กรนี้ และศึกษาอัลกุรอานและชารีอะห์อิสลามโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ มารดาหลายคนที่สูญเสียสามีได้ส่งบุตรไปเรียนที่โรงเรียนศาสนาเหล่านี้เพื่อจะได้ไม่ขาดช่วงการศึกษา โรงเรียนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการของปากีสถาน และลักษณะสำคัญของโรงเรียนเหล่านี้คือการสอนแบบแนวคิดดิวบันดี (Deobandi) ที่มีความคิดอคติของชนเผ่าปัชตุน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้จำนวนโรงเรียนที่ชายแดนปากีสถานเพิ่มขึ้นอย่างมาก และความช่วยเหลือทางการเงินที่หลั่งไหลเข้ามาจากซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลอดจนการบริจาคของสาธารณะชนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเติบโตอย่างรวดเร็วและเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงเรียนเหล่านี้ ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่านี้มีอคติทางศาสนาที่ชัดเจนและจัดการกับวิธีการที่รุนแรงด้วยความคิดแบบใดก็ตามที่ขัดต่อความเชื่อของพวกเขา สำหรับโรงเรียนเหล่านี้ ญิฮาดหมายถึงการต่อสู้กับความคิดหรือความเชื่อใดๆ ที่ขัดกับความเชื่อของพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจึงรีบกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นผู้ปฏิเสธ (กาเฟร) [1]
เมาลาวี ซามีอุล ฮักก์ (Mawlawi Samiul Haq) หนึ่งในผู้นำของญามาอัต อุมมัตอิสลาม (Jamiat Ulema-e-Islam) เน้นย้ำว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้บัญชาการญิฮาดต่อต้านโซเวียตในพื้นที่ปัชตุนของอัฟกานิสถานผ่านการศึกษาที่โรงเรียนฮักกานี [2] เป็นผลให้โรงเรียนเมาลาวี ซามีอุล ฮักก์ กลายเป็นศูนย์ฝึกอบรมหลักของกลุ่มตอลีบันในเวลาต่อมา ในปี ค.ศ. 1999 รัฐมนตรีตอลีบันอย่างน้อยแปดคนได้รับการฝึกอบรมที่โรงเรียนดาร์อัลอูลูม ฮักกานี ซึ่งมีเมาลาวี ซามีอุล ฮักก์ เป็นเจ้าของโรงเรียน [3]
การปรากฏตัวของตอลิบาน
ในปี 1994 มุลลา โมฮัมหมัด โอมาร์ พร้อมด้วยเพื่อนร่วมฝึกอีก 30 คน ได้โกรธเคืองต่อความตะกละของผู้รุกรานที่รีดไถเงินจากประชาชนบนถนนของจังหวัดกันดาฮาร์ และได้ปราบปรามสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จนี้ทำให้นักเรียนและผู้ที่พูดภาษาปัชตุนจำนวนมากสนับสนุนมุลลาโอมาร์ [4] ถัดจากนั้นมุลลาโอมาร์และพันธมิตร 200 คนของเขาโจมตีฐานทัพทหารของพรรคอิสลามฮิกมัตนิยาร์ (Hekmatyar Islamic Party) และยึดฐานทัพทหารที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค อาวุธ 18,000 ชิ้นตกไปอยู่ในมือของตอลีบันระหว่างปฏิบัติการ นี่เป็นครั้งแรกที่ชื่อของกลุ่มตอลีบันปรากฏบนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์และสำนักข่าวทั่วโลก [5]
บทบาทของปากีสถานและซาอุดีอาระเบียในการสนับสนุนกลุ่มตอลีบัน
ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานเชื่อว่า: นโยบายในการจัดตั้งและเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มตอลีบันเพื่อรักษาถนนหนทางและการขนส่งท่อส่งน้ำมันและก๊าซจากประเทศต่างๆ ในเอเชียกลางผ่านปากีสถาน ไม่ใช่อิหร่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของสหรัฐฯ [6] อุปสรรคเพียงอย่างเดียวคือสงครามกลางเมืองของมูจาฮิดีนอัฟกัน นักการเมืองสหรัฐและปากีสถานเผชิญกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางยุทธศาสตร์ พวกเขามีสองทางเลือก คือ จะให้การสนับสนุนกลุ่มปัชตุนของอัฟกานิสถานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อให้กลุ่มปัชตุนที่สนับสนุนปากีสถานขึ้นสู่อำนาจในกรุงคาบูลหรือเพื่อแสวงหาข้อตกลงแบ่งปันอำนาจระหว่างกลุ่มอัฟกันทั้งหมด [7]
ในปีค.ศ. 1993 สถานการณ์ทางการเมืองที่เอื้ออำนวยได้ถูกสร้างขึ้นสำหรับกลุ่มญามาอัตอิสลามปากีสถานที่มีแนวคิดดิวบันดี นับเป็นครั้งแรกที่พรรคเป็นพันธมิตรกับพรรคประชาชนปากีสถาน นำโดย นางเบนาซีร์ บุตโต และกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลผสม และเมาลวี ฟาซลูร์ เราะห์มาน เป็นประธานญามิอาต อูลามาอฺ-อิสลาม ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสมัชชาแห่งชาติของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ซึ่งในปี 1994 เขาได้ไปเยือนกรุงวอชิงตันและเมืองหลวงของยุโรปเพื่อรับการสนับสนุน เขาเดินทางไปยังซาอุดิอาระเบียและประเทศอ่าวเปอร์เซียเพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงินและการทหาร [8] ในเรื่องนี้ ญามิอาต อูลามาอฺ—อิสลาม (Jamiat Ulema-e-Islam) สามารถเปลี่ยนทัศนคติของรัฐบาล เบนาซีร์ บุตโต ที่มีต่อชาวปัชตุน และด้วยความร่วมมือของสำนักข่าวกรองกองทัพปากีสถานจึงได้ก่อตั้งกลุ่มตอลีบันอัฟกันขึ้นมา [9]
ในปี 1995 เจ้าชายตุรกี หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของซาอุดิอาระเบียได้เดินทางไปยังกันดาฮาร์หลายครั้งตามคำแนะนำของเมาลวี ฟาซลูร์ เราะห์มาน โดยตกลงที่จะจ่ายค่าเสียหายให้กับกลุ่มตอลีบันที่โจมตีกรุงคาบูล [10] ดังนั้นซาอุดีอาระเบียจึงกลายเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญที่สุดของตอลิบาน 11]
หลังจากการปรากฏตัวของตอลีบัน เจ้าหน้าที่ของปากีสถานและซาอุดิอาระเบียโดยส่วนใหญ่ได้เข้าช่วยเหลือกลุ่มตอลีบันด้วยตนเอง อดีตประธานาธิบดีมูชาร์ราฟ กล่าวว่า“กลุ่มตอลีบันเป็นชาวปัชตุน การรักษาความปลอดภัยของเรากำหนดว่าพวกเขาจะอยู่ฝ่ายเรา กลุ่มตอลีบันเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในอัฟกานิสถาน และเป็นไปไม่ได้ที่จะยุติพวกเขา” [12]
กลุ่มตอลีบันไม่ได้ปฏิเสธการสนับสนุนของปากีสถานสำหรับการเคลื่อนไหวของพวกเขา แต่อ้างว่า ในขณะที่ได้รับการสนับสนุนและรับรองจากปากีสถาน พวกเขาดำเนินการอย่างอิสระเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและมุ่งหมายที่จะช่วยศาสนาของพระเจ้า [13] และถือว่าการได้รับความช่วยเหลือจากปากีสถาน เป็นการช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า [14]
สถาบันเศรษฐกิจลอนดอน (London School of Economics (LSE) อ้างว่าการที่ ISI สนับสนุนกลุ่มตอลิบานในอัฟกานิสถานนั้น มันเหนือจินตนาการ และนอกเหนือจากเงิน การฝึกอบรม และที่พักพิง เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของปากีสถานยังเข้าร่วมการประชุมของสภาผู้นำกลุ่มตอลิบานอัฟกานิสถานอีกด้วย [15]
การสนับสนุนทางจิตวิญญาณของสหรัฐฯ และอังกฤษสำหรับกลุ่มตอลิบาน
จากจุดเริ่มต้นของการปรากฏตัวของตอลีบัน ทางสื่อ วิทยุ BBC และ VOA ได้ปลูกฝังความหวังให้ชาวอัฟกันโดยทางอ้อม ว่ากลุ่มตอลีบันเป็นกลุ่มที่สามารถฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคงในอัฟกานิสถานได้ [16] เมื่อตอลีบันเข้าสู่กรุงคาบูล รัฐบาลของคลินตันให้การสนับสนุนกลุ่มตอลิบานในทันทีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน [17] บางทีหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดของสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบียที่ให้การสนับสนุนตอลีบันคือคำพูดของนายกรัฐมนตรีเบนาซีร์ บุตโต ของปากีสถานที่กล่าวว่า “สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรกำลังจัดหาอาวุธให้กับกลุ่มตอลิบานด้วยเงินซาอุดิอาระเบีย” เขากล่าวกับบีบีซี [18]
พิชิตกันดาฮาร์
ในปี 1994 ขบวนคาราวานการค้าของปากีสถานเดินทางไปยังเติร์กเมนิสถาน ซึ่งกำลังผ่านกันดาฮาร์ เมื่อกลุ่มทหารของฮิกมัตนิยาร์ได้ขัดขวางไม่ให้ขบวนคาราวานดังกล่าวเข้าสู่กันดาฮาร์ ปากีสถานจึงขอความช่วยเหลือจากผู้นำกลุ่มตอลีบันโดยตรง และกลุ่มตอลีบันยกทัพไปยังเมืองกันดาฮาร์ด้วยทหาร 3,000 นายและอาวุธมากมาย ในท้ายที่สุดกันดาฮาร์ถูกกลุ่มตอลิบานยึดครองได้สำเร็จเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ.1994 หลังจากความสำเร็จอันน่าทึ่งนี้ ผู้นำตอลีบันได้ประกาศจัดตั้ง “กลุ่มตาหะรีก- อิสลามี-ตาลีบัน ” เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1994 [19]
ในไม่ช้าข่าวการก่อตัวของตอลีบันก็แพร่กระจายจากกันดาฮาร์ไปยังทั่วโลก [20] และการดึงดูดของมันกระตุ้นให้นักเรียนปากีสถานที่อยู่ในโรงเรียนญามิอาต อัล-อูลามาเข้าร่วมกลุ่มตอลิบานจำนวนมาก และในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1994 มีนักเรียนประมาณ 12,000 คนเข้าร่วมกลุ่มตอลีบัน [21] ด้วยการเข้าร่วมกับกลุ่มตอลีบันและด้วยความช่วยเหลือของประเทศในภูมิภาค พวกเขาสามารถยึด 12 จังหวัดจาก 31 จังหวัดของอัฟกานิสถานในเวลาน้อยกว่าสามเดือนและไปถึงด้านหลังประตูเมืองคาบูลอย่างรวดเร็ว [22]
การพิชิตเฮรัตและตั้งชื่ออามีรุลมุอฺมีนีน ให้กับ มุลลา โอมาร์
กลุ่มตาลิบันยังคงรุกคืบและยึดเมืองเฮรัตเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1995 [23] การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้คาบูลโกรธเคืองและกล่าวหาปากีสถานว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกิจทางทหารกับอัฟกานิสถาน ส่วนอิหร่านยังมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง โดยกล่าวว่าสหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย และปากีสถานได้สมรู้ร่วมคิดกันเพื่อสร้างกลุ่มตอลีบันขึ้นมา ตามความเชื่อของอิหร่าน ปากีสถานมีหน้าที่รับผิดชอบสำหรับการวางแผนความเคลื่อนไหวของกลุ่มตอลิบาน ซาอุดีอาระเบียรับผิดชอบด้านการเงิน และสหรัฐอเมริกามีหน้าที่รับผิดชอบในการสนับสนุนทางการเมืองและยุทธศาสตร์ [24]
เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1996 มุลลา โอมาร์ ได้ปีนขึ้นไปบนหลังคาอาคารแห่งหนึ่งในเมืองเฮรัต ปลดเสื้อคลุมที่อ้างว่าเป็นของศาสดาของศาสนาอิสลามออกเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี [25] แล้วนำมาคลุมบนกายของตัวเอง และยืนตระหง่านบนอาคารให้สายลมพัดผ่านปลิวไสวอย่างองอาจ บรรดามุลลาที่ชุมนุมกันในลานของอาคารต่างชื่นชมยินดีและเรียกเขาว่า “อะมีรุล มุอฺมีนีน” ด้วยเสียงเชียร์ที่ดังสนั่น [26]
การพิชิตจาลาออบัดและความจงรักภักดีของบินลาเดนต่อมุลลาโอมาร์
เมืองจาลาออบัดตกอยู่ในมือของกลุ่มตอลิบานเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.1996 [27] หลังจากที่กลุ่มตอลิบานเข้ายึดครองเมือง นาย อุซามะห์ บิน ลาเดน ให้คำมั่นว่าจะจงรักภักดีต่อผู้นำตอลีบัน [28] และตามรายงานบางฉบับระบุวา อุซามะห์ บิน ลาเดน เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายรับผิดชอบบางส่วนในการยึดกรุงคาบูล [29] หลังจากการเยือนอิสลามาบัดและกันดาฮาร์ของตุรกี อัลฟัยซอล ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1996 ซาอุดีอาระเบียได้จัดหาเชื้อเพลิงและยานพาหนะให้กับกลุ่มตอลีบันที่ประสบความสำเร็จในการโจมตีกรุงคาบูล โดยมีบริษัทซาอุดิอาระเบียสองแห่ง ได้แก่ เดลต้าและนันการ์โก ซึ่งในขณะนั้นมีส่วนร่วมในโครงการสร้างท่อส่งก๊าซผ่านอัฟกานิสถาน ได้กดดันให้ริยาดห์เร่งชัยชนะครั้งสุดท้ายของตอลีบันเหนือกรุงคาบูล [30]
การพิชิตคาบูลและพฤติกรรมรุนแรงของตอลิบาน
ในคืนวันอังคารที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1996 กลุ่มตอลีบันเข้าสู่กรุงคาบูล [31] ตอลีบันเข้าสู่กรุงคาบูลโดยประกาศให้ประชาชนทราบผ่านหอคอยสุเหร่า เมื่อกรุงคาบูลล่มสลาย ดินแดนของอัฟกานิสถานเกือบร้อยละ 70 ตกเป็นของตาลีบัน [32]
การกระทำครั้งแรกและรุนแรงที่สุดของตอลีบันนับตั้งแต่มาถึงกรุงคาบูล คือการแขวนคออดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน นาจิบุลเลาะห์ [34] หลังจากการทรมานและสังหารนาจิบุลเลาะห์และพี่ชายของเขา ตอลีบันได้นำร่างทั้งสองออกที่ถูกแขวนคออออกจากเสาคอนกรีตที่สัญญาณไฟจราจร ใกล้กับตำหนัก ไม่กี่ก้าวช่วงตึกจากสำนักงานสหประชาชาติ การแสดงซากศพที่มีร่องรอยการทรมานมากมายได้กระตุ้นความเกลียดชังของชาวกรุงคาบูลจำนวนมาก [35]
ตามรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กลุ่มตอลีบันได้จัดตั้งระบอบการลอบสังหารหกวันหลังจากยึดกรุงคาบูล ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีบูร์ฮานุดดิน รับบานี ของอัฟกานิสถานถูกจำคุกและถูกจับในข้อหาร่วมมือกับรัฐบาลของรับบานีและอาหมัด ชาห์ มัสซูด ตาลีบันสั่งห้ามถ่ายภาพและปิดร้านถ่ายรูปและภาพยนตร์ บรรดาผู้ชายได้ให้เวลาหกสัปดาห์เพื่อไว้หนวดเครา และเจ้าหน้าที่ได้รับอนุญาตให้ลงโทษผู้ที่บ่ายเบี่ยงไม่ละหมาด ทันทีที่พวกเขามาถึงกรุงคาบูล ก็ได้สั่งปิดโรงเรียนสตรี และในที่สุด สิ่งที่กลุ่มตอลีบันทำในเมืองอย่างคาบูลในนามของศาสนาอิสลามก็ไม่มีอะไรนอกจากกฎหมายที่ป่าเถื่อนของชาวปัชตุนในนามของศาสนาอิสลามเท่านั้น [36]
บรรดาประเทศที่เห็นด้วยและต่อต้านตอลีบัน
มีเพียงสามประเทศเท่านั้น คือ ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ยอมรับระบอบตาลีบัน [37] ในการดำเนินการที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้ ซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่กลุ่มตาลิบันเมื่อวันที่ 26/5/1997 และมอบสถานเอกอัครราชทูตอัฟกันในริยาดให้แก่กลุ่มตอลีบัน [38] อิหร่านไม่เคยยอมรับรัฐบาลตอลีบันและยังถือว่าบุรฮานุดดีน รับบานี เป็นหัวหน้ารัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของอัฟกานิสถาน [39] ส่วนมอสโกเชื่อว่ารัฐบาลอิสลามหัวรุนแรงในกรุงคาบูลจะเสริมสร้างกระแสอิสลามในเอเชียกลาง ชาวรัสเซียยังเชื่อว่ารัฐบาลที่นำโดยบุรฮานุดดีน รับบานี และอะห์มัด ชาห์ มัสอูดเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแพร่กระจายของกลุ่มสาลาฟีนิยมในเอเชียกลาง [40] ดังนั้นประเทศจึงส่งอาวุธไปช่วยเหลือกองกำลังต่อต้านตาลิบัน [41]
ทางด้านรัฐบาลอินเดียเชื่อว่าหน่วยข่าวกรองของปากีสถาน (ISI) กำลังวางแผนที่จะใช้กลุ่มตอลีบันกับรัฐบาลอินเดียในประเด็นแคชเมียร์ [42] ด้วยเหตุนี้ อินเดียและรัสเซียจึงพยายามกดดันทางการทูตต่อปากีสถานและป้องกันไม่ให้ประชาคมระหว่างประเทศรับรองกลุ่มตอลีบัน [43] ดังนั้น ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1995 ผลประโยชน์ของอินเดียและสหภาพโซเวียตจึงขัดแย้งกัน และทั้งสองประเทศสนับสนุนรับบานี และ มัสอูดในการต่อต้านกลุ่มตอลีบัน [44]
การพิชิตอัฟกานิสถานตอนเหนือ
กลุ่มตอลีบันเรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบียและปากีสถานช่วยยึดดินแดนทางเหนือ หน่วยข่าวกรองปากีสถาน (ISI) ได้จัดสรรงบประมาณ 2 พันล้านรูปี (5 ล้านดอลลาร์) เพื่อตอบสนองความต้องการด้านลอจิสติกส์ของตอลีบัน อาสาสมัครชาวอัฟกานิสถานและปากีสถานหลายพันคนจากค่ายผู้ลี้ภัยก็ได้เข้าร่วมกลุ่มตอลีบันด้วย [45]
ตอลีบันบุกขึ้นเหนืออย่างรวดเร็วจากเมืองเฮรัตและคาบูล และจังหวัดทางเหนือก็ล่มสลายไปทีละแห่ง [46] กลุ่มตอลีบันยึดครองอัฟกานิสถานตอนเหนือในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1998 โดยเข้ายึดครองมากกว่าร้อยละ 90 ของประเทศ [47] แต่กลุ่มตอลีบันไม่สามารถรุกคืบต่อไปได้เนื่องจาก เนื่องจากกองกำลังของอะห์มัด ชาห์มัสอูด จัดการกับกลุ่มตอลิบานที่หนักที่สุดด้วยยุทธวิธีเดียวกับที่พวกเขาเคยต่อสู้กับโซเวียตและกองกำลังตอลีบันติดอยู่ในฮินดูกูช [48]
ความพ่ายแพ้ในมะซาร์ ชะรีฟ
ด้วยการพิชิตเมืองมะซาร์ ชะรีฟ ( Mazar-e-Sharif )กลุ่มตอลิบานเริ่มปลดอาวุธฮาซาร่าและอุซเบก [49] แต่กลุ่มติดอาวุธฮาซาร่า ต่อต้านการปลดอาวุธ สิ่งนี้ทำให้ผู้คนก่อการจลาจลและกลุ่มตอลีบันได้รับความพ่ายแพ้อย่างหนัก ทหารตอลีบันเสียชีวิตประมาณ 600 คน และอีกกว่า 1,000 คนติดอยู่ที่สนามบินของเมือง ความพ่ายแพ้ในมะซาร์ ชะรีฟ เป็นความพ่ายแพ้ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับกลุ่มตอลีบันนับตั้งแต่ที่พวกเขาปรากฏตัวในช่วงสงคราม 30 เดือนของพวเขา [50]
สิ่งนี้กระตุ้นให้มุลลา โอมาร์ ส่งข้อความด่วนไปยังนักเรียนชาวปากีสถานเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาช่วยกลุ่มตอลีบันและนักเรียนชาวอัฟกานิสถานและปากีสถานจำนวน 5,000 คนก็ได้เข้าร่วมกลุ่มตอลีบัน [51]
ตอลีบันก่ออาชญากรรมในภาคเหนือ
พวกเขาก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 1998 คร่าชีวิตชาวอุซเบกไปประมาณ 600 คน หน่วยงานช่วยเหลือของชาติตะวันตกกล่าวรายงานภายหลังหลังจากสอบสวนเหตุการณ์ว่า ตอลีบันได้บังคับขับไล่ชาวบ้านออกจากบ้านของพวกเขาและจากนั้นก็ได้ตั้งแถวและเปิดฉากกราดยิงใส่พวกเขาอย่างโหดเหี้ยม [52]
การก่ออาชญากรรมของตอลีบันในมะซาร์ ชะรีฟ
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1998 ตาลิบันโจมตีมะซาร์ ชะรีฟ อีกครั้ง และผู้พิทักษ์ชาวฮาซารา 1,500 คนที่ต่อสู้จนกระสุนนัดสุดท้าย มีเพียง 100 คนเท่านั้นที่รอดชีวิตมาได้ ในชั่วโมงแรก ๆ ของการปิดล้อมมะซาร์ ชะรีฟ กลุ่มตอลิบานประกาศจากมัสยิดของเมืองว่า : ชาวชีอะห์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสามทางเลือกเท่านั้น จะกลายเป็นซุนนี หรืออพยพไปอิหร่าน หรือถูกฆ่าตาย [53] ผู้บัญชาการกลุ่มตอลีบันกล่าวปราศรัยกับชาวชีอะห์จากมัสยิดใหญ่ของเมืองว่า : “ชาวเมืองฮาซาราไม่ใช่มุสลิม และเราต้องฆ่าพวกเขา มิฉะนั้น พวกคุณต้องเป็นมุสลิมหรือออกจากอัฟกานิสถานเท่านั้น” [54]
ตามคำกล่าวของหนึ่งในผู้บัญชาการของกลุ่มตอลีบัน นายอะห์มัด ราชีด อธิบายเหตุการณ์ที่ตอลีบันที่เข้าสู่มะซาร์ ชะรีฟ ไว้ ดังนี้:
มุลลา โอมาร์ อนุญาตให้เราฆ่าพวกเขาภายในเวลาสองชั่วโมง แต่เรากระทำการสิ่งนี้เป็นเวลาสองวัน ตาลีบันเริ่มทำการสังหารอย่างบ้าคลั่ง พวกเขายิงผู้หญิงและสตรี ผู้ชาย เจ้าของร้าน ยาม เด็ก กระทั่งลาและแพะสัตว์ก็ไม่เว้น จากนั้น ศพของผู้เสียชีวิตถูกทิ้งไว้ตามท้องถนน พวกเขาไม่อนุญาตให้ผู้คนฝังศพคนที่ตนรักเป็นเวลา 6 วัน นอกจากนั้นทหารตอลีบันได้บุกเข้าไปในบ้าน และถ้าพบว่าเป็นสมาชิกของครอบครัวฮาซารา พวกเขาก็จะทำการสังหารหมู่ทั้งครอบครัว [55]
ตอลีบันวางผู้ต้องขังในตู้คอนเทนเนอร์และล็อคประตูเพื่อให้พวกเขาหายใจไม่ออก พวกเขานำตู้คอนเทนเนอร์บางส่วนไปยังที่ราบลิลี่ ซึ่งพวกเขาสังหารนักโทษที่นั่น ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อประตูตู้คอนเทนเนอร์ถูกเปิดออก นักโทษเพียงสามคนเท่านั้นที่รอดชีวิต และอีก 300 คนเสียชีวิตภายในตู้ [56]
ต่อมาองค์การสหประชาชาติประเมินว่า ชาวชีอะห์ 6,000 คนถูกสังหารในลักษณะและรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด อะห์มัด ระชีด นักข่าวชาวปากีสถานผู้มีชื่อเสียงรายงานว่า ผู้หญิงฮาซาราประมาณ 400 คนถูกจับเป็นทาสระหว่างการโจมตีของตอลีบันในมะซาร์ ชะรีฟ ต่อมาเมื่อภรรยาของมุลลา ดอสต์ โมฮัมมัด (Mullah Dost Mohammad) ร้องเรียนมุลลาโอมาร์ในเมืองกันดาฮาร์ว่ามุลลา ดอสต์ โมฮัมมัด ได้นำหญิงสาวฮาซาราสองคนกลับมาบ้านให้เป็นสาวใช้ของเขา มุลลาโอมาร์จึงมีคำสั่งจำคุกเขา แต่ในไม่ช้าเขาก็ได้รับการปล่อยตัวและผู้หญิงฮาซาราก็ไม่ได้ถูกส่งตัวกลับมายังบ้านเกิดของพวกเขา [57]
ตอลีบันก่ออาชญากรรมอีกครั้งในมะซาร์ ชะรีฟ ซึ่งได้ผลักดันพวกเขาไปสู่ขอบเหวแห่งสงครามกับอิหร่าน พวกเขาจำนวนหนึ่งได้บุกเข้าไปในสถานกงสุลอิหร่านในเมืองนี้ภายใต้คำสั่งของมุลลา ดอสต์ โมฮัมหมัด และได้สังหารนักการทูตและนักข่าวชาวอิหร่าน 11 คน [58] เพื่อตอบโต้การโจมตีของตอลีบัน ทางสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านได้ส่งทหารหลายแสนนายไปประชิดตามแนวชายแดน และความเสี่ยงของความขัดแย้งทางทหารก็ทวีความรุนแรงขึ้น [59] แต่ด้วยการเป็นสื่อกลางของ ลัคดาร์ อิบรอฮีม (Lakhdar Ibrahim) ความตึงเครียดทางทหารระหว่างอิหร่านและอัฟกานิสถานได้ลดลงเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1998 [60]
อาชญากรรมของตอลิบานในบัมยาน ( Bamyan)
บัมยาน ล่มสลายเมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1998 หลังจากที่นานาชาติเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง แต่คราวนี้มุลลา โอมาร์ สั่งให้กองกำลังของเขาละเว้นการปะทะกับพลเมืองฮาซารา อย่างไรก็ตาม การสังหารหมู่ครั้งใหญ่เกิดขึ้นในบัมยาน ในช่วงหลายสัปดาห์หลังจากการมาถึงของตอลีบัน ในหมู่บ้านใกล้บัมยาน มีผู้สูงอายุประมานห้าสิบคนที่ยังคงอยู่ในหมู่บ้าน หลังจากที่เยาวชนหลบหนีถูกกองกำลังตอลีบันฆ่าสังหาร [61] มุลลา นิยอซี ยังกล่าวอีกว่าหลังจากกลุ่มตอลีบันบุกบัมยานและสังหารผู้คนในภูมิภาคนี้ว่า : เราขับไล่ผู้คัดค้าน 700 คนออกจากบ้านของพวกเขา และฝังพวกเขาไว้ในทะเลทรายหลังจากสังหารพวกเขา ใครก็ตามที่ต่อต้านเราสามารถฝังพวกเขาได้เลย [62]
เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1998 เพียงห้าวันหลังจากการยึดครองบัมยาน กลุ่มตอลีบันได้ก่อโศกนาฏกรรมอีกเรื่องหนึ่ง ด้วยการตัดศีรษะของพระพุทธรูปขนาดเล็กด้วยการระเบิดทำลายใบหน้าของพระพุทธรูปอย่างสมบูรณ์ และกำหนดเป้าหมายไปที่ส่วนล่างของรูปปั้นด้วยระเบิดที่ขับเคลื่อนด้วยจรวด พระพุทธรูปสององค์ซึ่งเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดของอัฟกานิสถานซึ่งยืนยาวนานเกือบ 2,000 ปีได้ถูกทำลายลงโดยกลุ่มตอลีบัน [63] การรื้อถอนรูปปั้นบัมยาน ทำให้เกิดกระแสความเกลียดชังและความรังเกียจต่อกลุ่มตอลีบันในระดับนานาชาติ ขณะที่กลุ่มตอลีบันอ้างว่าการกระทำดังกล่าวถูกต้องตามคำฟัตวาที่ออกโดยศาลฎีกา ทางด้าน มุลลา นูร โมฮัมมัด ษาเกบ (Maulvi Noor Mohammad Saqib) ผู้พิพากษากลุ่มตอลีบันปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น นอกจากนั้นทางกระทรวงที่เกี่ยวข้องของตอลีบันไม่ตอบคำถามนักข่าว เพราะไม่มีเหตุผลทางศาสนาที่น่าเชื่อในเรื่องนี้ สิ่งนี้เป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่ยูเนสโกอธิบายว่าเป็น “ความสยองขวัญทางวัฒนธรรม” [64]
การล่มสลายของตอลีบัน
ภายหลังเหตุการณ์ 9/11 และการพังทลายของตึกแฝดของศูนย์การค้าโลก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในมติเมื่อปี 1989 เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดนำตัวผู้กระทำผิดและผู้สนับสนุนการก่อการร้ายนี้มาลงโทษโดยเร็วที่สุด โคลิน พาวเวลล์ รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกาในขณะนั้นได้ชี้ไปที่อุซามา บิน ลาเดน และอัลกออิดะห์ทันที โดยกล่าวหาว่าอุซามาเป็นผู้กระทำผิดตัวหลัก ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ กล่าวโทษอุซามา บิน ลาเดน และอัลกออิดะห์ ในการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 20 กันยายน ในระหว่างการประชุม เขาได้ยื่นคำขาดต่อกลุ่มตอลีบัน โดยเรียกร้องให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนผู้นำอัลกออิดะห์ทั้งหมด รวมทั้งอุซามา บิน ลาเดน ไปยังสหรัฐอเมริกา มิฉะนั้น กลุ่มตอลีบันจะมีส่วนร่วมในชะตากรรมของอัลกออิดะห์ [65]
ในวันเดียวกันนั้นนาโต้ ได้ประกาศความพร้อมที่จะร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการต่อสู้กับการก่อการร้าย นายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี่ แบลร์ ยังประกาศด้วยว่าเขากำลังร่วมมือกับสหรัฐฯ ในปฏิบัติการทางทหาร และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตอลีบันมอบตัวบิน ลาเดน มิฉะนั้นพวกเขาจะเผชิญกับสงคราม ดังนั้น พันธมิตรตะวันตกที่สหรัฐหนุนหลังจึงถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้การนำของสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านกลุ่มตอลีบัน [66] ตอลีบันถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังโดดเดี่ยวในโลกหลังจากการคุกคามของสหรัฐฯ แม้แต่ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และปากีสถาน ซึ่งให้การรับรองก็ ได้หันหลังให้กับกลุ่มตอลีบันและหันมาเข้าข้างสหรัฐอเมริกา [67]
ระหว่างที่ตุรกี อัลฟัยซอลพบกับมุลลา โอมาร์ ได้กระตุ้นให้เขามอบบินลาเดน และผู้ติดตามของเขา แต่ มุลลา โอมาร์ กล่าวว่า “ไม่… ทั้งอิสลามและความยางอายของปัชตุน จะไม่ยอมให้เรามอบพวกเขาให้กับคุณเป็นอันขาด” ตุรกี อัลฟัยซอล ซึ่งได้นำเครื่องบินลำใหญ่เพื่อนำตัวบินลาเดน และฝ่ายตรงข้ามอื่น ๆ ของระบอบซาอุดิอาระเบียได้เดินทางกลับประเทศซาอุดิอาระเบียด้วยมือเปล่า [68] ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองบางคนเชื่อว่าทันทีที่ ตุรกี ฟัยซอล มาถึงสนามบินซาอุดิอาระเบียเขาได้สั่งให้เจ้าหน้าที่จากสนามบินขับไล่ตัวแทนกลุ่มตอลีบันออกจากซาอุดิอาระเบีย [69] ปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่ผู้นำตาลิบันคิดว่าพวกเขาสามารถพึ่งพาความช่วยเหลือได้ ก็ได้ถอนการสนับสนุนกลุ่มตอลีบันเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ทางด้านเปอร์เวซ มูชาร์ราฟไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหลังจากส่งคณะผู้แทน 2 คนไปเจรจากับมุลลา โอมาร์ ให้ยอมส่งมอบตัวบิน ลาเดน โดยกล่าวย้ำว่าไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือผลประโยชน์ของชาติปากีสถาน ปากีสถานขับไล่นักการทูตออกจากอัฟกานิสถานโดยไม่มีการตัดสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ และปล่อยให้ตอลีบันอยู่ตามลำพังในการเผชิญกับกลุ่มพันธมิตรตะวันตก [70]
ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดในอัฟกานิสถาน [71] และตอลีบันก็พยายามต่อต้านเป็นเวลาหลายสัปดาห์ แต่สถานการณ์ในภาคเหนือแย่ลง ส่งผลให้อาสาสมัครชาวปากีสถานจำนวนหนึ่งเดินทางมาถึงอัฟกานิสถานเมื่อไม่นานมานี้ถูกส่งไปยังมะซาร์ชะรีฟ แต่ปัญหาของนักรบเหล่านี้คือพวกเขาไม่คุ้นเคยต่อสภาพภูมิประเทศและแวดล้อมและสถานที่ดังกล่าว ทางด้านมุลลา โอมาร์ หวังว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขด้วยการเสริมกำลังไปยังมะซาร ชะรีฟ ส่วนในกันดาฮาร์คิดว่าการต่อต้านจะดำเนินต่อไป แต่การทิ้งระเบิดของกันดาฮาร์ก็ค่อยๆสร้างความกดดันแก่มุลลา โอมาร์ เขาใช้เวลากลางคืนในที่กลางแจ้งในสถานที่ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน เขาไม่ต้องการพูดกับทูตใดๆ เพราะไม่ต้องการให้คนอเมริกันรู้ที่อยู่ของเขา มุลลา โอมาร์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกลุ่มตอลิบานอย่างเป็นทางการ แต่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้เมื่อเกิดสงครามครั้งใหญ่ เขาแทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับสนามรบเลย สถานการณ์ใน มะซาร์ ชะรีฟ ทำให้กลุ่มตอลีบันไม่สามารถทนต่อการโจมตีทางอากาศที่รุนแรงของเครื่องบิน B-52 ของสหรัฐได้อีกต่อไป บรรดาผู้บัญชาการทหารของตอลีบานได้พบปะกันปรึกษาหารือที่มะซาร์ ชะรีฟ และในที่สุดก็ตัดสินใจออกจากเมืองมะซาร์ชะรีฟ ในขณะที่อันตรายจากการจลาจลทั่วไปในเมืองกำลังใกล้เข้ามา [72]
ในขณะนั้นเองมีรายงานว่า เมืองบัมยานตะวันตกและถนนจากเหนือจรดใต้ของประเทศถูกปิดกั้น ข่าวการล่มสลายของบัมยาน นั่นหมายความว่ากองกำลังตอลีบันทั้งหมดทางตอนเหนือของประเทศถูกปิดล้อม ตอลีบันกลัวประชาชนมากกว่าสิ่งอื่นใด พวกเขาไม่เคยแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชน และพวกเขารู้ว่าผู้คนมองว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่มีแต่การทรมานและความกดดันเท่านั้นที่กำลังมองหาโอกาสที่จะแก้แค้น ทุกคนกำลังคิดที่จะช่วยตัวเอง และอาสาสมัครชาวปากีสถานบางคนที่เพิ่งมาถึงเมืองนี้ก็ยังไม่ทราบถึงการล่าถอยในมะซาร์ชารีฟ ในการล่าถอยครั้งนี้ กลุ่มตอลีบันได้รับบาดเจ็บสาหัสที่สุดในช่วงสงครามที่ผ่านมา เครื่องบินสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดและจรวดใส่ยานพาหนะของตอลีบันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ จรวด “ค้นหาความร้อน” มุ่งเป้าไปที่ยานพาหนะของตอลีบัน ส่งผลให้กองกำลังตอลีบันขนาดใหญ่หมดประสิทธิภาพ ขนาดจำนวนของการสังหารหมู่นั้นมันยิ่งใหญ่มากและมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รอดตัวมาได้ [73]
การล่มสลายของมะซาร์ ชะรีฟ เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายทั่วทั้งอัฟกานิสถาน ในกันดาฮาร์ มุลลา โอมาร์ ได้บอกกับคนรอบข้างว่าอย่ายอมแพ้….. เพราะอเมริกาจะถูกทำลายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ในทางกลับกัน กันดาฮาร์กำลังใกล้จะถูกทำลาย และมุลลา โอมาร์ก็ประกาศว่าเขาพร้อมที่จะมอบกันดาฮาร์ และด้วยการล่มสลายของกันดาฮาร์ รัฐ “ที่เรียกกันว่า เอมิเรตส์อิสลาม” ที่ก่อตั้งโดยตอลีบันล่มสลายลงอย่างสมบูรณ์ [74]
ตอลีบันหลัง 9/11 และการก่อตั้งสภาชูรอ โควัยตา (Quetta Shura)
ด้วยความพ่ายแพ้ของกลุ่มตอลีบันในปี 2001 ไม่มีข่าวคราวของกลุ่มตอลิบานจนถึงวันที่ 3 กันยายนค.ศ. 2005 มุลลาโอมาร์ ผู้นำกลุ่มตอลีบัน หลังจากสี่ปีแห่งการเก็บตัวอย่างลับๆ ได้ปรากฏตัวในท่ามกลางบรรดาผู้สนับสนุนจำนวนมากในภูมิภาคบาเจอร์ของปากีสถาน เขาพูดต่อหน้าสมาชิกของอัลกออิดะห์และกลุ่มตอลีบัน เขาพยายามที่จะยืนยันตำแหน่งของเขาอีกครั้งในขณะที่ขจัดข้อสงสัยเกี่ยวกับชะตากรรมของเขา นอกจากนี้ เขายังแนะนำว่าควรตั้งคณะกรรมการอาวุโสของคณะนักการศาสนาจำนวน 6 คน เพื่อตรวจสอบสาเหตุของการพ่ายแพ้ของตอลีบัน และเพื่อจัดการกับข้อสงสัยเกี่ยวกับการกระทำและพฤติกรรมของตอลีบัน ซึ่งต่อมาสภานี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สภาชูรอโควัยตา” ซึ่งเขาได้ขอให้กรรมการหลีกเลี่ยงการติดต่อกับชาวต่างชาติและรับความช่วยเหลือจากพวกเขา อีกทั้งได้ระบุสาเหตุของความพ่ายแพ้และการล่มสลายของตอลีบันเป็นการส่วนตัวไว้ดังนี้: 1. การปฏิเสธความเป็นผู้นำของมุลลา โอมาร์ โดยสมาชิกบางคน 2 . แรงจูงใจของตอลีบันในการเผชิญหน้ากับชาวต่างชาติกำลังลดลง 3. ข้อพิพาทภายใน 4. ปากีสถานละทิ้งการสนับสนุนของตอลีบันและพยายามปิดฐานทัพตอลีบานบนดินแดนของปากีสถาน [75]
จากนั้นสภาชูรอโควัยตา ก่อตั้งขึ้นภายใต้การนำของมุลลาโอมาร์ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โควัยตา เมืองหลวงของจังหวัดบาลูชิสตานของปากีสถาน สภาแห่งนี้ซึ่งจะมีบริบทดำเนินการในอัฟกานิสถานเพื่อต่อต้านกองกำลังตะวันตก มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นประธานสภาทหารระดับภูมิภาคของตอลิบานสี่แห่งและคณะกรรมการ 10 คณะในส่วนต่างๆ ของอัฟกานิสถาน [76]
ในกรณีของการเจรจาสันติภาพของรัฐบาลอัฟกานิสถานกับกลุ่มตอลีบัน สภาชูรอโควัยตาเป็นฝ่ายหลักในการเจรจาเนื่องจากความชอบธรรมทางการเมืองและอิทธิพลสูงในหมู่ตาลีบัน [77] องค์กร ประเทศ และแวดวงการเมืองนอกอัฟกานิสถานก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาเช่นกัน และการควบคุมวงเวียนหลักและบุคลิกของตอลิบานอยู่ในมือของสภา ในมุมมองของพวกเขา รัฐบาลอัฟกานิสถานในปัจจุบันเป็นระบบที่ไม่ใช่อิสลามที่ปกครองโดยชาวต่างชาติและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ดังนั้นความร่วมมือและความช่วยเหลือใดๆ ต่อรัฐบาลนี้จึงถือเป็นอาชญากรรมซึ่งมีโทษถึงตาย พวกเขามีกลุ่มหนึ่งเป็นเครื่องมือในการทำสงครามที่พวกเขาใช้ในการต่อสู้กับนาโต้และรัฐบาลอัฟกานิสถาน [78]
ปากีสถานและสหรัฐฯ พยายามแบ่งแยกตอลีบัน
หลังจากการล่มสลายของตอลีบัน การก่อตัวของกลุ่มตอลีบันยุคใหม่และพัชตุนสายกลางก็ได้รับความสนใจจากรัฐบาลปากีสถานในขณะนั้นซึ่งนำโดยเปอร์เวซ มูชาร์ราฟและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแนวโน้มทางการเมืองไปยังตะวันตกและมีแนวโน้มทางอุดมการณ์ต่อกลุ่มตอลีบัน [79] สหรัฐอเมริกาเห็นด้วยกับปากีสถานในการจัดตั้งกลุ่มตอลีบันสายกลางและแม้กระทั่งการปรากฏตัวของพวกเขาในรัฐบาลอัฟกานิสถานในอนาคต และความเป็นผู้นำของกลุ่มมอบให้กับ มุลลา วะกีล อะห์มัด มุตะวักกิล ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของตอลีบัน [ 80] แต่ประเทศเพื่อนบ้านและโลกอื่นๆ ที่ปฏิเสธแผนนี้ ถือว่าคำว่าตาลิบันหัวรุนแรงและสายกลางนั้นไม่ถูกต้อง และกล่าวว่าไม่มีสมาชิกตอลีบันใดๆ ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมในรัฐบาลอัฟกานิสถานในอนาคต ความกดดันนี้ยังบังคับให้สหรัฐฯ ไม่สนับสนุน และด้วยเหตุนี้ ไม่มีสมาชิกตอลีบันคนใดสามารถเข้าร่วมการประชุมที่เมืองบอนน์ได้ [81]
คำพูดของมุลลา โอมาร์ ที่เกี่ยวกับการปฏิเสธความเป็นผู้นำของเขาอาจหมายถึงกลุ่มตอลีบันสายกลางที่สหรัฐฯ และปากีสถานพยายามสร้างและแยกตัวออกจากกลุ่มตอลีบันหัวรุนแรง ดังนั้นตอลีบันดั้งเดิมที่นำโดยมุลลา โอมาร์ ตระหนักถึงสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี จึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสกัดและขัดขวางการก่อตัวของตอลีบันสายกลาง ในเวลาดังกล่าว มุลลา โมฮัมมัด คอสตาร์ รัฐมนตรีมหาดไทยของตอลีบันในขณะนั้นถูกลอบสังหารเพราะวิจารณ์กลุ่มตอลีบันและสนับสนุนรัฐบาลคาร์ไซ [82]
แต่ในขณะเดียวกัน ระหว่างการปกครองของฮามิด คาร์ไซ และรัฐบาลอัฟกานิสถานในปัจจุบัน มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างการเคลื่อนไหวในหมู่ตอลีบันสายกลางและมีส่วนร่วมในรัฐบาล ซึ่งดำเนินการอยู่ในบางกรณี เนื่องจากตอลีบันจำนวนหนึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลคาร์ไซและอัชราฟ กานี ซึ่งพฤติกรรมลึกลับของพวกเขาในฐานะเสาหลักที่ 5 ของรัฐบาลจึงถูกเปิดเผยจากบรรดานักวิจารณ์
ความแตกแยกในตาลีบัน
ด้วยการประกาศการเสียชีวิตของมุลลา โอมาร์ หลังจากถูกปกปิดเป็นความลับเป็นเวลา 3 ปี ในปี ค.ศ. 2015 ก็ได้เกิดกลุ่มตอลีบันสาขาใหม่ในหมู่พวกเขา ในขั้นตอนแรกมุลลา อัคตาร์ โมฮัมมัด มันศูร ซึ่งทราบถึงการเสียชีวิตของมุลลาโอมาร์ ได้ตีพิมพ์จดหมายที่ลงนามโดยมุลลาโอมาร์ และตอลีบัน พร้อมลายเซ็นของเขา ในฐานะรองและโฆษกของมุลลาโอมาร์ เป็นคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำกลุ่มตอลีบัน และหลังจากถกเถียงกันหลายชั่วโมงกับสภาผู้นำตอลีบัน เขาก็สามารถเอาชนะคู่แข่งหลักของเขาคือ เมาลาวี ยะกูบ ลูกชายคนโตของมุลลา โอมาร์ และแสดงโชว์รูปภาพและวิดีโอว่าสมาชิกตอลีบันจำนวนมากได้ให้คำมั่นว่าจะจงรักภักดีต่อเขาอย่างเป็นทางการในฐานะผู้นำตอลีบันคนใหม่ ต่อจากนี้เสียงกระซิบของการต่อต้านจะได้ยินอย่างต่อเนื่องจากผู้นำบางคนและสมาชิกสามัญของตอลีบันได้ประกาศ ลาออกอย่างเป็นทางการและถอนตัวจากกลุ่มตอลีบันไปพร้อมกัน เพื่อประท้วงสภาชูรอโควัยตาที่ได้ปกปิดการเสียชีวิตของมุลลาโอมาร์ [83]
ตอลีบันกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “ตะห์รีก มะฮาซ ฟาเดอี อิสลาม” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ได้ออกแถลงการณ์ในปี 2015 โดยประกาศอิสรภาพและคัดค้านอย่างเปิดเผยต่อการเป็นผู้นำของมุลลา อัคตาร์ มันซูร์ โดยอ้างว่ามุลลา โมฮัมหมัด โอมาร์ อดีตผู้นำตอลีบัน ไม่ได้เสียชีวิตแบบปกติ แต่ถูกวางยาพิษโดยสมาชิกอาวุโสของผู้นำตอลีบัน และกลุ่มนี้เน้นย้ำว่าจะยังคงต่อสู้กับรัฐบาลอัฟกานิสถานอย่างอิสระ [84]
ในปีค.ศ. 2015 สมาชิกบางคนของกลุ่มสภาชูรอโควัยตาได้ก่อตั้งสาขาหนึ่งที่สำคัญอีกครั้ง ซึ่งในกลุ่มใหม่นี้นำโดยเมาลาวี รอซูล มุลลา บาศ มุฮัมัด ฮาริษ มุลลา มันซูร ดาดุลเลาะห์ มุลลา ชีร มุฮัมมัด ออคุนซอเดะห์ และ มุลลา อับดุล มะนาน นิยาซี ในการพบกันครั้งแรกเพื่อแนะนำกลุ่มใหม่ มุลลา นิยาซี กล่าวว่าสาเหตุของการแยกตัวและการต่อต้านมุลลา อัคตาร์ โมฮัมมัด มันซูร มีอยู่ในสองประเด็นด้วยกัน ประการแรกคือการที่เราบอกกับ มุลลา อัคตาร์ มันซูร ว่าให้ตัดสัมพันธ์กับอเมริกาและไม่สร้างสันติภาพ ประการที่สอง ให้ความสำคัญกับคนที่มีคุณสมบัติและมุญาฮิดีนหลักและละทิ้งคนไร้ความสามารถ [85]
หลังจากการลอบสังหารมุลลา อัคตาร์ โมฮัมมัด มันซูร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2016 โฆษกกลุ่มตอลีบันได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า มุลลา ฮับบะตุลเลาะห์ อาคุนซอเดะห์ เป็นผู้นำคนใหม่ของตอลีบันอัฟกานิสถานและมุลลา โมฮัมมัด ยะกูบและ ซิราญุดดีน ฮักกานี เป็นรอง เนื่องจากการสังหารอดีตผู้นำตอลีบันโดยโดรนของอเมริกา ทำให้มุลลา ฮับบะตุลเลาะห์จึงไม่ค่อยได้ออกมาจากที่หลบซ่อนตัว และไม่ค่อยมีใครรู้จักเกี่ยวกับเขา มุลลา ฮับบะตุลเลาะห์ เป็นผู้พิพากษาในช่วงการปกครองของตอลีบันและเป็นที่รู้จักในนามชัยค์ อัลฮะดิษ (Sheikh al-Hadith) และขณะนี้ (ฮ.ศ. 1400) เขามีอายุประมาณหกสิบปี
ตอลีบันในยุคใหม่:
หลังจากการเจรจาหลายรอบกับสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มขึ้นในโดฮา ประเทศกาตาร์ในปี ค.ศ. 2019 สหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่าจะถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมถึง 31 สิงหาคม 2021 และจะถอนกำลังทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน หลังจากการถอนทหารสหรัฐฯ ทีละน้อยในเดือนกรกฎาคมของปีนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศว่ากำลังถอนกำลังออกจากฐานทัพทหารบัครัม (Bagram) และมอบฐานทัพขนาดใหญ่และสำคัญนี้ให้กับรัฐบาลอัฟกานิสถาน
ด้วยการถอนทหารอเมริกันออกจากฐานทัพทหารบัครัม ตอลีบันเริ่มโจมตีในจังหวัดต่างๆ ของอัฟกานิสถานและไปถึงกรุงคาบูลในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน
ตอลีบันรุ่นใหม่นี้ไม่ได้โจมตีชาวชีอะห์ ซึ่งมันต่างจากสมัยก่อน และเนื่องจากตอนนี้เป็นทศวรรษแรกของมูฮัรรอมและชาวชีอะห์กำลังไว้ทุกข์ ตอลิบานจึงอนุญาตให้ชาวชีอะห์ไว้อาลัยและชูธงไว้อาลัย (ของอิมามฮุเซ็น) นอกจากนั้นยังประกาศนิรโทษกรรมด้วยว่าพนักงานของรัฐสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ และสถานการณ์ในอัฟกานิสถานก็สงบลง
หวังว่า สถานการณ์จะดำเนินต่อไปเช่นนี้ และกลุ่มตอลีบันจะหยุดความรุนแรง เคารพความเชื่อของศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ และให้กลุ่มและพรรคอื่น ๆ มีส่วนร่วมในการปกครอง
แนวทางทางศาสนาของตอลีบัน
กลุ่มตอลีบันมีความคิดแนว ดิวบันดียะห์ (Deobandiyya) ในด้านนิติศาสตร์และจะยึดปฏิบัติตามนิกายฮานาฟี (Hanafi) ในแง่ของเทววิทยาจะปฏิบัติตามอบูมันศูร มาตุรีดี (Abu Mansour Matridi) และในระดับหนึ่งจะโน้มเอียงไปยังอัชอารียะห์ (Ash’ari )และแนวทางของซูฟี (Sufi) ซึ่งสามารถมองเห็นได้ในพฤติกรรมของพวกเขาบางคน เนื่องจากผู้นำตอลีบันส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนดิวบัน (Deoband) และกำลังเผยแพร่ความคิดนี้ในอัฟกานิสถาน
มุลลา โมฮัมหมัด ยาน เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของกลุ่มตอลีบันกล่าวว่า “อุดมการณ์ของชาวอัฟกันและกลุ่มตาลีบัน ซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อ โรงเรียน ศูนย์ และโปรแกรมการศึกษา เป็นอุดมการณ์แบบอะห์ลิลซุนนะห์ วัลญะมาอะห์ ที่ได้รับการอธิบายอย่างละเอียดผ่านหลักคำสอนของอัล-ตะฮาวิยะห์” [86] หนังสือความเชื่อตาฮาวิยะห์เขียนโดย อบู ญะอ์ฟัร ตาฮาวี (Abu Ja’far Tahawi) ซึ่งเป็นมัศฮับนาฟี ในแง่ของความคิดเป็นชาวอะห์ลิลฮะดิษ และหนังสือเล่มนี้ได้รับการอธิบายโดย อิบนุ อบี อัซ ฮานาฟี ผู้มีความคิดเชิงหะดีษ และยอมรับความคิดบางอย่างของอิบนุตัยมียะห์ หนังสือเล่มนี้ตรงกันข้ามกับความคิดของพวกมาตุรีดียะห์และชาวอัชอารี และในทางหนึ่ง ความคิดของบรรดาอะห์ลุลหะดีษและอิบนุตัยมียะห์ก็ได้รับการส่งเสริมในหนังสือเล่มนี้ด้วย คำอธิบายของมุลเลาะห์ โมฮัมหมัด จอน แสดงให้เห็นความแตกแยกในหมู่ตอลีบัน ซึ่งบางคนเป็นชาวมาตูรีดียะห์และชาวอัชอารี และบางคนเป็นชาวอะห์ลุล –หะดิษ
อบูมัศอับ อัลซูรี (Abu Musab al-Suri) อธิบายถึงการยึดมั่นของกลุ่มตอลีบันและชาวอัฟกานิสถานทั้งหมดต่อมัศฮับานาฟีว่าเป็นพวกคลั่งไคล้ [87] แต่คนอื่นเชื่อว่า “ยกเว้นกลุ่มเล็กๆ ในกลุ่มตอลิบานไม่มีอคติต่อมัศฮับฮานาฟี แต่พวกเขากำลังพยายามขจัดอคติเหล่านี้” [88]
พวกวะฮาบีไม่อนุญาตให้สนับสนุนกลุ่มตอลีบันเพราะพวกเขายึดตามสำนักคิดของมาตุรีดียะห์ แต่กลุ่มตอลีบันกล่าวว่า “สำนักคิดของมาตุรีดียะห์ ของตอลิบานไม่สามารถปฏิเสธหรือแยกออกจากกันได้ แต่ความคิดเห็นของพวกเขาต้องได้รับการตรวจสอบ” [89]
มีคนถาม มุลลา โมฮัมมัด จอน ว่าในประเทศอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองมักกะฮ์และเมดินา เป็นเรื่องปกติที่ตอลีบันจะยึดปฏิบัติตามซูฟีและมาตุรีดียะห์ คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้? เขาตอบว่า: ชาวอัฟกานิสถานไม่คิดว่าผู้นับถือซูฟีหมายถึงศาสนาปรัชญาที่มีความคิดและลักษณะพิเศษ แต่ในมุมมองของพวกเขา คือ ซูฟี และตะเซาวุฟหมายถึงการบำเพ็ญตน สันโดษ ไม่โลภ มารยาทที่ดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเท่านั้น และความหมายของซูฟีนี้มีอยู่ในหนังสือของสะลัฟ และชาวสะลัฟทุกคนต้องการให้ชาวมุสลิมท่องจำบทซิเกรที่มีรายงานอย่างถูกต้อง [90]
อบูมัศอับ อัลซูรี กล่าวว่า:
นักเรียนในระดับขั้นต่ำมีการติดต่อกับซูฟีจะพบกับการตั้งภาคีมากขึ้น – อย่างน้อยก็เรื่องพระเจ้าหลายพระองค์ – และยิ่งสถานะของพวกเขาสูงขึ้นความสัมพันธ์ของพวกเขากับซูฟีก็อ่อนแอลง [91]
ตอลีบันและการศึกษา
หลังจากยึดกรุงคาบูลและเฮรัตในปี ค.ศ. 1996 กลุ่มตอลีบันได้ปิดโรงเรียนของรัฐส่วนใหญ่ โดยเฉพาะโรงเรียนสตรี ผู้นำตอลีบันบางคนมองโลกในแง่ร้ายมากเกี่ยวกับการเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนรัฐบาล ตัวอย่างเช่น มุลลา คาน โดรัน ผู้อำนวยการฝ่ายแรงงานและสังคมของกลุ่มตอลีบันถือว่าวิทยาศาสตร์เช่นเคมีและคณิตศาสตร์เป็นศาสตร์ของพวกกาเฟร(ผู้ปฏิเสธ) ในบางโรงเรียน นักเรียนได้รับคำสั่งให้พูดว่า “ความพินาศจงมีต่อสำนักคิด” [92] แต่ในขณะเดียวกัน โรงเรียนของรัฐส่วนใหญ่ในกันดาฮาร์ก็เปิดและไม่มีใครขัดขวาง [93] อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ชะรีอะห์และภาษาอาหรับกลายเป็นข้อบังคับสำหรับนักเรียนทุกคนและเงินเดือนของครูก็ลดลงอย่างมาก [94] มากเสียจนครูสามารถซื้อข้าวสาลีได้เพียง 28 กิโลกรัมด้วยเงินเดือนของเขา [95] ในทางกลับกัน ให้ความสนใจมากขึ้นในการจัดตั้งและการขยายโรงเรียนศาสนารวมถึงการก่อสร้างโรงเรียนในภูมิภาคโคสต์ ที่มีนักเรียนเจ็ดร้อยคนได้รับการศึกษาและจัดสวัสดิการครบ [96] เงินเดือนของครูในโรงเรียนศาสนามากขึ้น กว่าเท่าตัวของครูโรงเรียนของรัฐ [97]
อย่างไรก็ตาม ผู้นำตอลีบันบางคนกล่าวว่ากลุ่มนี้สนับสนุนการศึกษาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ดังนั้นจึงได้ซ่อมแซมและเปิดมหาวิทยาลัยอีกครั้งและตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในแง่ของปริมาณและคุณภาพในสาขานี้หลังจากการเรียนรู้ขั้นสุดท้ายและบรรลุเสถียรภาพที่จำเป็น [98] เพราะพวกเขาเชื่อว่าโรงเรียนที่มีอยู่ดำเนินการทั้งหมดบนพื้นฐานของระบบการศึกษาคอมมิวนิสต์ พวกเขาจึงปิดโรงเรียนเพื่อเปิดใหม่หลังจากทำการแก้ไขที่จำเป็นในแง่ของเนื้อหาการศึกษาและเจ้าหน้าที่วิชาการ [99] มหาวิทยาลัยคาบูลเปิดทำการอีกครั้งในช่วงที่ตอลีบันปกครอง และฉันได้เฝ้าสังเกตมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิดเป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ตาม จำนวนนักศึกษามีจำนวนน้อยลงและความหายนะของสงครามก็ปรากฏชัดในอาคารของมหาวิทยาลัยซึ่งดูเป็นเรื่องปกติ [100]
ตอลีบันและญิฮาด
ในแถลงการณ์ของตอลีบัน ในขณะที่เน้นย้ำถึง “รัฐบาลอิสลาม” ก็เห็นถึงความสนใจเป็นพิเศษให้กับ “ญิฮาด” มุลลา โมฮัมมัด โอมาร์ ได้กล่าวในการพบปะกับกลุ่มตอลีบันในกันดาฮาร์ว่า : “ด้วยญิฮาดอันศักดิ์สิทธิ์ เราจะนำศาสนาของพระเจ้าไปปฏิบัติในดินแดนของพระเจ้า และชำระล้างดินแดนแห่งการทุจริต การผิดศีลธรรม และความชั่วร้ายนี้ให้หมดไป” [101] เขายังกล่าวอีกว่า: “มูจาฮิดีนชาวอัฟกันมีส่วนร่วมในญิฮาดศักดิ์สิทธิ์เพื่อบูรณภาพแห่งดินแดนและการปฏิบัติตามกฎหมายอิสลาม” ตามคำกล่าวของมุลลา โมฮัมหมัด โอมาร์ “ญิฮาดศักดิ์สิทธิ์” คือการรักษา “บูรณภาพแห่งอาณาเขตของอัฟกานิสถาน” และ “การปฏิบัติตามกฎหมายอิสลาม” [102]
เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันศุกร์โดยระบุว่า “ข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลเกี่ยวกับกลุ่มตอลีบันนั้นคล้ายคลึงกันที่ได้เกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งในอดีต” [103] มีรายงานว่าหลังจากการล่มสลายของตอลีบันผู้คนหลายร้อยคนเข้าแถววางระเบิดฆ่าตัวตาย บางครั้งนานถึงเก้าเดือนกว่าจะถึงคิว แต่มุลลา โมฮัมมัด โอมาร์ บอกพวกเขาว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการต่อสู้ด้วยปืนแทนการระเบิดฆ่าตัวตาย จนกว่าคุณจะ ถูกฆ่าตาย [104]
เขากล่าวในปี 1999 ว่า “เราต่อต้านการก่อการร้าย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม” เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 มุลลา โมฮัมมัด รับบานี หัวหน้าคณะรัฐมนตรีกล่าวว่าระหว่างการเยือนกรุงอิสลามาบัดว่า การก่อการร้ายขัดต่อความเชื่อของเราและเราปฏิเสธมันและตอลีบันจะไม่อนุญาตให้ผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน [105 ]
ดิวบันดีปากีสถาน ผู้สนับสนุนตอลีบัน
โดยทั่วไป ต้นกำเนิดของความคิดของตอลีบันจะย้อนกลับไปที่กระแสซุนนีในอนุทวีป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนแห่งสำนักคิดดิวบันดี (Deobandi)เนื่องจากกลุ่มตอลีบันและผู้นำส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้ ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่ถือว่าพวกเขาเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและผู้สนับสนุนโรงเรียนแห่งนี้ ในระหว่างนี้กลุ่มญามาอะห์ อุลามาอ์อิสลาม ก็มีบทบาทสำคัญในการชี้นำกองกำลังญิฮาดซุนนีของอัฟกานิสถานและการระดมกลุ่มตอลีบัน [106] กลุ่มนี้ซึ่งควบคุมเครือข่ายขนาดใหญ่ของโรงเรียน ดิวบันดีและให้การฝึกฝนและสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานและผู้นำมูจาฮิดีนชาวอัฟกันและกองกำลังติดอาวุธอัฟกานิสถานอื่นๆ รวมถึงกลุ่มตอลิบาน [107] แม้แต่การร่างรัฐธรรมนูญของตอลีบันยังถูกจัดทำขึ้นโดย กลุ่มญามาอะห์ อุลามาอ์อิสลาม ของเมาลาวี ฟาซลูร์ เราะห์มาน [108]
หลังจากการล่มสลายของตอลีบัน พรรคและกลุ่มต่างๆ ของปากีสถาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดิวบันดี ก็มีความฝักใฝ่เป็นพิเศษต่อตอลีบัน อีกทั้งให้การ คุ้มครองผู้ลี้ภัยของพวกเขาและอธิฐานขอให้กับมุลลา โอมาร์อีกด้วย และเทิดเกียรติแก่นักรบกลุ่มตอลิบานที่ถูกสังหารระหว่างสงครามกับแนวรบสหรัฐฯ-แนวรบด้านเหนือของสหรัฐฯ [109] ในทางการเมือง องค์ประกอบหลักของปัชตุนดิวบันดี ในรัฐบาลปากีสถานพยายามที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับตอลีบันเสมอมา [110] ในขณะเดียวกัน ฟัซลุเราะห์มาน ผู้นำปัชตุน ญะมาอัตอิสลาม เป็นบุคคลสำคัญในชุดรัฐบาลในอดีตและปัจจุบันของปากีสถานและเป็นผู้นำที่สนับสนุนกลุ่มตอลีบันเช่นในอดีต
ด้วยการประกาศการเสียชีวิตของมุลลา โอมาร์ ในช่วงฤดูร้อนปี 2015 และการประกาศของมุลลา อัคตาร์ มันซูรเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง เมาลานา สะมีอุลฮักก์ หัวหน้าหนึ่งในสาขาของ ญะมาอัตอิสลาม ได้ให้คำมั่นว่าจะจงรักภักดีต่อมุลลา อัคตาร์ มันซูร อย่างเป็นทางการและสนับสนุน เขาในฐานะผู้นำกลุ่มตอลีบันคนใหม่ นอกจากนั้นเมาลานา สะมีอุลฮักก์ ยังเรียกร้องให้ประธานาธิบดี อัชราฟ กานี ของอัฟกานิสถานทำงานเพื่อสันติภาพกับตอลิบาน และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เอกอัครราชทูตอัฟกันประจำปากีสถานได้เผยแพร่สาส์นแห่งสันติภาพของอัชราฟกานี ต่อตอลีบันอีกด้วย [111]
ตอลีบันและลัทธิวะฮาบี
แม้ว่าลัทธิวะฮาบีจะประสบความสำเร็จในการปลูกฝังความคิดและความเชื่อของตนในหมู่พี่น้องชาวซุนนีชาวอัฟกันทั่วไปในช่วงญิฮาดอัฟกัน แต่อิทธิพลนี้ไม่ได้รับการยืนยันในระดับอาวุโส ซึ่งรวมถึงผู้นำกลุ่มตอลีบันหลักด้วย ด้วยเหตุนี้ ผู้นำกลุ่มตอลีบันจึงไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับความคิดของวะฮาบี และชาวสะละฟีแห่งอัฟกานิสถานถูกเข้าใจผิดและถูกประณามว่าเป็นพวกวะฮาบี [112] แม้ว่าเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงคาบูลพิจารณาว่านโยบายบางอย่างของตอลีบันขัดต่อข้อตกลงกับซาอุดิอาระเบีย แต่ตัวแทนตอลีบันกล่าวออกมาด้วยความไม่พอใจว่าเราเคารพพวกคุณเพียงเพราะการมีอยู่ของทิศกิบลัตของมวลมุสลิมในซาอุดิอาระเบีย(หมายถึง กะอฺบะฮฺ) มิฉะนั้น เราจะไม่ให้ เกียรติพวกคุณใดๆ เลย [113]
มุฟตี นิซามุดดีน คณบดีคณะ Hadith at Karachi University of Islamic Sciences กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตอลีบันกับลัทธิวะฮาบีว่า: “ชาวอัฟกันโดยทั่วไปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวปากีสถาน ลัทธิวะฮาบี เปรียบได้กับมารของมนุษยชาติและคนโง่เขลา” [114]
กลุ่มตาลิบันและอิควานมุสลิม
กลุ่มตอลีบันไม่ได้มีมุมมองที่ดีต่อผู้นำของกลุ่มอิควานมุสลิมในอียิปต์ และกลุ่มญามาอัตอิสลาม อาบู อะอฺลา อัล-เมาดูดี จนถึงช่วงที่กลุ่มตอลีบันปกครอง ได้สั่งห้ามไม่นำเข้าหนังสือของ อัลเมาดูดีในอัฟกานิสถาน [115] ตามคำกล่าวของ อบู มัซอับ ซูรี กล่าวว่า : บรรดาชัยค์ของกลุ่มตอลิบานจำนวนมากในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดียพิจารณาว่าเมาดูดี เช่นเดียวกับซัยยิด กุตบ์ และฮัสซัน อัลบันนา และผู้นำของกลุ่มอิควานมุสลิมส่วนใหญ่เป็นคนนอกรีต และบางคนอาจคว่ำบาตรพวกเขาและห้ามไม่ให้มีการตีพิมพ์หนังสือ อีกทั้งยึดและห้ามขายอีกด้วย เหล่านี้เป็นผลจากคำฟัตวาในอดีตของนักวิชาการชาวอินเดีย สินธ และปากีสถาน ซึ่งได้รับความเคารพจากกลุ่มตอลีบัน นอกจากนี้ ตำแหน่งของญามาอัต อิสลามปากีสถานและกลุ่มอิควานมุสลิมและการประกาศต่อต้านกลุ่มตอลีบันนับตั้งแต่การปรากฏตัวของพวกเขาได้ทำให้ความแตกต่างเหล่านี้รุนแรงขึ้นและความเกลียดชังของกลุ่มอิควานมุสลิมและพฤติกรรมในอดีตและปัจจุบันของตอลีบัน [116]
ตอลีบันและอัลกออิดะห์
ความสัมพันธ์ฉันมิตรของตอลีบันและความร่วมมืออย่างกว้างขวางกับอัลกออิดะห์นั้นไม่ได้เป็นที่ซ่อนเร้นแต่อย่างใด ทุกคนรับรู้ทั่ว อุซามา บิน ลาเดน ติดต่อกับผู้นำตอลีบันและมุลลา โอมาร์ ตั้งแต่ต้น และหลังจากที่ตอลีบันตกลงที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่บิน ลาเดนและองค์กรของเขา อัลกออิดะห์ได้ก่อตั้งฐานทัพอย่างเป็นทางการในอัฟกานิสถาน และในไม่ช้าก็ขยายฐานสำหรับการปฏิบัติการในระดับภูมิภาคและระดับโลก แน่นอน พวกเขาต่างแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะในการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ตอลีบันต้องการบิน ลาเดน และอัลกออิดะห์ เพื่อสื่อสารกับโลกภายนอกและตอบสนองความต้องการทางการเงินของพวกเขาและปราบปรามศัตรูภายใน ซึ่งบินลาเดน ก็ได้เคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ ในทางกลับกัน อัลกออิดะห์ก็ต้องการฐานที่เข้มแข็ง เช่น รัฐบาลตอลีบันเพื่อรวมกลุ่มและพัฒนาเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มตอลีบันได้จัดเตรียมไว้สำหรับพวกเขาอย่างเต็มที่ [117]
อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของบิน ลาเดน กับนักรบอัลกออิดะห์หลายพันคนในอัฟกานิสถาน บางครั้งก็นำไปสู่การปะทะกันอย่างนองเลือดระหว่างพวกเขากับกองกำลังตอลีบัน แต่โดยรวมแล้ว ความสัมพันธ์ของตอลีบันกับผู้นำอัลกออิดะห์นั้นแข็งแกร่งมากจนความพยายามของตอลีบันในการช่วยเหลือบินลาเดนและกอบกู้อัลกออิดะห์ปูทางไปสู่ความหายนะของตนเอง ตอลีบันและผู้นำอัลกออิดะห์ได้ยืนยันความสามัคคีของพวกเขาในแถลงการณ์หลายครั้ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การล่มสลายของตอลีบันในปี2007และ 2008 ผู้นำตอลีบันและอัลกออิดะห์ได้ระบุไว้ในข้อความวิดีโอและการสัมภาษณ์ต่างๆ ว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างพวกเขา มุลลา ดาดุลเลาะห์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า “เราและอัลกออิดะห์เป็นหนึ่งเดียวกัน หากเราโจมตี มันก็เหมือนกับว่าอัลกออิดะห์โจมตี และหากพวกเขาทำ ก็เหมือนว่าเราได้ทำไปแล้วเช่นกัน” [118]
อย่างไรก็ตาม หลังจากการประกาศการเสียชีวิตของ บิน ลาเดน และการประกาศการเสียชีวิตของมุลลา โอมาร์ ในเวลาต่อมาอัลกออิดะห์และกลุ่มตอลิบานก็มีความเย็นชาลง เมื่ออัลกออิดะห์อ่อนแอลงเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มก่อการร้ายไอซิส และความขัดแย้งในหมู่ตอลีบันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา [119]
ตอลีบันและไอซิส
ไอซิสถือได้ว่าเป็นการรวมกันของแนวคิด หลักความเชื่ออัลกอซูรี ของชาวอียิปต์กับหลักความเชื่อของอัลกอบูรีย์ของลัทธิวะฮาบี กลุ่มนักรบญิฮาดอียิปต์เชื่อว่าพวกวะฮาบีพยายามรวมสุสานให้เป็นหนึ่ง แต่พวกเขาควรพยายามรวมพระราชวังและรวมรัฐบาลเข้าด้วยกัน ตามความเชื่อของกลุ่มสาลาฟีญิฮาดี ถือว่าการญิฮาด กับรัฐบาลทั้งหมดที่ปกครองนอกเหนือจากสิ่งที่พระผู้เป็นพระเจ้าประทานมานั้นเป็นการดูหมิ่นศาสนาและปฏิเสธศาสนาอย่างเปิดเผย ดังนั้นกลุ่มญิฮาดติดอาวุธจะต้องต่อสู้กับพวกเขา และญิฮาดกับมุสลิมทุกคนนั้นมีความจำเป็น เหมือนกับการละหมาด ด้วยเหตุผลนี้ รัฐบาลทั้งหมดของโลกอิสลามจึงถือว่าเป็นการปกครองแบบตอฆูต และการญิฮาดกับพวกเขาจึงเป็นหน้าที่ภาคบังคับสำหรับมุสลิมทุกคน กองทัพและประชาชนที่คอยเสริมกำลังรัฐบาลตอฆูต คือพวกที่เป็นผู้ปฏิเสธ และพวกเขาทั้งหมดควรถูกสังหาร [120]
แนวคิดนี้เกิดขึ้นในอียิปต์และเข้าสู่ในอัฟกานิสถานระหว่างสงครามโซเวียต และใช้ชื่ออัฟกานิสถาน-อาหรับ หลังสงครามในอัฟกานิสถาน กลุ่มนี้มีผู้นำชื่ออุซามา บิน ลาเดน ซึ่งเป็นชาวลัทธิวะฮาบีที่ตอนนี้โอบรับอุดมการณ์ของซาลาฟีญิฮาดี จุดนี้เองที่แนวคิดของลัทธิวะฮาบี (เตาฮีด อัลกอบูรี) ได้รับการแนะนำให้รู้จักผ่านอัลกออิดะห์โดยอุซามะห์ บิน ลาเดน และไอซิสก็ได้โผล่ออกมาจากอัลกออิดะห์ ไอซิสเป็นการรวมความคิด หลักความเชื่อแบบอัลกอซูรี(Tawhid al-Qasuri) และหลักความเชื่ออัลกอบูรี (Tawhid al-Qaburi ) บางครั้งไอซิสยังตักฟีร์ กลุ่มอัลกออิดะห์และถือว่าสมาชิกอัลกออิดะห์เป็นพวกนอกศาสนาเพราะไม่ยอมรับหัวหน้าศาสนาอิสลาม อบู บักร์ อัลบักดาดี แต่กลุ่มตอลิบานไม่ยอมรับความคิดใดๆ เหล่านี้ และมีเพียงศัตรูร่วมคือ (สหรัฐฯ) เท่านั้นที่ทำให้อุซามา บิน ลาเดน ยอมรับและให้คำมั่นว่าจะจงรักภักดีต่อมุลลา โอมาร์ ผู้นำกลุ่มตอลิบานในฐานะผู้นำของเอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน
จากข้อมูลของไอซิส ถือว่ากลุ่มตอลิบานเป็นกาเฟร (พวกปฏิเสธ) ด้วยเหตุผลหลายประการ : ประการแรก พวกเขาไม่ยอมรับความคิดเรื่องเอกเทวนิยมของอัลกาบูรี (Tawhid al-Qaburi) และไม่ยอมรับหลักความเชื่อเอกเทวนิยมแบบกอซูรี (Tawhid al-Qasuri ) นอกจากนี้ เนื่องจากพวกเขามีแนวโน้มของซูฟี และบางคนยอมรับความคิดของซุฟีด้วย พวกเขาจึงถูกนับว่าเป็นพวกตั้งภาคี และเพราะพวกเขามีความเชื่อตามสำนักคิดมาตูรีดียะห์ พวกเขาคือพวกอุตริกรรม และเนื่องจากพวกเขาไม่คิดว่าพวกนอกศาสนาเป็นผู้นอกศาสนา พวกเขาจึงเป็นคนนอกรีต
หลังจากความพ่ายแพ้ของไอซิสในอิรักและซีเรีย กลุ่มไอซิสโคราซาน เริ่มมีบทบาทในอัฟกานิสถาน เกณฑ์และดึงดูดกองกำลังตอลีบัน แต่มีกลุ่มตอลีบันจำนวนน้อยที่เข้าร่วมกับไอซิสในอัฟกานิสถาน และกลุ่มตอลิบานได้ทำสงครามกับไอซิสหลายครั้งและมีจำนวนมากที่สุดของที่ไอซิสถูกโจมตีในอัฟกานิสถานโดยกลุ่มตอลีบัน ส่วนไอซิสก็ได้ตอบโต้กลุ่มตอลีบันเช่นกัน
ตอลีบันและชีอะห์
เพื่อให้เข้าใจมุมมองของตอลีบันต่อชาวชีอะห์ เราต้องย้อนเวลากลับไปหลายศตวรรษ เมื่อ ราชวงศ์์ซาฟาวีด เติบโตขึ้นมาในอิหร่านและชัยค์ อะห์มัด ซารฮันดี ( Sheikh Ahmad Sarhandi) มีชื่อเล่น อัล ษานี ( Al-Thani )ได้เขียนหนังสือในปี ฮ.ศ. 1001 AH เรื่อง การตอบโต้ชีอะห์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของชีอะห์ในอินเดีย หลังจากเขา ชาห์ วาลิอุลเลาะห์ เดห์ลาวี ผู้นำทางปัญญาและจิตวิญญาณของกลุ่มตอลีบัน (ดิวบันดี) เขียนหนังสือสองเล่มเพื่อปกป้องกาหลิบ (คอลีฟะห์)และเพื่อตอบสนองต่อข้อสงสัยของชาวชีอะห์ หลังจากเขา ลูกชายของเขาได้เขียนหนังสือในภาษาเปอร์เซียเพื่อวิจารณ์ชาวชีอะห์ที่เรียกว่า “สิบสองอิมาม” และกล่าวว่าชาวชีอะห์ไม่มีส่วนในศาสนาอิสลามและการเป็นพวกนอกรีตของพวกเขาได้รับการพิสูจน์แล้ว หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลอย่างกว้างขวางในชุมชนมุสลิมในอนุทวีปอินเดียและกลุ่มประเทศอาหรับ [121]
วิธีการวิพากษ์วิจารณ์ชีอะห์กลายเป็นประเพณีทางวิชาการและวัฒนธรรมในหมู่ผู้อาวุโสที่กลุ่มตอลีบันยอมรับ มุลลา กอเซม นาโนตี (Mulla Qasim Nanotoi ) และราชีด อะห์มัด คอนคาฮี (Rashid Ahmad Gangohi) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสำนักคิดดิวบันดี และนักวิชาการที่น่าเชื่อถือที่สุดของตอลีบันบางคนเขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์ชีอะห์อย่างแพร่หลาย งานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ชีอะห์และพูดถึงการนอกรีตของชีอะห์น้อยลง แต่นักเขียนบางคนชี้ไปที่การนอกรีตของชีอะห์ ซึ่งความคลั่งไคล้และความสุดโต่งตามแนวคิดดิวบันดีที่มีจำนวนลดลงในการเปิดเผยความนอกรีตของชีอะห์ทำให้เกิดการก่อตั้งคณะ “ซีพอห์ ศอฮาบัต” ในปากีสถานขึ้นมา ที่มีความเชื่อว่าชีอะห์เป็นพวกนอกรีตและต้องฆ่า นอกเหนือจากแนวทางสี่ร้อยปีในการวิพากษ์วิจารณ์ชาวชีอะห์โดยผู้อาวุโสที่เชื่อถือได้ของตอลีบันแล้ว ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ระหว่างปัชตุนและฮาซาราก็รุนแรงขึ้น และแนวทางของตอลีบันต่อชาวชีอะห์ก็ถูกทำให้รุนแรงขึ้น และบางครั้งก็เป็นตักฟีร์
ฝ่ายชีอะห์ในช่วงเวลาที่กลุ่มตอลีบันเติบโตขึ้นคือพรรคเอกภาพอิสลามที่นำโดย อับดุล อาลี มาซารี และขบวนการอิสลามที่นำโดยอยาตอลเลาะห์ อาซิฟ โมห์เซนี ขบวนการอิสลามของอยาตุลเลาะห์ มุหซีน ก็ได้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกลุ่มตอลีบันให้มากที่สุดและแม้กระทั่งให้ความร่วมมือกับกลุ่มตอลีบันในบางกรณี อันเป็นผลมาจากการที่กลุ่มตอลีบันไม่ได้เผชิญกับการคุกคามร้ายแรงจากผู้นำและกองกำลังของพรรคชีอะห์ อีกทั้ง สมาชิกในพรรคยอมมอบอาวุธและ ยังคงอยู่ในกรุงคาบูล โดยไม่มีการถูกรังแกใดๆ
ส่วนพรรคเพื่อเอกภาพอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน นำโดยอับดุล อาลี มาซารี ต่อต้านกลุ่มตอลีบันอย่างรุนแรงตั้งแต่เริ่มแรก และเกิดการปะทะกันนองเลือดระหว่างพวกเขา ซึ่งในที่สุดอับดุล อาลี มาซารีและพรรคพวกอีกประมาณสิบคน ถูกจับกุมและสังหารในปฏิบัติการโดยกลุ่มตอลีบัน [122]
นโยบายของกลุ่มตอลิบานที่มีต่อชาวชีอะห์ในพื้นที่ที่ถูกยึดครองนั้นมีสองรูปแบบ : พื้นที่ที่พวกเขาครอบครองโดยไม่มีความขัดแย้งมักจะไม่ฆ่าผู้คน แต่ถ้าตอลีบันเข้ายึดครองหลังสงครามแล้วพวกเขาจะปฏิบัติต่อผู้คนที่นั่นด้วยความรุนแรงและความโหดร้ายและจะต้องแก้แค้นอย่างรุนแรง [123] ทัศนคติของตอลีบันที่มีต่อชีอะห์ในฐานะผู้ติดตามศาสนาใดศาสนาหนึ่งก็มีความแตกต่างกันเช่นกัน ตามรายงานบางฉบับ ระบุว่า แรงจูงใจหลักเบื้องหลังของการสังหารหมู่พี่น้องชีอะห์ชาวฮาซารา ในมะซาร์ ชะรีฟ เนื่องจากชาวฮาซาราถูกพาดพิงว่าเป็นชีอะห์
กล่าวกันว่ามุลลา โอมาร์ ได้สาบานตนที่งานศพของผู้บัญชาการกลุ่มตอลิบานชื่อมุลลา อิห์ซาน ซึ่งถูกสังหารในการโจมตีครั้งแรกของกลุ่มตอลีบันที่มะซาร์ชะรีฟ ว่าเขาจะฆ่าชาวฮาซารา 20,000 คนเพื่อแก้แค้นให้กับเลือดของเขา [124] อย่างไรก็ตาม ตามรายงานบางฉบับมุลลา โอมาร์ ขับไล่อับดุล มานัน นิยาซี ออกจากตำแหน่งเนื่องจากคำพูดที่สร้างความแตกแยกของเขาในมะซาร์ ชะรีฟ และสั่งไม่ให้สัมภาษณ์และบรรยาย [125]
ในกรณีของการจับตัวประกันชาวชีอะห์ฮาซาราจำนวนหนึ่งโดยกลุ่มตอลีบัน นักวิชาการคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเจรจากับกลุ่มตอลีบันเพื่อปล่อยตัวตัวประกัน ว่า ผู้บัญชาการตอลีบันทราบดีถึงความขัดแย้งของพวกเขากับไอซิสในประเด็นนี้เช่นกัน ไอซิสถือว่าชีอะห์และชาวฮาซาราเป็นพวก นอกรีตและต้องฆ่าพวกเขา แต่ตาลิบัน มีความเห็นต่างในเรื่องนี้ และพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างความแตกต่างและความแตกแยกทางศาสนาและชาติพันธุ์ [126]
Source: https://www.hawzahnews.com