ในวันนั้น กองทัพสหรัฐฯ ได้ทำลายรูปปั้นอันโด่งดังของซัดดัม ซึ่งมีความสูงมากถึง 16 ฟุต ณ จตุรัสฟิรดาวส์ของกรุงแบกแดด อันเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่า บัดนี้ ระบอบปกครองบาธที่โหดเหี้ยม และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอิรักและอิหร่าน — อาทิ จากการใช้อาวุธเคมีโจมตีที่ยากจะลืมเลือน และการทำสงครามกับอิหร่าน ตั้งแต่ปี 1980 ถึง 1988 สงครามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตะวันตกหลายแห่ง และส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้คนนับล้านชีวิตโดยประมาณ — ได้ยุติบทบาทของมันลงแล้ว
ชะฮีด อยาตุลเลาะฮ์ ซัยยิด มูฮำหมัด บาเกร อัล-ศ็อดรฺ คือใคร?
ชะฮีด อยาตุลเลาะฮ์ ซัยยิด มูฮำหมัด บาเกร อัล-ศ็อดรฺ เป็นนักคิด นักปรัชญา และนักวิชาการอิสลาม งานเขียนและแนวคิดของเขาว่าด้วยวิธีการต่อต้านการกดขี่ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่มุสลิมชีอะห์ และอิสรชนทั่วโลก
เขาถือกำเนิดในกาซีมียะฮ์ กรุงแบกแดด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1935 ในตระกูลอัล-ศ็อดรฺ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากอิมามมูซา อัลกาซิม (อ.) อิมามลำดับที่ 7 จากวงศ์วานของศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ตามความศรัทธาของมุสลิมชีอะฮ์ และถูกสังหารโดยซัดดัม ฮุสเซนในวันที่ 9 เมษายน 1980
ในระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 45 ปี ที่มีชีวิตอยู่ ชะฮีด อัล-ศ็อดรฺ ได้ทำการปฏิวัติแง่มุมทางวิชาการ และการเมืองภายในสังคมของเขา ในรูปแบบที่น้อยคนนักจะทำกัน เป็นที่เลื่องลือว่า ไม่ค่อยจะมีบุคคล ที่มีบุคลิกภาพเฉกเช่นชะฮีด อัล-ศ็อดรฺ ปรากฏในประวัติศาสตร์ ขณะที่ซัดดัม ฮุสเซน เป็นผู้นำการปกครองที่โหดเหี้ยมและกดขี่ข่มเหงที่สุดผู้หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โลก ในช่วงเวลานี้เอง ที่ชะฮีด อัล-ศ็อดรฺ ไม่อาจเพิกเฉย เขาได้ก่อตั้งกระบวนการทางการเมืองขึ้น และขับเคลื่อนมันด้วยความเสียสละ การสร้างกระบวนการทางการเมืองจำเป็นต้องมีการเสียสละ และวิธีการที่เขาเสียสละ รวมถึงวิธีการทำงานของเขา ภายใต้สภาพแวดล้อมที่พละกำลังต่างๆ ถูกกดทับ และไม่มีความแข็งแกร่งใดที่จะมอบให้แก่มันได้ ในสภาวการณ์ และเงื่อนไขเช่นนี้ เขาได้ยืนหยัดต่อหน้าผู้ปกครองทรราช และได้พยายามพยุงชาติให้ลุกขึ้นมาอีกครั้งจากความว่างเปล่า
ชะฮีด อยาตุลเลาะฮ์ ซัยยิด มูฮำหมัด บาเกร อัล-ศ็อดรฺ สูญเสียผู้เป็นบิดา ในวัยเพียงสองขวบปีเท่านั้น ภายหลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาในกาซีมียะฮ์ เมื่อปี 1945 เขาและครอบครัวย้ายไปอาศัยยังเมืองนาญัฟอันศักดิ์สิทธิ์ และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ที่นั่น เมื่ออายุเพียง 13 ปี เขาได้เข้าร่วมศึกษาในวิทยาลัยอิสลามศึกษา [เฮาซะฮ์] และมีความโดดเด่นในฐานะนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเป็นอย่างมาก จากนั้น เมื่ออายุได้ไม่ถึง 20 ปี ซัยยิด อัล-ศ็อดรฺ ก็ได้รับตำแหน่งมุจญฺตาฮิด ซึ่งเป็นตำแหน่งทางด้านวิชาการศาสนาขั้นสูง ในช่วงปีเหล่านี้ เขาได้ตีพิมพ์ผลงานด้านวิชาการอิสลาม ที่โด่งดังที่สุดบางส่วน ซึ่งผลงานเหล่านี้ ยังคงความโดดเด่น และเป็นบทเรียนที่ถูกนำมาสอนในมหาวิทยาลัยนานาชาติหลายแห่งจวบจนถึงปัจจุบันนี้
ในปี 1957 อยาตุลลอฮ์ ซัยยิด อัล-ศ็อดรฺ และนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว คนอื่นๆ ได้ก่อตั้ง ‘พรรค Da’awa อิสลาม’ (IDP) ในยุคสมัยที่กิจกรรมคอมมิวนิสต์กำลังเติบโตขึ้น เขาได้ริเริ่มกิจกรรมการศึกษา และการเสริมสร้างความรู้ต่างๆเช่น การบรรยายในที่สาธารณะ และกิจกรรมทางสังคม เขาดำรงมั่นในความกล้าหาญ และความแน่วแน่ และยังคงดำเนินโครงการการศึกษาและกิจกรรมต่อไปอย่างไม่สั่นคลอน แม้ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย
อยาตุลเลาะห์ อัล-ศ็อดรฺ ตระหนักถึงอันตรายของระบอบบาธ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซัดดัม ฮุสเซน หัวหน้าพรรคบาธในอิรัก ในทำนองเดียวกัน พวกนิยมพรรคบาธ ก็ตระหนักถึงผลกระทบที่สำคัญของเขาที่มีต่อชาวอิรัก ดังนั้นพวกเขาจึงเริ่มใช้ทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของอยาตุลเลาะห์ อัล-ศ็อดรฺ พวกเขาจับกุมอยาตุลเลาะฮ์ อัล-ศ็อดรฺ ติดต่อกันหลายครั้ง และยังออกคำสั่งประหารชีวิตนักเรียน และเพื่อนร่วมงานหลายคนในช่วงศตวรรษที่ 70
อยาตุลเลาะห์ อัล-ศ็อดร์ ได้กล่าวคำเทศนา ที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์หลายครั้งก่อนถูกประหารชีวิต ซึ่งครอบคลุมหัวข้อเฉพาะประเด็นระดับชาติมากมาย และโดยพื้นฐานแล้ว ในคำเทศนาเหล่านั้น เขาได้เรียกร้องให้กลุ่มนิกายทางศาสนาต่างๆ และชาติพันธุ์ในอิรักทั้งหมด รวมตัวกันเป็นปึกแผ่น ในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ
ในสุนทรพจน์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเหล่านี้ อยาตุลเลาะฮ์ ซัยยิด อัล-ศ็อดรฺ ยืนหยัดอย่างมั่นคงต่อระบอบการปกครองที่อธรรมของพรรคบาธ เขาเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนในอิรักรวมกันเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ และการยอมรับในสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ เขายังให้คำมั่นที่จะต่อต้านการกดขี่ข่มเหง และระบอบเผด็จการต่อไป แม้ว่าจะได้รับคำขู่ฆ่าอย่างมากมาย และอย่างต่อเนื่องจากซัดดัมก็ตาม
อยาตุลเลาะห์ อัล-ศ็อดรฺ มุ่งมั่นสถาปนาอิรักที่เป็นเสรีและเป็นประชาธิปไตย โดยเคยแสดงออกว่า:
“ข้าพเจ้าขอย้ำว่า ระบอบการปกครอง ที่ปกครองชาวอิรักด้วยความรุนแรงแห่งไฟ และกำลังของเหล็กกล้า (ด้วยการบังคับขู่เข็ญ) ซึ่งปฏิเสธสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพวกเขา จะไม่สามารถคงอยู่ได้”
ในการปราศรัย ทั้งทางด้านสังคมและการเมือง ทั้งในงานเขียนและสุนทรพจน์ อยาตุลเลาะฮ์ ศ็อดรฺ พยายามที่จะเรียกร้องเชิญชวนกลุ่มอิรักทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงนิกาย ชาติพันธุ์ ชนเผ่า และไม่สำคัญว่าพวกเขาจะเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด หรือเป็นฆราวาสนิยม โดยปราศจากอคติหรือความแตกต่าง นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเสรี และเป็นธรรม:
“ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้พวกบาธ มอบสิทธิแก่ชาวอิรักในการดำเนินการต่างๆ ผ่านการเลือกตั้ง ที่เป็นเสรีและยุติธรรมซึ่งจะมีผลทำให้มีการจัดตั้งรัฐสภา ที่เป็นตัวแทนของชาวอิรักทั้งหมดอย่างแท้จริง”
อยาตุลเลาะฮ์ อัล-ศ็อดรฺ เชิญชวนชาวอิรักทั้งหมด ทั้งชาวอาหรับ ชาวเคิร์ด ชีอะฮ์ และซุนนี เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้านซัดดัม โดยชี้ว่า นี่เป็นวิธีเดียวที่จะนำไปสู่การได้มาซึ่งเสรีภาพ และสิทธิ และเพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีของประเทศ ที่ถูกทำลายล้างไปโดยพวกบาธ เขาเปิดโปงความหลอกหลวงของซัดดัม ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้นำของชาวซุนนี ในอิรัก โดยกล่าวว่า:
“ทรราชซัดดัม และผู้ติดตามของเขากำลังพยายามเกลี้ยกล่อมลูกหลานชาวซุนนีของเราว่า การต่อสู้นี้เป็นการต่อสู้ระหว่างชาวชีอะห์กับชาวซุนนี เพื่อหันเหชาวซุนนีออกจากการต่อสู้กับศัตรูร่วมของเรา [หมายถึง ระบอบเผด็จการ]”
อยาตุลเลาะห์ อัล-ศ็อดร์ เชื่อว่า มันเป็นความรับผิดชอบของชาวอิรักทุกคน ที่จะต้องต่อสู้เพื่อให้บรรลุถึงซึ่งเสรีภาพความยุติธรรม คุณธรรม และการปกครองที่มีเกียรติ ตามค่านิยมและหลักการของศาสนาอิสลาม เขาปราศรัยกับชาวอิรักว่า:
“จงรวมจุดยืน และแนวคิดของคุณภายใต้ร่มธงของอิสลาม เพื่อประโยชน์ในการกอบกู้อิรักจากฝันร้ายของกลุ่มทรราชกลุ่มนี้ และเพื่อสร้างอิรักที่เสรีและสง่างาม อิรัก ที่ปกครองโดยความยุติธรรมของศาสนาอิสลาม และที่ซึ่งศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ เป็นเรื่องสูงสุด และพลเมืองทั้งหมดจากเชื้อชาติ และนิกายทั้งหลาย — พวกเขาทั้งหมด — ล้วนรู้สึกเสมือนเป็นพี่น้องที่ทำงานร่วมกัน ในการนำพาประเทศ สร้างชาติใหม่ และตระหนักถึงค่านิยมอิสลามอันสูงส่ง ตามพื้นฐานแห่งสาส์นที่แท้จริง และประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของเรา”
ชะฮีด อัล-ศ็อดรฺ ในคำกล่าวของนักปราชญ์ นักปฏิวัติ นักเคลื่อนไหว และนักต่อสู้อิสลามแห่งยุคสมัย
“ซัยยิด มูฮัมมัดบาเกร อัล-ศ็อดรฺ เป็นนักคิดอิสลามที่สำคัญ และอิสลามควรจะได้รับประโยชน์จากเขามากกว่านี้ ข้าพเจ้าหวังว่า ความคิดของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ จะถูกนำมาวิเคราะห์ศึกษาโดยชาวมุสลิม”
“การต่อสู้ของชะฮีด อัล-ศ็อดรฺ ความกล้าหาญ, ความแน่วแน่เปิดเผย, ความเป็นมิตร, ความยุติธรรมของเขา และในท้ายที่สุด การพลีชีพของเขา คือ แบบอย่างสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเหล่ามูญาฮีดีนชาวอิรัก และประชาชนชาวอิรัก”
“ซัยยิด มูฮัมมัด อัล-ศ็อดรฺ ถูกกดขี่โดยการถือกำเนิดในสังคมตะวันออก (ที่ไม่เข้าใจเขา) พระเจ้าได้มอบพรสวรรค์ให้เขา ซึ่งพระองค์ไม่ได้มอบมันให้กับนักเรียนคนอื่น ๆ ของฉัน”
“สถานะและบุคลิกภาพทางวิชาการของอยาตุลเลาะห์ ซัยยิด อัล ศ็อดรฺ นั้นเป็นที่ชัดเจนสำหรับทุกคน และความพยายามของเขาในการช่วยเหลือชนรุ่นหลังในอนาคต ให้รอดพ้นจากการงานทางโลกวัตถุ และลัทธิวัตถุนิยมเป็นสิ่งที่ยากจะลืมเลือน”
“ชะฮีด อัล-ศ็อดรฺ มีบทบาทสำคัญในงานของอิสลามในอิรัก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงถูกลอบสังหาร หากเป็นเพียงสำนักคิดมันคงไม่สมบูรณ์ เพราะความคิดต้องเกี่ยวข้องกับการกระทำเสมอ”
- อยาตุลเลาะฮ์ มิศบาฮ์ ยัษดี
“ชะฮีด ศ็อดรฺ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่มีคุณค่า เพื่อพัฒนาประเด็นทางปรัชญา และตรรกะ และเพียงพอแล้วสำหรับเขา ที่จะมีความภาคภูมิใจ ซึ่งในยุคหนึ่ง ที่ประเด็นเหล่านี้ได้ประสบกับความยากลำบากอย่างมาก ทั้งยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดที่เห็นได้ชัดเจนในสาขานี้ — ทว่าเขาได้เขียนหนังสืออันทรงคุณค่าสองเล่ม ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่ง(เป็นผลงานที่)ได้รับความชื่นชมจากผู้อื่น และยังคงเป็นวิชาศึกษา และเป็นประโยชน์(จนถึงปัจจุบัน)”
“ชะฮีด อัล-ศ็อดรฺ สามารถหาวิธีแก้ไขปัญหา ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเป็นเวลา 150 ปี ได้ ใครจะเชื่อว่า อาชูรอจะถูกรื้อฟื้น ภายหลังจาก 14 ศตวรรษ? และ ฮูซัยนี อีกคนหนึ่ง จากเชื้อสายที่ยิ่งใหญ่จะปรากฏขึ้นอีกครั้ง พร้อมจุดชนวนการต่อสู้ และ(ริเริ่ม)กัรบาลาของอิมามฮูเซน (อ.) อีกครั้งหนึ่ง?
- ชะฮีด อบูมะฮ์ดี อัล มูฮันดิส
“ในช่วงเวลาของเขา ชะฮีด อัล-ศ็อดรฺ ยืนหยัดต่อสู้กับศัตรูด้วยความห้าวหาญ เขากล้าหาญมาก และในช่วงเวลาของการปฏิวัติอิสลาม เขาได้ให้คำมั่นว่าจะจงรักภักดีต่ออิมามโคมัยนี และเขาได้ทำตามภารกิจของเขา”
“ชะฮีด มูฮัมมัด บาเกร อัล-ศ็อดรฺ คือ สำนักคิด เขาเป็นบุคคล ผู้ซึ่งแนวคิด และหนังสือของเขากระจายไปทั่วประเทศอิสลาม และเขาได้หยั่งรากลงไปในหัวใจของเยาวชนผู้ศรัทธาของเรา”
ซัยยิดะฮ์ อามีนะฮ์ อัล-ศ็อดรฺ คือใคร?
ในห้วงชีวิตอันแสนสั้น ซัยยิดะฮ์ อามีนะฮ์ อัล ศ็อดรฺ หรือ ในนามที่เป็นที่รู้จักว่า ซัยยิดะฮ์ บินตุลฮูดา น้องสาวของชะฮีด บาเกร อัล-ศ็อดรฺ ได้สร้างแรงบันดาลใจ ในการเผชิญหน้ากับทรราช และการกดขี่ ให้แก่ชายหญิงจากรุ่นสู่รุ่น เธอเกิดที่กาซิมิยะฮ์ กรุงแบกแดดในปี1937 บิดาของเธอเสียชีวิตในช่วงวัยเด็ก และเนื่องจากสถานการณ์ที่ยากลำบากของครอบครัว ซัยยิดะฮ์ บินตุลฮูดาจึงได้รับการศึกษาจากที่บ้าน โดยผู้เป็นแม่ของเธอเป็นหลัก และต่อมาโดยอยาตุลเลาะฮ์ อัล-ศ็อดรฺ พี่ชายของเธอ
ทักษะของซัยยิดะฮ์ บินตุลฮูดา ที่สามารถอธิบายข้อกังวลของมวลชน ได้อย่างฉะฉาน และมีวาทศิลป์ ทำให้เธอกลายเป็นสตรีที่มีอิทธิพลในอิรัก เมื่ออายุยังน้อย เธอพัฒนาความสามารถในด้านการอ่านและเขียน ซึ่งช่วยให้เธอมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับพวกบาธในเวลาต่อมา
ในปี 1966 เธอเริ่มงานเขียนที่คมคาย และมีประสิทธิภาพในนิตยสาร Al-Da’awa และเป็นหนึ่งในนักเขียนหลักของนิตรสาร ซัยยิดะฮ์ บินตุลฮูดา เขียนเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม ที่ผู้หญิงอิรักกำลังเผชิญในยุคสมัยนั้น
ซัยยิดะฮ์ บินตุลฮูดา เป็นนักการศึกษา ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของสตรี เธอแสดงความพร้อมเสมอ สำหรับการเป็นกระบอกเสียงแก่ผู้คนที่ถูกกดขี่ เธอคอยสะท้อนความกังวลของผู้หญิงอิรัก ให้ความช่วยเหลือ แก้ปัญหาและตอบคำถามทางศาสนาต่างๆ ในปี 1967 เธอได้ช่วยสร้างโรงเรียนสตรีหลายแห่งในกรุงแบกแดด และในเมืองนาญัฟ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการบริหารโรงเรียนสตรีเหล่านี้ ในฐานะอาจารย์ใหญ่
ในมุมมองของชะฮีดะฮ์ ซัยยิดะฮ์ อามีนะฮ์ บินตุลฮุดา วิถีชีวิตของสตรี ควรจะเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ โดยเธอเคยกล่าวว่า:
“วิถีชีวิตของสตรี ควรเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ ดังนี้พวกเธอจึงจะได้รับทราบถึงแก่นแท้ของอิสลาม ตามความเป็นจริงอันงดงามของมัน โดยมิใช่การคุ้นเคยกับความหละหลวมทางด้านศีลธรรมที่มีอยู่ในผู้หญิงตะวันตก และการปิดกั้นทางด้านความคิดที่มีอยู่ในตะวันออก อิสลามต้องการให้สตรี เป็นดั่งดวงประทีปแห่งรัศมีของพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่สังคมที่ทุจริต พยายามจะทำให้เธอกลายเป็นเพียงควันไฟ อิสลามต้องการให้สตรี ถูกมองเห็น ดั่งเช่นบุปผาที่มีกลิ่นหอม ขณะที่แนวคิดแห่งกามารมณ์ ต้องการให้เธอเป็นเหมือนใบไม้เหี่ยวสีเหลือง ด้วยมีสายลมที่คอยพัดพามันสู่หายนะ เอกองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ผู้ทรงเดชานุภาพ ทรงสร้างเธอให้เป็นกัปตันเรือ แต่อารยธรรมจอมปลอม ทำให้เธอกลายเป็นเหมือนหุ่นยนต์มาระยะหนึ่งแล้ว พระองค์สร้างเธอให้เป็นดั่งโรงเรียน (สถานที่อบรมบ่มเพาะ) ผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น แต่อำนาจแห่งความชั่วร้ายกลับพยายามทำให้เธอกลายเป็นดั่งเครื่องจักรที่โง่เขลา” – ชะฮีดะฮ์ ซัยยิดะฮ์ อามีนะฮ์ บินตุลฮุดาฮฺ
นับได้ว่า เธอเป็นหนึ่งในสตรี ที่เต็มเปี่ยมด้วยความเด็ดเดี่ยว ผู้ซึ่งยืนหยัดอย่างไม่เกรงกลัวต่อการข่มขู่ และการล่วงละเมิดอย่างต่อเนื่องของทรราชแห่งยุคสมัย
การถูกประหารชีวิตของพวกเขา
เมื่อกลุ่มบาธ จับกุมอยาตุลเลาะฮ์ อัล-ศ็อดรฺ น้องสาวของเขา ซัยยิดะฮ์ บินตุลฮูดา ได้รีบไปยังมัสยิดอิมามอะลี (อ.) ในเมืองนาญัฟ และปลุกระดมผู้คน:
“ทำไมคุณถึงเงียบ ในขณะที่ผู้นำของคุณถูกจับกุม? ทำไมคุณถึงเงียบในขณะที่ผู้นำของคุณถูกทรมานในคุก? จงออกมาและทำการประท้วง !”
ถ้อยคำอันทรงพลังเหล่านี้ ได้ปลุกกระตุ้น และสนับสนุนให้ชายและหญิงทั้งหลายลุกขึ้นยืนหยัด และร่วมมือร่วมใจกันต่อต้านการปกครองที่กดขี่
การประท้วงถูกจัดขึ้นหลายแห่ง เป็นการกดดันให้ระบอบการปกครองทรราช จำเป็นต้องปล่อยตัวอยาตุลเลาะห์ อัล-ศ็อดรฺ อย่างไรก็ตาม เขาถูกกักบริเวณในบ้าน จนกระทั่งถูกจับกุมอีกเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 5 เมษายน 1980 พร้อมกับซัยยิดะฮ์ บินตุลฮูดา ผู้เป็นน้องสาว
ในวันที่ 9 เมษายน 1980 สามวันต่อมา หลังจากถูกทรมานอย่างหนักหน่วง พวกเขาทั้งคู่ก็ถูกประหารชีวิต และถูกฝังในเมืองนาญัฟอันศักดิ์สิทธิ์ มีรายงานว่า ซัดดัมเองเป็นบุคคลที่ยิงสังหารพวกเขา พวกเขาถูกฝังในสุสานวาดีอัสสลาม ในเมืองนะญัฟอันศักดิ์สิทธิ์
เมื่อซัดดัมถูกขอมิให้ทำการประหารชีวิต ซัยยิดะฮ์ บินตุลฮูดา เขาตอบว่า “คุณต้องการให้เราทำสิ่งผิดพลาดของยาซีดซ้ำ กระนั้นหรือ?” อันที่จริงแล้ว อยาตุลลอฮ์ ซัยยิด มูฮัมมัด บาเกร ศ็อดรฺ และซัยยิดะฮ์ บินตุลฮูดา ผู้เป็นน้องสาว ต้องเผชิญกับการกดขี่ และความอยุติธรรมในยุคสมัยของพวกเขา ในแง่มุมนี้การเคลื่อนไหวของทั้งคู่ จึงถือเป็นการเจริญรอยตามอุดมการณ์ของท่านอิมามฮูเซน (อ) และท่านหญิงซัยหนับ (สลามุลลฮิอลัยฮา) จากขบวนการปฏิวัติแห่งกัรบาลา อย่างแท้จริง
ด้วยการเจริญรอยตามอิมามฮูเซน (อ) ผู้ซึ่งเป็นทั้ง “อิมาม” และบรรพบุรุษของพวกเขาเอง ทั้งคู่ได้กลายมาเป็นต้นแบบของการเผชิญหน้ากับการปกครองที่อธรรม สำหรับขบวนการปฏิวัติอิสลามทั่วโลกมุสลิมแห่งยุคสมัย การยืนหยัดต่อสู้กับระบอบการปกครองที่กดขี่ อย่างห้าวหาญของอยาตุลเลาะห์ อัล-ศ็อดรฺ และซัยยิดะฮ์ บินตุลฮูดา จะก้องกังวานอยู่ในจิตสำนึกของอิสรชนตราบนานแสนนาน
______
แปลและเรียบเรียงจาก
Ahlulbayt Islamic Mission (@aim.islam)
tehrantimes.com