การเติบโตของอิสลามในญี่ปุ่น จากมัสยิดแค่ 2 หลัง วันนี้มีถึง 200 หลัง

ในปี 1970 ประเทศนี้มีมัสยิดอยู่เพียงแค่ 2 หลัง แต่ปัจจุบันนี้มุสลิมในประเทศญี่ปุ่นมีมัสยิดกว่า 200 หลังแล้ว

13052
(ภาพ) เด็กชายมุสลิมละศีลอดในเดือนรอมฎอนปีที่แล้วที่มัสยิดโตเกียว – รอยเตอร์

โตเกียว, ญี่ปุ่น – โตเกียวคามี หรือมัสยิดโตเกียว เป็นสถานที่ที่น่าแสวงหา ทั้งน่าตื่นตะลึงและลึกลับ ถึงแม้จะมีโครงสร้างแบบตุรกีที่สง่างาม มัสยิดแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ระหว่างแนวตึกอพาร์ทเมนต์ในละแวกที่อยู่อาศัยอันเงียบสงบของโยโยกิ อูเอฮาร่า

การก่อสร้างตัวอาคารปัจจุบันของมัสยิดเสร็จสิ้นเมื่อปี 2000 แต่มัสยิดแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านั้น ญี่ปุ่นได้เห็นประชากรมุสลิมจำนวนมากครั้งแรกในยุค 1930 และมัสยิดหลังแรกๆ ถูกก่อตั้งขึ้น มัสยิดนาโกย่าถูกสร้างขึ้นในปี 1931 และมัสยิดโกเบสร้างขึ้นในปี 1935 โดยผู้อพยพมุสลิมเชื้อสายอินเดีย

ผู้อพยพมุสลิมเชื้อสายทาทาร์ที่หนีการปฏิวัติจากรัสเซียเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่นในยุค 1930 และได้ก่อตั้งมัสยิดโตเกียวขึ้นในปี 1938

ฮันส์ มาร์ติน เครเมอร์ ศาสตราจารย์ด้านญี่ปุ่นศึกษาที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก และผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาในประเทศญี่ปุ่น ถือว่านี่เป็นมัสยิดที่โดดเด่นที่สุดในญี่ปุ่น เป็นมัสยิดที่ “ไม่เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังได้รับสนับสนุนการเงินจากหลายบริษัทในญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิตซูบิชิ และในพิธีเปิดนั้นมีบุคคลสำคัญและนักการทูตทั้งจากประเทศญี่ปุ่นและโลกมุสลิมเข้าร่วมหลายคน”

ในขณะที่โตเกียวคามีไม่ได้มีการสนับสนุนและความใกล้ชิดแบบเดียวกันกับรัฐบาลญี่ปุ่นและกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ในสมัยเดียวกัน มัสยิดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยใช้เงินทุนจากรัฐบาลตุรกี และเป็นทั้งสถานที่ทางศาสนาและพื้นที่ทางวัฒนธรรมในการจัดพิธีแต่งงาน การแสดงแฟชั่น การแสดงละคร นิทัศการ และการประชุม

 

การแต่งงานและการเข้ารับศาสนา

ห่างไกลจากนักท่องเที่ยว พื้นหินอ่อนและการตกแต่งภายในอย่างหรูหราในตรอกเล็กๆ ใกล้กับโตเกียวคามี คือ ดร.มูซา โอเมอร์ ที่โรงเรียนนานาชาติยูอาอิ โรงเรียนนี้เสียงดัง วุ่นวาย และเต็มไปด้วยเด็กๆ วันนี้เป็นวันเสาร์ และที่โรงเรียนมีกิจกรรมและการเรียนการสอนตั้งแต่ 10 นาฬิกาไปจนถึง 20 นาฬิกา ขณะที่ผู้นำในโรงเรียนกำลังจะเปิดการศึกษาแบบเต็มเวลาในอนาคตอันใกล้ แต่ปัจจุบันได้จำกัดให้มีการเรียนการสอนในวันเสาร์ตั้งแต่อิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ ไปจนถึงคาเรเต้และการคัดอักษรประดิษฐ์

โรงเรียนแห่งนี้ดำเนินการโดยศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศญี่ปุ่น (Islamic Centre of Japan – ICJ) สถาบันมุสลิมภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1966 โอเมอร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเอกอัครราชทูตซาอุดี้ฯ และเคยทำหน้าที่เป็นเอกอัครราชทูตซูดานประจำประเทศญี่ปุ่นถึง 2 สมัย เป็นผู้รักษาการประธานของศูนย์

วันนี้ โอเมอร์กำลังเตรียมจัดการแต่งงานให้คู่หนุ่มสาวคู่หนึ่งในห้องทำงานเล็กๆ ของเขา เป็นหนุ่มซาอุดี้ฯ กับสาวญี่ปุ่น โอเมอร์ดูแลเกี่ยวกับใบรับรองการสมรสและตอบคำถามในเวลาเดียวกัน เหมือนกับบรรยากาศในโรงเรียน การแต่งงานเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการและเรียบง่าย โดยที่ทั้งเจ้าสาวและเจ้าบ่าวอยู่ในชุดลำลอง เธอจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามและจะย้ายไปอยู่ซาอุดิอารเบียในเร็วๆ นี้

ระหว่างการพักสั้นๆ หญิงสาวถูกถามว่านี่เป็นครั้งแรกที่เธอได้รู้จักกับศาสนาอิสลามหรือไม่ เธอตอบว่าไม่ใช่ ความสัมพันธ์ของเธอกับชายหนุ่มซาอุดี้ฯ เริ่มต้นขึ้นทางออนไลน์เมื่อสองปีที่แล้ว และพวกเขาตัดสินใจแต่งงานกัน โอเมอร์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสถานทูตซาอุดี้ฯ มาเป็นเวลานาน ได้รับการติดต่อให้ช่วยทั้งคู่จัดเตรียมการแต่งงาน

เมื่อเจ้าสาวชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนศาสนาแล้ว เธอเข้าร่วมกลุ่มมุสลิมญี่ปุ่นเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง เนื่องจากขาดสถิติของทางการเกี่ยวกับมุสลิมในประเทศญี่ปุ่น การประมาณจากการศึกษาประชากรพบว่าอยู่มีผู้อาศัยที่เป็นมุสลิมอยู่ประมาณ 70,000 ถึง 120,000 คน โดย 10 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนนี้เป็นคนญี่ปุ่น โดยที่ประชากรทั้งหมดของประเทศมีมากกว่า 127 ล้านคน

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organisation for Migration – IOM) ระบุว่า จำนวนคนงานต่างชาติในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในรอบ 20 ปีนี้ และมากกว่าสองล้านคนเมื่อปลายปี 2011
โยชิโอะ ซูกิโมโต้ อธิบายว่าประชากรคนงานต่างชาติ ซึ่งรวมถึงมุสลิมจากปากีสถานและบังกลาเทศเป็นต้น เพิ่มขึ้นในปลายปี 1980 และต้นปี 1990 เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นเสนอโครงการละเว้นวีซ่าเพื่อระบุแรงงานสูงอายุและการขาดแคลนแรงงาน

 

มัสยิดในญี่ปุ่น

โอเมอร์มาศึกษาด้านสถาปัตยกรรมด้วยทุนการศึกษาของสถานทูตญี่ปุ่นในปี 1970 หลังจากการก่อตั้งสมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ซูดานในปี 1964 ในเมืองคาทูม ประเทศซูดาน เขาพูดด้วยความภาคภูมิใจเกี่ยวกับการเติบโตของอิสลามและการวางรากฐานต่างๆ ทางสถาบันในญี่ปุ่น

“มีมัสยิดอยู่แค่สองหลังในโตเกียวเมื่อตอนที่ผมมาที่นี่ในปี 1970” เขากล่าว ปัจจุบันมีมัสยิดและมุซอลลา หรือสถานที่ใช้ทำละหมาดชั่วคราว 200 แห่ง

โอเมอร์เป็นบุคคลผู้มีอิทธิพลในการส่งเสริมสถาบันในญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยรากฐานที่ลึกในประเทศ มีสถานะเป็นอดีตนักการทูต และมีการติดต่อสัมพันธ์ในตะวันออกกลาง เขาช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ในการหาเงินทุนเพื่อก่อตั้งมัสยิดและสถาบันต่างๆ แต่ถึงกระนั้น ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศญี่ปุ่นกลับไม่มีมัสยิดเป็นของตัวเอง

กิจกรรมสำหรับเด็กๆ ในโรงเรียน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2011 มีความสำคัญกว่ามัสยิดมาก เขากล่าว “คุณสามารถละหมาดที่ไหนก็ได้”

ศูนย์กลางอิสลามต้องตัดค่าใช้จ่ายประจำปีลงเกือบครึ่งตั้งแต่ต้นปี 1990 และปัจจุบันจ้างพนักงานทำงานเต็มเวลาหนึ่งคน โดยลดจาก 25 คน เพราะเงินทุนได้มาจากการบริจาคของเอกชนในตะวันออกกลาง

นักวิจัยบางคนได้นำเสนอรูปแบบในเชิงลบของอิสลามที่มุสลิมในญี่ปุ่นต้องเผชิญนับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ที่เกิดเหตุโจมตีสหรัฐฯ

ถึงแม้ตำรวจโตเกียวจะแก้ไขความผิดพลาดที่กระทำโดยศาลโตเกียวเมื่อเดือนมกราคม แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้แสดงความห่วงใจในรายงานล่าสุดเกี่ยวกับการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบต่อชาวมุสลิมและมัสยิดในญี่ปุ่น

บทความหนึ่งในวารสารเอเชียแปซิฟิก Japan Focus เขียนว่า “ตำรวจจัดตัวแทนไปประจำที่มัสยิด ติดตามบุคคลต่างๆ ไปที่บ้านของพวกเขา เก็บชื่อและที่อยู่ของพวกเขาจากข้อมูลทะเบียนต่างด้าว และรวบรวมฐานข้อมูลของบุคคลมากกว่า 70,000 คน ในบางกรณีตำรวจได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มัสยิดและสถานที่อื่นๆ”

 

ร่องรอยของอิสลาม

โอเมอร์บอกว่า เขาเลือกที่จะมองสภาพแวดล้อมภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายนว่าเป็นการ “เปิดประตูเพื่อพูดกับประชาชน” ในญี่ปุ่นเกี่ยวกับศาสนาของเขาด้วย “ความสนใจ” ในอิสลามที่มากยิ่งขึ้น

ขณะที่อิสลามอาจไม่มีร่องรอยในญี่ปุ่นเหมือนกับศาสนาอื่นๆ เช่นพุทธ และคริสต์ แต่ร่องรอยความรู้ของมันและของศาสดามุฮัมมัดที่นี่สามารถสืบกลับไปได้ถึงศตวรรษที่ 8

ความเกี่ยวข้องอย่างจริงจังและยั่งยืนกับโลกมุสลิมเริ่มต้นขึ้นสำหรับประเทศญี่ปุ่นในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดสู่โลกภายนอกของมันในช่วงต้นของยุคเมจิ (1868-1890) ด้วยภารกิจการค้าขายและการรวบรวมข้อมูลทางเรือไปยังอาณาจักรออตโตมานและตะวันออกกลาง

ข้อมูลที่พิสูจน์ได้ของการเข้ามาในญี่ปุ่นของมุสลิมสามารถระบุได้ว่าอยู่ในยุคเดียวกันนี้ โดยมีบันทึกของพ่อค้าชาวอินเดียและกะลาสีเรือชาวอินเดียเชื้อสายมลายูที่ทำงานที่ท่าเรือในเมืองโยโกฮาม่าและโกเบของญี่ปุ่น

มัสยิดโตเกียว, โอเมอร์, ศูนย์กลางอิสลามแห่งญี่ปุ่น และเด็กๆ ในโรงเรียนอิสลาม เป็นบทตอนในปัจจุบันของประวัติศาสตร์อันเก่าแก่และกำลังถูกค้นคว้าของอิสลามและญี่ปุ่น

 

 

แปลเรียบเรียง : กองบรรณาธิการเอบีนิวส์ทูเดย์
Source: Al Jazeera