ภาพ AFP
เหตุการณ์จับตัวประกันสุดระทึกในนครซิดนีย์ยุติลงแล้วท่ามกลางความเศร้าสลด เมื่อตัวประกันผู้บริสุทธิ์ต้องมาเสียชีวิตถึง 2 ราย
นาย “มาน ฮารอน (ฮารูน) โมนิส” ชาวอิหร่านซึ่งลี้ภัยมาอยู่ในออสเตรเลีย คือผู้ที่ถูกระบุว่าเป็นคนร้ายที่ได้จี้จับตัวประกัน 17 คนที่ร้านลินด์ ช็อกโกแลต คาเฟ่ ย่านมาร์ติน เพลส กลางนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา จนในที่สุดสำนักงานตำรวจรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้ตัดสินใจส่งหน่วยคอมมานโดบุกเข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน หลังเหตุการณ์จับตัวประกันผ่านมานานถึง 16 ชม. เป็นเหตุตัวประกันเสียชีวิต 2 ศพ และมีผู้บาดเจ็บ 4 ราย ขณะที่นาย ฮารอน โมนิส คนร้าย ผู้มีประวัติอาชญากรรมยาวเหยียดถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้
เปิดประวัติคนร้าย
ชายที่อยู่เบื้องหลังการจับตัวประกันหลายสิบคน ที่ร้านลินด์ ช็อกโกแลต คาเฟ่ ย่านธุรกิจ ‘มาร์ติน เพลส’ ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ถูกเปิดเผยจากตำรวจของประเทศออสเตรเลียว่าคือ “มาน ฮารอน โมนิส” (Man Haron Monis) วัย 49 ปี เกิดที่ประเทศอิหร่าน แต่ลี้ภัยมาอยู่ออสเตรเลีย
เขามีประวัติก่ออาชญากรรมยาวเหยียด รวมถึงพฤติกรรมสร้างความเกลียดชัง นอกจากนั้นยังถูกกล่าวหาว่า ฆาตกรรมภรรยาเก่าของตนเองด้วย
ในรายงานของ สำนักข่าว เทเลกราฟ รวมทั้งสำนักข่าวต่างประเทศอื่นๆ ระบุ นายโมนิส มีประวัติเกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมยาวเหยียด เขาถูกตั้งข้อหาคุกคามทางเพศ 22 กระทง, กระทำอนาจารที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง 6 คนอีก 14 กระทง และอื่นๆ อีก 4 กระทง
เขาเคยตกเป็นข่าวระดับประเทศ หลังมีพฤติกรรมแสดงความเกลียดชัง ด้วยการส่งจดหมายและดีวีดี ถึงครอบครัวของทหารออสเตรเลียที่ถูกสังหารในอัฟกานิสถาน และแม่ของเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียที่เสียชีวิตในเหตุระเบิดในอินโดนีเซีย ระหว่างปี 2007-2009 ทำให้เขาถูกศาลตัดสินให้บำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 300 ชั่วโมง เมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมกัน อามิราห์ ดรูดิส ภรรยาวัย 34 ปีของเขา
นายโมนิส ยังถูกตั้งข้อหาในปีนี้ว่า เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนางโนลีน เฮย์สัน พาล อายุ 30 ปี ภรรยาเก่าของเขา โดยเธอถูกพบที่บันไดของอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ในสภาพถูกแทงด้วยของมีคมหลายครั้ง เมื่อ เม.ย.ปีก่อน แต่นายโมนิส อ้างว่าเขาถูกตำรวจลับของอิหร่าน และหน่วยสืบราชการลับภายในประเทศของออสเตรเลีย (ASIO) จัดฉาก และประกันตัวออกมาสู้คดี
นอกจากนั้นในเว็บไซต์ของนายโมนิส มีการประกาศเป็นแสดงความจงรักภักดีต่อกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอซิส) อีกด้วย
เชคกำมะลอ แอบอ้างเป็นนักการศาสนา
นอกจากประวัติอาชญากรรมอันยาวเหยียด นายมาน ฮารอน โมนิส ยังได้อ้างตัวว่าเป็นนักการศาสนา หรือ เชค (sheikh) แต่ด้วยพฤติกรรมที่ฉาวโฉ่ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่า “นักการศาสนาผู้น่ารังเกียจ” สื่อยังรายงานด้วยว่า เขาอ้างว่าเคยฝึกฝนมนต์ดำ ทั้งอ้างตัวว่าเป็นหมอบำบัดทางเพศอีกด้วย
ที่สำคัญเขายังได้แอบอ้างว่าตนเป็น “อะยาตุลเลาะฮ์” ซึ่งเป็นระดับขั้นของนักการศาสนาชั้นสูงของมุสลิมชีอะห์ โดยในในเว็บไซต์ของเขาได้ระบุว่าเขาเป็น “อะยาตุลเลาะฮ์ บุรูญัรดี” และทำการหากินด้วยกับการโกหกเช่นนี้
โดยที่ผ่านมาเขาได้สวมชุดแบบ “นักการศาสนามุสลิมชีอะห์” ออกปรากฏตามสื่อ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันมานานและถือว่าสร้างความเสื่อมเสียให้สถาบันศาสนา จนได้รับการต่อต้านจากมุสลิมในออสเตรเลียมานานแล้ว
มาน ฮารอน โมนิส แอบอ้างสวมชุดนักการศาสนามุสลิมชีอะห์
อิกบาล พาตีล (Iqbal Patel) อดีตประธานสภาชูรออิสลามออสเตรเลีย (Australian Federation of Islamic Councils) ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ตนได้เคยเรียกร้องให้ “เชคกำมะลอ” ที่อ้างตนว่าเป็นผู้รู้ ให้แสดงหลักฐานวุติการศึกษาและเอกสารยืนยันสถานะ เขากล่าวว่า “เรามีการตรวจสอบอย่างละเอียดกรณี ของเชค ฮารอน ซึ่งเราคิดว่าบุคคลเช่นนี้ไม่มีตัวตนจริง”
“และข้าพเจ้าได้ถามผู้นำมุสลิมในออสเตรเลียแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีใครรู้อะไรเลยเกี่ยวกับเขา”
“ขณะที่ชายผู้นี้อพยพหนีจากอิหร่าน เป็นที่รู้จักในนาม มุฮัมมัด ฮะซัน มันตะกี (บูรูญัรดี) ในเว็บไซต์ของเขาในออสเตรเลีย อ้างตนเป็นอยาตุลเลาะฮ์ บูรูญัรดี และทำการหากินด้วยกับการโกหกเช่นนี้”
ด้านผู้นำชีอะห์ในออสเตรเลีย “กะมาล มุซัลมานี” ก็เคยออกมาเตือนตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อน โดยได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 มกราคม ปี 2008 ซึ่งเว็บไซต์ www.theaustralian.com ได้รายงานไว้ว่า ผู้นำชีอะห์ท่านนี้ได้ออกมาโต้การแอบอ้างของเชคฮารอนอย่างรุนแรง พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการตำรวจสอบสวนสถานะบุคคลและเบื้องหลังของเขาผู้นี้
กะมาลให้สัมภาษณ์ว่า ฮารอน โมนิส ไม่ใช่อุลามาอ์หรือนักการศาสนา “ผมขอยืนยันว่า ในออสเตรเลียไม่มีใครที่เป็นอยาตุลเลาะฮ์ อีกทั้งพี่น้องมุสลิมและผู้นำอิสลามในออสเตรเลียก็ไม่มีใครรู้จักเขา และไม่เคยรู้ประวัติของเขามาก่อน”
เชค มุซัลมานี กล่าวย้ำว่า “เราไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีความสัมพันธ์ใดๆ มาก่อนเลย ทางตำรวจจำต้องตรวจสอบว่าเขาผู้นี้เป็นใคร และต้องรับผิดชอบหากเกิดอะไรขึ้น”
เชค กะมาล มุซัลมานี เขาได้กล่าวย้ำถึงเนื้อหาต่างๆ ที่มีอยู่บนเว็บไซด์ของโมนิส ว่า “เนื้อหาต่างๆ เหล่านี้บ่งชี้ได้ว่า เขามีความรู้เกี่ยวกับอิสลามและมัซฮับชีอะห์น้อยมาก” และกล่าวเสริมว่า “จากลักษณะของการเขียนคำวินิจฉัยของเขาที่ปรากฏบนเว็บไซต์ ข้าพเจ้ามั่นใจว่า เขาไม่ได้นับถือมัศฮับชีอะห์ ในออสเตรเลียไม่มีอยาตุลเลาะฮ์ เราจะไม่มีวันปฏิบัติตามเขา เราจะไม่ให้การสนับสนุนเขา”
ทั้งนี้ในออสเตรเลียมีชีอะห์ประมาณสามหมื่นคน
ที่แท้หนีคดีฉ้อโกง อิหร่านเคยเตือนออสเตรเลียให้ระวัง
มัชริกนิวส์ (mashreghnews) สื่ออิหร่านได้รายงาน เปิดปูมประวัติของ ฮารอน โมนิส ซึ่งระบุว่า ก่อนที่โมนิสจะอพยพจากอิหร่านในปี 1996 เขาเป็นที่รู้จักในนาม มุนตะกี บุรุยัรดี (Manteghi Boroujerdi) หรือ มุฮัมหมัด ฮะซัน มุนตะกี (Mohammad Hassan Manteghi) และในการให้สัมภาษณ์ออกสื่อในปี 2001 นายโมนิสได้อ้างตัวว่า “เคยทำงานให้กับหน่วยงานข่าวกรองอิหร่าน”
ขณะที่สาเหตุหลักของการหลบหนีออกจากอิหร่านั้น มิใช่ด้วยสาเหตุทางการเมืองอะไรตามที่เขากล่าวอ้าง หากแต่เป็นเพราะหนีคดี “ฉ้อโกง” เจ้าของบริษัททัวร์แห่งหนึ่งที่ไว้วางใจเขาเนื่องจากเห็นว่าเป็นคนเคร่งศาสนา !!
โดยเหตุเกิดในปี 1995 เมื่อเขารับเงินจากลูกทัวร์จำนวน 50 คน ที่ต้องการเดินทางไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันตกเป็นเป็นค่าดำเนินการวีซ่าจำนวนสองแสนดอลลาร์ แต่ปรากฏว่าจากนั้นเขาก็หายเข้ากลีบเมฆ ก่อนจะลักลอบหนีไปยังออสเตรเลีย
ซึ่งคดีนี้ศาลอิหร่านได้พิพากษาเขาตามความผิดในข้อหา กระทำการฉ้อโกงทรัพย์สิน แต่เขาได้อ้างว่า เพราะตนมีแนวคิด liberalism (เสรีนิยม) ทำให้ถูกทางการอิหร่านไล่ล่า จึงขอลี้ภัยทางการเมืองกับประเทศออสเตรเลีย ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียได้ทำการตรวจสอบ และพิจารณาความประพฤติ ความเหมาะสม และด้านอื่นๆ ของเขาแล้ว ทางการจึงมอบสัญญาติออสเตรเลียให้กับเขา
ขณะเดียวกัน มาซิยะห์ อัฟคาม โฆษกระทรวงต่างประเทศอิหร่านก็ได้ออกมาบอกว่า ในกรณีของนายมาน ฮารอน โมนิส นี้ ทางการอิหร่านได้เคยเตือนรัฐบาลออสเตรเลียหลายครั้ง
“อิหร่านได้เตือนหน่วยงานออสเตรเลียหลายครั้งให้เฝ้าจับตาชายผู้นี้ที่ได้ขอสถานภาพลี้ภัยทางการเมืองยาวนานกว่า 20 ปีเนื่องมาจากประวัติและปัญหาทางสุขภาพจิตของเขา” อัฟคามกล่าว
นอกจากนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของอิหร่าน ก็ได้แถลงกับสื่อมวลชนว่า ชาวอิหร่านที่ลี้ภัยในออสเตรเลีย เป็นผู้ร้ายหลบหนีคดีจากอิหร่าน ซึ่งทางการอิหร่านเคยทำเรื่องขอตัวจากตำรวจออสเตรเลียแล้ว แต่ทางการออสเตรเลียไม่ยอมส่งผู้ร้ายให้ โดยให้เหตุผลว่า อิหร่านแะลออสเตรเลียไม่มีข้อตกลงเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดน
มุสลิมขณะกำลังขอพรหลังวางดอกไม้แสดงความไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต (ภาพ AFP ที่มา the guardian)
ผลกระทบใหญ่หลวง
และแม้หลังเหตุการณ์จี้จับตัวประกันที่ยุติลงด้วยการนองเลือด นายกรัฐมนตรีโทนี แอ็บบ็อตต์ แห่งออสเตรเลีย ได้ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชน ว่า ทางเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียจะต้องมีการสืบสวนหาสาเหตุว่าอะไรคือสิ่งที่นายโมนิส ต้องการในการก่อเหตุจี้จับตัวประกัน และทำไมเขาจึงเลือกร้านกาแฟ เป็นเป้าหมาย?
กระนั้นถึงตอนนี้ก็ค่อนข้างสรุปได้คร่าวๆ ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ของคนร้ายไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการใด แรงจูงใจมิได้มาจากเหตุผลทางการเมืองหรืออยู่ในกรณีการก่อการร้าย ถึงแม้เขาจะอ้างเรื่องไอซิสก็ตาม แต่พฤติกรรมของเขามาจากความเชื่อส่วนตัวที่สุดโต่ง และการที่เขามีคดีความในศาลซึ่งถูกฟ้องร้องอยู่หลายคดี รวมทั้งคดีใหญ่อย่างการฆาตกรรมภรรยาของตัวเอง นอกจากนั้นยังมีคดีล่วงละเมิดทางเพศอีกหลายคดีด้วย
ทว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลเพียงคนเดียวที่มีแนวคิดสุดโต่งหรืออาจถึงขั้นเป็นบุคคลวิกลจริตครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาคมโลก ที่ไม่จำเพาะเพียงแค่นครซิดนีย์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
หลายฝ่ายกำลังอยู่ในห้วงวิตกว่า ภายหลังจากนี้จะไม่มีเมืองใดที่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว เพราะเหตุการณ์จับตัวประกันที่เกิดกลางนครซิดนีย์ซึ่งมาจากฝีมือของคนเพียงคนเดียว แต่สามารถจับตัวประกันได้ถึง 17 คน และลากสถานการณ์สู่ห้วงวิกฤติยาวนานกว่า 16 ชั่วโมงกว่าเจ้าหน้าจะคลี่คลายได้นี้ จะเป็นตัวอย่างให้ผู้ก่อการร้ายตัวจริงได้นำไปเป็นแนวทางและเลียนแบบได้
ขณะเดียวกัน การที่คนร้ายได้แสดงสัญลักษณ์ของความเป็นมุสลิม ก็ได้สร้างกระแสเกลียดชังศาสนาอิสลาม (islamophobia) ยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งในออสเตรเลียรวมทั้งในยุโรปก็มีความความพยายามที่จะสร้างกระแสดังกล่าวอยู่แล้ว
กอปรกับในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน กลุ่มก่อการร้าย “ตอลีบัน” ได้บุกโจมตีโรงเรียน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของปากีสถาน จนทำให้เด็กนักเรียนเสียชีวิตกว่า 145 ราย และมีผู้เสียชีวิตบางรายถูกเผาทั้งเป็นด้วย
แล้วยังมีกรณีอัลกออิดะฮ์โจมตีด้วยระเบิดคาร์บอมบ์ 2 ลูกในเมืองราดา ตอนกลางของประเทศเยเมน และระเบิดลูกหนึ่งไปถูกรถบัสรับส่งนักเรียน จนทำให้มีเด็กๆ เสียชีวิตจำนวนมากอีกนั้น
นับจากนี้ต่อไปจึงน่าสนใจว่า ประชาโลกจะมีวิธีการในการรับมือกับพวกหัวรุนแรงสุดโต่งเช่นไร และจะค้นหาแนวทางเพื่อฝ่าวิกฤต “การ
รายงานพิเศษโดย : กองบรรณาธิการเอบีนิวส์ทูเดย์