บ่อน้ำมัน : แนวรบใหม่ในเหตุการณ์รุนแรงทางนิกายของเยเมน

การสู้รบเพื่อเข้าถึงทรัพยากรพลังงานของเยเมนขยายขอบเขตไปไกลถึงแนวชายแดนของประเทศแล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คนหนึ่งกล่าวว่า “เยเมนเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศ”

1647

(ภาพ) ตำรวจเยเมนมายังบ้านพักของเอกอัครราชทูตอิหร่านที่พังเสียหาย หลังเกิดเหตุระเบิดรถยนต์ในเมืองซานา ประเทศเยเมน เมื่อวันพุธที่ 3 ธันวาคม 2014 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของเยเมนกล่าวว่า ระเบิดรถยนต์ได้ระเบิดขึ้นอย่างรถรุนแรงเมื่อเช้าวันพุธในเมืองซานา เมืองหลวงของเยเมน โดยมีเป้าหมายที่บ้านพักของเอกอัครราชทูตอิหร่าน (AP/Hani Mohammed)

ขณะที่เยเมนได้รับการชื่นชมจากทำเนียบขาวว่าประสบความสำเร็จในการปฏิวัติ เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบต่อโลกในด้านความร่วมมือทางการเมือง มีการเปลี่ยนผ่านทางสถาบันที่ถูกวางแผนมาอย่างดี และเป็นผู้มีส่วนร่วมในโครงการริเริ่มต่อสู้กับการก่อการร้าย แต่ประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวนี้ได้เผชิญกับวิกฤติการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดสามปีที่ผ่านมาและไม่ค่อยพบกับการผ่อนผัน

ตามข้อมูลจากธนาคารโลกปี 2013 ชาวเยเมนมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ดำรงชีพด้วยเงินน้อยกว่า 2 ดอลล่าร์ต่อวัน เนื่องจากความยากจน การทุจริตที่แพร่หลาย ความไม่มั่นคงและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ทำให้เยเมนเป็นประเทศที่อยู่ในขอบนรกและความวุ่นวายทางเศรษฐกิจสังคม

นับตั้งแต่มีการปฏิวัติออกมาสู่ท้องถนนในปี 2011 ชาติที่มีประชากรมากที่สุดและยากจนที่สุดแห่งคาบสมุทรอาหรับนี้ต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากกว่าที่เคยประสบมาตลอดสามทศวรรษ มิหนำซ้ำยังมีภัยคุกคามจากกลุ่มสุดโต่งต่างๆ เช่น อัล-กออิดะฮ์ ในคาบสมุทรอาหรับ (AQAP)

ขณะที่เยเมนพยายามค้นหาจุดยืนของตัวเองทั้งที่ถูกดึงไปในหลายทิศทางด้วยเรื่องราวความขัดแย้งในภูมิภาค ฝ่ายต่างๆ ทั้งจากทางการเมืองและชนเผ่าได้เล่นเกมแบ่งแยกทางนิกายมากยิ่งขึ้น โดยเติมเชื้อไฟความเป็นศัตรูจากเหตุผลทางศาสนาเพื่อให้การต่อสู้ของพวกตนมีความน่าเชื่อถือและมีความชอบธรรม

การปรากฏขึ้นของกลุ่มเฮาซีของชีอะฮ์ ในฐานะเป็นกองกำลังที่มีศักยภาพในแวดวงการเมืองใหม่ของเยเมนที่จะต่อกรกับอัล-อิสลาห์ กลุ่มซุนนีหัวรุนแรงที่ทำหน้าที่เป็นกำบังให้กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและซาลาฟี เชื่อว่าถูกชักใยโดยซาอุดิอาระเบียเพื่อล้มกลุ่มภราดุรภาพมุสลิมซึ่งจะเป็นการตัดการอุปถัมภ์ของกาตาร์ในเยเมน เพื่อความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องซ่อนเร้นเช่นนี้ในเยเมน เดวิด ฮาร์สท์ บรรณาธิการของ Middle East Eye ได้เขียนลงในฮัฟฟิงตันโพสต์ ดังนี้ :

สงครามกับการเมืองแบบอิสลามของบันดาร์ ได้ทำให้ตัวเองรู้สึกถึงชายแดนที่มีปัญหาของซาอุดี้ฯ กับเยเมนด้วย ความจำเป็นในการสู้รบกับความก้าวหน้าของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอัล-อิสลาห์ ในเยเมน ทำให้ซาอุดี้ฯ ต้องสนับสนุนกลุ่มนักรบเฮาซี – ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งซาอุดี้ฯ เคยทำสงครามด้วยมาแล้ว ซาเลห์ ฮับเรห์ บุคคลสำคัญของเฮาซี ได้บินจากลอนดอนเพื่อพบกับหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของซาอุดี้ฯ

อับดุลซาลิม มุฮัมมัด นักวิเคราะห์การเมืองในซานา บอกกับสำนักข่าวมินท์เพรส ว่า “ขณะที่เยเมนไม่เคยเป็นดินแดนแห่งนมและน้ำผึ้งเลย ประธานาธิบดีซาเลห์ (อดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลลอฮ์ ซาเลห์) ได้ทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่น แม้ว่านโยบายของเขาอาจจะผุพังและใช้การไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็มีความรู้สึกถึงทิศทางและรูปร่างของความเป็นระเบียบ ที่เรามีอยู่ทั้งหมดตอนนี้คือความวุ่นวาย”

“จากวิกฤติการณ์ที่ซ้ำซ้อนและความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เยเมนต้องต่อสู้กับมันนั้น ผมคิดว่าความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดต่อความมั่นคงของชาติก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับการแบ่งแยกทางนิกาย ถึงแม้ว่าเยเมนจะไม่เคยแบ่งแยกทางนิกายโดยตรง แต่การกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มสุดโต่งสายซุนนีและกลุ่มชีอะฮ์ได้แผ่เงาที่น่าเป็นห่วงไปบนการพัฒนาทุกด้าน”

เขาระบุว่า การเกิดขึ้นของกลุ่มเฮาซี เผ่าซัยดีที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ฝ่ายการเมืองอันซอร์ อัลลอฮ์ ได้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการเมืองของเยเมน “และนำไปสู่การก่อตัวของความสุดโต่งทางการเมืองอิงศาสนา” นอกเหนือจากมรดกจากบรรพบุรุษตระกูลซัยดีของเยเมนแล้ว เฮาธีได้เรียกร้องให้มีการรับรองความเป็นอิสระทางศาสนาของเยเมนจากซาอุดิอาระเบีย และเพิ่มความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยของเยเมนอันมีพื้นฐานจากการตัดสินใจทางการเมืองด้วยตัวเอง

แต่ถึงกระนั้น มุฮัมมัดเตือนว่า “ศาสนาและการเมืองเป็นเพื่อนร่วมเตียงที่อันตราย”

 

การเมืองอิสลามสายชีอะฮ์ จงยืนขึ้น!

ถึงแม้ว่าพวกซัยดีของเยเมนจะมีมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่มุสลิมชีอะฮ์ก็ถูกผลักดันไปอยู่นอกขอบอำนาจในปี 1994 เมื่ออาลี อับดุลลอฮ์ ซาเลห์ ประธานาธิบดีในขณะนั้นได้เรียกร้องให้ซาอุดิอาระเบียเข้ามาปราบปรามขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของเยเมน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนสำหรับการสนับสนุนทางทหารและการเมืองของริยาด ซาเลห์ตกลงที่จะให้ฝ่ายซุนนีมีอำนาจเหนือกว่า ในความเป็นจริง เรื่องนี้ถูกแปลความเป็นการตัดออกและปลดสิทธิ์กลุ่มศาสนาที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเยเมน

เฮาซี ที่มาจากจังหวัดซาดาทางตอนเหนือของเยเมน ติดกับชายแดนซาอุดิอาระเบีย ได้รับผลกระทบมากที่สุดภายใต้ข้อตกลงนี้ เพราะซาอุดิอาระเบียหาทางที่จะบีบเผ่านี้และจัดการมรดกของซัยดีที่กระจัดกระจายอยู่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มซาลาฟีและวาฮาบี

การชักเย่อทางศาสนาอย่างยาวนานระหว่างซุนนีและชีอะฮ์ได้เข้ามาสู่มิติใหม่แล้ว เมื่อแนวคิดสุดโต่งเข้าปกคลุมการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของเยเมน ทำให้แวดวงการเมืองที่ซับซ้อนอยู่แล้วยิ่งมีความไม่แน่นอนและการกระทบกระเทือนเพิ่มมากขึ้นไปอีก

แต่ทว่า เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ศาสนาเป็นมากกว่าด้านหน้าของตึกที่ซ่อนเร้นวาระที่แท้จริงเพียงเล็กน้อย ประเทศหนึ่งที่อิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถูกกำหนดด้วยความสามารถของกลุ่มนั้นในการได้การสนับสนุนจากเผ่าและใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงเศรษฐกิจ การแข่งขันชิงอำนาจครั้งใหม่ของเยเมนได้เปลี่ยนไปเป็นการฟาดฟันอย่างบ้าคลั่งเพื่อควบคุมทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

ขณะที่อัล-อิสลาห์ กลุ่มซุนนีสุดโต่งของเยเมน มองเห็นว่าอำนาจของตนถูกเฮาซีทำให้ลดน้อยถอยลง กลุ่ม AQAP เห็นว่าสมควรที่จะเคลื่อนไหวเพื่อรุกและทำลายสิ่งที่ตนเข้าใจว่าเป็นภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดอย่างเดียวต่อความยิ่งใหญ่ของซุนนีในภูมิภาคนี้ นั่นก็คือ การเมืองอิสลามสายชีอะฮ์

ขณะที่ความเกลียดชังของ AQAP ที่มีต่อเฮาซีไม่น่าประหลาดใจเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการสร้างภาพน่ากลัวของอิสลามสายชีอะฮ์ได้กลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่เรียกว่าการฟื้นฟูหลักการเดิมของซุนนี การปะทะกันที่ทำให้เยเมนแตกแยกและทำให้นักรบเฮาซีต่อสู้กับ AQAP ได้ดำเนินไปเกินเลยกว่าในเรื่องของศาสนาหรือแม้แต่การเมืองแล้ว
สงครามที่แท้จริงของ AGAP กับเฮาซีเป็นสงครามเพื่อเข้าให้ถึงทรัพยากรธรรมชาติของเยเมน ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศ และมุฮัมมัดอธิบายว่าเป็น “เครื่องกำเนิดพลังงานทางการเมืองของชาติ” บ่อน้ำมันของเยเมนได้กลายเป็นแนวรบใหม่ไปแล้ว

 

การแบ่งแยกครั้งใหม่ของเยเมน

ถ้าปัญหาที่ลุกลามของ AQAP ในเยเมนมีมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เป็นรอยด่างที่ฝังแน่นบนความพยายามของประเทศที่จะสร้างความทันสมัยให้กับสถาบันของตนและส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคง การเข้าสู่วงการเมืองของเฮาซีได้นำไปสู่การระเบิดขึ้นอย่างแท้จริงของปฏิบัติการก่อการร้ายที่มีเป้าหมายไปยังบรรดาผู้ที่มีใจเข้าฝ่ายเฮาซี

นับตั้งแต่เฮาซีกระแทกอัล-อิสลาห์ตกจากฐานทางการเมืองเมื่อเดือนกันยายนด้วยการทำลายกระดูกสันหลังของมันแล้ว AQAP ไม่เคยทำการโจมตีอย่างเป็นระบบและรุนแรงร้ายกาจเลย หลังจากความสงบนิ่งระยะหนึ่ง หน่วยก่อการร้ายที่หลับใหลได้ตื่นขึ้นมาทั่วดินแดนเยเมนในเดือนกันยายน ขณะที่ AQAP จำกัดความเคลื่อนไหวของตนอยู่ทางภาคใต้ ที่ซึ่งมันมีอิทธิพลและได้รับความนิยมมากกว่า กลุ่มหัวรุนแรงรู้สึกเหิมเกริมพอที่จะท้าทายกลุ่มนักรบเฮาซีที่ใจกลางเมืองหลวงของเยเมน เมืองซานา ในเดือนตุลาคม เป็นการแสดงถึงขอบเขตเครือข่ายก่อการร้ายของพวกตน

ช่วงปลายเดือนกันยายน ผู้บัญชาการของ AQAP ได้เผยแพร่ข้อความเสียงเรียกร้องให้ชนเผ่าชาวซุนนีทั้งหมดเข้าร่วมในสงครามที่ต่อสู้กับมุสลิมชีอะฮ์ โดยอ้างว่าการที่เฮาซีเข้าควบคุมเมืองซานานั้นเป็นแผนการอีกอย่างหนึ่งของสหรัฐฯ เพื่อควบคุมอิสลาม

ในข้อความเสียงนั้น อัล-เรย์มี อธิบายว่า การเข้าควบคุมจังหวัดต่างๆ ของเยเมนเป็น “การส่งจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง จากตัวแทนคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง โดยคำสั่งของหัวหน้า… อเมริกา ภายใต้การควบคุมดูแลของคนนำสารของพวกเขา อิบนฺ อุมัร (จามาล เบโนมาร์ ที่ปรึกษาพิเศษสหประชาชาติเกี่ยวกับเยเมน)”

อัล-เรย์มียังได้กล่าวต่อไปโดยเพิ่มความรู้สึกต่อต้านอเมริกา และบอกว่าเฮาซีเป็นเสมือน “ปืนที่กำลังเข้ามาของอเมริกา” เขาเตือนให้ระวัง “ความน่ากลัวที่จะทำให้ผมของเด็กเปลี่ยนเป็นสีเทา” เชิญชวนให้ผู้ชายและผู้หญิงที่มีความสามารถทุกคนเข้าร่วมกับการญิฮาดของอัล-กออิดะฮ์ต่อภัยคุกคามใหม่ของชีอะฮ์ “ทำไมพวกคุณจึงไม่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์?” เขาถาม

เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่ AQAP ถือว่าเป็นการโจมตีชาวซุนนีโดยไม่มีเหตุผล อัล-เรย์มีได้เตือนเฮาซีโดยตรงว่า “บัญชีนี้ยาวมาก และมันยังไม่ถูกเปิดเลย ดังนั้น จงเตรียมตัวจ่ายค่าของมันด้วยวิญญาณและร่างกายของพวกคุณ คิดหรือว่าอาชญากรรมของพวกคุณจะผ่านพ้นไปโดยไม่มีการตัดสินหรือการลงโทษ?”

เนื่องจากอัล-อิสลาห์ และอัล-อะฮ์มาร์ ผู้มีอำนาจทางเผ่าสำคัญที่อยู่เบื้องหลังอัล-อิสลาห์ พลาดการเป็นฝ่ายค้านต่อดาวรุ่งทางการเมืองอย่างเฮาซี อัล-เรย์มีสาบานว่า นักรบของเขาจะเป็น “โล่ที่แข็งแกร่ง” ต้านทานภัยคุกคามจากชีอะฮ์ และทวงคืนความเป็นใหญ่ทางศาสนาของชาวซุนนีไปทั่วเยเมน

ถ้าเรื่องนี้ถูกต้องตรงกันกับระบบความเชื่อที่แท้จริงของ AQAP การเรียกร้องเช่นนั้นปิดบังเจตนารมณ์ที่ลี้ลับเอาไว้
อาริฟ อบู ฮาติม นักวิเคราะห์ชื่อดังชาวเยเมนกล่าวว่า เขาเชื่อว่า AQAP หันมาเล่น “ไพ่ศาสนา” เมื่อมองเห็นว่าอิทธิพลทางการเมืองในเยเมนของมันลดน้อยลงไปภายใต้ความแรงของเฮาซี

“เห็นได้ชัดว่าอัล-กออิดะฮ์ใช้ฐานะทางการเมืองและทางเผ่าของอัล-อิสลาห์ในเยเมนเพื่อรักษาแนวความคิดของตนและเปลี่ยนเยเมนให้เป็นบริวารก่อการร้ายอีกแห่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเฮาธีหรือไม่ก็ตาม ขบวนการนี้ได้เปิดเผยสายสัมพันธ์ของอัล-กออิดะฮ์ภายในรัฐบาล และได้เน้นให้เห็นบทบาทที่เจ้าหน้าที่มีในการสร้างความหวาดกลัวให้คงอยู่ในหมู่ประชาชน” ฮาติมบอก

“อัล-กออิดะฮ์ได้ใช้และหาประโยชน์จากอัล-อิสลาห์ในแบบเดียวกับที่อัล-อิสลาห์ได้หาประโยชน์จากการก่อการร้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นใหญ่ของตน นี่ไม่ใช่ทฤษฎี แต่เป็นข้อเท็จจริง”

 

แนวรบใหม่

แอนโธนี่ บิสเวลล์ นักวิเคราะห์การเมืองจากเลบานอนได้เน้นว่า “ความเป็นปฏิปักษ์ของอัล-กออิดะฮ์ต่อเฮาซีเกิดมาจากการไม่ยอมรับทางการเมือง และบางคนอาจจะคิดว่าเป็นทางเศรษฐกิจ จากผลกำไรที่เฮาซีทำขึ้นในภาคเหนือและภาคกลางของเยเมน”

“มันเป็นเหตุผลสำหรับอัล-กออิดะฮ์ในการพยายามที่จะสร้างความเป็นปฏิปักษ์ทางนิกายผ่านวิธีการต่างๆ รวมทั้งการทำข้อตกลงกับเผ่าที่ไม่พอใจ สื่อทางสังคม และการสร้างความชอบธรรมย้อนหลังให้กับการสังหารผู้สนับสนุนเฮาซีอย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ผมอยากจะบอกว่าส่วนใหญ่แล้วเรื่องนี้เป็นผลผลิตของการรณรงค์โฆษณาชนเชื่อที่จัดการลำดับขั้นตอนเป็นอย่างดี”

ขณะที่ทั้งสองกลุ่มแข่งขันกันเพื่อมีอำนาจควบคุมเยเมน แนวการสู้รบได้ถูกดึงเข้ามารอบๆ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของเยเมน เมืองฮัดราเมาท์ และมาริบ ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก้าซที่สำคัญที่สุดของประเทศ

บิสเวลล์มีความเชื่อเหมือนนักวิเคราะห์ตะวันออกกลางที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นว่า การโจมตีที่กำลังเกิดขึ้นในมาริบและฮัดราเมาท์เกิดขึ้นมาจากความปรารถนาที่จะสร้างเอกสิทธิ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะให้ “ความเจ็บแสบ” มากยิ่งขึ้นกับความทะเยอทะยานทางการเมืองของฝ่ายใดก็ตามในเยเมน

“การต่อสู้ที่เกิดขึ้นในดินแดนเหล่านี้ (มาริบและฮัดราเมาท์) ในความคิดของผมเป็นการต่อสู้เพื่อควบคุมพื้นที่มั่งคั่งทางทรัพยากรสองแห่ง ขณะที่ความเชื่อทางศาสนาอาจจะมีบทบาทบางส่วน แต่ผมอยากจะแย้งว่าความเชื่อเหล่านั้นเป็นภาพสะท้อนของผู้ให้อำนาจตัวเอง เมื่อพิจารณาดูความพยายามของอัล-กออิดะฮ์ที่จะแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นการต่อสู้ทางศาสนา มันน่าจะเป็นความตระหนักชัดถึงความได้เปรียบทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เฮาซีจะได้ถ้าพวกเขาสามารถเข้าควบคุมมาริบและฮัดราเมาท์ได้จริง” บิสเวลล์กล่าว

มุฮัมมัด นักวิเคราะห์การเมืองในซานากล่าวว่า การต่อสู้ในมาริบเป็นเครื่องแสดงถึงการแข่งขันแย่งชิงการควบคุมของ AQAP และเฮาซี เมื่อต้นเดือนนี้ รายงานข่าวยืนยันว่า เผ่าต่างๆ ในพื้นที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อป้องกันปฏิบัติการของเฮาซีไม่ให้เข้ายึดโครงสร้างน้ำมันที่สำคัญ

แต่ขณะที่การปะทะดำเนินอยู่นั้น ความเป็นปฏิปักษ์ได้มาถึงจุดอันตรายสูงสุด ที่จะดึงมหาอำนาจในภูมิภาคเข้ามาสู่สมการนี้

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม AQAP ได้อ้างความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดรถยนต์ที่มีเป้าหมายเป็นที่พักของเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำเยเมนในซานา โดยให้เหตุผลว่า เตหะรานได้กลายเป็นกำลังอำนาจที่พัวพันกับความชั่วร้าย เพราะไว้วางใจเฮาซีในการมอบเยเมนให้อยู่ในอำนาจทางการเมืองของมัน

ฮาติมยืนยันว่า การที่ AQAP มุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ของอิหร่านสอดคล้องตรงกันกับการต่อต้านชีอะฮ์และความปรารถนาที่จะเปลี่ยนเยเมนให้เป็นสนามรบทางศาสนาของกลุ่มก่อการร้าย

“การดำเนินการของอัล-กออิดะฮ์ในเยเมนจำเป็นต้องมองมาจากแง่มุมระดับภูมิภาค กลุ่มหัวรุนแรงเติบโตขึ้นในความรุนแรงและความวุ่นวาย… พวกเขาพยายามที่จะสร้างความสุดโต่งทางการเมืองเพื่อให้เหตุผลแก่ท่าทีของพวกเขาและสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของพวกเขา” เขากล่าว

ราวกับว่าการแข่งขันเพื่อความเป็นใหญ่ทางการเมืองในเยเมนได้ขยายไปไกลกว่าชายแดนของเยเมนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศที่ย่ำแย่ลงนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางน้ำมันของโลก บ้าบ อัล-มันดิบ

การเข้าถึงทรัพยากรพลังงานของเยเมนไม่ใช่แค่เรื่องของชาติเท่านั้น ฮาติมชี้ว่า “เยเมนเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เมื่อมหาอำนาจอย่างอิหร่าน สหรัฐฯ และยุโรปได้ลงทุนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวดในเยเมน ทุกอย่างเป็นเรื่องของการเมือง”

 

 

by

source www.mintpressnews.com

แปลเรียบเรียง กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์