สงครามกับกลุ่มก่อการร้ายของอิรักกำลังพัฒนาไปสู่การทำสงครามศาสนา

ไอซิส ผู้ก่อความวุ่นวายและสงคราม ได้ใช้จุดอันตรายทางศาสนา-ชาติพันธุ์ที่มีอยู่แล้วและยังคงมีอยู่ในอิรัก ในการเล่นกับความไร้เสถียรภาพเพื่อส่งเสริมความทะเยอะทะยานที่จะแผ่อำนาจทางศาสนาของตน สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปอาจเป็นมากกว่าการคลี่คลายทางการเมือง

1427

(ภาพ) เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงของอิรักยืนรักษาความปลอดภัยขณะผู้แสวงบุญชีอะฮ์เดินขบวนมุ่งหน้าไปยังกัรบาลาเนื่องในวันหยุดอัรบาอีนในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2014

 
ขณะที่อิรักยังคงถลำเข้าสู่ไฟแห่งสงครามอย่างต่อเนื่อง ความมั่นคงของสถาบันชาติและความตึงเครียดทางชายแดนภายใต้น้ำหนักของแรงกดดันที่เลวร้ายและไม่เคยมีมาก่อน ประเทศกำลังเดินโซเซอยู่บนขอบหน้าผาที่อันตราย ซึ่งอาจนำไปสู่สิ่งที่เป็นมากกว่าแค่การคลี่คลายทางการเมือง

เกือบหนึ่งศตวรรษหลังจากที่สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลีได้ทำให้อาณาจักรออตโตแมนแตกออกเป็นเสี่ยง โดยการวาดแผนที่ตะวันออกกลางขึ้นเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์โดยตรงแก่พวกตนในสนธิสัญญาแซฟวร์ (Treaty of Sevres) ปี 1920 ความมั่นคงแห่งชาติของอิรักตกอยู่ในอันตรายจากความแตกแยกระหว่างนิกาย ชนเผ่า และชาติพันธุ์

ด้วยการถูกห้อมล้อมอยู่ในสงครามอันขมขื่นเพื่อควบคุมกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง อิรักยังยืนทนต่อการถูกดูดกลืนโดยกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย หรือไอซิส  กลุ่มนักรบที่มีความทะเยอทะยานต้องการเป็นใหญ่เหนือประชาชาติ  เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ที่ประกอบด้วยซีเรีย เลบานอน จอร์แดน ลิเบีย และอียิปต์ อิรักเป็นไม่มากไปกว่าเบี้ยตัวหนึ่งในการแข่งขันเพื่อควบคุมภูมิภาคตะวันออกกลาง

สงครามกับการก่อการร้ายครั้งนี้ ซึ่งได้เห็นมหาอำนาจตะวันตกเข้าสู่สังเวียนต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรงอย่างเช่นไอซิส และอัล-กออิดะฮ์มาตั้งแต่ปี 2011 ในกรงล้อของอาหรับสปริง ตอนนี้มันอาจถดถอยไปสู่สงครามศาสนาที่รุนแรง ที่บีบให้ประชาชนต้องถอยกลับเข้าไปอยู่ในแนวเส้นแบ่งทางนิกายของพวกตนด้วยความหวาดกลัว

การตกอยู่ในกับดักแห่งความแตกแยกทางนิกายของอิรักได้เป็นใจความสำคัญของรายงานข่าวหลายสำนักในหลายเดือนมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ความสุดโต่งภายในศาสนาได้เพิ่มมากขึ้นในตะวันออกกลาง แต่ถึงกระนั้น การเรียกร้องไปสู่การทำญิฮาดกับไอซิสเมื่อต้นเดือนนี้อาจเป็นการเสริมความขัดแย้งให้เข้าไปสู่การทำสงครามศาสนาระดับภูมิภาคที่ลุกโชนเต็มที่ ซึ่งจะได้เห็นชาวซุนนีและชีอะฮ์ทำการต่อสู้กัน

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม มุกตะดา อัล-ศ็อดร์ นักการศาสนาชีอะฮ์คนสำคัญชาวอิรักซึ่งเป็นผู้นำขบวนการศ็อดร์ ได้ประกาศว่ากองทหารอาสาสมัครของเขา ที่ใช้ชื่อว่ากองพลน้อยเพื่อสันติภาพ (Peace Brigades) พร้อมที่จะต่อสู้กับนักรบไอซิส ในแบบที่เขาอธิบายว่าเป็นการญิฮาด หรือการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์

“พวกเราต่อสู้กับพวกเขา”

หลังจากมีการมุ่งเป้าโจมตีชุมชนชีอะฮ์ในอิรักอย่างโหดเหี้ยมเป็นเวลาหลายเดือนจากการที่กลุ่มหัวรุนแรงไอซิสได้ตราหน้ามุสลิมชีอะฮ์ว่าเป็นผู้ตั้งภาคีต่อพระเจ้า ผู้นำชีอะฮ์ได้มองหาคำตอบที่นอกเหนือไปจากคำตอบของรัฐมากยิ่งขึ้น และอยากจะจัดตั้งกลุ่มตัวเองขึ้นเป็นกองทหารอาสาสมัครเพื่อปราบปรามกองทัพที่ถือธงดำและเพื่อปกป้องพี่น้องของพวกเขาเอง

การโจมตีชาวมุสลิมชีอะฮ์อย่างเลวร้ายครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม เมื่อนักรบไอซิสได้มุ่งเป้าไปที่ผู้แสวงบุญใกล้กับเมืองกัรบาลา ในซูค อัล-บัสรอ ขณะที่พวกเขาร่วมทำการรำลึกถึงวันอัรบาอีน ซึ่งเป็นเทศกาลทางศาสนาในวันครบรอบการพลีชีพของอิหม่ามฮุเซน (อ.) หลานชายของศาสดามุฮัมมัด (ศ.)

ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่า การมีใจคับแคบแบบแบ่งแยกนิกายเช่นนี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความรู้สึกแบ่งแยกทางนิกายและความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แทนที่จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศาสนาและชาติพันธุ์ และความสมานฉันท์

“ศาสนาได้กลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ระหว่างการล่มจมของกองทัพกับการไร้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการสร้างความรู้สึกรักสามัคคี ศาสนาได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการรวมกันอันทรงพลัง ไม่ว่ามันจะมีประสิทธิภาพในระยะสั้นอย่างไร การใช้ความศรัทธามาเป็นข้อเรียกร้องปลุกระดมเพื่อการทำสงครามกับไอซิสจะมีปัญหาตามมาภายหลัง ซึ่งเป็นปัญหาที่อันตรายด้วยเช่นกัน” คอลิด นาซิร นักวิเคราะห์การเมืองในบังกลาเทศ บอกกับสำนักข่าวมินท์เพรส

“ชาวอิรักกำลังชดใช้ให้กับความไม่เพียงพอของแบกแดด ไอซิสยังคงขับเคลื่อนเรื่องราวต่อไป โดยใช้ข้อบกพร่องทางศาสนาและชาติพันธุ์ของดินแดนนั้นๆ เพื่อความได้เปรียบของมัน ผมเกรงว่าความกลัวจะผลักดันให้บรรดาผู้นำเข้าทำการต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรงในแนวรบเหล่านั้น ชาวอิรักกำลังแสดงการตอบโต้อย่างไม่เป็นยุทธศาสตร์ มันอันตรายจริงๆ”

ความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การมีใจคับแคบทางศาสนาเช่นนี้แสดงให้เห็นได้ดีที่สุดในการเรียกร้องของอัล-ศ็อดร์เพื่อให้ทำสงครามศักดิ์สิทธิ์กับไอซิส เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม อะบู ดูอา อัล-อิสซาวี ผู้ช่วยด้านการญิฮาดของขบวนการศ็อดร์ ได้เขียนในแถลงการณ์ว่า “เนื่องจากภาวะที่ไม่ปกติและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเมืองซามัรรออันศักดิ์สิทธิ์โดยกลุ่มผู้ก่อการร้าย ท่านผู้นำของเรา อัล-ศ็อดร์ ได้สั่งให้กองพลน้อยเพื่อสันติภาพเตรียมพร้อมสำหรับการทำญิฮาดภายใน 24 ชั่วโมง”

ด้วยการเป็นบุคคลสำคัญระดับขั้วอำนาจ อัล-ศ็อดร์ได้ออกคำสั่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ภายในอิรัก ทั้งทางด้านศาสนาและการเมือง เขาเป็นนักการศาสนาชีอะฮ์ที่มีกองทหารอาสาที่แข็งแกร่งคอยหนุนหลัง นั่นคือกองพลน้อยเพื่อสันติภาพ (อดีตคือกองทัพมะฮ์ดี) การสนับสนุนสำคัญของอัล-ศ็อร์ยังอยู่บนท้องถนน เขาเป็นคนของประชาชน อำนาจของอัล-ศ็อร์มาจากความสามารถในการกระตุ้นชาวชีอะฮ์อิรัก โดยการผูกมัดเข้ากับลักษณะทางศาสนาของประชาชนเพื่อกระตุ้นและชี้นำพวกเขา

ถึงแม้ว่าชาวชีอะฮ์อิรักจะทำการต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองมานานแล้ว แต่กองพลน้อยเพื่อสันติภาพได้รับมอบหมายให้ทำการปกป้องคุ้มครองสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชีอะฮ์ในอิรักจากการโจมตีของไอซิสในเดือนมิถุนายน ความคิดที่ว่ามุสลิมชีอะฮ์อาจจะประกาศสงครามศักดิ์กับซุนนียังไม่ถูกนำขึ้นสู่การพิจารณา ซึ่งมันจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ท้าทายหลักคำสอนอันล้ำค่าที่สุดของอิสลามเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรงระหว่างศาสนา

 

ตามกฎหมายอิสลามแล้ว มุสลิมห้ามทำร้ายผู้อื่นเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อเป็นการป้องกันตนเอง

“และผู้ใดฆ่าผู้ศรัทธาโดยจงใจ การตอบแทนแก่เขาก็คือนรก โดยที่เขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาล และอัลลอฮ์ก็ทรงกริ้วโกรธเขา และทรงสาปแช่งเขา และได้ทรงเตรียมไว้สำหรับเขาซึ่งการลงโทษอันใหญ่หลวง” (กุรอาน 4 : 93)

หลายเดือนแห่งการกระทำรุนแรงอย่างไม่มีที่เปรียบต่อมุสลิมชีอะฮ์ทั่วประเทศอิรัก เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงจากการต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองไปสู่การปฏิบัติการทางทหาร

“คำพูดได้เปลี่ยนจากชาวอิรักต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายไอซิส มาเป็น พวกเราต่อสู้กับพวกเขา” นาซิร กล่าว

“แทนที่จะเข้าใจการโจมตีของไอซิสว่าเป็นการประกาศสงครามกับชาวอิรักทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคริสเตียน มุสลิม ยาซิตี้ หรืออื่นๆ มันได้กลายเป็นการต่อสู้ของอิสลามไป” เขากล่าวต่อ “ถ้าไม่มีการตรวจสอบ เรื่องนี้สามารถนำไปสู่การทำสงครามศาสนาแบบทำลายล้าง ทั่วทั้งอิรักจะลุกเป็นไฟ”

 

เมื่อการจัดการทางการเมืองไม่เป็นผล

“ขณะที่เห็นได้ชัดว่าไอซิสผลักไสอิรักไปสู่การล่มสลาย ทำให้สถาบันต่างๆ และความเป็นชาติขาดดุลยภาพไปด้วยการซ้ำเติมความตึงเครียดทางศาสนาชาติพันธุ์ ก็ต้องโทษการเล่นเกมจัดการทางการเมืองของมหาอำนาจตะวันตก” มัรวา ออสมาน นักวิเคราะห์การเมืองจาก Strategic Foresight Group กล่าว

“มหาอำนาจได้วาดเส้นสมมุติขึ้นในตะวันออกกลาง โดยได้แบ่งพื้นที่ต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแผ่นดินเดียวกัน และจัดลำดับผู้คนที่ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ตะวันออกกลางไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าแผ่นปะของชนชาติที่ถูกบังคับให้ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ธงผืนเดียวกัน และเมื่อไม่มีความสามัคคีของคนในชาติอย่างแท้จริง ประเทศเหล่านั้นก็ระเบิดขึ้นภายใต้การกดดันของไอซิส”

ไอซิสเองก็ตำหนิมหาอำนาจผู้ล่าอาณานิคมในอดีตที่ทำให้เกิดความตึงเครียดในปัจจุบันนี้ และภูมิภาคนี้เป็นผลงานสร้างของตะวันตกที่จำเป็นต้องถูกกล่าวถึงและถูกกำหนดขึ้นใหม่ แต่ในทัศนะของไอซิสเงื่อนไขนั้นไม่ได้นำมาซึ่งการตัดสินใจทางการเมืองด้วยตนเอง แต่เป็นการผูกมัดทางศาสนาและการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ ในวีดิโอที่โพสต์ลงในยูทูปโดย อัล-ฮายัต เมื่อเดือนมิถุนายน ไอซิสได้เจาะจงว่าตะวันตกเป็นสาเหตุของประเด็นต่างๆ ทั้งหมดในภูมิภาค และส่งเสริมการรณรงค์ทำสงครามของตนว่าเป็นขบวนการเพื่อการปลดปล่อย

ในขดเกลียวแห่งประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่ง สหรัฐฯ ได้กล่าวถึงการอนุรักษ์การแข่งเขตทางการเมืองในอดีต โดยอดีตประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ได้กล่าวเตือนต่อสภาคองเกรสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1918 ว่า “ประชาชนและจังหวัดต่างๆ ต้องไม่ถูกนำมาแลกเปลี่ยนจากอธิปไตยหนึ่งไปยังอธิปไตยหนึ่งเสมือนทาสหรือเบี้ยในเกม… การกำหนดดินแดนทุกแห่งที่เกี่ยวข้องในสงครามนี้ (สงครามโลกครั้งที่ 1) ต้องทำขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและเป็นผลดีต่อประชาชน”

แต่ทว่า ถ้าการล่มสลายของอิรักตั้งอยู่ภายในเขตแดนของประเทศที่ขีดเส้นสมมุติขึ้นมาเอง มันจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัจจุบันกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงมีเป้าหมายที่จะเข้าควบคุมพื้นที่ที่เคยเป็นอาณาจักรออตโตมานในอดีตทั้งในทางการเมืองและทางสถาบัน

 

เล่นกับไฟ

ไอซิส ผู้ก่อความวุ่นวายและสงคราม ได้ใช้จุดอันตรายทางศาสนา-ชาติพันธุ์ที่มีอยู่แล้วและยังคงมีอยู่ในอิรัก ในการเล่นกับความไร้เสถียรภาพเพื่อส่งเสริมความทะเยอะทะยานที่จะแผ่อำนาจทางศาสนาของตน

ด้วยการที่เรื่องราวนี้ได้มุ่งเน้นไปในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาอย่างแน่นอน นาซิรเตือนว่าอิรักกำลังจะสูญเสียมากกว่าความเป็นอธิปไตยของชาติ “มีการตัดขาดการอย่างลึกซึ้งภายในสังคมของอิรัก ชนเผ่าต่างๆ รู้สึกถึงความบาดหมาง ชนกลุ่มน้อยต่างศาสนารู้สึกว่าถูกบิดเบือนและถูกเข้าใจผิด และรัฐเองก็ได้กลายเป็นเปลือกหอยที่ว่างเปล่าทางสถาบันที่ถูกชี้นำโดยมหาอำนาจตะวันตก”

“ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ มันเป็นเรื่องน่าประหลาดใจจริงหรือที่อิรักกำลังจะแตกออกเป็นเสี่ยง? ผมคิดว่าไม่ นอกเสียจากแบกแดดจะพบวิธีที่จะรวบรวมประชาชนของตน หมายถึงประชาชนทั้งหมดของตน ก่อนหน้าที่ไอซิสจะทำ จนกว่าจะค้นพบตัวกำหนดกลุ่มที่มีร่วมกันท่ามกลางความสับสนวุ่นวายเช่นนี้ ชาวอิรักจะคิดว่าตัวเองเป็นชีอะฮ์ ซุนนี หรือเคิร์ด ก่อนเป็นอันดับแรก”

เช่นเดียวกับนาซิรที่กล่าวถึงการล่มสลายของอิรักในเวลาอันใกล้นี้ แพทริค คอคเบิร์น นักข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง ได้เขียนรายงานบทหนึ่งให้กับ Counter Punch เมื่อเดือนตุลาคมว่า “การไร้ความสามารถของรัฐบาลแบกแดดในการจัดกองทัพของชาติเข้าสู่สนามรบ และการที่มันต้องอาศัยกองทหารอาสาสมัคร นั่นหมายความว่าอิรักกำลังอยู่ในระยะสุดท้ายของการแตกออกเป็นเสี่ยง พื้นที่ไม่กี่แห่งที่ชาวซุนนีอยู่ร่วมกับชีอะฮ์กำลังค่อยๆ หายไป… วาระสุดท้ายของอิรักได้กลายเป็นเรื่องจริง”

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสิ้นหวังและการร้องหาการทำสงครามชิงชัยกันนั้น ยังมีโอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่และรักษาบาดแผลเก่าอยู่ อะห์มัด คาเซมซาเดห์ นักวิเคราะห์การเมืองในอิหร่านบอกกับมินท์เพรส ว่า

“หากผู้มีอำนาจระดับภูมิภาคและระดับสากลลุกขึ้นให้พ้นจากความแตกต่างที่มีอยู่ของพวกเขาเพื่อต่อต้านกลุ่มต่างๆ ที่มีลักษณะเหมือนไอซิส ด้วยความร่วมมือทางการทหาร ทางศาสนาและทางการเมือง ไอซิสก็จะสูญเสียอำนาจของมันไป สิ่งที่ภูมิภาคนี้ขาดไปก็คือลักษณะที่มีร่วมกัน สายสัมพันธ์ที่จะผูกชุมชนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง” คาเซมซาเดห์กล่าว

 

 

By

source http://www.mintpressnews.com

แปล/เรียบเรียง กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์