ความสำคัญของเอกภาพ หรือ วะฮดะห์

2929

เอกภาพ หรือ วะฮดะห์

ในบทความนี้นำเสนอ  เรื่องราว เกี่ยวกับ “เอกภาพ” ในแนวทางของอะฮลุลบัยต์ วะฮดะห์ หรือ เอกภาพนั้น นับเป็น ประเด็นสำคัญ อีกประการหนึ่งที่ อัลกุรอานุลการีม ได้กำชับ และส่งเสริมต่อประชาชาติอิสลามไว้อย่างหนักแน่น และท่านศาสดา(ศ) เอง ก็ได้กำชับมุสลิม ให้ความสำคัญ กับ สิ่งนี้เช่นเดียวกัน ทั้งโดยคำพูดวาจา และการปฏิบัติของท่าน(ศ) เราจะเห็นว่า ท่านศาสดา(ศ) ได้ใช้ความพยายามในการ ทำให้ อุมมะห์ หรือ ประชาชาติอิสลาม มีความสามัคคี และเป็นหนึ่งเดียว มาโดยตลอด และยังสั่งเสียให้ออกห่างจาก ความขัดแย้ง และความแตกแยก และท่านไม่เคยที่จะอนุญาตให้มุสลิม มีความขัดแย้งกันในหมู่พวกเขา
อิสลาม เป็นศาสนา ที่ปฏิเสธ ความคิดเรื่อง การแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม ตัวอย่าง เช่น ความเท่าเทียมกัน ในเรื่องของ เชื้อชาติ เผ่าพันธ์ุและสีผิว
ด้วยเหตุนี้เอง วิทยาการจากอัลกุรอ่าน และแนวทางของศาสดา(ศ) และอะฮลุลบัยต์(อ) จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง ความเป็นเอกภาพเช่นเดียวกัน เราจะเห็นว่า บรรดา ผู้ตามศาสดา(ศ) อย่างแท้จริง คำพูด และการกระทำของเขา จะมี อัลกุรอ่าน และแบบอย่างวิถีชีวิตของศาสดา(ศ)  เป็นแกนหลักในการเคลื่อนไหว ทั้งในเรื่องการเรียนรู้ศาสนา หรือ การพิทักษ์รักษาอิสลาม หรือ การต่อสู้กับ แนวคิดที่บิดเบือน และหลงผิด
ในบทความนี้ จะนำเสนอ ถึงประเด็นเกี่ยวกับ ความจำเป็นของวะฮดะห์ ,ความสำคัญของวะฮดะห์,และความหมายที่ถูกต้องของวะฮดะห์ ,และอธิบายวิธีการสร้างความเป็นเอกภาพในแนวทางของท่านศาสดา(ศ) และอะฮลุลบัยต์(อ)ของท่าน ในการพิทักษ์ ปกป้องศาสนา และการวิเคราะห์ถึงแนวคิดในเรื่องของเอกภาพทั้งภาค ความรู้ และ ภาค ปฏิบัติ
1 ความสำคัญของเอกภาพในทัศนะของอัลกุรอ่าน 

เอกภาพ หรือ วะฮดะห์ ในอิสลาม คือ สิ่งที่ สำคัญ และจำเป็นที่สุด ซึ่งประวัติศาสตร์ก็ได้อธิบายแก่เราแล้ว ถึงความสำคัญของมัน และในด้านการเมือง และสังคมมุสลิม วะฮดะห์ ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ ประชาชาตินี้ สามารถยืนหยัด และพัฒนา สังคม ไปสู่ความสงบสุข และความเจริญ
เอกภาพยังเป็นปัจจัย ที่ทำให้ ประชาชาติอิสลาม มีเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นเวทีใดก็ตาม และในด้านตรงข้าม ความแตกแยก ความขัดแย้งนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจาก ความอัปยศและความปราชัย อันนำไปสู่หายนะ ทั้งทางความคิดและการปฏิบัติ ทั้งสังคมโดยรวม และส่วนบุคคล
การเรียกร้องสู่เอกภาพ และความสามัคคีกันในหมู่มุสลิม และการออกห่างจาก ความแตกแยก จึงเป็น คำสั่งหนึ่ง จากอัลกุรอ่าน และ วิถีชีวิตของศาสดา(ศ)  อะฮลุลบัยต์ (อ) และบรรดาเอาลียาอัลลอฮ อัลกุรอ่านกล่าวว่า
«وَ عْتَصمُوا بحَبْل‌ للّه‌ جَميعاً وَلاَ تَفَرِّقُوا»
((และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮ โดย พร้อมเพรียงกันทั้งหมด และจงอย่าได้แตกแยกกัน))
[ซูเราะฮ อาลี อิมรอน : 103]

ดังนั้น เอกภาพ และความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชาติอิสลาม คือ ความจำเป็นอันสำคัญ ซึ่งเป็นคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าต่อบรรดามุสลิม ทุกๆคน และการกระทำใดก็ตามที่นำไปสู่ความแตกแยก จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย และสร้างความเสียหายกับสังคมของเขาเอง และจะทำให้สังคมนั้นอ่อนแอ ดังที่ อัลกุรอ่าน อันจำเริญ ได้กล่าวไว้ว่า

 
«وَلاَتَنَازَعُوا فَتَفْشَلُوا وَتَذْهَب‌َ ريحُكُم‌ْ»
((และพวกเจ้าทั้งหลายจงอย่าได้ขัดแย้งกัน เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าย่อท้อและจะทำให้ความเข้มแข็งของพวกเจ้าหมดไป))
[ซูเราะฮ อันฟาล : 46]

ดังนั้น จากอัลกุรอ่าน ชี้ให้เห็นว่า ความพยายามในการเคลื่อนไหว เพื่อสร้างเอกภาพนั้น คือ การเคลื่อนไหว ในทิศทางตามคำชี้นำของพระผู้เป็นเจ้า และการปฏิบัติตาม ซุนนะฮของศาสดา(อ)และเอาลียา ของพระองค์
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วะฮดะห์ คือ สิ่งที่สอดคล้อง กับ ความเห็นของ สติปัญญา และทัศนะของศาสนบัญญัติ และการขัดแย้ง และแตกแยก หรือ การโจมตี ในประเด็นทางความเชื่อบางประการ ซึ่งอยู่ในลำดับหลัง เตาฮีด นะบูวะห์ และมะอาดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ได้รับอนุญาตให้สร้างความขัดแย้ง
ผู้ปฏิบัติตามบทบัญญัติทางศาสนาของศาสดามูฮัมมัด(ศ) จะต้องตระหนักอยู่เสมอและไม่ลืมว่า หนึ่งในภารกิจหลัก และปฏิบัติการหลักของท่าน คือ การสร้างความสามัคคี เอกภาพ และความรัก ให้เกิดขึ้นในก้นบึ้งจิตใจ ให้กลายมาเป็นพี่น้องในหมู่มุสลิม ดังที่อัลกุรอ่าน อันทรงเกียรติ ได้กล่าวว่า

 

 
«وَذْكُرُوا نعْمَةَ للّه‌ عَلَيْكُم‌ْ اذْ كُنْتُم‌ْ أَعْدَاءً فَاَلِّف‌َ بَيْن‌َ قُلُوبكُم‌ْ فَاَصْبَحْتُم‌ بنعْمَته‌ اخْوَاناً»
((และพวกเจ้าจงรำลึกถึง ความโปรดปรานของพระองค์อัลลอฮ ที่มีต่อพวกเจ้าทั้งหลาย เมื่อครั้งที่พวกเจ้านั้นต่างเป็นศัตรูกัน และพระองค์ได้ทรง ประสานระหว่างหัวใจของพวกเจ้า ต่อมาพวกเจ้าก็เปลี่ยนมาเป็นพี่น้องกัน โดยความกรุณาของพระองค์))
[ซูเราะฮ อาลิอิมรอน : 103]

ในยุคต้นของอิสลามนั้น ท่านศาสดา มูฮัมมัด (ศ) ไม่เคยอนุญาต ให้เกิดแม้กระทั่งสิ่งที่เป็นต้นเหตุ จะนำมาซึ่งความแตกแยก และความขัดแย้ง ทั้งในความคิด หรือ สังคม ในมุมของชีอะฮ อิมามียะฮ เราจะเห็นเช่นกันว่า บรรดาอิมาม จะยับยั้ง ไม่ให้เกิดความขัดแย้งอยู่เสมอ และแนวทางของ อมีรุลมุอมีนีน (อ) ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ท่านได้ดำรงนโยบายในการรักษาเอกภาพ เพื่อปกป้องพิทักษ์ศาสนา ได้ให้บทเรียนกับมุสลิม ครั้งเมื่อท่านถูกลอบสังหาร ชีวิตการเป็นอยู่ของประชาชนก็ต้องเผชิญอุปสรรคของความแตกแยก และตกอยู่ในหลุมพรางแห่งฟิตนะฮ
อิมาม อาลี บิน อบี ฏอลิบ (อ) ได้กล่าวถึง ประเด็นนี้ไว้ว่า
“ตราบใดประชาชาติต่างๆก่อนหน้านี้ ยังคงรักษาเอกภาพ และความเป็นหนึ่งเดียวได้ พวกเขาจะยังคงพัฒนาและเจริญรุ่งเรือง,จะสามารถรักษาศักดิ์ศรีได้สำเร็จ,พวกเขาจะได้เป็นผู้ปกครอง และผู้สืบทอดมรดกในแผ่นดิน และจะได้เป็นผู้นำของโลก”
[นะฮญุลบาลาเฆาะ : คุตบะฮที่ 5]
จากการศึกษา แนวทางของอิมามอาลี (อ) ชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายหลักของ ท่าน (อ) คือ การรักษารากฐานอิสลาม และการสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในสังคม และในประเด็นเรื่อง คิลาฟะฮ หรือ ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาประการแรก ที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชาติอิสลามในกรณีนี้ท่านอิมามไม่อนุญาติ ให้สร้างความแตกแยกด้วยประเด็นนี้ และห้ามไม่ให้ทำลายรากฐานความสามัคคีในประชาชาติด้วยเช่นกัน
สรุป จากหลักฐานในอัลกุรอ่าน และวิถีชีวิตของศาสดา(ศ) และอะฮลุลบัยต์ ชี้ให้เห็นว่า ความจำเป็นประการหนึ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในสังคมอิสลาม คือ เอกภาพ ถือเป็นปัจจัยในการ พัฒนาสังคม สู่ความเจิรญ และเกียรติยศ ส่วนด้านตรงข้าม ความแตกแยก เป็นสิ่งที่อัลกุรอ่าน และซุนนะฮ ได้สอนแก่เราให้หลีกเลี่ยง พร้อมทั้งยังอธิบายอีกว่าหากความแตกแยกเกิดขึ้น มันจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความเสื่อมเสีย ความอ่อนแอ และความหายนะในสังคม

 

2 ความสัมพันธ์ระหว่าง วะฮดะห์และอีหม่าน หรือ เอกภาพและความศรัทธา

วะฮดะห์ มีแหล่งที่มาจากความเชื่อและอีหม่านที่แท้ สังคมของมนุษย์ที่เปี่ยมด้วยความเชื่อมั่น และศรัทธาอันแรงกล้า เราจะไม่พบความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมแห่งนั้น
วะฮดะห์ จึงเป็นภารกิจที่จะสร้างรากฐานให้เข้มแข็งได้ จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความศรัทธาที่ถูกต้อง และการขัดเกลาตนเอง เพราะตรรกที่ว่าบุคคลผู้ซึ่ง ตกอยู่ในความเขลา ความโกรธกริ้ว การใช้อารมณ์เป็นหลักในการตัดสินใจ ยึดถือให้ดุนยา นำหน้า อาคีเราะฮ  หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมุนาฟิก และศัตรูของศาสนา ที่ยังตกอยู่ในกับดักเหล่านี้ จะสามารถสร้าง สันติภาพ ความรักและความเป็นพี่น้อง ได้อย่างไร ?
เอกภาพซึ่งเป็นผลผลิตของความศรัทธา และการเรียกร้องสู่สัจธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นรากฐานในการสร้างสังคมแห่งอัลกุรอ่าน สังคมที่สอนให้เรารู้จักถึง ความสูงส่ง ความเสียสละ ความเป็นพี่น้อง และสิ่งดีงามที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของอัลกุรอ่าน จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าหาก ผู้เผยแพร่ ยังยึดอคติเป็นหลักในการตัดสินใจ
การมีศรัทธาอย่างถูกต้อง ตามมาตรฐานของอัลกุรอ่าน เท่านั้น จงจะสามารถสร้างเอกภาพ และความเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้นในสังคมของมนุษย์ได้ เพราะเมื่อทุกคนให้คุณค่าต่อคุณธรรมจากอัลกุรอ่าน คนในสังคมก็จะขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
วะฮดะห์ จึงเป็น ของขวัญจากพระเจ้า ที่พระองค์จะทรงมอบให้เฉพาะกับผู้ศรัทธา

ความขัดแย้งในประเด็นเรื่องศาสนา อันเป็นเหตุให้เกิด สำนักคิด และการให้ค่านิยมที่แตกต่าง ในทัศนะอิสลามนั้น โดยกุรอ่านถือว่า ความขัดแย้งมีจุดเริ่มต้นมาจากการไม่ยอมรับในสัจธรรม เนื่องด้วยอารมณ์ใฝ่ต่ำอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือ ความอิจฉา ริษยา

 
«وَمَا تَفَرِّقُوا الاِّ من‌ْ بَعْد مَا جَاءَهُم‌ُ لْعلْم‌ُ بَغْيَاً بَيْنَهُم‌ْ»
และพวกเขามิได้แตกแยกกัน เว้นแต่หลังจากได้มีความรู้มายังพวกเขาแล้ว ทั้งนี้เพราะความริษยาระหว่างพวกเขากันเอง
[ซูเราะฮ ชูรอ : 14]

 

ความขัดแย้งอันนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาได้รู้ความจริงแล้ว ไม่ใช่เกิดจากความไม่รู้ แต่ไม่ต้องการที่จะยอมรับมัน จึงทำให้มีกลุ่มต่างๆเกิดขึ้นมา ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความกลับกลอก และความแตกแยกนั้น คือ สัญลักษณ์ของความอ่อนแอของอีหม่าน หรือ ศรัทธา และการยอมให้ตนเองอยู่ในโอวาทของชัยฏอน เพราะ สังคมแห่งผู้ศรัทธา ซึ่งวางรากฐานบน อีหม่าน ความรัก ความเป็นพี่น้อง การปฏิบัติตามอัลกุรอ่าน และสาส์นของศาสดานั้น จะเป็นสังคมที่มี เอกภาพ ความรัก ความเมตตา ต่อกัน เป็นแก่น และจะเป็นสังคมที่ยอมรับ ฮุกุ่ม หรือ คำตัดสินของพวกเขาอย่างสุดหัวใจ อัลกุรอ่านกล่าวว่า

 
«مُحَمِّدٌ رِّسُول‌ُ للِّه‌ وَ لِّذين‌َ مَعَه‌ُ أَشدِّاءُ عَلَي‌ لْكُفِّار رُحَمَاءُ بَيْنَهُم‌ْ»
((มูฮัมมัด คือ รอซูลของพระองค์อัลลอฮ และบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกับเขานั้น เป็นผู้ที่เข้มแข็งและกล้าหาญต่อบรรดาผู้ปฏิเสธ เป็นผู้เมตตาต่อระหว่างวกเขาด้วยกันเอง))
[ซูเราะฮ ฟัตฮ 29]

สรุป  จากการพิจารณา ถึง สถานะของ วะฮดะห์ หรือ เอกภาพ ในอัลกุรอ่าน และวัจนะของอะฮลุลบัยต์ ชี้ให้เห็นว่า คือ สัญลักษณ์ของการมีอีหม่านที่เข้มแข็ง และความแตกแยก คือ สัญลักษณ์ของการมีอีหม่านที่อ่อนแอ และสาเหตุของความแตกแยก คือ ความอิจฉาริษยา ที่กัดกินจิตใจของมนุษย์
3 การสร้างเอกภาพที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับสติปัญญา 

ในด้านภาษา วะฮดะห์ หมายถึง การทำให้เป็นหนึ่ง หรือ การทำให้สองสิ่งที่สามารถรวมกันได้ เป็นหนึ่งเดียว
ความหมายของวะฮดะห์ ระหว่าง มัซฮับ และ วะฮดะห์ใน ประชาชาติ อิสลาม คือ ทุกๆนิกายได้ละทิ้งความขัดแย้ง และร่วมกันในสิ่งที่มีจุดร่วมเหมือนกัน ไม่ได้หมายถึง การทำให้หลักความเชื่อของทุกคนเหมือนกัน และเลือกอันหนึ่ง หรือ การบังคับให้ นิกายอื่น มีความเชื่อเหมือนตน ในประเด็นเรื่อง วะฮดะห์ ในอิสลาม จะต้องพิจารณาที่ วะฮดะห์ในทางนิกาย และ วะฮดะห์ ในอุมมัตอิสลาม และการแยกจากกัน จะนำอันตรายมาสู่มัน
เป็นที่ชัดเจนว่า เป้าหมายของ บรรดาผู้รู้ที่มีความเป็นห่วง และหวงแหนต่อ ศาสนาอิสลาม และเหล่าผู้ปกป้องเอกภาพของศาสนานี้ ไม่ได้ทำการจำกัด นิกายให้เหลือเพียง นิกายเดียว และปฏิเสธนิกายอื่นๆ เพราะ วิธีการนี้ เป็นสิ่งที่ ไม่สอดคล้องกับเหตุผล และสติปัญญา และไม่สอดคล้องกับวิชาการความรู้ แต่มันยังเป็นการสุมไฟแห่งความแตกแยกให้มากขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป
การอธิบายอย่างง่ายสำหรับเรื่องนี้คือ” ถ้าหากผู้รู้คนหนึ่ง ตัดสินว่า เอกภาพ คือ การลบคำว่า มัซฮับออก แล้วกล่าวว่า  โดยการข่มและบังคับให้ผู้อื่นยอมรับหลักศรัทธาของตน แล้วอ้างว่า นี่คือ วิธีการสร้างเอกภาพ มันจะให้ผลตรงข้ามกับ สิ่งที่เขาได้อ้างไว้ เพราะเขาได้วางเงื่อนไขว่า จะสร้างเอกภาพต้องตามเขาเสียก่อน หากไม่ปฏิบัติตาม หรือยึดถือ แนวคิดแบบเดียวกับเขา ก็ไม่มีทางสร้างเอกภาพขึ้นมาได้ วิธีนี้ คือ การสร้างเอกภาพโดยให้เชื่อแบบเดียวกับที่เขาเชื่อ ศรัทธาแบบเดียวกับที่เขาศรัทธา และหากปฏิเสธแล้ว เขาก็จะไม่ถูกถือว่า เป็นมุสลิม
การวางเงื่อนไขเอกภาพแบบนี้ ไม่ใช่สิ่งอื่นนอกกจากการเพิ่มความแตกแยกให้มีมากขึ้น ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า มนุษย์เราไม่อาจสร้างเอกภาพได้ หากบังคับให้คนเชื่อ หรือ คิดเหมือนกัน จะร้อยเรียงสังคมเป็นหนึ่งเดียวจำต้อง “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”
และอุลามาอฺผู้รักในเอกภาพในแต่ละยุคสมัย ก็ไม่ได้ แสวงหาเอกภาพ โดยการข่มและบังคับให้ผู้อื่นยอมรับ ความเชื่อ ของตน พวกเขาต่างรู้ดีว่า การละไว้ซึ่งความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรับมือกับการ เผชิญหน้า กับศัตรูของศาสนา
จุดร่วมกัน ของ มุสลิม คือ พวกเขามีความเชื่อ และศรัทธาต่อ พระผู้เป็นเจ้า มีความศรัทธา ต่อระบบนะบูวะห์ มีความศรัทธาศาสดา มูฮัมมัด (ศ) มีความศรัทธาต่อมะอาด หรือวันแห่งการคืนกลับ วันแห่งการตัดสินตอบแทน ยึดถือ อัลกุรอ่าน และซุนนะฮของศาสดา เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต นมาซ โดยมีกิบละฮ เป็นทิศทาง บำเพญฮัจญ์ จ่ายซะกาต ถือศีลอด และอื่นๆ อันเป็นคำสอนหลักของศาสนา โดยรวมแล้ว มุสลิม คือ คนที่มีโลกทัศน์ และมีวัฒนธรรมร่วมกัน และมีประวัติศาสตร์อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ และเฉิดฉาย มาอย่างยาวนาน
หากว่า เรื่องหลักๆ หรือ อูศูลุดดีน มีความเหมือน ไม่มีแตกต่างกัน ดังนั้น การแตกแยก และความขัดแย้ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตามหลักสติปัญญา
4 วะฮดะห์ในมุมมองของ วิชาเทววิทยา และแนวทางของศาสดา (ศ) 

ในยุคสมัยของท่านศาสดา(ศ) นั่น ยังไม่มีความขัดแย้ง และการแตกแยก เกิดขึ้นใน ประชาชาติอิสลาม มุสลิมทุกคนต่างยึดถือ ศาสดา เป็นแกนหลัก พวกเขาเป็นหนึ่งเดียว และมีความสามัคคี ทว่า จากการที่มุสลิมทุกคนถือว่า พวกเขา ปฏิบัติตามท่านศาสดา (ศ) และวิถีทางของท่าน
แต่ปัจจุบันเรากลับเห็นว่า มุสลิม บางกลุ่มได้พยายามละทิ้ง แนวทาง ในการสร้างความสามัคคีของท่านศาสดา(ศ) ในขณะที่ท่านศาสดา ได้เรียกร้อง ให้ ทุกๆคน ไปสู่เอกภาพ ตามคำสั่งของอัลกุรอ่าน และไม่เคยยอมให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น
ศาสดาคือ ผู้ที่ ทำการญิฮาด ในทุกแนวรบ เพื่อคงไว้ซึ่งศาสนา และเตือนประชาชาติอิสลาม ถึงอันตรายต่างๆที่จะเกิดขึ้นในหมู่มุสลิมเสมอ
เราสามารถกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจว่า ศาสดา(ศ) ของเรา ได้แสดงบทบาทอันเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ ในการสานสัมพันธ์ สร้างความสามัคคี และสร้างเอกภาพ ให้เกิดขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
โดยบทบาทของท่านศาสดา มีตัวอย่างดังนี้
1 ความพยายาม ในการรวมอุมมัตเป็นหนึ่ง โดยการใช้ อัลกุรอ่าน เป็นหลัก
2 การสอนให้ผู้คนในสังคม มีวัฒนธรรมร่วมกัน,การวางหน้าที่ต่างๆให้กับทุกๆคน และการวางรากฐานในการปฏิบัติงาน โดยให้ประชาชน มีส่วนร่วมและปรึกษาหารือ กัน ทั้งในเรื่อง ทางศาสนา และเรื่องทางการเมือง หรือแม้กระทั่ง เรื่องครอบครัว
3 การถอนรากถอนโคน รากฐานที่ทำให้เกิดความแตกแยกทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ จะบอกเราเองว่า ศาสดา ได้เปลี่ยนอาหรับ ที่ฆ่ากันได้ เพียงแค่เรื่อง นามสกุล ให้กลายมาเป็นพี่น้อง ได้อย่างไร
ตามหลักของวัฒนธรรมแบบศาสดา เหตุผลต่างๆที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ทั้งทางนัฟซู(อารมณ์ปัจเจก) ทั้งสังคม และอื่นๆ จะต้องหมดไป ซึ่งในยุคสมัยดังกล่าว เมื่อปัญหาเกิดขึ้นทุกคนจะกลับไปหาท่านศาสดา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ในการสร้างสันติ ต่อชาวคัมภีร์นั้น ท่านศาสดา ได้เรียกร้องและเชิญชวนพวกเขา ให้มีความสามัคคี โดยอาศัยจุดร่วมเหมือนกัน คือ ความศรัทธา ต่อพระผู้เป็นเจ้า ดังที่เราจะเห็นในอัลกุรอ่านว่า
«قُل‌ْ يَا أَهْل‌َ لْكتَاب‌ تَعَالَوْا الَي‌ كَلمَةٍ سَوَاءٍ بَيْنَنَا وَبَيْنَكُم‌ْ»
[จงกล่าวเถิดว่า โอ้ชาวคัมภีร์ ! จงมายังถ้อยคำหนึ่งซึ่งเท่าเทียมกันระหว่างเราและพวกท่านเถิด  ]
[ซูเราะฮ อาลิ อิมรอน : 64]

 

และในเชิงการเมือง และภาคสังคมนั้น ศาสดา มูฮัมมัด ยังได้ทำสนธิสัญญา ระหว่างมุสลิม กับชาวคัมภีร์ อย่างที่เราได้ศึกษากันในประวัติศาสตร์อีกด้วยเช่นกัน บางกรณี ท่านศาสดา(ศ) ได้ประกาศอย่างชัดเจน ว่า ผู้ศรัทธาคือเรือนร่างเดียวกัน
สรุป คือการมีจุดร่วมเหมือนกันคือ ความดีงามของคำสอนในแต่ละศาสนา และการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้ศรัทธา คือ สิ่งที่ปรากฎให้เห็นให้วัจนะอันเปี่ยมด้วยวิทยปัญญาของท่านศาสดา(ศ)