ศาสนากับความรุนแรง

7218

-บทนำ

– ข้อกล่าวหาที่ 1 ความรุนแรงและสงครามภายในหนึ่งศาสนา

-ข้อกล่าวหาที่ 2 สงครามระหว่างศาสนา

-ข้อกล่าวหาที่ 3 การจำกัดศาสนาที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว คือ ต้นตอของความขัดแย้ง

ในยุคสมัยปัจจุบัน หนึ่งในประเด็นที่ถูกนำเสนอมาเพื่อโจมตีศาสนามากที่สุด คือ ประเด็น เรื่องศาสนา กับ ความรุนแรง นักเขียน นักบูรพาคดี และนักวิจารณ์บางส่วนได้ทำการทบทวนประวัติศาสตร์ เพื่อโยงความเกี่ยวข้องระหว่าง ความขัดแย้ง,ความรุนแรง,สงคราม กับ ศาสนา

ปัญหา เรื่องศาสนา กับ ความรุนแรง เป็นสิ่งที่ นักคิดแนววัตถุนิยม มักตั้งประเด็นเพื่อนำเสนอด้านมืดของศาสนา โดยมีจุดประสงค์เฉพาะ

ในเชิงการเมืองนั้น การนำเสนอเรื่อง ศาสนากับความรุนแรง มีจุดประสงค์ เพื่อให้ผู้คนเปลี่ยนไปนิยมแนวคิดแบบวัตถุนิยม นิยมแนวคิดแบบเซคูลาร์ลิซม์(การแยกศาสนาออกจากการเมือง) มีนโยบายหลัก คือ การทำให้ศาสนามีภาพลักษณ์แบบไร้เหตุผล-ความรุนแรง-การละเมิดสิทธิสตรี และอื่นๆ

ในเชิงวัฒนธรรม และปรัชญา กลุ่มที่มักจะนำประเด็นเรื่อง ศาสนา กับ ความรุนแรง มาวิจารณ์คือ กลุ่มเอทิสต์,วัตถุนิยม,เสรีนิยมสุดโต่ง

การนำเสนอ ภาพลบในเรื่อง “ศาสนากับความรุนแรง” มีเป้าหมายทั้งทางการเมือง,วัฒนธรรม,สังคม,วิถีชีวิต ซึ่งปัญหาอย่างหนึ่งของผู้ที่มีความรักศาสนา คือ เมื่อถูกกล่าวหา ว่า ศาสนาของตน เป็นศาสนาที่สอนให้ใช้ความรุนแรง ผู้นับถือศาสนาบางกลุ่มที่ไม่ได้ศึกษาในเรื่องของศาสนาอย่างเพียงพอ หรือ ห่างไกลจากผู้รู้ จึงไม่รู้วิธีที่จะให้คำตอบที่เหมาะสม หรือ หักล้างขอกล่าวหาอันนี้ได้ และในบทความนี้ เราจะนำคำตอบ และคำชี้แจงต่างๆแนะนำเป็นแนวทางสำหรับท่าน และเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับ ผู้ที่คิดว่า ศาสนา สอนให้ใช้ความรุนแรง

โดยทั่วไปแล้ว นักวิชาการผู้วิจารณ์ระดับค้นคว้า จะทำการแบ่ง สงครามและความขัดแย้งของศาสนาออกเป็น สองประเภท คือ สงคราม และความขัดแย้งภายใน หนึ่ง ศาสนา และ สงครามภายนอก คือ สงคราม และความขัดแย้งระหว่าง ศาสนา

-ข้อกล่าวหาที่ 1 สงครามและความรุนแรงภายในศาสนา

ผู้วิจารณ์กลุ่มนี้มีทัศนะว่า ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน เมื่อพูดถึงเรื่องศาสนา เราจะเห็นถึงคำสอนของศาสนา ที่สร้างบทบาท ในการสร้างความขัดแย้ง และสงคราม ระหว่าง ผู้นับถือศาสนานั้นด้วยกันเอง ตัวหลัก คำกล่าวนี้ คือ สงคราม 30 ปี ระหว่าง คาทอลิค และ โปรเตสแตนท์ และในศาสนาอิสลาม ก็คือ ปัญหาในเรื่องผู้นำภายหลังจากศาสนา,คอวาริญ และการแตกสาขาของนิกายอย่างมาก

วิพากษ์ทัศนะ

1 สงครามภายในมีเหตุมาจากปัจจัยนอกศาสนา

คำถามหลักในประเด็นนี้ คือ ต้นตอของสงคราม และความขัดแย้ง มาจากคำสอนของศาสนาใช่หรือไม่ ? หรือ ต้นตอของสงคราม และความขัดแย้ง มาจากการอรรธถาธิบาย และการตีความที่ไม่ถูกต้องของคนในศาสนา ไม่ว่า จะเจตนา หรือ เพราะความเขลา ? มีผู้นับถือศาสนา ที่ใช้ศาสนา เป็นเป้าหมาย ในการแสวงหาผลประโยชน์ อำนาจ หรือ ความร่ำรวยหรือไม่ ?

จากการทบทวนและศึกษาประวัติศาสตร์อย่างเจาะลึก ชี้ให้เห็นว่า หลักธรรมคำสอน และ ปรัชญา ของศาสนา ไม่ได้สอนให้ มนุษย์กดขี่ หรือ รังแก ผู้อื่น และทุกๆศาสนาก็เป็นเช่นนั้น ประโยคสั้นๆที่ พี่น้องชาวไทยต่างก็เคยได้ยินกันเเล้วคือ “ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี”

หลักธรรมคำสอนของศาสนามีจุดประสงค์เพื่อชี้นำมนุษย์ไปสู่ความสำเร็จทั้งในโลกนี้ และ โลกหน้า และ ช่วยเหลือ พวกเขาให้รอดพ้นจากความอันตรายต่างๆ ทั้งทางวัตถุ และจิตวิญญาณ มันจึงไม่ถูกต้องหากจะกล่าวอ้างว่า ศาสนาสอนให้กดขี่ผู้อื่น หรือขมเหงรังแกต่อผู้ใด และนอกจากนี้ เราจะเห็นว่า จากคำสอนของศาสนาเอง ตัวบทคำสอน ของศาสนา ยังต่อต้าน ห้ามปราม และยับยั้ง การกระทำใดก็ตาม ที่จะก่อให้เกิดเมล็ดพันธ์แห่งการกดขี่ หรือ ความขัดแย้ง และการเข่นฆ่า

ศาสนายังสอนและเน้นย้ำให้มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สอนให้ประนีประนอม เชื่อมมิตรภาพต่อกัน,เรียงร้องความยุติธรรมสู้สังคม

ในประเด็นนี้ ผู้วิจารณ์เพียงแต่นำเสนอ ข้อคลุมเครือดังกล่าว ในเชิงรวบรัด แต่ไม่ได้ สร้างความชัดเจนว่า สิ่งที่พวกเขาได้อ้างอิงว่า ศาสนามาพร้อมกับความรุนแรง ซึ่งพวกเขาจะต้องสร้างความชัดเจนว่า สงครามและการเข่นฆ่า หมายถึงอะไร ซึ่งเราสามารถหาคำอธิบายจากสมมติฐานทั้งสองนี้ หนึ่งก็คือ ศาสนาสอนให้ใช้ความรุนแรง สองก็คือ ความรุนแรงมาจากคนในศาสนาที่บิดเบือนเป้าหมายของศาสนา

สมมติฐานแรก คือ บันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ สงคราม และการเข่นฆ่าภายในศาสนา มาจากคำสอนของศาสนา ซึ่งข้ออ้างอันนี้ เป็นข้ออ้างที่ไร้นำหนัก และหลักการ ดังที่เรากล่าวไปแล้วว่า คำสอนของศาสนาไม่ได้สอนให้มนุษย์กดขี่ รังแก หรือ เข่นฆ่าผู้ใด

สมมติฐานที่สอง คือ การใส่ร้ายป้ายสี ความขัดแย้ง และสงคราม ภายใน มีต้นตอมาจากบรรดาผู้ปกครองที่ฉ้อฉล หรือ นักวิชาการที่อคติ หรือบรรดาผู้นับถือศาสนาที่โง่เขลา ซึ่ง ศาลตรวจสอบความเชื่อ ในศาสนา คริสต์ เป็นสิ่งยืนยันถึงสมมติฐานนี้ เพราะ ปัจจัยหลักของความขัดแย้งไม่ได้มีต้นตอมาจาก หลักคำสอนของคริสต์ แต่เป็นการบิดเบือนของผู้นับถือศาสนาบางกลุ่มเท่านั้น

และในอิสลาม ยุคสมัยที่ท่าน ศาสดามูฮัมมัด (ศ) ยังมีชีวต มุสลิมมีความรักและเป็นพี่น้องต่อกันอย่างเหนียวแน่น พวกเขาต่างรวมใจเป็นหนึ่งเดียว ทว่าภายหลังจากการจากไปของท่านศาสดา(ศ) ปัญหาแรกที่มีความขัดแย้ง ก็คือ ประเด็นเรื่อง การแต่งตั้งผู้นำ ซึ่งถือว่า เป็นประเด็นที่นำไปสู่ สงครามภายในในอนาคตของอดีตกาล ซึ่งปัญหาแรกที่เกิดขึ้น ยุติลงด้วยความสามารถของ อมีรุลมุอฺมีนีน(อ)

ในยุคสมัยที่ท่าน อมีรุลมุอฺมีนีน ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปกครอง ท่าน(อ)ได้แก้ไขปัญหา และทำสงครามภายในถึงสามสงครามเช่นกัน โดยต้นตอของแต่ละสงคราม ก็ไม่ได้เกิดจาก คำสอนของศาสนาแต่อย่างใด แต่มาจาก การด่วนสรุปตัดสินใจ และความดื้อดึงของผู้นับถือศาสนา เช่นกลุ่ม คอวาริญ ซึ่ง ท่านอมีรุลมุอฺมีนีน ก็ได้รับมือ กับสามสงครามนี้ด้วยความยุติธรรม

สรุป ข้อวิจารณ์ที่ว่า ศาสนาสอนให้ใช้ความรุนแรง หรือสอนให้เข่นฆ่า ถือ เป็นการกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้กล่าวหา ได้แบ่งความขัดแย้งออกเป็นสองประเภท คือ ความขัดแย้งภายใน และความขัดแย้งภายนอกศาสนา ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงสาเหตุของความขัดแย้งภายในศาสนา เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่า คำสอนของศาสนา ไม่ใช่ต้นตอของความขัดแย้ง แต่เกิดจาก ความเขลา การใส่ร้ายป้ายสี หรือการหลงในโลก อำนาจ จึงเป็นเหตุให้ผู้นับถือศาสนาบางกลุ่ม ใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างในการทำสงคราม เพื่อแย่งชิงอำนาจ และจากตัวอย่างสองกรณีในประวัติศาสตร์ศาสนา เป็นหลักฐานที่เพียงพอในการกล่าวว่า ความขัดแย้งภายใน ไม่ได้มีต้นตอมาจากคำสอนของศาสนาแต่อย่างใด…..

2 สงครามภายในทื่มาจากผู้นับถือศาสนา

เป็นไปได้ว่า ผู้วิจารณ์ศาสนา อาจจะตั้งคำถามเชิงคลุมเครือขึ้นมาใหม่ว่า “ในท้ายที่สุด ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากคำสอน หรือคนในศาสนา แต่สุดท้าย สงคราม และการเข่นฆ่า ก็มีปรากฎเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของศาสนา และหากคำสอนของศาสนาไม่เกี่ยวข้อง ถึงอย่างนั้น ในท้างอ้อม ข้อพิพาท และความขัดแย้งเหล่านี้ ก็เกี่ยวข้องกับ ศาสนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นนี้ หากไม่มีศาสนาเลย การตีความ และการบิดเบือน ความผิดพลาดต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น และไฟสงครามภายในศาสนาก็จะไม่เกิดขึ้นเช่นกัน”

วิพากษ์

คำตอบของเรา จาก ความคลุมเครือในเรื่องนี้ คือ มนุษย์ผู้ซึ่งมีอิสระ และมีเสรีในการเลือก เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเป็นไปได้ว่า จะใช้ สื่อ หรือ เครื่องมือหนึ่ง ในทางที่ไม่ถูกต้องเสมอ พอๆกับที่เขาสามารถใช้สิ่งต่างๆในเชิงสร้างสรรค์
บางครั้ง เครื่องมือที่ มนุษย์ใช้ คือ คุณธรรมบางประการ เช่น ความยุติธรรม,เสรีภาพ สำนักคิดต่างๆ หรือ แม้กระทั่งความรู้ มนุษย์เราหากจงใจกระทำความผิดแล้ว เขาสามารถใช้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมในการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้เสมอ และประวัติศาสตร์ของสงครามที่มนุษย์ได้ก่อไว้ ก็บอกเล่าเรื่องราวให้เราเช่นนี้เสมอ เราสามารถกล่าวอ้างได้หรือว่า มนุษย์ใช้ “เหล็ก” ทำในสิ่งที่ชั่วร้ายเสมอไป และไม่ใช่สร้างสรรค์สิ่งอื่นๆ แน่นอนว่า คำตอบยอมชัดเจนในตัวของมัน

ศาสนาที่นำเสนอมนุษย์เปรียบดั่ง เครื่องมือ หรือ สื่อ ที่จะนำพาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จ และความผาสุข ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า ดังนั้น มันจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลหรือ หากเราจะโยนความผิดให้ศาสนา เพราะสงครามต่างๆที่เกิดขึ้น และตัดสินว่า ศาสนาจะต้องถูกถอดถอนออกไปจากมนุษยชาติ และพวกเขาจะต้องไม่นับถือศาสนาอีก !!!
ผู้ที่ศรัทธาต่อพระเจ้า และโลกหลังความตาย จะไม่มีทางยอมรับ สมมติฐานนี้อย่างแน่นอน เพราะ ข้อสมมติดังกล่าว จะปิดกั้นมนุษย์ออกจาก สิ่งที่ดีงามซึ่งมีอยู่ในศาสนาไปด้วย เช่น จริยธรรม ,การสร้างความผาสุขให้ชีวิตโลกนี้และโลกหน้า ,การใช้ปัญญา,การเสียสละ ,การให้ ความรักในพี่น้อง ความยุติธรรม ความถ่อมตน และแม้ว่ากลุ่มที่ไม่มีศาสนา จะอ้างว่า มนุษย์สามารถสร้างคุณค่าที่เป็นบวก(เช่น จริยธรรม สติปัญญา กฎหมาย วิถีชีวิต) โดยไม่ต้องพึ่งพาศาสนาก็ตาม แต่ในท้ายที่สุด พวกเขาก็ต้องยอมรับว่า ศาสนามีบทบาทในการสร้างสรรค์สังคม ปัจเจก และคุณค่าทางจริยธรรม มาอย่างยาวนาน ไม่ว่าพวกเขาจะชอบ หรือไม่ แต่พวกเขาก็ต้องยอมรับบทบาทของศาสนาในมุมนี้
กล่าวอีกมุมหนึ่งก็คือ สติปัญญาของเรา ได้กล่าวแก่เราว่า เมื่อพิจารณาผลประโยชน์และผลเสียจากการลบศาสนาหนึ่ง จะได้คำตอบว่า ท้ายที่สุด สงคราม บางสงคราม อาจจะไม่เกิดขึ้น และผู้ที่เสียชีวิตจากสงครามภายในศาสนา ก็จะไม่ต้องตาย ซึ่งเมื่อเราเทียบกับจำนวนผู้พลีชีวิตของตนเองในสงครามศาสนา กับ สงคราม ที่ไม่เกี่ยวข้องศาสนา จะได้คำตอบว่า ตัวเลขของผู้ตาย มันไม่อาจเปรียบเทียบกันได้เลย การทำสงครามหลายร้อยปีในนามของศาสนาเสียอีก มนุษย์เราตายเพราะ สงครามการแย่งชิงอำนาจ,แยงชิงบัลลังค์ ล่าอาณานิคมที่ด่อยกว่า,เผด็จการ ,และอื่นๆมากกว่า ที่ตายเพราะทำสงครามศาสนาเสียอีก ตัวอย่างมากมายที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เช่น สามก๊ก,ทรอย,อาหรับฆ่าคนเพราะอคติในวงศ์ตระกูล,ปาเลสไตน์,สงครามโลกครั้งที่ 1 ,สงครามโลกครั้งที่ 2 ,การล่าอาณานิคมของเจงกิสข่าน,การยึดแผ่นดินอินเดียแดงของอเมริกา หรือแม้กระทั่งฆ่ากันเพราะอูฐเพียงตัวเดียว

ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่ว่า ไม่มีศาสนา เท่ากับไม่มีคนตาย จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะจากหลักฐานชี้ว่า จำนวนมนุษย์ที่สละชีพเพื่อศาสนา เทียบไม่ได้กับจำนวนผู้ตายในสงครามที่ไม่ใช่ศาสนาเลยแม้แต่น้อย มนุษย์จะสูญเสีย คุณค่า และวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ไป หากพวกเขาละทิ้งศาสนา

สรุป บางกลุ่มอ้างว่า แม้ว่าศาสนาจะไม่ใช่ต้นตอของสงคราม แต่ในทางอ้อม มนุษย์ส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ต้องเสียชีวิตลงเพราะสงครามศาสนา ดังนั้น การไม่มีศาสนา จึงไม่มีความขัดแย้ง แต่เมื่อเราทำการพิจาณาจากประวัติศาสตร์ และข้อพิสูจน์ทางตรรกะ จะได้ข้อสรุปว่า มนุษย์สามารถใช้ทุกสิ่งในทางที่ไม่ดีได้ เพื่อประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่พวกเขาวางไว้ ซึ่งจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์มักจะใช้ สิ่งที่ดีงาม ต่างๆ อย่างเช่น ความยุติธรรม หรือ ระบบการปกครองที่สร้างความสุขแก่สังคม, หรือ แผ่นดิน,อาณาจักร เป็นเหตุผล และแรงจูงใจในการก่อสงครามเสมอ ซึ่ง ในบางกรณี พวกเขาก็ใช้ ศาสนา เป็นเครื่องมือ เช่นกัน ทว่า จากการพิจาณาจะพบว่า หากโลกนี้ไม่มีศาสนา มนุษย์จะใช้สิ่งอื่นเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้ง หลักฐานที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้ คือ สงครามต่างๆที่ไม่ได้เกิดขึ้นในนามของศาสนา และหากลบศาสนาออกไป คุณค่า และความดีงามต่างๆที่อยู่ในศาสนา ก็จะหายสาบสูญไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น การกล่าวอ้างเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด

ข้อกล่าวหาที่ 2 สงครามระหว่างศาสนา

ข้อกล่าวหาอีกประการหนึ่งที่ถูกนำเสนอ นอกเหนือจาก สงครามและความขัดแย้งภายในศาสนา ก็คือ สงครามระหว่างศาสนา พวกเขาให้ลงความเห็นว่า นอกจากสงครามภายใน ยังมีสงครามภายนอก ซึ่งเกิดมาจากหลายปัจจัย เช่น การแข่งขัน หรือ การกล่าวหาถึงความบิดเบือน หรือการปฏิเสธความเป็นศาสนา หรือตัดสินว่าศาสนาอื่นเป็นโมฆะ
ปัจจัยต่างๆเหล่านี้เป็นตัวที่ทำให้เกิดสงครามไม้กางเขน หรือ สงครามครูเซด ซึ่งสงครามดังกล่าวก็เป็นตัวอย่างที่สนับสนุนแนวคิดนี้ โดยผู้นำเสนอข้อสงสัยนี้ ได้อ้างว่า สงคราม และความรุนแรงต่าง มีต้นตอและสาเหตุมาจากหลักการต่างๆของศาสนา ซึ่งหนึ่งในหลักการนั้นก็คือ การจำกัดให้ยอมรับศาสนาเดียวจากหลายๆศาสนา
ผู้นับถือศาสนาส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า ศาสนาแห่งสัจธรรมที่ถูกต้อง คือ มีศาสนาเดียว ซึ่้งแต่ละกลุ่มก็จะมีความเชื่อเช่นนี้ ต่อศาสนาที่พวกเขายึดถือ และถือว่า ศาสนาอื่นๆ เป็นศาสนาที่ไม่บริสุทธิ์คือมีการผสมกันระหว่าง สัจธรรม และโมฆะ ความจริง และความเท็จ และการจะเข้าถึงสัจธรรมได้จะต้องเลือกปฏิบัติศาสนาใดศาสนาหนึ่งเท่านั้น
ภายใต้ร่มเงาของ การจำกัดศาสนา ศาสนิกชนของแต่ละฝ่าย จะถือว่า ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามศาสนาที่ถูกต้อง คือ ผู้ปฏิเสธ หรือ ผู้ที่ควรแก่การลงโทษ หรือ ผู้ที่จะต้องถูกลงโทษ ไม่ว่าจะในโลกนี้ หรือ โลกหน้า และนักวิจารณ์เองก็มักจะอ้างอิงทัศนะนี้ โดยการพาดพิงถึงศาสนาอิสลาม ว่า เป็นศาสนาที่มีทัศนะเช่นนี้ และโองการต่างๆมากมายก็ได้กล่าวถึง การทำสงครามกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ด้วยเช่นกัน ข้อเท็จจริงของข้อกล่าวหาคืออะไร ?

วิพากษ์

ก่อนหน้านี้เราได้ทำการวิจารณ์ทัศนะ และให้คำตอบเกี่ยวกับ ข้อสงสัย เรื่อง สงครามภายในศาสนาแล้ว และในข้อกล่าวหานี้ก็เช่นกัน ข้อกล่าวหานี้ได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอให้ผู้อ่านได้รับรู้แล้ว ซึ่งเราจะทำการอธิบายและชี้แจงประเด็นต่างๆดังนี้

1 สงคราม คือ ผล ของสาเหตุ ที่ไม่ได้มาจากศาสนา

ในหัวข้อก่อนหน้านี้ เราได้อธิบายไว้แล้วว่า ศาสนา ได้ต่อต้าน ความรุนแรง และสงคราม ทว่าสงครามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ หากทำการวิเคราะห์และศึกษาตามรอย สืบจากประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาจะพบว่า ปัจจัยต่างๆที่เป็นต้นเหตุของสงคราม ไม่ได้มาจากศาสนา เช่น ความขัดแย้ง,การเป็นศัตรู ของศาสนาอันทรงธรรม หรือ การยึดครองแผ่นดิน
ศาสนาอันเป็นสัจธรรม และเที่ยงแท้ จึงจำต้องเข้าสู่สงครามอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ตัวอย่างที่ชัดเจนในยุคสมัยนี้คือ “ปาเลสไตน์” ซึ่งไซออนิสต์ทั่วโลก สามารถรวมตัวกันมาอยู่ในปาเลสไตน์ ด้วยความช่วยเหลือ ของอังกฤษ พวกเขาได้ใช้เล่ห์เหลี่ยม และเทคนิคทางการเมืองที่หลากหลายและแยบยล ในการเข้ายึดครองปาเลสไตน์อย่างช้าๆ และสามารถตั้งรัฐเถื่อนอิสราเอลขึ้นมาได้ในที่สุด

ดังนั้น ต้นต้อและแหล่งกำเนิดของ ยิวไซออนิสต์ จึงไม่เกี่ยวข้องกับ หลักคำสอนของศาสนายูดาย ทว่า นักการศาสนาเหล่านั้นได้ทำการบิดเบือน คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา และตีความไปในทางที่ไม่ถูกต้อง พวกเขาจึงเริ่มแผนนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างฐานะและอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียน ไม่ได้ต้องการนำเสนอว่า ผู้ปกครองมุสลิมในประวัติศาสตร์ จะมีประวัติศาสตร์ขาวสะอาดไร้มลทินแต่อย่างใด เพราะตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ ยุคสมัยของราชวงศ์อุมัยยะฮ และราชวงศ์อับบาซียะฮ อย่างไรก็ตาม เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ว่า พวกเขา(ผู้นำที่กดขี่) ได้สร้างสงครามขึ้นมาก็เพื่อ อำนาจ และมีมากมายตั้งเท่าไหร่ที่เราจะเห็นว่า คนเหล่านี้ได้ทำสงครามโดยเอาศาสนามาบังหน้า และใช้มันในการแสวงหาสิ่งที่ตนต้องการ หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่ชัดเจนในยุคสมัยนี้ ก็คือ ข้ออ้างของซัดดัม ฮุสเซน ในการทำสงครามกับ สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

2 เอกภาพจากคำสอนของศาสนา

หากพิจารณา จากสิ่งที่เกิดขึ้น ของแต่ละศาสนา และแต่ละสำนักคิด เป็นเป็นไปได้ว่า ผู้ศึกษาจะต้องเจอกับเรื่องราวของสงคราม และความรุนแรงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทว่า ในคำสอนของศาสนาต่างๆ จะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจเป็นอย่างดีว่า แต่ละศาสนามีคำสอนหลักในการรักต่อเพื่อนมนุษย์ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน การเคารพสิทธิของศาสนิกชน เราจะเห็นคำสอนเชิงแนะนำให้ทำการ โลกแห่งเอกภาพ ทั้งพุทธ์ คริสต์ อิสลาม ฮินดู โซโรแอสเตอร์ ขงจื๊อ

ซึ่งในบทความนี้ ผู้เขียนข้อนำเสนอ หลักฐานดังกล่าวในมุมมองของอิสลาม สัจธรรมแห่งศาสนามีเพียงหนึ่งความจริงหนึ่งเดียวเท่านั้น และความจริงอันนั้น ก็คือ ความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า และโลกหลังความตาย หรือ เรียกในศัพท์ศาสนาว่า มะอาด (อันหมายถึง การคืนกลับ) ซึ่งอัลกุรอ่าน ได้กล่าวถึงแก่นแท้ของชีวิตไว้เช่นนี้ และได้สั่งให้มนุษย์ ยอมตนต่อเบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นจ้า และยอมรับในศาสดาของพระองค์

การยอมตน หรือ ตัสลีม มีความหมายแตกต่างตามประเด็นต่างๆ มุสลิมถือว่า การที่มนุษย์จะต้องยอมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า เป็นหลักตรรกะที่มั่นคงและสอดคล้องกับสามัญสำนักอันบริสุทธิ์ และในอีกด้านหนึ่ง แก่นแท้ของศาสนาคือ การยอมเชื่อฟัง คำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า การเชื่อฟังต่อศาสดา และรวมถึง การเชื่อฟังต่อวิวรณ์ของพระองค์ คือ อัลกุรอ่านอันจำเริญ

ทว่า เนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงของแต่ละยุคสมัย การพัฒนาทางความคิดของมนุษย์ จึงทำให้ คำสอนของศาสนา ซึ่งในที่นี้หมายถึง ชะรีอะฮ หรือ ศาสนบัญญัติ พัฒนาไปตามสภาพของแต่ละสมัยเช่นกัน ในยุคสมัยศาสนามูซา(อ) หรือ โมเซช ชะรีอะฮ ก็เป็นไปในรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพการนั้น ในยุคสมัยศาสดา อีซา หรือ เมซีอา ศาสนบัญญัติก็เปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม จนมาถึงยุคสมัยของศาสดามูฮัมมัด ศาสนาองค์สุดท้าย พระองค์จึงได้ประทานคัมภีร์ที่จะสามารถก่อเกิดความสังสรรค์และชี้นำมนุษย์ ได้ตลอดทุกยุคทุกสมัย ตราบจนวันสุดท้ายของโลก
ซึ่งมุสลิมมีความเชื่อว่า เมื่อระบบศาสดา มาสิ้นสุดลงที่ ท่านศาสดามูฮัมมัด (ศ) ทุกๆศาสนาก็จะต้องเปลี่ยนแปลงและยอมรับในศาสดาสุดท้าย และหากเป็นเช่นนั้น โลกจะเป็นพยานแก่ ศาสนาเพียงหนึ่งเดียว และภายใต้ร่มเงาที่ทุกคนอาศัยอยู่ในศาสนานี้ จะไม่มีความขัดแย้งและสงครามใดๆเกิดขึ้นอีก ดังที่อัลกุรอ่าน ได้บอกถึงอนาคตที่ของโลก ว่าในวันหนึ่ง สัญญาของพระเจ้าจะเกิดขึ้น คือ โดยจะมีบุรุษผู้หนึ่งปรากฎ เขาจะสามารถรวมมนุษย์ทั้งโลกให้ศรัทธา และมีทิศทางเดียวกัน ปลดปล่อยมนุษย์จากความเจ็บปวด ความขมข่น การกดขี่ทั้งปวง คือ อิมามมะฮดี(อญ) หรือในอีกนามหนึ่งคือ ศรีอาริยเมตไตร หรือ บุตรแห่งมนุษย์ ผู้เขียนได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ ยุคสุดท้าย ตามคำทำนายของแต่ละศาสนา สิ่งที่น่าค้นคว้ามากที่สุด คือ เกือบๆทุกๆศาสนา จะบอกเล่าเรื่องราวของยุคสุดท้ายในแนวเดียวกัน คือ การปรากฎของมหาบุรุษผู้ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโลก เขาจะทำให้โลกนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรม ภายหลังจากที่มันเต็มไปด้วยความอธรรมและการกดขี่

ดังนั้น เอกลักษณ์ของศาสนา (ในทีนี้หมายถึงอิสลาม) ไม่เพียงแต่จะไม่สนับสนุนให้มนุษย์ สร้างสงคราม และความขัดแย้ง แต่ยังได้รณรงค์และสนับสนุนให้ศาสนิกชน สร้างโลกแห่งสันติ ความเมตตา และความรัก จากการนำเสนอเหล่านี้ จึงชัดเจนแล้วว่าแม้ว่าศาสนา จะยึดหลักการเรื่องจำกัดความถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว แต่หลักการนั้น ไม่ใช่หลักการที่เป็นพื้นฐานในการสร้างความแตกแยก หรือ สงครามแต่อย่างใด

ข้อกล่าวหาที่ 3 การจำกัดศาสนาที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว คือ ต้นตอของความขัดแย้ง

หนึ่งในข้อกล่าวหา ที่มักถูกนำมาใช้โจมตี ศาสนาเสมอ ก็คือ หลักการในเรื่องการจำกัดศาสนาที่ถูกต้อง ในที่นี้ เราจะทำการวิเคราะห์ ถึงประเด็นนี้ ด้วยศาสนาอิสลาม ผู้วิจารณ์จะอ้างว่า อิสลามเป็นศาสนาที่ถือว่าตนเองคือ ศาสนาที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว และมนุษย์ทุกคนจะต้องปฏิบัติ และเปลี่ยนไปรับนับถืออิสลาม ภายหลังจากการปรากฎของศาสนานี้ และหากใครไม่ยอมรับในศาสนาอันนี้ เขาก็จะถูกเรียกว่า กาเฟร หรือ ผู้ปฏิเสธ และจากจุดนี้ อิสลามจึงเป็นศาสนาที่มีพื้นฐานของความแตกแยก ?

ก่อนที่เราจะให้คำตอบกับหัวข้อนี้ ขอให้ผู้อ่านพึงทราบว่า หลักการที่เราจะนำมาเสนอนี้ เป็นหนึ่งในหลักการที่มาจากอัลกุรอ่าน และฮะดิษ ซึ่งปัจจุบัน ถูกนำมาใช้เป็นกฎหมายอิสลามในประเทศอิหร่าน ว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมืองที่ไม่ใช่มุสลิม แน่นอนว่า อิสลาม คือศาสนาที่อ้างว่า เป็นศาสนาที่ถูกต้องและเที่ยงธรรม ทว่า เราจะไม่เข้าไปพิสูจน์หรือเจาะลึกในประเด็นนี้ว่า ทำไมมุสลิมจึงถือว่า อิสลามคือศาสนาที่ถูกต้องเพียงศาสนาเดียว เพราะหัวข้อในประเด็นนี้ ผู้วิจารณ์ และศัตรูของศาสนา ได้เสนอมาว่า การจำกัดศาสนา คือ ต้นเหตุของความรุนแรงและความขัดแย้ง ในประเด็นนี้เราจึงจะมาวิเคราะห์และให้คำตอบว่า ข้อกล่าวอ้างดังกล่าว มีข้อเท็จจริงอย่างไร ?

วิพากษ์

อิสลามถือเป็นศาสนาแห่งสัจธรรม และจำกัดว่า ศาสนาที่ถูกต้องมีเพียงหนึ่งเดียว แต่กระนั้น อิสลามก็ไม่ได้ปฏิเสธการใช้ชีวิตอยู่ร่วมสังคมกับพี่น้องต่างศาสนิก และในกฎหมายอิสลามตามมาตรฐานของอัลกุรอ่านและฮะดิษ ก็มีกล่าวไว้ถึง สิทธิพลเมืองผู้ไม่ใช่มุสลิมด้วยเช่นกัน หมายความว่า ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม สามารถใช้ชีวิตอย่างสันติในประเทศอิสลามได้

1 คำสั่งของอัลกุรอ่าน ในการสร้างมิตรภาพ และทำความดี กับพี่น้องต่างศาสนา

หลักการของอัลกุรอ่านที่มีต่อมนุษย์ คือ คือสิ่งที่มุสลิมจะต้องยอมรับทั้งภาคความรู้ และภาคปฏิบัติ อัลกุรอ่านถือว่า มนุษย์ถูกสร้างมาอย่างผู้ที่มีเกียรติและศักด์ศรีตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิม หรือ ไม่ใช่มุสลิม พระองค์ได้มอบเกียรติอันนี้ให้กับมนุษย์ทุกคน และได้มอบปัจจัยยังชีพ และทำให้พวกเขาประเสริฐกว่าสรรพสิ่งอื่นๆ ดังที่กล่าวไว้ใน ซูเราะฮ อิสเราะฮ โองการที่ 70

และมุสลิมทุกคนยังได้รับมอบหมายจาก พระผู้เป็นเจ้าให้กล่าวคำพูดที่ดีงามกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังที่กล่าวในอัลกุรอ่าน ซูเราะฮ บากาเราะฮ โองการที่ 83 และนอกจากนี้ จากหลักฐานทางอัลกุรอ่าน ยังเป็นข้อพิสูจน์อีกว่า มุสลิม ได้รับหน้าที่ ในการตัดสินมนุษย์ด้วยความยุติธรรม ซึ่งถูกบันทึกไว้ในซูเราะฮ นิซาอฺ โองการที่ 55 และจากซูเราะฮ มุมตาฮีนะ โองการที่ 8 ยังชี้ให้เห็นอีกว่า หาก กาเฟร หรือ ผู้ปฏิเสธ ไม่ได้เป็นศัตรูกับอิสลาม หรือ มุสลิม พระองค์อัลลอฮ ก็มิทรงห้ามที่มุสลิม จะกระทำดีต่อพวกเขา และปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเป็นธรรม และพระองค์ทรงรักผู้มีความยุติธรรม

2 การเน้นคำสั่งถึงการญิฮาด

ในบางครั้ง ผู้ที่มีอคติต่ออิสลาม อาจอ้างว่า อิสลามเป็นศาสนาแห่งสงคราม เพราะมีคำสั่งให้ทำสงครามกับบรรดากาเฟร

ข้อเท็จจริงของประเด็นนี้ หากทำการพิจารณาและศึกษาอย่างละเอียดในอัลกรุอ่าน จากโองการต่างๆของอัลกุรอ่านที่เกี่ยวกับญิฮาด จะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจอย่างถูกต้องว่า ทุกๆโองการที่เกี่ยวข้องกับการญิฮาด เป็นโองการที่อธิบาย สิทธิในการป้องกันของมุสลิม ต่อศาสนา และครอบครัวของพวกเขา และการญิฮาด และการทำสงครามนั้น ไม่ได้หมายถึง ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมทุกคน แต่หมายถึงบรรดากาเฟรเฉพาะกลุ่มที่ พวกเขาได้ทำสงคราม หรือกดขี่รังแกมุสลิม ซึ่งรายละเอียดของประเด็นนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอในอนาคตหากพระองค์ทรงประสงค์

ซึ่งหากทำการพิจาณาถึงข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ จะเห็นว่า ผู้ที่มีความอคติกับศาสนา มักจะนำโองการอัลกุรอ่านมาอ้างอิงเพียงตำแหน่งเดียวโดยไม่ได้พิจารณาถึง สาเหตุการลงมาของโองการดังกล่าว,ประวัติศาสตร์ของโองการดังกล่าว,หลักการญิฮาดเบื้องต้น, โองการที่เกี่ยวข้องกับญิฮาดในอัลกุรอ่าน…. เหมือนกับการยกคำพูดของคนๆหนึ่ง เช่น นาย ก กล่าวว่า”จงทำสงครามกับมนุษย์…..”

นาย ข ผู้ซึ่งฟังคำพูดนาย ก แต่ไม่เข้าใจเป้าหมายของนาย ก จึงอ้างว่า นาย ก นิยมในการฆ่ามนุษย์ โดยที่ นาย ข ไม่เคยอยู่รวมกับนาย ก จึงทำให้ นาย ข ไม่รู้ว่า มนุษย์ที่ นาย ก สั่งให้ทำสงคราม คือ กลุ่มชนที่กดขี่และข่มเหงต่อผู้อื่น และปัจจุบัน ผู้ที่มีความอคติ มักจะโต้แย้งและแสดงถึงความไม่ชอบในคำสอนของอัลกุรอ่าน เพราะความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และตื่นเขินเช่นนี้ การที่พวกเขา(มุสลิม และผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม)นำเสนออัลกุรอ่าน โดยยกโองการหนึ่งมาอธิบาย ตามความคิดของตัวเองนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะในบางกรณี ผู้ศึกษาอาจตีความตามที่ตนเองคิดว่าน่าจะเป็น โดยไม่พิจารณาตามหลักฐานทางตำราทางศาสนา เช่น ตัฟซีร ฮะดิษ ประวัติศาสตร์ควบคู่กันไป

ดังนั้น การจะเข้าใจอัลกุรอ่านในเชิงลึกได้อย่างถูกต้อง จะต้องทำการศึกษาแต่ละโองการในทุก ๆมิติ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านความหมาย ทางด้านฮะดิษ ทางด้านสาเหตุการประทานของอัลกุรอ่าน และการศึกษา อัลกุรอ่านวิทยา(อูลูมกุรอ่าน)จะช่วยทำให้เราเข้าใจถึง เรื่องราวในอัลกุรอ่าน อย่างที่ควรจะเข้าใจได้ดีขึ้น

สรุป ข้อกล่าวหาอีกประการหนึ่งที่ผู้มีอคติต่อศาสนามักกล่าวอ้างคือ การจำกัดศาสนาเป็นสาเหตุหลักของความรุนแรง ซึ่งจากอัลกุรอ่าน พิสูจน์ได้ว่า การจำกัดศาสนา ไม่ใช่สาเหตุของความรุนแรง หลักฐานจากอัลกุรอ่าน ชี้ว่า ในทัศนะของอัลกุรอ่าน มนุษย์ทุกคนต่างมีเกียรติ ไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิม หรือไม่ใช่มุสลิม มุสลิมมีหน้าที่ปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องและดีงามต่อ ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม และจากโองการต่างๆเกี่ยวกับเรื่องการญิฮาดชี้ให้เห็นว่า กลุ่มที่มุสลิม ทำสงคราม และญิฮาดนั้น ไม่ใช่กาเฟร หรือ ผู้ปฏิเสธทั้งหมด แต่หมายถึง กาเฟร ฟาซิค มุชริก มุนาฟิก ที่เป็นศัตรูของอิสลาม และมุสลิม หรือ ผู้ที่กดขี่เห่งมุสลิม ดังนั้นข้อหาที่ว่า อิสลามนำพาซึ่งความแตกแยก เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานรองรับแต่อย่างใด

บทส่งท้าย

1 ศึกษาอิสลามผ่านอิสลาม

ในยุคสมัยปัจจุบัน การนำเสนอ ประเด็นเรื่องอิสลามกับความรุนแรง เป็นเทคนิคในการปูพื้นฐาน เพื่อสร้างแนวรบทางความคิดในเรื่อง Islamophobia ข้อแนะนำ จากซัยยิด อาลีคาเมเนอีย์ ในการเข้าถึงอิสลามคือ “จะต้องศึกษาอิสลามผ่านอิสลาม”

การรู้จักอิสลามผ่านสื่อ จะทำให้พี่น้อง ไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนานี้ได้อย่างแท้จริง ผ่านไปกี่หนาวแล้ว ที่ผู้คนถูกทำให้เข้าใจผิดมากมายเกี่ยวกับศาสนานี้ เพราะสื่อตะวันตก ดังนั้นการศึกษาอิสลามผ่านอิสลามในยุคสมัยปัจจุบัน จึงจะเป็นสิ่งที่ทำให้ นักศึกษาเข้าใกล้ความจริงเกี่ยวกับอิสลามมากที่สุด

2 ความสับสน

ในยุคสมัยปัจจุบัน ความหลากหลาย และประเภทต่างๆของมุสลิม ทำให้ในบางครั้ง พี่น้องต่างศาสนิก ด่วนตัดสินว่า การกระทำของกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่า เป็นมุสลิม คือหลักคำสอนของอิสลาม ข้อแนะนำสำหรับข้อนี้ สำหรับพี่น้องชาวไทยพุทธ และคริสต์ และศาสนิกชนศาสนาอื่นๆคือ การจะรู้จักกลุ่มที่ทำการเคลื่อนไหวในนามอิสลาม ว่าใช่ของแท้หรือของปลอม จะต้องติดตาม ความคิดเห็นของผู้นำโลกอิสลาม หรือสถาบันทางความรู้อันเป็นมาตรฐานของโลกอิสลามเสีย เราจึงจะเข้าใจ กลุ่มที่ออกมาก่อกวน และสร้างความหวาดกลัวต่อสังคม คือ ใคร ?

3 มุสลิมฆ่ามุสลิม

กลุ่มผู้สวมหน้ากากอิสลาม ในยุคนี้ ไม่ได้เจาะจงในการฆ่าสังหาร ชาวต่างศาสนิกเพียงอย่างเดียว พวกเขายังสังหารมุสลิมจำนวนมาก ปัจจุบัน น่าเศร้าใจที่มีผู้คนบางกลุ่ม ยังดึงดันที่จะสนับสนุน กลุ่มผู้กดขี่เหล่านี้ โดยไม่สนใจว่า ผู้รู้ นักวิชาการศาสนา และผู้นำของพวกเขา มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการกระทำของกลุ่มนี้

เหตุผลที่พวกเขายังคงสนับสนุน และสบถด่าทอผู้ที่ไม่ยอมรับ ISIS ไม่ใช่เพราะพวกเขามีหลักฐานใดๆที่สามารถพิสูจน์ถึงความชอบธรรมของ ISIS และพวกเขาก็ไม่ใช่ผู้รู้ที่ศึกษาศาสนาอิสลาม ทว่า เพราะ
ความเขลา และความดื้อด้านของพวกเขา การไม่มีผู้นำ และการไม่เคยศึกษาการเมืองอิสลามมาตั้งแต่เริ่มแรก ทำให้คนเหล่านี้ ด่วนตัดสินใจ เชิดชูอุดมการณ์เปื้อนเลือดของ ISIS โดยที่พวกเขาเอง ก็ยังไม่แน่ใจว่า กลุ่มนี้ จะดำรงแนวทางตามคำสอนอิสลามหรือไม่ เพียงแต่เห็นว่า ชูธงชื่อพระเจ้า ชื่อศาสดา ก็ยอมรับ โดยไม่สืบหาเบื้องหลังว่า ใครคือผู้สร้างองค์กร? ใครคือผู้สนับสนุน นโยบายหลักขององค์คืออะไร มีอะไรบ้าง ? เพียงคำถามเบื้องต้นเกี่ยวกับ ISIS พวกเขาก็ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ แต่ก็ยังดึงดันที่จะปกป้อง คนกลุ่มนี้

ในอิสลาม ถือว่า พวกเขาคือ ผู้นับถือศาสนาอย่างคนตาบอด ดังนั้น สิ่งที่ชาวมุสลิม จะต้องตระหนัก และพึงระลึกอยู่เสมอ คือ เราจะต้องไม่นับถือศาสนาอย่างคนโง่ หรือ ยกย่องเชิดชูกลุ่มใดเพียงแค่อ้างนามของศาสนา โดยไม่ค้นหาความจริงเกี่ยวกับพวกเขาเหล่านั้นเสียก่อน และพี่น้องมุสลิม จะต้องรักษาเอกภาพและสามัคคีในการเผชิญหน้ากับ ผู้สวมหน้ากากอิสลามเหล่านี้ และสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องให้กับพี่น้องต่างศาสนิก อินชาอัลลอฮ ขอพระองค์ทรงชี้นำต่อผู้ที่แสวงหาความจริง