ทำไมสหรัฐฯ จึงส่งอาวุธให้อัล-กออิดะฮ์ในเยเมน

ไม่ว่าจะมีการ “สูญ” อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ขายตรงให้แก่ซาอุดิอารเบียมูลค่าห้าร้อยล้านดอลล่าร์ไปหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ สหรัฐฯ กำลังมีบทบาทสำคัญในความยุ่งเหยิงที่กำลังเกิดขึ้นในเยเมน

3122

(ภาพ) ชายคนหนึ่งยืนเฝ้าระวังอยู่บนถนนเส้นหนึ่งในเมืองซานาอฺ เยเมน หลังการโจมตีของอัล-กออิดะฮ์ อัล-กออิดะฮ์ขยายการปฏิบัติงานไปในทุกจังหวัดของประเทศที่มีประชากรมากกว่า 25 ล้านคนนี้


 

ลอนดอน – ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า บอกกับนักข่าวเมื่อเดือนมกราคมว่า คณะบริหารของเขายังคงจดจ่ออยู่กับการรับมือกับกลุ่มก่อการร้ายในเยเมนด้วยการตอบโต้ภัยคุกคามจากอัล-กออิดะฮ์ในประเทศที่ยากจนบนคาบสมุทรอาหรับแห่งนี้ แต่ก็ดูเหมือนว่าการประกาศสงครามของซาอุดิอารเบียเมื่อวันที่ 25 มีนาคมจะทำให้ยุทธศาสตร์นั้นต้องเงียบเสียงไป

ซาอุดี้ฯ อาจทำได้มากกว่าการหยุดการต่อสู้กับการก่อการร้ายในเยเมน จริงๆ แล้วตอนนี้ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ จะถูกต้อนให้จนมุมจนต้องช่วยกลุ่มหัวรุนแรงที่ตนหมายจะกำจัดไปด้วยซ้ำ

ในการพูดถึงยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายของอเมริกาในเยเมน เมื่อเริ่มเกิดความตึงเครียดทางการเมืองและความไม่มั่นคงขึ้นที่นั่น โอบาม่ายืนยันระหว่างการเยือนอินเดียเมื่อเดือนมกราคมว่า “สิ่งที่เราสนใจเป็นอันดับสองในเยเมนก็คือการรักษาแรงดันในการต่อต้านการก่อการร้ายกับอัล-กออิดะฮ์ในเยเมน และเราได้ทำเรื่องนั้นมาโดยตลอด”
กับรายงานข่าวที่ชี้ว่าสหรัฐฯ ได้ระงับเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายเอาไว้เนื่องจากความไม่แน่นอนนั้น เขายืนยันว่า “เรายังคงติดตามเป้าหมายสำคัญในเยเมนอยู่ และจะรักษาแรงกดดันนั้นต่อไปเพื่อทำให้ประชาชนชาวอเมริกันปลอดภัย”

และขณะที่เรื่องราวการต่อต้านการก่อการร้ายของเจ้าหน้าที่สำคัญยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่า การที่ริยาดเข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหารต่อกลุ่มเฮาซี กลุ่มนักรบที่ยึดเยเมนไว้ได้ ซึ่งเป็นการเข้าทางของอัล-กออิดะฮ์โดยตรง จะเป็นการพลิกวาทะกรรมต่อต้านการก่อการร้ายของอเมริกา

“เมื่อพูดถึงเฮาซี กับอะไรก็ตามที่เป็นอคติทางการแบ่งแยกนิกายหรือทางการเมืองที่สื่อตะวันตกอาจพึ่งพา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า ไม่มีกลุ่มอื่นใดในเยเมนที่อยากจะทำลายอัล-กออิดะฮ์มากไปกว่าพวกเขาอีกแล้ว” โจควิน ฟลอเรส ผู้อำนวยการและนักวิเคราะห์ภูมิศาสตร์การเมืองในบอสเนียบอกกับสำนักข่าวมินท์เพรสส์

“แต่สหรัฐฯ ก็ยังทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อทำลายอิทธิพลของเฮาซีในเยเมน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายหรือกลุ่มที่ซาอุดิอารเบียหนุนหลัง เช่นอัล-อิสลาห์ ที่เรารู้ว่ามีความสัมพันธ์อยู่กับพวกมุสลิมสุดโต่ง” เขากล่าวเสริม

อิสลาห์ คือพรรคซุนนีสุดโต่งที่ทำหน้าที่เป็นกำบังให้แก่กลุ่มย่อยเคร่งศาสนาหลายกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) และนักรบซาลาฟี ตั้งแต่ปี 1994 อิสลาห์ได้รับประโยชน์จากการหนุนหลังของซาอุดิอารเบีย ทั้งทางการเมืองและทางการเงิน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวต้านอำนาจกับพรรคสภาประชาชนทั่วไป (General People’s Congress) พรรคการเมืองของอดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลลอฮ์ ซาเลห์

เจ้าหน้าที่ทางการทหารของเยเมนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นว่า แนวทางอุดมการณ์ของซาอุดิอารเบีย ที่ประกอบด้วยโมรอกโก, อียิปต์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ปากีสถาน, บาห์เรน, กาตาร์, คูเวต, จอร์แดน, ซูดาน, สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ล้วนแล้วแต่ได้สร้างความสามารถให้แก่อัล-กออิดะฮ์ด้วยการทำให้เกิดสุญญากาศทั้งทางการเมืองและทางความมั่นคง ที่กลุ่มก่อการร้ายสามารถใช้เพื่อความได้เปรียบของพวกเขา

พลตรีอับดุลเราะห์มาน อัล-ฮาลิลี ผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ของเยเมน ซึ่งอยู่ในจังหวัดฮัดรอเมาต์ทางภาคใต้ กล่าวกับมินท์เพรสส์ว่า

“การเข้าแทรกแซงทางทหารในเยเมนของซาอุดิอารเบีย ทำให้นักรบอัล-กออิดะฮ์สามารถเคลื่อนไหวนอกเขตอิทธิพลปกติของพวกเขาได้ การเปลี่ยนแปลงความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการเปลี่ยนจุดสนใจของชาติตะวันตกจากกลุ่มซุนนีหัวรุนแรงมาเป็นการตัดทอนสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นภัยคุกคามจากชีอะฮ์ ได้ทำหน้าที่เหมือนเป็นการส่งเสริมอำนาจให้แก่ยุทธศาสตร์การเกณฑ์พลและความทะเยอทะยานของกลุ่มนักรบในเยเมน”

เขากล่าวเสริมว่า “อัล-กออิดะฮ์ในวันนี้อันตรายมากยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาก่อน เพราะเยเมนไม่มีโครงสร้างภายในหรือเอกภาพในกองทัพที่จำเป็นในการขัดขวางความก้าวหน้าของมันอีกต่อไป

 

ศัตรูของศัตรู

เหมือนน้องสาวต่างมารดาที่น่าเกลียดแห่งคาบสมุทรอาหรับ เยเมนดูจืดไปเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านที่ร่ำรวยน้ำมัน ด้วยความยากจน ไร้เสถียรภาพ และดื้อดึง เยเมนจึงถูกรบกวนด้วยการทุจริตอย่างแพร่หลาย การจลาจลทั่วไป ความยากจนและความไม่เท่าเทียมมาตลอดสามทศวรรษ

ฟลอเรสอธิบายว่า

“เป็นความมหัศจรรย์ทางภูมิยุทธศาสตร์และพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อกำเนิดกลุ่มหัวรุนแรง เนื่องจากขาดการกำกับดูแลของรัฐบาลและความคับข้องใจต่อรัฐที่ฝังลึก อัล-กออิดะฮ์รับรู้ถึงศักยภาพการก่อการร้ายของเยเมนได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับที่อัฟกานิสถานได้กลายมาเป็นจุดศูนย์กลางของกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงในยุค 1980s เยเมนก็จะเป็นแนวรบของอัล-กออิดะฮ์ในแคว้นอาหรับ ตรงหน้าประตูบ้านของซาอุดิอารเบียผู้ยิ่งใหญ่ ถิ่นกำเนิดของอุดมการณ์ที่ขับเคลื่อนและกระตุ้นให้เกิดกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมนี้”

ถึงแม้ว่าเยเมนจะเป็นพื้นที่ดำเนินการในตะวันออกกลางของอัล-กออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาหรับ(AQAP) มานาน โดยเป็นพื้นที่สำหรับฝ่ายสุดโต่งของหลายกลุ่มที่ซาอุดี้ฯ สนับสนุนและให้ทุนในการออกอาละวาด แต่หลายฝ่ายในเยเมน รวมทั้งเฮาซี ได้ส่งเสียงแสดงความปรารถนาที่จะต่อต้านการเกิดแนวคิดสุดโต่งนี้ในฐานะแบบอย่างใหม่ทางการเมืองและทางสถาบัน

กลุ่มเฮาซีถูกสื่อกระแสหลักกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับอิหร่าน และแทนที่จะเป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง กลับเป็นกลุ่มเฮาซีที่ถูกกล่าวโทษสำหรับการที่เยเมนตกอยู่ในความสับสนวุ่นวาย

ในรายงานที่เขียนให้ New York Review of Books เดือนที่แล้ว โรเบิร์ต เวิร์ธ นักหนังสือพิมพ์ผู้ชำนาญด้านตะวันออกกลางได้เขียนว่า “เฮาซี ไม่เหมือนฮิซบุลลอฮ์และขบวนการชีอะฮ์อื่นๆ พวกเขาไม่ได้รับคำสั่งจากเตหะราน และได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนน้อยมาก”

อาดัม บารอน นักวิเคราะห์ชาวเยเมนก็ได้สะท้อนเสียงการวิเคราะห์ของเวิร์ธ โดยที่ The Guardian ได้หยิบยกคำพูดของเขามารายงานว่า

“เหตุผลที่ทำให้เราได้เห็นภาษาเช่นนั้นจากผู้นำสูงสุดก็คือ มือของเขา หรือมือของรัฐบาลอิหร่าน ถูกมัดไว้ที่จุดนี้ ในด้านการให้การสนับสนุนทางการเงินหรือทางทหารแก่เฮาซี มันยากมากที่จะเห็นว่าพวกเขาจะทำได้อย่างไร การใช้คำพูดที่หนักแน่นเหล่านี้เกือบจะเป็นทางเลือกเดียวของพวกเขา”

มุจตาดา มูซาวี นักวิเคราะห์การเมืองชาวอิหร่านและบรรณาธิการ Iran’s View กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าเฮาซีและอันซอรอลลอฮ์ ปีกทางการเมืองของกลุ่ม จะวางตัวเองอย่างรวดเร็วว่าเป็นพันธมิตรกับอเมริกาในการต่อต้านการก่อการร้าย แต่วอชิงตันกลับเลือกที่จะอยู่ฝ่ายเดียวกับมหาอำนาจที่ใช้ประโยชน์จากกลุ่มสุดโต่งเพื่อการคุมอำนาจเหนือมหาภูมิภาคตะวันออกกลาง นั่นก็คือซาอุดิอารเบีย”

มูซาวีกล่าวต่อไปว่า

“เรามาพูดให้ชัดเจนกันว่า ซาอุดิอารเบียเป็นส่วนหนึ่งของสมการการก่อการร้าย และถึงแม้สหรัฐฯ จะกล่าวว่าตนต้องการที่จะทำลายการก่อการร้าย แต่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐกำลังเข้านอนกับผู้ให้ทุนแก่การก่อการร้าย ทำไมนะหรือ? เพราะมันทำให้เกิดความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ ผู้ค้าอาวุธพอใจ และ Big Oil ก็พอใจ เฮาซีอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดในการต่อต้านการเกิดขึ้นของอัล-กออิดะฮ์ และมีความเสี่ยงจากสงครามที่ริยาดกำลังทำกับเยเมน ลำพังเรื่องนี้ก็น่าจะทำให้คุณอยากตั้งสมมุติฐานใหม่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า ทำไมเฮาซีจึงถูกตราหน้าว่าเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้ในทันที เป็นภัยคุกคามต่อใคร?”

 

ความรุนแรงที่แปลงเป็นอาวุธ

Mideast Yemen Al Qaida in Yemen

(ภาพ) โลโก้ของอัล-กออิดะฮ์ บนป้ายริมถนนแห่งหนึ่งในเมืองจาร์ ของจังหวัดอับยานทางภาคใต้ของเยเมน


 

เมื่อพิจารณาถึงการที่เยเมนได้ตกเข้าสู่วังวนของการก่อการร้ายอีกครั้งหนึ่งหลังจากปฏิบัติการทางทหารของซาอุดี้ฯ เจ้าหน้าที่ทางทหารหลายคนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเป้าหมายสูงสุดของกษัตริย์ซัลมาน พลตรีอัล-ฮาลิลี บอกกับมินท์เพรสส์ว่า

“ด้วยความพยายามที่จะล้มล้างเฮาซี ตามที่ผู้นำทางทหารขอซาอุดี้ฯ กล่าวอ้าง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นอานุภาพทางทหารของเยเมน เป็นโครงสร้างพื้นฐานของมันต่างหากที่ได้รับความเสียหายและถูกทำลายอย่างเป็นระบบ ต้องไม่ลืมว่าเป็นเพราะความเหนือกว่าทางการทหารของเรานี่เองที่ทำให้เราสามารถควบคุมพวกนักรบก่อการร้ายเอาไว้ได้จนถึงตอนนี้ ความสามารถในการต่อสู้กับการก่อการร้ายของเยเมนถูกขัดขวางอย่างกะทันหัน บนหลังของซาอุดิอารเบียที่กำลังทิ้งระเบิดใส่เยเมนนั่นเองที่เราได้เห็นการฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอัล-กออิดะฮ์”

อัล-กออิดะฮ์จัดการเข้าควบคุมท่าอากาศยานในมุกัลลา ตัวเมืองของจังหวัดฮัดรอเมาต์ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ไว้ได้เมื่อวันที่ 16 เมษายน ปัจจุบันกลุ่มนี้เข้าควบคุมเมืองที่มีประชากร 200,000 คนแห่งนี้ไว้ได้เกือบทั้งหมดแล้ว

นับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม อัล-กออิดะฮ์ประสบความสำเร็จในการยึดที่มั่นทางตะวันออกเฉียงใต้ของเยเมนด้วยการยึดฐานทัพแห่งหนึ่งและท่าอากาศยานแห่งหนึ่ง รวมทั้งรักษาที่ตั้งของตนในจังหวัดชับวาทางตะวันออกด้วย

กลุ่มนี้ยังสามารถจัดหาอาวุธอานุภาพสูง รถถัง ยานหุ้มเกราะ และยุทโธปกรณ์สำคัญอื่นๆ ได้อีกด้วย อะห์เมด อัล-จุนาอิด โฆษกและสมาชิกระดับแกนนำของเฮาซี บอกกับมินท์เพรสส์ว่า

“ตอนนี้อัล-กออิดะฮ์สามารถเข้าถึงอาวุธอานุภาพสูงได้แล้ว ซึ่งประกอบด้วยจรวด และอุปกรณ์ทางทหารราคาแพง ซาอุดิอารเบียไม่เพียงแค่พยายามลดขีดความสามารถของเราในการขับไล่นักรบก่อการร้ายเท่านั้น แต่มันยังดำเนินการเพื่อให้อำนาจแก่พวกหัวรุนแรงด้วย และทั้งนี้ทั้งนั้นก็ด้วยความเห็นชอบอย่างลับๆ ของวอชิงตัน สหรัฐฯ อยู่ไหนในตอนนี้ ผมถามหน่อย? เกิดอะไรขึ้นกับคำว่า เราจะต่อสู้กับการก่อการร้ายไม่ว่ามันจะอยู่ที่ไหน? เรารู้ว่ามันอยู่ที่ไหน มันอยู่ทางเหนือของเขตแดนของเรา ในพระราชวังหรูหราของอัล-ซาอูดนั่นไง”

 

ความเกี่ยวโยงที่น่ารำคาญ

คณะบริหารของโอบาม่าถูกกล่าวหาบ่อยครั้งว่า “ทำการชักนำอยู่เบื้องหลัง” และฟลอเรส นักวิเคราะห์ภูมิศาสตร์การเมืองเตือนว่า สหรัฐฯ อาจจะกำลังให้อาวุธจากทางเบื้องหลังด้วยเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช โอบาม่าจะแสดงท่าทีในเชิงรับมากกว่า โดยไม่วางตำแหน่งอเมริกาให้เป็นผู้นำและผู้ขับเคลื่อนนโยบายของโลก แต่ให้เป็นผู้สังเกตการณ์

“ความล้มเหลวของวอชิงตันในการติดตามความช่วยเหลือทางทหารของตนในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นในเยเมน อิรัก ซีเรีย หรือเลบานอน ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันไม่เพียงแค่เป็นอันตราย แต่ยังเป็นความไม่รอบคอบ เพราะนักรบก่อการร้ายได้จัดการเข้ายึด ควบคุม และแย่งชิงสมบัติสำคัญของกองทัพได้เพิ่มมากขึ้น” ฟลอเรสบอกกับมินท์เพรสส์ “ใครอาจจะโต้แย้งได้ว่าสหรัฐฯ เต็มใจที่จะเล่นอยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ หรือไม่ก็บรรดาพ่อค้าอาวุธที่วางแผนร่วมกับเจ้าหน้าที่ในวอชิงตันนั่นเองที่เต็มใจ”

เมื่อวันที่ 17 มีนาคคม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้ยืนยันต่อวอชิงตันโพสต์ว่า อุปกรณ์ทางทหารมูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลล่าร์ได้สูญหายไปในเยเมน

“เพนตากอนไม่สามารถทำบัญชีความช่วยเหลือทางทหารมูลค่ามากกว่า 500 ล้านดอลล่าร์ที่สหรัฐฯ ให้แก่เยเมนได้ ท่ามกลางความหวั่นเกรงว่าอาวุธ เครื่องบิน และอุปกร์ดังกล่าวอาจจะถูกยึดไปโดยฝ่ายกบฏที่อิหร่านหนุนหลังหรือโดยอัล-กออิดะฮ์ ตามการกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ” วอชิงตันโพสต์รายงาน

ด้วยการสูญเสียอาวุธมูลค่าห้าร้อยล้านดอลล่าร์ไป ทำให้วอชิงตันตัดสินใจที่จะระงับความช่วยเหลือทางทหารต่อไปแก่เยเมน “ด้วยเหตุนั้น กระทรวงกลาโหมจึงได้หยุดการส่งเครื่องมือทางทหารมูลค่าประมาณ 125 ล้านดอลล่าร์ที่มีกำหนดจะส่งให้ในปีนี้แก่เยเมน ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินโดรนไร้อาวุธ ScanEale เครื่องบินประเภทอื่นๆ และรถจี้ป เครื่องมือดังกล่าวจะถูกบริจาคให้แก่ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางและแอฟริกาแทน”  วอชิงตันโพสต์รายงานต่อไป

ฟลอเรส ซึ่งให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษต่อความเคลื่อนไหวของอัล-กออิดะฮ์ในเยเมนตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว เมื่อการแทรกแซงทางทหารที่นำโดยซาอุดี้ฯ ได้สร้างสูญญากาศทางอำนาจและความมั่นคงเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ทำให้ต้องสูญเสียอุปกรณ์ทางทหารมูลค่า 500 ล้านดอลล่าร์ไป และกลุ่มนักรบคือผู้ได้รับประโยชน์จาก “ความช่วยเหลือทางทหารที่ทิ้งมาจากทางอากาศ”

“ประมาณสองสัปดาห์มาแล้วที่ซาอุดี้ฯ และพันธมิตรของพวกเขาได้ทิ้งอาวุธและสิ่งจำเป็นอื่นๆ มาทางร่มชูชีพให้แก่พันธมิตรของพวกเขาที่อยู่บนพื้นดินเพื่อต่อสู้กับเฮาซี” เขากล่าว “และเนื่องจากไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจริงๆ แล้วใครคือพันธมิตรเหล่านั้น จึงน่าจะเข้าใจเอาได้ว่ากลุ่มนักรบอัล-กออิดะฮ์จะได้ใช้ประโยชน์จากความยุ่งเหยิงเช่นนั้น และฉกฉวยเอาเครื่องมือทางทหารเหล่านั้นไป”

อัล-จูนาอิดก็ยืนยันเหมือนฟลอเรสว่า

“เรารู้ว่าอัล-กออิดะฮ์และสมาชิกกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในเยเมนซ่อนตัวอยู่ในแนวของทหารอาสาที่สนับสนุนฮาดี และเรารู้ว่ากองกำลังผสมกำลังส่งความช่วยเหลือทางทหารให้แก่กลุ่มเหล่านั้น คุณต้องการหลักฐานอีกมากแค่ไหนจึงจะตื่นขึ้นมารับรู้ข้อเท็จจริงที่ว่าอัล-กออิดะฮ์ได้รับการสนับสนุนจากซาอุดิอารเบีย?”

ขณะที่สหรัฐฯ ถูกฟลอเรสตราหน้าว่าสะเพร่า “อย่างถึงที่สุด” ที่ไม่ติดตามการช่วยเหลือทางทหารของตนในเยเมน มูซาวีจาก Iran Veiw เตือนว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นจุดเล็กๆ ของปัญหาใหญ่ก็ได้

“อย่าใส่ใจกับสรรพาวุธมูลค่า 500 ล้านดอลล่าร์นั่นเลย มาสนใจกับเงินหลายพันล้านดอลล่าร์ที่ซาอุดิอารเบียใช้จ่ายในการซื้ออาวุธกับสหรัฐฯ ไม่ดีกว่าหรือ?” มูซาวีกล่าว “ถ้าซาอุดิอารเบียเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดและโดยตรงที่สุดต่อการก่อการร้ายในภูมิภาคนี้เหมือนอย่างที่หลายคนสงสัย ดังนั้น ด้วยการร่วมมือกัน สหรัฐฯ ก็กำลังจัดส่งอุปกรณ์บำรุงให้แก่กลุ่มหัวรุนแรงนั่นเอง”

รายงานจากสถาบันค้นคว้าวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศในสต๊อกโฮล์ม ปี 2013 เปิดเผยให้เห็นแนวโน้มในการขนส่งอาวุธ สถาบันนี้พบว่าความต้องการการนำเข้าเพื่อการป้องกันประเทศของซาอุดิอารเบียเพิ่มสูงขึ้นในหลายปีมานี้

“ในปี 2009-2013 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คือผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดอันดับสี่ของโลก และซาอุดิอารเบียเป็นอันดับที่ห้า จากที่เคยเป็นอันดับที่ 18 ในปี 2004-2008 ทั้งสองประเทศสั่งซื้ออาวุธเป็นจำนวนมากหรือมีแผนการจัดหาอาวุธล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเข้าของซาอุดิอารเบียจะเพิ่มขึ้นด้วยการจัดส่งเครื่องบินรบ Typhoon เพิ่มเติมจากอังกฤษ และการจัดส่งเครื่องบินรบ F-15SA จำนวน 154 ลำจากสหรัฐอเมริกาปี 2015 ในปี 2013 ซาอุดิอารเบียคัดเลือกพาหนะหุ้มเกราะจากแคนาดามูลค่า 10,000 ล้านดอลล่าร์”

การขายอาวุธให้ซาอุดิอารเบียของสหรัฐฯ ถูกตรวจสอบและท้าทายจากบรรดานักวิเคราะห์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เพราะความต้องการเติมเต็มคลังสรรพาวุธของซาอุดี้ฯ ได้ขนานกันไปกับความก้าวหน้าของกลุ่มนักรบในตะวันออกกลาง ในรายงานข่าวที่เขียนให้ Middle East Eye เมื่อเดือนตุลาคม แมรี่ แอตคินสัน ระบุว่า “การเข้าร่วมในกองกำลังผสมต่อต้านไอเอสของซาอุดิอารเบีย และตอนนี้ที่ลงทุนขนานใหญ่ครั้งใหม่ในการซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ดูเหมือนน่าจะทำให้หลายคนต้องเลิกคิ้วด้วยความฉงน”

เธอเขียนต่อไปว่า

“ซาอุดิอารเบียได้แสดงการต่อต้านอย่างแรงกล้าต่อรัฐบาลของอัสซาดมานานแล้ว และเข้าเกี่ยวข้องในการให้ทุนแก่กลุ่มกบฏมาตลอดช่วงของความขัดแย้ง รวมถึงผลลัพธ์ที่น่าเคลือบแคลงจากปฏิบัติการทิ้งระเบิดในขณะนี้ ล้วนเป็นข้อกล่าวหามายาวนานว่าซาอุดิอารเบียมีส่วนรับผิดชอบในการให้เงินทุนแก่กลุ่มต่างๆ อย่างไอเอสในซีเรีย หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ได้ดำเนินการเพียงพอในการขัดขวางประชาชนของตนจากการให้เงินทุน”

ทั้งฟลอเรสและมูซาวีต่างให้เหตุผลโต้แย้งว่า เยเมนได้กลายเป็นแนวหน้าแห่งใหม่ในตะวันออกกลางของกลุ่มนักรบที่ซาอุดี้ฯ หนุนหลังอยู่ ดังนั้น ซาอุดี้ฯ จึงดำเนินการเพื่อจัดหาอาวุธเพิ่มมากขึ้น อเมริกากำลังมีส่วนร่วมในความเกี่ยวโยงกับการก่อการร้ายที่น่ารำคาญนี้อย่างแท้จริง ถ้าไม่ใช่ด้วยเจตนา อย่างน้อยก็ด้วยความร่วมมือ

 

โดยแคเธอรีน ชัคดัม
Source http://www.mintpressnews.com
แปล กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์