euronews – เยเมนในสภาวะแห่งความไม่แน่นอนและความไม่มั่นคงในบางครั้งบางครา และเป็นแหล่งแห่งการบรรจบของตะวันออกและตะวันตก ซึ่งในวันนี้ กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติทางการเมืองและความไม่สงบที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญบางคนวิเคราะห์ว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเยเมนในวันนี้ เป็นกระจกสะท้อน ถึง “ สงครามเย็น” ระหว่างอิหร่านกับซาอุดิอาระเบีย
สิ่งที่เป็นชนวนสู่สงครามภายในเยเมน คือการแข่งขันและช่วงชิงภาวะผู้นำของซาอุดิอาระเบียในฐานะผู้นำโลกซุนนี กับสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ที่เป็นผู้นำโลกชีอะห์ ในระดับภูมิภาค ซึ่งเยเมนเองก็ไม่อาจถูกยกเว้นจากข้อสมมุติฐานดังกล่าวได้
ด้วยเหตุนี้ ซาอุดิอาระเบีย และชาติพันธมิตรในอ่าวเปอร์เซีย ถือว่า การที่กลุ่มเฮาซีย์ สามารถยึดครองกรุงซานาได้นั้น ถือเป็นการก่อรัฐประหารเหนือหุ่นเชิดของตนเอง
วิกฤติในเยเมน มีรากฐานและรากเหง้า จาก การเมือง ชนเผ่า และชาตินิยมที่มีอยู่ในประเทศ
เป็นวิกฤติซึ่งมีศักยภาพพอในการฉีดความตึงเครียดในเชิงความสัมพันธ์ทวีภาคีของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในตะวันออกกลาง คือ ซาอุดิอาระเบียและอิหร่านให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีแนวโน้มว่า วิกฤติในเยเมนจะมีการต่อสู้ที่เข้มข้นของทั้งสองประเทศในระดับภูมิภาคมากขึ้นกว่านี้
กลุ่มฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องในภาวะวิกฤตในเยเมน
กลุ่มเฮาซีย์ หรือ กลุ่มอันศอรุลเลาะห์
กลุ่มเฮาซีย์ เริ่มเคลื่อนไหวในรูปลักษณะของการขับเคลื่อนในระดับเยาวชน ภายใต้ชื่อ “เยาวชนผู้ศรัทธา” เมื่อช่วงปี 1992 โดยมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิของชีอะห์ ซัยดียะห์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งในเยเมน มีจำนวน หนึ่งส่วนห้าของประชากรเยเมนทั้งหมด
กลุ่มดังกล่าว เริ่มมีการปะทะและต่อสู้กับรัฐบาลกลางเยเมน ตั้งแต่ปี 2003 -2009 ซึ่งล่าสุด กลุ่มเฮาซีย์ก็สามารถยึดครองกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมนได้สำเร็จ อีกทั้งยังเป็นพันธมิตรที่ดีกับอิหร่านอีกด้วย
กลุ่มเฮาซีย์ได้รับการฝึกฝนและอบรมทางทหารจากอิหร่าน อีกทั้งอิหร่านยังให้การสนับสนุนทางการเงินและอาวุธอีกด้วย แต่ทางการเฮาซีย์ ออกมาปฏิเสธว่า พวกเขาไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเช่นนี้จากอิหร่าน พวกเขาถือว่า การยึดครองกรุงซานาและเมืองต่างๆเกือบทั้งประเทศเป็นผลลัพธ์ของการปฏิวัติของพี่น้องประชาชนชาวเยเมนทั้งหมด
อับดุล รอบีห์ มันศูร ฮาดี ประธานาธิบดีเยเมน
เขาได้ขึ้นครองอำนาจเป็นผู้นำของเยเมนเมื่อปี 2012 เพื่อบริหารจัดการและนำเยเมนสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ฮาดีย์ ถูกกลุ่มเฮาซีย์ ปิดล้อม ขณะอยู่ในบ้านพักของตนเอง ในเดือนมกราคม ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และได้ลบหนีกบดานยังเมืองเอเดน จากนั้นก็ได้ปฏิเสธการลาออกของตนเอง พร้อมกับเรียกร้องให้กองทัพเยเมนให้การจงรักภัคดีและเข้าร่วมสมทบกับเขาในการต่อสู้กับกลุ่มเฮาซีย์
อาลี อับดุลลอฮ์ ซาเลห์
ซาเลห์ ขึ้นครองอำนาจในเยเมน ตั้งแต่ปี 1978 (เยเมนเหนือ) และในปี 1990 เป็นผู้นำเยเมน หลังจากที่เยมนใต้เยเมนเหนือสามารถผนึกรวมเป็นชาติเดียว และในปี 2011 ได้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์อาหรับสปริงและการลุกขึ้นต่อสู้ของชาวเยเมน ทว่า ยังคงเป็นหุ่นเชิดของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเยเมนต่อไป จนถึงปี 2012 โดยเขาถูกชาติตะวันตกกล่าวหาว่า พยายามใช้อิทธิพลของตนเองและมีความพยายามที่จะให้ตนเองขึ้นมีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง
เครือข่ายของอัลกออิดะห์ ในคาบสมุทรอาหรับ
เครือข่ายดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวที่ยาวนานและมีความอันตรายเป็นอย่างมาก ถือเป็นเครือข่ายหนึ่งที่เป็นกลุ่มอิสลามนิยมหัวรุนแรงสุดโต่ง มีการวางแผนและโจมตีเครื่องบินต่างๆหลายครั้ง และโจมตีกองกำลังรักษาความปลอดภัยของเยมนอีกด้วย กลุ่มดังกล่าวยังเป็นผู้ลงมือก่อเหตุโจมตีสำนักงานวารสารชาลีแฮ็บโด ในกรุงปารีสอีกด้วย โดยที่อัลกออิดะห์ คาดหวังว่า หากกองทัพเยเมนล่มสลายและพ่ายแพ้ พวกเขาจะสามารถเข้าไปมีบทบาทอิทธิพลและควบคุมเมืองต่างๆในเยเมนทั้งหมด
ชีอะห์ ซัยดี (ซัยดียะห์)
ชีอะห์ ซัยดี เป็นสาขาหนึ่งของมัศฮับชีอะห์ อาศัยในที่ราบสูงทางเหนือของเยเมน มีกองกำลังอาสมัคร เฮาซีย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ถือเป็นตัวแทนทางการเมืองที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดของชนกลุ่มน้อยทางศาสนา
ส่วนชาวซุนนี่จะอาศัยในภาคใต้และภาคตะวันออกของเยมนเป็นส่วนใหญ่ โดยจะมีความแตกต่างกันกับพี่น้องในอิรักและซีเรีย ซึ่งชาวเยเมนทั้งพี่น้องซุนนี่และชีอะห์ จะร่วมกันนมาซร่วมกันในมัสยิด และจะร่วมใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขและฉันท์ที่พี่น้องอย่างยาวนาน
วิกฤติเยเมนและน้ำมัน
เมื่อสงครามกลางเมืองในเยเมนเริ่มขึ้น การส่งออกน้ำมันอย่างปลอดภัยสู่ช่องแคบมันเดบ ก็เริ่มถูกคุกคาม ช่องแคบมันเดบ เป็นเส้นทางเดินเรือและน่านน้ำที่สำคัญในการส่งออกน้ำมันไปยังยุโรป เอเชีย และอเมริกา ในปี 2013 สามารถส่งออกน้ำมัน 3.4 ล้าน บาร์เรลต่อวัน ผ่านน่านน้ำและช่องแคบยุทธ์ศาสตร์นี้
วิกฤติด้านมนุษยธรรม
วิกฤติและความตึงเครียดในเยมน ในช่วงที่ไม่มีรัฐบาลกลางหรือศูนย์กลางการบริหารจัดการที่อ่อนแอ ได้สร้างความล้าหลังให้กับเยเมน และจะยิ่งเพิ่มความทุกข์ยาก ทุกข์ทรมานและความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น
และในขณะเดียวกัน หากทางซาอุดิอาระเบีย จะยื่นข้อเสนอช่วยเหลือเยเมน ก็ย่อมมีเงื่อนไขว่า กลุ่มเฮาซีย์ ต้องร่นถอยและคืนอำนาจให้กับประธานาธิบดีซาเลห์ ซึ่งมันไม่เป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้
ตามสถิติของสหประชาชาติ เหตุการณ์ความไม่สงบ เหตุการณ์ปะทะอย่างต่อเนื่องและปะปรายในเยเมนนั้น เฉพาะในปีที่ผ่านมา ชาวเยเมนต้องหนีอพยพแล้ว จำนวน 100,000 กว่าคน และยิ่งสถานการณ์ในวันนี้ หลังจากที่ถูกซาอุดิอาระเบียโจมตีทางการอากาศอย่างหนัก วิกฤติด้านมนุษย์ธรรมของชาวเยเมน ย่อมเลวร้ายลงทุกขณะ ที่กำลังรอความช่วยเหลือจากนานาชาติ