สิทธิสตรีปาเลสไตน์ถูกมองข้ามไปเพื่อเห็นแก่การปลดปล่อยแห่งชาติ

สตรีในปาเลสไตน์ต้องเผชิญกับการกดขี่ทางการเมืองและสังคม แต่สิทธิของสตรีถูกมองข้ามมาตลอดเพื่อเป็นแก่สิทธิของชาติ

1412
(ภาพ) นักศึกษาปาเลสไตน์จากมหาวิทยาลัยบีร์ซีท (Birzeit) ปิดหน้าด้วยผ้าคลุมตาหมากรุกประจำชาติ (AFP)

รามัลลอฮ์ – แนวร่วมสตรีเยรูซาเล็ม (The Jerusalemite Women’s Coalition) กลุ่มสตรีปาเลสไตน์จากเยรูซาเล็มตะวันออก ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 ตลาคม เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ “ให้ความคุ้มครองฉุกเฉิน” จากเหตุการณ์รุนแรงทั่วอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง ซึ่งพวกเธอกล่าวว่าเป็นสาเหตุให้พวกเธอต้อง “ใช้ชีวิตอยู่ในรัฐแห่งความหวาดกลัวและน่าขยะแขยง”

แนวร่วมนี้ “เรียกร้องให้คุ้มครองสตรีและเด็กผู้หญิง” เพราะสองกลุ่มนี้ “มีความเปราะบางเป็นพิเศษกับความรุนแรงของรัฐและความโหดร้ายของมวลชนในรูปแบบต่างๆ”

สตรีและเด็กผู้หญิงได้รับผลกระทบเกินขนาดจากการยึดครอง จากคำบอกเล่าของนาดีรา ชัลฮูบ-เควอร์เคียน

ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งเยรูซาเล็ม ผู้เขียนคำแถลงการณ์ในนามของแนวร่วมนี้

“แง่มุมเกี่ยวกับเพศภาวะเป็นเรื่องที่ชัดเจนเสมอในการยึดครองของอิสราเอล” เธอกล่าว

ครอบครัวทั้งหลายทั่วทั้งเวสต์แบงก์ลังเลใจที่จะให้สตรีออกจากบ้านตามลำพังเนื่องจากกองกำลังของอิสราเอลจงใจที่จะมุ่งเป้าไปยังสตรีและเด็กผู้หญิง

สตรีไม่สามารถไปทำงานได้ และเด็กผู้หญิงก็ขาดโรงเรียนมากกว่าเด็กผู้ชายด้วย อันทำให้มี “การเกิดใหม่ของระบบชายเป็นใหญ่” ในสังคมปาเลสไตน์ ชัลฮูบ-เควอร์เคียน บอกกับผู้สื่อข่าว Middle East Eye

อีลีน คุตตับ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาของสตรี (Institute of Women’s Studies –IWS) ที่มหาวิทยาลัยบีร์ซีท ในเวสต์แบงก์ ได้สะท้อนความรู้เดียวกันกับแนวร่วมสตรีเยรูซาเล็ม โดยกล่าวว่า ลักษณะโดยธรรมชาติทางโครงสร้างของความรุนแรง วงจร และความซับซ้อนของมัน หมายความว่า สตรีมักจะตกเป็น “ผู้ซึมซับด้วยความตกตะลึง” ในความขัดแย้ง และสตรีในปาเลสไตน์อยู่ในฐานะที่เลวร้ายที่สุดภายใต้การยึดครอง

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำหรับความก้าวหน้าของสิทธิสตรีมีความล้ำลึกกว่าเรื่องผลกระทบต่อเพศภาวะของการยึดครอง คุตตับอธิบาย ในปาเลสไตน์ สิทธิสตรีได้รับผลกระทบในทางลบจากแรงดันที่เชื่อมประสานกันของความบีบคั้นทางการเมืองและสังคม แรงดันเหล่านี้ไม่สามารถแยกออกจากกัน และมันทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมและปกป้องกันและกัน และสร้างรูปแบบใหม่ของการกีดขี่ ชัลฮูบ-เควอร์เคียนอธิบาย

อย่างไรก็ตาม แทนที่จะหาความสมดุลระหว่างเสรีภาพของชาติและทางสังคม “ประชาชนกลับให้ความสนใจกับเสรีภาพของแผ่นดินโดยต้องสูญเสียเสรีภาพของสตรีไป” เราดา บาซีร์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาของสตรีสาขานาบลัส บอกกับ MEE

สิทธิสตรีภายใต้การยึดครอง

กระทรวงกิจการสตรี (Ministry of Women’s Affairs) หรือ MOWA ตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานหนึ่งของคณะปกครองปาเลสไตน์ (PA) ในปี 2003 เว็บไซต์ของกระทรวงระบุว่า ความมุ่งหมายคือ “การส่งเสริมและเพิ่มอำนวจให้แก่สตรีปาเลสไตน์”

แถลงการณ์ที่กล่าวต่อสหประชาชาติ (UN) ในเดือนมีนาคม 2014 โดยราบิฮา ดิอับ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสตรีได้ระบุไว้ชัดเจนว่า กระทรวงมองว่าการยึดครองเป็นปัจจัยหลักที่หน่วงรั้งความก้าวหน้าของสิทธิสตรีในปาเลสไตน์
“การยึดครองด้วยกำลังทหารของอิสราเอล นโยบายและการปฏิบัติแบบกดขี่ของมันที่กระทำต่อชาวปาเลสไตน์ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อสตรีปาเลสไตน์ในลักษณะที่เป็นอันตรายมากที่สุด”

ยามีละห์ อบู-ดูโฮ ผู้เชี่ยวชาญเพศสภาพศึกษาที่องค์การสตรีแห่งสหประชาชาติส่งมาเป็นที่ปรึกษาให้กับ MOWA บอกกับ MEE ว่า สตรี “ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับที่ชาวปาเลสไตน์คนอื่นๆ ได้รับ” จากการยึดครองนี้ แต่ทว่าพวกเธอยังต้อง “แบกรับภาระหัวเรี่ยวหัวแรงในการประกอบอาชีพ” ด้วย ในปาเลสไตน์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในเขตบริหารของคณะปกครองปาเลสไตน์ “ลำดับความสำคัญแห่งชาติได้ครอบงำความสำคัญของเพศภาวะไป” อบู-ดูโฮกล่าว

อีลีน คุตตับ จากสถาบัน IWS  เห็นด้วยกับอบู-ดูโฮ เธอได้สังเกตชุดความคิดที่ว่า “ศัตรูอันดับแรกของเราคือการยึดครอง ไม่ใช่ผู้ชาย” ซึ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากมองว่า สิทธิสตรีเป็นประเด็นที่ต้องจัดการรองลงมาจากการสถาปนารัฐเอกราชปาเลสไตน์ เธอเน้นว่า “มีการต่อสู้ดิ้นรนที่แตกต่างกันภายในการต่อสู้ดิ้นรนเดียวกัน” และการต่อสู้ดิ้นรนเหล่านี้ไม่ควรจะถูกมองข้ามไปเพื่อเห็นแก่การต่อสู้ดิ้นรนอีกอย่างหนึ่ง

ระบบกฎหมายของปาเลสไตน์และ “ตราบาปทางสังคม”

ตัวอย่างหนึ่งของการกดขี่ทางสังคมต่อสตรีภายในสังคมปาเลสไตน์ก็คือ การที่พวกเธอขาดการปกป้องภายใต้ระบบกฎหมายปาเลสไตน์ เราดา บาซีร์ เชื่อว่าในปาเลสไตน์ “ผู้ชายจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายเสมอ” ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือการผ่อนผันโทษจำคุกให้กับผู้ที่ทำการฆ่าเพื่อรักษาเกียรติของครอบครัว

อัล จาซีรารายงานเกี่ยวกับการเพิ่มอัตรา “การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ” ในปาเลสไตน์ปีที่แล้ว การฆ่านี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นการลงมือของสมาชิกในครอบครัวที่กระทำต่อสตรีที่ถูกกล่าวหาว่า “ประพฤติผิดศีลธรรมทางเพศ” บาซีร์ยังกล่าวถึงเรื่องที่หญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องมีผู้ชายร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อฟ้องร้องเรื่องการข่มขืน

ยามีละห์ อบู-ดูโฮ จาก MOWA กล่าวว่า “ระบบกฎหมายเป็นข้อกังวลสำคัญ” และกระทรวงได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่างกฎหมายและแปรญัตติเพื่อปรับปรุงระบบนี้

อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่ามันไม่ใช่แค่ระบบกฎหมายเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องแก้ไข แต่กระบวนการของศาลด้วย รวมทั้งทัศนคติของสังคมในวงกว้าง

MOWA ได้จัดอบรมผู้พิพากษาและอัยการของรัฐเพื่อให้มีความละเอียดอ่อนต่อเพศภาวะมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายของพวกเขา อบู-ดูโฮกล่าวว่า ความจำเป็นสำหรับการอบรมนี้มีความเชื่อมโยงกันกับ “ตราบาปทางสังคม” ที่ถูกประทับให้กับสตรีและสิทธิสตรีในปาเลสไตน์

องค์กรเพื่อสิทธิสตรีอีกองค์กรหนึ่งที่ทำงานเพื่อท้าทาย “ตราบาปทางสังคม” นี้ ก็คือ Sawa องค์กรอิสระของปาเลสไตน์ “ที่ทำงานเพื่อต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีและเด็กทุกประเภท”

ยุทธศาสตร์สำคัญของ Sawa คือการขยายความร่วมมือของชุมชน องค์กรนี้จัดการอบรมให้แก่กลุ่มอาชีพต่างๆ ประกอบด้วยอัยการของรัฐ, แพทย์ และหน่วยคุ้มครองครอบครัวของกำลังตำรวจปาเลสไตน์ การอบรมนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความละเอียดอ่อนต่อเพศภาวะ และทำให้ประเด็นของสตรีเป็นกระแสหลักในสังคมปาเลสไตน์มากยิ่งขึ้น
ลีนา ซาเลห์ ผู้ประสานงานศูนย์รับแจ้งเหตุความรุนแรงทางเพศของ Sawa เชื่อว่า สังคมปาเลสไตน์กำลังเริ่มจะมีความตระหนักถึงประเด็นต่างๆ ของสตรีมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ศูนย์รับแจ้งเหตุเปิดให้บริการในปี 1998 มีสตรีเต็มใจติดต่อเข้ามาและไว้วางใจ Sawa เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง Sawa ได้ให้คำแนะนำและการช่วยเหลือแก่สตรี
เมื่อถูกถามถึงผลกระทบสองด้านจากความบีบคั้นทางการเมืองและทางสังคมของผู้หญิงในปาเลสไตน์ ฟลอร่า ซัลมาน ผู้ควบคุมดูแลของ Sawa ตอบว่า “(การยึดครอง) อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักของความรุนแรงต่อสตรี”

ซัลมานกลับมุ่งเน้นที่จะตำหนิไปยังโครงสร้างทางสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ภายในปาเลสไตน์ “ผู้ชายให้สิทธิ์ตัวเองในการปฏิบัติกับผู้หญิงราวกับว่าเธอเป็นสมบัติของเขา” เธออธิบายว่า แกนโครงสร้างของระบบชายเป็นใหญ่นี้ไม่ได้มีเฉพาะกับปาเลสไตน์ “มันก็เหมือนกับสังคมอื่นๆ ทุกแห่ง… เราไม่ได้แตกต่างไปจากสังคมอื่นๆ มันมีอยู่ทุกที่และในทุกสังคม”

บริบทที่ซับซ้อน

เนื่องจากจุดตัดที่ยากลำบากของความบีบคั้นทางสังคมและทางการเมืองนี้ ยุทธศาสตร์ที่จะเสริมอำนาจให้แก่สตรีจะต้องมุ่งเน้นเป็นพิเศษไปที่บริบทของท้องถิ่น ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดที่ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากมองเห็นในองค์กรอิสระระหว่างประเทศและผู้บริจาค อีลีน คุตตับบอกกับ MEE

ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม แนวร่วมสตรีเยรูซาเล็มได้เรียกร้องให้ “ปฏิบัติตามมติสภาความมั่นคง 1325 เกี่ยวกับสตรี, สันติภาพ และความมั่นคง” มตินี้แสดงออกถึง “ความกังวลที่พลเรือน โดยเฉพาะสตรีและเด็ก เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ”

อย่างไรก็ตาม อีลีน คุตตับ จาก IWS บอกกับ MEE ว่า “มติ(ของยูเอ็น) อย่างเช่นมติ 1325 ส่วนใหญ่จะไม่ตรงประเด็น ปาเลสไตน์ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งหรือหลังความขัดแย้ง แต่อยู่ระหว่างการเคลื่อนไหวของขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติ ซึ่งสิทธิสตรีกำลังถูกมองข้ามไป”

คุตตับเชื่อว่า องค์กรอิสระและผู้บริจาคจำนวนมากถือว่าเรื่องสิทธิสตรีเป็นแนวคิดที่เป็นนามธรรม และการดำเนินการของพวกเขา “ไม่ตรงกับบริบท” พวกเขามุ่งเน้นไปที่เรื่องความบีบคั้นทางการเมืองหรือไม่ก็ทางสังคมของผู้หญิง และไม่คำนึงถึงลักษณะที่ทั้งสองทางนี้ทำงานร่วมกันเพื่อเสริมกำลังให้กันและกัน

“เพื่อให้สอดคล้องกัน เราไม่สามารถที่จะทำเพียงแค่ปฏิบัติตามการชี้นำของยูเอ็นแล้วปล่อยให้มันเลื่อนไหลไป มันเสียความหมายในระดับท้องถิ่นของมันไป” คุตตับอธิบาย อบู-ดูโฮสะท้อนถึงความรู้สึกนี้ “เราไม่สามารถจะคิดอยู่แต่ว่ารัฐปาเลสไตน์เป็นรัฐธรรมดารัฐหนึ่ง… สิ่งที่ได้ผลที่นี่ไม่ได้ผลกับที่อื่นๆ เราเป็นหนึ่งเดียวในแง่นั้น”

ภายในกระบวนการสร้างรัฐ คุตตับเชื่อว่า มันเลี่ยงไม่ได้ที่สิทธิสตรีจะถูกลืมไป ด้วยการประสานการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาติเข้ากับการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี มันจึงจะมีความหวังสำหรับโครงสร้างของรัฐปาเลสไตน์ในอนาคตที่ตั้งอยู่บนหลักความเท่าเทียมกันทางสังคม

เธอยืนยันว่า ปาเลสไตน์จำเป็นจะต้อง “หาสูตรที่ทำให้เรื่องสิทธิสตรีอยู่ในวาระ และไม่เชื่อมโยงกันกับการต่อสู้ดิ้นรนแห่งชาติ”

“สิทธิสตรีถูกทำให้พัวพันกับสิทธิแห่งชาติ มันควรจะเป็นการจับมือกันไป” อบู-ดูโฮ บอกกับ MEE “เมื่อเรากำลังสร้างชาติ เรารู้ว่าชาติแบบไหนที่เราต้องการ เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นแบบเสรี… ภายในอุดมการณ์นั้นเราสร้างสิทธิ และสิทธิสตรีควรจะอยู่ที่แนวหน้าของขบวนการสิทธิแห่งชาติ… สิ่งหนึ่งไม่ควรจะถือสิทธิสำคัญกว่าอีกอย่างหนึ่ง”
“(สตรี) จำเป็นต้องได้รับการปลดปล่อย และในเวลาเดียวกันเราก็จำเป็นต้องปลดปล่อยแผ่นดินของเรา”