คุณไม่อาจเข้าใจ “ไอซิส” ถ้าคุณไม่รู้ประวัติ “ลัทธิวะฮาบี” ในซาอุดิอาระเบีย!!

20232

เบรุต – การที่ดาอิช (ไอซิส) เข้ามาในประเทศอิรักได้สร้างความตกตะลึงให้กับหลายคนในตะวันตก หลายคนฉงน และหวาดกลัว กับความรุนแรงของมันและอำนาจดึงดูดที่ไอซิสมีต่อเยาวชนซุนนี แต่ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาพบว่าความสับสนของซาอุดิอาระเบียต่อหน้าเหตุการณ์นี้ที่ทั้งน่าหนักใจและอธิบายไม่ได้ พวกเขาสงสัยว่า “ซาอุดิอาระเบีย ไม่เข้าใจหรือว่าไอซิซก็เป็นภัยคุกคามกับพวกเขาด้วยเหมือนกัน?”

เห็นได้ชัดว่า แม้กระทั่งถึงตอนนี้ คนชั้นปกครองของซาอุฯ แบ่งเป็นฝักฝ่าย บางคนยกย่องว่าไอซิสกำลังต่อสู้กับ “ไฟ” ของชีอะฮ์อิหร่านด้วย “ไฟ” ของซุนนี และรัฐใหม่ของซุนนีกำลังจะก่อตัวขึ้นตรงใจกลางของบริเวณที่พวกเขาถือว่าเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของซุนนี และพวกเขากำลังถูกดึงดูดด้วยอุดมการณ์ซาลาฟีที่เคร่งครัดของดาอิช
ชาวซาอุฯ บางส่วนกลับหวาดกลัว และนึกถึงประวัติศาสตร์ของการก่อกบฏต่ออับดุลอาซิซโดยกลุ่มวะฮาบีอิควาน (หมายเหตุ : อิควานในที่นี้ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มอิควาน ภราดรภาพมุสลิม การกล่าวถึงอิควานครั้งต่อๆ ไปในที่นี้หมายถึงกลุ่มวะฮาบีอิควาน ไม่ใช่กลุ่มอิควาน ภราดรภาพมุสลิม) ซึ่งเกือบจะเกิดความแตกแยกกันภายในลัทธิวะฮาบีและตระกูลอัล-ซาอูดในช่วงปลายยุค 1920s

ชาวซาอุฯ จำนวนมากรำคาญใจกับหลักคำสอนแบบสุดโต่งของดาอิช(ไอซิส) และเริ่มจะตั้งคำถามต่อบางแง่มุมในการชี้นำและวาทกรรมของซาอุดิอารเบีย

สองฝ่ายของซาอุดีอาระเบีย

ความบาดหมางภายในและความตึงเครียดของซาอุดิอาระเบียเนื่องจากไอซิซสามารถทำความเข้าใจอย่างรู้ซึ้งถึงความเป็นสองฝักสองฝ่ายที่ฝังอยู่ในแกนของการวางทฤษฎีของซาอุฯ และต้นกำเนิดทางประวัติศาสตร์ของซาอุ

เกลียวที่โดดเด่นเส้นที่หนึ่งในอัตลักษณ์ของซาอุฯ เกี่ยวข้องโดยตรงกับมุฮัมมัด อิบนฺ อับดุลวะฮาบ (ผู้ก่อตั้งลัทธิวะฮาบี) ซึ่งหลักการที่เคร่งจัดสุดโต่งของเขาถูกนำมาใช้โดยอิบนฺ ซาอูด (ซึ่งขณะนั้นไม่ได้เป็นมากไปกว่าผู้นำชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งจากชนเผ่าเบดูอินมากมายหลายกลุ่มที่รบราฆ่าฟันกันอยู่ในทะเลทรายร้อนระดุทุระกันดานแห่งดินแดนนัจญด์)

เกลียวเส้นที่สองของสองฝ่ายที่น่ามึนงงนี้ เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับการเปลี่ยนให้เป็นรัฐของกษัตริย์อับดุลอาซิซในยุค 1920s การที่เขายับยั้งความรุนแรงของกลุ่มอิควาน (เพื่อให้มีที่ยืนทางการทูตในฐานะรัฐชาติกับอังกฤษและอเมริกา) และต่อมาก็ฉวยจังหวะการขึ้นลงที่เหมาะสมของปิโตรดอลล่าร์ในยุค 1920s เพื่อเป็นช่องทางในการส่งออกกระแสของกลุ่มอิควานออกไปจากบ้าน ด้วยการแพร่กระจายการปฏิวัติทางวัฒนธรรมแทนการปฏิวัติด้วยความรุนแรงไปทั่วโลกมุสลิม

แต่การ “ปฏิวัติทางวัฒนธรรม” นี้ไม่ใช่แนวการปฏิรูปที่ว่าง่าย มันเป็นการปฏิวัติที่ได้มาจากความเกลียดชังต่อแนวคิดที่เห็นต่างของอับดุลวะฮาบ ดังนั้นเขาจึงเรียกร้องให้กวาดล้างความคิดนอกรีตทั้งหมดของอิสลามและการบูชารูปปั้น
มุสลิมจอมปลอม

นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน สตีเวน คอลล์ ได้เขียนถึงหลักการที่เคร่งครัดและช่างจับผิดของอิบนฺ ตัยมียะฮ์ นักวิชาการแห่งศตวรรษที่ 14 ว่าเขาดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างไรต่อ “ชาวอียิปต์ที่มีมารยาท รักศิลปะ สูบบุหรี่ สูบกัญชา ตีกลอง และชนชั้นสูงชาวออตโตมานที่เดินทางข้ามดินแดนอาหรับเพื่อมาสวดมนต์ที่มักกะฮ์”

ในทัศนะของอับดุลวะฮาบ พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่มุสลิม พวกเขาเป็นคนนอกรีดที่แสร้งทำตัวเป็นมุสลิม ที่จริงแล้วเขาก็ไม่พบว่าพฤติกรรมของชาวอาหรับเบดูอินพื้นเมืองจะดีกว่าสักเท่าใด พวกเขาทำให้อับดุลวะฮาบขัดเคืองใจด้วยการให้เกียรติแก่บรรดานักบุญ ตั้งป้ายหินบนสุสาน และ “การเชื่อโชคลาง” ของพวกเขา

พฤติกรรมทั้งหมดนี้ อับดุลวะฮาบประณามว่าเป็น “บิดอะห์” (อุตริกรรม) ซึ่งพระเจ้าได้ทรงห้ามไว้ เช่นเดียวกับตัยมียะฮ์ก่อนหน้าเขา อับดุลวะฮาบเชื่อว่าช่วงเวลาที่ศาสดามุฮัมมัดอยู่ในมะดีนะฮ์เป็นสังคมมุสลิมในอุดมคติ ที่มุสลิมทุกคนควรปรารถนาที่จะลอกเลียนแบบ (นี่คือแนวคิดซาลาฟี)

ตัยมียะฮ์ได้ประกาศสงครามกับชีอะฮ์ ซาลาฟี และปรัชญากรีก เขาพูดต่อต้านการไปเยือนสุสานของท่านศาสดาและการฉลองวันประสูติของท่าน โดยประกาศว่าการปฏิบัติเช่นนั้นเป็นการลอกเลียนแบบการเทิดทูนบูชาพระเยซูเสมือนพระเจ้าของชาวคริสต์ อับดุลวะฮาบรับเอาคำสอนทั้งหมดเหล่านี้มายึดถือ โดยระบุว่า “การสงสัยหรือลังเลใจใดๆ” ของผู้ศรัทธาในการยอมรับการอธิบายศาสนาอิสลามแบบนี้จะทำให้ “เขาไม่มีความปลอดภัยในทรัพย์สินและชีวิตของเขา”

หลักการสำคัญอย่างหนึ่งจากคำสอนของอับดุลวะฮาบได้กลายเป็นแนวคิดสำคัญของการ “ตักฟีร” (การวินิจฉัยผู้อื่นว่าเป็นผู้ปฏิเสธ) ภายใต้หลักคำสอนตักฟิรีนี้ อับดุลวะฮาบและสาวกของเขาสามารถคิดว่า มุสลิมคนอื่นๆ เป็นผู้ละทิ้งศาสนาได้ ถ้าหากว่าพวกเขาเข้าร่วมในกิจกรรมที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการล่วงละเมิดอำนาจสูงสุดของผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (นั่นก็คือ กษัตริย์)

อับดุลวะฮาบประณามมุสลิมทุกคนที่ยกย่องให้เกียรติแก่คนตาย นักบุญ หรือเทวทูต เขาถือว่าเป็นการหันเหออกไปจากการยอมจำนนโดยสิ้นเชิงที่จะต้องรู้สึกต่อพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น อิสลามสายวะฮาบีจึงห้ามการขอพรแก่นักบุญหรือคนตาย การไปแสวงบุญที่สุสานหรือมัสยิดพิเศษ เทศกาลทางศาสนาที่ฉลองแก่นักบุญ การเทิดเกียรติแก่วันประสูติของศาสดามุฮัมัด และห้ามแม้กระทั่งการใช้แผ่นหินจารึกที่หลุมฝังศพเมื่อมีการฝังผู้ตาย

“เขาเขียนว่า ผู้ที่ไม่ทำตามความเห็นนี้จะต้องถูกฆ่า ภรรยาและลูกสาวของพวกเขาจะถูกล่วงละเมิด และทรัพย์สินของพวกเขาจะถูกยึด”

อับดุลวะฮาบสั่งให้ทำไปตามนั้น ทำตามคือการแสดงออกทางกายและให้เห็นเด่นชัด เขาให้เหตุผลว่า มุสลิมทุกคนจะต้องให้สัตยาบรรณแก่ผู้นำมุสลิมคนหนึ่ง(คอลิฟะฮ์) เป็นรายบุคคล เขาเขียนว่า ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาความเห็นนี้จะต้องถูกฆ่า ภรรยาและลูกสาวของพวกเขาจะถูกล่วงละเมิด และทรัพย์สินของพวกเขาจะถูกริบ ผู้ละทิ้งศาสนาที่สมควรตายนั้นประกอบด้วย ชีอะฮ์ ซูฟี และมุสลิมสายอื่นๆ ที่อับดุลวะฮาบไม่ถือว่าเขาเป็นมุสลิม

ตรงจุดนี้ไม่มีอะไรที่แยกลัทธิวะฮาบีออกจากไอซิซ รอยร้าวจะปรากฏขึ้นในภายหลัง : จากการตั้งเป็นสถาบันแห่งหลักคำสอนของมุฮัมมัด อิบนฺ อับดุลวะฮาบในเรื่อง “หนึ่งผู้ปกครอง, หนึ่งอำนาจ, หนึ่งมัสยิด” เสาหลักทั้งสามนี้กำลังถูกนำมากล่าวถึงตามลำดับคือ กษัตริย์ซาอุฯ อำนาจเบ็ดเสร็จอย่างเป็นทางการของลัทธิวะฮาบี และการควบคุม “โลก” ของตน (เช่น มัสยิด)

รอยร้าวนี้เองที่ทำให้ไอซิซ ซึ่งมีความสอดคล้องกับลัทธิวะฮาบีทุกด้าน กลายมาเป็นภัยคุกคามลึกๆ ต่อซาอุดิอาระเบีย

ย่อประวัติศาสตร์ 1741-1818

การสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งเหล่านี้ของอับดุลวะฮาบทำให้เขาต้องออกจากบ้านเกิด และในปี 1741 เขาพบกับที่ลี้ภัยภายใต้การปกป้องคุ้มครองของอิบนฺ ซาอูด และเผ่าของเขา สิ่งที่อิบนฺ ซาอูด มองเห็นในคำสนของอับดุลวะฮาบก็คือ ช่องทางที่จะล้มล้างธรรมเนียมประเพณีของชาวอาหรับ มันคือเส้นทางไปสู่การกุมอำนาจ

“ยุทธศาสตร์ของพวกเขาที่เหมือนกับของไอซิสปัจจุบันก็คือ ทำให้ประชาชนที่พวกเขาพิชิตได้ยอมจำนน พวกเขามีเป้าหมายที่จะสร้างความหวาดกลัว”

เชื้อสายของอิบนฺ ซาอูด ที่ยึดมั่นกับหลักคำสอนของอับดุลวะฮาบ ก็สามารถทำสิ่งที่พวกเขาเคยทำมาเสมอได้ ซึ่งก็คือการบุกรุกเข้าไปในหมู่บ้านใกล้เคียงและปล้นทรัพย์สินของพวกเขา เพียงแต่ตอนนี้พวกเขาไม่ได้ทำภายในขอบเขตของประเพณีชาวอาหรับเท่านั้น แต่ทำภายใต้ธงของการญิฮาด อิบนฺซาอูด และอับดุลวะฮาบยังได้นำแนวคิดของการพลีชีพในนามของญิฮากลับมาใช้ใหม่อีกด้วย เพราะเขาถือว่าผู้พลีชีพจะได้เข้าสวรรค์ทันที

ช่วงแรกเริ่ม พวกเขาพิชิตชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่นได้และบังคับใช้กฎของตัวเองกับชุมชนเหล่านั้น (ผู้แพ้ได้รับทางเลือดที่จำกัด คือเปลี่ยนมาเป็นวะฮาบี หรือตาย) ภายในปี 1790 พันธมิตรนี้ได้ควบคุมอำนาจส่วนใหญ่บนคาบสมุทรอาหรับ และเข้ารุกรานมะดีนะฮ์ ซีเรีย และอิรัก หลายครั้ง

ยุทธศาสตร์ของพวกเขาที่เหมือนกับของไอซิสปัจจุบันก็คือ ทำให้ประชาชนที่พวกเขาพิชิตได้ยอมจำนน พวกเขามีเป้าหมายที่จะสร้างความหวาดกลัว ในปี 1801 พันธมิตรกลุ่มนี้ได้เข้าโจมตีเมืองกัรบาลาในอิรัก พวกเขาได้สังหารหมู่ชาวชีอะฮ์หลายพันคน รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก สถานศักดิ์สิทธิ์ของชีอะฮ์หลายแห่งถูกทำลาย รวมถึงสุสานของอิหม่ามฮุเซน หลานชายผู้ถูกสังหารของศาสดามุฮัมมัด

ร้อยโทฟรานซิส วอร์เดน เจ้าหน้าที่อังกฤษที่สังเกตสถานการณ์อยู่ในขณะนั้นได้เขียนไว้ว่า “พวกเขาปล้นสะดมไปทั่วกัรบาลา และเข้าปล้นสุสานของฮุเซน… ทำการเข่นฆ่าสังหารชาวเมืองในวันเดียว มากกว่าหน้าพันคน ด้วยวิธีการที่โหดร้ายอย่างแปลกประหลาด”

อุสมาน อิบนฺ บิชร์ นัจดี นักประวัติศาสตร์ของรัฐแรกของซาอุฯ ได้เขียนว่า อิบนฺ ซาอูดได้ทำการสังหารหมู่ในกัรบาลาในปี 1801 เขาบันทึกเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้นด้วยความภาคภูมิใจ โดยกล่าวว่า “เรายึดกัรบาลา เข่นฆ่า และจับชาวเมือง (มาเป็นทาส) ดังนั้น การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮ์ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก และเราจะไม่แสดงความเสียใจสำหรับสิ่งนั้น และกล่าวว่า “และสำหรับผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น คือการปฏิบัติแบบเดียวกัน”

ในปี 1803 อับดุลอาซิซจึงได้เข้าไปในเมืองมักกะฮ์อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้ยอมแพ้ภายใต้การกระหน่ำของความรุนแรงและตื่นตระหนก (ชะตากรรมเดียวกันนี้ประสบแก่มะดีนะฮ์ด้วยเช่นกัน) สมุนของอับดุลวะฮาบได้ทำลายปูชนียสถานทางประวัติศาสตร์ สุสาน และสถานศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด ท้ายที่สุด พวกเขาได้ทำลายสถาปัตยกรรมอายุหลายศตวรรษของอิสลามที่อยู่ใกล้กับมัสยิดศักดิ์สิทธิ์

แต่ในเดือนพฤศจิกายน 1803 ผู้ลอบสังหารชาวชีอะฮ์คนหนึ่งได้สังหารกษัตริย์อับดุลอาซิซ (เพื่อแก้แค้นให้แก่การสังหารหมู่ที่กัรบาลา) ซาอูด บิน อับดุลอาซิซ บุตรชายของเขาจึงได้สืบทอดตำแหน่งแทน และพิชิตดินแดนอาหรับต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองแห่งออตโตมานไม่อาจนิ่งดูดายและเฝ้าดูอาณาจักรของพวกเขาถูกล้างผลาญไปทีละชิ้นได้อีกต่อไป ในปี 1812 กองทัพออตโตมาน ผสมกับชาวอียิปต์ ได้ผลักดันพันธมิตรนี้อกไปจากมะดีนะฮ์ ญิดดะฮ์ และมักกะฮ์ ในปี 1814 ซาอูด บิน อับดุลอาซิซ เสียชีวิตจากการป่วย ส่วนลูกชายของเขา อับดุลลอฮ์ บิน ซาอูด ถูกชาวออตโตมานจับตัวไปอิสตันบูล เขาถูกประหารชีวิตอย่างน่าสยดสยอง (ผู้ไปเยือนอิสตันบูลคนหนึ่งรายงานว่า เห็นเขาถูกนำไปประจานบนท้องถนนของอิสตันบูลเป็นเวลาสามวัน หลังจากนั้นถูกแขวนคอและตัดศีรษะ ศีรษะของเขาถูกยิงจากปืนใหญ่ และหัวใจถูกตัดออกมาเสียบติดกับร่างของเขา)

ในปี 1815 กองกำลังวะฮาบีถูกชาวอียิปต์บดขยี้ (ปฏิบัติการแทนออตโตโตมาน) ในสมรภูมิชี้ขาด ในปี 1818 ออตโตมานได้ยึดและทำลายเมืองดารียะฮ์ เมืองหลวงของวะฮาบี ไม่มีรัฐแรกของซาอุฯ อีกต่อไป ชาววะฮาบีที่เหลือไม่กี่คนได้ถอยเข้าไปในทะเลทรายเพื่อรวมตัวกันอีกครั้ง และพวกเขาอยู่ที่นั่น นิ่งสงบมาเกือบตลอดศตวรรษที่ 19

ประวัติศาสตร์ย้อนกลับโดยไอซิส

มันไม่ยากที่จะเข้าใจว่าการก่อตั้งรัฐอิสลามของไอซิสในปัจจุบันทำให้หลายคนนึกถึงประวัติศาสตร์นี้อย่างไรบ้าง อันที่จริงลักษณะพื้นฐานของลัทธิวะฮาบีในศตวรรษที่ 18 ไม่ใช่จะเลือนหายไปในนัจญด์เท่านั้น แต่มันกลับมามีชีวิตใหม่เมื่ออาณาจักรออตโตมานล่มสลายในช่วงความวุ่นวายของสงครามโลกครั้งที่ 1

ตระกูลอัล-ซาอูด ในยุคฟื้นฟูของศตวรรษที่ 20 นี้ นำโดยอับดุลอาซิซผู้พูดน้อยและชาญฉลาดด้านการเมือง ผู้ซึ่งรวบรวมชาวเผ่าเบดูอินกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเป็นหนึ่งเดียว และเริ่มต้นขบวนการ “อิควาน” ตามเจตนารมณ์แห่งการต่อสู้กับบรรดาผู้หันเหออกจากศาสนาของอับดุลวะฮาบและอิบนฺ ซาอูด

กลุ่มอิควานเป็นการกลับมาเกิดใหม่ของขบวนการ “ผู้มีศีลธรรม” วะฮาบีติดอาวุธของผู้นำกึ่งอิสระที่โหดร้ายในยุคต้นๆ ผู้ซึ่งเกือบจะประสบความสำเร็จในการยึดดินแดนอาหรับช่วงต้นยุค 1800s ด้วยลักษณะเดียวกันนั้น กลุ่มอิควานประสบความสำเร็จอีกครั้งในการยึดเมืองมักกะฮ์, มะดีนะฮ์ และญิดดะฮ์ ระหว่างปี 1914 ถึง 1926 อย่างไรก็ตาม อับดุลอาซิซเริ่มรู้สึกว่าผลประโยชน์ที่กว้างขวางขึ้นของเขาถูกคุกคามโดยการปฏิวัติ “แนวคิดจาโคบิน” ที่แสดงออกโดยกลุ่มอิควาน อิควานทำการปฏิวัติ นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยาวนานจนถึงยุค 1930s เมื่อกษัตริย์ได้กำหราบพวกเขาลง ด้วยการใช้ปืนกล

สำหรับกษัตริย์ผู้นี้ (อับดุลอาซิซ) ความหลากหลายในสมัยก่อนกำลังสึกหรอ น้ำมันถูกค้นพบในคาบสมุทรแห่งนี้ อังกฤษและอเมริกาเอาเอกเอาใจอับดุลอาซิซ แต่ก็ยังคงมีทีท่าสนับสนุนชาริฟ ฮุเซนให้เป็นผู้ปกครองดินแดนอาหรับที่ชอบธรรมเพียงคนเดียว ซาอุฯ จำเป็นต้องพัฒนาท่าทีทางการทูตให้ทันสมัยมากขึ้น

ดังนั้น ลัทธิวะฮาบีจึงถูกบีบให้เปลี่ยนจากขบวนการปฏิวัติญีฮาดและขจัดมลทินต่อพระเจ้าแบบตักฟีรี มาเป็นขบวนการทางสังคม การเมือง ศาสนาเชิงอนุรักษ์นิยม และการดะอฺวะฮ์(เรียกร้องสู่อิสลาม) เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่สถาบันที่มีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์ซาอุฯ และอำนาจเบ็ดเสร็จของกษัตริย์

ความมั่งคั่งน้ำมันแพร่ลัทธิวะฮาบี

ด้วยการปรากฏขึ้นของขุมทรัพย์น้ำมันนี้ นักวิชาการชาวฝรั่งเศส Giles Kepel เขียนไว้ว่า เป้าหมายของซาอุฯ คือ “การติดต่อสัมพันธ์และเผยแพร่ลัทธิวะฮาบีไปทั่วโลกมุสลิม… เพื่อทำให้อิสลาม “กลายเป็นวะฮาบี” เป็นการลด “เสียงอีกมากมายภายในศาสนานี้” ให้เหลือเพียง “หลักความเชื่อเดียว” เป็นขบวนการที่อยู่นอกเหนือฝ่ายต่างๆ ของชาติ เงินหลายพันล้านดอลล่าร์ได้ถูกทุ่มลงไปในการแสดงถึงอำนาจอ่อนนี้

การวางโครงการอำนาจอ่อนหลายพันล้านดอลล่าร์นี้ บวกกับความเต็มใจของซาอุฯ ที่จะจัดการให้โลกอิสลามส่งเสริมผลประโยชน์ของอเมริกา เพราะมันช่วยปลูกฝังแนวคิดวะฮาบีเข้าไปทางการศึกษา ทางสังคม ทางวัฒนธรรมทั่วดินแดนอิสลาม ทำซาอุดิอารเบียต้องพึ่งพาอาศัยนโยบายของตะวันตก เป็นการพึ่งพาอาศัยที่มีมาตั้งแต่อับดุลอาซิซได้เข้าพบกับรูสเวลต์บนเรือรบลำหนึ่งของสหรัฐฯ (ที่นำประธานาธิบดีท่านนี้กลับจากการประชุมยัลต้า) จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ชาวตะวันตกมองมาที่ราชอาณาจักรแห่งนี้ และสายตาของพวกเขาถูกจับจ้องโดยกลุ่มคนรวย โดยความทันสมัย โดยผู้นำโลกมุสลิม พวกเขาเลือกที่จะเข้าใจเอาเองว่าราชอาณาจักรนี้กำลังโน้มเอียงไปสู่กฎเกณฑ์ของชีวิตที่ทันสมัย และการบริหารจัดการอิสลามซุนนีก็จะต้องโน้มน้าวราชอาณาจักรนี้ไปสู่ชีวิตที่ทันสมัยด้วยเช่นกัน

แต่การเข้าไปสู่อิสลามของกลุ่มอิควานซาอุฯ ไม่ได้ตายไปในยุค 1930s มันล่าถอยไป แต่ยังจับยึดอยู่ในส่วนต่างๆ ของระบบนี้ ซึ่งนั่นก็คือความเป็นสองฝ่ายที่เรามองเห็นในท่าทีของซาอุฯ ที่มีต่อไอซิสปัจจุบัน

ด้านหนึ่ง ไอซิสไปกับวะฮาบีอย่างลึกซึ้ง อีกด้านหนึ่ง มันมีความสุดโต่งในอีกลักษณะหนึ่ง มันอาจถูกมองได้ว่าเป็นขบวนการแก้ไขแนวคิดวะฮาบีร่วมสมัยให้ถูกต้อง

ไอซิส คือขบวนการ “หลังสมัยมะดีนะฮ์” มันมองดูการปฏิบัติของคอลิฟะฮ์สองคนแรกมาเป็นตัวอย่างเพื่อทำตาม แทนที่จะมองไปที่ศาสดามุฮัมมัด และมันปฏิเสธการอ้างอำนาจการปกครองของซาอุฯ อย่างแข็งขัน

ขณะที่ระบอบกษัตริย์ของซาอุฯ เบ่งบานขึ้นเป็นสถาบันที่ลอยตัวมากกว่าที่เคยในยุคน้ำมัน คำเรียกร้องจากสาส์นของกลุ่มอิควานได้รับคะแนนนิยมมากยิ่งขึ้น (แม้จะมีการรณรงค์เพื่อให้เกิดความทันสมัยของกษัตริย์ไฟซาล) “วิธีการแบบอิควาน” เคยได้รับและยังคงได้รับการสนับสนุนจากบุคคลสำคัญมากมายทั้งชายหญิงและเชค อุษามะฮ์ บิน ลาดิน ก็เป็นตัวแทนของวิธีการแบบอิควาน

ปัจจุบัน การที่ไอซิสบ่อนทำลายความชอบธรรมของกษัตริย์ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่การกลับมาของโครงการดั้งเดิมที่แท้จริงของซาอุฯ-วะฮาบต่างหากที่เป็นปัญหา

ในการร่วมมือกันจัดการภูมิภาคนี้ของซาอุฯ และตะวันตก เพื่อให้เป็นไปตามหลายโครงการของตะวันตก (การต่อต้านแนวคิดสังคมนิยม, แนวคิดบาธ, แนวคิดแบบนัสเซอร์, อิทธิพลของโซเวียตและอิหร่าน) นักการเมืองตะวันตกได้แสดงให้เห็นว่าตัวเลือกของพวกเขาคือซาอุดิอารเบีย (ความมั่งคั่ง, ความทันสมัย และอิทธิพล) แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่สนใจแรงกระตุ้นของวะฮาบี

อย่างไรก็ตาม ขบวนการอิสลามที่สุดโต่งมากยิ่งขึ้นถูกหน่วยงานข่าวกรองของตะวันตกมองว่าจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการโค่นล้มสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน และในการสู้รบกับผู้นำและรัฐในตะวันออกกลางที่ไม่เป็นที่ชื่นชอบแล้ว

แล้วทำไมเราจะต้องประหลาดใจ ที่คำสั่งร่วมซาอุฯ-ตะวันตกของเจ้าชายบันดาร์เพื่อจัดการให้เกิดการจลาจลต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาดในซีเรียจะทำให้เกิดกลุ่มอิควานใหม่ เป็นขบวนการแนวหน้าที่ก่อความหวาดกลัวและความรุนแรง นั่นก็คือ ไอซิซ? และทำไมเราจะต้องประหลาดใจที่กลุ่มกบฏ “สายกลาง” ในซีเรียจะกลายเป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่ายูนิคอร์นในตำนาน? ทำไมเราจะต้องจินตนาการว่าลัทธิวะฮาบีสุดโต่งจะสร้างกลุ่มสายกลางขึ้นมา? หรือทำไมเราจึงสามารถจิตนาการได้ว่า หลักคำสอนเรื่อง “หนึ่งผู้นำ, หนึ่งอำนาจ, หนึ่งมัสยิด : ยอมรับกับมัน หรือจะถูกฆ่า” จะสามารถนำไปสู่ทางสายกลางหรือความเปิดกว้างได้อย่างแท้จริง?

หรือบางที เราอาจจะไม่เคยคิดจินตนาการเลย!!!

 

—–
**** รายงานชิ้นนี้เขียน โดย อดีตสายลับ เอ็มไอ 6 ผู้เขียนหนังสือ ‘Resistance: The Essence of Islamic Revolution’ รายงานเผยแพร่ในเว็บไซต์ ฮัฟฟิงตันโพสต์ สื่ออังกฤษชื่อดัง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2014 ซึ่งกองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ยังเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันจึงแปล/เรียบเรียงมานำเสนอ

ที่มา http://www.huffingtonpost.com/alastair-crooke/isis-wahhabism-saudi-arabia_b_5717157.html