แผนการอเมริกา สร้างสงคราม “ซุนนี-ชีอะฮ์”!!

4855

รายงานชิ้นนี้ถูกเขียนเมื่อปี 2007 โดย “ซีมัวร์ เอ็ม. เฮิร์ซ” ผู้สื่อข่าวสายสืบสวนและนักเขียนอาวุโส เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ ชาวอเมริกัน แต่ที่น่าฉงนก็คือข้อเขียนนี้กลับสอดคล้องกับสถานการณ์และความเป็นไปในปัจจุบันหลายกรณีด้วยกัน
ที่มา THE NEW YORKER ต้นฉบับเดิมชื่อ The Redirection


 

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่สถานการณ์ในอิรักกำลังเลวร้ายหนักลงไปอีก คณะผู้บริหารบุชก็ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ตะวันออกกลางของตนใหม่ โดยครั้งนี้ได้อาศัยทั้งวิธีทางการทูตและปฏิบัติการลับเข้าแทรกแซง “Redirection” (เปลี่ยนทิศทางใหม่) คือคำที่บางคนในทำเนียบขาวใช้เรียกยุทธศาสตร์ใหม่ที่ว่านี้ อย่างไรก็ดียุทธศาสตร์ใหม่นี้ได้ผลักดันสหรัฐฯ ให้ขยับเข้าใกล้การเผชิญหน้าโดยตรงกับอิหร่านมากขึ้น ในภูมิภาค ที่ซึ่งจะเป็นการโหมกระพือไฟแห่งความขัดแย้ง ระหว่างมุสลิมจาก 2 นิกายคือ ซุนนี่สุดโต่ง (วาฮาบีตักฟีรี) และชีอะฮ์ ให้ลุกลามมากยิ่งขึ้นไปอีก

ในความต้องการเพื่อที่จะบั่นทอนอิทธิพลของอิหร่าน ชาติแห่งอำนาจของมุสลิมชีอะฮ์ คณะผู้บริหารบุชได้ตัดสินใจ จัดการปรับเปลี่ยน หรือเรียงลำดับความสำคัญของภารกิจ ในตะวันออกกลางของพวกเขาใหม่ โดยได้มีการร่วมมือกับรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นชาติซุนนี่สุดโต่ง (วาฮาบีตักฟีรี) เคลื่อนไหวปฏิบัติการลับ อันมีเป้าหมายเพื่อทำลายความแข็งแกร่งของ ฮิซบุลลอฮ์ องค์กรจากฝั่งชีอะฮ์ ในเลบานอน พร้อมกันนี้สหรัฐฯ ยังมีส่วนรู้เห็นในปฏิบัติการลับอื่นๆ ซึ่งเล็งเป้าหมายไปที่อิหร่านและ ซีเรียชาติพันธมิตรอีกด้วย ผลลัพธ์ที่แถมมากับปฏิบัติการเหล่านี้คือ การส่งเสริมมุสลิมซุนนีสุดโต่ง (วาฮาบีตักฟีรี) กลุ่มต่างๆ ให้ผงาดขึ้นมามีอำนาจ ประกอบไปด้วย กลุ่มพวกที่สนับสนุนแนวทางการใช้กำลังต่อสู้แบบอิสลาม และกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออเมริกา และกลุ่มที่เข้าข้างอัล-กออิดะห์ นั่นเอง

ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ยังมีความขัดแย้งในตัวเองอีกแง่หนึ่ง กล่าวคือ ในกรณีของอิรัก ความรุนแรงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับกองทัพอเมริกาล้วนมาจากการโจมตีจากกองกำลังของซุนนีสุดโต่ง (วาฮาบีตักฟีรี) ไม่ใช่จากชีอะฮ์ ทั้งนี้ทั้งนั้น ในมุมมองของคณะผู้บริหารบุชแล้ว ผลลัพธ์ทางยุทธศาสตร์จากสงครามอิรัก ที่พวกเขาไม่ได้ตั้งใจให้เกิด แต่มันได้กลายมาเป็นเรื่องที่ส่งผลสะเทือนมากที่สุด ก็กลับเกิดขึ้น นั่นก็คือ การทำให้อิหร่านมีอำนาจมากขึ้น

ประธานาธิบดีอิหร่าน มะฮ์หมูด อะฮ์มาดีเนจาด ได้ออกคำประกาศที่ท้าทายเป็นอย่างมาก อันเกี่ยวข้องกับการทำลายล้างรัฐอิสราเอล และ ยังได้พูดถึงสิทธิของประเทศตนในการดำเนินโปรแกรมนิวเคลียร์ต่อไป และภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำสูงสุด อยาตุลลอฮ์ อะลี คาเมเนอี ได้กล่าวในโทรทัศน์แห่งชาติอิหร่านว่า “ความจริงที่เป็นไปในภูมิภาคได้แสดงให้เห็นว่า แนวรบส่วนหน้าที่ยะโสโอหัง นำโดย สหรัฐฯ และพันธมิตรของมัน จะต้องกลายมาเป็น ผู้เสียเปรียบ หลักๆ ของภูมิภาคนี้

ซีมัวร์ เอ็ม. เฮิร์ซ ผู้เขียน
ซีมัวร์ เอ็ม. เฮิร์ซ ผู้เขียน

สหรัฐฯ หันไปผูกมิตรใกล้ชิดกับผู้นำรัฐซุนนีอาหรับ อาทิเช่น จอร์แดน อียิปต์ และซาอุดิอาระเบีย หลังจากความสัมพันธ์ระหว่างตนกับ อิหร่านเป็นอันต้องสิ้นสุดลง จากผลของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน ซึ่งเปลี่ยนไปสู่ระบอบการปกครองที่ให้ผู้นำศาสนาขึ้นมามีอำนาจ ในปี 1979 อย่างไรก็ดี การคำนวณเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ก็กลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นหลังเหตุการณ์ 11 กันยา โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดิอาระเบีย เหตุเพราะ อัล-กออิดะอ์ คือซุนนีสุดโต่ง (วาฮาบีตักฟีรี) ที่มีผู้ปฏิบัติการจำนวนมากมาจากแวดวงลัทธิสุดโต่งในซาอุดิอาระเบีย

เรื่องของเรื่องก็คือว่า ก่อนอเมริกาจะบุกยึดอิรักในปี 2003 เจ้าหน้าที่ของฝ่ายบริหารภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์นีโอคอน คาดการณ์ว่า รัฐบาลชีอะฮ์ ณ ตอนนั้น จะเป็นฝ่ายโปรอเมริกา และจะช่วยเสริมดุลอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับ พวกซุนนีสุดโต่งได้ เนื่องจากชาวชีอะฮ์ในอิรัก เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาก่อนในยุคของซัดดัมฮุสเซน พวกเขาไม่สนใจคำเตือนจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรอง ในกรณีโยงใยความสัมพันธ์ระหว่างเหล่าผู้นำชีอะฮ์ในอิรักกับอิหร่าน ซึ่งบางคนได้เคยถูกเนรเทศออกนอกประเทศมากว่าหลายปี และแล้ว ผลของมันก็ปรากฎ เมื่อ ปัจจุบันนี้ท่ามกลางความไม่สบายใจของทำเนียบขาว อิหร่านก็ได้สานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลของ นูรี อัล-มาลิกี ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ชีอะฮ์เป็นใหญ่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นโยบายใหม่ของอเมริกา เฉพาะในส่วนของแนวทางกว้างๆ ที่ได้ผ่านการอภิปรายต่อสาธารณะมาแล้ว ผ่านการให้ปากคำต่อหน้าคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภา (Senate Foreign Relations Committee) เมื่อเดือนมกราคม รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ คอนโดลีซซา ไรซ์ กล่าวว่า มี “การแบ่งฝักฝ่ายทางยุทธศาสตร์ใหม่ในตะวันออกกลาง” โดยเธอได้แยก “พวกหัวปฏิรูป” (reformer) กับ “พวกแนวคิดสุดโต่ง” (extremist) ออกจากกัน ไรซ์ระบุถึงรัฐซุนนีทั้งหลายว่า คือ ศูนย์กลางของแนวทางสายกลาง-แนวทางประนีประนอม และกล่าวว่า อิหร่าน ซีเรีย และฮิซบุลลอฮ์ จัดเป็น”ฝั่งตรงข้ามของการแบ่งฝ่ายที่ว่านี้”  (ซีเรียเป็นชาติที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นซุนนี่ แต่อยู่ภายใต้การปกครองของนิกาย “อลาวี”) ไรซ์ยังกล่าวอีกว่า อิหร่านและซีเรีย “ได้ตัดสินใจเลือกแล้ว และสิ่งที่พวกเขาเลือกก็คือการทำลายเสถียรภาพ”

อย่างไรก็ตาม ยุทธวิธีหรือกลยุทธ์หลักต่างๆ ของยุทธศาสตร์ใหม่ Redirection ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะ ปฏิบัติการลับถูกเก็บไว้เป็นเรื่องลึกลับ ในหลายๆ กรณี ได้ปล่อยให้ซาอุฯ เป็นผู้ดำเนินการหรือบริหารงบต่างๆ ของอเมริกาแทน หรือไม่ก็ผ่านการพลิกแพลงหาช่องทางอื่นๆ ที่ไม่พ้นกระบวนการจัดสรรงบประมาณของคองเกรสตามปกติ – – เจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดกับคณะผู้บริหารทั้งในอดีตและปัจจุบันกล่าว

สมาชิกระดับสูงในคณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรบอกกับผมว่า เขาได้ยินเรื่องยุทธศาสตร์ใหม่อยู่เหมือนกัน แต่กลับรู้สึกว่า เขาและสมาชิกในคณะกรรมาธิการคนอื่นๆ จะยังไม่ได้รับคำอธิบายโดยสรุปในเรื่องนี้อย่างพอเพียงสักเท่าไหร่ “เราไม่มีข้อมูลเรื่องนี้เลย” เขาพูด “เราถามถึง การดำเนินการ ว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง…พวกเขาบอกว่า ไม่มี พอเราถามคำถามที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น…พวกเขาก็บอกว่า “เราจะกลับมาคุยกับคุณใหม่ ซึ่งมันน่าหงุดหงิดมาก”

ผู้เล่นสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง Redirection ได้แก่ รองประธานาธิบดี ดิก เชนีย์, รองที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านความมั่นคง เอลเลียต เอเบริมส์, ทูตอเมริกาประจำอิรักซึ่งกำลังจะหมดวาระ (ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นทูตประจำยูเอ็น) ซัลเมย์ คาลิลสาด, และ เจ้าชายบันดาร์ บิน สุลตาน (Prince Bandar bin Sultan) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ไรซ์มีส่วนอย่างมากในการผลักดันและกำหนดแนวทางนโยบายด้านที่เปิดเผย ขณะที่เจ้าหน้าที่ในอดีตและปัจจุบันกล่าวว่า ด้านลับของนโยบายอยู่ภายใต้การนำของเชนีย์ (ทีมงานของเชนีย์และทำเนียบขาวปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้ ส่วนเพนตากอนไม่ตอบคำถามเฉพาะเจาะจงที่ได้ถามไป แต่พูดกว้างๆ ว่า “อเมริกาไม่ได้วางแผนจะทำสงครามกับอิหร่าน”)

การปรับนโยบายครั้งนี้ ได้นำพา ซาอุดิอาระเบียและอิสราเอล เข้าสู่ การเป็นแนวร่วมสำคัญทางยุทธศาสตร์ใหม่ไปด้วย เหตุผลหลัก คือทั้งสองประเทศต่างก็เห็นอิหร่านเป็นภัยคุกคามที่มีอยู่จริง พวกเขายังได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการเจรจาโดยตรงอีกด้วย ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย มีความเชื่อว่า การทำให้เกิดเสถียรภาพมากขึ้นในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะส่งผลทำให้อิทธิพลควบคุมของอิหร่านลดลงในภูมิภาคนี้ ดังนี้แล้ว ซาอุฯจึงพยายามที่จะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในการเจรจาต่อรองระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ยุทธศาสตร์ใหม่ “เป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในนโยบายอเมริกัน  เรียกได้ว่า ‘เปลี่ยนจากหน้ามือ เป็นหลังมือ’ ไปเลย ที่ปรึกษารัฐบาลอเมริกาซึ่งมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิสราเอลกล่าวว่า รัฐซุนนีสุดโต่ง (วาฮาบีตักฟีรี) “กลัวการฟื้นขึ้นมาเรืองอำนาจของชีอะฮ์ และเริ่มจะไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เราไปเล่นพนันอยู่ข้างชีอะฮ์สายกลางในอิรัก” เขากล่าว “เราไม่สามารถเรียกคืนสิ่งที่ชีอะฮ์ในอิรักได้ไปแล้ว แต่เราสามารถควบคุมจำกัดไม่ให้พวกนั้นมีอำนาจมากขึ้นได้”

“ดูเหมือนว่า มันจะมีการถกเถียงกันในรัฐบาลว่า อะไรเป็นอันตรายมากกว่ากัน ระหว่าง อิหร่าน หรือว่า ซุนนีลัทธิสุดโต่ง (วาฮาบีตักฟีรี)” วาลี นัสเซอร์ (Vali Nasr) สมาชิกอาวุโสของ Council on Foreign Relations (สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) เจ้าของงานเขียนมากมายเกี่ยวกับชีอะฮ์, อิหร่าน, อิรัก กล่าวกับผม “ซาอุฯ และบางคนจากคณะผู้บริหาร ได้โต้แย้งว่า ภัยคุกคามที่อันตรายที่สุด คือ อิหร่าน ขณะที่ซุนนีสุดโต่ง เป็นศัตรูที่น่ากลัวน้อยกว่า และนี่คือชัยชนะของฝ่ายซาอุฯ”

มาร์ติน อินไดก์ (Martin Indyk) เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงต่างประเทศในยุคบิล คลินตัน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งทูตประจำอิสราเอล กล่าวว่า “ตะวันออกกลางกำลังมุ่งหน้าไปสู่สงครามเย็นแบบเอาจริงระหว่างซุนนีกับชีอะฮ์” อินไดก์ ประธานสถาบัน Saban Center for Middle East Policy/Brookings Institution กล่าวเสริมว่า ในทัศนะของเขา มันไม่ชัดเจนว่าทำเนียบขาว ตระหนักถึงผลกระทบทางยุทธศาสตร์จากนโยบายใหม่นี้อย่างรอบด้านหรือไม่ “ทำเนียบขาว…ไม่ใช่แค่ทุ่มพนันในอิรักเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า” เขาพูด “แต่มันเป็นการทุ่มพนันลงไปในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นอีกสองเท่า เรื่องนี้อาจจะนำไปสู่ความยุ่งยากซับซ้อนเป็นอย่างมาก ทุกอย่างกลับหัวกลับหางไปหมด”

นโยบายจำกัดควบคุมอำนาจของอิหร่าน ดูจะสร้างความยุ่งยากให้กับยุทธศาสตร์เพื่อชัยชนะในสงครามอิรักแถมมาด้วย อย่างไรก็ตาม แพทริก คลอว์ซัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่านและรองประธานฝ่ายวิจัยของสถาบัน Washington Institute for Near East Policy กลับเห็นว่า สายสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐอเมริกาและซุนนีสายกลาง หรือแม้กระทั่งซุนนีสุดโต่ง จะสามารถสร้าง “ความหวาดกลัว” ให้กับรัฐบาลของมาลิกี และ “ทำให้เขาวิตกว่าฝ่ายซุนนีอาจจะชนะขึ้นมาจริงๆ” ในสงครามกลางเมืองของอิรัก คลอว์สันบอกว่า มันอาจจะเป็นแรงจูงใจให้มาลิกีร่วมมือกับอเมริกามากขึ้นในการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธชีอะฮ์หัวรุนแรง อย่างเช่น กองทัพมะฮ์ดีของ มุกตาดาร์อัล-ซาเดอร์

ถึงกระนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็คือ เช่นเดิม สหรัฐฯืยังคงเป็นฝ่ายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้นำชีอะฮ์จากอิรัก กองทัพมะฮ์ดีอาจจะเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯอย่างเปิดเผย แต่กองกำลังติดอาวุธอื่นๆ ของชีอะฮ์ก็ยังนับว่าเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ อยู่ นอกจากนี้ ทั้งมุกตาดาร์ ซาดร์ และทำเนียบขาว ต่างก็หนุนหลังมาลิกีเหมือนกัน ในบันทึกของที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านความมั่นคง สตีเฟน แฮดลีย์ (Stephen Hadley) เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้แนะนำให้คณะผู้บริหารพยายามแยกมาลิกีออกจากพันธมิตรชีอะฮ์สุดโต่งของเขา โดยการสร้างฐานสนับสนุนของเขาให้มาจากซุนนีสายกลาง และ เคิร์ด แต่นับมาจนถึงปัจจุบันนี้ แนวโน้มดูจะออกไปในทางตรงกันข้ามมากกว่า เมื่อกองทัพของทางการอิรักเองก็ยังคงล้มเหลวในการสู้รบกับฝ่ายต่อต้าน ขณะที่กองกำลังติดอาวุธของชีอะฮ์กลับมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ

ฟลินต์ เลฟเวอเรต (FlyntLeverett) อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของคณะผู้บริหารบุช กล่าวกับผมว่า “ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และไม่มีอะไร ออกมาตรงข้ามกันอย่างประชดประชัน” สำหรับยุทธศาสตร์ใหม่ของเราในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอิรัก “คณะผู้บริหารพยายามจะสร้างเรื่องว่าอิหร่านเป็นอันตรายมากกว่าและสร้างความเดือดร้อนมากกว่าฝ่ายต่อต้านซุนนีสุดโต่งในอิรัก ทั้งๆ ที่ – ถ้าเราดูจากตัวเลขความเสียหายจริงๆ – สิ่งที่ฝ่ายต่อต้านซุนนีสุดโต่งกระทำต่ออเมริกา มันมากกว่า เมื่อเทียบกันแล้ว .มันมีขนาดมหาศาลกว่า” เขากล่าว “และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญกระตุ้นยั่วยุเพื่อที่จะสร้างความกดดันให้อิหร่านมากขึ้น ไอเดียเบื้องหลังมีอยู่ว่า ถึงจุดๆ หนึ่งอิหร่านจะตอบโต้ และตอนนั้นเองช่องทางก็จะเปิดให้คณะผู้บริหารโจมตีอิหร่านได้”

ในสุนทรพจน์วันที่ 10 มกราคม ประธานาธิบดีจอร์จบุช ได้สะท้อนบางส่วนของแนวทางนี้ออกมา “ระบอบปกครองทั้งสอง” อิหร่านและซีเรีย “ปล่อยให้ผู้ก่อการร้ายและผู้ก่อความไม่สงบใช้ดินแดนของพวกเขาในการเคลื่อนไหวเข้าออกอิรัก” บุชกล่าว “อิหร่านได้ให้การสนับสนุนด้านยุโธปกรณ์สำหรับโจมตีทหารอเมริกา เราจำเป็นจะต้องหยุดยั้งการโจมตีนี้ เราจะต้องขัดขวางความช่วยเหลือที่ไหลเข้ามาจากอิหร่านและซีเรีย เราจะค้นหาและทำลายเครือข่ายที่ใช้ฝึกอบรมและจัดส่งอาวุธร้ายแรงมาให้ศัตรูของเราในอิรัก”

ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ก็มีข้อกล่าวหาตามมาเป็นระลอกจากรัฐบาลบุช ว่าอิหร่านเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสงครามอิรัก ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ มีการนำระเบิดไออีดีชนิดที่พัฒนาไปอีกระดับมาโชว์นักข่าว เป็นระเบิดที่พบในอิรัก โดยที่คณะผู้บริหารอ้างว่ามาจากอิหร่าน โดยสรุปคร่าวๆ สิ่งที่คณะผู้บริหารต้องการจะสื่อมีอยู่ว่า สถานการณ์เลวร้ายในอิรักไม่ได้เป็นผลมาจากความล้มเหลวในการวางแผนและดำเนินการของตน ทว่าเป็นผลมาจากการแทรกแซงของอิหร่าน

กองทัพอเมริกาได้จับกุมและสอบสวนชาวอิหร่านในอิรักหลายร้อยคน “ตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้ว มีคำสั่งให้กองทัพรวบตัวชาวอิหร่านในอิรักให้มากที่สุดเท่าที่จะจับได้” อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายข่าวกรองกล่าว “มีช่วงหนึ่งเราขังไว้มากถึงห้าร้อยคน เราสอบสวนหาข้อมูลจากคนพวกนั้น เป้าหมายของทำเนียบขาวก็คือการหาหลักฐานมาสนับสนุนประเด็นที่ว่า อิหร่านเข้ามาส่งเสริมปลุกปั่นขบวนการก่อความไม่สงบในอิรัก โดยได้ปฏิบัติเช่นนี้มานานแล้ว และนั่นย่อมหมายถึงว่า จริงๆ แล้ว อิหร่านนั่นเอง คือผู้สนับสนุนให้ฆ่าทหารอเมริกัน”

ที่ปรึกษาของเพนตากอนยืนยันว่า ไม่กี่เดือนมานี้ มีชาวอิหร่านหลายร้อยถูกทหารอเมริกันจับมา แต่เขาบอกว่าจำนวณนี้รวมไปถึงชาวอิหร่านที่ทำงานด้านบรรเทาทุกข์ให้ความช่วยเหลือจำนวนมาก “ซึ่งถูกอุ้มมาและปล่อยไปในช่วงเวลาสั้นๆ” หลังจากนำตัวมาสอบสวนแล้ว

“เราไม่ได้วางแผนจะทำสงครามกับอิหร่าน” รอเบิร์ตเกตส์ รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ประกาศ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แต่ถึงกระนั้น บรรยากาศของการเผชิญหน้าก็ถลำลึกเข้าไปทุกที ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ในกองทัพและฝ่ายข่าวกรองทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีการดำเนินการด้านปฏิบัติการลับในเลบานอน ไปพร้อมกับปฏิบัติการลับเพื่อโจมตีอิหร่าน ทีมปฏิบัติการพิเศษและกองทัพอเมริกากำลังเดินหน้าเคลื่อนไหวหนักขึ้นในอิหร่านเพื่อสนับสนุนด้านการข่าว และตามคำของที่ปรึกษาเพนตากอน คือ ด้านการก่อการร้าย รวมทั้งอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงนายหนึ่ง ทีมปฏิบัติการลับเหล่านั้นยังได้ข้ามพรมแดนอิรักเข้าไปไล่ล่าตามหาฝ่ายปฏิบัติการของอิหร่าน

ความวิตกของคณะผู้บริหารเรื่องบทบาทของอิหร่านในอิรัก เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความตื่นตระหนกที่มีมานานในเรื่องโปรแกรมนิวเคลียร์อิหร่าน ในรายการข่าวของฟ็อกซ์นิวส์ เมื่อวันที่ 14 มกราคม เชนีย์ได้กล่าวเตือน ถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ในไม่กี่ปีข้างหน้า ที่ว่า “อิหร่านซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ ยืนคุมแหล่งน้ำมันของโลก สามารถสร้างผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลก และพร้อมที่จะใช้องค์กรก่อการร้าย และ/หรือ อาวุธนิวเคลียร์ของพวกเขา เพื่อข่มขู่คุกคามเพื่อนบ้านไปทั่ว” เขายังกล่าวด้วยว่า “ถ้าคุณไปคุยกับรัฐต่างๆ บริเวณอ่าวเปอร์เซีย ไปคุยกับซาอุฯ หรืออิสราเอล จอร์แดน ทั่วทั้งภูมิภาคกำลังวิตกกังวล……ภัยคุกคามจากอิหร่านกำลังโตวันโตคืน”

คณะผู้บริหารกำลังตรวจสอบข่าวกรองใหม่ๆ เกี่ยวกับโครงการอาวุธของอิหร่าน เจ้าหน้าที่อเมริกันทั้งอดีตและปัจจุบันบอกกับผมว่า ในส่วนของข่าวกรอง ซึ่งได้มาจากเจ้าหน้าที่อิสราเอลที่ปฏิบัติการอยู่ในอิหร่าน มีข้อกล่าวหาหนึ่งที่ระบุว่า อิหร่านกำลังพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปชนิดเชื้อเพลิงแข็ง-หลายหัวรบ ระยะยิงไกลถึงยุโรป อย่างไรก็ตาม ความน่าเชื่อถือของข่าวกรองนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

ในอดีต ข้อกล่าวหาคล้ายๆ กันในเรื่องภัยคุกคามที่ล่อแหลมใกล้ตัวอันเนื่องมาจากอาวุธทำลายล้างสูง ถูกนำมาใช้เป็นบทโหมโรงเพื่อการโจมตีอิรักมาแล้ว ด้วยเหตุนี้สมาชิกจำนวนมากของสภาคองเกรสจึงเกิดความคลางแคลงใจตามมาเมื่อได้ยินได้ฟังข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอิหร่าน ในวุฒิสภา เมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์ ฮิลลารี คลินตัน พูดว่า “เราทั้งหมดต่างก็ได้เรียนรู้บทเรียนจากกรณีความขัดแย้งในอิรักมาแล้ว เราควรจะนำมันมาใช้กับข้อกล่าวหาใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับอิหร่าน เหตุผลก็เพราะว่า…ท่านประธานาธิบดี…สิ่งที่เราได้ยินอยู่ตอนนี้มันฟังคุ้นหูเหลือเกิน เราจึงจำเป็นต้องระวัง ว่าเราจะไม่ตัดสินใจบนข้อมูลข่าวกรองที่ผิดพลาดอีกครั้งหนึ่ง”

แต่ถึงกระนั้น เพนตากอนก็ยังคงคร่ำเคร่งกับการวางแผนโจมตีอิหร่าน ซึ่งอาจจะมีขึ้น กระบวนการที่เริ่มต้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ภายใต้คำสั่งตามกำหนดทิศทางของประธานาธิบดี และ ไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ตามที่อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองคนหนึ่งบอกกับผม มีการจัดตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมาในสำนักงานของ หัวหน้าเสนาธิการทหารร่วม (Joint Chiefs of Staff) เพื่อทำหน้าที่วางแผนเตรียมพร้อมสำหรับการระเบิดอิหร่าน “แผนเผชิญเหตุ” (contingency plan) ที่ว่านี้ จะเป็นแผนพร้อมปฏิบัติการทันทีภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากประธานาธิบดีมีคำสั่งออกมา

เดือนที่แล้ว ที่ปรึกษากองทัพอากาศด้านการโจมตีเป้าหมายและที่ปรึกษาเพนตากอนด้านการก่อการร้าย ได้ให้ข้อมูลกับผมว่า ทีมวางแผนอิหร่านได้รับมอบหมายงานชิ้นใหม่เพิ่มเติม นั่นก็คือ ให้กำหนดเป้าหมายในอิหร่านที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน ส่งเสบียง อาวุธยุทโธปกรณ์หรือให้ความช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้อยู่ในอิรัก ก่อนหน้านี้ภารกิจหลักของทีมงานมุ่งไปที่การทำลายโรงงานนิวเคลียร์และการเปลี่ยนระบอบปกครอง ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา

ขณะนี้ เรือบรรรทุกเครื่องบินทั้งสองกลุ่ม – ไอเซนฮาวร์กับสเตนนิส – ต่างก็พร้อมหน้าอยู่ในทะเลอาหรับแล้ว ตามแผนที่ร่างขึ้นมา เรือทั้งสองจะหมดหน้าที่ช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็มีความวิตกภายในกองทัพว่า มันอาจจะต้องอยู่ต่อไป แม้จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินกลุ่มใหม่เข้ามารับหน้าที่ต่อก็ตาม ทั้งนี้จากคำบอกเล่าของแหล่งข่าวหลายฝ่าย – – อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงคนหนึ่งกล่าวว่า แผนเตรียมพร้อมฉบับปัจจุบันนี้ เป็นแผนที่พร้อมสำหรับคำสั่งโจมตี ถ้าจะมีขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานของหัวหน้าเสนาธิการทหารร่วม ต่างก็หวังใจว่า ทำเนียบขาวจะไม่ “โง่พอที่จะทำมัน ทั้งๆ ที่อิรักยังเป็นแบบนี้ และทั้งๆ ที่มันจะ สร้างปัญหาตามมาอีกมากให้กับรีพับลิกันในปี 2008”

เกมของเจ้าชายบันดาร์

ความพยายามของคณะผู้บริหารที่จะลดอำนาจอิหร่านในตะวันออกกลาง มีความเกี่ยวเนื่องและ ขึ้นอยู่ กับซาอุดิอาระเบีย และ เจ้าชายบันดาร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของซาอุดิอาระเบีย  ก่อนหน้านี้ บันดาร์เป็นทูตซาอุฯประจำสหรัฐฯมา 22 ปี จนถึงปี 2005 แต่หลังจากนั้นเขายังคงรักษาสายสัมพันธ์กับประธานาธิบดีบุชและรองประธานาธิบดีเชนีย์อยู่ ในตำแหน่งใหม่ เขายังคงพบปะเป็นส่วนตัวกับผู้นำมหาอำนาจทั้งสอง ไม่นานนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาวได้เดินทางไปซาอุดิอาระเบียหลายครั้ง และบางครั้งการเดินทางของพวกเขาก็ไม่เป็นที่เปิดเผย

พฤศจิกายนปีที่แล้ว เชนีย์เดินทางไปซาอุดิอาระเบีย เพื่อพบกับ กษัตริย์อับดุลลาห์ และเจ้าชายบันดาร์ นิตยสารไทมส์รายงานว่า กษัตริย์ซาอุฯเตือนเชนีย์ว่า ซาอุดิอาระเบียจะหนุนหลังพลพรรคซุนนีสุดโต่งในอิรัก หากอเมริกาถอนทหารออกจากอิรัก เจ้าหน้าที่ข่าวกรองยุโรปบอกผมว่า นอกจากนี้ การพบปะกันยังมีประเด็นเกี่ยวกับความหวาดหวั่นโดยทั่วไปของซาอุฯในเรื่อง “กระแสที่พุ่งขึ้นของชีอะฮ์” รวมอยู่ด้วย และเพื่อเป็นการรับมือกับกระแสนี้ “ซาอุฯกำลังจะเริ่มใช้อำนาจต้านทานของตนแล้ว  นั่นก็คือ อำนาจเงิน”

ในราชวงศ์ซาอุฯ ซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขันชิงดีชิงเด่น หลายปีที่ผ่านมา บันดาร์ได้สร้างฐานอำนาจมาจากความใกล้ชิดสนิมสนมกับสหรัฐฯเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อราชวงศ์ซาอุฯ หลังบันดาร์พ้นจากตำแหน่งทูต ผู้ที่มารับหน้าที่ต่อจากเขาคือ เจ้าชายเทอร์กีอัล-ไฟซาล (Prince Turki al-Faisal) หลังจากนั้น 18 เดือน เทอร์กีลาออกและถูกแทนที่ด้วย อเดล เอ. อัล-จูเบียร์ (Adel A. al-Jubeir) ข้าราชการที่เป็นคนของบันดาร์ อดีตทูตซาอุฯคนหนึ่งบอกผมว่า ระหว่างที่เทอร์กีเป็นทูตอยู่ เขาไปรู้มาว่ามีการพบปะกันเป็นส่วนตัวเกิดขึ้นหลายครั้งระหว่างบันดาร์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาว ซึ่งรวมไปถึงเชนีย์ และ เอลเลียต เอเบริมส์ ด้วย “ผมเดาว่าเทอร์กี คงไม่ยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น” อดีตทูตกล่าว แต่เขาเสริมว่า “ผมไม่คิดว่าบันดาร์อยากจะทิ้งตำแหน่งนี้ไปไหน” และแม้ว่าเทอร์กีจะไม่ชอบบันดาร์ แหล่งข่าวชาวซาอุฯคนนี้ยืนยันว่า ทั้งสองต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันในเรื่องการรับมือกับอำนาจชีอะฮ์ในตะวันออกกลาง

ความแตกแยกแบ่งฝ่ายระหว่างซุนนี-ชีอะฮ์ มีที่มาย้อนหลังไปได้ถึงศตวรรษที่ 7 จากประเด็นขัดแย้งที่ว่า ใครควรจะเป็นผู้นำโลกมุสลิมสืบต่อจากท่านศาสดามูฮัมมัด โดยซุนนีคือฝ่ายที่อยู่ศูนย์กลางของอำนาจและมีอิทธิพลครอบงำโลกมุสลิมมากกว่า ในอาณาจักรปกครองของอิสลามสมัยกลางรวมทั้งในจักรวรรดิออตโตมัน ขณะที่ชีอะฮ์ถูกมองว่าเป็นเพียงพวกที่อยู่วงนอกมาแต่ไหนแต่ไร ปัจจุบัน มีการประเมินว่ามุสลิมทั่วโลกเป็นชาวซุนนีถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงกระนั้น ชีอะฮ์ก็นับเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอิหร่าน อิรัก และบาห์เรน รวมทั้งเป็นมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุดในเลบานอนด้วย และความหนาแน่นของชุมชนชีอะฮ์ในภูมิภาคที่อุดมไปด้วยน้ำมันและมีความผันผวนทางการเมืองสูงเช่นนี้เอง ได้ทำให้ผู้นำฝ่ายซุนนีและตะวันตกต้องเป็นกังวลเรื่องการขึ้นมามีอำนาจของดินแดน “จันทร์เสี้ยวชีอะฮ์” (Shiite Crescent) ไปตามๆ กัน – โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อิหร่านกำลังมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น

“ซาอุฯยังคงมองโลกผ่านวันคืนของยุคอาณาจักรอ็อตโตมัน ช่วงที่ซุนนีเป็นใหญ่ และชีอะฮ์อยู่ในสถานะต่ำสุด” เฟดเดอริกฮอฟ (Frederic Hof ) นายทหารผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางที่เกษียณแล้วกล่าวกับผม ถ้าบันดาร์ได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้ที่ทำให้นโยบายของอเมริกาหันมาตอบสนองความต้องการของซาอุฯมากขึ้นในกรณี ซุนนี่-ชีอะฮ์ ฮอฟกล่าวว่า มันจะช่วยส่งเสริมสถานภาพของเขาภายในราชวงศ์อย่างมาก

ซาอุฯไม่เพียงกลัวว่าอิหร่านจะทำลายดุลอำนาจเดิมที่มีอยู่ในภูมิภาค แต่พวกเขายังห่วงเรื่องดุลอำนาจในประเทศของตนด้วย ในซาอุดิอาระเบีย ชีอะฮ์รวมตัวกันเป็นชนกลุ่มน้อย อยู่ในจังหวัดทางด้านตะวันออก พื้นที่ที่มีบ่อน้ำมันหลักๆ ตั้งอยู่และสถานการณ์ระหว่างสองนิกายมีความตึงเครียดสูง ราชวงศ์ของซาอุฯเชื่อว่า มีหน่วยปฏิบัติการลับของอิหร่านร่วมเคลื่อนไหวกับชาวชีอะฮ์ในท้องถิ่น โดยอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายหลายครั้งในซาอุดิอาระเบีย

วาลี นัสเซอร์ ให้ความเห็นว่า “วันนี้ กองทัพเดียวที่สามารถจำกัดควบคุมอิหร่านได้” เขาหมายถึงกองทัพอิรักเดิม “ก็ถูกอเมริกาทำลายไปแล้ว ตอนนี้เราก็เลยต้องรับมือกับอิหร่านเอง – ชาติที่มีความสามารถครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และมีกองทัพประจำการอยู่ 450,000 นาย” (ซาอุดิอาระเบีย มี 75,000)

นัสเซอร์กล่าวต่อไปว่า “ซาอุฯมีวิธีการใช้เงินที่ได้ผลมหาศาล พวกนี้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับทาง Muslim Brotherhood และพวก ซาลาฟี” หมายถึงพวกซุนนีสุดโต่ง ที่มองว่าชีอะฮ์เป็นพวกละทิ้งหลักการหรือนอกรีต ตกศาสนา “ครั้งที่แล้วที่อิหร่านทำท่าว่าเป็นภัยคุกคาม ซาอุฯส ามารถระดมกำลังซุนนีสุดโต่ง ชนิดที่เป็นอิสลามิคหัวรุนแรงที่เลวร้ายที่สุด ให้ออกมาเคลื่อนไหวได้ ทว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเอาคนพวกนี้ออกมาจากกล่องแล้วล่ะก็….คุณไม่มีทางจับมันยัดกลับที่เดิมได้หรอก”

ผลที่ตามมาก็คือ เหล่าผู้นำในราชวงศ์ซาอุฯ จึงตกที่นั่งเป็นทั้งสปอนเซอร์และเป็นเป้าโจมตีของพวกซุนนีสุดโต่งนี้ ไปพร้อมๆ กัน อันเนื่องมาจากในอีกด้านหนึ่งนั้น พวกนั้นก็ต่อต้านการคอรัปชันและความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของบรรดาเจ้าชายทั้งหลายด้วย

ปัจจุบัน ราชวงศ์ของซาอุฯกำลังเล่นเกมพนันที่ว่า ตราบเท่าที่พวกเขายังให้การอุปถัมภ์ค้ำจุนโรงเรียนศาสนา องค์กรการกุศล หรือสถาบันบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับพวกสุดโต่งเหล่านี้แล้ว พวกเขาจะไม่ถูกโค่นล้ม ขณะที่นโยบายใหม่ของผู้บริหารในวอชิงตันเองก็เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับเกมพนันต่อรองที่ว่านี้เป็นอย่างมากซะด้วย

นัสเซอร์ได้หยิบยกสถานการณ์ปัจจุบันไปเปรียบเทียบกับยุคที่อัล-กออิดะอ์ ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในยุค 1980 จนถึงต้นยุค1990 รัฐบาลซาอุดิได้เสนอตัวให้ความช่วยเหลือซีไอเออเมริกาในการทำสงครามตัวแทนกับสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน ยุคนั้น ชายหนุ่มชาวซาอุฯ มากมายหลายร้อยคนถูกส่งไปยังบริเวณพรมแดนปากีสถาน เพื่อจัดตั้งโรงเรียนสอนศาสนา ค่ายฝึกนักรบ และปัจจัยพื้นฐานต่างๆ สำหรับผลิตคนเข้าร่วมขบวนการ นักรบหรือผู้ปฏิบัติการที่ได้รับเงินอุดหนุนจากซาอุฯในตอนนั้น – ซึ่งก็เหมือนกับตอนนี้ – ก็คือพวกซาลาฟีสุดโต่งนั่นเอง และแน่นอนว่าในจำนวนนี้ย่อมรวมไปถึง โอซามา บิน ลาเดน และพรรคพวกของเขา ผู้ก่อตั้งขบวนการ อัล-กออิดะฮ์ ขึ้นในปี 1988

ครั้งนี้ ที่ปรึกษารัฐบาลสหรัฐฯเล่าว่า บันดาร์และผู้นำซาอุฯรายอื่นๆ ได้ยืนยันให้ความมั่นใจกับทำเนียบขาวว่า “พวกเขาจะค่อยเฝ้าระวังจับตาดูพวกหัวรุนแรงทั้งหลายไว้อย่างดี ความหมายที่พวกซาอุดิต้องการจะสื่อถึงอเมริกาก็คือ “เราเป็นคนสร้างขบวนการนี้ขึ้นมา เราคุมมันได้” และแน่นอน…มันไม่ใช่ว่าเราไม่อยากเห็นพวกซาลาฟีโยนระเบิด แต่ที่สำคัญคือ พวกนั้นจะโยนใส่ ใคร ต่างหาก – ฮิซบุลลอฮ์, มุกตาดาร์ ศอดร์, อิหร่าน รวมไปถึงซีเรีย หากยังไม่เลิกช่วยเหลือฮิซบุลลอฮ์กับอิหร่าน”

อดีตทูตชาวซาอุฯกล่าวว่า สำหรับมุมมองของคนในประเทศ การเข้าร่วมกับอเมริกาเพื่อท้าทายอำนาจของอิหร่าน ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเมืองตามมา นั่นก็คือ ตอนนี้บันดาร์ถูกโลกอาหรับมองว่าเขาใกล้ชิดกับคณะผู้บริหารบุชมากเกินไปแล้ว “เรากำลังเจอฝันร้ายสองอย่าง” อดีตทูตกล่าวกับผม “ทั้งเรื่องที่อิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์ และเรื่องที่สหรัฐฯจะโจมตีอิหร่าน ผมอยากให้อิสราเอลเป็นฝ่ายบอมบ์อิหร่านมากกว่า เราจะได้โทษอิสราเอลได้ เพราะถ้าอเมริกาเป็นคนทำเมื่อไหร่ พวกเราจะถูกเหมารวมข้อกล่าวหาไปด้วย”

ปีที่แล้ว ซาอุฯ อิสราเอล และคณะผู้บริหารบุช ได้พัฒนาข้อตกลง-ทำความเข้าใจ ร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมาชุดหนึ่งเกี่ยวกับทิศทางของยุทธศาสตร์ใหม่ ที่ปรึกษาของรัฐบาลอเมริกาบอกผมว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีองค์ประกอบหลักๆ อย่างน้อย 4 ข้อ

ข้อแรก อิสราเอลสามารถวางใจได้ว่า ปัญหาด้านความมั่นคงของตนสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด วอชิงตัน ซาอุฯ รวมไปถึงรัฐซุนนีอื่นๆ มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอิหร่านไม่ต่างกัน

ข้อสอง ซาอุดิจะเคลื่อนไหวผลักดันให้ฮามาสในปาเลสไตน์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากอิหร่าน ให้ลดท่าทีต่อต้านอิสราเอลลง และเริ่มการเจรจาจริงจังเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ร่วมกับฟาตาห์ กลุ่มชาวปาเลนไตน์ที่มีความเป็น เซคิวล่าห์มากกว่า (กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซาอุฯประสบผลสำเร็จในการเข้าไปช่วยเหลือเจรจาจนนำไปสู่ข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เมืองเมกกะห์ อย่างไรก็ตาม ทั้งอิสราเอลและสหรัฐฯ กลับแสดงความไม่พอใจในส่วนของเงื่อนไขบางประการ)

ข้อสาม คณะผู้บริหารบุช จะจับมือทำงานร่วมกับรัฐซุนนีสุดโต่งโดยตรง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ชีอะฮ์กำลังทะยานขึ้นมามีอำนาจในภูมิภาค

ข้อสี่ รัฐบาลซาอุฯ โดยการอนุมัติจากวอชิงตัน จะสนับสนุนเงินทุนและให้ความช่วยเหลือด้านกำลังบำรุงเพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้าม นั่นคือ ฝ่ายของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อาสัด แห่งซีเรีย อ่อนแอลง อิสราเอลเชื่อว่าการกดดันเช่นนี้จะทำให้ผู้นำซีเรีย มีท่าทีที่เปิดกว้างสำหรับการเจรจาต่อรองมากขึ้น ซีเรีย คือท่อส่งอาวุธหลักของฮิซบุลลอฮ์ และรัฐบาลซาอุฯยังไม่พอใจซีเรียเรื่องการลอบสังหารอดีตนายกฯ เลบานอน ราฟิก ฮาริรี ในเบรุตเมื่อปี 2005 ด้วย เพราะพวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลของอาสัดเป็นผู้รับผิดชอบความตายครั้งนี้ ฮาริรีเป็นเศรษฐีพันล้านชาวซุนนีและมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับเหล่าผู้นำซาอุฯ รวมทั้งกับเจ้าชายบันดาร์

แพทริก คลอว์ซัน พูดถึงความร่วมมือระหว่างซาอุฯและทำเนียบขาวครั้งนี้ว่าเป็นเสมือนพัฒนาการใหม่ที่มีความหมายสำคัญอย่างมาก “ซาอุฯ เข้าใจว่า ถ้าพวกเขาอยากให้คณะผู้บริหารบุช ยื่นข้อเสนอ ด้วยสิ่งที่ดีกว่าเดิม-ใจกว้างกว่าเดิมสำหรับชาวปาเลสไตน์ พวกเขาก็ต้องโน้มน้าวให้รัฐอาหรับทั้งหลายพร้อมจะให้สิ่งที่ดีกว่าสำหรับอิสราเอลด้วย” คลอว์ซันกล่าวเสริมว่า แนวทางใหม่ที่ว่านี้ “แสดงถึงความพยายามและความเจนจัดทางความคิดอย่างแท้จริง รวมทั้งความรวดเร็วทันสถานการณ์แบบที่เราไม่ได้เห็นบ่อยนักในคณะผู้บริหารชุดนี้อีกด้วย ใครมีความเสี่ยงมากกว่ากัน—เราหรือซาอุฯ? ในช่วงเวลาที่สถานะของอเมริกาในตะวันออกกลางตกต่ำถึงขีดสุด ซาอุฯกลับให้การยอมรับสนับสนุนเราเต็มที่ แบบนี้…คงต้องนับว่าเป็นโชคดีของเรา”

ที่ปรึกษาเพนตากอนกลับมองต่างมุม เขากล่าวว่า คณะผู้บริหารหันไปหาบันดาร์ในฐานะ “การถอยกลับไปหาที่พึ่งสุดท้าย” เพราะมันค้นพบแล้วว่า ความล้มเหลวของสงครามในอิรักจะทำให้ตะวันออกกลาง “พร้อมสำหรับคนที่แข็งแรงกว่ามาคว้าเอาไป”

จิฮัดดิสต์ในเลบานอน

จุดสนใจร่วมกันของอเมริกา-ซาอุฯ ถัดจากอิหร่าน อยู่ที่เลบานอน โดยซาอุฯได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยอย่างลึกซึ้ง ในเรื่องที่คณะผู้บริหารบุชได้ทุ่มเทความพยายามเพื่อสนับสนุนรัฐบาลเลบานอน มาตลอด นายกรัฐมนตรี ฟูอัด ซินยอรา กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อจะอยู่ในอำนาจต่อไป ท่ามกลางการต่อต้านที่ยืดเยื้อยาวนานนำโดยฮิซบุลลอฮ์ องค์กรของฝ่ายชีอะต์ที่มี ซัยยิด ฮาซัน นัศรุลลอฮ์ เป็นผู้นำ ฮิซบุลลอฮ์เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมกว้างขวาง มีนักรบที่ประจำการพร้อมรบประมาณ 2,000-3,000 นาย และสมาชิกสมทบเพิ่มเติมอีกหลายพันคน

สำหรับหลายๆ ฝ่าย ซัยยิดฮาซัน นัศรุลลอฮ์ ถือเป็น ผู้ก่อการร้าย (ตามรายชื่อผู้ก่อการร้ายของสหรัฐฯ) ที่มีความแข็งแกร่งคนหนึ่ง เขาไม่พบเห็นสิทธิอันชอบธรรมอันใดในการดำรงอยู่ของ รัฐอิสราเอล

ในโลกอาหรับ โดยเฉพาะบรรดาชีอะฮ์ อย่างไรก็ตาม มองเห็นซัยยิดฮาซัน ในฐานะผู้นำที่สามารถ โค่นล้ม เอาชนะอิสราเอลในสงคราม 33 วันได้ ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ซินยอรา คือ นักการเมืองที่อ่อนแอคนหนึ่ง ผู้ที่พึ่งพิงอยู่กับการสนับสนุนจากอเมริกา ที่ไม่สามารถชักจูงให้ประธานาธิบดีบุชเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการโจมตีเลบานอนได้

ประธานาธิบดีบุชได้ประกาศให้ความช่วยเหลือหนึ่งพันล้านดอลลาร์แก่รัฐบาลซินยอราในช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว ในการประชุมที่ปารีส เมื่อเดือน มกราคมปีนี้ ซึ่งอเมริกาเป็นตัวตนตัวตี เพื่อช่วยรัฐบาลเลบานอน ให้มีการระดมเงินบริจาคจากประเทศต่างๆ ซึ่งได้มาเพิ่มเติมอีกเกือบ 8 พันล้านดอลลาร์ จำนวนนี้รวมถึงกว่าหนึ่งพันล้านจากรัฐบาลซาอุฯ ความช่วยเหลือในส่วนที่อเมริกาสัญญาไว้ปีที่แล้ว ได้ครอบคลุมความช่วยเหลือทางด้านการทหารถึง 200 ล้าน และด้านความมั่นคงภายในประเทศอีก 40 ล้าน

ตามคำบอกเล่าของอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงและที่ปรึกษาของรัฐบาลสหรัฐฯ คณะผู้บริหารบุชยังให้ความช่วยเหลือในทางลับกับรัฐบาลซินยอราอีกด้วย “ตอนนี้เราอยู่ระหว่างโครงการเสริมเขี้ยวเล็บซุนนี เพื่อให้ต่อต้านอิทธิพลของชีอะฮ์ เรากำลังอัดกระจายเงินออกไปให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้” อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองกล่าว แต่ปัญหาก็คือว่า เงินพวกนั้น “มักจะไหลไปเข้ากระเป๋าใครต่อใคร เลยเถิดเกินกว่าที่เราคิดเอาไว้” เขาเล่าต่อ  “และตามขั้นตอนที่ว่ามานี้  จึงเท่ากับว่าเรากำลังให้ทุนพวกเดนมนุษย์กลุ่มใหญ่อยู่ พวกที่อาจจะก่อเรื่องเลวร้ายชนิดที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เกิดได้ เพราะเราไม่มีความสามารถมากพอจะมากำหนดกฎเกณฑ์ว่า คนที่เซ็นชื่อรับเงินเราไปจะต้องเป็นคนที่เราพอใจ และหลีกเลี่ยงคนที่เราไม่เห็นชอบด้วยเท่านั้น มันเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูงสุดยอดเลย”

เจ้าหน้าที่อเมริกา ยุโรป อาหรับที่ผมคุยด้วย เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลซินยอราและพันธมิตรของเขาต่างก็รู้เห็นเป็นใจ ปล่อยให้ความช่วยเหลือบางส่วนตกไปถึงมือของกลุ่มซุนนีหัวรุนแรง (วาฮาบีตักฟีรี) กลุ่มใหม่ๆ ที่กำลังผุดขึ้นมาแถบเลบานอนตอนเหนือ เทือกเขาบีกา และรอบๆ ค่ายผู้อพยพปาเลสไตน์ทางตอนใต้ กลุ่มเหล่านี้ ถึงแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็ถูกมองว่าเป็นแนวป้องกันฮิซบุลลอฮที่ดีใช้ได้ แต่ก็ช่วยไม่ได้ เมื่ออุดมคติของพวกเขากลับเป็นแบบเดียวกับกลุ่ม อัล-กออิดะอ์

อลัสแตร์ครูก (Alastair Crooke) ผู้ซึ่งผ่านงานในหน่วยข่าวกรองของอังกฤษ MI6 มาเกือบ 30 ปี และปัจจุบันทำงานให้กับ Conflicts Forum – think tank ในเบรุต บอกผมว่า “รัฐบาลเลบานอนเปิดพื้นที่ให้คนพวกนี้เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก” ครูกเล่าให้ฟังว่า กลุ่มซุนนีสุดโต่ง (วาฮาบีตักฟีรี) Fatah al-Islam ได้แยกตัวมาจากองค์กรแม่ของตนที่ โปร-ซีเรีย ชื่อ Fatah al-Intifada ในค่ายผู้อพยพ Nahr al-Bared ทางตอนเหนือของเลบานอน สมาชิกตอนที่แยกมามีจำนวนไม่ถึง 200 คน “ผมเพิ่งได้รับแจ้งว่า ภายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้เพิ่งจะได้รับข้อเสนอให้ความช่วยเหลือด้านเงินทองและอาวุธ จากคนที่แสดงตัวว่าเป็นผู้แทนมาจากรัฐบาลเลบานอน – คาดเดาว่า จะถูกใช้ให้ต่อสู้กับกองกำลังฮิซบุลลอฮ์” เขากล่าว

Asbat al-Ansar คือกลุ่มใหญ่สุด ตั้งมั่นอยู่ในค่ายผู้อพยพปาเลสไตน์  Ain al-Hilweh กลุ่มนี้ได้รับอาวุธและความช่วยเหลืออื่นๆ จากกองกำลังความมั่นคงภายในประเทศของเลบานอนและกองกำลังติดอาวุธ ที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลซินยอรา

ในปี 2005 ตามรายงานของ International Crisis Group (ICG) สหรัฐฯ ซาอัด ฮาริรี ผู้นำเสียงข้างมากในรัฐสภาเลบานอน และลูกชายของราฟิก ฮาริรี นายกรัฐมนตรีคนก่อนที่ถูกสังหาร ซึ่งได้รับมรดกถึงสี่พันล้านดอลล่าห์ หลังการเสียชีวิตของพ่อ ได้จ่ายเงิน 48,000 ดอลลาห์ เพื่อประกันตัวสมาชิกสี่คนของกลุ่มต่อสู้เพื่ออิสลามจากดินนิยา (Dinniyeh) พวกเขาถูกจับจากกรณีที่พยายามจะจัดตั้งรัฐอิสลามขนาดเล็กขึ้นมาทางตอนเหนือของเลบานอน รายงานชิ้นนี้ระบุว่า สมาชิกจำนวนมากของกลุ่มต่อต้านนี้ “ได้รับการฝึกในค่ายของอัล-กออิดะอ์ ในอัฟกานิสถานมาแล้ว”

ตามรายงานของ IGC ต่อมา ซาอัด ฮาริรี ได้ใช้อำนาจของเสียงข้างมากในสภาที่เขาคุมอยู่ เพื่อโหวตนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มอิสลามมิสต์จากดินนิยา 22 คน รวมทั้งผู้ต้องสงสัยว่าวางระเบิดสถานทูตอิตาลีและยูเครนในปีก่อนหน้านั้นอีก 7 คน (เขายังผลักดันการอภัยโทษให้กับ ซามีร์ จาจา ผู้นำกลุ่มติดอาวุธคริสเตียนมารอนไนท์ ซึ่งถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจากการก่อเหตุฆาตกรรมศัตรูทางการเมืองสี่ครั้ง ซึ่งรวมไปถึงการลอบสังหารนายกรัฐมนตรี ราชิด คารามี ในปี 1987 ด้วย) ซาอัด ฮาริรี พูดถึงการเคลื่อนไหวเรื่องนิรโทษกรรมของเขาให้นักข่าวฟังว่า มันเป็นเรื่องของมนุษยธรรม

ในการสัมภาษณ์ในเบรุต เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลซินยอรา ยอมรับว่ามีพวกจิฮัดดิสต์ซุนนีสุดโต่ง ปฏิบัติการอยู่ในเลบานอนจริง “เรามีทัศนคติแบบเสรีนิยมซึ่งเปิดโอกาสให้พวกที่มีแนวทางแบบอัล-กออิดะฮ์สามารถอยู่ที่นี่ได้” เขากล่าว พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงพวงอีกว่า ด้วยเหตุนี้ อิหร่านหรือซีเรียอาจจะตัดสินใจเปลี่ยนให้เลบานอนกลายเป็น “สมรภูมิของความขัดแย้ง” ขึ้นมา

คณะผู้บริหารบุชได้วาดภาพ การให้ความช่วยเหลือรัฐบาลซินยอรา ให้เป็น ตัวอย่างที่แสดงถึงความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และความปรารถนาของบุชที่จะปกป้องเลบานอนไม่ให้อำนาจอื่นใดเข้ามาแทรกแซงได้

ในเดือนธันวาคม ฮิซบุลลอฮ์ เป็นผู้นำการประท้วงรัฐบาลบนท้องถนนในเบรุต จอห์น โบลตัน ซึ่งตอนนั้นยังเป็นทูตอเมริกาประจำยูเอ็น เรียกเหตุการณ์ประท้วงนั้นว่า เป็น “ส่วนหนึ่งของรัฐประหารที่ได้แรงบันดาลใจจากอิหร่าน-ซีเรีย”

เลสลี เฮช. เกลบ์ (Leslie H. Gelb) ประธานคนก่อนของ Council on Foreign Relations (คณะกรรมการ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) กล่าวว่า นโยบายของคณะบริหาร ไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตยของเลบานอนมากไปกว่า “ส่งเสริมกิจการความมั่นคงของอเมริกาเอง ความจริงก็คือว่า มันจะเป็นอันตรายร้ายแรงสำหรับเรามาก หากฮิซบุลลอฮ์ ขึ้นมาปกครองเลบานอน” เกลบ์กล่าวว่า การล้มลงของรัฐบาลซินยอราจะถูกมองว่า “เป็นสัญญาณของการเสื่อมถอยของอเมริกา และการพุ่งขึ้นของภัยคุกคามการก่อการร้ายในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เป็นการจัดสรรอำนาจทางการเมืองใหม่ จะต้องได้รับการต่อต้านจากอเมริกา – และเราก็มีเหตุผลอันสมควรที่จะช่วยพรรคการเมืองที่ไม่ใช่ชีอะฮ์…ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนี้ เราควรจะพูดเรื่องนี้แบบเปิดเผยกับสาธารณชนไปเลย แทนที่จะมาพูดถึงประชาธิปไตย”

มกราคมต้นปีนี้ หลังเหตุการณ์รุนแรงปะทุขึ้นในท้องถนนเบรุตระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลซินยอรา กับฝ่ายสนับสนุนฮิซบุลลอฮ์ เจ้าชายบันดาร์บินไปเตหะรานเพื่ออภิปราย เรื่องการเมืองในเลบานอน และเพื่อพบกับ อาลี ลาริจานี ตัวแทนเจรจาปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน ตามคำบอกเล่าของทูตตะวันออกกลางคนหนึ่ง ภารกิจของบันดาร์ – ซึ่งทูตท่านนี้บอกว่าได้รับการรับรองจากทำเนียบขาวแล้ว – ยังมีอีกเป้าหมายหนึ่ง คือ “เพื่อสร้างปัญหาระหว่างอิหร่านกับซีเรียขึ้นมา” โดยก่อนหน้านี้มีความตึงเครียดของสองฝ่ายเกิดขึ้นแล้ว…จากกรณีที่ซีเรียได้มีการพูดคุยกับอิสราเอล เป้าหมายของซาอุฯจึงเป็นไปเพื่อกดกระแทกรอยร้าวอันนี้ อย่างไรก็ตาม ทูตกล่าวว่า “มันไม่เวิร์ค ซีเรียกับอิหร่านไม่มีท่าทีว่าจะหักหลังกัน วิธีการของบันดาร์ไม่มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จเอาเลย”

วาลิด จัมบลัต ผู้นำชนกลุ่มน้อย ชาวดรูซในเลบานอนและเป็นผู้สนับสนุนซินยอราอย่างแข็งขัน ได้โจมตีนัศรุลลอฮ ว่าเป็นเอเจนต์ของซีเรีย และคอยตอกย้ำกับนักข่าวต่างประเทศบ่อยๆ ว่า ฮิซบุลลอฮ์อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำศาสนาในอิหร่านโดยตรง ในการสนทนากับผม เมื่อธันวาคมที่แล้ว เขาเปรียบเปรยประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อาสัด ว่าเป็น “ฆาตกรต่อเนื่อง” เขาพูดถึงนัสรุลลอฮ์ว่าเป็นผู้ “ผิดศีลธรรม” ในการลอบสังหารราฟิก ฮาริรี เมื่อเดือนพฤศจิการยน และฆาตกรรม ปิแอร์ จามายเยล รัฐมนตรีในรัฐบาลของซินยอรา ด้วยเพราะนัศรุลลอฮ์ให้การสนับสนุนซีเรีย

จากนั้น จัมบลัตบอกผมว่า เขาได้พบกับรองประธานาธิบดีเชนีย์ในวอชิงตัน เพื่อพูดคุยหารือกันในประเด็นต่างๆ ช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว และหนึ่งในนั้นก็คือ ความเป็นไปได้ที่จะบั่นทอนอำนาจของอาซัด เขาและคณะของเขาได้ให้คำแนะนำเชนีย์ว่า ถ้าอเมริกาคิดจะเคลื่อนไหวต่อต้านซีเรีย สมาชิกของ Syrian Muslim Brotherhood จะเป็น “กลุ่มที่ต้องจับมาคุยด้วย” จัมบลัตกล่าว

Muslim Brotherhood แห่งซีเรีย คือสาขาของ Muslim Brotherhood ขบวนการซุนนีลัทธิสุดโต่ง ที่ก่อตั้งขึ้นในอียิปต์ตั้งแต่ปี 1928 ในซีเรีย องค์กรนี้ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงต่อต้านระบอบปกครอง ฮาเฟซ อาซัด พ่อของบาชาร์ มากว่าทศวรรษ ในปี 1982 บราเธอร์ฮูดยึดเมืองฮามา (Hama) ได้ อาซัดเข้าถล่มเมืองนั้นเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ สังหารประชาชนไปประมาณ 6,000 – 20,000 คน การเป็นสมาชิกบราเธอร์ฮูดสามารถถูกลงโทษถึงตายในซีเรีย บราเธอร์ฮูด ยังจัดเป็นศัตรูที่ได้รับการประกาศอย่างชัดแจ้งของสหรัฐฯและอิสราเอลด้วยเช่นกัน แต่ถึงกระนั้น จัมบลัตกล่าวว่า “เราบอกเชนีย์ว่า ตัวเชื่อมสำคัญระหว่างอิหร่านกับเลบานอนคือซีเรีย – –  และถ้าจะเล่นงานอิหร่านจนหมดสภาพ คุณจำเป็นต้องเปิดประตูให้กับฝ่ายต่อต้านซีเรียที่มีฤทธิ์เดชจริงๆ”

มีหลักฐานว่ายุทธศาสตร์ปรับใหม่ของคณะผู้บริหารบุช ได้หยิบยื่นผลประโยชน์ให้กับบราเธอร์ฮูดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Syrian National Salvation Front คือกลุ่มพันธมิตรกู้ชาติที่รวมตัวกันเพื่อต่อต้านรัฐบาลซีเรีย กลุ่มซึ่ง สมาชิกหลักคือ กลุ่มที่อยู่ภายใต้การนำของ อับดุล ฮาลิมคัดดัม (Abdul Halim Khaddam) อดีตรองประธานาธิบดีซีเรียที่หันหลังให้รัฐบาลมาเข้ากับฝ่ายตรงข้ามในปี 2005 และ กลุ่มบราเธอร์ฮูด

อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอระดับสูงบอกผมว่า”อเมริกาให้ความช่วยเหลือทั้งทางการเงินและทางการเมือง ซาอุฯรับบทนำเรื่องให้ทุน แต่อเมริกาก็มีเอี่ยวด้วย” เขาเล่าว่าคัดดัม ซึ่งตอนนี้อาศัยอยู่ในปารีส รับเงินจากซาอุดิอาระเบีย โดยมีทำเนียบขาวรู้เห็นเป็นใจด้วย (ในปี 2005 สื่อมวลชนรายงานว่า มีการพบปะกันระหว่างตัวแทนของกลุ่ม Syrian National Salvation Front  กับเจ้าหน้าที่จากสภาความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา) อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวบอกผมว่า ซาอุดิเป็นฝ่ายจัดหาเอกสารเดินทางให้กับสมาชิกของ Front

จัมบลัตบอกว่า เขาเข้าใจว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับทำเนียบขาว “ผมบอกเชนีย์ว่า บางส่วนในโลกอาหรับ โดยเฉพาะหลักๆ คือชาวอียิปต์” ที่ซึ่ง ผู้นำซุนนีสายกลางได้ต่อสู้กับ Egyptian Muslim Brotherhood มาหลายทศวรรษ – “คงจะไม่ชอบแน่ ถ้าอเมริกาช่วยเหลือบราเธอร์ฮูด แต่ถ้าคุณไม่จัดการกับซีเรีย เรากับฮิซบุลลอฮ์ ก็คงต้องเผชิญหน้ากันต่อ-ในศึกแบบยืดเยื้อ และกับการต่อสู้แบบที่เราอาจจะไม่ชนะ”

เดอะ ชัยคฺ

ในคืนฟ้าโปร่ง อากาศอบอุ่น ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในเขตชานเมืองที่ถูกระเบิดกระหน่ำทิ้งไว้  ที่ซึ่งห่างจากใจกลางเบรุตไปทางตอนใต้ไม่กี่ไมล์ ผมพอจะเห็นภาพตัวอย่างคร่าวๆ แล้วว่า…ยุทธศาสตร์ใหม่ของคณะผู้บริหารจะแสดงฉากของมันออกมาอย่างไรในเลบานอน ชัยคฺ ซัยยิด ฮาซัน นัศรุลลอฮ ผู้นำฮิซบุลลอฮ ซึ่งอยู่ระหว่างซ่อนตัว ได้ตกลงใจให้ผมได้พูดคุยสัมภาษณ์เขา การจัดการด้านความปลอดภัยสำหรับการพบปะกันเป็นไปอย่างลึกลับซับซ้อน ผมนั่งอยู่ในเบาะหลังของรถที่ติดฟิล์มมืด คนขับพาผมไปยังอู่ซ่อมรถที่ถูกบอมบ์เสียหายที่ไหนสักแห่งในเบรุต ก่อนที่ผมจะถูกตรวจค้นด้วยเครื่องสแกนเนอร์ ย้ายไปนั่งรถคันที่สอง เพื่อที่จะไปยังอู่รถอีกแห่งที่มีหน้าตาคล้ายๆ กัน หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนรถอีกคันตามมาอีก

ฤดูร้อนที่แล้ว มีรายงานว่า อิสราเอลพยายามหาทางสังหารนัศรุลลอฮ แต่มาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษนี้ไม่ได้เป็นผลมาจากการคุกคามของอิสราเอลเท่านั้น ผู้ช่วยของนัศรุลลอฮ์เชื่อว่า เขายังตกเป็นเป้าหมายสำคัญของฝ่ายอาหรับอีกด้วย อันดับต้นๆ เลยก็คือ ฝ่ายปฏิบัติการของหน่วยข่าวกรองจอร์แดน และพวกซุนนีจิฮัดดิสต์สุดโต่ง (วาฮาบีตักฟีรี) กลุ่มที่พวกเขาเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับอัล-กออิดะอ์ (ที่ปรึกษารัฐบาลและนายพลระดับสี่ดาวเกษียณแล้วกล่าวว่า ฝ่ายข่าวกรองจอร์แดน ด้วยความสนับสนุนจากอเมริกาและอิสราเอล ได้มีความพยายามที่จะแทรกซึมชีอะฮ์กลุ่มต่างๆ เพื่อที่จะหาทางเล่นงานฮิซบุลลอฮ์มาตลอด กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 ของจอร์แดนได้กล่าวเตือนว่า รัฐบาลชีอะฮ์ในอิรักซึ่งมีความใกล้ชิดกับอิหร่าน จะทำให้อาณาจักรจันทร์เสี้ยวชีอะฮ์ผงาดขึ้นมา)

และนี่ก็คือเรื่องราวของความพลิกผัน : เมื่อสงครามกับอิสราเอลเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว ได้เปลี่ยน ชีอะฮ์อย่างนัศรุลลอฮ์ ให้กลายเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลและได้รับความนิยมสูงสุด ในหมู่ชาวซุนนีและชีอะฮ์ทั่วทั้งภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ชักจะมีชาวซุนนีจำนวนมากขึ้นที่มองว่าเขาไม่ใช่สัญญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวอาหรับอย่างที่เคยเป็น แต่กลับเป็นผู้มีส่วนร่วมในสงครามระหว่างนิกายไปแล้ว

นัสรุลลอฮ์ ซึ่งสวมเครื่องแต่งกายแบบศาสนาตามปกติ รอผมอยู่ในอาคารที่พักซึ่งดูเรียบๆ ไม่มีอะไรหรูหราสะดุดตาแห่งหนึ่ง ที่ปรึกษาคนหนึ่งของเขากล่าวว่า นัสรุลลอฮ์ไม่น่าจะค้างคืนที่นั่น เพราะตั้งแต่กรกฎาคมที่แล้ว เขาต้องย้ายที่หลบซ่อนไปเรื่อยๆ หลังจากที่เขาตัดสินใจสั่งให้ลักพาตัว ทหารอิสราเอลสองนาย ในการจู่โจมข้ามพรมแดนที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม 33 วัน หลังจากนั้น นัศรุลลอฮ์ได้กล่าวต่อสาธารณะ – และยังย้ำกับผมอีกครั้ง – ว่า เขาประเมินการโต้ตอบของอิสราเอลผิดไป “เราแค่ต้องการจับตัวพวกเขามาเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนนักโทษ” เขาบอกผม “เราไม่เคยคิดจะลากภูมิภาคนี้เข้าสู่สงครามเลย”

นัศรุลลอฮ์ กล่าวหา คณะผู้บริหารบุชว่าร่วมมือกับอิสราเอลในเจตนาเพื่อปลุกปั่นให้เกิด “ฟิตนะฮ์” (fitna) คำอาหรับที่หมายถึง “การลุกขึ้นสู้กันและการทำให้แตกแยกเป็นเสี่ยงๆ ภายในอิสลาม”

“ในความคิดของผม มันมีแคมเปญขนาดใหญ่ผ่านสื่อทั่วโลก พยายามจะปลุกปั่นให้ฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรูกับอีกฝ่าย” เขากล่าวว่า “ผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นผลงานของหน่วยข่าวกรองอเมริกากับอิสราเอล” (เขาไม่ได้ระบุหลักฐานอะไรประกอบ) นัศรุลลอฮ์กล่าวว่า สงครามของอเมริกาในอิรักได้สร้างความตึงเครียดระหว่างสองนิกาย เพิ่มขึ้น แต่เขาแย้งว่าฮิซบุลลอฮ์ได้พยายามป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งนั้นลุกลามเข้ามาในเลบานอน (การเผชิญหน้ากันระหว่างซุนนี-ชีอะฮ์ในเลบานอนเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีการใช้ความรุนแรงด้วย ในระยะเวลาหลายสัปดาห์หลังจากที่มีการพูดคุยกัน)

นัศรุลลอฮ์กล่าวว่า เขาเชื่อว่าเป้าหมายของประธานาธิบดีบุชคือ “การวาดแผนที่ใหม่ให้ภูมิภาคนี้ พวกเขาต้องการจะแบ่งแยกอิรักเป็นส่วนๆ อิรักไม่ได้อยู่ในสถานะที่จวนเจียนล่อแหลมว่าจะเกิดสงครามกลางเมือง— แต่มันมีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นแล้ว นี่คือการฆ่าล้างนิกายและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การฆ่ากันรายวันและการทำให้ผู้คนต้องอพยพโยกย้ายที่อยู่ ในอิรัก มีเป้าหมายเพื่อ การแบ่งอิรักออกเป็นสามส่วน ซึ่งแต่ละส่วนหมายถึงการรวมตัวของชาติพันธุ์และนิกายความเชื่อที่เหมือนกัน ไม่มีฝ่ายอื่นเจือปน ภายในสองปีอย่างมากที่สุด จะมีพื้นที่ที่เป็นของซุนนีล้วนๆ ชีอะฮ์ล้วนๆ และเคิร์ดล้วนๆ เกิดขึ้น แม้แต่ในแบกแดดเอง ก็มีความกลัวกันว่า ในที่สุดมันจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนของซุนนี กับส่วนของชีอะฮ์”

เขาพูดต่อไปว่า “ผมพูดได้เลยว่าบุชโกหก ตอนที่เขาบอกว่า เขาไม่ต้องการให้อิรักถูกแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นทำให้คุณสาบานได้เลยว่า บุชนั่นแหละที่กำลังลากอิรักทั้งประเทศไปสู่จุดนั้น แล้ววันหนึ่งข้างหน้าจะมาถึง เราจะได้เห็นเขาพูดว่า ‘ผมช่วยอะไรไม่ได้จริงๆ เพราะคนอิรักเองต่างหากที่ต้องการแยกประเทศออกจากกัน และผมก็ต้องเคารพในเจตนารมณ์นั้น’”

นัศรุลลอฮ์ยังเชื่อว่า อเมริกาต้องการทำให้เลบานอนและซีเรียแตกเป็นชิ้นๆ ด้วยเช่นกัน ในซีเรีย เขากล่าวว่า ผลลัพธ์ของมันจะทำให้ทั้งประเทศตกอยู่ใน “ความวุ่นวายโกลาหลและการสู้รบกันเองเหมือนในอิรัก” และสำหรับเลบานอนแล้ว “จะมีรัฐซุนนี รัฐอลาวี รัฐคริสเตียน และรัฐดรูซ” แต่เขาพูดต่อว่า “ผมไม่รู้ว่าจะมีรัฐชีอะฮ์หรือไม่” นัศรุลลอฮ์สงสัยว่าเป้าหมายหนึ่งในการะเบิดเลบานอนเมื่อปีที่แล้วของอิสราเอล คือ “การทำลายพื้นที่อยู่อาศัยของชาวชีอะฮ์ และการทำให้ชาวชีอะฮ์ต้องอพยพออกไปจากเลบานอน แผนก็คือ การผลักดันให้ชีอะฮ์ในเลบานอนและซีเรียอพยพลี้ภัยไปอยู่อิรักตอนใต้” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชีอะฮ์มีอำนาจอยู่ “ผมไม่แน่ใจเท่าไหร่ แต่ผมได้กลิ่นนี้” เขาบอก

การแบ่งแยกประเทศที่ว่าจะทำให้รอบๆ อิสราเอลกลายเป็นเพียง “รัฐเล็กๆ ที่ปราศจากความวุ่นวาย” เขากล่าวต่อไป “ผมรับประกันได้ว่าราชอาณาจักรซาอุฯจะถูกแบ่งตามไปด้วย และเหตุการณ์ทำนองนี้จะลามไปถึงประเทศตอนเหนือของแอฟริกา มันจะก่อให้เกิดรัฐที่อิงศาสนาและชาติพันธุ์ขนาดเล็กตามมา” เขากล่าว “หรือพูดอีกอย่างได้ว่า อิสราเอลจะกลายเป็นรัฐที่สำคัญและแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค ภูมิภาคที่ได้ถูกแบ่งออกเป็นรัฐเล็กๆ ย่อยๆ ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของแต่ละฝ่าย และนี่คือตะวันออกกลางใหม่ -The New Middle East “

ทว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎอยู่ คณะผู้บริหารบุชได้ยืนยันหัวแข็ง ปฏิเสธการแบ่งแยกอิรักอย่างหนักแน่นมาโดยตลอด และจากบทบาทในที่สาธารณะของพวกเขาบ่งชี้ว่า ทำเนียบขาวอยากเห็นเลบานอนในอนาคตเป็นประเทศหนึ่งเดียว-ไม่แบ่งแยก โดยฮิซบุลลอฮ์จำเป็นต้องถูกทำให้ อ่อนกำลัง หรือถูกปลดอาวุธ อย่างมากที่สุด คือ มีบทบาทเพียงเล็กน้อยทางการเมืองเท่านั้น ทั้งนี้ ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนความเชื่อของนัศรุลลอฮ์ด้วยว่า อิสราเอลกำลังพยายามผลักไสชาวชีอะฮ์ทั้งหลายให้อพยพหนีไปอยู่ตอนใต้อิรัก แต่ถึงกระนั้น วิสัยทัศน์ของนัศรุลลอฮ์ในส่วนที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างนิกายที่จะขยายวงกว้างออกไป ตามที่สหรัฐฯมีส่วนเอี่ยวด้วย อย่างไรก็ดี ได้บ่งชี้ถึงผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้จากยุทธศาสตร์ใหม่ของทำเนียบขาว

ระหว่างการให้สัมภาษณ์ นัศรุลลอฮ์ได้แสดงท่าทีและให้สัญญาแบบอ่อนข้อพร้อมเจรจา ซึ่งฝ่ายตรงข้ามของเขาก็คงจะตั้งแง่และไม่ยอมเชื่อใจง่ายๆ “แม้นว่า สหรัฐอเมริกา จะบอกว่า การเจรจากับองค์กรอย่างเรา เป็นประโยชน์หรือมีผลต่อการกำหนดนโยบายของตนในภูมิภาคนี้ เราก็ไม่ได้คัดค้านการพบปะเจรจา หรือ การประชุมอภิปรายนั้นๆ” เขากล่าว “แต่ถ้าเป้าหมายของการพบกัน มีเพียงเพื่อบังคับให้เรายอมตามนโยบายของเขา มันก็เป็นการเสียเวลาเปล่า” เขากล่าวว่า กองกำลังของฮิซบุลลอฮ์ หากไม่ถูกโจมตีจากภายนอก จะปฏิบัติการอยู่ภายในพรมแดนเลบานอนเท่านั้น และเขาให้คำมั่นว่า จะปลดอาวุธ เมื่อกองทัพของเลบานอนมีความแข็งแกร่งพอจะลุกยืนขึ้นได้ นัศรุลอฮ์กล่าวว่า เขาไม่ได้สนใจที่จะเริ่มสงครามรอบใหม่กับอิสราเอล อย่างไรก็ตาม เขาได้เสริมว่า เขากำลังคาดคะเนว่าจะมีการโจมตีจากอิสราเอล และได้เตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว ภายในปีนี้

นัศรุลลอฮ์ยังคงยืนยันอีกด้วยว่า การชุมนุมประท้วงในถนนเบรุตจะดำเนินต่อไป จนกว่ารัฐบาลซินยอราจะล้มลง หรือจะยอมทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายพันธมิตรของเขา “ถ้าพูดกันตามสถานการณ์จริง รัฐบาลชุดนี้ปกครองประเทศไม่ได้” เขาบอกผม “รัฐบาลชุดนี้อาจจะออกคำสั่งหรือกฏระเบียบอะไรออกมา แต่ชาวเลบานอนส่วนใหญ่ไม่ยึดถือตามนั้นและไม่ยอมรับในความชอบธรรมของรัฐบาล ซินยอรายังอยู่ในตำแหน่งก็เพราะการสนับสนุนจากต่างชาติ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าซินยอราจะสามารถปกครองเลบานอนได้”

การแสดงความชื่นชมรัฐบาลซินยอราซ้ำแล้วซ้ำเล่าของประธานาธิบดีบุช นัศรุลลอฮกล่าวว่า “คือ การบริการที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่บุชมีให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในเลบานอน เพราะมันยิ่งทำให้สถานะของรัฐบาลอ่อนลง สำหรับชาวเลบานอน และประชากรอิสลามและอาหรับ พวกเขาพนันว่า เราจะเหนื่อยล้าหมดแรงไปเอง เราไม่เคยเหนื่อยตอนทำสงคราม แล้วทำไมเราจะมาถอดใจตอนชุมนุมประท้วง?”

มีความคิดเห็นขัดกันอย่างมากทั้งในและนอกคณะผู้บริหารบุช ถึงวิธีการรับมือที่ดีที่สุดกับนัศรุลลอฮ ควรจะเป็นอย่างไร และ เขาจะทำได้หรือไม่ จริงๆแล้ว เขาจะสามารถเป็นหุ้นส่วนเจรจาเพื่อหาข้อยุติทางการเมืองร่วมกับเราได้หรือไม่ ในการกล่าวบรรยายสรุปเป็นครั้งสุดท้ายต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภา เดือนมกราคม จอห์น เนโกรพอนเต (John Negroponte) ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ (Director of National Intelligence) ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง  ได้พูดว่าฮิซบุลลอฮ์คือกลุ่มที่ “อยู่ตรงใจกลางของยุทธศาสตร์การก่อการร้ายของอิหร่าน……….พวกเขาสามารถตัดสินใจเปิดฉากโจมตีสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของอเมริกาได้ ในสถานการณ์ที่พวกเขา รู้สึกว่าเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของฮิซบุลลอฮ์เองหรือของอิหร่าน………ฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอนมองตัวเอง เป็นหุ้นส่วนของอิหร่าน”

ในปี 2002 ริชาร์ด อาร์มิเทจ (Richard Armitage) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศขณะนั้น เรียกฮิซบุลลอฮ ว่า เป็น “เดอะ A” ทีม” ในขบวนการผู้ก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ในการให้สัมภาษณ์ไม่นานมานี้ อาร์มิเทจยอมรับว่าประเด็นนี้ชักจะเริ่มซับซ้อนมากขึ้น อาร์มิเทจบอกผมว่า นัศรุลลอฮ์ได้พุ่งขึ้นมาเป็น “พลังทางการเมืองในลักษณะหนึ่ง มีบทบาททางการเมืองที่พร้อมจะให้เขาเล่นถ้าเขาจะเลือกแนวทางนั้น” ในแง่ของความสามารถในการประชาสัมพันธ์และการใช้กลอุบายเพื่อความเป็นต่อในเกมแล้ว อาร์มิเทจกล่าวว่า นัศรุลลอฮ์ “คือคนที่ฉลาดที่สุดในตะวันออกกลาง” แต่เขาเสริมว่า นัสรุลลอฮ์ “ต้องสร้างความชัดเจนก่อนว่าเขาต้องการเล่นบทบาทในทางที่ถูกต้องเหมาะสม อย่างการเป็นฝ่ายค้านที่ซื่อสัตย์อยู่ในเกม เพราะสำหรับผม มันยังมีหนี้เลือดที่ต้องชำระกันอยู่” เขาพาดพิงถึงเหตุการณ์ระเบิดที่พักของนาวิกโยธินอเมริกา

รอเบิร์ต แบร์ (Robert Baer) อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอที่เคยอยู่ในเลบานอนเป็นเวลานาน นักวิพากษ์ผู้ไม่เคยปรานีฮิซบุลลอฮ และยังเคยเตือนว่าฮิซบุลลอฮ์กี่ยวข้องกับการก่อการร้ายที่มีอิหร่านหนุนหลัง แต่เดี๋ยวนี้ เขากลับบอกผมว่า “เรามีอาหรับซุนนีสุดโต่งที่พร้อมจะโหมกระพือความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น และเราจำเป็นจะต้องปกป้องชาวคริสต์ในเลบานอน ก่อนหน้านี้ มันเคยมีฝรั่งเศสและอเมริกาทำหน้าที่นี้อยู่ แต่เดี๋ยวนี้ มันกำลังจะกลายเป็นหน้าที่ของฮิซบุลลอฮ์ และชีอะฮ์”

“เรื่องสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางก็คือ การเติบโตของนัศรุลลอฮ์จากคนธรรมดาๆ มาเป็นผู้นำ – จากผู้ก่อการร้ายมาเป็นรัฐบุรุษ” แบร์เสริมว่า “หมาที่ไม่ออกมาเห่าเมื่อฤดูร้อนที่แล้วก็คือ ผู้ก่อการร้ายชีอะฮ์” เขาหมายถึง มีความกลัวกันในช่วงสงครามว่า นอกจากการลักพาตัวทหารและยิ่งจรวดเข้าไปในอิสราเอลแล้ว นัศรุลลอฮ์อาจจะใช้วิธีสั่งระดมโจมตีก่อการร้ายต่อเป้าหมายอเมริกาและอิสราเอลทั่วโลกเข้าร่วมด้วย “เขาสามารถเหนี่ยวไก แล้วทุกอย่างก็เกิดขึ้นได้ แต่เขาไม่ได้ทำ” แบร์กล่าว

สมาชิกส่วนใหญ่ในแวดวงนักการทูตและฝ่ายข่าวกรอง ยอมรับว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างฮิซบุลลอฮ และ กับอิหร่านอยู่จริง แต่พวกเขาไม่เห็นพ้องต้องกันว่า ในความสัมพันธ์นั้นนัศรุลลอฮ์จะเห็นความเห็นชอบของอิหร่านมากกว่าของตน อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอซึ่งเคยทำงานในเลบานอนเช่นกัน เรียกนัศรุลลอฮ์ว่า “ปรากฏการณ์แห่งเลบานอน” และเสริมว่า “ใช่ เขามีอิหร่านกับซีเรียคอยช่วยอยู่ แต่ฮิซบุลลอฮ์ไปไกลเกินจุดนั้นแล้ว” เขาบอกผมว่า มีช่วงหนึ่ง ปลายยุค 80 –ต้นยุค 90 เมื่อสถานีซีไอเอในเบรุตสามารถเฝ้าระวังและดักฟังบทสนทนาของ นัศรุลลอฮ์ได้ เขาพูดถึง นัศรุลลอฮ์ว่า เป็นเหมือน “หัวหน้าแก๊งคนหนึ่งที่สามารถตกลงใจหรือเมคดีลกับหัวหน้าแก๊งอื่นๆ ได้ เขาต่อสายกับทุกคนน่ะแหละ”

การชี้แจงต่อสภาคองเกรส

การพึ่งพาอาศัยฝ่ายปฏิบัติการลับทำงานให้โดยไม่ผ่านการรายงานคองเกรส รวมทั้งการใช้ตัวกลางเข้ามาช่วยในส่วนของอะเจนดาที่น่าสงสัยของคณะผู้บริหารบุช เหล่านี้ ทำให้หลายคนในวอชิงตันต้องย้อนนึกไปถึงเหตุการณ์บทหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว คณะผู้บริหาร เรแกน ได้พยายามจัดหาทุนช่วยเหลือขบวนการ คอนทรา ในนิการากัวอย่างผิดกฎหมาย ด้วยการแอบขายอาวุธให้อิหร่าน ที่มีเงินของซาอุฯมาเอี่ยวด้วย จนกลายเป็นเหตุการณ์อื้อฉาวที่ต่อมาเรียกกันว่า “อิหร่าน-คอนทรา”  ทั้งยังมีตัวการสำคัญในอดีตมาผสมโรงด้วย – ที่เด่นๆ อย่าง เจ้าชายบันดาร์ และเอลเลียตเอเบริมส์ – ก็กลับมามีบทบาทใหม่ในวันนี้อีก

อิหร่าน-คอนทรา ได้กลายมาเป็นหัวข้อถกเถียงอย่างไม่เป็นทางการ ในฐานะ “บทเรียนตัวอย่าง” ในหมู่ผู้ร่วมก่อการที่รอดตัวมาได้ เอเบริมส์เป็นผู้นำการพูดคุยครั้งนั้น หนึ่งในข้อสรุปที่ได้ว่ามีอยู่ว่า แม้โปรแกรมดังกล่าวจะถูกเปิดโปงออกมาแล้ว แต่มันยังเป็นไปได้ที่จะทำเรื่องลับๆ แบบนั้นใหม่โดยไม่ผ่านการรายงานคองเกรส สิ่งที่ประสบการณ์สอนพวกเขา ก็คือ หากคิดจะยุ่งเกี่ยวกับปฏิบัติการลับครั้งต่อไป ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งค้นพบว่า :

“หนึ่ง-อย่าไว้ใจเพื่อน สอง-ต้องเอาซีไอเอทั้งหมดออกไปจากเรื่องนี้ สาม-อย่าไว้ใจพวกทหารที่ยังอยู่เครื่องแบบ สี่-ต้องทำมันจากออฟฟิศของรองประธานาธิบดี” —อันหลังหมายถึงต้องยกให้เป็นบทบาทของเชนีย์ อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองคนหนึ่งกล่าว

ที่ปรึกษารัฐบาลสองคนและอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองคนหนึ่งบอกกับผมว่า เสียงสะท้องของอิหร่าน-คอนทรา คือปัจจัยในการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติของเนโกรพอนเต เพื่อไปรับตำแหน่งที่ต่ำกว่า นั่นก็คือ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ (เนโกรพอนเตปฏิเสธที่จะออกความเห็น)
อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับอาวุโสบอกผมว่า เนโกรพอนเตไม่ต้องการเจอประสบการณ์แบบเดียวกับยุคของประธานาธิบดีเรแกนอีกแล้ว ซึ่งตอนนั้น เขาเป็นทูตประจำอยู่ที่ฮอนดูรัส อดีตเจ้าหน้าที่กล่าว “เนโกรพอนเตพูดว่า “ไม่มีทาง ผมไม่กลับไปเดินทางสายนั้นอีกแล้ว ตอนที่สภาความมั่นคงแห่งชาติทำเรื่องลับๆ ไม่ผ่านขั้นตอน ไม่มีเอกสารคำสั่งจากประธานาธิบดี” (ในกรณีที่มีปฏิบัติการลับของซีไอเอ ประธานาธิบดีต้องออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรและแจ้งคองเกรสให้รับทราบ)

ที่ปรึกษารัฐบาลกล่าวว่า เนโกรพอนเตเห็นด้วยกับเป้าหมายตามที่วางไว้ในนโยบายของผู้บริหารทำเนียบขาว แต่เขาต้องการ “ทำมันให้ถูกต้องตามขั้นตอน” ที่ปรึกษาเพนตากอนบอกผมว่า “ในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูง รู้สึกกันว่า เขาไม่ได้เห็นด้วยแบบเต็มตัวเท่าไหร่…กับปฏิบัติการลับที่เป็นความริเริ่มใหม่ๆ และเสี่ยงภัยกว่าเดิม” เขากล่าวว่ามันเป็นเรื่องจริงที่เนโกรพอนเต “มีปัญหากับนโยบายแบบ…เอาเครื่องมือของ รูบี โกลด์เบิร์ก (Rube Goldberg) ไปใช้แก้ตะวันออกกลาง”(โกลด์เบิร์กเป็นนักเขียนการ์ตูนชื่อดังในอดีต โดยทั่วไปสำนวนนี้หมายถึง การนำเอาอุปกรณ์หรือเครื่องจักรกลที่วกวนวุ่นวายซับซ้อนเกินเหตุ มาทำงานชนิดที่สามารถทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ – ผู้แปล)

ที่ปรึกษาเพนตากอนเสริมว่า ความยุ่งยากอย่างหนึ่งในแง่ของการตรวจสอบ เรื่องที่มาที่ไปของงบปฏิบัติการลับ คือ “มันมีงบลับ (black money) ให้เลือกใช้สอยมากมายหลายก้อน กระจัดกระจายอยู่ทุกที่เต็มไปหมด และถูกใช้ไปกับภารกิจสารพัดชนิดทั่วโลก” ยิ่งกว่านั้น ความเละเทะไร้ระเบียบเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณในอิรัก ที่ซึ่งเงินหลายพันล้านดอลลาร์ถูกใช้ไปอย่างปราศจากความรับผิดชอบใดๆ ก็ยิ่งเปิดช่องทางให้กับกิจกรรมประเภทนี้เป็นอย่างดี – – ตามคำบอกเล่าของอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอาวุโสและนายพลสี่ดาวเกษียณแล้ว

“มันกำลังย้อนกลับไปซ้ำรอย อิหร่าน-คอนทรา” อดีตผู้ช่วยในสภาความมั่นคงแห่งชาติบอกผม “และสิ่งที่พวกเขาทำส่วนใหญ่ก็คือ กันซีไอเอออกไป” เขากล่าวว่าคองเกรสไม่ได้รับฟังเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับปฏิบัติการระหว่างอเมริกา-ซาอุฯ พร้อมกับเล่าว่า “ซีไอเอถามกันใหญ่…เกิดอะไรขึ้น? พวกนั้นกำลังวิตก เพราะเขาคิดว่า…นี่มันชั่วโมงของเด็กไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม (มือสมัครเล่น)”

การตรวจสอบในประเด็นนี้ เริ่มดึงความสนใจของสภาคองเกรสบ้างแล้ว เมื่อพฤศจิกายนที่แล้ว หน่วยงานด้านวิจัยข้อมูลของคองเกรส ได้ออกรายงานมาฉบับหนึ่ง ที่พวกเขาให้ภาพว่า คณะผู้บริหารกำลังละลายเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างกิจกรรมซีไอเอและกิจกรรมของกองทัพ ซึ่งสองส่วนนี้มีข้อบังคับในการรายงานหรือให้ข้อมูลไม่เหมือนกัน และคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภา นำโดย เจย์รอคกีเฟลเลอร์ (Jay Rockefeller) ก็ยังได้วางกำหนดการไต่สวนเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ด้านข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมไว้ในวันที่ 8 มีนาคมนี้ (ยังไม่เห็นรายงานข่าวตรงนี้ เข้าใจว่าประเด็นนี้ถูกเลื่อนไป – ผู้แปล)

สมาชิกวุฒิสภา รอน ไวเดน ประจำรัฐ ออริแกน สมาชิกพรรคเดมอเครท ผู้ที่เช่นเดียวกัน คือ สมาชิกของคณะกรรมการหน่วยข่าวกรอง บอกกับผมว่า “คณะผู้บริหารของบุช ได้ละเมิด พันธข้อกฎเกณฑ์อย่างบ่อยครั้ง ในเรื่องการรายงานให้คณะกรรมการหน่วยข่าวกรองทราบถึงการเคลื่อนไหวในปัจจุบันอย่างครอบคลุมและชัดเจน ในวาระอื่นๆและอีกครั้งหนึ่ง” คำตอบของพวกเขา คือ “เชื่อใจเรา” ไวเดนกล่าว “มันยากสำหรับผมที่จะเชื่อใจพวกคณะบริหาร”