เชื่อว่าหลายๆท่านคงเคยอ่านและฟัง”โลกสวยของทุนนิยม”กันมาบ้างแล้ว ผมจึงอยากจะนำเสนอ ด้านมืด ของทุนนิยมดูบ้าง จะได้มองระบบนี้ในแบบที่มันเป็น ไม่ใช่สิ่งที่มันไม่เคยเป็น
หนึ่งในสาส์น ของแนวคิดแบบวัตถุนิยม ซึ่งมีระบบทุนนิยมเป็นหัวใจหรือจิตวิญญาณ คือการแยกศีลธรรมออกจากตลาด อันที่จริงแล้ว เรื่องของศีลธรรม กลายเป็น ฝันร้าย ของ ระบบ ที่ต้องผลักออกไปให้ไกลเท่าที่จะทำได้
อาจจะพูดได้ว่าความหมายของศีลธรรม ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นช่องว่าง แล้วถูกเติมเต็มด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวของปัจเจก ซึ่งถูกตั้งให้เป็นเป้าหมายสูงสุด จนบางที อิสระและเสรีภาพ ก็กลายเป็นเครื่องมือไว้รับใช้เป้าหมายอันนี้ และถ้าจะมองโลกด้วยความเป็นจริง ความโชคร้าย เคราะห์กรรม และความล้มเหลว ที่คนระดับรากหญ้าต้องประสบพบเจอ ก็มักจะเป็นเพราะแนวคิดแบบนี้
ลองมาดูตัวอย่างนี้กัน ในปี 2004 เกิดเหตุพายุเฮอริเคนเข้าถล่มรัฐฟลอริดา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 22 ราย และสร้างความเสียหายไปหนึ่งหมื่นหนึ่ง พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากพายุพัดไป พายุใหม่ที่เข้ามาคือ พายุแห่งการโก่งราคา น้ำแข็งจากเดิมราคา 2 เหรียญ ขึ้นเป็น 10 เหรียญ เครื่องปั่นไฟจากเดิมราคา 250 เหรียญ ขึ้นแบบไฟไหม้เป็น 2000 เหรียญ โรงแรมถูกๆ เดิมราคา 60 ขึ้นราคาเป็น 160 ต่อคืน ผู้คนต่างโกรธแค้นที่ถูกฉวยโอกาสจากเหตุวาตภัย ทำให้เรื่องนี้บานปลายไปจนถึงต้องขึ้นศาลขึ้นโรง ในที่สุดฝ่ายประชาชนก็ชนะ พ่อค้าสายโก่งราคา
แนวคิดของพ่อค้ากำไรเกินควร สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐศาสตร์แบบ ทุนนิยม และการร้องขอให้ รัฐบาลเข้าแทรกแซง และ ออกกฎหมายห้ามโก่งราคา คือการต่อสู้ของประชาชน แต่คนบางกลุ่มอาจจะมองว่า การที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงแบบนี้ คือการละเมิดเสรีภาพทางการค้า คำถามคือแล้วแบบนี้ถูกหรือผิด ?
ผู้สนับสนุนแนวคิดแบบทุนนิยมสุดโต่ง อาจปกป้องผลประโยชน์ของปัจเจกโดยบอกว่า” ผลประโยชน์ของปัจเจก คือเครื่องประกันผลประโยชน์ของสังคม คุณจะพบเนื้อหาแห่งศีลธรรมและค่านิยมทางจิตวิญญาณได้ในระบบนี้ เพียงแต่มันไม่ได้มาจากการกำหนดหรือการบังคับ แต่มันมาจากแรงจูงใจของปัจเจกเอง เพราะเมื่อใดที่มนุษย์อยากรับใช้สังคมเขาจะแบ่งผลประโยชน์ของตนเองให้กับสังคม และปัจเจกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่พยายามรับใช้มันอยู่ เช่นเดียวกัน เวลาที่ชีวิตของใครสักคนต้องเผชิญกับอันตราย เขาจะเข้าช่วย และผู้รับการช่วยเหลือจะได้รับผลประโยชน์จากการรับใช้สังคมของเขาอันนั้น ดังนั้นถ้าเราจะพูดว่า เพียงแรงจูงใจและอารมณ์แสวงหาประโยชน์ของปัจเจก คือสิ่งค้ำประกันผลประโยชน์ของสังคม ก็ถือว่ามีน้ำหนักและเพียงพอแล้ว เพราะเมื่อวิเคราะห์ ผลประโยชน์ของสังคม แล้วจะพบว่า ยังไงยังไง มันก็กลับไปหาผลประโยชน์ของปัจเจกอยู่ดี”
นี่เป็นคำพูดที่ดูดี งดงาม แต่ฉาบฉวย และมีน้ำหนักเบาถึงเบามากครับ เพราะ ถ้าหากตราชั่งของการกระทำในชีวิตของแต่ละคนในสังคม คือการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเองเท่านั้น ในแบบที่สามารถหยิบฉวยตามอำเภอใจอะไรก็ได้ในวงกว้าง รัฐบาลของทุกประเทศที่ใช้ระบบนี้ คงต้องมอบอิสระและพรหมแดนใหม่ที่ไร้พรมแดนในการตัดสินใจของพวกเขา อย่างเสรีไร้ขอบเขต หรือก็คือ รัฐบาลจะต้องไม่สร้างกฎเกณฑ์ใดๆเลย ที่จะไปจำกัดหรือแทรกแซงการแสวงหาผลประโยชน์ของ นักธุรกิจ
เราจะถือว่าแค่แรงจูงใจ มันเพียงพอที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับสังคมได้อย่างไร ในเมื่อเราเอง ก็ไม่ได้ทำทุกอย่าง ที่แรงมันจูงใจเราและบอกว่าดี ? แล้วถ้าจะถือว่าคนหนึ่งคนได้ประโยชน์เท่ากับสังคมได้ประโยชน์ ประโยชน์แบบนี้ก็คงจะน้อยเกินไป จนคนส่วนมาก แทบจะไม่รู้สึกเลยว่าได้มันมา