บทวิพากษ์เรื่องความไม่จำเป็นต้องมีแม่แบบที่ดีของสังคม

1439

ในหนังสือ คิดเล่นเห็นต่าง ของ อ.คำ ผกา บทที่ 19 หัวข้อ “เมื่อผู้หญิงก้าวเข้ามาในพื้นที่ของผู้ชาย” มีเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า มันออกจะขัดแย้งกับสติปัญญาอยู่ ก็คือ ทัศนะของ อ.คำ ผกา ที่ว่า สังคมที่ผู้คนมีสติปัญญามากพอ ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า”โรลโมเดล” หรือ แม่แบบที่ดีของสังคม

คำ ผกา ได้ยกตัวอย่างนายกหญิงชาวออสเตรเลีย มาสนับสนุนทัศนะนี้  บทความเริ่มเรื่องด้วย การเสนอบทบาทของสตรีในทางสังคม และต่อด้วยการนำเสนอภาพของผู้หญิงที่เข้ามาเล่นการเมือง ในฐานะภัยคุกคามทางการเมืองสำหรับเพศชาย แสดงความเข้มแข็งแบบผู้หญิง ไม่ใช่ความเข้มแข็งแบบผู้ชาย จากนั้นจึงยกตัวอย่างของ จูเลีย กิลลาร์ด นายกออสเตรีเลีย ในห้วงเวลาพร้อมกับนำเสนอว่า เหตุที่ยกผู้หญิงคนนี้ขึ้นมาบรรยายนั้น ไม่ใช่เพราะบทบาทของเธอในฐานะนักการเมือง แต่เป็นบทบาทและแนวคิดของเธอในฐานะนักการเมืองที่ออกแบบชีวิตส่วนตัวด้วยตัวเอง จากนั้นผู้เขียนบทความจึงเสนอแนวคิดความไม่จำเป็นต้องมีแม่แบบที่ดีของสังคม ขอสรุปสั้นๆว่าผู้ปกครองในอุดมคติตามกรอบคิดนี้ คือ “คนที่ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ไม่จำเป็นต้องเป็นครูสอนศีลธรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวอย่างของสังคม หรือ ที่เรียกว่า “โรลโมเดล”

ความคิดนี้ ถูกทำให้ดูเหมือนพลังแกร่ง แต่อันที่จริงแล้วมันกลับเป็นสิ่งตรงข้าม อาจจะเข้าข่าย เห็นดำเป็นขาว สุดกู่แบบมองข้ามข้อเท็จจริงบางประการเลยก็ว่าได้ จึงขอคิดเล่นเห็นต่างในฐานะผู้ชมโลกที่ผู้เขียนพยายามเสนอว่า”งดงาม” ดูบ้าง

สิ่งแรกที่ได้จากการท่องสำรวจแนวคิดของผู้เขียนบทความนี้ นำสู่ข้อคิดที่ว่าถ้าผู้ถืออำนาจในการปกครองไม่จำเป็นต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ก็เท่ากับเรายอมรับว่า ใครจะเป็นผู้นำก็ได้ แม้ว่าเขาจะมีปัญหากับชีวิตส่วนตัวของตนเองมากแค่ไหนก็ตาม เราจะเอาคนที่สำส่อนทางเพศมาเป็นผู้นำก็ได้ เพราะ”หน้าที่ของเขาคือการบริหารบ้านเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว” เราเอาคนที่ทั้งชีวิตอาจจะไม่เคยทำอะไรที่มีศีลธรรมเลย หรือคนไม่นิยมศีลธรรมเลยก็ได้ “เพราะผู้นำไม่จำเป็นต้องเป็นครูสอนศีลธรรม” พูดในภาษาธรรมะธรรมโม จะเอาคนที่ลุ่มหลงในโลกีย์ มีกิเลส มีตัณหา มีราคะ มาเป็นผู้ปกครองก็ได้ เพราะอย่างที่ผู้เขียนบทความได้ว่าไว้”ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องมีศีลธรรม และสังคมไม่จำเป็นต้องมีแม่แบบที่ดี”

ถ้าเราได้ผู้ปกครองแบบนี้ มาปกครองบ้านเมือง ถ้าเราตัดเรื่องศีลธรรมออกไปจากทุกวงการของประเทศ สังคมที่เจอกับภัยแบบนี้ น่าเวทนาเป็นอย่างยิ่ง เราจะได้เห็นว่า สังคมนั้นค่อยๆตายอย่างช้าๆ ถ้าเปรียบสังคมเป็นดั่ง”ต้นไม้”ต้นหนึ่ง และ”น้ำ”ที่ใช้หล่อเลี้ยงให้ต้นไม้มีชีวิต คือ”ศีลธรรม” คงจินตนาการไม่ออกว่า ถ้าวันไหน ไม่มีใครรดน้ำแห่งศีลธรรมให้ต้นไม้ต้นนี้ มันจะเป็นอย่างไร และถ้าไม่รดน้ำเลย วันหนึ่งต้นไม้ต้นนี้ จะตายในท้ายที่สุด

มองในแง่ความเป็นจริง หากถือว่า บุคคลที่มีอายุ 18 หรือ 20 ปีขึ้นไป ถือเป็นบุคคลที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บรรลุนิติภาวะ คิดเองเป็น คือคนที่มีสติปัญญาเพียงพอ แล้วลองตั้งคำถามง่ายๆว่า คนรุ่นนี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ เป็นคนดีของสังคมได้โดยไม่ต้องการแบบอย่าง โดยไม่ต้องมีใครเป็นตัวอย่างเลยได้หรือไม่ ? มันน่าแปลก เพราะแม้แต่อ.คำ ผกาเอง ก็ยังยกย่องนายกหญิงออสเตรเลียคนนี้มาเป็นแม่แบบ แม้ว่าจะปฏิเสธแนวคิดเรื่องแม่แบบที่ดีก็ตาม และตัวอย่างที่ผู้เขียนท่านนี้ยกมา ยังสื่อว่านี่แหละ คือแม่แบบที่ดีของผู้ที่ไม่มีแม่แบบ คือโมเดลที่ผู้เขียนมีมุมมองว่า”ดี”

ลองสังเกตดู เราจะเห็นว่าไม่เคยมีใครคนไหนเลยบนโลกนี้ ที่จะเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีแม่แบบของการใช้ชีวิต แน่นอนว่า บางคนอาจจะได้ตัวอย่างที่ไม่ดี บางคนอาจจะได้ตัวอย่างที่ดี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องมีแม่แบบ ฉะนั้น “แม่แบบ” ก็คือแหล่งเรียนรู้แรกๆที่มนุษย์”จำเป็น”ต้องใช้ศึกษาและพัฒนาชีวิต ไม่ใช่มีหรือไม่มีก็ได้ ไม่ใช่ห้ามมี แต่”จำเป็นต้องมี”

สามัญสำนึกในด้านการแสวงหาความสมบูรณ์ หรือแสวงหาความจริง คือสิ่งที่กระตุ้นให้มนุษย์เราทุกคน มองหาตัวอย่างชีวิตที่ดี เราศึกษาเรื่องราวของ”วีรบุรุษ” หรือ “วีรสตรี” ศึกษาเรื่องราวของบุคคลที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จ และอยากจะเป็นแบบเขา เพราะสำนึกภายในของเราตามหาตัวอย่างแบบนี้ มนุษย์จึงต้องออกตามหา “แบบอย่างที่ดี” ส่วนตัวอย่างที่เราคิดว่าดี จะดีจริงหรือไม่นั้น ก็ต้องชั่งตวงด้วยกำลังสติปัญญา

ในทางกลับกัน การไม่มีใครเป็นแบบอย่างในสังคมเลย ยังเป็นการชี้ให้เห็นว่า สังคมในประเทศนั้น เป็นสังคมที่อ่อนแอ เพิกเฉย และไร้ความใฝ่ฝัน เป็นสังคมที่ไม่มีใครได้รับการเชิดชู หรือสมควรถูกเชิดชู พูดง่ายๆก็คือ ไม่มีใครดีพอที่จะเป็นตัวอย่างให้กับคนในสังคมนั้นเลย นี่เป็นเพียงภาพจำลองของสังคมไร้แบบอย่างที่ดี

ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ไม่มียุคใดปรากฎว่าคนกลุ่มหนึ่ง ในสังคมกลุ่มหนึ่ง สามารถพัฒนาบ้านเมือง และจิตวิญญาณของพวกเขาได้(ไม่ว่าเป็นแบบอย่างที่ดี หรือ ที่คิดว่าดี)โดยปราศจาก Role Model โดยสรุปแล้ว เรื่องราวทั้งหมดคือ การนำพาผู้อ่านไปสู่คำตอบของคำถามว่าสังคมจำเป็นต้องมีแบบ ไม่จำเป็นต้องมี หรือมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ? และข้อเขียนเล็กๆนี้ได้ให้คำตอบกับผู้อ่านว่า ตราบใดที่ยังมีสังคมมนุษย์ มนุษย์ก็ยังจำเป็นต้องมีแบบอย่างอยู่เสมอ

ในอีกด้านหนึ่ง หากเสนอว่าสังคมที่เจริญทางสติปัญญามากพอไม่จำเป็นต้องมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า”แม่แบบที่ดี”มาเป็นตัวอย่าง เท่ากับเป็นการตัดสินในตัวว่า

สังคมที่มีสติปัญญา คือสังคมที่ไม่มีแม่แบบที่ดี
สังคมที่ไม่มีสติปัญญา คือสังคมที่มีแม่แบบที่ดี

ถ้าคิดแบบนี้แสดงว่า สังคมจะมีสติปัญญาได้ ก็ต่อเมื่อทิ้งแบบอย่างที่ดี ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ต่อไปผู้คนก็จะเห็นกงจักร เป็นดอกบัว

คำถามหลักคือ มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่โดยหันหลังให้คุณธรรม ศีลธรรม และความดีงามได้หรือไม่ ? ถ้าอยู่ได้ อะไรจะเข้ามาแทนที่สิ่งเหล่านี้ ? มีความคิดหนึ่งเสนอว่า มนุษย์จะพากันตายเหมือนฝูงแมลง ไม่ใช่เพราะภัยธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะอุบัติเหตุ แต่เป็นเพราะพวกเขาพัฒนาเทคโนโลยี แต่กลับพากันหันหลังให้คุณธรรม และใช้เทคโนโลยีที่พัฒนามาฆ่าล้างบางกันเอง ความเหลื่อมล้ำทางฐานะที่เกิดขึ้น ก็มีสาเหตุมาจากการละทิ้งศีลธรรมทางการตลาด และการตัด”ศีลธรรมออกจากตัวผู้นำ” ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบอย่างทางสังคม คือ บันไดที่จะพาสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ไปสู่หายนะนั้น คำตอบจึงชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า สิ่งที่จะเข้ามาแทนที่คุณธรรม ไม่ใช่เสรีภาพ แต่คือการกดขี่ ความอธรรม และด้านตรงข้ามของคุณค่าที่ดีงามทั้งปวง

เมื่อไม่มีใครจำเป็นต้องดีเป็นแบบอย่าง ก็ไม่มีใคร จำเป็นต้องทำตัวเป็นคนดี เมื่อคำว่า”ดี”หายไปจากความเป็นคน แล้วเราจะเป็นคนดีได้อย่างไร ???