แนวคิดทางการเมืองของซัยยิดรูฮุลลอฮมูซาวี โคมัยนี (ฉบับย่อ)

783

การปฏิวัติของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดบนโลกนี้ ประกอบจากการรวมกลุ่มกันของผู้คนมากหน้าหลายตา ซึ่งมาจากถิ่นฐานดินแดนที่ต่างกันทว่าสิ่งที่ยึดพวกเขาไว้ด้วยกัน คือ โลกทัศน์ และ อุดมการณ์ และจากสองสิ่งนี้ แนวคิดทางการเมืองของกลุ่ม หรือ องค์กรจึงปรากฏขึ้น การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านก็เช่นกัน มีแนวคิดทางการเมืองที่เป็นผลผลิตมาจากโลกทัศน์ และ อุดมการณ์อยู่ และเนื่องด้วยช่วงนี้เป็นช่วงที่เข้าสู่วันครบรอบการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ผู้เขียนจึงขอเสนอ”แนวคิดทางการเมืองของ ซัยยิดรูฮุลลอฮมูซาวี หรือ ที่รู้จักกันในนาม อยาตุลลอฮ โคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติอิสลาม ด้วยภาษาที่อ่านง่าย และเนื้อความที่กระชับ มา ณ โอกาสนี้

แนวคิดที่หนึ่ง : ศาสนาไม่แยกออกจากการเมือง

แนวคิดแรกเป็นแนวคิดที่เสนอว่า “ศาสนา” จะต้องไม่แยกจาก”การเมือง” โดยอิมามโคมัยนี ได้พิสูจน์ และยกหลักฐานหลายประการในแต่ละวาระด้วยกัน โดยท่านพิสูจน์ว่า

1.ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาสังคม :คำสอนของศาสนาจึงครอบคลุมทุกแง่มุมของชีวิต และการเมืองก็เป็นแง่มุมหนึ่งในทางสังคม

2.การเมือง และ ศาสนา ต่างมีเป้าหมายเหมือนกัน  : โดยท่านพิสูจน์ว่า ทั้งศาสนา และการเมือง ต่างมีจุดประสงค์สูงสุดคือ ความสุข และ ความยุติธรรมในสังคม ด้วยเหตุนี้ทั้งสองจึงไม่อาจแยกออกจากกัน ในประเด็นนี้ ในมุมมองของท่าน ท่านถือว่า มนุษย์เราเล่นการเมืองกันสามแบบ หนึ่ง คือ การเมืองแบบซาตาน หมายถึง การเมืองที่รากฐานของมันวางอยู่บนคำโกหก การหลอกลวง มายาคติต่างๆ  สองคือ การเมืองแบบสัตว์ หมายถึง การเมืองที่ดำเนินไปเพื่อตอบสนองความต้องการแบบสัตว์ของมนุษย์ และสามคือการเมืองแบบพระเจ้า หมายถึง การเมืองที่รากฐานวางอยู่บนคุณธรรม ซึ่งอิมามโคมัยนีถือว่า มีเพียงการเมืองที่รากของมัน คือ คุณธรรม เท่านั้น จึงจะสามารถสร้างความผาสุกให้กับมนุษย์ได้

3.ความสัมพันธ์ระหว่างโลกนี้กับโลกหน้า :โดยข้อนี้มาจากโลกทัศน์ที่ว่า ชีวิตของมนุษย์ ไม่ได้สิ้นสุดแค่โลกนี้ ไม่ว่าเขาจะทำสิ่งใด ย่อมส่งผลกระทบต่อโลกหน้า ในเรื่องการเมืองก็เช่นกัน และเมื่อพิสูจน์ว่า”ทุกสิ่งที่มนุษย์ทำ ย่อมมีผลต่อชีวิต ในโลกหน้า เรื่องการเมือง ก็เป็น การกระทำหนึ่งของมนุษย์เช่นกัน

4.ศาสนากับการเมืองมีความสัมพันธ์กันในทัศนะของอัลกุรอ่าน และ ฮาดิษ:โดยท่านได้พิสูจน์ว่า ในอัลกุรอ่านได้มีการนำเสนอ การเมือง การปกครอง โดยมีคุณธรรมเป็นรากฐาน และจากประวัติศาสตร์อิสลาม ยังยืนยันให้เห็นว่า แนวทางการเคลื่อนไหวของศาสดา เป็นแนวทางการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล

แนวคิดที่สอง : ความจำเป็นต่อการมีรัฐบาลในยุคเร้นกายของอิมามมะฮดีย์(อ)

ในแนวคิดนี้ เป็นผลผลิตจากความเชื่อของชีอะฮ์ ที่ว่า จะมีบุรุษผู้หนึ่งปรากฏตัวขึ้น นามว่า มูฮัมมัด มะฮดีย์ ผู้นำคนสุดท้ายจากเชื้อสายของศาสดามูฮัมมัด(ศ) เพื่อเติมเต็มความยุติธรรม และขจัดความอธรรมให้หมดไปจากโลกนี้[1] เพื่อรองรับการมาของบุรุษผู้นั้น การจัดตั้งรัฐบาล และปูพื้นฐานการมาของท่านจึงเป็นสิ่งจำเป็นโดยท่านได้ให้เหตุผลถึงสาเหตุที่จัดตั้งรัฐบาลอิสลามดังนี้

1.การปฏิรูปสังคม ด้วยการใช้ศาสนาบัญญัติ เป็นกฎมาย จำต้องมีรัฐบาลรองรับ เพื่อทำให้นิติบัญญัติเชิงศาสนา สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างเต็มรูปแบบ

2.การสร้างรัฐบาลโดยศาสดา ในอดีต :ในประเด็นนี้ท่านได้ชีให้เห็นว่า ระบบศาสดา คือ ระบบที่เคลื่อนไหวโดยมีจุดมุ่งหมายหนึ่ง คือ การสร้างรัฐบาลอันทรงธรรม

3.การกำหนดผู้ปกครองอิสลาม และ ตัวแทนของศาสนา โดยศาสดา :ในข้อนี้ท่านได้ให้เหตุผลว่า ตามแบบฉบับของศาสดา จะมีการแต่งตั้งผู้นำขึ้นเพื่อปกครองโลก สังคม หรือ ประเทศ นั่นย่อมพิสูจน์ว่า ศาสดาเล็งเห็นถึงความสำคัญทางการเมือง การปกครอง ภายหลังจากยุคของท่าน

4.จัดตั้งแนวทางการเมืองที่ไม่ใช่ฏอฆูต:คำว่าฏอฆูต หมายถึง ผู้นำที่ละเมิดฝ่าฝืน และสร้างความหายนะ ความเสียหายให้กับสังคมมนุษย์ โดยท่านชี้ว่า การจะทำให้สังคมมนุษย์เกิดความเป็นธรรมได้นั้น ระบบทางการเมืองจะต้องไม่เป็นไปในแบบฏอฆูต แต่จะต้องเป็นไปในแบบคุณธรรม

5.ปลดปล่อยดินแดนมุสลิม จากการล่าอาณานิคม และตกเป็นเมืองคนของรัฐบาลอื่น :ท่านถือว่า จะต้องจัดตั้งรัฐบาลเพื่อปลดแอกสังคมจากการรุกรานของนักล่าอาณานิคม และประเทศ ไม่อาจมีเสรีได้อย่างแท้จริง หากปราศจาก รัฐบาลที่เหมาะสม

แนวคิดที่สาม : ฮากีมอิสลาม หรือ วิลายัตฟะกีฮ์

ฮากีมอิสลาม หมายถึง ผู้ปกครองอิสลาม และ วิลายัตฟะกีฮ์ หมายถึง อำนาจของผู้รู้ทางศาสนา โดยเรื่องลักษณะเด่นของ ฮากีม อิสลาม เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ สำหรับการศึกษา ขบวนการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ในประเด็นนี้ อิมามโคมัยนี เชื่อว่า เมื่อพิจารณาจาก อัตลักษณ์ของการปกครองแบบอิสลาม โดยพิจารณาจากสติปัญญา และชัรอีย์(ศาสนาบัญญัติ) จะทำให้เราได้คำตอบ คนที่จะมาเป็น ฮากีมอิสลาม หรือ ผู้นำอิสลาม จะต้องเป็น ผู้มีความรู้ ความสามารถ ความยุติธรรม และจะต้องมีความรู้ในเรื่องบัญญัติอิสลาม ในขั้นชำนาญ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นจะต้องมีระบบวิลายัตฟากีฮ์[2] โดยหลักฐานที่ใช้ยืนยันอำนาจของผู้รู้ทางศาสนา แบ่งออกเป็นสองแขนง คือ เหตุผลทางสติปัญญา และ หลักฐานจากรีวายัต โดยมีรีวายัต(การรายงาน) จากศาสดา เป็นสิ่งรับรองถึงความชอบธรรมในอำนาจของฟะก์ และรีวายัตอี่นๆจำนวนมาก

แนวคิดที่สี่ : ยึดประชาชนเป็นหลัก

ในทัศนะของอิมามโคมัยนี ซึ่งพิจารณาจากสุนทรพจน์ของท่าน และวิถีของการปฏิวัติ พิสูจน์ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งประชาชน รัฐบาลจำเป็นต้องเป็นไปตามความต้องการ และความพึงพอใจของประชาชน รัฐบาลไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับการเห็นชอบจากประชาชน อิมามโคมัยนีถือว่า ประชาชนมีบทบาทเป็นตัวหลักในการเคลื่อนไหว และการก่อตั้งรัฐบาล  ในมุมมองของท่าน ประชาชนคือ อารัมภบทสำหรับการจัดตั้งระบบการปกครอง,ประชาชนมีสิทธิกำหนดชะตากรรมของตนเอง,ประชาชนจะต้องใส่ใจ และมีหน้าที่ต่อการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะมันคือเรื่องของทุกคน,การกำชับในเรื่องความดี และยับยั้งในเรื่องความชั่ว เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องกระทำร่วมกัน,ประชาชนส่วนมากเป็นผู้มีคุณธรรม,ความเห็นส่วนมากเป็นสิ่งที่ต้องยึดไว้

แนวคิดที่ห้า : ทิศทางการเคลื่อนไหว และเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลอิสลาม

การจัดตั้งรัฐบาลในมุมมองของ อยาตุลลอฮ โคมัยนี เป็นอารัมภบท และ บันได้ เพื่อทำให้เป้าหมายต่างๆบรรลุผลสำเร็จ ต่อไปนี้เป็นเป้าหมายหลักของการปฏิวัติที่สำคัญที่สุดของแนวทางการเมืองรัฐอิสลาม

1.เอกราช : เป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐอิสลาม ในทัศนะของอิมามโคมัยนี การมีเอกราชในความหมายของอิมามโคมัยนี คือ การหลุดพ้นจากการเป็นเบี้ยล่าง จากต่างชาติ จากการล่าอาณานิคม จากการตกเป็นเมืองที่ต่างชาติได้รับผลประโยชน์ในขณะที่คนในชาติอดอยาก และการหลุดจากการครอบงำ และกดขี่ โดยผู้นำที่อธรรมวิธีการได้มาซึ่งเอกราชในทัศนะของอิมามโคมัยนี คือ ประชาชาติจะต้องไม่สิ้นหวังต่อตัวเอง ,ประชาชาติจะต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญของศักยภาพ และความสามารถที่ตนมี และนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้,และจะต้องไม่เอาแต่พึ่งพาอาศัยต่างชาติ,ประชาชาติจะต้องยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเอง

2.ความยุติธรรม :เป็นอีกเป้าหมายสำคัญในการจัดตั้งรัฐอิสลาม โดยอยาตุลลอฮ โคมัยนี มีแนวคิดว่า ความยุติธรรม คือ สิ่งที่สามัญสำนึก และสติปัญญาของมนุษยชาติ ต่างเรียกร้อง ,การทำให้แผ่นดินเกิดความยุติธรรม คือ เป้าหมายหนึ่งของการส่งศาสดามายังโลกนี้ และอิสลามวางอยู่บนรากฐานของความยุติธรรม และความยุติธรรมนี่เอง ที่เป็นตัวบอกราคาของรัฐบาลอิสลาม

3.ฟื้นฟูอัตลักษณ์ :หมายถึง เป้าหมายที่มีรัฐอิสลาม ก็เพื่อพัฒนามนุษย์ และ ฟื้นฟูอัตลักษณ์ที่แท้จริงของพวกเขา คือ การปูพื้นฐานสู่การพัฒนาทางทางวัตถุ และจิตวิญญาณ ของมนุษย์ ควบคู่กัน จนไปถึงการเป็น”มนุษย์ผู้สมบูรณ์

4.อิสระภาพ:เป็นสโลแกนสำคัญของการปฏิวัติ และไม่ต้องสงสัยเลย การปฏิวัตินี้ เคลื่อนมาถึงจุดสูงสุด ก็โดยมีอิสรภาพเป็นปัจจัยหลัก สิ่งสำคัญอีกประการอันเป็นเป้าหมายของการปฏิวัติ ก็คือการได้มาซึ่งอิสรภาพนั่นเอง

สุดท้ายนี้ขอจบบทความด้วยโอวาทของท่านอิมามอาลี(อ) จากหนังสือ ชัรฮ์ฆุรอรุลฮิกัมฮาดิษที่ 8990 ท่านกล่าวว่า

“ผู้ที่ไม่เปลี่ยนแปลงตนเอง ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้อื่น”

[1]แนวคิดนี้เป็นแนวคิดร่วมกันระหว่าง นิกายซุนนี และ ชีอะฮ์ ต่างกันตรงที่ ซุนนี่ เชื่อว่า อิมามมะฮดีย์(อ) ยังไม่ถือกำเนิด ส่วนชีอะฮ์เชื่อว่า อิมามมะฮดีย์(อ) ถือกำเนิดแล้ว แต่ด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าจึงทำให้ท่านเร้นกาย เช่นเดียวกับความเชื่อที่ว่า วันหนึ่ง ศาสดาอีซา (อ) ก็จะปรากฏตัวเพื่อช่วยเหลือ อิมามมะฮดีย์(อ) ท่านนนี้

[2]วิลายัตฟากีฮ์ มาจากคำสองคำ คือ วะลา หมายถึง การนำ,อำนาจ, และอื่นๆ และคำว่า ฟะกีฮ์ มาจากคำว่า ฟะกอฮา หมายถึง ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ซึ่งต่อมา คำว่า ฟะกีฮ์ ถูกนำมาใช้เรียกผู้ที่มีการศึกษาขั้นสูง ในระดับอิจติฮาด ทางศาสนา หรือ มีความชำนาญในเรืองอะฮ์กามอิสลาม