ในประวัติศาสตร์ มีบุคคลมากมายได้แสดงวีรกรรม และวิถีชีวิต อย่างควรค่าที่จะนำเป็นแบบอย่าง อาจจะพูดได้ว่า ทุกคนล้วนมีบุคคลที่เป็นแม่แบบในหัวใจกันอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สมัยนี้เป็นสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลในชีวิต อะไรๆก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย คำถามคือแล้วเราจะนำตัวอย่างการใช้ชีวิตของพวกเขามาเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตของเราได้อย่างไร ? นักศึกษาเคมีปีสุดท้ายจะนำแบบอย่างของบุคคลในศาสนา มาเป็นตัวอย่างในชีวิตได้หรือ นักเรียนชั้นมัธยมจะใช้ชีวิตโดยมีบุคคลผู้เป็นแบบอย่าง เป็นแสงนำทางวิถีชีวิตของตนเองได้อย่างไร ?
คำตอบของคำถามเหล่านี้ สิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจคือ การเรียนรู้แบบอย่างจากบุคคลนั้น หมายถึง การเรียนรู้ ภาพรวมของชีวิต และ เส้นทางชีวิตของพวกเขา และการนำสิ่งเหล่านั้น มาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัยของตนเองอย่างเหมาะสม เช่น ตักวา(ความยำเกรง) ,ยางอาย,การอบรมลูกหลานอย่างถูกวิธี,การดูแลสามี-ภรรยาที่ดี,ความสันโดษ,การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย,การแสวงหาความรู้,ความกล้าหาญ,การปกป้องและกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะพิเศษของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ และหนึ่งในนั้นคือ คุณลักษณะของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ.) บุตรีท่านศาสดามูฮัมมัด(ศ.) ผู้เป็นแบบอย่างสำหรับมุสลิม และผู้ไม่ใช่มุสลิมทั้งปวง
สิ่งที่สองที่ต้องทำความเข้าใจคือ “การเรียนรู้แบบอย่าง” ประกอบจากสองสิ่งคือ “คุณค่า” หรือ “ค่านิยม” และ”วิธี” หมายถึง “ค่านิยม” หรือ ความคิดที่พวกเขามี และ วิธีการที่เป็นผลผลิตจากค่านิยมที่พวกเขายึดมั่นเหล่านั้น ซึ่งวิธีการ มันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปสถานการณ์ เช่น ถ้าในอิสลาม ก็คือ การอิบาดัต เคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า,การเชื่อฟังสามี,การอบรบบุตรหลาน,การแสดงออกทางการเมือง,การสอนผู้อื่น,การรับใช้ประชาชน และอื่นๆ วิธีการ และสิ่งที่นำมาใช้ เพื่อปฏิบัติไปตามแนวทางที่ตนยึดมั่น และศรัทธา อาจเปลี่ยนแปลง ทว่า หลักการยังคงมั่นคงอยู่
ในหนังสือนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ มีถ้อยคำบทหนึ่งของอิมามอาลี(อ.) กล่าวว่า “พึงรู้เถิด ทุกเส้นทาง ย่อมมีผู้นำ ที่ส่องแสงนำทาง แก่ผู้ที่ตามเขา และได้รับประโยชน์จากรัศมีแห่งความรู้ของเขา ฉะนั้นแล้ว จงรู้เถิดว่า สำหรับโลกนี้แล้ว ผู้นำของท่านพอเพียงกับ การมีเสื้อผ้าเก่าๆเพียงสองผืน และขนมปังเพียงสองก้อน และจงรู้เถิดว่า ท่านทั้งหลาย ไม่อาจทำเช่นนี้ได้ ทว่าท่านทั้งหลายสามารถช่วยเหลือข้าพเจ้าได้ด้วยตักวา(ความยำเกรง) , ด้วยความวิริยะอุตาสาหะ,ด้วยอิฟฟะฮฺ(การรักษาตนให้บริสุทธิ์),ด้วยการทำงาน,ด้วยการจัดการที่ถูกต้องและมั่นคง”
ทำนองเดียวกัน มีสุนทรพจน์จาก อยาตุลลอฮฺซัยยิด อาลี คาเมเนอีย์ ที่อธิบายต่อประเด็นนี้ว่า”สิ่งสำคัญสำหรับการเรียนรู้แบบอย่าง คือ หลักการที่มีอยู่ในตัวบุคคลของมนุษย์ทุกผู้คน ที่ท่านต้องทำ คือ ระบุตัวพวกเขาให้ได้(ว่าใครคือผู้ที่คู่ควรแก่การนำมาเป็นแบบอย่างในชีวิต) และค้นหาแบบอย่างในตัวของพวกเขา สมมติว่า หากท่านต้องเผชิญกับสถานการณ์บางประการ มนุษย์เราควรจะรับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร บางครั้งสถานการณ์บางอย่าง อาจเกิดขึ้นในยุคสมัยที่มี รถไฟฟ้าใต้ดิน มีรถไฟ มีเครื่องบิน มีคอมพิวเตอร์ บางสถานการณ์อาจเกิดขึ้นในยุคสมัยที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่เลย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้าย”สถานการณ์บางประการ” ก็คือสิ่งที่ห้อมล้อมมนุษย์อยู่เสมอ ฉะนั้นแล้ว มนุษย์เราจึงสามารถรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ได้ด้วยสองรูปแบบ หนึ่ง คือ แบบที่มีหน้าที่,รับผิดชอบ, อีกแบบหนึ่งคือ “ไม่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบใดๆ เช่น ในช่วงที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) มีอายุประมาณ หก หรือ เจ็ดปี เหตุการณ์ชะอฺบีอบีฏอลิบได้เกิดขึ้น “ชะอฺบีอบีฏอลิบ” คือ ยุคสมัยที่ยากเย็นที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคต้นของอิสลาม การเชิญชวนของศาสดา(ศ.)เริ่มต้นขึ้นแล้ว ทว่าเป็นการเชิญชวนอย่างไม่เปิดเผย ประชาชนชาวมักกะฮฺ ค่อยๆทยอยการมาเข้าร่วมกับท่าน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ในยุคนั้นเอง เหล่าฏอฆูตชั้นผู้นำ เช่น อบูละฮับ ,อบูญะฮัล และคนอื่นๆ ต่างก็เล็งเห็นว่า พวกตนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องเนรเทศ ศาสดา และกลุ่มชนของท่านออกจากเมือง แล้วพวกเขาก็กระทำมัน คนจำนวนมาก หลายสิบครอบครัว รวมไปถึงศาสดา และครอบครัวของท่าน และท่านอบูฏอลิบเอง รวมไปถึงลูกเด็กเล็กแดงมากมาย ต้องออกจากเมืองมักกะฮฺแม้ว่าท่านอบูฏอลิบ จะเป็นสมาชิกชั้นผู้ใหญ่ของเมืองก็ตาม คนเหล่านี้ออกจากมักกะฮฺไปแล้ว แต่พวกเขาจะเดินทางไปไหนกัน ขณะเดียวกัน ท่านอบูฏอลิบ มีที่ดินผืนหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากมักกะฮฺมาก มันเป็นที่ดินที่อยู่ระหว่างเขา มีชื่อว่า ชะอฺบีอบีฏอลิบ ท่านอบูฏอลิบจึงเสนอแล้วบอกว่า เราจะไปกันที่นั่น มาถึงจุดนี้ ท่านทั้งหลายลองใช้ความคิดของท่านตรองกันดูเถิดว่า กลางวันที่อากาศแสนร้อนระอุ และกลางคืนที่เย็นยะเยือกราวกับว่าราตรีนี้จะไม่สิ้นสุด สภาพที่ไม่อาจฝืนทนเช่นนี้ พวกเขากลับอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้น เป็นเวลาถึงสามปี พวกเขาต้องเผชิญกับความอดยากมากเท่าใด ต้องเผชิญความยากเย็นมากถึงเพียงใด ต้องเผชิญกับแร้นแค้นมากแค่ไหน มีเพียงพระผู้เป็นเจ้าที่ล่วงรู้ หนึ่งในช่วงที่ยากเย็นของศาสดา คือ สถานที่แห่งนั้น ในช่วงเวลานั้น หน้าที่ของศาสดา ไม่ได้มีเพียงหน้าที่การเป็นผู้นำ ท่านยังต้องสามารถปกป้องพวกเขา จากความยากลำบากที่ถาโถมเข้ามาให้ได้อีกเช่นกัน ท่านทั้งหลายต่างรู้ว่า หากสถานการณ์เป็นไปด้วยดี ผู้คนที่รายล้อมผู้นำ ก็จะพอใจต่อทุกสถานการณ์ พวกเขาก็จะพูดกันว่า”ข้อพระเจ้าทรงอภัยให้แก่บิดาของเขา เพราะเขาทำให้เรามีสภาพที่ดี “แต่หากสถานการณ์เป็นไปอย่างยากลำบาก หลายๆคนอาจสงสัย และพากันกล่าวว่า“เขาทำให้เราต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ทั้งๆที่เราไม่ต้องการให้เป็นเช่นนี้เลย” แน่นอนผู้ที่มีศรัทธาเข้มแข็ง จะยืนหยัด แต่สุดท้าย แรงกดดันก็เริ่มถาโถมเข้ามาสู่ท่านศาสดา ในช่วงขณะนี้เอง ช่วงที่ความหนักหน่วงขั้นสุดท้ายกำลังเกิดขึ้นต่อท่านศาสดา ท่านอบูฏอลิบผู้สนับสนุนท่านศาสดา และเป็นความหวังของท่าน และท่านหญิงคอดีญะฮฺ กุบรอ ผู้เป็นกำลังใจสำคัญของศาสดา กลับมาลาจากโลกนี้ไป ในเวลาอาทิตย์เดียว นี้จึงกลายเป็นเรื่องฉงน เพราะว่าศาสดาที่โดดเดี่ยวอยู่แล้ว กลับต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวซ้ำอีก ข้าพเจ้าไม่อาจรู้เลยว่า การเป็นหัวหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เข้าใจความหมายของหน้าที่รับผิดชอบผู้คนจำนวนหนึ่งหมายความว่าอย่างไร ภายในสถานการณ์ที่มนุษย์ต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ ในสภาพเช่นนี้เอง ขอให้ท่านทั้งหลาย มองบทบาทของฟาฏิมะฮฺ (อ) ดูเถิด มนุษย์เมื่อมองดูประวัติศาสตร์ เขากลับได้พบบุคคลเช่นนี้ น่าเศร้าที่ยังไม่มีบทใดในหนังสือที่เปิดให้เห็นสิ่งเหล่านี้ ฟาฏิมะฮฺ เป็นดั่ง มารดา เป็นดั่งที่ปรึกษา ณ ที่แห่งนั้นเอง ท่าน(ศ)จึงกล่าวว่า ฟาฏิมะฮฺ คือ อุมมุอบีฮา(มารดาของบิดาของนาง) ถ้อยคำนี้ เกี่ยวข้องกับช่วงเวลานั้น ช่วงเวลาที่เด็กหญิงอายุประมาณ 6-7 ขวบ แสดงบทบาทนี้ แน่นอนในสภาพแวดล้อมของแผ่นดินอาหรับ ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ เด็กสาวจะเติบโต ทั้งทางกาย และทางจิตใจอย่างรวดเร็ว พอๆกับเด็กสาวอายุ 10-12 ปี ของเด็กสาวในยุคปัจจุบันของเรา
นี่คือ ความรู้สึกที่ต้อง”ปฏิบัติหน้าที่” เช่นนี้แล้วจะไม่อาจเป็นแบบอย่างให้แก่เยาวชนคนหนึ่งได้อย่างไร เด็กสาวที่รับรู้ถึงหน้าที่ของตนเองอย่างรวดเร็ว ความร่าเริงที่มีอยู่ในตัวของท่าน ถูกใช้ไปเพื่อปัดฝุ่น และความเศร้าหมองของบิดา สิ่งนี้ไม่อาจเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนหรือ ? นี่คือสิ่งสำคัญ….
แบบอย่างอีกประการของท่านคือ หน้าที่การดูแลสามี เวลาหนึ่งคนเราคิดว่า การดูแลสามีหมายถึงการอยู่ในบ้าน หุงหาอาหารเตรียมสำรับอยู่ในครัว และทำความสะอาด ห้องหับ บ้านเรือน … การดูแลสามี ไม่ได้มีเท่านี้เลย ขอให้ท่านลองดูเถิดว่า การดูแลสามีของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) เป็นอย่างไร
ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ศาสดา อาศัยอยู่ในมะดีนะฮฺ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ.) กับ ท่านอิมามอาลี(อ.) เป็นสามีภรรยากันอยู่ประมาณเก้าปี ในช่วงเก้าปีนี้ สงครามเล็กใหญ่ที่บันทึกไว้ มีประมาณ 60 สงคราม เกิดขึ้น โดยส่วนมากแล้ว ท่านอิมามอาลี (อ.) จะอยู่ในสงครามเหลานั้นเกือบทั้งหมด ตรงนี้ขอให้ท่านพิจารณาถึง สตรีที่อยู่ในบ้าน ในขณะที่สามีของนางอยู่ในสนามรบ ซึ่งหากไม่ปรากฏตัวในสนามรบ จะทำให้ทัพฝ่ายตนตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าวิตก และหากพิจารณาสถานะการเงินของพวกเขา เราก็คงได้ฟังกันแล้วว่า พวกท่านคือ ผู้ที่มอบอาหารของตนแก่ ผู้ยากไร้ เด็กกำพร้า และเหล่าเชลยศึก[1] ซึ่งหมายความว่า พวกเขาใช้ชีวิตด้วยความยากจนอย่างแท้จริง ทั้งๆที่ท่านหญิงเป็นลูกสาวของผู้นำ เป็นบุตรสาวของศาสดา และยังมีความรู้สึกที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ลองดูเถิดว่า มนุษย์เรานี้ต้องการขวัญกำลังใจสักแค่ไหน เพื่อเตรียมสิ่งต่างๆให้กับสามี โดยทำให้หัวใจของนางสลัดจากความคิดที่ว่าครอบครัวต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมายสักเพียงใด แต่กลับให้ความอุ่นใจแก่สามีของนาง และยังสามารถอบรมลูกๆของตนเองได้เป็นอย่างดี ทีนี้ลองบอกสิว่า ผู้ที่อบรบอิมามฮะซัน (อ.) อิมามฮูเซน(อ.) และ ท่านหญิงซัยหนับ(อ.) ในระยะเวลา 9 ปี ผู้ที่ดูแลครอบครัวเช่นนี้ ผู้ที่ดูแลสามีเช่นนี้ ผู้ที่เป็นศูนย์กลางชีวิตของครอบครัวอมตะที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ ไม่สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่ เด็กสาว หรือ สตรีที่ดูแลครอบครัว ได้อย่างไร
เวลาต่อมาท่านศาสดาได้ลาจากโลกนี้ไป ท่านหญิงได้ปรากฏตัวที่มัสญิด และได้กล่าวคำพูด(คุฏบะฮ์)บทหนึ่ง ที่ดึงดูดอย่างน่าแปลกใจ เราท่านซึ่งเป็นผู้กล่าวบรรยาย ย่อมรู้ดีว่า คำพูดบทนี้ยิ่งใหญ่แค่ไหน หญิงสาวคนหนึ่ง ต้องเผชิญกับความโศกเศร้า และความยากลำบาก ได้ปรากฏตัวที่มัสยิด และกล่าวาทะที่แต่ละคำของท่านถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ต่อหน้าความอาลัยของฝูงชน การกระทำดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ ซึ่งในทัศนะของข้าพเจ้า สำหรับเด็กสาววัยเยาว์แล้ว นี่คือแบบอย่างที่คู่ควร”
[1]เหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในอัลกุรอ่านซูเราะฮฺอินซาน โองการที่ 8-9