กระบวนทัศน์นักเรียนศาสนา (1)

306

นักเรียนศาสนาหรือนักการศาสนาเป็นตำแหน่งหนึ่งที่มีเกียรติในภาษาอาหรับจะมีคำที่ใช้เรียกผู้ที่สวมอามามะฮ์ (ผ้าโพกศีรษะ) ซึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนในเส้นทางนี้เฉพาะว่าฏอลิบ(طالب)หรือฏอลาเบะฮ์(طلبه)ในภาษาฟารฺซีคำว่าฏอลิบมาจากคำว่าฏอ-ลา-บา(طَ – لَ – بَ)หมายถึงการแสวงหาเมื่ออยู่ในรูปของอิสมุลฟาอิลหรือคำนามที่แสดงถึงความเป็นผู้กระทำก็จะได้ความว่า”ผู้แสวงหา” การเรียกพวกเขาว่า”ผู้แสวงหา” ไม่ใช่ว่าจะไม่มีที่มาที่ไปเหตุที่เรียกพวกเขาด้วยนามนี้“ผู้แสวงหา”  เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแสวงหาความรู้ของพวกเขาฏอลิบหรือฏอลาเบะฮ์จึงหมายถึงผู้แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา

หลายวันก่อนหน้านี้มีผู้ตั้งคำถามว่าหน้าที่อย่างแรกของนักการศาสนาคืออะไร ?  หลากหลายคำตอบชี้ว่าคือ“การขัดเกลาตนเอง” ผู้เขียนขออ้างอิงโอวาทของท่านซัยยิดอาลีคาเมเนอีย์มาณโอกาสนี้ท่านคือผู้นำสูงสุดแห่งการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านและผู้เป็นแบบของนักเรียนศาสนาทั่วโลกในช่วงสวมอามามะฮ์ให้กับนักการศาสนาที่เพิ่งจบใหม่ท่านได้กล่าวสั่งเสียไว้ว่า

“ประชาชนจะมองพวกท่านในสามสิ่งหากท่านผิดพลาดก็เหมือนกับศรของท่านมันได้พุ่งไปผิดทิศผิดทางเสียแล้ว ,จะเป็นการดีกว่าที่ท่านจะประกอบการงานอื่นที่มีเกียรติเพื่อให้พบบั้นปลายชีวิตที่ดีงาม

หนึ่งนั้นคือ ท่านคือผู้รู้ จงอย่าปล่อยให้ตัวเองมีประโยชน์น้อยกว่าประชาชน หรือผู้คนทั่วไปเลย  การที่นักศึกษาคนหนึ่งเห็นท่านอ่านอัลกุรอ่านหรือนมาซอย่างไม่ถูกต้องพวกเขาจะคิดว่าเรื่องอื่นๆของท่านคงยิ่งถอยหลังไปมากกว่านี้

สองนั้นคือ เราต้องระมัดระวังพฤติกรรมของตัวเองท่ามกลางผู้คนและจะต้องพบปะกับพวกเขาอย่างผู้สามารถมีวิชาความรู้พวกเขาจะเรียกท่านทั้งหลายว่า”ท่าน”ดังนั้นจงอย่าทำสิ่งใดที่ทำให้พวกเขาผิดหวังจาก”ท่าน”คนนั้น

สามนั้นคือ พวกเขา จะขอให้ท่านช่วยขอดุอา ช่วยขอพรให้ เพราะพวกเขา คิดว่า ท่านใกล้ชิดกับพระเจ้ามากกว่าพวกเขา และคำพูดของพวกท่านมีราคา ดังนั้น อย่าได้ทำลายความศรัทธานี้ของประชาชนในที่ลับใดๆก็ตามและอย่าถอยหลังกว่าพวกเขาในเรื่องของการดุอาการทำสิ่งมุสตะฮับและการทำความดีงาม”

นี่เป็นโอวาทของซัยยิดอาลีคาเมเนอีย์ที่ได้สั่งเสียตักเตือนแก่นักการศาสนา สิ่งแรกที่พวกเขาจะทำ หลังจากที่อยู่ภาย หลังคาของเฮาซะฮ์(โรงเรียนศาสนา) จึงเป็นการ”ฝึกฝนตนเอง” “ขัดเกลาตนเอง” ทั้งทางจิตวิญญาณ และภายนอก การเป็นนักเรียนศาสนา จึงมีความยากลำบากยิ่งกว่า การเป็นสิ่งอื่น ดุจดั่งผู้ที่แบกของหนัก และพยายามเดินขึ้นภูเขาในเวลาเดียวกัน เพราะตำแหน่งนี้ จำเป็นต้องอาศัยการยืนหยัด,ความอดทน,ความพยายามอย่างสูง จึงไม่แปลกที่ผู้คงแก่เรียนในวงการนี้จะถูกเรียกว่า”มุจญฺตะฮิด”(ผู้พยายามอย่างสุดความสามารถ)  เพราะการเป็นนักเรียนศาสนา ไม่ได้ทำกันแค่เรียน แล้วกลับบ้าน แต่พวกเขาจะต้องเรียน และปฏิบัติในสิ่งที่พวกเขารู้ จะต้องถือการต่อสู้กับอัตตาของตนเองเป็นศัตรูทุกสมรภูมิ ทุกช่วงเวลา จะต้องอยู่กับตำรับตำราอยู่เสมอ การไปเรียนแล้วเอาลงหม้อ เป็นสิ่งที่จะต้องไม่เกิดขึ้นสำหรับพวกเขา เพราะการพูดผิดแม้เพียงหนึ่งคำในเรื่องศาสนา จะส่งผลเสียอย่างมากมาย พวกเขาจะต้องรับผิดชอบ ตอบคำถามในวันแห่งการตัดสินถึงสิ่งที่ตนเองกระทำ สิ่งที่ตนได้พูดออกไป เหตุนี้เองจึงมีคำสั่งเสียมากมาย กำชับถึงการพูดแต่ในสิ่งที่รู้ และจุดนี้คือ จุดหนึ่งที่ทำให้ ผู้ที่ศึกษาหาอ่านเกี่ยวกับอิสลามเอาเอง กับ นักเรียนศาสนาที่ศึกษาเล่าเรียนใต้หลังคาของเฮาซะฮ์แตกต่างกัน การระมัดระวังในการเผยแพร่แนวคิดที่ไม่มีหลักการอิสลามรองรับ ไม่เดาเอาเอง  เกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญถึงหายนะของมัน

เมื่อสำเร็จการศึกษาขั้นหนึ่ง นั่นหมายความว่า พวกเขามีความรู้ในระดับที่เพียงพอต่อการสร้างคนให้เป็นคนดี มีวิชาที่สามารถอบรบมนุษย์ให้พัฒนาจิตใจตนเองให้สูงขึ้น มีวิทยาที่ทำให้วิถีของสังคมอยู่ในเส้นทางสายกลาง โดยรวมก็คือ”พวกเขามีวิชาพัฒนาสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ตำแหน่งที่แท้ของพวกเขา ก็คือ “ผู้สอนคนให้เป็นคน” และเพราะเหตุนี้เอง ถ้าพวกเขายังเป็นคนไม่ได้ ก็ไม่อาจสอนคนให้เป็นคนได้ แน่นอน ดังที่ปวงปราชญ์ได้กล่าวไว้ “เป็นผู้รู้ว่ายากแล้ว แต่เป็นมนุษย์นั้นยากเสียยิ่งกว่า” นี่เองจึงเป็นความยากของการเป็นนักเรียนศาสนา ในทางกลับกัน หากนักการศาสนาประพฤติตนไม่เหมาะสม ถอยหลังลงคลอง “ไม่เป็น ไม่รู้ ไม่พัฒนา” ยิ่งกว่า คนทั่วไป ท่านให้โอวาทว่า ควรจะทำสิ่งอื่นเสียดีกว่า เพราะผู้รู้ที่ไร้ประโยชน์ เปรียบดั่ง ผึ้งที่ผลิตน้ำผึ้งไม่ได้

สิ่งที่เราท่านสัมผัสถึงความสุข และความอิ่มเอม เมื่อได้มองใบหน้าของนักการศาสนา เกิดมาจาก ความสว่างไสวในหัวใจของพวกเขา เกิดจากการขัดเกลาตนเองของพวกเขา และการพัฒนาจิตวิญญาณของพวกเขา นูร(แสง)ที่ปรากฏในจิตและปัญญาของพวกเขา จึงส่องสว่างแผ่ความเมตตาส่งมาถึง ผู้ที่เมียงมอง นั่นคือ สิ่งที่เราจะสัมผัสได้จากผู้ที่เป็นนักเรียนศาสนาที่แท้จริง

สุดท้ายนี้ขอจบบทความ ด้วยวจนะของศาสดามูฮัมมัด(ศ.) ผู้เมตตาแห่งสากลโลก ท่านกล่าวถึงตำแหน่งของนักการศาสนาว่า

إنَّ طـالِبَ العِلمِ تَـبسُطُ لَـهُ الـمَلائکَةُ أجـنِحَتَها وتَستَغفِرُ لَهُ

“แท้จริง ผู้ที่แสวงหาความรู้ คือ ผู้ที่เหล่ามะลาอิกะฮ์  จะกางปีกของตนให้แก่พวกเขา และจะวิงวอนขออภัยโทษแก่เขา”[1]

[1] มุนตาค็อบ มีซานุลฮิกมะฮ์ 3/98