ปรัชญาการมีอยู่ของนักเรียนศาสนา
ทำไมต้องมีนักเรียนศาสนา ? เรียนไปทำไม ? เรียนแล้วได้อะไร ? เป็นคำถามที่นักเรียนศาสนามักถูกถามถึงอยู่บ่อยครั้งคำถามต่างๆเหล่านี้คือคำถามที่มักปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในบทสนทนาผู้เขียนขอถือโอกาสนี้อธิบายถึงปรัชญาของการมีนักเรียนศาสนาอยู่ในสังคมตามความรู้ที่ตนมีเพื่อสร้างความเข้าใจและมุมมองที่ถูกต้องเกี่ยวกับนักเรียนศาสนามาณโอกาสนี้
ในมุมของอิสลาม “ความรู้” เป็นสมบัติล้ำค่าเหนือธรรมดา มุสลิมต่างรู้ดีว่า ในทัศนะของอัลกุรอ่าน และ อัลฮาดิษ สองแหล่งวิชาการสำคัญของอิสลาม ต่างชี้ไปในทางเดียวกันถึง “คุณค่าของความรู้” และ “การแสวงหาความรู้” อย่างที่ไม่จำเป็นต้องสรรหาคำอธิบายใดๆ อันที่จริงแล้วหนังสือศาสนาเกือบทุกเล่มไม่ว่าจะสมัยเก่า หรือสมัยใหม่ ไม่ว่าจะกี่ร้อยปี มักจะขึ้นต้น อารัมภบท ด้วยหัวข้ออันกล่าวถึง “ความสำคัญของความรู้” อยู่เสมอๆ
การแสวงหาความรู้ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเสมอ ตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งในสงคราม ญะมัล มีผู้เข้ามาถามอาลี บิน อบีฏอลิบ(อ) ขณะอยู่ในสมรภูมิ ถึงเรื่อง หลักเอกานุภาพของพระเจ้า มิตรสหายที่รายล้อมท่าน ได้ยินคำถามของชายผู้นี้ พากันแสดงอาการไม่พอใจ เพราะเวลานี้คือ เวลาทำศึก ไม่ควรที่จะปุจฉา-วิสัชนากันในตอนนี้ จึงกล่าวแก่ชายผู้นั้นว่า “เจ้าไม่เห็นหรือว่า อิมาม(อาลี บิน อบีฏอลิบ) กำลังรับมือกับศึกสงครามอยู่ นี่ไม่ใช่เวลาจะถามหาเอาความรู้ “เมื่ออาลีได้ยิน ทหารฝ่ายตนกล่าวเช่นนั้น ท่านได้รุดเข้ามาแล้วกล่าว “จงปล่อยเขาเถิด ที่เราทำศึกก็เพื่อการนี้ เป้าหมายของเราก็เพื่อทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจต่อพระเจ้า และศาสนามากยิ่งขึ้น” แล้วหลังจากนั้นท่านก็เริ่มบรรยายคำตอบให้แก่ชายผู้นั้นฟัง
1.นักเรียนศาสนาคือผู้ชี้นำสังคม
เมื่อพูดถึงสถานะของผู้รู้ศาสนา ในทัศนะอิสลาม พวกเขาอยู่ในสถานะ “ผู้สืบทอดศาสดา” โดยหนึ่งในมรดกที่พวกเขาสืบทอดมาจากศาสดา คือ “ความรู้” ซึ่งเป้าหมายการแต่งตั้งศาสดา คือ การทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในการเป็น มนุษย์ผู้สมบูรณ์ และเมื่อเราพิจาณาจากข้อที่ว่า ผู้รู้คือผู้สืบทอดมรดกทางปัญญาของศาสดา หน้าที่หนึ่งของพวกเขา ก็คือ การสานต่อเจตจำนงของศาสดาเช่นเดียวกัน เพื่อนำทางไปสู่เหตุผลที่มนุษย์มีตัวตน ในยุคสมัยปัจจุบันผู้รู้ศาสนา จึงเปรียบดั่งแสงสว่างที่ดึงมือคนหลงให้กลับมาสู่เส้นทางหลักแห่งชีวิต ดังนั้นคำตอบแรกว่าทำไมต้องมีนักเรียนศาสนา ก็คือ เพราะพวกเขามีหน้าที่มอบหนทางแห่งการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษยชาติ อบรมสั่งสอนมนุษย์ไปสู่วิถีที่ถูกต้อง ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้ประสบกับบทบาทดังกล่าวของนักเรียนศาสนาด้วยตนเอง ผู้เขียนมีโอกาสได้ศึกษาวิชาการศาสนา ณ สถาบันอัลมะฮ์ดีย์(อ) ในเวลานั้นยังเยาว์วัยนัก ความคิดเกี่ยวกับชีวิตที่ปรากฏอยู่ในจิตใจในวัย 16 ปี คือ การใช้ชีวิตไปแต่ละวัน คบหามิตรสหายในโรงเรียน หาความบันเทิงด้วยสิ่งต่างๆที่ถูกเสนอมาให้คนวัยรุ่นได้เสพสม ไม่ได้คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตตนเอง ไม่ได้คิดถึงการเป็นคนดี หรือ เหตุผลที่ตนเองมีตัวตน เป้าหมายของการมีอยู่ หรือ การพัฒนาจิตใจ หรือ การอบรมบ่มนิสัยใดๆเลย เป็นเพียงวัยรุ่นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตไปตามบทบาทของตนเอง แต่เมื่อได้มาอยู่ใต้ชายคาสถาบันศึกษาศาสนา สิ่งแรกที่คิดคือ คงจะเป็นการเรียนที่น่าเบื่อกระมัง แต่แล้วเมื่ออยู่ได้สักระยะหนึ่ง ผู้เขียนกลับพบว่าที่นี่มีอะไรมากมายให้ค้นพบ เหมือนกับได้เปิดสมองของตนเองครั้งแรก คำถามต่างๆมากมายพรั่งพรูเข้ามาในจิตใจ คนดีคืออะไร พัฒนาตนเองคืออะไร ชีวิตของเรามีค่าแค่ไหน เชื่อเรื่องพระเจ้าไปทำไม ทำอย่างไรชีวิตจึงจะไปถึงความสุข อะไรคือความสำเร็จที่แท้จริงของชีวิตกันแน่ บทเรียนที่ได้เรียนรู้ที่นี่ ได้กระตุ้นสำนึกของผู้เขียนถึงความต้องการที่จะเป็นคนดีในสังคม ความต้องการที่จะขัดเกลาตนเอง ความต้องการที่จะทำให้ตนเองหลุดพ้นจากมายา และโลกีทั้งมวล บทเรียนเหล่านี้เป็นไปในลักษณะที่เรียบง่าย แต่แข็งแกร่ง ในทุกๆวันเราจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาในแต่ละวัน มาทบทวนบทเรียน โดยใช้กระบวนการเรียนรู้หนึ่งที่เรียกว่า”มุบาฮาซะฮ์” หมายถึง การนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ มาถกเถียงทางวิชาการผ่านการคิดวิเคราะห์ ด้วยวิธีการสนทนาเชิงอภิปราย และวิพากษ์ เพื่อให้ได้รายละเอียด และประเด็นต่างๆอย่างรอบคอบและกว้างขวางมากที่สุด
การเรียนรู้ในรูปแบบนี้ทำให้เรา มีความเข้าใจและจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ทั้งหมดอย่างแตกฉาน ไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหน เหมือนกับการได้โต้วาทีในทุกๆวันในทุกๆเรื่องที่ได้เรียน วันเวลาผ่านไป บทเรียน คำสอน และโอวาทของครูบาอาจารย์ ณ สถานที่แห่งนี้ ได้ซึมซับสู่จิตใจของแต่ละคน ทำให้นักเรียนสามารถก้าวสู่สังคมในรูปแบบที่ต่างออกไป คุณธรรมได้ฝังลึกลงในจิตใจของเยาวชนนักเรียนศาสนาเหล่านี้ ผู้เขียนมีโอกาสเห็นรอยยิ้มของพ่อแม่ที่ส่งลูกๆไปเรียนศาสนา และพบว่าเมื่อลูกกลับมา พวกเขาเปลี่ยนแปลงจากหลังมือเป็นหน้ามือหลายต่อหลายราย แน่นอนไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ แต่คนที่ประสบความสำเร็จและกอบโกยกำไรแห่งจิตวิญญาณนี้ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมของเขา เมื่อบ้านหนึ่งพบนักเรียนศาสนา เห็นกริยา มารยาท จริยธรรม และคุณธรรมของพวกเขา เห็นการเปลี่ยนแปลงของพวกเขา สิ่งเหล่านี้ได้ดึงดูดลูกหลานของแต่ละครัวเรือนให้เข้ามามีโอกาสศึกษา และต้องการให้ลูกหลานของตนเปลี่ยนแปลงตนเอง เหมือนกับนักเรียนศาสนาคนนั้นที่ตนได้พบเจอบ้าง
ส่วนหนึ่งที่พวกเขาประสบความสำเร็จ เพราะครู เมื่อเราพิจารณาการกระทำ คำสอน และกริยาของครูบาอาจารย์เหล่านี้ ทำให้เรานึกถึงศาสดา พวกเขาไม่ได้ทำแค่สอน ไม่คำนึงถึงเงินเดือน แต่พวกเขาอบรมเราด้วยความบริสุทธิ์ใจ และขัดเกลาตนเอง ออกห่างจากบาป ละเว้นจากชั่ว ปฏิบัติในสิ่งที่พูด ครูของนักเรียนศาสนาจึงถูกยกให้อยู่ในสถานะของ ”พ่อแห่งจิตวิญญาณ” ตรงนี้เองที่ทำให้เราเข้าใจถึงปรัชญาของการมีศาสนาในข้อแรก
2.ปกป้องวัฒนธรรม นำเสนอโลกทัศน์ และแนวคิดแก่มนุษย์
อีกเหตุผลหนึ่ง ที่ชี้ถึงความจำเป็นของการมีบุคคลผู้สำเร็จการศึกษาศาสนาในสังคม คือ การแสดงบทบาทเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรม นำเสนอโลกทัศน์ และแนวคิดแก่มนุษย์ ถ้าหากไม่มีนักเรียนศาสนา คอยทำหน้าที่เหล่านี้ในสังคมเลย ความอ่อนแอทางความคิด จริยธรรมอันดีงาม และจรรยามารยาท หรือ อาจจะกล่าวในภาพรวมว่า จิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์จะลดฮวบลงอย่างรวดเร็ว และรากของศีลธรรมอันดีงามในสังคมจะเสื่อมถอยลง ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอย่างผิดๆจะเริ่มแพร่หลายมากขึ้น เพราะหากไม่มีใครเป็นนักเรียนศาสนา อยู่ในสังคมเลย ก็จะไม่มีใครทำหน้าที่ปกป้องสิ่งเหล่านี้ พวกเขาจึงเปรียบดั่งทหารที่ป้องกันประเทศจากศัตรูที่เข้ามารุกรานแผ่นดิน หากแผ่นดินไหนไม่มีทหารปกป้องบ้านเมือง แผ่นดินนั้นย่อมอ่อนแอ และชายแดนที่ใหญ่และยากต่อการพิทักษ์มากที่สุดคือ จิตใจของมนุษย์ พวกเขาจึงเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะปลดปล่อยมนุษย์จากเงื้อมมือของปีศาจ (ความไม่ดีงาม) และปกป้องศรัทธา ความเชื่อ และคุณค่าของอิสลาม จากการรุกรานของศัตรู ความเข้าใจนี้ถอดมาจาก ฮาดิษ บทหนึ่งที่เปรียบผู้รู้ดั่งทหารผู้อยู่แนวหน้าของสนามรบ ซึ่งในอิสลาม ทหาร อยู่ในสถานะที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพราะพวกเขาทำหน้าที่ปกป้องประเทศจากศัตรู ไม่ใช่เพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของใคร ไม่ใช่ในหนทางอื่นใด เว้นแต่หนทางของพระองค์ การเปรียบผู้รู้ดั่งทหารจึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาท และสถานะของผู้รู้ในด้านนี้
ทำนองเดียวกัน หากความคิดบิดเบือนปรากฏขึ้นในสังคม และผู้คนปล่อยปะละเลยมันให้แพร่พิษไปทั่วทุกพื้นที่ การทรยศจะเกิดขึ้น จึงต้องมีคนกลุ่มหนึ่งคอยสกัดแนวคิดที่บิดเบือนเหล่านี้เสมอ และคนกลุ่มนั้น ก็คือ นักเรียนศาสนา ที่ใดที่ความคลุมเครือและความคิดบิดเบี้ยวปรากฏขึ้น นักเรียนศาสนาจะทำการแก้ไขสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่ด้วยการบังคับให้เชื่ออย่างหลับหูหลับตาอย่างที่คนบางกลุ่มคิด ทว่าพวกเขาจะทำวิธีเดียวกับที่ศาสดาได้กระทำ ซึ่งโดยหลักแล้ว อุลามาจะทำหน้าที่นี้เสมอ แน่นอนเราไม่ได้กล่าวว่านักเรียนศาสนาทุกคนจะประสบความสำเร็จ และเป็นผู้ที่ไม่สร้างความเสื่อมเสียต่อหน้าแผ่นดิน ข่าวการประพฤติไม่เหมาะสมของผู้ทำหน้าที่ทางศาสนา ก็มักมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า หากพระหนึ่งรูปประพฤติไม่เหมาะสม หมายความว่า พระทุกรูปจะเป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่า บาทหลวงหนึ่งท่าน ประพฤติตัวไม่เหมาะสม จะหมายความว่า บาทหลวงทุกท่าน จะเป็นเช่นนั้น และไม่ได้หมายความว่า เชค หรือ อาลีม หนึ่งท่านประพฤติตนไม่เหมาะสม จะหมายความว่า ผู้รู้ทุกท่านจะเป็นเช่นนั้น การตัดสินเหมารวมเป็นตรรกะวิบัติ ที่มักจะถูกนำมาใช้เสมอ
ขอให้ศึกษาวิถีชีวิตของสังคมปลอดนักเรียนศาสนาเป็นแกนกลาง เราจะสัมผัสถึงกลิ่นคาวโลกีย์ และแสงสีอยู่มากกว่า เราจะเห็น ฟัง และ รับรู้ แนวคิดพิสดารมากมาย เช่น “คนประเทศ A ดีกว่าคนประเทศ B”ถ้าพ่อพูดต้องเอาตามนั้น ผิด ถูกไม่เกี่ยว” หรือโดยรวมก็คือ การเป็นเผด็จการในบ้าน เราจะถูกชักจูงไปในวิถีที่ยังไม่แน่นอนว่ามันจะเป็นผลดี หรือ ผลเสียกับเรา อาจเสียคน เสียความบริสุทธิ์ของตนเองไป ยิ่งห่างจากผู้ที่กำชับในเรื่องของความดี และยับยั้งในเรื่องของความชั่วมากเท่าใด ก็จะยิ่งดึงดูดสิ่งตรงข้ามมากเท่านั้น แต่หากมองภาพรวมของสังคมที่มีนักเรียนศาสนาเป็นหัวใจ การขับเคลื่อนของสังคมนั้น ก็จะเป็นไปในทางของการส่งเสริมในเรื่องของความดี และการยับยั้งในเรื่องของความชั่ว สังคมที่มีนักเรียนศาสนาเป็นหัวใจ ร่างกายของสังคมก็จะเป็นไปตามจังหวะของหัวใจดวงนั้น
3.พิทักษ์เอกลักษณ์ที่แท้จริงของอิสลามมูฮัมมาดีย์
อาจมีคนบางกลุ่มโต้แย้งว่านักการศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นแล้วในยุคนี้พวกเขาเชื่อว่านักการศาสนาคือสิ่งที่ควรนำไปเก็บในพิพิธภัณฑ์เพราะมีแต่สังคมในอดีตที่ต้องการพวกเขาเหล่านี้หากใครจะนำนมาซก็ขอแค่ ”อาเดล”(ยุติธรรม) ก็ถือว่าเพียงพอไม่จำเป็นต้องเป็นนักเรียนศาสนางานแต่งหรืองานศพก็จัดกันได้เองไม่จำเป็นต้องพึ่งนักเรียนศาสนาเหล่านี้ความเข้าใจเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงเพราะอิสลามในเชิงสังคมเป็นสิ่งที่อยู่ในฐานะของระบบหนึ่งอุดมการณ์หนึ่งโลกทัศน์หนึ่งที่ครอบคลุมสังคมนั้นซึ่งผู้ขับเคลื่อนมันคือนักการศาสนา (หรือผู้รู้นั่นเอง)
อิสลามไม่แนะนำให้ประชาชนศึกษามุมหนึ่ง และถ้าใครเข้าใจแบบไหน ก็เอาตามนั้น อันที่จริงแล้วการศึกษาแบบเข้าใจแบบไหน เอาตามนั้น นอกจากจะไม่ทำให้เข้าใจอิสลามอย่างถูกต้องแล้ว ยังทำให้บางคนอาจจะนำสิ่งที่ตนเองเข้าใจ มาปฏิบัติแบบผิดๆอีกด้วย นักวิชาการมากมายที่พลาดเพราะจุดนี้ มั่นใจตนเองจนเลยเถิดไปแสดงความเห็นที่ขัดกับหลักการอิสลามของจริง เช่นการตีความอิสลามไปตามระบบคอมมิวนิสต์ เมื่อครั้งที่คอมมิวนิสต์กำลังเป็นที่นิยม หรือ การตีความอิสลามไปตามระบบทุนนิยมในยุคปัจจุบัน ดังนั้น ผู้รู้จักอิสลาม(ฏอลาเบะฮ์)จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคมในยุคสมัยปัจจุบัน หากว่าวันนี้ แก่นแท้บางอย่างของอิสลามถูกกลบฝัง ลืมเลือน หายไป วันพรุ่งนี้แก่นแท้อีกส่วนหนึ่งก็ค่อยๆจางหายไปเช่นกัน สุดท้ายก็จะเหลือเพียงชื่อที่บันทึกไว้ในหนังสือสารานุกรม และสิ่งอื่นที่เข้ามาแทนที่ในนามของอิสลาม กลายเป็นอิสลามปลอม มิใช่ฉบับดั้งเดิมที่ถอดมาจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ฉะนี้ ในการทำให้สังคมขยับไปในทิศทางที่ถูกต้อง และมีความเข้าใจว่าอะไรคืออิสลามแท้ อะไรคืออิสลามเทียม จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญในอิสลามอยู่ในสังคมนั้น เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของอิสลามอย่างถูกต้อง
นักการศาสนา ไม่ได้มีคุณค่าเพียงสามารถเผยแพร่(ตับลีฆ) คนในหมู่บ้านหนึ่ง หรืออ่านคุตบะฮ์ พูดศาสนา บนมัสยิดหลังหนึ่งให้คนแก่ฟัง ทว่าคุณค่าของพวกเขามีมากกว่านั้น เพราะมันคือเรื่องของการทำให้ศาสนาคงอยู่ในโลกนี้ ความยากเข็ญและภารกิจที่นักการศาสนาแบกรับอยู่ทุกวันนี้ คือ สิ่งนี้ นักการศาสนา หรือ นักเรียนศาสนา ไม่ใช่อาชีพที่ทำเพื่อกำไร เงินเดือน ทว่าคือ หน้าที่หนึ่ง คือ ภารกิจหนึ่งของศาสนบัญญัติ คือ การต่อสู้ครั้งใหญ่(ญิฮาดอักบัร) ในยุคสมัยของเรา และผู้ที่อยู่ในสมรภูมินี้ก็คือ บรรดาอุลามาอฺ