“In a time of deceit, telling the truth is a revolutionary act” – George Orwell
“ในยุคสมัยแห่งการหลอกลวง การพูดความจริง คือ การปฏิวัติ” – จอร์จ โอเวิล
ศตวรรษที่ผ่านมา โลกของเราถูกบดบังด้วย ‘โรคหวาดกลัว’ หรือ โรคระบาดชนิดใหม่ ที่ซึ่งอำนาจตะวันตกป่าวประกาศไว้ว่า สามารถพบเชื้อของมันได้จากวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิมและหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม และแม้ว่าบรรดานักการเมืองจะพยายามระมัดระวัง ไม่ให้มีการตีตราชาวมุสลิมทุกๆ คนในที่สาธารณะว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ ทว่าชาวมุสลิมก็ยังมิวายตกเป็นผู้ต้องสงสัยก่อเหตุวินาศกรรม และอยู่เบื้องหลังทุกเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตามสถานที่ต่างๆร่ำไป.. คำว่า “ก่อการร้าย” และ “อิสลาม” ถูกจับมาใช้คู่กันหลายต่อหลายครั้ง อย่างที่ปรากฏตามสื่อกระแสหลัก เป็นการโฆษณาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเชื่อโดยสำนึกว่า อิสลาม คือ ศาสนาแห่งการก่อการร้ายจริงๆ และนี่ไม่ใช่ “การใส่ความ” ไม่ใช่แบบแผนที่ถูกกำหนดไว้โดยอหังการผู้กระหายอำนาจ แต่เป็นความจริง…
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบ และสร้างความขัดแย้งตามมาหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้น คือ มันได้ให้กำเนิด ‘สงครามแห่งวาทะ’ (War of words) ที่ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์ วิจารณ์และต่อต้านศาสนาอิสลามกับชาวมุสลิมจากสื่อกระแสหลักอย่างโจ่งแจ้ง ทว่าจุดมุ่งหมายของมันเป็นอะไรที่ค่อนข้างเข้าใจง่าย เพราะมันวางอยู่บนความละโมบของมหาอำนาจตะวันตก ผู้ต้องการใช้สมรภูมิแห่งนี้ เป็นเครื่องมือลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้นับถือศาสนาอิสลาม (dehumanizing) ท่ามกลางสายตาของประชาคมโลก ในความต้องการสร้างความชอบธรรมให้แก่ตน เพื่อเข้าไปจัดวางกองกำลังทหาร ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับความอยู่รอดทางศีลธรรม และการมอบเสรีภาพให้แก่ประชาชนในประเทศตะวันออกกลาง ทั้งๆที่ความเป็นจริงมิใช่เช่นนั้น เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการจากการเข้าไปแทรกแซงประเทศอื่นคือ ทุกสิ่งอื่นๆ เว้นแต่สิ่งที่พวกเขาโฆษณาไว้.. ดังนี้ เมื่อชาวมุสลิมตะวันออกกลางถูกหมายหัวโดยประชาคมโลกว่า มิใช่ ‘มนุษย์ปกติ’ แต่เป็น ‘อมนุษย์’ ป่าเถื่อน ผู้ไร้อารยะธรรม อำนาจตะวันตกจึงประสบความสำเร็จในการวางรากฐานเพื่อเข้าไปแทรกแซงกิจกรรมทางการเมืองของประเทศเหล่านั้นอย่างง่ายดาย
สิ่งที่เกิดขึ้นกับอิรัก หลังเหตุโจมตีบันลือโลก 11 กันยา คือ ตัวอย่างที่สมบูรณ์หนึ่งของเรื่องที่เรากำลังพูดถึง แม้ทหารสหรัฐฯจะก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่ออิรัก ไม่ว่าจะมีการข่มขืน จู่โจมและการสังหารหมู่ต่อประชาชนชาวอิรัก ในรูปแบบของวิธีการทรมานอย่างเป็นระบบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทว่าวอชิงตันยังคงอ้างว่า สิ่งเหล่านั้นคือ การกระทำที่มีคุณธรรมสูง ทั้งยังโต้แย้งอีกว่า การกระทำที่ถูกต้อง บางครั้งก็จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความเด็ดขาด
เห็นได้ชัดว่า นับตั้งแต่วันที่ ตึก World Trade Center ถล่มลงมาราบกับพื้นดิน ภูมิภาค MENA (ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ) และชาวมุสลิมที่อาศัยในอยู่ระแหวกนั้นทั้งหมด จำต้องตกที่นั่ง กลายเป็นจำเลยสังคม ไม่ต่างจากลูกแกะบูชายันต์ ยืนต่อคิวรับกรรมไปยังแท่นบูชายันต์ของจักรวรรดินิยม ซึ่งหากจะมีองค์กรใด หรือใครสักคนที่ได้รับผลประโยชน์จากสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) สุดอลังการนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นเหล่าผู้ค้าอาวุธสงคราม และบรรดาบริษัทมหาชนอเมริกันหน้าเลือด ผู้หนุนหลังและคอยหล่อเลี้ยงการคลังของมหาอำนาจ
หลักฐานและสัญญาณของมันหรือ? ต่างปรากฏเป็นความจริงอยู่ดาษดื่น ถ้าคุณใส่ใจพอที่จะมองหา!
และหากว่าการพูดความจริง เป็นเพียงแค่ทฤษฎีสมคบคิดงมงาย! ดังนั้น ก็ปล่อยให้มันเป็นไปเช่นนั้นเถิด!
‘ความหวาดกลัว’ (Terror) ถูกออกแบบอย่างเป็นระบบ และถูกปล่อยออกมา ในรูปแบบของอาวุธทำลายล้างสูง และมันคือ Trojan Horse (โปรแกรมที่ถูกสร้างมาเพื่อปฏิบัติการ “ล้วงความลับ” ) ทางการเมือง.. ก็แล้วจะมีวิธีอื่นใดอีกเล่า ที่สามารถใช้ควบคุมทิศทางของข้อมูล และผลของสงคราม ได้ดีเสียยิ่งไปกว่า การสร้างวิกฤติการณ์นั้นขึ้นมาเองด้วยมือข้างหนึ่ง ในขณะที่มืออีกข้างหนึ่งก็ทำท่าวิ่งเต้นหาวิธีแก้ไขวิกฤตการณ์เหล่านั้น??
ถ้าไม่ใช่เพราะเหตุการณ์ 11 กันยาแล้วล่ะก็…อัฟกานิสถาน และอิรักก็คงจะไม่ถูกรุกราน และแม้จะโต้เถียงว่า ปราศจากสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ป่านี้ชาวอเมริกันก็คงจะรื่นรมย์ไปกับเสรีภาพของพลเมือง และศัพท์บัญญัติ อย่างเช่น คำว่า rendition (การตีความ) และคำว่า institutionalized torture (การทรมานในรูปแบบสถาบัน) ก็คงจะไม่กลายมาเป็นศัพท์ทั่วไป แต่เราต้องไม่ลืมว่า ถ้าไม่มี 11 กันยา บรรดาบริษัทมหาชนก็คงจะไม่มีวัน แลเห็นผลกำไรทางธุรกิจของพวกเขาพุ่งกระฉูดจากการไหลทะลักเข้ามาของจำนวนเงินกว่าพันล้านดอลล่า ผ่านธุรกิจการค้าอาวุธ ข้อเสนอรักษาความปลอดภัย และสัมปทานน้ำมัน อย่างที่เกิดขึ้น
กระนั้น หากว่า บริษัทมหาชนอเมริกัน จะหงายการ์ด Terror สร้างความหวาดกลัวขึ้นมา ด้วยความต้องการต่อยอดความละโมบ และหล่อเลี้ยงอาชญากรรมในรูปแบบของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมต่อไป มันก็มิใช่แนวคิดที่เพิ่งจะถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด ทว่า มันก็เหมือนกับยุคล่าอาณานิคม พวกเขาเพียงแต่หยิบการ์ดใบใหม่ขึ้นมา ในกลวิธีการเล่นแบบเดิม เพื่อให้เหมาะสมกับเป้าหมายใหม่ของพวกเขาต่างหาก
ณ จุดนี้เองในประวัติศาสตร์ ที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งอีกครั้งหนึ่ง กับวิธีการที่ มารร้ายอย่าง ลัทธิวะฮาบี เข้ามามีบทบาทในศาสนาอิสลามและสังคมโลก เราต้องศึกษาถึงที่มาที่ไป และภายใต้อิทธิพลของผู้ใดกัน ที่ทำให้ลัทธิแปลกปลอมนี้มีชีวิต และสามารถหายใจต่อไปได้เรื่อยๆ…..แน่นอนว่าจะต้อง หนีไม่พ้น เงาอิทธิพลของจักรวรรดินิยม ซึ่งซุ่มซ่อนอยู่…
มันมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า ISIS หรือ ดาวรุ่งหน้าใหม่ของวงการแสดงการก่อการร้ายโลก ตามนโยบายสร้างความหวาดกลัวสมัยใหม่นี้ หาได้มีความเกี่ยวข้องอันใดกับศาสนาอิสลามไม่ ! ไม่มีแม้แต่เพียงสักนิดเดียว!
ความเป็นจริง ทั้งท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) และท่านอิมามอะลี (อ) เองก็ได้เคยเตือนเรา ถึงการปรากฏขึ้นของ มารผจญสีดำ (สัญลักษณ์ ISIS)
ในอัลฟีตาน ตำรารวบรวมวจนะ(ฮาดิษ)ของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) อันเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในยุคสุดท้าย โดยนักปราชญ์เรืองนาม Nuyam bin Hammad ในปี ฮ.ศ. 229 ได้บันทึกวจนะหนึ่งที่รายงานโดยท่านอิมามอะลี (อฺ) จากท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) กล่าวว่า:
“หากท่านเห็น ธงสีดำ (ผงาดขึ้น) ดังนั้นจงยืนหยัดและอย่าได้ขยับมือและเท้าของท่านเถิด จะมีผู้คนปรากฏขึ้น พวกเขาอ่อนแอ และ ไร้ความสามารถ หัวใจของพวกเขาเปรียบดั่งก้อนอิฐซึ่งทำจากเหล็ก (หยาบกระด้าง) พวกเขาคือผู้คนแห่งรัฐ (ผู้คนของ Al Dawla) พวกเขาไม่มีสัจจะ และไม่รักษาสนธิสัญญา พวกเขาจะเรียกร้องสู่สัจธรรม ทว่าพวกเขามิใช่ผู้ที่มาจากมัน ชื่อพวกเขาเป็นฉายา (เช่น อบูมูฮัมหมัด) และนามสกุลของพวกเขาเป็นชื่อเมือง (เช่น Al Halabi) และผมของพวกเขาถูกปล่อย(ยาว) เหมือนผู้หญิง (ดังนั้น) จงละทิ้งพวกเขาเถิด ท้ายที่สุดพวกเขาจะสู้รบกันเอง เมื่อนั้น อัลลอฮฺ (ซ.บ.)จะนำพาสัจธรรมมาจากผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์”
อีกบทหนึ่ง ซึ่งท่านอิมามอะลี (อ) ได้แนะนำถึง วิถีแห่งสัจธรรม เมื่อประชาชาติต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างศาสนา หรือเมื่อสังคมต้องพบกับความตึงเครียดทางการเมือง มีความรุนแรงและสับสน ความว่า
“หากว่าท่านกำลังต่อต้านมุสลิมกลุ่มหนึ่ง และกลุ่มของผู้ไม่ศรัทธาก็ต่อต้านพวกเขาเช่นกัน ดังนั้นพึงสังวรเถิดว่า ท่านกำลังหลอมตัวท่านเองกับกลุ่มผู้ไม่ศรัทธาและทำการต่อต้านพี่น้องของพวกท่านเอง ในกรณีเช่นนี้ จงรู้ไว้เถิดว่า แน่นอนมันได้เกิดสิ่งผิดปกติกับทัศนะของท่านแล้ว หากท่านอยากรู้ว่ามุสลิมที่มีความสัจจริงที่สุดอยู่ ณ แห่งหนใด ดังนั้นจงมองหาเถิดว่า ลูกศร (ปลายกระบอกปืน)ของพวกผู้ไม่ศรัทธาเพ่งเล็งไปยังทิศทางใด”
ในบทนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้อ้างอิงถึง เหตุการณ์ที่ซึ่งบรรดามุสลิมจะรบราฆ่าฟันกันเอง ด้วยการช่วยเหลือจากพันธมิตรซึ่งมิใช่ชาวมุสลิม หากไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน เรายังสามารถนำวจนะดังกล่าวมาเทียบเคียงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ่นในยุคปัจจุบัน เนื่องมาจากความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ว่า อำนาจตะวันตกสมรู้ร่วมคิดกับผู้ก่อเหตุความไม่สงบภายใต้นามของอิสลาม ในการก่อการร้าย และเข่นฆ่าชาวมุสลิม แม้พวกเขาจะอ้างถึงความต้องการที่จะทำลายพวกผู้ก่อการร้าย แต่สิ่งที่พวกเขาทำ คือได้ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านงบประมาณ และอาวุธ แถมยังคอยฝึกยุทธวิธีก่อเหตุความรุนแรงให้แก่พวกผู้ก่อการร้ายอีกด้วย
ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในตะวันออกกลางปัจจุบัน เราพบเสียงสะท้อนจากวจนะของท่านอิมามอะลี (อ) เช่นนั้น ก้องกังวานอยู่ระหว่างชุมชนมุสลิม และผู้นำศาสนา อาทิเช่น นักการศาสนาผู้มีชื่อเสียง อย่าง เลขาธิการพรรคฮิซบุลลอฮ์ ซัยยิดฮาซัน นัศรุลลอฮ์ และ ผู้นำสูงสุดรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน อยาตุลลอฮฺ ซัยยิดอะลี คาเมเนอี ซึ่งทุกๆการตัดสินใจ และทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของทั้งสอง รวมไปถึงนโยบายต่างๆของพวกเขา ก็ถูกร่างอยู่ภายใต้กรอบของข้อศาสนาดั่งวจนะที่ว่าไว้
และแม้ผู้อ่านจะเป็นผู้ที่มีความเห็นมิชอบกับนักการศาสนาทั้งสอง ทว่าตรงนี้มิใช่ประเด็น เพราะการทำความเข้าใจถึงนโยบายทางการเมือง และจุดยืนของพวกเขาต่อคู่อริต่างหาก คือ ประเด็นสำคัญ และสมควรยิ่งจะนำมาขบคิด
ISIS เป็นชื่อที่ถูกนำมาขายภายใต้ ขบวนการต่อสู้อิสลาม ทั้งๆที่อุดมการณ์ของ ISIS และสิ่งที่พวกเขาแสดงออก กลับตรงข้ามกับหลักคำสอนของอิสลามอย่างสิ้นเชิง มันเป็นความไม่ลงรอยที่เราจำเป็นต้องศึกษาและตั้งข้อสังเกต อันมีที่ไปที่มาจากส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การก่อตั้งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และความละโมบของผู้มีส่วนได้เสีย
แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างความเชื่อและศาสนาจะปรากฏอยู่ตามหน้าประวัติศาสตร์ยาวนานนับศตวรรษ และแม้ว่าประชาชาติมุสลิมจะมีการโต้เถียงกันถึงกรณีที่ว่า นิกายหรือสำนักคิดของฝ่ายใดถูกต้องที่สุด โดยพิจารณาจากข้อกฎหมาย บทบัญญัติ และหลักจริยธรรม ทว่าบรรดานักการศาสนาต่างก็รับรู้ และแสดงออกทางความเชื่อเหมือนกันอย่างหนึ่งที่ว่า มนุษย์อาจมีความผิดพลาด แต่อิสลามนั้นสมบูรณ์ ดังนี้ ความขัดแย้งระหว่างนิกายอิสลามดั้งเดิม จึงถือกำเนิดมาจากความต้องการที่จะพิสูจน์หาหนทางแห่งพระเจ้าที่สมบูรณ์ที่สุด และมิได้เป็นไปเพื่อลบล้างความเชื่อของผู้คนอื่นด้วยความรุนแรง และไร้ความปราณี
ย้อนกลับไปในยุคของท่านศาสดาแต่ละองค์ ตั้งแต่ ศาสดาอาดัม,โนอาห์, อิบราฮิม, อีซา (พระเยซู), ยะฮ์ยา และศาสดามูฮัมหมัด เราจะเห็นได้ว่า ทุกท่านล้วนมีภารกิจร่วมกันเป็นหนึ่ง คือ การนำพามนุษย์เข้าสู่การเคารพภักดีคำสั่งของพระเจ้า ความเมตตากรุณาปราณีของพระองค์ที่มีต่อสิ่งถูกสร้าง รวมไปถึงการนำพามนุษย์เข้าพบกับความสงบสุขแห่งจิตวิญญาณ ถึงแม้ว่า บรรดาศาสดาเหล่านั้นจะถูกส่งลงมาในยุคสมัยและยังประชาชาติที่แตกต่างกันในหน้าประวัติศาสตร์ของเรา ทว่าสาส์นสำคัญของพวกเขากลับเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นสัจธรรมที่มิมีวันดับสลาย และมิอาจเปลี่ยนแปลงได้ ตามพระประสงค์ของพระเจ้า
นับจากเสียงร้องขออภัยโทษของศาสดาอดัม ยันลมหายใจสุดท้ายของชีวิตท่านศาสดามูฮัมหมัด สาส์นจากพระเจ้าสู่มนุษยชาติมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น คือ อิสลาม
ขณะที่ “อิสลาม” ตีความหมายครอบคลุมถึง วิถีแห่งผู้ยอมจำนน และจะว่าให้ถูก มันคือ เสรีภาพที่แท้จริง เพราะอิสระชน คือ บุคคลผู้ซึ่งไม่ยอมมอบหมายตนและทุกสิ่งอย่างที่เข้ามี ทั้งทางกายและใจไว้ ณ ที่อื่นใด เว้นเสียแต่ ณ เอกองค์ผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งแต่เพียงผู้เดียว
ดังนั้น วิถีแห่งผู้ยอมจำนนแบบอิสลาม จึงมิได้ เริ่มต้นที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด เพียงแต่มันถูกทำให้สมบูรณ์ที่สุดในยุคสมัยของท่าน สาส์นสุดท้ายแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่ท่านศาสดานำมาป่าวประกาศนั้น เป็นดั่งเสียงเรียกสุดท้ายก่อนพระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า คือความเมตตาและทางนำสุดท้ายของมวลมนุษยชาติให้ยึดถือ มันคือ แสงสุดท้ายแห่งความหวังก่อนที่ความชั่วร้ายจะครอบงำ จนกระทั่งโลกแห่งวัตถุจะไม่หลงเหลือร่องรอยแห่งสัจธรรมความจริง
อิสลามจะถูกปกปักษ์รักษาไว้เช่นนี้ นับจากวันแรกจวบจนวันสุดท้าย มันมีเพียง ‘เรา’ ประชาชาติมุสลิมต่างหาก ที่เขียนอิสลามให้แตกต่างไปจากเดิม ในความต้องการครอบครองศาสนา และสร้างแบรนด์ให้แก่อำนาจของพระเจ้า และเป็นเราอีกนั่นแหละ ที่ละเลยบทบัญญัติ ทั้งยังคอยวางแผนเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมของพระองค์เพื่อรับใช้กิเลศ ตัณหาและความใคร่ในสิ่งซึ่งเป็นวัตถุทั้งหลาย
ลัทธิประหลาดวะฮาบี
ลัทธิวะฮาบีมิได้มีค่ามากไปกว่า…ความเชื่อหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้น ที่เต็มไปด้วยความบิดเบือน คอยสร้างความแตกแยก และเป็นภัยต่อความสงบสุขของประชาคมโลก ซึ่งได้ถูกทำให้แพร่ขยายไปทั่วโลกอิสลามในปัจจุบันไม่ต่างจากเนื้อร้าย หรือ ก้อนมะเร็ง และไม่เพียงเท่านั้น ความน่ารังเกียจของลัทธิแปลกปลอมนี้ยังได้ลุกลามไปคุมคามทุกๆศาสนาอีกด้วย
ลัทธิวะฮาบีและผลผลิตของมัน ทั้งขบวนการก่อการร้ายอัลกออิดะห์, กองกำลัง ISIS, และโบโกฮารัม (Boko Haram) แท้จริงแล้วเป็นเพียงปรากฏการณ์ของขบวนการแห่งผู้ต่อต้านหลักคำสอนของศาสนาและศีลธรรมอย่างสุดโต่ง โดยถือกำเนิดมาด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายความเชื่อและศีลธรรมอันดีงามทั้งหมดที่เคยมีมาก่อน
ลัทธิวะฮาบีมิได้มาจากอิสลาม และแน่นอนอิสลามย่อมมิใช่สิ่งที่ลัทธิวะฮาบีนำเสนอ-มันคงเป็นความโง่เขลาเบาปัญญาอย่างถึงที่สุด หากจะเชื่อว่า อิสลามสนับสนุนอาชญากรรมสงคราม การรุกราน การปล้นสะดม และความโหดร้ายป่าเถื่อน เช่นที่สาวกจากลัทธิวะฮาบีทั้งหลายได้กระทำ
เพราะอิสลามที่แท้จริงต่อต้านอำนาจเผด็จการ และความอยุติธรรมทุกรูปแบบ วิถีและคำสอนแห่งอิสลามเป็นศัตรูกับ ความเท็จ ความละโมบ ความสุดโต่ง และความคลั่งไคล้บำเพ็ญตบะ อิสลามไม่เป็นมิตร กับอุดมการณ์ใดก็ตามที่ไม่สอดคล้องกับความดีงาม ความยุติธรรม ความเมตตากรุณาปราณี
ด้วยประการฉะนี้ ลัทธิวะฮาบีตักฟีรีสุดโต่ง จึงเป็นปฏิปักษ์กับหลักจริยธรรมของอิสลามอย่างไม่ต้องสงสัย เฉกเช่นที่คนจำนวนมากได้อธิบายไว้ – “อิสลาม” ย่อมมิใช่สิ่งเดียวกันกับ “วะฮาบี”
และความเป็นจริง…วะฮาบี เป็นเพียงความเชื่อที่ผิดพลาด ซึ่งถือกำเนิดมาจากการแสดงออกทางความเชื่อของชายผู้หนึ่ง ซึ่งใฝ่หาอำนาจทางการเมือง มูฮำหมัด อิบนิ อับดุล วะฮาบ ผู้ซึ่งได้รับการเลือกสรรจากจักรวรรดิอังกฤษให้ทำการบิดเบือน และบ่อนทำลายเนื้อแท้ของศาสนาอิสลาม อีกทั้งสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นระหว่างประชาชาติมุสลิม
ลัทธิวะฮาบีสถาปนาแผ่นดินและก่อร่างสร้างจิตวิญญาณของมันครั้งแรกที่เมือง ฮิญาซ หรือที่รู้จักกันในนาม ซาอุดิอาระเบีย ในปัจจุบัน หลังจากที่ ครอบครัว อัลซาอูด (กษัตริย์ประจำราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน) มองเห็นโอกาสทองในการกอบโกยอำนาจ ขึ้นเป็นใหญ่ จากคำสอนที่แฝงไปด้วยความรุนแรง สุดโต่งของลัทธินี้
สองพันธมิตรโสโครก ด้วยกำลังสนับสนุนจากจักรวรรดิอังกฤษ มหาอำนาจนักล่าอาณานิคม ผนวกพลังกันใช้อิทธิพลทางการเมือง และความเชื่อทางศาสนาเป็นเครื่องมือ จงใจลบชื่อแผ่นดินแห่งท่านศาสดา ‘ฮิญาซ’ และสถาปนามันขึ้นมาใหม่ภายใต้นาม ซาอุดิอาระเบีย คอยกัดกินผู้คนและความสงบสุขของบ้านเมือง เป็นเวลาเนิ่นนานกว่าหลายศตวรรษที่ความมืดมนของเนื้อร้ายก้อนนี้ได้แผ่ขยายครอบคลุมน่านฟ้าอาหรับ และผาลทำลายความเจริญรุ่งเรืองแห่งประชาชาติมุสลิม
ไม่เพียงเท่านั้น ลัทธิวะฮาบียังได้สร้างผลผลิตที่น่ารังเกียจออกมารังควานประชาคมโลกอีก ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้ก่อการร้ายไร้มนุษยธรรม และขบวนการก่อการร้ายสุดโต่งภายใต้นามแห่งศาสนาอิสลาม บรรดาลูกสมุนและสาวก ที่ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากสัตว์เดรัจฉานหรืออาจจะเลวร้ายไปกว่า ซึ่งได้รับการฟูมฟักเลี้ยงดูอยู่ภายใต้ อิทธิพลของซาอุดิอาระเบียและเงินจำนวนพันล้านปิโตรดอลลาร์ (Petrodollar)ของมัน
และอันที่จริง ผลผลิตแห่งความโสโครกเหล่านี้มิใช่สิ่งใดเลย นอกจาก ‘อาวุธ’ ที่มหาอำนาจนำมาใช้ในฐานะเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้แก่การเข้าไปแทรกแซงทางการทหารและการเมืองของชาติที่ร่ำรวยทรัพยากรต่างๆจากทั่วทุกมุมโลกเพียงเท่านั้น
แม้แต่ มหาอำนาจ ซึ่งเข้าใจว่าตนมีไหวพริบ เหนือชั้นกว่า โดยได้สร้างเครือข่ายความหวาดกลัว (ผู้ก่อการร้ายในนามอิสลาม) ไว้ทั่วโลก ในวัตถุประสงค์เพื่อยึดครองอำนาจและเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ชนชั้นผู้ปกครองของตน ในท้ายที่สุดก็ยังต้องสูญเสียการควบคุมให้กับขบวนการเด็กอมมือ ISIS และพี่น้องของมัน ด้วยความเกลียดชังและความโกรธ พวกเขาประกาศแยกตัวออก และไม่ต้องการถูกผูกมัดด้วยโซ่ตรวนของบุพการี ผู้ให้กำเนิดพวกเขาอีกต่อไป
ความอุบาทว์ และความโหดร้ายป่าเถื่อนของ ISIS คือสิ่งตกทอด และเป็นดั่งศูนย์กลางของลัทธิวะฮาบี สลาฟีย์ ตักฟีรี และแม้ว่าโลกจะรู้ดีถึงแหล่งที่มาของเหตุก่อการร้ายต่างๆ ทว่ามันกลับไม่มีอำนาจสากลใด ลุกขึ้นต่อกรกับพวกเขาอย่างเป็นรูปธรรม และที่เลวร้ายไปกว่านั้น..โลกกลับเลือกที่จะเกลียดชังเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งถูกกำหนดไว้แล้วจากผลพวงของมัน นั่นก็คือ ศาสนาอิสลาม และประชาชาติมุสลิมผู้บริสุทธิ์
เดือน กรกฎาคม ปี 2013 รัฐสภายุโรปได้ระบุว่า ลัทธิวะฮาบี คือแหล่งเพาะพันธุ์หลักของขบวนการก่อการร้ายโลก ส่งผลทำให้มุฟตีย์ หรือนักการศาสนาชั้นสูงของซาอุดิอาระเบีย (ซึ่งเป็นวะฮาบี) จำเป็นต้องออกมาแสดงทีท่าประณามกองกำลัง ISIS อย่างแข็งขัน ทั้งยังยืนยันอย่างหน้าตาเฉยอีกด้วยว่า “แนวคิดสุดโต่ง หัวรุนแรง และการก่อการร้าย มิใช่แนวคิดที่มาจากอิสลาม” …สงสัยว่า ท่านมุฟตีย์ผู้ยิ่งใหญ่คงจะลืมประวัติศาสตร์ความเป็นมาของลัทธิวะฮาบีของตน และสิ่งที่มันนำเสนอไปแล้วกระมัง…
รากเหง้าลัทธิแห่งการหลั่งเลือด
ระหว่างศตวรรษที่ 18 ขบวนการฟื้นฟูอิสลาม ได้ผลิดอกออกผลอยู่ในหลายๆภาคส่วนของโลกอิสลาม อันเนื่องมาจากจักรวรรดิมุสลิมเริ่มสูญเสียการควบคุมเหนืออาณาเขตบริเวณรอบนอก ขณะเดียวกันฝั่งตะวันตก ก็กำลังริเริ่มแยกอิทธิพลของคริสตจักร ออกจากการมีบทบาททางการเมือง ในยุคสมัยนั้นประชาชนมีความเชื่อว่า รัฐเซคคิวล่าห์ ลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นการคิดค้นใหม่ (innovation) และเป็นสิ่งใหม่ที่แฝงไปด้วยความรุนแรง ไม่ต่างไปจากปรากฏการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นไปพร้อมกับมัน นั่นคือ การปฏิวัติเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ในยุโรป
ไม่มีวัฒนธรรมอื่นใดมองเห็นว่า ศาสนาเป็นเพียงกิจกรรมส่วนตัวของมนุษย์เพียงอย่างเดียว โดยถือว่าศาสนาไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางโลกและสังคม อย่างเช่นเรื่องของการเมือง เป็นตัน ดังนี้สำหรับชาวมุสลิม การกระจายตัวของอิทธิพลทางการเมืองในสังคม จึงจัดได้ว่าเป็นปัญหาศาสนาเช่นเดียวกัน เนื่องจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้มอบหมายภารกิจที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งแก่ชาวมุสลิม เช่น การสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็นธรรม ในความหมายที่ว่า ทุกๆคนในสังคมจะต้องได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และด้วยความเคารพต่อกันและกัน เช่นนี้ความมั่นคงทางการเมืองของประชาชาติมุสลิม จึงขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ใจและการปฏิบัติตนให้อยู่ในครรลองของศีลธรรมและศาสนาของผู้คน หากคนยากไร้ถูกกดขี่ หรือ ผู้ขัดสนถูกกระทำการละเมิดในสิทธิอันชอบธรรมของเขา หรือหน่วยงานรัฐ กระทำการทุจริต อิสลามชี้แนะว่า นี่คือปัญหาของศาสนา ดังนั้นมันจึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกๆคนที่จะต้องลุกขึ้นทำอะไรสักอย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจนี้ และนำพาสังคมกลับสู่ความปกติสุข
ด้วยประการฉะนี้เอง นักปฏิรูป และนักฟื้นฟูในยุคศตวรรษที่ 18 ที่มีความเชื่อว่ามุสลิมควรได้รับคืนอิทธิพล และศักดิ์ศรีที่หายไป จึงควรย้อนกลับไปพึ่งพิงพื้นฐานแห่งความเชื่อเดิมของศาสนาอิสลาม และยึดมั่นในพระบัญญัติของพระเจ้าอย่างแท้จริง มากกว่าการไปยึดติดอยู่กับเป้าหมายที่เป็นวัตถุ ที่ซึ่งหมายปองอำนาจทางการเมืองเพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยเท่านั้น ดังเช่นสิ่งที่สาวกแห่งลัทธิวะฮาบีปรารถนา
รากฐานของปรัชญาศาสนาอิสลามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสงคราม อันที่จริงแล้วสงครามต่างๆที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์อิสลามไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกับการรุกราน หรือการหลั่งเลือด ทว่าอยู่บนพื้นฐานแห่งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ การปกปักษ์รักษาความชอบธรรม และเป็นไปเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชาติ ทั้งทางด้านจิตวิญญาณ และทางโลก ปรัชญาศาสนาอิสลามมีเจตนาต้องการปรับทิศทางของสังคมเพื่อความสงบสุขของผู้คน โดยมิได้มีเรื่องของการหลั่งเลือดเข้ามาเอี่ยวด้วย
ทัศนะที่ว่าให้ย้อนกลับไปสู้รากฐานเดิมของศาสนาอิสลามที่ท่านศาสดามุฮัมหมัดนำมา ในยุคที่ประชาชาติมุสลิมได้เหห่างออกจากหนทาง แน่นอนคือ ความคิดที่สมควรแก่การยกย่อง กระนั้นวะฮาบีก็คงจะทำการทรยศทัศนะคติเช่นนี้อยู่วันยันค่ำ ด้วยการบิดเบือนเสาหลักที่สูงสุดของศาสนาอิสลาม จัดการเปลี่ยนแปลงวิธีตีความหมายพระคัมภีร์ (อัลกุรอาน) และบทบัญญัติต่างๆ เพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจ และกดขี่ชนผู้น้อย
ความเข้าใจ และการตีความอิสลาม ตามที่ลัทธิวะฮาบีนำเสนอ ส่งผลกระทบมากมายต่อสังคมและปัจเจกบุคคล เช่น ต่อบรรดาสตรี เป็นต้น ผู้ให้กำเนิดลัทธิวะฮาบี อิบนิ อับดุล วะฮาบ สร้างแนวคิดที่กระทำกับสตรีเยี่ยงวัตถุ พวกเขาส่งเสริมให้มี การกีดกันโอกาสทางการศึกษาของสตรี และกีดกันเสรีภาพในรูปลักษณะเช่นอื่น ซึ่งบิดเบือนกับความเป็นจริงของจริยธรรมอิสลามอันสูงส่ง และแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบทบัญญัติที่แท้จริงของพระเจ้า รวมไปถึงวิถีชีวิตแห่งวีรสตรีผู้ประเสริฐ ซึ่งได้รับการยกย่องอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม เช่น ท่านหญิงมัรยัม ท่านหญิงอาซียะฮ์ ท่านหญิงคอดียะฮ์ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ และท่านหญิงซัยหนับ เป็นต้น
อิสลามมอบสิทธิซึ่งชอบธรรมที่สุดแก่สตรี แต่ลัทธิวะฮาบีกลับบิดเบือนและกีดกันสิทธิเหล่านั้นอย่างโง่เขลา อิสลามรับประกันสถานะของสตรีตามพระประสงค์ของพระเจ้า โดยได้ให้เกียรติแก่สตรีเท่าเทียมกับบุรุษในการสร้างสรรค์ของพระองค์ พระเจ้าให้เกียรติกับสตรีเพศ ด้วยการมอบคุณค่าแก่พวกเธอ ผ่านความสัมพันธ์กับพระองค์เอง มิใช่ในความสัมพันธ์กับบุรุษเพศ หรือ สภาพสังคมใดๆก็ตาม ด้วยประการฉะนี้ หญิงที่มีเกียรติในทัศนะของอิสลาม คือ หญิงที่มีสถานะทางจิตวิญญาณและสติปัญญาสูงส่ง หรือ มี ‘ตักวา’ (ความยำเกรงต่อพระเจ้า) ในภาษาเชิงวิชาการอิสลาม ดังนี้ชายและหญิง จึงเท่าเทียมกัน ทว่าอาจมีภาระหน้าที่ รับผิดชอบที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม อิสลามสั่งว่า เมื่อสมรสแล้ว ฝ่ายชายมีหน้าที่เลี้ยงดู และให้ความปลอดภัยแก่ฝ่ายหญิง โดยเฉพาะในด้านปัจจัยครองชีพ และผู้หญิงก็มีสิทธิ์ในการเลือกสมรส หรือ หย่าขาดจากสามี หรือ ทำงานหาเลี้ยงตนเอง หรือครอบครัวได้ ภายใต้ข้อกฎหมายและหลักจริยธรรม อิสลามไม่อนุญาตให้มีการซื้อ-ขาย หรือกระทำการกดขี่ต่อสตรีเพศ หากเราลองพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วน อันที่จริงแล้วอิสลามนำเสนอ เสรีภาพให้แก่ผู้หญิงมากเสียยิ่งกว่า สิ่งที่ตะวันตกได้นำเสนอเสียอีก ทว่ามันคือการบิดเบือนของสังคมและวัฒนธรรมต่างหาก ที่ลิดรอนสิทธิเหล่านี้จากสตรีเพศ มิใช่อิสลาม
สิทธิสตรีในอัลกุรอานมีว่าไว้อย่างสมบูรณ์และชัดเจน ซึ่งความเป็นจริงนี้จะไม่มีวันถูกทำให้ดับสลาย แม้ว่าบรรดาบุรุษผู้กดขี่ใดๆจะพยายามบิดเบือนมันก็ตาม
อิบนิ อับดุล วะฮาบ มีความต้องการจะนำพาอิสลามย้อนกลับไปสู่คำสอนดั้งเดิม ก่อนการถือกำเนิดขึ้นของ สำนักคิดต่างๆ และเพื่อไปสู่ความสำเร็จ เขาได้ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับ สำนักคิดอื่นๆอย่างสุดโต่ง เช่น สำนักคิดซูฟี, ชีอะฮ์, และอะฮลิซซุนนะฮ์ และทำการประณามกล่าวหา พวกเขาเหล่านั้นว่า ได้กระทำการบิดเบือน และสร้างอุตริกรรม (บิดอะฮ์) ขึ้นมาในศาสนา อับดุล วะฮาบยังได้ออกเผยแพร่ความเชื่อของเขา โดยได้ชวนเชื่อให้ประชาชาติมุสลิม ปฏิเสธบรรดาอุลามา (นักปราชญ์/นักวิชาการ) และการอรรถาธิบายศาสนาของพวกเขา ที่พัฒนามาจากการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย วจนะของท่านศาสดา และดำรัสแห่งพระเจ้า อยู่บนองค์ประกอบของความรู้ หลักฐานทางศาสนาและสติปัญญากว่าหลายร้อยศตวรรษ เขากำชับให้ประชาชน เมินเฉยใส่บรรดาผู้รู้ และหันมาทำความเข้าใจศาสนาและทำการตีความพระคัมภีร์ด้วยตัวเอง หรือภายใต้การชี้นำของเขาเท่านั้น
จนแล้วจนรอด อิบนิ อับดุลวะฮาบ ก็ได้พบกับผู้มีพระคุณ นั่นคือ มูฮำหมัด อิบนิ ซาอูด หัวหน้ากองโจรทะเลทรายนัจดฺ ผู้ซึ่งยอมรับแนวความคิดของเขา อิบนิซาอูด มองเห็นโอกาสทองจากความเชื่อที่ปฏิเสธผู้รู้ และต่อต้านการนับถือศาสนาโดยใช้สติปัญญาของลัทธิวะฮาบี โดยเขาได้ใช้มันเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองกำลังทหารของเขา เพื่อเข้าปล้นทรัพย์ และยึดดินแดนต่างๆ จวบจนในปัจจุบัน วงศ์วาน อัล-ซะอูด ก็ยังคงเดินซ้ำรอยเท้าสีเลือดรอยเดิมของพวกเขา
อิบนิ อับดุลวะฮาบ อ้างว่า พระคัมภีร์อัลกุรอานคือ เสาหลักของอุดมการณ์ของเขา โดยบอกว่า ความเชื่อของเขาเท่านั้นที่ถูกต้องที่สุด และปฏิเสธสำนักคิดอื่นๆทั้งหมดอย่างสุดโต่ง ทว่าในการนี้ เขาได้ทำการบิดเบือนพระดำรัสแห่งอัลกุรอานอย่างรุนแรงเป็นที่สุด ซึ่งพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า “ไม่มีการบังคับใด (ให้นับถือ) ในศาสนา” (อัลกุรอาน บทที่ 2:256)
อิสลามกำชับให้มุสลิมเชื่อศรัทธาในสิ่งที่บรรดาศาสดาผู้ยิ่งใหญ่นำมา (อัลกุรอาน บทที่ 3:84) ขณะที่การมีอยู่ของศาสนาหลายๆศาสนาก่อนหน้าอิสลามของท่านศาสดามุฮัมหมัดนั้น เป็นไปโดยพระประสงค์ของพระเจ้า ตามที่อัลกุรอานได้ตรัสไว้ ความว่า “สำหรับแต่ละประชาชาติในหมู่พวกเจ้านั้น เราได้ให้มีบทบัญญัติและแนวทางไว้ และหากอัลลอฮ์ทรงประสงค์แล้วแน่นอนก็ทรงให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติเดียวกันแล้ว แต่ทว่าเพื่อที่จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่พระองค์ได้ประทานแก่พวกเจ้า” (อัลกุรอานบทที่ 5:48) เช่นนี้ ชาวมุสลิม จึงไม่เคย บริภาษผู้อื่นอย่างสุดโต่ง ด้วยความรุนแรง หรือ ตักฟีร (ตัดสิน) ผู้อื่นว่าไร้ศรัทธา จนกระทั่งลัทธิวะฮาบี ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งมันได้ทำการประณาม ตีตรา ผู้บริสุทธิ์จากศาสนาอื่นๆ หรือแม้แต่มุสลิมด้วยกันเองที่มาจากสำนักคิดอื่น ว่ามิใช่ ผู้ศรัทธา และตัดสินว่าสามารถทำการสังหารได้อย่างไร้ความปราณี
วันวานผ่านพ้น และลัทธิวะฮาบีก็ยิ่งทวีความรุนแรงหนักเข้าไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการจากไปของ อับดุล วะฮาบ เมื่ออัล-ซะอูดได้ใช้แนวความเชื่อของลัทธิวะฮาบี สถาปนาราชอาณาจักรของพวกเขา อับดุล อัล อาซิซ บุตรของอิบนิ ซะอูด และรัชทายาท ใช้แนวคิดวะฮาบี ตัดสินผู้นับถือศาสนาจากสำนักคิดและศาสนาอื่นๆ สร้างความชอบธรรมให้กับเขาในการปลิดชีวิตของบรรดาผู้ต่อต้านการขึ้นมามีอำนาจและการกดขี่ของเขา
ในปี 1801 เขาได้ยกกองกำลังเข้ารุกรานเมืองกัรบาลา แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ในอิรัก สถานที่ฝังเรือนร่างอันบริสุทธิ์ ของท่านอิมามฮูเซน (หลานรักท่านศาสดา) และสังหารมุสลิมชาวชีอะฮ จำนวนนับพันคน รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก ต่อมาไม่นาน ในปี ค.ศ. 1803 ด้วยความหวาดกลัวและตื่นตระหนกของพลเมืองที่อาศัยอยู่ในนครเมกกะ จำต้องยอมจำนน และมอบอำนาจการปกครองให้พวกเขาขึ้นเป็นผู้นำซาอุดีอาระเบีย ด้วยเกรงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน หากมิกระทำเช่นนั้น
เราคงจำไม่ได้เสียแล้ว ถึงเหตุการณ์ที่เมืองศักดิ์สิทธิ์ มะฮด์ดีนะฮ์ถูกยึดครอง โดยอำนาจเผด็จการและกองกำลังโหดร้ายป่าเถื่อน อัล-ซะอูด เข้าบุกค้นโรงเรียน มัสยิด และที่อยู่อาศัย กองทัพของอัล-ซาอูด กระทำการสังหารชีวิตผู้บริสุทธิ์กว่าหลายร้อยคน ทั้งเด็ก สตรี คนชราถูกฆาตกรรมอย่างไร้ความปราณี และปราศจากความสงสารแม้อ้อนวอนขอชีวิต ขณะที่บรรดานักการศาสนาวิงวอนไม่ให้กองทัพซาอูดทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม ทว่า อัลซาอูด กลับเพิกเฉย เดินหน้าปล้นสะดมทรัพย์สินแห่งมหานคร อีกทั้งยังจุดไฟเผาห้องสมุดของเมืองมะฮดีนะห์ที่ศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างไร้ยางอาย อัลซาอูด จัดการกับเมืองมะฮดีนะฮ์ ให้เป็นตัวอย่างแก่เมืองอื่นๆ เพราะมะฮดีนะฮ์ คือมหานครในประวัติศาสตร์ซึ่งทำการต้อนรับขับสู้ท่านศาสดาแห่งอิสลามด้วยความยินดี พวกเขาทำลายลงย่อยยับ ซึ่งมหานครแห่งแรกที่มัสยิดถูกสร้างขึ้น บัดนี้อัลซาอูดและวงศ์วานได้ละเลงแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยคราบเลือด
ขณะที่ร่องรอยแห่งท่านศาสดาองค์สุดท้ายยังคงชัดเจนอยู่ อัลซะอูดได้เติมแผ่นดินให้เต็มไปด้วยเสียงร่ำไห้ และความหวาดกลัว ทว่าความรุนแรงต่างๆได้ถูกลบเลือนออกจากหน้าหนังสือประวัติศาสตร์ เรื่องราวแห่งเลือด แผนการทรยศต่ออิสลาม และความป่าเถื่อน ได้ถูกกลืนกินให้หายไป ด้วยน้ำมือของวงศ์วานแห่งซะอูดในความพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่
อย่างไรก็ดี เมื่อปี 1815 พวกออตโตมานส่งมูฮัมหมัดอาลีปาชา ผู้ว่าการอียิปต์ เข้าบดขยี้กองกำลังวะฮาบี และทำลายเมืองหลวงของพวกเขา ทว่าพวกวะฮาบีก็กลับขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1เมื่อผู้นำประเทศซาอุดีอาระเบียอีกคนหนึ่งคือ อับดุล อาซิซ ทำการผลักดันรัฐใหม่และเริ่มสร้างอาณาจักรขนาดใหญ่ให้กับตัวเองในตะวันออกกลาง ด้วยกองทัพเบดูอินของเขาที่รู้จักกันในนาม “อิควาน” -กลุ่มภราดรภาพมุสลิม
เราสามารถมองเห็นรากเหง้าของ ISIS จากการถือกำเนิดขึ้นของกลุ่มอิควาน เพื่อทำลายระบบชนเผ่า และตัดขาดพวกเขาออกจากชีวิตเร่ร่อน ซึ่งขัดกับหลักศาสนาอิสลาม นักการศาสนาประจำลัทธิวะฮาบีจัดการให้พวกเบดูอิน อาศัยอยู่ในเขต โอะเอ-ซีส (oases) ที่ซึ่งพวกเขาเรียนรู้งานเกษตรกรรมและงานฝีมือสำหรับใช้ในชีวิตประจำ และในขณะเดียวกันก็ได้รับการปลูกฝังแนวคิดศาสนาอิสลาม ฉบับลัทธิวะฮาบี
พวกเบดูอินถูกส่งเสริมให้ทำการต่อสู้ในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมเดิมของพวกเขา พวกเขาถูกเสี้ยมสอนให้ทำการปล้นสะดม และโจมตีผู้อื่นตามแบบฉบับของการญิฮาดในแนวทางวะฮาบี ท้ายที่สุด นักรบเบดูอินเหล่านี้ ก็ได้ผันเปลี่ยนกลายเป็นกลุ่มคนที่มีความรุนแรงและสุดโต่ง ไม่เหมือนกับครั้งก่อน ที่ซึ่งชาวเบดูอินจะไม่โจมตีคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ต่อสู้ ในการจู่โจมแบบเก่า ทว่า ณ บัดนี้ พวกเขากลายมาเป็น กลุ่มอิควาน ที่มีกิจวัตรประจำคือ การกระทำการข่มเหง และสังหาร “พวกนอกรีด” แม้เป็นเพียงชาวบ้านตาดำๆ ที่ปราศจากอาวุธ ทั้งผู้หญิงและเด็ก ๆ พวกเขาตัดคอบรรดาเชลยผู้ชาย และเชือดคอหอยผู้คนเป็นนิจสิน
ในปี 1915 อับดุลอาซิซ วางแผนยึดครอง ฮิญาซ (พื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน และยังเป็นที่ตั้งของมหานครเมกกะฮ์ และมะฮ์ดีนะฮ์), อ่าวเปอร์เซียไปทางตะวันออกของนัจดฺ และดินแดนซึ่งในปัจจุบันอยู่ในทางภาคเหนือของประเทศซีเรียและ จอร์แดน แต่ทว่าในช่วงปี ค.ศ. 1920 อับดุลอาซิซ ได้ปรับเปลี่ยนความทะเยอทะยานของเขา เพื่อให้ได้รับมาซึ่ง สถานะทางการทูต ในฐานะ ‘รัฐชาติ’ กับประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา กลุ่มอิควาน อย่างไรก็ตามยังคงบุกเข้าโจมตีรัฐในอารักขาของอังกฤษแห่งอิรัก แทรสจอร์แดน และคูเวต โดยยืนยันว่าจะทำการญิฮาดต่อไปอย่างไร้ขอบเขต และเมื่อคำนึงว่า การคิดค้นสิ่งใหม่ หรือความทันสมัย ก็จัดว่าเป็นการกระทำที่บิดเบือน (บิดอะฮฺ) อิควานจึงตัดสินใจโจมตีอับดุลอัล – อาซิซด้วย ในกรณีที่เข้าได้อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ รถยนต์ โทรเลข ให้ฟังเพลงและสูบบุหรี่ อันเป็นสิ่งซึ่งไม่เป็นที่รู้จักในยุคสมัยของท่านศาสดามูฮัมหมัด จนกระทั่งในที่สุด อับดุล อาซิซ ได้ออกคำสั่งยกเลิกการประท้วงของพวกเขาในปี 1930
หลังจากความพ่ายแพ้ของกลุ่มอิควาน ลัทธิวะฮาบีอย่างเป็นทางการแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียก็ทอดทิ้งกองกำลังทหารญิฮาด และผันตนเป็นขบวนการอนุรักษ์นิยมที่มีความเคร่งครัดในศาสนา ทว่าจิตวิญญาณแห่งอิควาน และความฝันที่จะขยายดินแดนของพวกเขามิได้ดับสลายลงไปด้วย พวกเขาแทนที่มันด้วยแผ่นดินใหม่ในยุค 70 เมื่อราชอาณาจักรกลายมาเป็นศูนย์กลางของนโยบายต่างประเทศตะวันตกประจำภูมิภาค
วอชิงตันได้ให้การสนับสนุนซาอุดิอาระเบียในการต่อต้าน แนวคิดนิยมนาซิรหรือนัสเซอร์ (Nasserism – อุดมการณ์ลัทธิสังคมนิยมแบบแพน – อาหรับ ของประธานาธิบดี Gamal Abdel Nasser ประเทศอียิปต์) และต่อกรกับอิทธิพลของโซเวียต นอกจากนี้ ในภายหลังจากการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 วอชิงตันยังได้ให้การสนับสนุนทางกลยุทธ์ในการวางแผนจัดการ สกัดกั้นชีอะฮ์อิสลาม ด้วยการเปลี่ยนโลกมุสลิมทั้งใบให้หันมาเลื่อมใสลัทธิวะฮาบี
คล้ายกับกรณีของแนวคิดนิยมนาซิรหรือนัสเซอร์ ที่ส่องภัยคุกคามต่อทั้งซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นอุดมการณ์ที่จะนำมาซึ่งเอกราช, ระบอบสาธารณรัฐ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพลเมือง ในทางตรงกันข้ามกับลัทธิล่าอาณานิคมและระบบศักดินา ขบวนการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยแบบชีอะฮอิสลามในอิหร่านสำแดงอิทธิพลมากเกินไปสำหรับประเทศในภูมิภาคให้เลียนแบบ และลุกขึ้นปฏิวัติมหาอำนาจผู้กดขี่
ดังนี้ โรงสำหรับฉายโฆษณาชวนเชื่อจึงถูกตระเตรียมขึ้นอย่างเป็นระบบ อิหร่านกลายมาเป็น ศัตรูตัวฉกาจ ซึ่งได้ถูกกำหนดไว้แล้วของชาติมหาอำนาจตะวันตก และพันธมิตรของมัน อิหร่านกลายเป็นแหล่งที่มาของความชั่วร้ายสามานย์ เคียงบ่าเคียงไหล่กับรัสเซีย ขณะที่กลุ่มคนผู้ใฝ่หาอำนาจแห่งวัตถุ อย่าง ซาอุดิอาระเบีย กลับถูกปล่อยให้ลอยนวล ให้สามารถผลิตแนวคิดนิยมความรุนแรงสุดโต่งออกมาในระดับสากลต่อไป
ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นถึงสี่เท่าตัว ในช่วงวิกฤตน้ำมันปี 1973 – เมื่อชาติอาหรับในกลุ่ม OPEC อย่างอียิปต์ ซีเรีย ประกาศงดการส่งออกน้ำมันให้กับประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเด็ดขาด (Oil Embargo) ประกาศลดกำลังการผลิต ประกาศขึ้นราคาน้ำมัน เพื่อประท้วงกองกำลังทหารสหรัฐฯ ซึ่งเลือกที่จะเป็นพันธมิตรและให้การสนับสนุนแก่อิสราเอล – ส่งผลทำให้ราชอาณาจักรมีปิโตรดอลล่ามากพอจะส่งออกแนวความเชื่ออิสลามฉบับแปลกปลอมของพวกเขาสู่ประชาชาติมุสลิม
รูปแบบการญิฮาดเพื่อเผยแพร่ความเชื่อแบบดั้งเดิม ณ บัดนี้ถูกแทนที่ด้วยความก้าวร้าวของวัฒนธรรม องค์กรมุสลิมนิยม(อิสลามแบบ)ซาอุดีอาระเบียโลก จัดการเปิดหน่วยงานตามภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ นอกจากนี้กระทรวงกิจการศาสนาซาอุดีอาระเบียยังได้ทำการตีพิมพ์ เผยแพร่ และแจกจ่ายคำแปลอัลกุรอานตามแบบลัทธิวะฮาบี และงานเขียนของนักคิดสมัยใหม่ ที่ซาอุฯเห็นว่าไม่ขัดแย้งกับตน เช่น งานเขียนของ Sayyids Abul – A’la Maududi และ Qutb ให้แก่ชุมชนชาวมุสลิมทั่วทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกา อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกาและยุโรป ในสถานที่เหล่านี้ พวกเขายังได้มอบเงินสนับสนุนให้สร้างมัสยิดสไตล์ซาอุดีอาระเบีย พร้อมจัดการสรรหานักเทศนาแบบวะฮาบีให้ และยังก่อตั้งมัดราซะฮ์ สถานที่ซึ่งนำเสนอการเรียนการสอนให้กับคนยากไร้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แน่นอนด้วยหลักสูตรการสอนตามแนวคิดวะฮาบี
ในไม่ช้า ความเข้าใจที่มีต่อศาสนาของชาวมุสลิม ก็ถูกกัดกร่อนด้วยฤทธิ์ยาพิษของลัทธิประหลาดวะฮาบี อิทธิพลของพวกเขาได้แทรกซึม และเปลี่ยนแปลงความคิดของชาวมุสลิมจากสำนักคิดอื่นๆโดยเฉพาะ จากนิกายซุนหนี่ จนในที่สุด ชาวซุนหนี่ก็เริ่มมีอุดมการณ์ความเชื่อที่คล้ายเคียงกับของวะฮาบี คือ เริ่มมีการยอมรับ แนวความคิดที่ให้ทำการตีความพระคัมภีร์ด้วยตนเอง แทนที่จะหันหน้าเข้าหาผู้รู้ และเริ่มมองเห็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันมาในความเชื่อเดิมของตนว่า เป็นสิ่งที่ถูกอุตริขึ้นมา และมิใช่หนทางที่ถูกต้อง มุสลิมเริ่มเลื่อมใสในโฆษณาชวนเชื่อของลัทธิวะฮาบีอย่างหลับหูหลับตา ความศรัทธาของมุสลิมบัดนี้ ไม่สอดคล้องกับแนวทางอิสลามสายกลาง อิสลามที่เต็มไปด้วยความปราณี อิสลามที่ปราศจากความรุนแรง
ในขณะเดียวกัน เด็กหนุ่มจากประเทศมุสลิมที่ยากไร้ อย่างเช่น อียิปต์ และปากีสถาน ผู้ซึ่งจำเป็นต้องออกเดินทางไปทำมาหากินอยู่ในประเทศอ่าว เพื่อส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัว รวมไปถึงเด็กหนุ่มจากประเทศมุสลิมอื่นๆจากทั่วทุกมุมโลก ที่ตั้งใจเข้ามาศึกษาปรัชญาศาสนาอิสลาม จากมหานครแห่งท่านศาสดา ก็ได้นำแนวความคิดแบบวะฮาบีกลับบ้านไปด้วย และทำการเผยแพร่มันแก่บรรดาญาติพี่น้อง อีกผู้คนในชุมชนของพวกเขา พวกเขากลับไปสร้างหมู่บ้านแบบใหม่ ที่ซึ่งมัสยิดและห้างสรรพสินค้าเป็นของซาอุดีอาระเบีย ซาอุดิอาระเบียเรียกร้องให้ปฏิบัติตามความเชื่อของพวกเขา แลกกับความเป็นมิตร และการส่งเสียเลี้ยงดู เพราะซาอุฯปฏิเสธทุกความเชื่อ และสำนักคิดอื่นๆโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะใน อังกฤษ นิวยอร์ก หรือในประเทศปากีสถาน จอร์แดนหรือซีเรีย ทั่วทุกแห่ง พวกเขาพร้อมที่จะทำลายพหุนิยมแบบดั้งเดิมของศาสนาอิสลาม และแทนที่มันด้วยลัทธินิยมความรุนแรง บ้าเลือด และกระหายอำนาจของพวกขา…
แปล/เรียบเรียงจาก http://www.inspiretochangeworld.com
ผู้เขียน “CATHERINE SHAKDAM” นักวิเคราะห์ทางการเมือง นักเขียน และนักวิจารณ์ สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวก่อการร้ายและความรุนแรงในเยเมน ผู้อำนวยการโครงการต่างๆ ณ สถาบันศึกษาตะวันออกกลาง Shafaqna นอกจากนี้ Catherine ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Veritas Consulting เธอคือเจ้าของงานเขียน Arabia’s Rising – Under The Banner Of The First Imam.