‘ทรัมป์ ผลผลิตจากทุนนิยม’ – ส่อความล้มเหลวระบบเศรษฐกิจขูดรีดประชาชน

913

ข้อเท็จจริงที่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบัน และผู้ช่วยประธานาธิบดีและหัวหน้านักยุทธศาสตร์ของเขา สตีฟ แบนนอน ร่วมกับคนอื่นๆจากคณะบริหารนี้ ไม่ได้ไตร่ตรอง หรือ แยแสถึงนัยยะและผลกระทบจากนโยบายทางการเมืองและการกระทำของพวกเขาต่อพลเมือง รวมไปถึงผู้คนจากชาติอื่น ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกอกแปลกใจแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลของการเมืองภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แท้ที่จริงแล้ว คือ วิธีการที่ระบบเศรษฐกิจเช่นนี้ ฝึกฝน หรือสร้างนักการเมืองต่างหาก

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เปิดโอกาสให้บริษัทมหาชน และคนรวยมีอำนาจลิขิตความเป็นไปทางการเมือง จากเม็ดเงินมหาศาล สามารถหล่อเลี้ยง และให้การสนับสนุนกิจการภายในต่างๆ อีกทั้งยังมีอิทธิพลเหนือชัยชนะจากการเลือกตั้ง ผ่านการแลกเปลี่ยนกับผลตอบแทนที่พวกเขาคาดหวังอย่างเฉพาะเจาะจงเอาไว้ ตัวอย่างเช่น คำสั่งซื้อของรัฐบาล ภาษี วิกฤตหนี้ หรือ การแทรกแซงจากต่างชาติ ซึ่งนักการเมืองที่นั่งประจำตำแหน่งอยู่ในออฟฟิศ มีสิทธิชอบธรรม และมีความจำเป็นต้องอนุมัติสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น หรือ ทำการขจัดความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อกำไร และความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของพวกเขาออกไป นอกจากนี้ นักการเมืองยังจำเป็นต้องคอยตบแต่งนโยบาย คำสั่ง และการกระทำต่างๆ ให้สอดคล้องกับความโลภของผู้มีส่วนได้เสียจากบริษัทมหาชนเหล่านั้น ผ่านข้ออ้างเรื่อง ผลประโยชน์ของประชาชน การสร้างงาน และเหตุจำเป็นที่มีความคลุมเครืออื่นๆ แทนที่จะกำหนดนโยบายต่างๆเพื่อประโยชน์ของมหาชนอย่างแท้จริง

ผลกระทบที่ตามมาจากปฏิบัติการทางการเมือง มักมีมากเกินความสามารถและความต้องการของผู้นำทางการเมืองที่จะรับไหว ดังนี้ ส่วนมากของบรรดานักการเมืองจึงตกลงให้การสนับสนุนเหล่าบริษัทมหาชน และปฏิบัติตามข้อแลกเปลี่ยนที่วางไว้ ในขณะเดียวกัน ก็คอยวางตัวในที่สาธารณะ ในฐานะผู้แทนของประชาชน และแสดงความเป็นกังวลไปยังปัญหาปากท้องที่แพร่หลายของพลเมือง และหากว่า หรือ เมื่อพวกเขาประสบพบกับความล้มเหลว พวกเขาก็จะออกโรงปราบปรามปัญหาเหล่านั้นอย่างจริงจังตามแต่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย

มันเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุ ชี้วัด และแกะรอยอิทธิพลที่ส่งผลต่อทุกๆการตัดสินใจ และทิศทางทางการเมืองของคณะบริหารประเทศชุดๆหนึ่ง บรรดานักการเมืองคาดหวังให้ตำแหน่งของพวกเขามีความมั่นคง หรืออย่างน้อยที่สุด ไม่ถูกจู่โจมจากผลกระทบในรูปแบบใดก็ตามที่อาจตามมาจากการกระทำของพวกเขาจนตำแหน่งของพวกเขาได้รับความเสียหาย ด้วยประการฉะนี้เอง ไม่ว่าพวกเขาจะมีความมั่นใจสักเพียงใดในการคาดคะเนถึงผลกระทบเหล่านี้ นักการเมืองโดยทั่วไปมักมุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อม เพื่อให้สามารถทำการโต้แย้งได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลต่อผลกระทบเชิงลบ หรือหาข้อบ่ายเบี่ยงที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดใดๆก็ตาม ที่อาจเกิดขึ้น

มองในอีกมุมหนึ่ง เราอาจตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับคำสั่งใช้ทางการเมืองของทรัมป์และแบนนอน เพื่อให้บรรลุถึงซึ่งผลลัพธ์ที่พวกเขาอ้างว่าตั้งความหวังไว้ คำตอบของเราจะชี้ให้เห็นถึง ลู่ทางที่คณะบริหารชุดใหม่สามารถนำมาใช้เพื่อตบตา และกดดันเราได้อย่างไรบ้าง

ตัวอย่างเช่น วิธีการที่คำมั่นสัญญาจากรัฐบาลของทรัมป์ ว่าด้วยเรื่องโอกาสทางอาชีพและข้อตกลงเกี่ยวกับรายได้สำหรับชนชั้นกลาง จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพลเมืองกว่าหลายล้านกว่าชีวิตที่สูญเสียหรือขาดแคลนมันได้อย่างไร?

แผนของทรัมป์ คือการกระตุ้นความต้องการแรงงาน ตามที่คาดคะเนไว้ คือ ผ่านการใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคที่สำคัญ และการย้ายที่ตั้งของสถานที่ทำงานให้กลับเข้ามาในสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็ทำการจำกัดกำลังแรงงาน โดยการเนรเทศพลเมืองบางส่วน และกีดกั้นการเข้ามาของผู้อพยพต่างชาตินับล้านคน แต่หากว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นทั้งหมด มันย่อมเกิดความจำเป็นอย่างอื่นเพิ่มขึ้นมาเป็นเงื่อนไข นั่นคือความจำเป็นที่จะต้องป้องกันการหลั่งไหลเข้ามาของระบบเครื่องจักร (อันเป็นสาเหตุหลักให้เกิดการตกงานอีก) เนื่องจากนายจ้างจำเป็นต้องตอบสนองไปยังอัตราจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นต้องป้องกันหรือหักล้างมาตรการตอบโต้ของต่างประเทศอื่นๆอีก อาทิเช่น ต่างประเทศอาจกำหนดภาษีศุลกากรในการส่งออกของสหรัฐฯ หรือคิดภาษีหรือเลือกปฏิบัติต่อการถือครองของสหรัฐฯภายในพรมแดนของตน มันจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น ที่สหรัฐฯจะต้องป้องกันหรือหาวิธีหยุดระงับการชะลอตัวทางธุรกิจ นอกจากนี้ มันยังมีเงื่อนไขอื่นๆอีกมากมายที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพลเมืองสหรัฐฯ เพื่อให้ทรัมป์ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของเขา

ในระบบทุนนิยม ความวิตกกังวลของนักการเมืองวนเวียนอยู่เสมอ ซึ่งความกังวลส่วนหนึ่งมาจากหน้าที่โดยทั่วไปของพวกเขา คือ ความเสี่ยงที่จะต้องตกเป็นแพะรับบาปผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของระบบ เช่น ความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียม และความอยุติธรรม พวกเขาตำหนิกันและกัน และปลูกฝังภาพลวงตาในจิตสำนึกของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ที่ซึ่งพวกเขาคอยสับเปลี่ยนบรรดานักการเมืองรายใหญ่ และทำการชวนเชื่อว่า นักการเมืองเหล่านี้มีความสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานที่ส่งผลกระทบต่อพลเมืองได้

ที่สำคัญที่สุด พวกเขาหนุนเนื่องข้อห้ามและข้อกีดกั้นที่มีอยู่เดิม เพื่อต้านทานโทษภัยทางเศรษฐกิจ (เช่นการว่างงาน ปัญหาค่าแรงต่ำ บ้านรอการขายสุทธิ และหนี้สินที่ไม่ยั่งยืน) จากระบบทุนนิยม ที่ซึ่งมีการจ้างงานต่ำ และ / หรือ ขับไล่คนจำนวนมากออกจากงาน จนกว่านักการเมืองจะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ พวกเขาจะหลีกเลี่ยงคำติชมเชิงระบบ อย่างระมัดระวังและเป็นกิจจะลักษณะ พวกเขาโจมตีราคา อัตราดอกเบี้ย ภาษี หรือค่าธรรมเนียม โดยไม่เปิดเผยหรือจู่โจมไปยังระบบเศรษฐกิจอันเป็นต้นตอบ่อกำเนิดของปัญหาเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

นักการเมืองที่ระบบทุนนิยมปั้นขึ้นมา มักชอบหาและยึดอยู่กับประเด็นสำคัญ อื่นๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจไม่มากนัก เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของพลเมืองต่อความอยุติธรรมของทุนนิยม และสร้างจุดขายให้พรรคของตน (เช่น นโยบาย และโฆษณาชวนเชื่อ อันเกี่ยวข้องกับ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ การทำแท้ง เสรีภาพของพลเมือง นโยบายการอพยพ ฯลฯ ) นักการเมืองตัวหลักทำเช่นนี้ เพื่อสร้างจุดต่างเล็กๆน้อยๆในหมู่พวกเขา เมื่อพิจารณาจากแง่มุมของทิศทางทางการเมืองซึ่งให้การสนับสนุน ปกป้อง และเสริมสร้างระบบทุนนิยมเหมือนๆกัน

สำหรับนักการเมือง การทำหน้าที่เป็นแพะรับบาปความผิดปกติของระบบทุนนิยมเป็นสิ่งที่ยากลำบากเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่วิกฤตกำลังเกิดขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าว พวกเขาจะรีบทำการชี้ตัวก่อปัญหาและโยนบาปไปยังฝ่ายอื่น ๆให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะตกเป็นเป้าหมาย และกลายมาเป็นแพะรับบาปแทนนักการเมืองเหล่านี้ ได้แก่ กลุ่มผู้อพยพ ชาวต่างชาติ ผู้นับถือศาสนาส่วนน้อย หรือชนกลุ่มน้อย ผู้ก่อการร้ายและกลุ่มอื่น ๆ การเมืองของทุนนิยมสามารถเปลี่ยนเป็นความน่าเกลียดและอาจกลายเป็นอันตรายถึงชีวิตใครสักคน เมื่อไหร่ก็ได้

            จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าการกระทำของ ทรัมป์ และ แบนนอนไม่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานและรายได้ที่เพียงพอ? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าฐานนิยมของพวกเขา เริ่มที่จะหันมาต่อต้านพวกเขาและลุกขึ้นเอาเรื่องผู้ที่อยู่เบื้องหลังความเสียหายอย่างแท้จริง? ทรัมป์และแบนนอนจะทำอย่างไรต่อไป?

การยอมรับความพ่ายแพ้และละทิ้งโครงการของพวกเขามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่า การโยนบาปไปยังคนกลุ่มอื่น พวกเขาจะไม่ยกเลิกแผนการ มาตรการเนรเทศพลเมืองบางส่วนออกนอกประเทศจะเพิ่มขึ้น มาตรการกีดกันผู้อพยพจะเพิ่มขึ้น  แนวทางการลดและการกำกับควบคุมโดยรัฐเพื่อเปิดเสรีทางการค้า และการเงินจะเพิ่มขึ้น การประทุษร้ายชาวต่างชาติจะเพิ่มขึ้น แสนยานุภาพทางการทหารและความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน และด้วยการเพิ่มพูนขึ้นของสิ่งเหล่านี้ ความโหดร้ายก็จะยิ่งทวีความรุนแรงหนักไปกว่าเดิม รวมไปถึงวิธีการปราบปรามผู้ที่อาจตั้งคำถามหรือไม่ยอมรับวิธีการปกครองของพวกเขาก็อาจเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ประวัติความเป็นมาอย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับฝ่ายต้อต้านของสหรัฐฯ ต่อลัทธิฟาสซิสต์เยอรมัน, อิตาลีและญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 20 ทำให้โอกาสและกาลภายหน้าของลัทธิฟาสซิสต์ในศตวรรษที่ 21 นี้เปื้อนเปรอะ ทรัมป์และแบนนอน หลีกเลี่ยงลัทธิฟาสซิสต์ที่โจ่งแจ้งในขั้นนี้ แต่ลัทธิฟาสซิสต์มีแนวโน้มจะปรากฏขึ้นในภายหลัง พวกเขาจะค่อยๆสร้างความชอบธรรมให้แก่ลัทธิฟาสซิสต์ ด้วยอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้น จนกระทั่งมันกลายเป็นสิ่งที่ “ทำให้เลี่ยงไม่ได้” อย่างน่าอึดอัด การทำให้ประชาชนมั่นใจอีกครั้ง (ซ้ำแล้วซ้ำเล่า) ว่าลัทธิฟาสซิสต์ไม่ได้กำลังกลับขึ้นมามีอำนาจอีก แท้จริงแล้วอาจจะมาพร้อมกับวิธีการส่งเสริมและโปรโมทมันอย่างเงียบๆ

เราจะเห็นได้ว่า การต้อต้าน และขัดขืน” ได้กลายเป็นคำขวัญของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทรัมป์ และศักยภาพของลัทธิฟาสซิสต์ของมัน อย่างไรก็ตาม บทเรียนเกี่ยวกับการเมืองที่ล้มเหลวของระบบทุนนิยมจะไม่ได้รับการเรียนรู้ หากฝ่ายต่อต้านยังคงอยู่ในระดับที่เป็นเพียงแค่ผู้ดื้อดึงต่อการปกครองชุดนี้เท่านั้น การเลือกตั้งใหม่ หรือการเปลี่ยนคณะบริหารของทรัมป์และแบนนอน ในความต้องการกลับเข้าสู่ระบบทุนนิยมแบบ “ปกติ” ย่อมไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก เพราะเหมือนกับการก้าวเท้าย่ำซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง เพราะเราได้ย้อนกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจที่ผลิตนักการเมือง อย่างทรัมป์ และแบนนอน ไม่ต่างกัน

ด้วยประการฉะนี้ (ผู้เขียนจึงคิดว่า) การเมืองที่เหมาะสมในขณะนี้ จำเป็นต้องให้พรรคการเมืองที่สนับสนุนทุนนิยมได้รับการส่งเสริมจากผู้ที่เห็นด้วยกับทุนนิยม ขณะเดียวกันก็ต้องให้ถูกท้าทายโดยผู้ที่ไม่นิยมเช่นนั้น เราจำเป็นต้องมีการถกเถียงทางการเมืองและเราต้องการเห็นการแข่งขัน ระหว่างผู้ที่คิดว่าลัทธิทุนนิยมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่สังคมมนุษย์สามารถไขว่คว้าได้ กับผู้ที่คิดว่ามนุษย์สามารถไปได้ไกลและดีกว่านั้น ดังนี้แล้ว เราจึงจะสามารรถยุติการเมืองที่มีความลำเอียง ในแง่ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับระบบทุนนิยมมีค่าเท่ากับการขายชาติลงได้ และท้ายที่สุด เราอาจต้อนรับการแข็งขันระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความสมดุลมากกว่า เป็นแบบที่รวมเอาไว้ซึ่ง แนวคิดที่มีหลากหลายมุมมอง ทั้งที่เหมือนและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับทุนนิยมในฐานะระบบเศรษฐกิจชุดหนึ่ง เราสามารถเปิดใจให้กับปัญหาของระบบและเริ่มสร้างทางเลือกในการเฟ้นหาระบบเศรษฐกิจที่หยั่งยืนที่สุดให้กับสังคมมนุษย์ได้ การปรากฏขึ้นของ ทรัมป์ และแบนนอน ยิ่งตอกย้ำ และชี้ให้เราเห็นว่า ทำไมเราจึงทำได้ และจะต้องทำให้ได้ดีกว่าทุนนิยม..

 

ผู้เขียน

RICHARD D. WOLFF

ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Massachusetts Amherst ที่ซึ่งเขาได้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ปี 1973 ถึง 2008 ปัจจุบันเขาเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะในโครงการบัณฑิตศึกษาด้านกิจการระหว่างประเทศของ New School University ประจำนิวยอร์ก นอกจากนี้เขายังสอนชั้นเรียนประจำที่ Brecht Forum ในแมนฮัตตัน ก่อนหน้านี้เขาสอนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยล (1967-1969) และที่ City College of City University of New York (1969-1973) ในปี1994 เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยปารีส (ฝรั่งเศส) I (Sorbonne) ท่านผู้อ่านสามารถเยี่ยมชมผลงานของเขาได้ที่ rdwolff.com และที่ www. democracyatwork.info

เรียบเรียงจาก: http://www.truth-out.org/news/item/40068-capitalism-produced-trump-another-reason-to-move-beyond-it