ทำไมสหรัฐฯ จึงสนับสนุนซาอุฯ? – บทสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง Code Pink องค์กรเพื่อยุติสงคราม

1066
ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช พบปะกับ มกุฎราชกุมาร อับดุลลาห์แห่งซาอุดีอาระเบีย ในเมืองครอว์ฟอร์ด รัฐเท็กซัสเมื่อวันจันทร์ ที่ 25 เมษายน 2005 (ภาพโดย: Eric Draper / The White House จาก The New York Times)

กว่าหลายทศวรรษที่สหรัฐฯได้ให้การสนับสนุนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย แม้ว่าซาอุฯจะมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนโยบายการปกครองประเทศที่ขัดแย้งกับเสรีนิยมอเมริกันก็ตาม อะไรคือคำอธิบายของความสัมพันธ์ที่แน่นเฟ้นระหว่างทั้งสองชาตินี้ กว่าหลายชั่วอายุคน ผ่านประธานาธิบดีและคณะบริหารของสหรัฐฯมากมายหลายสมัย? นักเขียนใจกล้า Medea Benjamin ได้ค้นหาคำตอบให้แก่คำถามดังกล่าว และรวบรวมมันเอาไว้ในหนังสือของเธอ “Kingdom of the Unjust” (ราชอาณาจักรแห่งผู้ที่ไร้ซึ่งความยุติธรรม)

บทความดังต่อไปนี้ คือ บทสัมภาษณ์ Medea Benjamin โดย Mark Karlin จากเว็ปไซต์ Truthout เกี่ยวกับหนังสือของเธอ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ เบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และซาอุฯ

Medea Benjamin คือ ผู้ร่วมก่อตั้ง Code Pink หรือ องค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ (NGO) ที่แนะนำตัวเองในฐานะ ขบวนการสร้างสันติภาพและความยุติธรรมทางสังคม ระดับรากหญ้า ซึ่งดำเนินงาน เพื่อยุติการให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อก่อสงคราม และการยึดครองของสหรัฐฯ เพื่อท้าทายการใช้กำลังทหารทั่วโลก และเพื่อเปลี่ยนเส้นทางทรัพยากรของเราไปสู่การดูแลสุขภาพ การศึกษา อาชีพที่สุจริต และกิจกรรมเพื่อความมั่นคงของชีวิตอื่นๆ

 __________________________

Mark Karlin ถาม: ซาอุดิอาระเบีย ในหลายๆด้าน คือ ส่วนขยายเชิงคณาธิปไตย ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มิใช่หรือ? แน่นอนว่า ซาอุฯ ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย ทว่าประชาธิปไตยก็ไม่ได้ยับยั้งการเติบโตขึ้นของคณาธิปไตยในสหรัฐฯ ผมยังคงนึกถึงภาพที่น่าอับอาย ของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ขณะเดินเกี่ยวก้อย ควงกันกับอำมาตย์ซาอุฯ สมัยที่จอร์จดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้

Medea Benjamin ตอบ:

ครอบครัวบุชมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับบรรดาผู้ปกครองของประเทศซาอุดิอาระเบีย –  (ในแบบ) oil men to oil men   อดีตเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหรัฐอเมริกา Bandar bin Sultan เคยสนิทกับครอบครัวบุชมาก จนกระทั่งเขาถูกรู้จักในชื่อ Bandar Bush แต่ดิฉันไม่อยากเรียกซาอุดิอาระเบียว่า เป็นเพียงส่วนขยายของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถ้าจะให้ถูก จะต้องกล่าวว่า เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ คือ ผู้เล่นคนสำคัญในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสากล ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลและอาวุธที่ทรงอนุภาพทำลายล้างโลก ไม่ว่าจะในเวอชั่นของสหรัฐฯ ในรูปแบบของการเมืองหลายพรรค และการเลือกตั้ง หรือในเวอชั่นของซาอุฯ ในรูปแบบของราชาธิปไตย – เศรษฐกิจของทั้งสอง ต่างอยู่ในกำมือของกลุ่มอีลีทต์ (ชนชั้นสูง) ผู้ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการใช้จ่ายของผู้คน และจาก(ทรัพยากร)โลก

Mark Karlin ถาม: เมื่อพูดถึงระบอบประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดีอาระเบียอย่างแน่นเฟ้น มิได้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่านโยบายต่างประเทศของเรา ล้วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเอง มิใช่เป็นไปเพื่อแพร่ขยายสิทธิในการออกเสียง และความเท่าเทียมกระนั้นหรือ?

 Medea Benjamin ตอบ:

หากนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯเป็นไปเพื่อแพร่ขยายความเสมอภาคและประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ รัฐบาลของเราจะไม่เป็นพันธมิตรกับประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และอิสราเอล – ใช่ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ทว่ามันเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสำหรับประชากรเพียง 1% มันไม่ได้ยังประโยชน์ใดๆแก่ประชาชน ของซาอุดีอาระเบีย หรือสหรัฐอเมริกา ที่จะมีเศรษฐกิจ ซึ่งพึ่งพาอยู่กับการค้าน้ำมันและอาวุธ ทว่าภาคส่วนที่มีอำนาจบาตรใหญ่เหล่านี้ มีอิทธิพลในการล็อบบี้ บิดเบือนนโยบายต่างๆ และในขณะนี้ ที่ซาอุดีอาระเบียได้ใช้ผลกำไรมหาศาลจากการขายน้ำมัน เพื่อทำการลงทุนในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ พวกเขาก็สามารถ – และได้ทำการ – แบล็กเมล์รัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อครั้งสภาคองเกรสลงคะแนนให้ผู้ตกเป็นเหยื่อของการโจมตี 9/11 มิสิทธิฟ้องรัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ในศาลของสหรัฐฯ โดยซาอุดีอาระเบียได้ออกคำขู่ว่าจะถอนเงินจำนวนกว่า 750,000 ล้านเหรียญ และสินทรัพย์อื่น ๆออกจากคลังของสหรัฐฯ

นักเขียน Medea Benjamin (ภาพโดย: Thomas Good)

Mark Karlin ถาม:  (ในหนังสือของคุณ) มีบทหนึ่ง ที่มีชื่อว่า การแพร่กระจายของลัทธิวะฮาบีย์  การสนับสนุนแนวคิดนิยมสุดโต่ง สำหรับพวกเราที่ค้นคว้าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดิอาระเบีย ย้อนกลับไปก่อน เหตุการณ์ 11 กันยา มันค่อนข้างจะเห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯได้ทำการปิดบัง การมีส่วนร่วมของซาอุดิอาระเบีย ในการให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ในหลายๆภาคส่วน ทั้งที่ลับและเปิดเผย –  หรือนี่ คือราคาที่เราจะต้องจ่าย เพื่อแลกกับการเข้าถึงแหล่งน้ำมันและให้ได้มาซึ่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจของซาอุฯ?

 Medea Benjamin ตอบ:

ใช่ – เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้วิพากษ์ วิจารณ์เกี่ยวกับการแพร่ขยายของลัทธินิยมสุดโต่งของซาอุฯ แต่ขณะเดียวกัน ก็ให้ความคุ้มครองทางการทูตแก่พวกเขา WikiLeaks แฉ คำพูดของ ฮิลลารี่ คลินตัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี 2009 ซึ่งเธอได้กล่าวว่า ผู้บริจาคในซาอุดิอาระเบีย คือองค์ประกอบของแหล่งเงินทุนที่สำคัญที่สุด สำหรับเลี้ยงดูกลุ่มก่อการร้ายนิกายสุนหนี่ทั่วโลกซาอุดิอาระเบียยังคงเป็นฐานสนับสนุนทางการเงินที่สำคัญของกลุ่มอัลกออิดะห์ ตอลิบาน, Lashkar-e-Tayyiba และกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ”  ทว่า ฮิลลารี่ คลินตัน ได้ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศล่ะ? เธอได้อนุมัติขายอาวุธมหาศาลให้แก่กองทัพซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีมูลค่ากว่าหลายหมื่นดอลลาร์

Mark Karlin ถาม:  รายงานที่ได้รับการยืนยันด้วยหลักฐานต่างๆของคุณ สิ่งที่ถูกเผยแพร่ในรูปแบบของข่าวเชิงทฤษฎีมาสักระยะหนึ่ง ว่าด้วยประเด็นที่ว่าซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล อย่างน้อยที่สุด ได้ร่วมกันพัฒนาหน่วยงานข่าวกรองสมัยใหม่ กองกำลังทหาร และยุทธศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ อะไร คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาดังกล่าว สำหรับชาวปาเลสไตน์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง?

Medea Benjamin ตอบ:

มองเพียงผิวเผิน อาจดูเหมือนว่าซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล น่าจะเป็นศัตรูที่เลวร้ายที่สุดของกันและกัน เนื่องจากทั้งสองประเทศไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูต และซาอุดิอาระเบียเป็นผู้สนับสนุนที่เข้มแข็งเก่าแก่ของชาวปาเลสไตน์ แต่หากมองให้ลึกลงไป คู่อริเก่าทั้งสองฝ่าย แท้ที่จริงแล้วมีหลายๆอย่าง คล้ายเหมือนกัน และหลายฝ่านก็รู้สึกว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังผินหลังให้กับชาวปาเลสไตน์ ด้วยการสร้างความผูกพันกับไปยังอิสราเอลมากขึ้น

ทั้งสองประเทศสนับสนุนการรัฐประหารในอียิปต์ โดยซาอุดีอาระเบียได้ให้เงินหลายพันล้านดอลลาร์แก่รัฐบาลของพลเอก เอล ซีซี (el-Sisi) การรัฐประหารเป็นเรื่องหายนะสำหรับชาวปาเลสไตน์ พลเอกเอลซีซี ได้ปิดกั้นพรมแดนอียิปต์ / กาซ่า ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่ชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ใช้ทำการขนส่ง เพื่อสนองไปยังคำยืนกรานของอิสราเอล

ทว่า เกลียวที่ผูกสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองของซาอุดิอาระเบียและอิสราเอลอันดับใหญ่ๆ คือ ความเกลียดชังที่มีร่วมกัน ต่อสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ทั้งสอง มองเห็นอิหร่าน ในฐานะภัยคุกคามที่เป็นรูปธรรม ซึ่งดำรงอยู่จริง และเกรงกลัวอิทธิพลที่กำลังเติบโตขึ้นของอิหร่านในภูมิภาค พวกเขาทั้งสองต่อต้านข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน และมุ่งมั่นที่จะหยุดยั้งสหรัฐอเมริกา ไม่ให้มีความใกล้ชิดกับอิหร่านมากไปกว่านี้ สิ่งนี้เป็นอันตรายต่อทั้งภูมิภาค เนื่องจากการแก้ปัญหาทางการเมืองใด ๆ จะต้องนำผู้เล่นหลัก ๆ ในภูมิภาคมารวมตัวกัน รวมทั้งอิหร่านด้วย

Mark Karlin ถาม:  คุณช่วยอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาที่ผมเชื่อว่า ผู้อ่านจำนวนมากมีความสับสน ในประเด็นที่ว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังทำสงครามอะไรในเยเมน? และสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการถือกำเนิดขึ้นของตะวันออกกลางที่เต็มไปด้วยความแตกแยกอย่างรุนแรงอย่างไร?

 Medea Benjamin ตอบ:

การแทรกแซงของซาอุดิอาระเบียในเยเมนเป็นส่วนขยายของความเกลียดชังอิหร่านที่ว่านี้ ชาวซาอุฯรู้สึกเป็นกังวล อันเนื่องมาจากกลุ่มฮูซี (Houthis) ที่ลุกขึ้นมามีอำนาจในเยเมน มีความชิดใกล้กับอิหร่าน ความขัดแย้งในหลายประเทศในตะวันออกกลาง ณ วันนี้ ส่วนมากแล้วได้รับผลกระทบจากความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน ผู้นำซาอุฯมองว่านโยบายของอิหร่านเป็นส่วนหนึ่งของวาระการขยายตัวและการแบ่งแยกนิกายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ชาวมุสลิมชีอะฮฺในภูมิภาคนี้ แทนที่ชาวมุสลิมสุนหนี่

ความร้าวฉานเหล่านื้ทวีความเด่นชัดขึ้นด้วยกับปรากฏการณ์อาหรับสปริง อย่างที่ระบอบการปกครองบางแห่งถูกโค่นล้มลง และผู้อื่นก็แห่ขึ้นมามีอำนาจแทน ซาอุดิอาระเบียและอิหร่านยังคงต่อสู้กันเพื่อให้ได้มาซึ่งอิทธิพลและการมีอำนาจเหนือภูมิภาค ซาอุดิอาระเบียกล่าวหาว่า อิหร่านทำสงครามพร็อกซีในอิรัก ซีเรีย เยเมน บาห์เรน คูเวต และแม้แต่ภายในราชอาณาจักรเองก็ตาม ด้วยกำลังประชาชนส่วนน้อยชาวชีอะฮ์  อิหร่าน มองซาอุดิอาระเบีย ในฐานะผู้บ่อนทำลายตะวันออกกลางทั้งหมด แม้ว่าข้อกล่าวหา บางอย่างอาจไม่เป็นจริง หรือเป็นการพูดเกินจริง ทว่าทั้งสองประเทศต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อขัดแย้งในระดับภูมิภาค การแทรกแซงของซาอุดีอาระเบียในเยเมน พร้อมกับความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ล้วนแต่เป็นการเพิ่มความแตกแยกและสร้างความทุกข์ยากให้แก่ภูมิภาคนี้ ส่งผลทำให้มีผู้บริสุทธิ์นับพันๆคนต้องสูญเสียชีวิตในเยเมน

 __________________________

เกี่ยวกับผู้เขียน ( ที่นี่หมายถึงผู้สัมภาษณ์)

MARK KARLIN

บรรณาธิการประจำ BuzzFlash ของ Truthout  เขาทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์ BuzzFlash เป็นเวลา 10 ปีก่อนเข้าร่วมกับ Truthout ในปี 2010 BuzzFlash ได้ชนะรางวัล Project Censored Awards  จำนวน 4 รางวัล Karlin เขียนบทวิจารณ์ และบทความต่างๆ (มีตั้งแต่ที่เกี่ยวข้องกับ “สงครามยาเสพติด” ไปจนถึง บทวิจารณ์เกี่ยวกับศิลปะทางการเมือง) ให้แก่ Truthout ก่อนที่จะเข้าร่วมกับ Truthout – Karlin ได้เคยสัมภาษณ์ บุคคลสำคัญด้านวัฒนธรรมมากมาย ประเด็นเกี่ยวกับความคืบหน้าทางการเมือง และนวัตกรรมใหม่ๆทุกสัปดาห์เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้เขียนหลายคอลัมน์เกี่ยวกับ เรื่องโกหกหลอกลวงเพื่อจุดฉนวนสงครามในอิรัก

 __________________________

ที่มา: http://www.truth-out.org/opinion/item/37483-why-is-the-us-aligned-with-saudi-arabia