เมื่อคำนึงถึงอุตสาหกรรมการบริโภค และอุปโภค ในยุคโลกาภิวัฒณ์ที่มีการแข่งขันสูง บ่อยครั้ง เราได้รับรายงานเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ โลก มนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น ปัญหาการละเมิดแรงงาน สิทธิมนุษยชน สิทธิสัตว์ ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุมาจากมลภาวะต่างๆ
ในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางสังคม วัฒนธรรม การศึกษา และวิทยาการ ก็ได้ช่วยพัฒนามาตรฐานต่างๆ สำหรับรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และข้าวของอุปโภค บริโภค ในวัตถุประสงค์ เพื่อคุ้มครองมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ให้สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน มาตรฐานเหล่านี้ได้กลายมาเป็น “เครื่องหมาย” ที่ผู้คนมองหา ยามจับจ่ายใช้สอย ด้วยเชื่อว่า มันมีส่วนช่วยรับประกันคุณภาพชีวิตได้ในระดับหนึ่ง
รัฐบาลนานาชาติ และผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ทั้งหลาย จำต้องปรับตัว และพัฒนาคุณภาพของอาหาร และผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากลที่กำหนดโดยองค์กรที่ได้รับการรับรองต่างๆ เพื่อสร้างคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนให้เป็นที่ยอมรับ และมั่นใจจากผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นตลาดภายในหรือนอกประเทศ
ทั้งนี้ ในประเทศไทยของเรา มีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นองค์กรที่ให้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ว่ามีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กำหนด มีความปลอดภัยในการอุปโภค บริโภค มีประสิทธิภาพในการใช้งาน และมีคุณภาพสมราคา
อย่างไรก็ดี ในบทความชิ้นนี้ เราจะขออภิปรายอย่างเฉพาะเจาะจงในประเด็นเกี่ยวกับ เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน “ฮาลาล” และคำว่า “ฮาลาล” ในหลักศาสนาอิสลาม ที่คนไทย ซึ่งไม่ใช่ชาวมุสลิมอาจเคยได้เห็นมาบ้างแล้ว บนฉลากอาหาร และผลิตภันณ์ต่างๆ และในอีกประการหนึ่ง ผู้เขียนก็ประสงค์จะชี้แจงก่อนว่า บทความชิ้นนี้ เขียนขึ้นโดยมุสลิมคนหนึ่ง ที่มีความต้องการเพียงอยากนำเสนอทัศนะอิสลามจากมุมมองหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมิใช่ผู้มีความรู้ทางศาสนาในระดับของนักวิชาการ ที่สามารถชี้แจงถึงนัยยะเบื้องหลังหลักธรรมคำสอนของท่านศาสดา หรือ บทบัญญัติต่างๆของพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ตามที่ควรจะเป็น จึงต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วย หากมีสิ่งผิดพลาดประการใด
ฮาลาล
ประการแรก ผู้อ่านจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อันที่จริงแล้ว อิสลามที่แท้จริง ตามแบบที่ท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) นำมาเผยแพร่นั้น เป็นความเชื่อที่ครอบคลุมปรัชญาที่มีอยู่ในทุกๆแขนง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การแพทย์ การศึกษา ผู้คน สังคม และ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้เอง ทุกๆบทบัญญัติของพระเจ้า และทุกๆคำสอน และแบบฉบับของท่านศาสดา ไม่ว่าจะในเรื่องใด จึงไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อ ควบคุมความเชื่อ หรือ พฤติกรรมในการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคล ทว่ายังมุ้งเน้นไปยังการบริหาร และปกครองสังคมทั้งหมด ให้มีความสมดุล สันติ และมั่นคง
ในกรณีนี้ แน่นอนว่า บทบัญญัติว่าด้วยเรื่อง “ฮาลาล” เช่นเดียวกัน มิได้เป็นเพียงแค่ เครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหาร สำหรับการันตีให้ชาวมุสลิมสามารถบริโภค หรือ อุปโภคได้อย่างปลอดภัยภายใต้หลักเกณฑ์ความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “ฮาลาล” มีความหมายครอบคลุมยิ่งกว่าเรื่องของปากท้อง ซึ่งแตกต่างจากความเข้าใจโดยทั่วไปของผู้คนต่างศาสนา และแม้แต่ชาวมุสลิมบางคน ที่ไม่ได้มีความรู้ในศาสนาที่ตนนับถืออย่างถ่องแท้
คำว่า “ฮาลาล” โดยพื้นฐาน จัดเป็นศัพท์นิติศาสตร์อิสลามจากภาษาอาหรับ ให้ความหมายอย่างทั่วไปว่า กฎบัญญัติอนุมัติให้มุสลิมกระทำได้ อันได้แก่ การนึกคิด วาจา และการกระทำที่ศาสนาได้อนุมัติ เช่น ฮาลาล(อนุมัติ)สำหรับกิน ฮาลาล(อนุมัติ)สำหรับดื่ม ฮาลาล(อนุมัติ)สำหรับกระทำ ฮาลาล(อนุมัติ)สำหรับใช้สอย เป็นต้น ทั้งนี้การรับประทานเนื้อปศุสัตว์ที่ได้รับการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา การค้าขายโดยสุจริตวิธี การสมรสกันระหว่างชาย-หญิงตามกฎเกณฑ์ที่ได้ระบุไว้ และฯลฯ จึงจัดอยู่ในสิ่งที่เป็น ฮาลาล หรือ ที่ศาสนาอิสลามอนุมัติให้กระทำได้
ปรัชญาเบื้องหลัง “ฮาลาล” ในกิจการอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจบทบัญญัติ ว่าด้วยเรื่อง “ฮาลาล” ซึ่งถูกระบุอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ณ ที่นี้ ผู้เขียนจะขออภิปรายถึงวิทยปัญญาบางประการ เบื้องหลังบทบัญญัตินี้ ในแง่ของการค้าขาย หรือ ในอุตสกรรมการผลิต และจัดจำหน่าย เป็นกรณีศึกษาเฉพาะ และจะเป็นการอภิปรายว่าด้วยเรื่องดังกล่าวในสามด้านดังต่อไปนี้:
1) ฮาลาล คุ้มครองและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค/อุปโภค
ในทัศนะของพระผู้เป็นเจ้า ทุกๆสิ่งที่ผู้ประกอบการจะนำมาใช้สำหรับการผลิตและจัดจำหน่ายนั้น จะต้องได้รับการยืนยันว่ามีมาตรฐานที่ดี และถูกต้องตามกฎเกณฑ์ที่อิสลามอนุมัติ (ฮาลาล) ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต บรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการจัดจำหน่าย ในข้อนี้ครอบคลุมผู้ประกอบการ ที่บริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมในทุกๆขนาด แม้แต่แผงขายลอยเล็กๆ โดยจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค และใส่ใจที่จะมอบความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภคเป็นหลัก และไม่เพียงแต่เป็นการคำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นธรรมด้านกายภาพ และวัตถุ ทว่ายังรวมถึงด้านจิตวิญญาณอีกด้วย ดังเช่นที่มีกล่าวในอัลกุรอานว่า:
«يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ لاَ تَأْكُلُواْ أَمْوَالَكُمْ بَيْنَكُمْ بِالْبَاطِلِ إِلاَّ أَن تَكُونَ تِجَارَةً عَن تَرَاضٍ مِّنكُمْ» (النساء : 29
“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่ากินทรัพย์ของพวกเจ้าในระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ นอกจากมันจะเป็นการค้าที่เกิดจากความพอใจของทั้งสองฝ่าย…”
(อัล-นิสาอ์ 4: 29)
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการละเลย หรือ เพิกเฉยต่อปัจจัยที่สำคัญเหล่านี้ ในอิสลามจะถือว่า เขาได้ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งจัดอยู่ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน (ฮักกุนนาส) และเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้ารูปแบบหนึ่ง ขณะที่ผลกรรมของการละเมิดในลักษณะเช่นนี้ ร้ายแรงเป็นอย่างมาก ในทัศนะของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)
กรณีตัวอย่าง: อิสลามกำชับให้ซื้อ-ขายอาหาร ที่สะอาดถูกสุขลักษณะ
อิสลามเน้นย้ำให้ประชาชาติซื้อ-ขายอาหารที่สะอาด และถูกสุขลักษณะอนามัย ในกรณีหนึ่ง อิสลามไม่อนุมัติ หรือ ห้ามการซื้อ และจำหน่ายเนื้อสัตว์สำหรับบริโภค ที่ไม่ได้ถูกทำให้ถึงแก่ชีวิต อย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เช่น สัตว์ที่ตายจากการทารุณ สัตว์ที่โดนสัตว์อื่นฆ่าตาย สัตว์ที่เป็นโรคตาย และฯลฯ ด้วยเหตุนี้เอง เครื่องหมายรับรองมาตรฐานฮาลาล จึงไม่มีปรากฎอยู่บนฉลากอาหารบางยี่ห้อ เพราะไม่ได้รับการยืนยันว่า วัตถุดิบที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีที่มาที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์อิสลามหรือไม่ ทั้งนี้ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้ให้ข้อพิสูจน์ว่า บทบัญญัติว่าด้วยเรื่องดังกล่าวของอิสลามนั้น ส่วนหนึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพที่ดีของผู้คน
ศาสตราจารย์ Wilhelm Schulze และผู้ร่วมงานของเขา จากมหาวิทยาลัย Hannover University ประเทศเยอรมณี ได้ทำการยืนยัน ผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ในปี 1978 และได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่า การเชือดสัตว์สำหรับบริโภคตามกฎเกณฑ์ของอิสลาม ให้เนื้อสัตว์ที่มีความสะอาด และถูกสุขลักษณะอนามัยมากกว่า สัตว์ที่ไม่ได้ถูกทำให้ตายในวิธีเดียวกัน นอกจากนี้การเชือดสัตว์แบบอิสลาม ยังเป็นวิธีการฆ่าที่ไม่ทำให้สัตว์เจ็บปวด ทรมาน
ในระหว่างการทดลอง คลื่นไฟฟ้าในสมอง (EEG) และ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) จะถูกบันทึก เพื่อตรวจสอบสภาวะสมอง และหัวใจของสัตว์ที่ถูกนำมาสังหาร ระหว่างสัตว์ที่ถูกนำมาเชือดตามกฎเกณฑ์อิสลาม เปรียบเทียบกับสัตว์ที่ถูกฆ่าโดยทำให้สลบด้วยเครื่องมือกล (captive bolt stunning)
ผลของการทดลองพบว่า ภายใน 3 วินาทีแรกหลังจากการเชือดสัตว์ตามกฎเกณฑ์ของศาสนาอิสลาม คลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ของสัตว์ดังกล่าว ไม่ได้แสดงความเปลี่ยนแปลงใดๆ เทียบกับก่อนการเชือด สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า การเชือดอย่างรวดเร็วที่คอแบบอิสลามนั้น เป็นการตัดการไหลของเลือดไปยังประสาทของสมองที่มีส่วนทำให้เกิดความเจ็บปวด ดังนั้น สัตว์จึงไม่รู้สึกเจ็บปวด และขณะที่คลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ลดลงที่ระดับ 0 ปรากฎว่าหัวใจของสัตว์ที่ถูกนำมาเชือดตามกฎเกณฑ์ศาสนา ยังคงเต้นอยู่ และร่างกายของมันก็ยังคงกระตุก ทว่านั้นไม่ใช่เพราะความเจ็บปวด แต่เนื่องจากการหดตัวและการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ อันเนื่องมาจากการไหลของเลือด ปฏิกิริยานี้ ทำให้สัตว์หลั่งเลือดอย่างมากมาย ส่งผลดี ทำให้เนื้อของสัตว์ดังกล่าวมีความสะอาด และปลอดภัยจากสารพิษ จุลินทรีย์ และแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค จึงเหมาะแก่การบริโภค
ขณะที่การฆ่าสัตว์ โดยทำให้สลบด้วยเครื่องมือกล (captive bolt stunning) ตามแบบตะวันตก ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมแพร่หลายมากที่สุด ในโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่ กลับให้ผลลัพธ์ของการทดลองในทางตรงกันข้าม ซึ่งนอกจาก คลื่นสมอง (EEG) ที่ตรวจได้จะแสดงความเจ็บปวดของสัตว์ ทันทีหลังการยิงให้สลบแล้ว หัวใจของสัตว์ตัวดังกล่าวก็หยุดเต้นเร็วเกินไป ทำใหสัตว์ที่ตายไม่หลั่งเลือดออกเท่าที่ควร และเก็บกักเลือดภายในเนื้อมาก ส่งผลทำให้เนื้อสัตว์ดังกล่าว ไม่สะอาดและไม่ปลอดภัยจากเชื้อโรค และสารพิษ จึงไม่เหมาะสมแก่การนำไปบริโภค
.
.
อ่านต่อ ตอนที่ 2: อีกด้านของ”ฮาลาล”-ปรัชญาคุ้มครองผู้บริโภค สัตว์ ระบบนิเวศน์ และสวัสดิภาพของสังคมโดยรวม (ตอน2)