ซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม คือประธานสภาสูงสุดของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิรัก และเป็นหนึ่งในนักวิชาการศาสนาและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ท่านได้ถือกำเนิดในปี ค.ศ.1934 และเป็นชะฮีด (เสียชีวิตในหนทางของพระเจ้า) ด้วยการลอบสังหาร ติดตั้งระเบิดรถยนต์ ในปี ค.ศ.2003 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 รอญับ (ฮ.ศ.1424) ภายหลังจากที่ท่านได้เดินออกจากฮะรัม (สถานฝังศพ) ของท่านอิมามอะลี (อ.)ในการนมาซญุมอะฮ์ครั้งที่เก้าของท่าน ณ เมืองนะญัฟ อัลอัชร็อฟ ในปฏิบัติการก่อการร้ายครั้งนี้ ยังส่งผลทำให้มีผู้นมาซ จำนวน 95 คนได้เป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ไปพร้อมกับท่าน
ชะฮีดอยาตุลลอฮ์ ซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม เกิดในเมืองนะญัฟ โดยมารดาชาวเลบานอน แต่ต้นกำเนิดทางประวัติศาสตร์ของตระกูลอัลฮะกีม มาจากจังหวัดอิสฟาฮาน ของประเทศอิหร่าน
จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ชะฮีดซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม ได้เริ่มต้นกิจกรรมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ของตนตั้งแต่ในช่วงแรกของวัยหนุ่มของท่าน และในปี ค.ศ. 1959 ขณะที่มีอายุเพียง 21 ปี ท่านได้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค “ดะอ์วะตุ้ลอิสลาม” (حزب الدعوة الإسلامية / Islamic Dawa Party) ร่วมกับท่านอายะตุลลอฮ์ซัยยิดมุห์ซิน อัลฮะกีม บิดาของท่าน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในอิหร่าน ภายใต้นาม พรรค “อัดดะอ์วะฮ์” (حزب الدعوة)
ท่านชะฮีดซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม สำเร็จการศึกษาทางศาสนาในระดับ “อิจญ์ติฮาด” (การวินิจฉัยบทบัญญัติศาสนา) ในขณะที่มีอายุเพียง 26 ปี (ปี ค.ศ.1965) เป็นอาจารย์ด้านอัลกุรอานศึกษา (อุลูม อัลกุรอาน) ในวิทยาลัย “อุซูลุดดีน วัลอิลาฮียาต” (ด้านเทววิทยา) ของกรุงแบกแดด
ระหว่างที่พำนักอยู่ในอิรักในช่วงปี ค. ศ. 1962 ถึง ค.ศ.1975 ท่านได้ถูกจับกุมตัว 3 ครั้งโดยกองกำลังของพรรคบาธ และในครั้งสุดท้ายท่านได้ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่หลังจากผ่านไป 18 เดือน ท่านก็ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระด้วยการประกาศนิรโทษกรรม
ชีวิตในอิหร่าน และการเคลื่อนไหวทางทหารและทางการเมืองในการต่อต้านซัดดัม
ในช่วงหกเดือนแรกของปี ค.ศ.1983 ท่านซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม ได้ประสบความสำเร็จในการหลบหนีออกจากประเทศอิรักไปยังประเทศอิหร่าน ท่านได้รีบรุดในการจัดตั้งกองทัพ “อัลบะดัร” ซึ่งประกอบด้วยบรรดาชาวอิรักที่ลี้ภัยอยู่ในอิหร่าน หรือบรรดาผู้ที่ถูกอิหร่านจับกุมเป็นเชลยสงคราม (ในช่วงสงครามแปดปี) ที่กลับตัวกลับใจและต้องการที่จะสู้รบกับซัดดัม เคียงบ่าเคียงไหล่กับอิหร่าน
ในปี 1362 (ปีอิหร่าน) ท่านชะฮีดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม ได้จัดตั้งสภาสูงสุดของปฏิวัติอิสลามแห่งอิรักขึ้นในประเทศอิหร่าน ในช่วงเริ่มต้นของสภานี้ ท่านได้ทำหน้าที่เป็นโฆษกของสภา และนับจากปี 1366 (ปีอิหร่าน) ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของสภานี้ ด้วยการนี้ ท่านจึงสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางการเมืองของตนต่อไปได้
ท่านเป็น มัรเญี๊ยะอ์ตักลีด คนแรกที่ให้ความสำคัญต่อการออกฮุกม์ (คำสั่ง) ในการญิฮาด (ต่อสู้) กับบรรดาไซออนิสต์ (อิสราเอล) ผู้ยึดครองปาเลสไตน์ และถือว่าการต่อสู้ของชาวมุสสิมปาเลสไตน์กับบรรดาผู้ยึดครองชาวไซออนิสต์เป็นความชอบธรรมตามศาสนบัญญัติ
สถานภาพทางด้านวิชาความรู้และด้านนิติศาสตร์อิสลาม
ท่านซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม ได้เขียนหนังสือและตำราต่างๆ มากกว่า 60 เล่ม ในสาขาวิชาต่างๆ ของศาสตร์อิสลาม ซึ่งประกอบด้วยนิติศาสตร์อิสลาม (ฟิกฮ์) , ตัฟซีร (คำอรรถาธิบายอัลกุรอาน) , ศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอาน (อุลูม อัลกุรอาน) , สังคมวิทยา , เศรษฐศาสตร์ , ประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์
หน้าที่รับผิดชอบต่างๆ
ก่อนการเป็นชะฮีด ท่านซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม รับผิดชอบการเป็นประธานสภาสูงสุดของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิรัก, ผู้บัญชาการกองกำลัง “อัลบะดัร”, ประธานสภาสูงสุดของสมัชชาสมานฉันท์ระหว่างมัซฮับอิสลามโลก (ตักรีบ บัยนัลมะซาฮิบ) , รองสภาสูงสุดของสมัชชาฮะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) โลก, เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการของมหาวิทยาลัยอัลมะซาฮิบุลอิสลามียะฮ์ และยังรับผิดชอบสถาบัน “ดารุ้ลฮิกมะฮ์” นอกจากนี้ ท่านยังมีส่วนร่วมในการก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวของบรรดานักวิชาการศาสนา นักต่อสู้ (มุญาฮิด) ในอิรัก, กองกำลังทหารอาสาสมัคร, สภาสูงสุดของของปฏิวัติอิสลามแห่งอิรัก, องค์กรอัลบะดัร รวมถึงกองกำลังกลุ่ม “อัตเตาฮีด” และการก่อตั้งสถาบันชะฮีดอัศศ็อดร์, ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและศูนย์การแพทย์ชะฮีดอัศศ็อดร์ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งจากการดำเนินการของท่านชะฮีดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม
มุมมองของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ที่มีต่อชะฮีดมุฮัมมัดบากิรและครอบครัวอัลฮะกีม
ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับตระกูลอัลฮะกีม และการต่อสู้ต่างๆ ของพวกเขาในอิรัก ในโอกาสต่างๆ ท่านจะออกสาส์นและกล่าวรำลึกถึงชื่อของบรรดาผู้มีเกียรติเหล่านั้น เพื่อให้ดำรงอยู่ต่อไปในสังคมอิสลาม ในคำพูดประโยคหนึ่ง ท่านได้ให้สมญานามตระกูลอัลฮะกีมว่า “ตระกูลแห่งชะฮีดและนักปราชญ์อิสลาม” ในอีกคำพูดหนึ่ง ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ได้กล่าวว่า : “พวกท่านทั้งหลาย เราได้เห็นแล้วว่า พรรคที่ชั่วราย (หมายถึงพรรคบาธ) นี้ ได้ทำอะไรกับมัรฮูมอายะตุลลอฮ์อัลฮะกีม และลูกๆ ของท่าน และซัยยิดผู้มีเกียรติ ผู้ถูกอธรรมท่านนี้ ในบั้นปลายชีวิต ได้กลับไปพบบรรพบุรุษผู้มีเกียรติของท่าน ในสภาพที่หัวใจโชกไปด้วยเลือดอย่างไร และพวกท่านก็ได้เห็นการจับกุมคุมขัง การทรมานและบีบคั้นลูกหลานผู้มีเกียรติของท่าน”
คำปราศรัยในนมาซวันศุกร์ในกรุงเตหะราน และการอำลาด้วยน้ำตาต่อประชาชนและรัฐบาลอิหร่าน
ในช่วงวันสุดท้ายของการพำนักอยู่ในประเทศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ท่านชะฮีดซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม ได้กล่าวคำปราศรัยก่อนคุฏบะฮ์ของนมาซวันศุกร์ในกรุงเตหะราน ซึ่งบางช่วงของคำปราศรัยของท่าน กล่าวคลอไปด้วยน้ำตา โดยท่านได้กล่าวพูดคุยกับประชาชนชาวอิหร่าน และเกี่ยวกับผลต่างๆ ของการพำนักอยู่ในประเทศนี้ว่า :
“ตลอดระยะเวลาที่ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้ ข้าพเจ้าได้หายใจด้วยลมหายใจของบรรดานักวิชาการศาสนา (อุละมาอ์) และบรรดาชะฮีดผู้มีเกียรติของอิหร่าน บรรดาบุคคลสำคัญอย่างเช่น ท่านอิมามโคมัยนี บรรดาชะฮีด และบรรดานักต่อสู้ที่มีเกียรติของอิหร่านนั้น ข้าพเจ้าได้เรียนรู้บทเรียนจากผู้มีเกียรติเหล่านี้ และในสถานที่แห่งนี้ ข้าพเจ้าได้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ข้าพเจ้าเองไม่สามารถที่จะสาธยายได้ในช่วงเวลาอันสั้นนี้ โลกที่เต็มไปด้วยความเสียสละ ความกล้าหาญ ความอดทน การยืนหยัดอย่างมั่นคงและชัยชนะต่างๆ แห่งพระเจ้า โลกที่เปี่ยมไปด้วยการสร้างสรรค์ของประเทศที่มีเกียรตินี้ ประเทศที่มีศักดิ์ศรี ประเทศอิสลาม ประเทศที่ผูกพันอยู่กับอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) สถาบันศึกษาศาสนา ประเทศของอิมามและประเทศของบรรดาผู้ที่มีความรักผูกพันต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ตลอดช่วงเวลาทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้าได้ใช้ชีวิตอยู่กับความมีเกียรติ ความมีศักดิ์ศรี ความรัก ความเมตตาและการต่อสู้ (ญิฮาด) ในอิหร่าน”
สาส์นของผู้นำสูงสุด ที่มีต่อชะฮีดซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม
ในสาส์นฉบับหนึ่ง ท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลามได้กล่าวประณามอาชญากรรมที่นำไปสู่การเป็นชะฮีดของท่านซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม ในเนื้อหาส่วนหนึ่งของสาส์นฉบับนี้ ท่านกล่าวว่า : “มือที่ชั่วร้ายของเหล่าคนชั่ว สมุนรับใช้ของมหาอำนาจจอมอหังการ ได้ก่ออาชญากรรมอันใหญ่หลวงนี้ขึ้น อาชญากรรมที่ได้เอาบุคคลผู้ทรงคุณค่า ซึ่งนับได้ว่าเป็นปราการอันแข็งแกร่งในการเผชิญหน้ากับการยึดครองอิรักไปจากชาวอิรักและได้ทำลายปราการนี้ลง”
ซัยยิดผู้ไม่มีใครเหมือน
นอกจากนี้ ในการเข้าพบกับน้องชายของชะฮีดท่านนี้ ผู้ซึ่งเช่นเดียวกัน ดำรงตำแหน่งประธานสภาสูงสุดของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิรัก (ซัยยิดอับดุลอะซีซ อัลฮะกีม) ท่านผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่านยังได้กล่าวยกย่องชื่นชมความศรัทธา (อีหม่าน) , ความกล้าหาญ, ความปราดเปรื่อง และความความมีวิสัยทัศน์ที่แหลมคมของชะฮีดอายะตุลลอฮ์ซัยยิดมุฮัมมัด อัลฮะกีม ท่านกล่าวว่า : “แม้ว่าการเป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ของ “ซัยยิดผู้ไม่มีใครเหมือน” นี้จะนำมาซึ่งความสูญเสียสำหรับประชาชนชาวอิรักและประชาชาติอิสลาม แต่เนื่องจากลักษณะพิเศษต่างๆ ทางด้านบุคลิกภาพของอายะตุลลอฮ์ฮะกีม (ผู้นี้) จะทำให้การเป็นชะฮีดของท่านส่งผลกระทบเป็นพิเศษต่อแนวโน้มของสถานการณ์ในอิรักด้วยเช่นกัน”
นอกจากนี้ ในเดือนโครด๊อด ปี 1396 (ปีอิหร่าน ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา) ในระหว่างการเข้าพบของบรรดานักกวีและสมาชิกในวงการที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านวัฒนธรรม ท่านกล่าวว่า : “ประชาชนจำนวนมากไม่ทราบว่าบรรดาเจ้าหน้ารัฐบาลสหรัฐฯ มีเป้าหมายอะไรในอิรัก และหัวของพวกเขาต้องโขกกับหิน (เนื่องจากความล้มเหลว)อย่างไร แต่ประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญมากและจำเป็นต้องอธิบาย ก็คือ การที่ “อิรักของซัดดัม” ได้กลายเป็น “อิรักของชะฮีดอัลฮะกีม” ได้อย่างไร !”
วันที่หนึ่งของเดือนรอญับ ที่ผ่านมาในปีนี้ ถือเป็นวันครบรอบสิบห้าปีของการเป็นชะฮีดของท่านอายะตุลลอฮ์ซัยยิดมุฮัมมัดบากิร อัลฮะกีม และในอิรัก จะมีการจัดงานเพื่อรำลึกถึงเกียรติคุณและเกียรติประวัติของชะฮีดผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้เป็นประจำทุกปี