วิเคราะห์ความเสียหาย และความสำเร็จ ปฏิบัติการ “ชะฮีดสุไลมานี – ชี้ทรัมป์ปฏิเสธจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นเรื่องน่าสงสัย!

551

วันพุธที่ผ่านมา โลกได้เป็นพยานให้แก่อีกหนึ่งเหตุการณ์สุดระทึกในประวัติศาสตร์สงครามต่อต้านการก่อการร้าย – เมื่อกองทัพพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน(IRGC) ได้เปิดฉากล้างแค้นให้แก่นายพลกอเซ็ม สุไลมานี หนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดในวงการปราบปรามผู้ก่อการร้ายไอสิส (ISIS) ในตะวันออกกลาง จากคำสั่งลอบสังหาร โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ด้วยข้ออ้างที่ปราศจากหลักฐานสนับสนุนใดๆว่า สุไลมานี เป็นภัยคุกคามที่มีความมุ่งมั่นก่อการร้ายสหัฐฯ

ในปฏิบัติการชื่อ “ชะฮีดสุไลมานี” (Martyr Soleimani) โดยใช้ขีปนาวุธแบบทิ้งตัว(Ballistic) 12 ลูก อิหร่าน ได้โจมตีเป้าหมายฐานทัพอากาศสหรัฐ อัยนุลอะซัด ในจังหวัดอันบาร์ และอีกฐานในเมืองเออร์บิล ในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานของประเทศอิรัก เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการยืนยัน ทั้งจากฝั่งของแพนตากอน และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

ความเสียหาย

มีการรายงานตรงกันของสื่ออิหร่าน กรณีความแม่นยำของขีปนาวุธดังกล่าว อาทิ สำนักข่าว Fars News, PressTV  และ Tasnim News สื่ออิหร่านที่มีความใกล้ชิดกับ IRGC

โดยอ้างอิงไปยังข้อมูลข่าวกรองของกองทัพ IRGC – Fars News และ Tasnim News เปิดเผยว่า ขีปนาวุธหลายสิบลูกถูกยิงเข้าใส่เป้าหมายอย่างแม่นยำ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 80 ราย บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 200 คน

โดย นายพลจัตวาอาเมียร์ อาลี ฮาจิซาเดะห์ ผู้บัญชาการกองทัพอวกาศ ในสังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามอิหร่าน (IRGC) ยังได้แถลงด้วยว่า หลังปฏิบัติการ กองกำลังอย่างน้อย เครื่องบิน C-130  บินขึ้นลง 9  เที่ยวบิน เพื่อขนส่งผู้บาดเจ็บไปยังจอร์แดนและอิสราเอล  และเฮลิคอปเตอร์ Shinok บางลำ ก็ได้ลำเลียงส่งผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลของอเมริกาในเขตบริเวณสถานทูตอเมริกาในแบกแดด

ด้าน Press TV สื่อภาคภาษาอังกฤษของอิหร่าน ระบุว่า ขีปนาวุธหลายสิบลูก ถูกยิงเข้าใส่ฐานทัพสหรัฐทั้งสองจุด โดยไม่มีขีปนาวุธลูกใดถูกสกัดได้ระหว่างการโจมตี และตกลงสู่เป้าหมายอย่างแม่นยำ

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ภายหลังจากนั้น กลับชี้แจงไปในทางตรงกันข้าม ทรัมป์กล่าวว่า ขีปนาวุธอิหร่านสร้างความเสียหายแก่ฐานทัพสหรัฐเพียงน้อยนิดเท่านั้น และไม่มีทหารหรือเจ้าหน้าที่คนใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ความแตกต่างจากรายงานของทั้งสองฝ่าย ได้สร้างความสับสน ทั้งในด้านขนาดของความเสียหายและตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวตะวันตก หลายเจ้าได้มีการตรวจสอบภาพถ่ายผ่านดาวเทียมฐานทัพสหรัฐทั้งสองจุด เพื่อประเมินความเสียหาย

New York Times  สื่อชั้นนำของสหรัฐ เช่นเดียวกับสำนักข่าว Reuters  และ Mirror ของอังกฤษ และฯลฯ ได้เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมฐานทัพอัยนุลอะซัดจาก Planet Labs Inc. บริษัทดาวเทียมเอกชน โดยเปรียบเทียบความเสียหายกับภาพถ่ายดาวเทียมที่ถูกบันทึกไว้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมเมื่อปีที่ผ่านมา เผยให้เห็นสิ่งปลูกสร้างถูกทำลาย 7 จุดจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธ

Reuters รายงานเพิ่มเติมว่า ในบรรดาอาคารที่เสียหาย พบว่าอย่างน้อย 3 จุดเป็นอาคารโรงเก็บเครื่องบิน นอกจากนี้ยังพบว่าอาคารบางจุดถูกทำลายอย่างหนักหน่วง ขณะที่อาคารอื่นเหลือโครงสร้างเป็นบางส่วน

ในขณะที่รายงานของสำนักข่าว Mirror  อ้างว่า อาคารอย่างน้อย 5 แห่งถูกทำลาย และยังอ้างอิงบทวิเคราะห์ของ David Schmerler นักวิเคราะห์จากสถาบัน Middlebury ที่เปิดเผยว่า ในบางจุดนั้นถูกขีปนาวุธโจมตีเข้ากลางเป้าหมายอย่างแม่นยำ

เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายผ่านดาวเทียมที่ถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวตะวันตก ร่วมกับการรายงานของสำนักข่าวอิหร่านที่อ้างอิงแหล่งข่าวทางทหารที่ระบุ ในบรรดาสิ่งปลูกสร้างที่ตกเป็นเป้าหมาย มีอาคารหอบังคับการบินที่ทำหน้าที่ควบคุมการขึ้นลงของเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินรบและอากาศยานไร้คนขับ ถูกทำลายจนไม่สามารถใช้การได้ จึงสามารถสรุปได้ว่า ในส่วนของสินทรัพย์นั้น ความเสียหายมีขนาดใหญ่เป็นอย่างมาก

ขณะที่ในส่วนของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานตัวเลขที่ชัดเจนออกมาอย่างเป็นทางการ มีเพียงสำนักข่าวอิหร่านที่รายงานอ้างอิงจากหน่วยข่าวกรองกองทัพอิหร่านว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีดังกล่าวอย่างน้อย 80 ราย บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 200 คน

อย่างไรก็ตาม มีการเผยแพร่ข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ Jack Khoury ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวชาวยิวรายงานอ้างอิงจากสำนักข่าว Haaretz ของอิสราเอลระบุว่า มีทหารสหรัฐที่บาดเจ็บจากการโจมตีฐานทัพอัยนุลอะซัด 224 นาย ถูกนำมากับเครื่องบินลำเลียงทหารลงจอดในกรุงเทลอาวีฟ และถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ Tel Aviv Sourasky แต่หลังจากที่เขาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้ไม่นาน บัญชีผู้ใช้ของเขาก็ถูกปิดแต่มีผู้ใช้รายอื่นที่แคปเจอร์โพสต์ดังกล่าวไว้ได้

ในขณะที่สำนักข่าว Xinhua ก็รายงานความน่าจะเป็นโดยอ้างอิงจากเจ้าหน้าที่กองทัพอิรักระบุว่า ขีปนาวุธหลายลูกโจมตีเป้าหมายในฐานทัพอากาศอัยนุลอะซัด ซึ่งเป็นฐานทัพขนาดใหญ่และมีทหารสหรัฐประจำการอยู่หลายร้อยนาย แต่ก็ไม่สามารถรายงานตัวเลขความเสียหายที่แน่นอนได้

ความสำเร็จ

ประเด็นเกี่ยวกับความเสียหายข้างต้น ยังจำเป็นต่อการพิสูจน์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้เสพสื่อทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรแก่การตั้งข้อสังเกต เพื่อประเมินข้อเท็จจริงเพิ่มเติม คือ ท่าทีของทรัมป์ และผู้นำสูงสุดอิหร่าน รวมถึงการดำเนินการต่างๆของฝ่ายสหรัฐฯ และอิหร่าน ภายหลังจากเหตุถล่มฐานทัพทั้งสองแห่ง

ท่าทีของสหรัฐฯ

ด้านของทรัมป์และรัฐบาลสหรัฐฯ ปรากฏว่า รัฐบาลอเมริกาได้ดำเนินการถอนทหารออกจาก 2 ค่ายที่สำคัญ ในซีเรีย โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ต่อมา มีข่าวว่าอเมริกาถอนทหารออกจากบางค่ายใน คูเวต 

เช่นเดียวกัน การตัดสินใจนี้ มีนัยยะว่า  สหรัฐฯ ไม่สนใจบ่อน้ำมันในซีเรีย อย่างที่พยายามจะครอบครองมาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่น่าเหลือเชื่อ

ประการต่อมา สังเกตจากแถลงการณ์ของทรัมป์ ที่มีท่าทีอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด โดยไม่มีการกล่าวคุกคามอิหร่านใดๆ เหมือนอย่างที่เคยประกาศไว้ว่าจะโจมตีอิหร่าน 52 จุด ถ้อยแถลงที่แผ่วลงต่างๆ ชี้ว่า ทรัมป์ได้ยุติการข่มขู่อิหร่าน ด้วยมาตรการทางทหาร บอกว่า แม้ว่าจะมีขีปนาวุธที่แข็งแกร่ง และไวมาก แต่อเมริกาก็ไม่ได้มีเจตนาจะใช้ และจะหันไปคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับอิหร่านแทน

โดนัลด์ ทรัมป์เรียกร้องให้นาโต้หรือยุโรปเข้ามามีส่วนร่วมในปัญหากับอิหร่าน ทว่านาโต้กลับปฏิเสธ โดยถือว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจาก การลอบสังหารนายพลสุไลมานี เป็นปัญหาระหว่างอเมริกากับอิหร่าน

ท่าทีของอิหร่าน

ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ซัยยิดอะลี คาเมเนอี กล่าวว่า การโจมตีค่ายทหารอเมริกาทั้งสองแห่งนั้น “เป็นเพียงแค่การ ตบหน้า” ไปยังสหรัฐฯเท่านั้น และหากอเมริกายังจะตอบโต้อิหร่านอีก อิหร่านจะไม่มีทางประนีประนอม และไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ยังแถงการณ์ให้อเมริกาถอนทหารออกจากภูมิภาค และหยุดคุกคามอิหร่านด้วย

เช่นเดียวกับด้านของนายพลจัตวาอาเมียร์ อาลี ฮาจิซาเดะห์ ที่ได้ระบุว่า “การโจมตีด้วยขีปนาวุธต่อหนึ่งในฐานทัพที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาในปฏิบัติการที่มีชื่อว่า “ชะฮีดสุไลมานี” (Martyr Soleimani) เป็นการเริ่มต้นของการปฏิบัติการครั้งใหญ่ที่จะดำเนินการต่อไปทั่วทั้งภูมิภาค

นอกจากนี้ เขายังกล่าวเสริมว่า  เราไม่ได้มีเป้าหมายที่จะสังหารใครก็ตาม อย่างไรก็ตามมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบคนและดำเนินการเคลื่อนย้ายโดยเครื่องบิน C-130  เราสามารถดำเนินการในลักษณะที่ทำให้ทหารสหรัฐ 500 คนจะถูกฆ่าตายในขั้นตอนแรก และหากพวกเขาตอบสนองในขั้นตอนที่สองและสาม การบาดเจ็บล้มตายของพวกเขาจะสูงถึง 4,000 ถึง 5,000 คน ภายใน 48  ชั่วโมง

ทั้งยังมีการกล่าวเสริมอย่างชัดเจน อีกด้วยว่า หากอเมริกาไม่หยุด ขีปนาวุธชุดที่ 3 จะไปลงที่ “ดูไบและอิสราเอล”

ประเด็นนี้ สอดคล้องกับการวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์อื่นๆ ที่ประเมินว่า อิหร่านเพียงต้องการโชว์ประสิทธิภาพของอาวุธให้สหรัฐฯ เห็น โดยไม่มีเจตนาหมายเอาชีวิตทหารอเมริกัน

ภายหลังจากการตรวจสอบผลกระทบจากการโจมตีของอิหร่าน ณ ฐานทัพอากาศอะซัดของสหรัฐฯ ผ่านภาพถ่ายดาวเทียม Dara Massicot ผู้ชำนาญการวิเคราะห์ทางทหาร ประจำกรุงวอชิงตันดีซี ทวิตบอกว่า ดูเหมือนการโจมตีของอิหร่าน “จะมีเป้ามหายเพื่อทำลายศักยภาพทางทหารในค่าย”

เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ที่ได้รับการเผยแพร่ในสำนักข่าว RT  ของรัสเซีย และเว็ปไซต์ของสถาบัน รอน พอล เขียนโดย Scott Ritter อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองนาวิกโยธินสหรัฐ ซึ่งเคยทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบอาวุธของสหประชาชาติ ระหว่างปี 2534-2541 ระบุว่า ประเมินจากการโจมตีดังกล่าวแล้ว ที่จริงอิหร่านมีศักยภาพที่จะโจมตีอเมริกัน หรือเอาชีวิตทหารอเมริกัน แต่ไม่ได้ประสงค์เช่นนั้น  อันดับแรก “อิหร่านได้ สื่อสารถึงความตั้งใจที่จะโจมตีเป้าหมายของสหรัฐฯในอิรักโดยตรง ต่อนายกรัฐมนตรีอิรักสองชั่วโมงเต็ม ก่อนที่จะมีการเปิดตัวขีปนาวุธ อิรักจึงแบ่งปันข้อมูลนี้กับผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ซึ่งสามารถทำให้แน่ใจว่า กองทหารสหรัฐทุกคนอยู่ในสถานพักพิงที่แข็งแกร่งในเวลาที่มีการโจมตี

แม้สหรัฐฯจะมีเวลาเตรียมตัวหลายวันก่อนอิหร่านจะเปิดฉากชำระแค้น ทั้งยังได้รับข่าวอย่างชัดเจนล่วงหน้า แต่ท้ายที่สุดอิหร่านก็สามารถถล่มฐานทัพสหรัฐฯ ได้ บ่งบอกว่า อิหร่านมีเจตนาพิสูจน์ให้สหรัฐฯ เห็นว่า ระบบป้องกันภัยของอเมริกาไม่สามารถสกัดขีปนาวุธของอิหร่านได้ ทั้งอิหร่านยังสามารถกำหนดเป้าหมายการโจมตีได้อย่างแม่นยำ ถือเป็นการเตือนให้สหรัฐฯ รู้ว่าตนมีศักยภาพเพียงพอ และหากสหรัฐฯ คิดจะตอบโต้ ก็จะดำเนินการขั้นที่มีความหนักหน่วงยิ่งไปกว่านี้

ความเป็นไปได้

หากตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิต 80 คน ถือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงของอิหร่าน ก็เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด ทรัมป์จึงยอมถอย และมีถ้อยแถลงที่แผ่วเบาลง นายพลสุไลมานี ได้ถูกสหรัฐฯ ลอบสังหาร ทว่าปฏิบัติการชำระแค้นให้แก่เขา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า อิหร่านไม่ได้มีความตระหนกไปยังศักยภาพทางทหารของศัตรูแต่อย่างใด

การเลือกมาตรการการคว่ำบาตร แทนที่มาตรการทางทหารเพื่อตอบโต้ไปยังอิหร่าน จากท่าทีของทรัมป์ ชี้ว่า ศักยภาพขีปนาวุธของอิหร่านได้สร้างความตกตะลึงให้แก่สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต้ ถือได้ว่า อิหร่านได้ทำลายกองทัพอเมริกันทั้งหมดในภูมิภาคในเชิงสัญลักษณ์ ทำให้ทรัมป์ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากการถอยทัพมาตั้งหลัก เพราะหากทรัมป์คิดจะดำเนินการรุกรานอิหร่านอีก งานนี้จะส่งผลให้อิหร่านทำการตอบโต้ไปยังฐานทัพอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ตอนนี้ การโจมตีล่าสุดของอิหร่านได้สร้างข้อกังขาไว้แล้วว่า กองทัพเหล่านั้นจะสามารถรับมือกับขีปนาวุธของอิหร่านได้หรือไม่? เพราะประเทศต่างๆ เหล่านั้น ต่างก็ใช้เทคโนโลยีทางทหารของสหรัฐฯ ทั้งสิ้น

เป็นไปได้ว่า อิหร่านจะโจมตีทหารอเมริกันจนสูญเสียชีวิตไปมากกว่านี้ ท้ายที่สุด จะส่งผลกระทบให้เกิดการประท้วงอย่างยิ่งใหญ่ในสหรัฐฯ และทรัมป์จะหมดสิทธิ์ขึ้นมาดำรงประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกต่อไปในภายหลัง

ในแง่หนึ่ง ระหว่างที่การรุกรานอิหร่านของสหรัฐฯ หยุดชะงักนี้ มีแนวโน้มสูงที่โครงสร้างทางพันธมิตรของอิหร่านจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งในอิรัค ซีเรีย เยเมน รัสเซีย จีน จะยิ่งมีความสามัคคี นำไปสู่อิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลางในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่การตายของนายพลสุไลมานี ได้นำไปสู่การรวมตัวของเครือข่ายต่อต้านจักรวรรดนิยมอเมริกา ลัทธิไซออนิสม์ (อิสราเอล) และลัทธิวะฮาบีย์ บ่อเกิดไอสิส (American Imperialism, Zionism, Wahhabism) ซึ่งเป็น 3  ลัทธิเจ้าปัญหาในตะวันออกกลาง

ท้ายที่สุดแล้ว ยังคงเป็นที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า อเมริกาจะเคลื่อนย้ายฐานทัพของตนออกไปจากภูมิภาค ตามคำเรียกร้องของอิหร่านหรือไม่ หากอเมริกา ยอมถอนฐานทัพของตนกลับประเทศจริง สิ่งนี้จะชี้ว่า สหรัฐฯ ได้พบกับไม้เด็ดจากอิหร่าน ที่ยังไม่กล้าเปิดเผย

อย่างไรก็ดี มีการวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกเกี่ยวกับการล่มสลายของอิทธิพลสหรัฐฯ อาทิ การวิเคราะห์ของศาสตราจารย์ Michel Chossudovsky  เจ้าของงานเขียนหลายรางวัล ซึ่งได้ชี้ว่า การลอบสังหารนายพลสุไลมานี ได้นำจักรวรรดิอเมริกันมาสู่ จุดที่ไม่เหลือเรี่ยวแรงแล้ว และกำลังรอเวลา “ถูกเขี่ยออกจากตะวันออกกลาง”

เช่นเดียวกันกับบทวิเคราะห์ของนักเขียน Bruce Gagnon

ที่วิเคราะห์ว่า ‘จักรวรรดินิยมอเมริกาจบแล้ว เหลือแต่เวลาเท่านั้นว่าจะไปอย่างสมบูรณ์เมื่อไหร่’…