เปิดประวัติ ซัยยิดอิบรอฮิม ระอีซี ปธน. สายอนุรักษนิยมคนใหม่ของอิหร่าน!

582

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 13 ประจำปี 2021 อยาตุลลอฮ์ ดร. ซัยยิดอิบรอฮิม ระอีซี เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง และกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ด้วยเสียงโหวตสนับสนุนอย่างถล่มทลาย ขั้นสุดท้าย 17.9 ล้านคะแนนเสียง

ในการแถลงข่าว วันนี้ อับดุลเรซา ระฮ์มานี ฟัซลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งอิหร่าน กล่าวว่า จากคะแนนเสียงทั้งหมด 28,933,004 เสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซัยยิดระอีซี ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 17.9 ล้านเสียง รองลงมาคือ โมฮ์ซิน ราซาอี ซึ่งได้คะแนนไป 3.4 ล้านเสียง

อยาตุลลอฮ์ ดร. ซัยยิดอิบรอฮิม ระอีซี นักการศาสนา ผู้สืบเชื้อสายของท่านศาสดามูฮำหมัด(ศ็อลฯ) ด้วยสัญลักษณ์อามาม่า (ผ้าโพกหัวสำหรับนักการศาสนา) สีดำ ในวัย 61 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุดฝ่ายตุลาการอิหร่าน อันเป็นตำแหน่งปัจจุบัน ก่อนเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด ได้เคยดำรงตำแหน่งอื่นๆ อีกหลายตำแหน่งในฝ่ายตุลาการของอิหร่าน นับตั้งแต่ที่เขามีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ของการปฏิวัติอิสลาม จนกระทั่งการปฏิวัติฯ ได้รับชัยชนะในปี ค.ศ. 1979 ซึ่งเขาได้รับเลือกจาก อยาตุลลอฮ์ ดร. ชะฮีด เบเฮชตี ให้เข้าสู่หน่วยงานการพิจารณาคดีของสาธารณรัฐอิสลามที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น โดยเพิ่มเติมจากนี้ เขายังได้รับตำแหน่งอัยการของเมืองการาจ และเมื่อฮาเมดาน

จากนั้น ด้วยความมุ่งมั่น และความเชี่ยวชาญในทางกฎหมาย ในปี ค.ศ. 1988 เขาได้รับมอบหมายจากอิมามโคมัยนี(รฎ) ผู้สถาปนารัฐปฏิวัติอิสลามอิหร่าน ให้ทำหน้าที่ตุลาการพิเศษโดยตรงสองครั้ง 5 ปีในฐานะอัยการกรุงเตหะราน ดำรงตำแหน่งในฐานะหัวหน้าองค์กรตรวจสอบทั่วไป 10 ปี และทำหน้าที่ 10 ปีในฐานะรองอันดับหนึ่งประมุขฝ่ายตุลาการ (ตั้งแต่ปี 2004-2014) ก่อนได้รับตำแหน่งประมุขสูงสุดฝ่ายตุลาการ นับจากปี 2019 เป็นต้นมา

ในปี ค.ศ. 2016 ซัยยิดระอีซี ได้รับการแต่งตั้งจาก อยาตุลลอฮ์ ซัยยิดอะลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดรัฐปฏิวัติอิสลามฯ ให้เป็นประธานประจำมูลนิธิ Astan Quds Razavi ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ดำเนินการจัดการสถานที่ฝังเรือนร่าง(ฮารัม) ของท่านอิมามอะลี อัรริฎอ (อ) อิมามลำดับที่ 8 ของมุสลิมชีอะฮ์ ณ เมืองมัชฮัดอันศักดิ์สิทธิ์

ประธานาธิบดีคนใหม่ของสาธารณรัฐอิสลามฯ เกิดในปี 1960 จากครอบครัวนักการศาสนาที่เคร่งครัด ในเมืองมัชฮัด และสูญเสียผู้เป็นบิดาไปเมื่ออายุได้ห้าขวบ เขาใช้เวลาในวัยเด็กด้วยการเรียนหนังสือควบคู่กับการทำงานและขายของ เขาได้เข้าเรียนที่สถาบันศึกษาศาสนา ในเมืองมัชฮัด เมื่ออายุ 12 ปี และเมื่ออายุ15ปี ได้เข้ามาศึกษาต่อที่เมืองกุม

ในด้านศาสนา เขาได้ศึกษาจนถึงขั้นระดับอิจญติฮาด(วินิจฉัยปัญหาศาสนา) และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 ได้เป็นตัวแทนของประชาชนชาวโคราซานตอนใต้ ในสมัชชาผู้เชี่ยวชาญ และตั้งแต่ปี 2018 ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก เขาได้รับเลือกให้เป็นรองประธานคนแรกของสมัชชาผู้เชี่ยวชาญ

นอกเหนือจากการศึกษาด้านศาสนา ซัยยิดระอีซียังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท ด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล และในระดับปริญญาเอก ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ด้านนิติศาสตร์และพื้นฐานกฎหมายอิสลามจากมหาวิทยาลัยชะฮีดเบเฮชตี เขาได้ประพันธ์หนังสือเกี่ยวกับนิติศาสตร์ และกฎหมายเฉพาะทางหลายเล่ม ทั้งยังเป็นอาจารย์สอนหลักสูตรกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยในกรุงเตหะราน และสอนวิชาหลักนิติศาสตร์ระดับสูง ประจำสถาบันการศึกษาศาสนา

ในฐานะประมุขฝ่ายตุลาการ ซัยยิดรออีซี ถือเป็นหัวหอก ในการต่อกรกับการคอรัปชั่นทางการเงิน และการติดสินบนในอิหร่าน ผลงานการจัดการกับผู้ต้องขังในข้อหาคอรัปชั่นอย่างมากมายและเด็ดขาด ทำให้ซัยยิดผู้นี้ มีชื่อเสียงเลื่องลือ ไปจนถึงสื่อต่างประเทศว่า เป็นเจ้าหน้าที่สายอนุรักษนิยม ผู้ไม่ยอมเพิกเฉยให้กับความฉ้อฉลใดๆ ที่เกิดขึ้นกับรัฐอิสลามฯ อย่างง่ายดาย

ในการปราศรัยกับสื่อ ภายหลังการลงทะเบียนเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซัยยิดระอีซี กล่าวว่า เขาไม่ได้พิจารณาตนเองในฐานะคู่แข่งกับกลุ่มการเมือง แต่ทว่า ในฐานะผู้ต่อต้าน “ความฟุ่มเฟือยและการทุจริต”

ซัยยิดระอีซี กล่าวว่า เขาจะทำการบริหารอยู่บนนโยบายของการต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่น และการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาความยากจน การว่างงาน และปัญหาเงินเฟ้อ

ซัยยิดระอีซี ยังให้คำมั่นว่าจะจัดตั้ง “การบริหารตามความยุติธรรม” และกล่าวว่า “สโลแกนการเลือกตั้งของข้าพเจ้า คือ การสร้างการบริหารที่ได้รับความนิยม ซึ่งมุ่งเป้าไปยังการสร้างชาติอิหร่านที่เข้มแข็ง ด้วยความมานะบากบั่น และเกียรติศักดิ์ศรี
________
ที่มา: PressTv, raisi.ir