ในรอบทศวรรษที่ผ่านมานี้ ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นอู่แห่งอารยธรรมและสถานที่กำเนิดของศาสนาที่ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวสามศาสนา ได้กลายเป็นจุดวาบไฟสำหรับกลุ่มผู้คลั่งไคล้ศาสนาและลัทธิฟาสซิสม์ ประชาชนทั่วไปเริ่มมีความคุ้นเคยกับการเชื่อมโยงความรุนแรงเข้ากับศาสนาอิสลาม จนถึงขนาดที่มีความรู้สึกทั่วไปว่าศาสนาอิสลามคือการแสดงออกถึงความคลั่งไคล้ศาสนาเท่ากับความดีงาม
แต่การประเมินเช่นนั้นโดยทั่วไปยังขาดการคำนึงถึงแนวคิดสุดโต่งที่มีอันตรายเท่าเทียมกันที่กำลังตีแผ่อยู่ในภูมิภาคนี้มาหลายทศวรรษแล้ว นั่นก็คือ ลัทธิไซออนิสต์
“ถึงแม้ว่ามันอาจจะเป็นแนวความคิดที่ไม่เป็นที่นิยมและไม่ถูกต้องทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง แต่ลัทธิไซออนิสต์ยังคงเป็นความจริงที่ประชาคมโลกไม่อาจทำเป็นไม่รับรู้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันมีแนวคิดในการถือสิทธิ์และรับรองตัวเองในการทำลายล้างประชาชาติหนึ่ง นั่นคือประชาชาติมุสลิม” แรบไบเมียร์ เฮิร์ช สมาชิกของ Neturei Karta บอกกับสำนักข่าวมินท์เพรสสถึงความพยายามของชาวยิวในการกอบกู้และผูกขาดถิ่นกำเนิดคัมภีร์ไบเบิล – “แผ่นดินของอิสราเอล” ตามประวัติศาสตร์
แรบไบเฮิร์ชระบุว่าการเกิดขึ้นของลัทธิไซออนิสต์ไม่ใช่แค่ประเด็นเกี่ยวกับปาเลสไตน์เท่านนั้น แต่เขายังเตือนว่าการดูดกลืนปาเลสต์ของไซออนิสต์นั้นเป็น “ขั้นตอนแรกที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของมหาอาณาจักรอิสราเอล (Greater Israel)”
“การวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลได้กลายเป็นข้อห้ามทางสังคมและการเมืองที่ปิดตาสาธารณชนไม่ให้มองเห็นความเป็นจริง ประชาชนไม่สามารถมองเห็นอีกต่อไปว่าอิสราเอลได้กลายเป็นความสุดโต่ง ความเคร่งครัดและความคลั่งไคล้ทางทัศนคติเช่นเดียวกับที่กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเป็น ผมขอแย้งว่าไอซิซ (รัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย) มีลักษณะเหมือนไซออนิสต์ที่สร้างความวุ่นวาย ไม่เพียงแต่ในด้านแนวคิดของมันเท่านั้น แต่ในด้านนโยบายของมันด้วย ถึงแม้มันจะอ้างว่ามันต้องการทำลายอิสราเอลก็ตาม”
เจซิล (#JSIL)
ช่วงปลายเดือนกันยายน “เจซิล” หรือ “#JSIL” ได้กลายเป็นคำที่อื้อฉาวในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นคำเปรียบเทียบแนวคิดของรัฐยิวแห่งอิสราเอลและลีแวนท์ (Jewish State of Israel and the Levant – JSIL) กับรัฐอิสลามแห่งอิรักและลีแวนท์ (Islamic State of Iraq and the Levant – ISIL หรือ ISIS) โดยมีผู้ทวีตคำนี้สูงสุดประมาณ 5,200 ครั้ง การนำคำนี้มาใช้ก็เพื่อจะชี้ว่ากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ยึดติดกับลัทธิตักฟิรีและลัทธิไซออนิสต์มีลักษณะที่เหมือนกัน และในหลายๆ ด้าน ทั้งสองแนวคิดนี้มีรากฐานมาจากการยึดถือศาสนาแต่ผู้เดียว
ลัทธิตักฟิรีคือแนวความคิดที่มีถือปฏิบัติโดยใช้หลักการรุนแรงในการตัดสินผู้อื่นว่าไม่ใช่ผู้ศรัทธาซึ่งมีมานับศตวรรษ มันถูกกำหนดด้วยความเชื่อที่ว่ามุสลิมจะต้องชำระความศรัทธาของพวกเขาเพื่อที่จะมีความคู่ควรกับอิสลามที่บริสุทธิ์อีกครั้ง เหมือนที่ได้ถูกบัญญัติและถือปฏิบัติกันในสมัยคอลิฟะฮ์คนที่หนึ่งเมื่อศตวรรษที่ 7 ลัทธินี้เรียกร้องให้ผู้ปฏิบัติตามอยู่รวมตัวกันในชุมชนที่แยกออกไปและต่อสู้กับคนนอกศาสนา
ขบวนการนี้ได้ฟื้นคืนมาอีกในปี 1967 เมื่อไคโรต้องเผชิญหน้ากับกำลังและความเหนือกว่าของกองทัพอิสราเอล ชาวอาหรับและชาวมุสลิมในประเทศถูกบีบให้ต้องดิ้นรนต่อสู้กับความเป็นไปได้ที่โลกของพวกเขาจะตกอยู่ในชื่อของอีกศาสนาหนึ่ง นั่นคือ ศาสนายิว ดังนั้น เพื่อตอบโตกับการโจมตีทางจิตวิญญาณตามความเข้าใจของพวกเขา มุสลิมกลุ่มต่างๆ จึงเริ่มเดินทางไปสู่ลัทธิตักฟิรีและกลายไปสู่ความสุดโต่ง ปัจจุบันกลุ่มสุดโต่งอย่างอัล-กออิดะฮ์ และไอซิซ นับถือว่าตัวเองเป็นผู้ยึดถือตามแนวคิดนี้
ขณะที่ลัทธิสุดโต่งดำเนินการไป แม้กซ์ บลูเมนทอล นักข่าวสายสืบสวน เป็นหนึ่งในหลายคนที่ชี้ให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันอย่างน่าสังเกตระหว่างไอซิซและไซออนิสต์ ไม่เพียงแต่ในด้านการกำหนดและการแสดงออกถึงทัศนะสุดโต่งของทั้งสอง แต่รวมถึงในด้านความเชื่อส่วนลึกที่ว่าลัทธิความเชื่อของพวกเขานั้นมีสิทธิ์ที่จะทำลายและลบล้างความเชื่อของผู้อื่นทั้งหมดได้ ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองกลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่ทางการเมืองเดียวกัน และต่างก็สนับสนุนการขยายอาณาเขตและการดูดกลืนทางการเมืองเหมือนกัน
เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่มีเหมือนกันระหว่างลัทธิตักฟิรีและลัทธิไซออนิสต์ แรบไบเฮิร์ชได้เน้นว่า ทั้งสองขบวนการนี้มีความเหมือนกันแม้กระทั่งโครงสร้างของเม็ดเลือด
“ถ้าไอซิซน่าอาเจียนด้วยการฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์และมีรสนิยมในการประหารอย่างน่าสยดสยองต่อหน้าสาธารณะ สิ่งเดียวกันนี้ก็สามารถกล่าวได้กับอิสราเอล ไม่ใช่นายเอเรียล ชารอน รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอลในขณะนั้นหรอกหรือ ที่สั่งการสังหารหมู่ที่ซับราและชาติลา ที่ซึ่งประชาชนชาวปาเลสไตน์หลายพันคนถูกฆ่าตาย? ไม่ใช่อิสราเอลหรอกหรือที่เล็งยิงไปยังเด็กๆ ที่ไม่มีอาวุธบนชายหาดของกาซ่าเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา? หรือว่าไม่ใช่อิสราเอลที่อ้างเหตุผลในการฆ่าผู้หญิงและเด็กๆ ว่าทำเพื่อความอยู่รอดของตน?”
หลายคนอาจพบว่าความคล้ายคลึงกันของไอซิซและไซออนิสต์ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องค่านิยมเท่านั้น แต่พวกเขายังมีความไม่ผ่อนปรนทางศาสนาและกีดกันผู้อื่นอีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมถึงอิสราเอล ชาฮัค และมิเชล คอสซูดอฟสกี้ จากศูนย์การศึกษาวิจัยด้านโลกาภิวัตน์กล่าวว่า ทั้งสองแนวคิดนี้มีสิ่งที่เหมือนกันมากเกินกว่าที่โลกจะสนใจยอมรับ
ถึงกระนั้น บางคนถึงขนาดกล่าวว่า ไอซิซไม่ได้เป็นสิ่งใดมากไปกว่าสิ่งที่ไซออนิสต์สร้างขึ้นเพื่อรับใช้การขึ้นไปสู่การเป็นประมุขของไซออนิสต์ในลีแวนท์ เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ถึงความเป็นจริงทางการเมืองและทางสถาบันในรูปแบบของมหาอาณาจักรอิสราเอล
ไอซิซคือ “ปฏิบัติการของตะวันตกเพื่อที่จะสร้างมหาอาณาจักรอิสราเอล” เจมส์ เฮ็นรี่ เฟ็ทเซอร์ นักเขียนชาวอเมริกันกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับเพรสทีวี ในเตหะราน เมื่อเดือนสิงหาคม
ทัศนะอย่างเดียวกันนี้ก็ถูกสะท้อนออกมาโดยนักวิชาการด้านความมั่นคงระหว่างประเทศและนักข่าวสายสืบสวน นาฟีซ อะห์หมัด ในรายงานที่เขาเขียนเมื่อเดือนกันยายนเรื่อง “ตะวันตกสร้างไอซิซอย่างไร” อะห์หมัดเขียนว่า
“ตั้งแต่ปี 2003 มหาอำนาจแองโกล-อเมริกันได้ให้ความร่วมมืออย่างลับๆ และเปิดเผย และให้การสนับสนุนทางตรงและทางอ้อมกับกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับอัล-กออิดะฮ์ทั่วทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ภูมิยุทธศาสต์ที่ประกอบกันขึ้นมานี้เป็นมรดกของอิทธิพลเหนียวแน่นของแนวคิดอนุรักษ์นิยมใหม่ ถูกขับเคลื่อนมายาวนานแต่มักจะขัดกับความทะเยอะทะยานที่จะครอบงำทรัพยากรน้ำมันในภูมิภาค ปกป้องอิสราเอล และเพื่อการทั้งหมดเหล่านี้ จึงได้วาดแผนที่ตะวันออกกลางขึ้นมาใหม่”
เมื่อกล่าวถึงเจตนารมณ์ของอิสราเอลในภูมิภาคนี้ มะห์ดี ดาริอุส นาเซมรอยา นักสังคมศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและเอเชียกลาง บอกกับมินท์เพรสว่า “สิ่งที่อิสราเอลแสวงหาก็คือการครอบงำของอิสราเอล และนี่เป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างมากกับการแสวงหาความยิ่งใหญ่ทางศาสนาในดินแดนลีแวนท์”
“นอกจากการใช้ปากแล้ว อิสราเอลไม่ได้แสวงหาความยิ่งใหญ่ของศาสนายิวเลย ที่จริงแล้วเทลาวีฟได้บ่อนทำลายศาสนายิวไปแล้ว รากเหง้าของลัทธิไซออนิสต์กระแสหลักที่ธีโอดอร์ เฮอร์ซ’ล เข้าร่วมนั้นมีพื้นฐานอยู่บนการแยกชาวยิวออกจากศาสนายิว (กล่าวคือ เปลี่ยนชาวยิวไปเป็นกลุ่มเชื้อชาติหนึ่ง ที่อยู่ภายนอกความศรัทธาและการเชื่อในพระเจ้าและคัมภีร์โตราห์)” เขาอธิบาย
มหาอาณาจักรอิสราเอล (Greater Israel) : ความฝันของไซออนิสต์
ธีโอดอร์ เฮอร์ซ’ล บิดาผู้ก่อตั้งลัทธิไซออนิสต์ขึ้นเป็นขบวนการทางศาสนาการเมืองในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ระบุว่า “พื้นที่ของรัฐยิวแผ่จากลำน้ำของอียิปต์ไปจนถึงยูเฟติส”
แรบไบ ฟิสช์แมน ไซออนิสต์ผู้มีศรัทธาแรงกล้าและเจ้าหน้าที่ระดับผู้นำ สมาชิกคนหนึ่งขององค์กรชาวยิวเพื่อปาเลสไตน์ ได้ประกาศอย่างเดียวกันนี้ในคำให้การต่อคณะกรรมการไต่ถามพิเศษของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1947 ว่า “แผ่นดินที่ถูกสัญญาไว้แผ่กว้างจากแม่น้ำของอียิปต์ขึ้นไปจนถึงยูเฟรติส มันประกอบด้วยพื้นที่หลายส่วนของซีเรียและเลบานอน”
นับตั้งแต่ลัทธิไซออนิสต์แนวการเมืองเกิดขึ้นในยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 19 ผู้สนับสนุนขบวนการนี้ได้พยายามสร้างอิทธิพลและต่อสู้เพื่อสร้างสิ่งที่พวกเขาเข้าใจว่าเป็นมรดกทางการเมืองและศาสนาของพวกเขา และเป็นสิทธิโดยกำเนิดของพวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อก่อตั้งรัฐยิว เพื่อประชาชนชาวยิวโดยเฉพาะ ภายในอาณาเขตที่ถูกนิยามไว้ในคัมภีร์ของยิวว่าเป็นดินแดนที่ถูกสัญญาไว้แห่งอิสราเอล
การบังคับซื้อ หรือบางคนแย้งว่าเป็นการยักยอกเอาดินแดนปาเลสไตน์ของอิสราเอลเป็นเกมที่ไม่จบสิ้นสำหรับไซออนิสต์ แต่เป็นหินมุมตึกของอาณาจักรยิว
ในบทนำของรายงานเรื่อง “มหาอาณาจักรอิสราเอล : แผนการของไซออนิสต์ในตะวันออกกลาง” ที่อิสราเอล ชาฮัค เขียนให้กับศูนย์การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ มิเชล ชอสซูดอฟสกี้ บรรณาธิการได้เขียนว่า “โครงการของไซออนิสต์สนับสนุนการดำเนินการสร้างที่ตั้งถิ่นฐานของชาวยิว ยิ่งไปกว่านั้นมันยังมีนโยบายที่จะกีดกันชาวปาเลสไตน์ออกไปจากปาเลสไตน์ เพื่อนำไปสู่การผนวกทั้งเวสต์แบงก์และกาซ่าเข้ากับรัฐอิสราเอล”
“มหาอาณาจักรอิสราเอลจะสร้างรัฐตัวแทนขึ้นจำนวนหนึ่ง มันจะรวมเอาบางส่วนของเลบานอน จอร์แดน ซีเรีย ซีนาย รวมทั้งบางส่วนของอิรักและซาอุดิอารเบียด้วย”
แนวคิดที่ว่า “มหาอาณาจักรอิสราเอล” สามารถสร้างขึ้นได้บนซากปรักหักพังของโลกมุสลิมอาหรับเท่านั้น ถูกบันทึกเป็นเอกสารในปี 1980 โดย ลิเวีย โรคาช ในวิทยานิพนธ์ของเธอเรื่อง “ลัทธิก่อการร้ายอันศักดิ์สิทธิ์ของอิสราเอล” ซึ่งเธอได้ให้รายละเอียดอย่างยืดยาวว่าไซออนิสต์มีแผนการอย่างไรในช่วงกลางยุค 1950 ที่จะใช้เลบานอนเป็นจุดศูนย์กลางปฏิบัติการการใช้วิธีแบ่งแยกและพิชิต โรคัชอ้างอิงข้อโต้แย้งของเธอจากบันทึกของ โมเช ชาเร็ตต์ อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล โดยไม่ได้นำเสนอความเชื่อส่วนตัวของเธอ แต่เป็นคำประกาศทางการเมืองของหนึ่งในบรรดาบิดาผู้ก่อตั้งอิสราเอล
ในบทความนี้ทำให้สามารถเข้าใจได้ว่า การรุกรานเลบานอนของอิสราเอลเมื่อปี 1978 และ 1982 นั้นเป็นการใช้แผนยิโนน (Yinon Plan) ของอิสราเอล ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งในการสร้างความแตกแยกและทำให้รัฐเพื่อนบ้านอ่อนแอ เพื่อรักษาอำนาจครอบงำภูมิภาคของอิสราเอลเอาไว้
จาวาด อาหรับ ชิราซี นักวิเคราะห์การเมืองชาวอิหร่านเชื่อว่า ความพยายามของอิสราเอลในปี 1982 ไม่ใช่เพื่อสร้างความแตกแยกในเลบานอนเท่านั้น แต่ในซีเรียและจอร์แดนด้วย เพื่อใช้เป็นกระดานสปริงสำหรับนโยบายแบ่งแยกในตะวันออกกลางของไซออนิสต์ “การกล่าวอ้างของอิสราเอลที่บอกว่าต้องการจะเห็นความแข็งแกร่งของประเทศอาหรับที่มีเอกราชบริเวณชายแดนของตน (เลบานอน ซีเรีย และจอร์แดน) ช่างน่าหัวเราะ สิ่งที่อิสราเอลต้องการคือรัฐบาลต่างๆ ที่จะยินยอมต่อนโยบายขยายดินแดนของตน”
“สิ่งที่ไซออนิสต์ต้องการ และสิ่งที่พวกเขาวางแผนอยู่ไม่ใช่โลกอาหรับ แต่เป็นโลกที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยของอาหรับที่พร้อมจะตกอยู่ภายใต้การเป็นประมุของอิสราเอล อิสราเอลต้องการให้ภูมิภาคนี้ก้มหัวให้กับเจตนารมณ์ทางการเมืองของมัน เป้าหมายของมันไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ทุกอย่างที่เกี่ยวกับอิสราเอลล้วนตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย” ชิราซีกล่าว
เช่นเดียวกับที่ นาเซมรอยา นักสังคมวิทยาได้ระบุไว้ว่า
“ลัทธิไซออนิสต์ตามหลักแนวคิดแล้วไม่มีจุดมุ่งหมายในการจัดตั้งสถาบันไปตามลัทธิความเชื่อ แต่ในทางปฏิบัติมันทำเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของอิสราเอล เป้าหมายของอิสราเอลคือการรุกเร้าการแบ่งแยกทางนิกายที่มีอยู่แล้วในกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขา ด้วยการสนับสนุนสิ่งนี้ในประเทศเพื่อนบ้าน นี่คือเหตุผลว่าทำไมอิสราเอลจึงต้องการจะเห็นเลบานอน ซีเรีย และอิรัก แบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองออกเป็นชาวอาหรับและชาวเคิร์ดในระดับเชื้อชาติ และแยกออกเป็นชาวคริสเตียน, ดรู้ซ, มุสลิมชีอะฮ์อิหม่ามสิบสอง, อาลาวี และมุสลิมซุนนี ในระดับของศาสนา”
สองด้านของเหรียญเดียว?
ถ้าเราคุ้นเคยกับความคิดที่ว่า อิสราเอลมีจุดมุ่งหมายที่จะอ้างความชอบธรรมเหนืออาณาเขตที่มากไปกว่าเพียงแค่ปาเลสไตน์เพื่อให้เหมือนกับยุคสมัยอันรุ่งเรืองตามคัมภีร์ไบเบิลแล้ว ลัทธิตักฟีรี ซึ่งแสดงแนวคิดออกมาโดยไอซิซ จะอยู่ตรงไหน?
พวกนักรบไอซิซไม่ได้สาบานไว้หรอกหรือว่า พวกเขาจะไม่หยุดจนกว่าอิสราเอลจะพ่ายแพ้ และจนกว่าสิทธิอธิปไตยของปาเลสไตน์จะได้รับการกอบกู้ พวกเขาจึงได้วางตัวเองเป็นศัตรูตัวฉกาจของอิสราเอล?
แฟรงคลิน แลมบ์ อดีตผู้ช่วยที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการด้านความยุติธรรมของสภาสหรัฐฯ และศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศของวิทยาลัยกฎหมายนอร์ธเวสเทิร์น ในโอเรกอน ได้เขียนรายงานบทหนึ่งว่า ในฤดูร้อนปี 2013 ไอซิซได้สร้างหน่วยพิเศษขึ้นมาหน่วยหนึ่งเพื่อทำลายล้างอิสราเอลและพิชิตปาเลสไตน์อีกครั้ง
“ปัจจุบันนี้ หน่วย “Al Quds Unit – AQU) ของไอซิซ กำลังทำการแผ่อิทธิพลของตนไปยังค่ายของชาวปาเลสไตน์มากกว่า 60 แห่ง โดยรวบรวมจากกาซ่า ทั่วแผ่นดินปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง ไปจนถึงจอร์แดนและเลบานอน ขึ้นไปทางเหนือของซีเรีย เพื่อเกณฑ์การสนับสนุนการเตรียมการปลดปล่อยปาเลสไตน์”
เมื่อพิจารณาดูอบูบักร์ อัลบักดาดี ผู้นำของไอซิซ ที่ได้ใช้สำนวนโวหารหลายครั้งประกาศถึงการต่อต้านพวกเซไมท์ โดยระบุถึงความเกลียดชังและความไม่พอใจที่เขามีต่ออิสราเอล บางคนอาจคิดว่าการเปรียบเทียบระหว่างไซออนิสต์และตักฟิรีต้องเป็นอะไรที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั้งสองขบวนการนี้แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างลึกซึ้ง ยิ่งไปกว่านั้น การประโคมข่าวของสื่อ ยังทำให้เข้าใจได้อย่างดียิ่งอีกว่ากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงมีความเกลียดชังและเป็นฝ่ายตรงข้ามกันกับอิสราเอล
แต่ถึงกระนั้น ผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ และนักวิชาการจำนวนมากยังยืนยันว่า ลัทธิตักฟิรียังคงเป็นการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของไซออนิสต์ เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในมือของอิสราเอลที่ใช้ทำลายโครงสร้างทางสังคมและศาสนาในตะวันออกกลาง
เมื่อเดือนตุลาคม รัฐมนตรีกลาโหมของอิหร่านได้กล่าวหาอิสราเอลโดยตรงว่า วางแผนต่อต้านประชาชนชาวอาหรับด้วยการทำให้เกิดการก่อการร้าย ตามที่หนังสือพิมพ์เยรูซาเล็มโพสต์ได้รายงานว่า “นายพลฮุเซน เดห์กอน กล่าวว่า ไอซิซและอิสราเอล เป็นสองด้านบนเหรียญเดียวกัน ที่พยายามสร้างความอ่อนแอให้กับขบวนการต้านทานที่ต่อต้านไซออนิสต์ในปาเลสไตน์ ซีเรีย เลบานอน และอิรัก”
ดร.เควิน บาร์เร็ต ศาสตราจารย์สาขาอาหรับและอิสลามศึกษา กล่าวกับมินท์เพรสว่า เขา “ไม่สงสัยเลยว่าอิสราเอลได้ออกอุบายและสมคบคิดต่อประเทศมุสลิมในภูมิภาคนี้ โดยเล่นกับความตึงเครียดทางนิกายและชนเผ่าเพื่อก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพ” เพื่อให้เกิดผลดีกับวาระแห่งการเป็นประมุขของตน
“ด้วยข้อเท็จจริงที่ไอซิซไม่ได้เคลื่อนไหวต่อต้านอิสราเอล แต่กลับมุ่งเน้นอยู่กับการฆ่าชาวมุสลิม เป็นการบอกกล่าวอย่างมากมายแล้วเกี่ยวกับภารกิจที่แท้จริงขององค์กรนี้” บาร์เร็ตต์กล่าวเน้น
ตะวันออกกลางใหม่
ยูรัม อับดุลลอฮ์ วีเลอร์ นักวิเคราะห์การเมืองและคอลัมนิสต์ของเตหะรานไทม์ ซึ่งมีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับขบวนการสุดโต่งทั้งหลาย แสดงความเห็นว่า ลักษณะที่ไอซิซแผ่ขยายอาณาเขตของตนนั้นเป็นสิ่งที่น่าสงสัย
“เมื่อมองแผนที่ตะวันออกกลาง เห็นได้ชัดว่าจุดที่กลุ่มนักรบไอซิซตั้งอยู่นั้นเป็นพื้นที่ที่มหาอาณาจักรตามจินตนาการของไซออนิสต์ควรจะตั้งอยู่ เราจะเชื่อว่าการดำเนินการของไอซิซในอิรักและซีเรีย รวมทั้งการผลักดันไปยังอียิปต์และจอร์แดนนั้นเป็นเพียงความบังเอิญอย่างนั้นหรือ?” เขากล่าว
นาฟีซ อะห์หมัด ได้เขียนในรายงานเรื่อง “ตะวันตกสร้างไอซิซอย่างไร” ว่า การกระทำของไอซิซไม่เพียงแต่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของอิสราเอลเท่านั้น แต่ยังรับใช้วาระของอิสราเอลในการสร้างดินแดนแห่งมหานครลีแวนท์ เขาเขียนว่า “สงครามอิรักครั้งที่สามได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยที่ความฝันของกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมยุคใหม่ที่จะแยกอิรักออกเป็นสามส่วนตามแนวของกลุ่มเชื้อชาติและศาสนาได้ถูกทำให้ฟื้นขึ้นมาใหม่”
เขากล่าวต่อไปโดยอ้างถึงไบรอัน วิทเทเกอร์ อดีตบรรณาธิการด้านตะวันออกกลางของการ์เดียน ผู้สังเกตเห็นความคล้ายกันระหว่างยุทธศาสตร์ Perle-RAND ของวอชิงตัน และเอกสาร 1996 ที่ตีพิมพ์โดยสถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการเมืองก้าวหน้าของอิสราเอล เป็นเอกสารที่เขียนร่วมกันโดยริชาร์ด เพิร์ล อดีตเจ้าหน้าที่ของเพนตากอน กับกลุ่มอนุรักษ์นิยมยุคใหม่คนอื่นๆ ที่มีตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลของบุชภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน
อะห์หมัดเขียนไว้ว่า
“เอกสารนโยบายนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์หนึ่งที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายเหมือนกับที่เกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของการขยาย ‘รัฐอิสลาม’ อิสราเอลจะ ‘กำหนดสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของตน’ โดยขั้นตอนแรกด้วยการกำจัดซัดดัม ฮุซเซน ‘จอร์แดนกับตุรกีจะก่อตัวเป็นแกนรวมกับอิสราเอลเพื่อสร้างความอ่อนแอให้กับซีเรีย’ แกนนี้จะพยายามสร้างความอ่อนแอให้กับผู้มีอิทธิพลในเลบานอน ซีเรีย และอิหร่าน ด้วยการ ‘เตือน’ ประชากรที่เป็นชีอะฮ์ของประเทศเหล่านั้น”
อะห์หมัดกล่าวต่อว่า เพื่อประสบความสำเร็จ อิสราเอลจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ “ซึ่งจะได้มาโดยการที่เบนจามิน เนทันยาฮูต้องวางยุทธศาสตร์ ‘ในภาษาที่คุ้นหูชาวอเมริกัน โดยใช้ท่วงทำนองเดียวกันกับรัฐบาลอเมริกาในช่วงสงครามเย็น’”
แปล: กองบรรณาธิการเอบีนิวส์ทูเดย์ เขียน: Catherine Shakdam source: www.mintpressnews.com