เหตุผลที่เราจำเป็นต้องประกาศให้โลกได้รับรู้ถึงการกระทำของพวกหัวรุนแรง

1926

ณ ขณะนี้โลกได้รับรู้ถึงความโหดร้ายของกองกำลัง IS(Islamic State) ในฐานะของกลุ่มที่นิยมความรุนแรง ซึ่งทั้งหมดได้ถูกแสดงออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงการกระทำที่กลุ่ม IS มีความภาคภูมิใจ ผ่านการนำเสนอคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการกระทำทารุณกรรมออกมา คำถามที่ผุดขึ้นมาจากผู้คนทั้งโลกยังคงเป็นเช่นเดิม นั่นก็คือ การกระทำในลักษณะเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักการในศาสนาอิสลามหรือไม่?

สำหรับประเทศอินโดนีเซียแล้วปัญหานี้ถือได้ว่าจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ในฐานะที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกและอยู่ในเอเชีตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้ให้การสนับสนุนกลุ่ม IS และอาสาสมัครที่ไปทำการญิฮาดนั้นส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย

ข้อสรุปที่ผ่านมา จากการจัดประชุมกลุ่มมุสลิมอินโดนีเซียในรัฐยอกยาการ์ต้า(Yogyakarta) ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดโดยสภาอุลามาอฺแห่งอินโดนีเซีย(MUI) ไม่ได้มีการพูดถึงปัญหานี้เลย น่าเสียดายที่ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่จะให้ความกังวลกับปัญหาในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ โดยจะเห็นได้จากข้อสรุปสุดท้ายที่จะส่งไปให้กับประธานาธิบดีโจโค “โจโควี่” วิโดโด

และสิ่งที่น่ากังวลในการประชุมครั้งนี้ก็คือ การไม่ได้เชิญกลุ่มตัวแทนจาก อะห์มาดิยะห์(Ahmadiyah) และยกเลิกคำเชิญที่มีไปยังองค์กรของชีอะฮฺ ในขณะเดียวกันกลับเชิญกลุ่มสายแข็งอย่าง สภามุญาฮีดีนแห่งอินโดนีเซีย(MMI) และกองกำลังพิทักษ์อิสลาม(FPI)

ตามประวัติแล้ว MMI มีชื่อเสียงในเรื่องการเคลื่อนไหวด้านอุดมการณ์ญิฮาด โดยครั้งหนึ่งเคยได้รับการชี้นำจากอบู บากัร บาชีร ซึ่งในขณะนี้เป็นผู้หนึ่งที่ให้การสนับสนุนกลุ่ม IS และเป็นกลุ่มที่พยายามจะผลักดันให้มีการตีความกฏหมายตามหลักชะรีอัต คล้ายคลึงกับสิ่งที่ IS ได้ทำอยู่ตอนนี้

สื่อมวลชนได้มีการรายงานเมื่อเร็วๆนี้ว่า ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อที่จะสนับสนุนกลุ่ม IS ในเมืองมากัซซ่า(Makassar) โดยท่ามกลางผู้ร่วมประชุมทั้งหมด จะมีบรรดาผู้นำ FPI ที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆได้เข้าร่วมด้วย

มีอยู่ 2 ประเด็นสำหรับการประชุมครั้งที่ 6 ในรัฐยอกยาการ์ต้าที่ควรแก่การตั้งข้อสังเกต นั่นคือ

1 ในที่ประชุมไม่สามารถที่จะได้ข้อยุติเกี่ยวกับการพิจารณาให้การขยายตัวของกลุ่ม IS เป็นปัญหาใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันกลับพยายามสาธยายถึงความเป็นเอกภาพในอิสลาม เพื่อที่จะต่อสู้กับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า นิกายที่หลงทาง (เน้นไปที่กลุ่ม อะห์มาดิยะห์และชีอะฮฺ) สุดท้ายแล้วการประชุมจึงหันไปที่มิติทางการเมืองที่เกี่ยวกับการรักษาการปกครอง

2 ดีน ชัมซูดิน ประธานสภาอุลามะอฺอินโดนีเซีย(MUI)ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ชีอะฮฺเป็นหนึ่งในมัซฮับ(สำนักคิด)ที่ถูกต้องของเรา และด้วยเหตุนี้จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาอิสลาม” ทุกครั้งเขาจะเข้าร่วมในการประชุมนานาชาติที่เกี่ยวกับการปรองดองระหว่างซุนนี-ชีอะฮฺ แต่สำหรับการยกเลิกคำเชิญให้เข้าร่วมประชุมขององค์กรชีอะฮฺในอินโดนีเซียจึงดูจะขัดแย้งกับจุดยืนของดีน ยิ่งแย่ไปกว่านั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตามสาขาต่างๆของ MUI ได้มีการพูดคุยในเรื่องประเด็นนิกายระหว่างซุนนี-ชีอะฮฺอย่างแพร่หลาย

ตำราหลักที่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการญิฮาดได้ยึดเป็นแนวทาง มีชื่อว่า อิดาเราะห์ อัต-ตะวะห์หุชห์(การบริหารความโหดเหี้ยม) ที่เขียนขึ้นมาในปี ค.ศ.2004 โดย อบู บากัร นาจี เพื่อสนับสนุนให้มีการแบ่งแยกนิกาย  ซึ่งอัล-กออิดะฮฺและผู้ที่คลั่งไคล้ รวมถึง IS ก็ใช้หนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน โดยสามารถค้นหาได้ในอินเตอร์เน็ต

ตำราเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการญิฮาด ซึ่งเริ่มต้นจากการแบ่งแยกนิกายแล้วนำไปสู่การแบ่งขั้วทางสังคม และผลของมันก็คือ ความไม่ไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล สุดท้ายก็จะเปิดทางให้กลุ่มหัวรุนแรงได้เข้ามา กลยุทธ์นี้ได้ถูกใช้แล้วในประเทศอิรัค, ซีเรีย, และเยเมน

การแบ่งแยกนิกายนั้น บางบทบาท MUI ก็จะเป็นผู้หว่านเมล็ดความคิดของพวกเขา ผ่านทางแคมเปญการแบ่งซุนนี-ชีอะฮฺ ซึ่งไม่ใช่เป็นอันตรายเฉพาะเอกภาพของมุสลิมเพียงเท่านั้น แต่มันยังรวมถึงเอกภาพของชาวอินโดนีเซียทั้งมวลด้วย

ได้มีนักวิเคราะห์บางท่านได้ให้ทัศนะว่า IS จงใจสร้างความโกรธแค้นบนความเหี้ยมโหดเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของพวกเขา ส่วนใหญ่แล้วการกระทำอันป่าเถื่อนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เพื่อการป้องปราม และนอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้เพื่อเป็นวิธีการเรียกผู้คนที่สนใจให้เข้ามาร่วมกับตนได้เป็นอย่างดี

IS ที่ปรากฏตัวขึ้นมาในขณะนี้ เป็นเหมือนรูปแบบการพึ่งพาตนเองของ “รัฐ”, ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่องค์กรก่อการร้าย ยังรวมถึงยังมีกองกำลังทางทหารของตนเอง ดูแลทรัพยากรทางเศรษฐกิจต่างๆ และดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลด้วย
และแล้วก็มีคำถามที่ผุดขึ้นมาว่า มันมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรระหว่างการกระทำอันโหดร้ายของ IS กับคำสอนที่มีอยู่ในศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า วิธีการสังหารเชลยของ IS ได้อ้างอิงแหล่งที่มาจากพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน หรืออย่างน้อยพวกเขาก็ตีความตามตัวอักษรของพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน

ตัวอย่างเช่น การตัดศีรษะจะถูกอ้างอิงในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน(8:12) เช่นเดียวกับการตรึงไม้กางเขนและการตัดมือและเท้า(5:33) นอกจากนี้การลงโทษด้วยการประหารชีวิตด้วยวิธีการเผาก็ได้มีการระบุไว้ในฮะดิษ(พระวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ))จำนวนหนึ่ง หรือเป็นแบบฉบับของท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ซึ่งบางส่วนถือว่าถูกต้องและได้รับการส่งเสริมจากนักวิชาการมุสลิมในยุคกลาง

มีมุสลิมจำนวนหนึ่งพยายามหาข้ออ้างให้กับการกระทำอันโหดร้ายหรือแนวทางนี้ และได้กล่าวว่าสิ่งนี้ไม่ได้มีเฉพาะในศาสนาอิสลามในศาสนาคริสต์ก็มีเหมือนกัน โดยได้อ้างจากตัวบทบางตอนในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล(เช่น ซามูเอล 15:3 และแมทธิว 10:34) ซึ่งอาจจะทำให้กล่าวได้ว่าในศาสนาคริสต์ก็เป็นศาสนาแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธูและไม่ใช่ศาสนาที่รักความสงบอย่างแท้จริง

และเช่นเดียวกันในกรณีของศาสนาคริสต์ ชาวมุสลิมก็จะกล่าวว่าพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมาครอบคลุมและผู้อ่านที่เข้าถึงก็จะรับรู้ความจริงได้ว่ามีหลายโองการและรวมถึงพระวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ได้กล่าวถึงเรื่องของความเมตตา

สำหรับผู้ที่เลือกจะรับรู้เฉพาะสิ่งที่ตรงกับความคิดของตนเองนั้น พวกเขาก็จะกล่าวว่า นี่เป็นปัญหาอย่างมากของ IS ที่มีลักษณะเดียวกันกับการสร้างให้เกิดปรากฏการณ์ความกลัวอิสลาม(Islamophobia) แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ประเด็น เพราะดูเหมือนจะเป็นคำขอโทษที่ไม่ได้นำข้อเท็จจริงที่อยู่บนพื้นฐานที่อ้างถึงโองการในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานที่มีความรุนแรง และการดำเนินชีวิตของพวกเขาที่เป็นประเด็นสำคัญอย่างมาก

สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ก็คือ ไม่ว่าจะพิจารณา IS ผ่านมุมมองด้านเทววิทยาหรือคำสั่งสอนทางศีลธรรม ความโหดร้ายป่าเถื่อนของพวกเขานั้น ได้มาจากการตีความหมายด้วยตนเองผ่านการอ่านโองการในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานที่กล่าวถึงความรุนแรง

แต่ถ้าพิจารณาโดยผ่านมุมมองด้านเทววิทยาในลักษณะที่ IS กระทำอยู่นี้ ดูเหมือนจะมีอิทธิพลในการดึงดูดบรรดาชายหนุ่มมุสลิมจำนวนมาก ไม่เว้นแต่คนที่มีการศึกษา ในขณะที่เรารับรู้เป็นอย่างดีว่าพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานไม่ได้เป็นแค่เพียงคัมภีร์ทั่วๆไป แต่พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานนี้ยังมีพลังอำนาจในตัวเองที่มีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของผู้ศรัทธาทั้งหลาย

แน่นอนว่าไม่มีทางที่จะแยกศาสนาอิสลามออกจากความคิดของกลุ่มหัวรุนแรงได้ เว้นเสียแต่ว่าจะต้องต่อสู้กับวิธีการของกลุ่มที่เลือกจะรับรู้เฉพาะสิ่งที่ตรงกับความคิดของตนเองในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานเท่านั้น

สุดท้ายแล้วถ้าเราไม่ต้องมาคำนึงถึงผลของประชุมกลุ่มมุสลิมอินโดนีเซียในรัฐยอกยาการ์ต้า(Yogyakarta) ครั้งที่ 6 นี้ บรรดามุสลิมสายกลางของประเทศก็ควรที่จะป่าวประกาศให้โลกได้รับรู้ถึงลัทธิของพวกหัวรุนแรงและการแบ่งแยกทางนิกาย ที่ถูกเผยแพร่ผ่านการแสดงออกด้วยความเหี้ยมโหดของกลุ่ม IS

แต่ถ้าเรายังคงเงียบกันอยู่ ความเงียบนี้ก็อาจจะแปลความหมายที่ผิดพลาดสื่อให้โลกใบนี้ได้เข้าใจแทนว่า IS คือกลุ่มที่ถูกต้องในศาสนาอิสลาม

 

ผู้เขียน เป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา, ศูนย์การศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม(CCCS), มหาวิทยาลัยกัดญะฮ์มาดา (Gadjah Mada University), รัฐยอกยาการ์ต้า, ประเทศอินโดนีเซีย

ที่มา http://www.thejakartapost.com/news/2015/02/13/why-we-should-speak-loudly-extremism.html

แปล/เรียบเรียง อ.ฮาดีษ