มีการอธิบายถึงสาเหตุการกำเนิดของศาสนาที่แตกต่างกัน การทำความเข้าใจต่อเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญที่บรรดาศาสนิกชนจำต้องศึกษาและเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง แน่นอนฝ่ายที่มีความเชื่อเรื่องพระเจ้าต่างมีความเห็นว่าศาสนามาจากพระผู้เป็นเจ้า ทว่าการจะทำการพิสูจน์ต่อความเชื่อเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เหตุผลและหลักฐานเพื่อยืนยันถึงความถูกต้องของมัน ในด้านตรงข้ามมีการนำเสนอที่มาหรือจุดกำเนิดของศาสนาในมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่นำเสนอทฤษฎีเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่ไม่เชื่อในศาสนา ทฤษฎีต่างๆ ที่ถูกนำเสนอมาอธิบายถึงจุดกำเนิดของศาสนามีดังนี้
• ทัศนที่ 1 ศาสนามาจากความกลัวของมนุษย์
• ทัศนะที่ 2 ศาสนามาจากความโง่เขลาของมนุษย์
• ทัศนะที่ 3 ศาสนามาจากความเชื่อและประเพณีที่ผิดๆของมนุษย์
• ทัศนะที่ 4 ศาสนามาจากเศรษฐกิจของมนุษย์ หรือ ศาสนาคือผลของเศรษฐกิจ
โดยในบทความนี้เราจะทำการนำเสนอวิเคราะห์และวิพากษ์ในแต่ละทรรศนะ เพื่อพิสูจน์และหักล้างทฤษฎีเหล่านี้ ซึ่งเป็นการอธิบายที่ไม่ถูกต้องและไม่สมเหตุสมผล
1. ศาสนามาจากความกลัวของมนุษย์
มีการพยายามนำเสนอว่าศาสนาเกิดจากความกลัวของมนุษย์ กล่าวคือมนุษย์ในยุคแรกมีความกลัวต่อเหตุการณ์ต่างๆทางธรรมชาติหรือภัยพิบัติ เช่นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นยักษ์ ซึ่งจากความหวาดกลัวเหล่านี้ทำให้พวกเขาพยายามหาสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นที่พึ่งเพื่อสกัดปัดเป่าภัยพิบัติเหล่านั้น พวกเขาจึงได้สร้างพระเจ้าขึ้นมา และความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นศาสนาตามกาลเวลา มีการนำเสนอทฤษฎีดังกล่าวอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบัน ตามอินเทอร์เนตหรือตำราวิชาการต่างๆ ทว่าในรูปแบบของทางการนั้นเจ้าของทฤษฎีคือเบอร์แทรนด์ รัสเซลล์(1872-1970) แพร่หลายในศตวรรษที่ 20 [1]
วิพากษ์ทัศนะ
ประการที่ 1 การรวมกันระหว่างจุดกำเนิดของศาสนากับแรงจูงใจในการนับถือศาสนา
ในบางกรณีมีการนำแรงจูงใจกับสาเหตุมาอธิบายเป็นสิ่งเดียวกัน เราพบว่ามนุษย์ยอมรับในศาสนาจากหลายแรงจูงใจ บางครั้งคนเรายอมรับศาสนาเพราะเข้าถึงสัจธรรมคำสอนบางประการ บางครั้งคนเรายอมรับศาสนาเพราะสอดคล้องกับมโนธรรมสำนึกอันบริสุทธิ์ของเขา บางครั้งมนุษย์ยอมรับศาสนาเพราะต้องการที่พึ่ง ต้องการผู้ที่จะคุ้มครองและนำพาเขาให้หลุดพ้นออกจากความกลัว ความเจ็บปวด ความทุกข์
การอธิบายว่าแรงจูงใจคือสาเหตุของศาสนาจึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเพราะมนุษย์ไม่ได้มีแรงจูงใจในการนับถือศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว
ประการที่ 2 ทฤษฎีที่บอกว่าศาสนามาจากความกลัวนั้นเป็นทฤษฎีที่ไม่มีหลักฐานรองรับทางประวัติศาสตร์
การอธิบายว่าศาสนามาจากความกลัวเป็นการอธิบายที่ไม่สมเหตุสมผลใดๆเลย เพราะเราไม่เคยพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่ามนุษย์สร้างศาสนาขึ้นมาหลังจากเกิดภัยพิบัติแม้แต่ครั้งเดียว ในด้านตรงข้ามเราสามารถตามรอยประวัติศาสตร์ไปจนถึงยุคแรก เรายังพบอีกว่านับตั้งแต่วันแรกที่มีมนุษย์ก็มีศาสนาปรากฏขึ้นมาแล้ว
ประการที่ 3 การเชื่อต่อพระเจ้าคือการทำงาน กระบวนการและกลไกลของฟิตรอต(สามัญสำนึกอันบริสุทธิ์ของมนุษย์)
คำถามของเราก็คือแทนที่มนุษย์จะพึ่งพิงตัวเองหรือวัตถุ ทำไมพวกเขากลับมองหาอำนาจที่อยู่เหนือวัตถุเหล่านั้น แน่นอนว่าเป็นเพราะการทำงานของฟิตรอต(สามัญสำนึกอันบริสุทธิ์)[2]ภายในของเขา ภายในของเขาได้กระซิบบอกต่อเขาถึงการมีอยู่ของสิ่งหนึ่งซึ่งมีอาจเหนือทุกสิ่งและเป็นผู้สร้างทุกสิ่ง ซึ่งกลไกลนี้มันจะทำงานและมันคือตัวชี้นำมนุษย์เพื่อค้นหาพระเจ้า ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มนุษย์จะพึ่งพิงต่อพระองค์เพราะธรรมชาติของเขาเป็นเช่นนั้น
ประการที่ 4 ผู้มีศาสนาทุกคนไม่ใช่คนขี้ขลาดหรือหวาดกลัว
ข้อคลุมเครือดังกล่าวพยายามอธิบายว่า ศาสนาคือผลจากความกลัวของมนุษย์ และมีแต่คนที่กลัวเท่านั้นจึงจะมีศาสนา หากเราทำการพิจารณาจากความเป็นจริง จะเห็นว่าประวัติศาสตร์ของผู้นับถือศาสนาในแต่ละเผ่าพันธุ์ ต่างเริ่มต้นนับถือศาสนาในหลายๆสาเหตุ และไม่ใช่ผู้ที่อ่อนแอหรือหวาดกลัวเพียงกลุ่มเดียวที่จะเป็นผู้ศรัทธาต่อศาสนา บุคคลกลุ่มอื่นๆยังเข้ารับนับถือศาสนาด้วยเหตุผลที่แตกต่างด้วยเช่นกัน เพราะหากเป็นเช่นนั้นคนที่มีความหวาดกลัวที่สุดก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความศรัทธาต่อศาสนามากที่สุด แต่เรากลับพบว่ามีคนกล้าหาญมากมายที่มีความศรัทธาต่อศาสนาเช่นเดียวกัน
ประการที่ 5 ความต่อเนื่องของผู้นับถือควบคู่กับการขจัดความกลัว
หมายความว่า ในวันนี้เราต่างเห็นแล้วว่าการพัฒนาทางความรู้ได้ทำให้เราเข้าใจถึงสาเหตุต่างๆทางธรรมชาติ ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้ได้ขจัดความกลัวแก่มนุษย์ ดังนั้นหากศาสนามาจากความกลัวหากเป็นเช่นนี้แล้วการนับถือศาสนาก็ต้องไม่ผิดพลาดแต่อย่างใด ในขณะที่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนี้เลย ความโอ้อวดของมนุษย์คือเมื่อเขาเข้าใจถึงเหตุการณ์หนึ่งทางธรรมชาติ เขาจึงรีบที่จะปฏิเสธหรือรีบที่จะสรุปว่าโลกนี้ไม่มีผู้วางระบบธรรมชาติเหล่านั้น กล่าวอีกทางหนึ่งมนุษย์บางกลุ่มตีความว่าโลกนี้ไม่มีพระเจ้าเพราะเข้าใจเพียงบางเรื่องเท่านั้น และในความเป็นจริงก็ยังมีอีกหลายล้านเรื่องที่เขายังไม่เข้าใจ ในการมีอยู่ของผู้นับถือศาสนาก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่าศาสนาไม่ได้เกิดมาจากความกลัวของมนุษย์
ถึงจุดนี้เป็นไปได้ว่าผู้ที่ไม่ยอมรับศาสนา อาจอ้างว่าการยอมรับศาสนาของคนในยุคนี้เป็นผลของมรดกจากพ่อแม่หรือว่าวัฒนธรรม เราจะถามคำถามต่อเขาเหล่านั้นว่า(โดยเฉพาะในกรณีของศาสนาอิสลาม) ในยุคสมัยนี้ไม่มีใครเข้ารับศาสนาเพราะพ่อแม่ วัฒนธรรมหรือสังคมเลยหรือ? ถ้าหากว่ามีเราขอตั้งคำถามว่า พวกเขาเข้ารับนับถือศาสนาด้วยเหตุผลอะไร? ด้วยความกลัวหรือ? ในด้านตรงข้างเรากลับพบว่า ในประเทศที่มีการต่อต้านเสรีภาพทางศาสนากันอย่างหนักหน่วง หรือประเทศที่มีการสร้างกระแสความหวาดกลัวต่ออิสลามอย่างจริงจังกลับกลายเป็นประเทศที่มีผู้คนหันมานับถือศาสนามากที่สุด ดังนั้นข้อกล่าวหาเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลใดๆ เลยจากการพิจารณาตามความเป็นจริง
ประการที่ 6 ในเชิงสมมุติหากเรายอมรับว่าสาเหตุของศาสนาคือผลมาจากความกลัวของมนุษย์ในยุคแรก
เราจะตั้งคำถามต่อพวกเขาว่า ตามหลักการคิดอย่างมีเหตุผล หากศาสนาเกิดมาจากความกลัวเท่ากับไม่มีพระเจ้าอยู่จริงกระนั้นหรือ? แน่นอนเป็นไปได้ว่าการที่มนุษย์ยุคแรกยังไม่ได้พัฒนาทางความรู้ อาจทำให้เขาไม่เจอพระเจ้าหรือไม่ค้นพบต่อพระองค์ แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีพระเจ้าอยู่จริง ดังนั้นทฤษฎีเรื่องศาสนามาจากความกลัวจึงไม่ถูกต้อง ทว่าเป็นความพยายามหาสาเหตุการถือกำเนิดของศาสนาภายหลังจากที่คนผู้นั้นมีโลกทัศน์หรือเชื่อไปแล้วว่าโลกนี้ไม่มีพระเจ้า และพยายามอธิบายถึงทุกสิ่งตามกรอบของโลกทัศน์นี้
2. ศาสนาคือผลของความโง่เขลา
ความคลุมเครืออีกประการหนึ่งคือข้อกล่าวหาที่ว่า ด้วยเหตุของความไม่รู้และความโง่เขลาต่อเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ ทำให้พวกเขาคิดว่าเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์เหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้า และต่อมาศาสนาก็ถือกำเนิดภายใต้ความเชื่ออันนั้น ทัศนะนี้ถูกนำเสนอโดย Auguste Comte (1798-1857),David Hume(1711-1776) ,Erich Fromm(1900-1980) แพร่หลายในกลุ่มนักปรัชญาตะวันตก ตั้งแต่ศตววรษที่ 18[3]
วิเคราะห์วิพากษ์ทัศนะ
ประการที่ 1 ปัญหาก่อนหน้านี้ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อคลุมเครือนี้เช่นกัน เมื่อมนุษย์ยุคแรกไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุการเกิดปรากฎการณ์ต่างๆทางธรรมชาติได้ เพราะเหตุผลใดพวกเขาจึงตามหาสาเหตุที่อยู่เหนือธรรมชาติ? นี่ไม่ได้แสดงถึงสามัญสำนึกอันบริสุทธิ์ต่อการแสวงหาพระผู้เป็นเจ้าที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจของเขากระนั้นหรือ
ประการที่ 2 หากเราอ้างว่าศาสนาเป็นผลจากความเขลาของมนุษย์ เราจะไม่พบผู้รู้ ผู้มีสติปัญญา นักคิดหรือนักวิทยาศาสตร์ต่างๆจำนวนมากที่จะรับนับถือศาสนาในยุคอดีต ปัจจุบันหรือยุคไหนๆก็ตาม เช่นไอสไตน์, เอดิสัน, ริชาร์ด, มาร์ค, แฟรงค์….., อเวซีน่า หรือ อบู อาลี ซีน่า
ประการที่ 3 หากศาสนาคือผลจากความเขลา เช่นนั้น เราจะไม่มีทางพบหลักธรรมคำสอนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวิทยปัญญาและมีความมั่นคงยั่งยืนนาน ตัวอย่างเช่นคำสอนด้านเกียรติของมนุษย์ การต่อสู้กับระบบกดขี่สตรีเพศในสมันอาหรับยาฮีลียะฮ์ การจัดระบบทางเศรษฐกิจสังคม การให้ความสำคัญกับสติปัญญา การให้คำตอบแก่เป้าหมายของชีวิต
การอธิบายว่าศาสนามาจากความเขลาจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากสิ่งหนึ่งมีต้นกำเนิดมาจากความไม่รู้ ผลผลิตของมันก็จะมาจากความไม่รู้ และเมื่อความรู้มากมายถูกถ่ายทอดผ่านในนามของศาสนา ก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่าต้นกำเนิดของศาสนาไม่ได้มาจากความไม่รู้เลย
3. ศาสนามาจากความเชื่อผิดๆหรือประเพณีที่ผิดบิดเบือนของมนุษย์
นักสังคมวิทยาบางส่วนมีความเชื่อว่า พระเจ้า,ศาสนา… เป็นผลมาจากประเพณีวัฒนธรรมเฉพาะของสังคมในยุคแรกเริ่ม ซึ่งรากฐานของมันมาจากความเชื่อผิดๆหรือการบิดเบือนของมนุษย์
โดยทรรศนะนี้เป็นของเอมีล โดรเคม emile Durkhem 1858-1917 มีความเชื่อว่าเมื่อมนุษย์ยุคแรกสัมผัสได้ถึงความพิเศษที่แปลกประหลาด ความตื่นเต้น ความหวาดสะพรึงหรืออยู่ในสภาวะของคนที่ครึ่งหลับครึ่งตื่นหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าร่างทรง ความหมายของศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติจึงแล่นเข้ามาในความคิดของเขา [4]
วิเคราะห์วิพากษ์ทัศนะ
ประการที่ 1 คำถามแรกคือหากศาสนาเกิดมาจากความเชื่อผิดๆ เพราะเหตุใดความเชื่อประเพณีหรือร่างทรงเหล่านี้ถึงได้มุ่งหน้าไปสู่เรื่องที่เกี่ยวกับพระเจ้าหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์หรอกหรือว่า ภายในจิตใจของมนุษย์มีเรื่องของพระเจ้าและศาสนาฝังไว้อย่างลึกซึ้ง
ประการที่ 2 นักสังคมวิทยาจะทำการวิเคราะห์ ศึกษาถึงสภาพของสังคมหรือค่านิยมของสังคมเท่านั้น ทว่าพวกเขาไม่ได้วิเคราะห์ถึงสภาวะภายในของมนุษย์ ซึ่งหากว่าพวกเขาพิจารณาถึงส่วนนี้บ้าง จะทำให้พวกเขาเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ฟิตรอตการค้นหาพระผู้สร้างต่างหากคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดความเชื่อมั่น
ประการที่ 3 คำถามสุดท้าย สมมุติหากเรายอมรับว่าศาสนาคือผลิตผลจากวัฒนธรรมทางสังคมของมนุษย์ในยุคแรกเริ่ม ทฤษฎีนี้ก็ไม่สามารถเป็นข้อพิสูจน์ทางตรรกะต่อการปฏิเสธความคิดเรื่องพระเจ้าหรือศาสนาแต่อย่างใดเลย เพราะกฎทางตรรกะคือ(การพิสูจน์ต่อสิ่งหนึ่ง ไม่ได้ปฏิเสธการไม่มีของสิ่งอื่น) นั่นคือแม้ว่านักสังคมวิทยาจะอ้างว่าศาสนาเกิดจากสิ่งนี้แต่พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้าได้ แน่นอนว่าการพิสูจน์ของพระเจ้านั้นเราได้นำเสนอไว้ในหัวข้อของประเด็นดังกล่าวไว้แล้ว
4. ศาสนาคือผลจากเศรษฐกิจ
2-3 ศตวรรษก่อนหน้า มีการนำเสนอทฤษฎีที่ว่าศาสนาเกิดมาจากผลของเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุนิยมเป็นผู้ยกทฤษฎีนี้ขึ้นมาอธิบายถึงสาเหตุการถือกำเนิดศาสนา นั่นก็คือ กลุ่มมารกซิสม์ กล่าวคือพวกเขามีความเชื่อว่าศาสนาและพระเจ้าคือผลผลิตจากเศรษฐกิจหรือผลผลิตจากบุคคลชนชั้นสูง โดยเฉพาะ กลุ่ม Proletarius , นายทุน ผู้ที่มีความมั่งมี เศรษฐี ซึ่งคนที่อยู่ชนชั้นที่ต่ำกว่าไม่รู้ความลับหรือเรื่องนี้แม้แต่น้อย [5]
วิพากษ์ทัศนะ
ประการที่ 1 ทฤษฎีนี้เป็นการกล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานและมีความอ่อนแอโดยตัวของมัน เพราะการอ้างทฤษฎีเช่นนี้เปรียบเสมือนการอ้างโดยการมองข้ามประวัติศาสตร์ของมนุษย์ อารยธรรมและประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของเราได้บอกแก่เรา เป็นผู้ชี้แจงแก่เราว่าศาสนาและผู้ยอมรับในพระเจ้า มักอยู่ในวงการของบุคคลชนชั้นล่างของสังคมเสมอ ซึ่งพวกเขาต่างก็ใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลชนชั้นสูง
ประการที่ 2 จากตัวของข้อคลุมเครือนี้ก็ยังให้ผลลัพธ์แก่มันเองว่า ในความเป็นจริงมีความเชื่อเรื่องพระเจ้า เรื่องศาสนาอยู่จริงในสังคม ทว่าเพราะการบิดเบือนศาสนาโดยนายทุน ผู้มั่งมี ทำให้ศาสนาแปรเปลี่ยนไปจากเดิม เหตุผลสนับสนุนคือหากไม่มีรากฐานทางศาสนาอยู่แต่เดิมแล้ว ชนชั้นผู้ปกครอง เศรษฐี… จะสามารถควบคุมมนุษย์ไปสู่เป้าหมายพวกเขาได้อย่างไร ดังนั้นพื้นฐานทางศาสนาที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม จึงเป็นข้อพิสูจน์ต่อการมีอยู่ของศาสนาก่อนหน้านายทุน
ประการที่ 3 สมมุติว่าเรายอมรับว่าศาสนาคือผลจากนายทุน ความคิดเช่นนี้ก็ไม่อาจนำมาปฏิเสธต่อพระเจ้าหรือศาสนาที่แท้จริงได้ คำอธิบายมีลักษณะคล้ายคลึงกับข้อคลุมเครือก่อนหน้านี้
ประการที่ 4 หากเราทำการศึกษาจุดเริ่มต้นของศาสนาจะพบว่า ศาสดาแต่ละองค์ ไม่ได้อยู่ในระดับของผู้มั่งมีหรือนายทุนของแต่ละประชาชาติ พวกเราเริ่มต้นเผยแพร่ศาสนาโดยไม่ขึ้นตรงกับนายทุนใดๆในยุคของพวกเขา
ประการที่ 5 หากศาสนาคือผลจากการเล่นเกมส์ทางเศรษฐกิจของนายทุน คนชนชั้นสูง ผู้มีอำนาจ ผู้มั่งมี เราจะต้องพบว่ารากฐานคำสอนของศาสนานั้นจะต้องเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้กับคนรวยและคนมีอิทธิพลมีฐานะเหล่านั้น ทว่าในความเป็นจริงเรากลับพบว่า กลุ่มบุคคลที่ศาสนาให้ความสำคัญมากที่สุดคือบรรดาผู้อ่อนแอ ผู้ยากไร้ ผู้กดขี่ ผู้ถูกปิดกั้น
โดยเฉพาะในศาสนาอิสลามเราจะเห็นว่าศาสดาได้ทำการต่อสู้กับระบบการกดขี่ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ขอให้ท่านศึกษาเกี่ยวกับบทบาทซะกาตในสังคมอิสลาม บทบาทของการคว่ำบาตรระบบดอกเบี้ย ท่านจะพบความพยายามอย่างยิ่งยวดในการช่วยเหลือผู้คนในระดับนี้เสมอ ดังนั้นการอ้างว่าศาสนามาจากนายทุนจึงเป็นการอ้างทฤษฎีที่มองข้ามความเป็นจริง
อ้างอิง
[1] เบอรแทรนด์ รัซเซล (Bertrand Russell) จากหนังสือ Why I Am Not a Christian (برتراند راسل، چرا مسیحی نیستم؟ )
[2] ฟิตรอต มีความหมายตรงกับคำว่า Apriori data ตามการนิยามของพจนานุกรมตรรกวิทยา ,ปทานุกรมปรัชญาให้ความหมายของคำๆนี้ว่า คือ inborn disposition,innate disposition โดยรวมแล้ว ฟิตรอตหมายถึง สามัญสำนักของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิด คือ สิ่งไม่ได้มาจากการเรียนการสอน หรือ การอบรมของบิดามารดา อย่างไรก็ตาม ความแตกต่าง ระหว่าง ฟิตเราะฮ กับ สัญชาติญาณธรรมชาติ สามารถสรุปได้ด้วยสามลักษณะ คือ 1 ฟิตรอตจะถูกพบในมนุษย์ แม้ว่า คุณภาพของมัน จะอ่อนแอ หรือ เข้มแข็งก็ตาม
2 กิจการทางฟิตรอตเป็นกิจการ ที่พิสูจน์ได้ นั่นคือ ฟิตรอตเป็นสิ่งที่อยู่ในภายในมนุษย์ทุกยุคสมัย และทุกสถานที่ กล่าวคือ วัฒนธรรม หรือ การเปลี่ยนแปลงของเวลา ไม่ได้เป็นตัวลบหรือเปลี่ยนแปลง ฟิตรอต
3 ฟิตรอต เป็นส่งที่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยการเรียนการสอน เป็นความรู้ติดตัวของมนุษย์มาแต่แรกเริ่ม
ตัวอย่างเช่น ความรักในสิ่งสวยงาม ความรักในความดี การค้นหาสัจธรรม…..
[3] เรมอนด์ แอรอน Raymond Aron จากหนังสือ ระดับขั้นพื้นฐานความคิดในสังคมวิทยา ,เดวิด ฮูม,จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของศาสนา หรือ The Natural History of religion ,อิริค ฟรอม จากหนังสือ จิตและศาสนา หรือ psychoanalysis and religion
[4] ซามูเอล คิง อลีสัน Samuel King Allison จากหนังสือ สังคมวิทยา
[5] Peter Andre จากหนะงสิอ มารฺก และ มารกซิสม์ Marx va Maxism, Persian translate by Shuja’ al-Din 1975