การนิยามความหมายของศาสนา

7919

ในการทำความเข้าใจศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของศาสนา สิ่งแรกที่ผู้ศึกษาจะต้องทำความเข้าใจคือความหมายของคำว่า “ศาสนา” ในด้านหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หลายๆคนเข้าใจศาสนาอย่างผิดๆ ก็เพราะไม่เข้าใจในความหมายของคำว่าศาสนา ในบทความเราจะนำเสนอนิยามของศาสนาในทัศนะต่างๆ

 

ความหมายทางด้านภาษา

ในภาษาไทย ศาสนา หมายถึง ลัทธิความเชื่อของมนุษย์, หลักคำสอน (ส) ศาสน-ศาสนา [สาสนะ-สาดสะนะ-สาดสะหนา]น. [1]

ในภาษาอาหรับ ศาสนา หมายถึง (دين) [ดีน] ซึ่งคำว่า ดีน มีความหมายทางภาษาที่แตกต่างกัน เช่น การตอบแทน, การภักดี, การเชื่อฟัง, วิถี, การสอบสวน, [2]

ในภาษาอังกฤษ ศาสนา คือ Religion คือ The belief in and worship of a superhuman controlling power, especially a personal God or gods [3]

 

ความหมายทางวิชาการ

นักวิชาการแต่ละสาขา เช่น นักเทววิทยา นักปรัชญา นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา นักประวัติศาสตร์ ต่างให้ความหมายของศาสนาในมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะนิยามความหมายเฉพาะของศาสนา

จุดร่วมของศาสนาในมุมมองของนักวิชาการ

ในการนิยามความหมายที่ถูกต้องของศาสนาเพียงการนิยามเดียวที่ครอบคลุมทุกๆมิติของศาสนา เราจะต้องนิยามจากจุดร่วมนานาศาสนา อย่างไรก็ตาม นักวิชาการพิจารณาจากจุดนี้ จะทำให้เรามองเห็นจุดร่วมทางด้านความเชื่อ แต่ก็ยังมีความขัดแย้งทางด้านข้อเท็จจริงของแต่ละความเชื่อ ณ ที่นี้เราจะนำเสนอจุดต่างๆ ที่มีความสำคัญของศาสนา ดังนี้

1. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งสูงส่ง อำนาจสูงสุด

นักศาสนวิทยาบางส่วนให้ความเห็นว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ องค์ประกอบอันเป็นจุดร่วมของแต่ละศาสนา นักวิเคราะห์กลุ่มนี้เชื่อว่า ความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีปรากฏในปฐมศาสนาและกลุ่มที่บูชาธรรมชาติ  โซเดอรบลอม (Soderblom1866-1931) นักวิจัยศาสนาและนักเทววิทยา ชาวสวีเดน ให้ความเห็นว่า

“ความหมายของความศักดิ์สิทธิ์” นับเป็นกุญแจสำคัญสู่ (การทำความเข้าใจต่อ) ศาสนา เพราะแม้แต่ความหมายของพระเจ้าก็ครอบคลุมในส่วนนี้ เหตุผลเพราะเป็นไปได้ว่าอาจจะมีศาสนาหนึ่งไม่มีความเชื่อเรื่องพระเจ้า แต่ไม่มีศาสนาใดเลยที่ไม่มีความเชื่อในเรื่องระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับโลกนี้ [4]

รูด๊อฟ ออตโต (Rudolf Otta 1869-1937) นักศาสนวิทยา, นักเทววิทยาชาวเยอรมัน ได้สนับสนุนทัศนะนี้เช่นกัน เขาได้เขียนหนังสือ “ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของสิ่งศักดิ์สิทธิ์” (The idea of the holy) และมีรเซีย อิเลียต (Mircea Eliade 1907-1986) นักศาสนวิทยาชาวโรมาเนีย ก็มีความเชื่อเช่นกันว่า การมีคุณสมบัติของความศักดิ์สิทธิ์นับเป็นเอกลักษณ์ในปรากฏการณ์ของศาสนา เขามีความเห็นว่า

“การบูชาโทเท็ม (totem) เจว็ด, การบูชาธรรมชาติ,วิญญาณ, การบูชาซาตาน, การบูชาบรรดาเทพเจ้า, หรือแม้แต่พระเจ้าองค์เดียว คือ การแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ [5]”

2. ทางแห่งการรอดพ้น, การประสบความสำเร็จของชีวิต

นักศาสนวิทยาบางกลุ่ม มีทัศนะว่า ทางแห่งการรอดพ้น, ทางแห่งการประสบความสำเร็จ ความผาสุก คือ จุดร่วมทางความเชื่อของทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาที่มีวิวรณ์หรือไม่มีวิวรณ์ก็ตาม

จอห์น ฮิค (John Hick 1922-2012) นักปรัชญาชาวอังกฤษ ให้การสนับสนุนต่อทัศนะนี้ และแม้บางศาสนาในยุคบรรพกาลจะไม่มีปรากฏความเชื่อในเรื่องทางแห่งการรอดพ้นหรือผาสุกก็ตาม ทว่าในศาสนาใหม่ทุกศาสนาย่อมมีความเชื่อนี้เป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น

วินสตัน คิง (Winston King) นักวิจัยศาสนายุคร่วมสมัยชาวคริสต์มีทัศนะที่ตรงข้ามกับ จอห์น ฮิค เขาเชื่อว่า ทางแห่งความผาสุกของศาสนาเป็นวงแหวนที่มีความแพร่หลายในทุกๆ ศาสนา

ซึ่งความผาสุกนิรันดร์ มีความสัมพันธ์และต่างก็ย้อนกลับไปสู่แก่นแท้ของการรวมสัจธรรม ดังนั้น ความเชื่อในเรื่องความผาสุกจึงมีปรากฎอยู่ในศาสนาแรกเริ่มเห็นกัน [6]

3. โลกทัศน์และอุดมการณ์

อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอีย์ (Muhammad Husayn Tabataba’i 1903-1981) นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน, นักปรัชญา ผู้รู้ในอิสลาม  มีทัศนะว่า “จุดรวมของแต่ละศาสนาคือ แนวคิดในเรื่องสิ่งที่ควร, ไม่ควรทำ ซึ่งวางอยู่บนหลักการของโลกทัศน์ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งความต้องการใช้ชีวิตแบบสังคมของมนุษย์ หรือ ความจำเป็นต่อระบบการปกครอง และ กฎเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตแบบสังคม วางอยู่บนพื้นฐานของทัศนะนี้”

ตามความเห็นของอัลลามะฮ์ “สิ่งที่ควร,ไม่ควรทำ คือ กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมและพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากประเภทของญาณวิทยา (ทฤษฏีทางความรู้) และความเชื่อของมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์กับแก่นแท้ในการมีตัวตนของมนุษย์และโลก”

“ดังนั้นศาสนาหรือ ดีน คือ ศูนย์รวมความรู้และความเชื่อของมนุษย์เกี่ยวกับโลกและกฎเกณฑ์ต่างๆที่เชื่อมต่อกับมัน (ความเชื่อของมนุษย์) ส่วนความแตกต่างของสิ่งที่มีอยู่ในแต่ละศาสนา เกิดมาจากความแตกต่างทางด้านความเชื่อต่อสิ่งต่างๆที่มีอยู่ และคำสั่งทางภาคปฏิบัติ” [7]

4. การนิยามศาสนาทั่วไป (عام – อาม) และแบบเฉพาะ (خاص – ค็อศ)

หากพิจารณาองค์ประกอบจากจุดรวมของแต่ละศาสนา จะทำให้เราได้การนิยามแบบทั่วไป ซึ่งครอบคลุมการนิยามที่แตกต่างได้ดี แต่ถ้าหากต้องการนิยามเฉพาะของศาสนา เราสามารถพิจารณาได้จากคุณสมบัติพิเศษที่มีอยู่ในศาสนานั้น ซึ่งในรูปแบบนี้การนิยามศาสนาของเราก็จะเป็นการนิยามในรูปแบบเฉพาะ ซึ่งครอบคลุมบางศาสนาเท่านั้น

5. การนิยามศาสนาด้วยแบบลักษณ์

การศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบในการนิยามศาสนา เป็นอีกหนึ่งในประเด็นที่สำคัญในวงการนี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีที่มาจาก 2 สิ่ง

1) เนื่องจากมิติที่หลากหลายของศาสนา แต่ละมิติจึงทำให้การนิยามศาสนาแตกต่างกันไป

2) เนื่องจากการมีสาขาความรู้ในการวิจัยศาสนา แต่ละสายธารมีมุมมองเฉพาะเกี่ยวกับศาสนาทำให้การนิยามแตกต่างกัน

 

ในการจัดประเภทการนิยามในรูปแบบที่ 1 ประกอบด้วยแก่นสารและบทบาท

การนิยามโดยพิจารณาจากแก่นสาร คือ การนิยามที่พูดถึงความเป็นศาสนาและองค์ประกอบโครงสร้างของศาสนานั้น สามารถมองหาแก่นสารด้วยการตั้งคำถามว่า แก่นแท้ของศาสนาหนึ่งประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง หากขาดสิ่งใด จะทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ของศาสนานั้น ? พฤติกรรม, การกระทำต่างๆรวมอยู่ในอัตลักษณ์ของศาสนาหรือไม่?
การนิยามโดยพิจารณาจากบทบาท คือ การนิยามโดยพิจารณาจากบทบาทของศาสนาในชีวิตส่วนบุคคลและส่วนสังคม, พฤติกรรม, จิตใจของมนุษย์ การนิยามศาสนาจากภาคงานแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

1. การนิยามโดยพิจารณาจากเป้าหมาย

2. การนิยามโดยพิจารณาจากจริยธรรม

3. การนิยามโดยพิจารณาจากจิตวิทยา

4. การนิยามโดยพิจารณาจากสังคมวิทยา

 

การนิยามโดยพิจารณาจากแก่นสาร

ส่วนสำคัญบางส่วน ในการนิยามโดยการพิจารณาจากแก่นสารของศาสนา คือ ความเชื่อต่อการดำรงอยู่ของจิตวิญญาณ ความเชื่อต่อสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ,ความเชื่อต่อการมีอยู่ของสิ่งสูงส่ง เป็นระบบความเชื่อที่เป็นเอกภาพ และมีความเกี่ยวข้องกับความจริงแท้ของสิ่งมีอยู่ตามธรรมชาติหรือสิ่งสูงส่ง(คือศาสนิกชนในทุกศาสนาเชื่อในเรื่องนี้เหมือนกัน) [8]

วิพากษ์ทัศนะ ในการนิยามประเภทนี้ เป็นการนิยามโดยพิจารณาจากความเชื่อและความศรัทธาต่อการมีอยู่ของสิ่งสูงส่งเพียงด้านเดียว ในขณะที่ความเป็นจริงแล้ว ศาสนายังมีองค์ประกอบอื่นๆร่วมอยู่ด้วย ไม่ใช่องค์ประกอบเดียว กล่าวคือแค่เชื่อว่ามีพระเจ้ายังไม่อาจถือได้ว่าเป็นศาสนา เพราะนอกจากศาสนาจะมีความเชื่อแล้ว ยังมีภาคอื่นที่ประกอบด้วยจริยธรรม(อัคลาค), การอิบาดัต(การเคารพภักดี) เช่นกัน ดังนั้นการนิยามในมุมนี้จึงไม่สมบูรณ์

 

การนิยามโดยพิจารณาจากบทบาท

นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งได้ให้นิยาม โดยพิจารณาจากบทบาทศาสนา ซึ่งการนิยามในด้านนี้แบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน

1. การนิยามโดยพิจารณาจากเป้าหมายของศาสนา

ก) ศาสนาคือระบบความเชื่อและปฏิบัติ ซึ่งเป็นตัวกำหนดเป้าหมายในการใช้ชีวิตของมนุษย์ [9]

วิพากษ์ทัศนะ การนิยามศาสนาในมุมมองนี้ เป็นการนิยามในวงกว้าง ซึ่งครอบคลุมลัทธิวัตถุนิยมต่างๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ลิทธิคอมมิวนิสต์และแนวคิดอื่นๆด้วย เพราะหากนำแนวคิดที่อยู่ในนิยามความหมายนี้ คงไม่ใช่ศาสนาเพียงอย่างเดียว ลัทธิต่างๆก็คงร่วมอยู่ในความหมายนี้เช่นกัน

ข) ศาสนาหมายถึงพันธะ ซึ่งเป็นเป้าหมายของมนุษย์ นิยามจาก พอล ทีลิช (Paul Tilich 1886-1965) นักเทววิทยาชาวคริสต์ นิกาย โปรเทสแทนต์ ชาวเยอรมัน

    วิพากษ์ทัศนะ ความหมายของพันธะกรณีเป็นเป้าหมาย หมายถึง การยอมอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อสัจธรรมบางอย่างที่ผู้นับถือศาสนามีความเชื่อและเคารพภักดี หรือ บูชาต่อสิ่งนั้น ในจุดหนึ่ง พันธะที่ทีลีช กล่าวไว้ โดยแท้จริงแล้ววางอยู่บนรากฐานของ ระบบการดำรงอยู่ เพราะเขาถือว่าพระเจ้าคือผู้วางรากฐานของการการดำรงอยู่ ดังนั้นพันธะจึงผูกมัดไว้กับพระเจ้านั่นเอง [10]

ค) คาร์ล บาร์ท (Karl barth 1886-1968) นักเทวิทยาคริสต์ ชาวสวีส ให้การนิยามว่า ศาสนา คือ การค้นพบพระเจ้าของมนุษย์ ซึ่งการค้นหามีเงื่อนไข คือจะต้องสอดคล้องกับความปรารถนาของมนุษย์เอง ซึ่งจะสิ้นสุดลงด้วยการพบเจอพระเจ้าเสมอ [11]

    วิพากษ์ทัศนะ หากพิจารณาอย่างผิวเผิน จะทำให้เข้าใจว่าความปรารถนาของมนุษย์ที่บาร์ทกำลังพูดถึงอยู่ คือ ฟิตรอต(สามัญสำนึกบริสุทธิ์) ซึ่งแฝงเรื่องราวของพระเจ้าจากภายในนั่นเอง

2. การนิยามศาสนาตามหลักจริยศาสตร์

ก) อีมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant1724-1804) นักปรัชญาเยอรมัน ให้ความหมายของศาสนาว่า
“ศาสนา คือการวินิจฉัยทุกๆหน้าที่, ภารกิจ ภายในนามของพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า”[12]

ข)แมททิว อาร์โนล ( Matthew Arnold 1822-1889) นักกวี นักวิจารณ์ ชาวอังกฤษ ให้ความหมายของศาสนาว่า”ศาสนา คือ จริยธรรมซึ่งเชื่อมต่อและสัมพันธ์กับความรู้สึกของมนุษย์” [13]

วิพากษ์ทัศนะ  ในมุมมองของแมททิว ศาสนาเป็นสัญลักษณ์ ที่ชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างจริยธรรมกับความรู้สึก และความรู้สึกที่ แมททิว พูดถึงคือความรู้สึกที่อ่อนโยนของมนุษย์ จะเห็นว่า นิยามของแมทธิว กับ คานท์ มีความแตกต่างกัน เพราะในมุมมอง คานท์ ศาสนาไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจากหน้าที่ ความรับผิดชอบ อันเป็นรากฐานการกระทำทางจริยธรรมของมนุษย์ และสำหรับ คานท์ จริยธรรมไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกภายใน

ค) White heat นิยามศาสนา ว่า ศาสนาคือระบบหนึ่ง ซึ่งมาจากการรวมกันของสัจธรรมสากล ซึ่งหากยอมรับด้วยความบริสุทธิ์ใจและใคร่ครวญอย่างถูกต้อง จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพและคุณลักษณะอย่างสิ้นเชิง [14]
วิพากษ์ทัศนะ ไม่มีข้อสงสัยใดๆเลยในประเด็นนี้  จริยธรรมคือหนึ่งในมิติและเป้าหมายสำคัญของศาสนา แต่ไม่ได้หมายความว่าศาสนาจะจำกัดอยู่เพื่อมิตินี้ เพราะศาสนายังมีมิติอื่นอยู่คือด้านความเชื่อ, การเคารพภักดี, ศาสนบัญญัติ

3. การนิยามศาสนาตามหลักจิตวิทยา

ก) วิลเลียม เจมส์ (William James 1832-1912) นักจิตวิทยา ชาวอเมริกัน  ให้ความหมายของศาสนาว่า”ศาสนา คือ อิทธิพล, ความรู้สึก, ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อมนุษย์ทุกคนในโลกเพียงลำพัง และเมื่อจากการออกห่างจากทุกสิ่ง(สันโดษ) ในลักษณะนี้มนุษย์จะพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างเขากับส่วนหนึ่งที่เรียกว่าพระเจ้า”[15]

ข) คาร์ล จูง (Carl Gustav Jung 1875-1961) นักจิตวิทยา นักปรัชญา ชาวสวิสเซอร์แลนด์ ได้นิยามว่า

“ศาสนา คือ สภาวะการตระหนัก, การรำลึก, การเพ่งความสนใจต่อบางสิ่ง ที่เรียกว่าอำนาจสูงสุด ซึ่งส่งผลต่อมนุษย์ พวกเขาจะเรียกอำนาจนั้นว่า วิญญาณ ปีศาจ บรรดาเทพเจ้า จินตภาพต่างๆ ซึ่งมีความสมบูรณ์ไและไม่ใช่กายเนื้อ”[16]
วิพากษ์ทัศนะ

ในการนิยามของ คาร์ล มีประเด็นต่างๆที่ควรพิจารณาดังนี้

•    ในมุมของ คาร์ล สภาวะทางจิต การคิด การรำลึก การเพ่งพิจารณา การระมัดระวัง ได้สร้างศาสนาแห่งสัจธรรมขึ้นมา

•    ความเกี่ยวข้องจากสภาวะทางจิตที่กล่าวถึง เป็นคุณลักษณะของผู้นับถือศาสนา

ค) เฟดริค แมชเชอร์ (Friedric Schieier macher  1768-1834) นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน  เฟรดริค ถือว่าแก่นแท้ของศาสนา คือ ความรู้สึก ต่อการมอบความไว้วางใจต่อพระเจ้า และการพึงพาต่ออำนาจสูงสุด เฟรดริคเชื่อว่า นอกจากศาสนาจะมีองค์ประกอบทางด้านความรู้แล้ว ยังมีองค์ประกอบทางด้านการปฏิบัติอีกด้วย เช่นการเคารพภักดี การทำความดี การเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ทว่าแก่นสารของศาสนานั้นไม่ใช่กิจกรรมทางศาสนาหรือความรู้ทางศาสนาแต่อย่างใด

แต่คือทั้งสองสิ่ง (ความรู้, การกระทำ) ที่มีอิทธิพลต่อมัน และสิ่งนั้นคือความรู้สึกต่อการมอบความไว้วางใจ และการพึ่งพาอำนาจสูงสุด [17]

วิพากษ์ทัศนะ การวิจารณ์ที่ครอบคลุมการนิยามทางจิตวิทยาทั้งหมด คือ พวกเขาทุกคนต่างก็นิยามศาสนา โดยมีสาขาวิชาเฉพาะทางของพวกเขา(จิตวิทยา)เป็นหลักการ ดังนั้นมุมมองเกี่ยวกับศาสนาจึงถูกพิจารณาเฉพาะมิติของจิตวิทยา จึงทำให้นิยามในทัศนะนี้เป็นนิยามเฉพาะทางเท่านั้น

 

4. การนิยามศาสนาตามหลักสังคมวิทยา

โดยทั่วไปแล้วในการนิยามผ่านมุมมองของสังคมวิทยา ศาสนาถูกกำหนดให้นิยามตามหลักการหนึ่ง ก็คือ สาเหตุและอิทธิพลต่างๆจากสังคม ในที่นี้เราจะนำเสนอและชี้แจงบางการนิยามที่สำคัญตามกรอบสังคมวิทยา ดังนี้

ก)  อีมีล ดูรเคอิม (Émile Durkheim 1858-1917) นักสังคมวิทยา ชาวฝรั่งเศส ให้นิยามว่า” ศาสนา คือ ระบบเอกภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยความเชื่อต่างๆ, กิจกรรม(ของมนุษย์)ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์, สิ่งซึ่งมีความบริสุทธิ์,ต้องห้าม บวกกับ ความเชื่อและการกระทำ ซึ่งทำให้แต่ละคนในสังคมจริยธรรมรวมเป็นหนึ่งเดียว” [18]

ข) เคน ทอมซัน(Ken Thompson)  นิยามว่า ศาสนา คือ กิจกรรมของมนุษย์ โดยมีระบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นรากฐาน ซึ่งมนุษย์ได้พิจารณาระบบนี้ จากความจริงแท้อันไร้ข้อจำกัด และทรงอำนาจ และด้วยความจริงแท้ของ สภาวะดังกล่าวได้ทำให้มนุษย์เข้าใกล้ความจริง และทำให้ชีวิตของเขาอยู่ภายใต้ระบบที่มีความหมายอันนี้ [19]

ค)  ศาสนา คือ การรวมกันของคำตอบที่เกี่ยวข้องกับคำถามหลักของการดำรงอยู่ หรือการมีตัวตนของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ทุกคนจะต้องเผชิญกับมัน (เช่น เรามาจากไหน มาทำอะไร จะไปที่ไหน) ซึ่งคำตอบต่างๆ จะปรากฏออกมาในรูปแบบของสโลแกนที่บุคคลในสังคมได้รวบรวมมันไว้ และเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นระบบหนึ่งที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น [20]
วิพากษ์ทัศนะ การนิยามของนักสังคมวิทยาก็เหมือนกับการนิยามของนักจิตวิทยา เพราะนักสังคมวิทยาพิจารณานิยามของศาสนาผ่านทางสาขาวิชาความรู้ของตนเท่านั้น

ตัวอย่างการนิยามสุดท้าย

ศาสนาประกอบด้วย การรวมกันของความเชื่อ การกระทำ ความรู้สึกส่วนบุคคล,สังคม ซึ่งเกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องแก่นแท้ของเป้าหมาย โดยแก่นแท้นี้สามารถพบได้จากศาสนาต่างๆ,ประเภทศาสนาแบบ เอกภาพ, พหุภาพ, ชัดเจน, คลุมเครือ, มีพระเจ้า, ไม่มีพระเจ้า [21]
วิเคราะห์โดยรวม

ปัญหาที่พบจากการนิยามในแต่ละสาขา ซึ่งในที่นี้คือ การนิยามจากนักคิดตะวันตก คือ การนิยามของแต่ละศาสตร์เป็นการนิยามในมิติเดียวของศาสนาเท่านั้น และแต่ละการนิยามเอง ก็วางอยู่บนสาขาวิชาเฉพาะทาง ขณะที่ศาสนามีมิติที่หลากหลายมากกว่าที่จะพิจารณาในมิติเดียว และแม้ว่าจะมีนักวิชาการตะวันตกพยายามนำเสนอการนิยามที่ครอบคลุมในหลายๆมิติของศาสนา แต่ก็ยังมีจุดที่บกพร่องอยู่ในการนิยาม

 

การนิยามศาสนาในมุมมองของนักศาสนวิทยามุสลิม

การนิยามศาสนาของนักศาสนวิทยามุสลิม แตกต่างจากนักศาสนวิทยาตะวันตก ตรงที่ ส่วนใหญ่แล้วนักศาสนวิทยาตะวันตก จะนิยามศาสนาจากภายนอกศาสนา ส่วนนักวิชาการมุสลิมจะนิยามศาสนาจากภายในศาสนา ด้วยเหตุนี้เอง การนิยามศาสนาของนักวิชาการฝ่ายมุสลิม จึงไม่แตกต่างมากมายเท่าไรนัก

การนิยามศาสนาของนักวิชาการมุสลิม สามารถแบ่งได้ออกเป็น 4 ประเภท

1. การนิยามที่ครอบคลุมมากกว่า ซึ่งครอบคลุมทุกสำนักคิดหรือหลักศรัทธา แม้กระทั่ง อเทวนิยมหรือโอมานิสต์

2. การนิยามทั่วไป ครอบคลุมศาสนาเริ่มแรก ศาสนาที่พัฒนา ศาสนาพระเจ้าองค์เดียว ศาสนาพระเจ้าหลายองค์ แต่จะไม่ครอบคลุม อเทวนิยม, โอมานิสต์

3. การนิยามเฉพาะ ครอบคลุมเฉพาะศาสนาจากฟากฟ้า และศาสนาที่สอดคล้องกับวิวรณ์เท่านั้น

4. การนิยามจำกัด ครอบคลุมเฉพาะศาสนาอิสลาม

 

เราจะนำเสนอ การนิยามของแต่ละทัศนะ ดังนี้

1. การนิยามที่ครอบคลุมมากกว่า

ก)  อัลลามะฏอบาฏอบาอีย์ (Muhammad Husayn Tabataba’i 1903-1981) ศาสนา คือ การรวมกันของความเชื่อต่างๆเกี่ยวกับแก่นแท้ของมนุษย์ แก่นแท้ของโลก และกฎเกณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่ออันนั้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวคือสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ให้ปฏิบัติในการดำเนินชีวิต[22]
ในทัศนะของอัลลามะฏอบาฏอบาอีย์ การนิยามในลักษณะนี้ เป็นการนิยามที่สอดคล้องกับคำสอนของอัลกุรอาน ท่านมีทัศนะว่า ในมุมมองของอัลกุรอาน ศาสนาก็คือ เส้นทางของชีวิต และในทัศนะของอัลกุรอาน ผู้ศรัทธา ผู้ปฏิเสธ หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า ต่างก็มีศาสนา เพราะไม่มีชีวิตใดที่จะก้าวไปข้างหน้าโดยปราศจากเส้นทาง ไม่ว่าเส้นทางนั้นจะเป็นทางของพระเจ้า เส้นทางโลกีย์ก็ตาม[23]

(ข) อัลลามะ ญะวาดีย์ ออมูลีย์ นักปราชญ์ นักเทววิทยา นักอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน ชาวอิหร่าน (Abdullah Javadi-Amoli)ให้คำนิยามของศาสนาว่า  ศาสนา คือ หลักความเชื่อ, จริยธรรม, กฎเกณฑ์, กฎหมาย เพื่อบริหารสังคมมนุษย์และอบรมบ่มสอนมนุษย์ โดยมีเป้าหมายคือการชี้นำมนุษย์ เพื่อความผาสุกสถาพรของเขา ซึ่งศาสนาในความหมายนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือศาสนาแห่งพระเจ้า และศาสนาแห่งมนุษย์
ศาสนาแห่งมนุษย์ คือ แหล่งความเชื่อต่างๆ, จริยธรรม, กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มนุษย์เป็นผู้รวบรวมขึ้นมาเอง ด้วยความคิดของเขา

ศาสนาแห่งพระเจ้า คือ ความเชื่อ, จริยธรรม, กฎเกณฑ์, กฎหมายพึงปฏิบัติ พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานมัน เพื่อชี้นำมวลมนุษย์[24]

2. การนิยามทั่วไป คือ การนิยามที่ครอบคลุมหลักศรัทธาต่างๆ ซึ่งในหมู่ความเชื่อเหล่านี้ มีทั้งพระเจ้าองค์เดียว พระเจ้าหลายองค์ ตามหลักการนี้ ศาสนาถูกรู้จักควบคู่กับคุณลักษณะพิเศษ คือ การมีศรัทธาต่อพระเจ้าในฐานะของผู้สร้าง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากศาสนาต่างๆ แบ่งออกเป็นเอกานุภาพ, ภาคี

ก) อยาตุลลอฮ มูฮัมมัด ตากี มิศบาฮ ยัซดีย์(Muhammad Taqi Mizbah Yazdi) นักปราชญ์ นักเทววิทยา ชาวอิหร่าน) ให้นิยามว่า ศาสนาในสำนวนวิชาการหมายถึง ความเชื่อต่อผู้สร้างโลก, มนุษย์และคำสั่งภาคปฏิบัติที่สัมพันธ์กับความเชื่อนั้น ด้วยเหตุนี้ บุคคลใดก็ตามที่ไม่ได้มีความเชื่อต่อผู้สร้าง และถือว่าการปรากฏของโลกเป็นเพียงความบังเอิญ และเป็นเพียงการกระทำ และผลของปฏิกิริยาทางวัตถุและธรรมชาติ จึงไม่อาจเรียกคนๆนั้นได้ว่า”มีศาสนา” ทว่าบุคคลที่มีความเชื่อต่อผู้สร้าง ไม่ว่าความเชื่อและพิธีกรรมของเขาจะปนเปกับความเชื่อผิดๆก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นผู้มีศาสนาอยู่ [25]

แกนกลางของศาสนาในการนิยามนี้ คือ การเคารพภักดีพระเจ้า ดังนั้นศาสนาจึงแบ่งเป็น 2 ประเภท คือศาสนาแห่งสัจธรรมและศาสนาโมฆะ

ศาสนาโมฆะ คือ ศาสนาที่มีการตั้งภาคีต่อพระเจ้าหรือการเคารพภักดีสิ่งอื่นนอกจากพระเจ้า หรืออุตริ หรือบัญญัติที่ไม่ได้มาจากพระเจ้า

ศาสนาสัจธรรม คือ ศาสนาพระเจ้าองค์เดียว, เอกานุภาพ ซึ่งไม่มีการตั้งภาคี คือการภักดีต่อสิ่งอื่นนอกจากพระเจ้า

3. การนิยามเฉพาะ การนิยามประเภทนี้ครอบคลุม ศาสนาสัจธรรมคือศาสนาเอกนุภาพ โดยบรรดาศาสดาของพระเจ้า การบิดเบือนใดที่ปกคลุมบางส่วนจึงจะทำให้ศาสนานั้นออกจากวงแหวนของการนิยามนี้ นักเทววิทยา, นักศาสนวิทยาบางกลุ่ม ก็ได้นิยามศาสนาไว้ในลักษณะนี้

(ก) มูฮัมมัด อับดุฮ นักการศาสนา นักอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน นักวิชาการชาวอิยิปต์ มหาวิทยาลัย อัลอัซฮัร (Muhammad Abduh 1849-1905) นิยามว่า ศาสนา คือ ภารกิจต่างๆ ซึ่งมนุษย์ได้ใช้มันเป็นสื่อในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ตามการนิยามนี้ ศาสนาคือสิ่งควบคู่กับชะรีอะ(ศาสนบัญญัติ) [26]

(ข) อยาตุลลอฮ ญะอฺฟัร ซุฟบฮานีย์(Ayatullah Ja’far Sobhani) นักการศาสนา นักเทววิทยา ชาวอิหร่าน  ได้นิยามว่า ศาสนา หมายถึง ระบบความคิดและการกระทำที่ถูกนำเสนอให้กับมนุษย์จากพระผู้เป็นเจ้า เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ให้รอดพ้น, ความผาสุกของมนุษย์ ซึ่งคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้พยายามเผยแพร่สาส์นในนามของผู้ส่งสาส์นหรือศาสดา[27]

(ค) อัลลามะ ญะฟารีย์ (Muhammad-Taqi Ja’fari 1923-1998) นักปรัชญา นักการศาสนาชาวอิหร่าน ได้ให้คำนิยามว่า ศาสนา มาจากสององค์ประกอบหลัก องค์ประกอบแรกคือความเชื่อต่อการมีอยู่ของพระเจ้าเพียงองค์เดียว และคุณลักษณะที่สมบูรณ์ของพระองค์ ซึ่งโลกถูกสร้างมาบนพื้นฐานวิทยาปัญญาของพระองค์ และมนุษย์ได้รับการชี้นำจากสองสิ่ง (ข้อพิสูจน์จากภายใน=สติปัญญา, ข้อพิสูจน์จากภายนอก=ศาสนา, ผู้สืบทอดต่อจากศาสดา) ในการพัฒนาสู่ความสมบูรณ์จนเข้าสู่การพบเจอกับพระเจ้า และความเชื่อต่อการเป็นอมตะ ซึ่งหากปราศจากมัน ชีวิตและการดำรงอยู่สากลคือสิ่งไร้ทางออก องค์ประกอบที่สองคือกิจกรรมในการก้าวไปสู่เป้าหมาย ซึ่งถูกเรียกว่าศาสนบัญญัติและภารกิจ ซึ่งมี 2 ส่วนคือ

-กฎเกณฑ์ทางจริยธรรม ที่มีไว้ เพื่อแสวงหาความเหมาะสม การขัดเกลาจิตใจ การสร้างความบริสุทธิ์ภายใน

-กฎเกณฑ์ทางศาสนบัญญัติ[28]

4. การนิยามจำกัด

การนิยามประเภทนี้จำกัดเฉพาะศาสนาอิสลาม ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มถือว่าศาสนา คือ สิ่งที่ศาสดามูฮัมมัดนำมาสำหรับมนุษยชาติ [29]

อะมีนุลอิสลาม ฎอบรอซีย์ นักอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน ศ.ที่ 11 ได้บันทึกในตำราอรรถาธิบายกุรอาน(ตัฟซีร) ว่า

ศาสนาสัจธรรม ศาสนาอิสลาม ซึ่งการมีความเชื่อและปฏิบัติตามศาสนานี้ จะทำให้มีสิทธิในการรับผลตอบแทน และอื่นๆนอกนี้ถือว่าเป็นโมฆะ และการหันเหออกจากศาสนา ก็จะเป็นเหตุต่อการที่จะต้องรับบทลงโทษ

ความหมายของศาสนาเฉพาะ คือ ทุกๆความเชื่อและชะรีอัต ซึ่งถูกส่งมาจากพระเจ้าโดยมีศาสดาเป็นผู้ประกาศสาส์นนั้นให้แก่มนุษย์ และจากจุดนี้ศาสนาอิสลาม คือ ศาสนาที่มีบัญญัติสมบูรณ์มากที่สุด ดังนั้นความหมายของ ศาสนา ในมุมมองของนักวิชาการผู้รู้กลุ่มนี้ คือ ศาสนาอิสลาม[30]

 

สรุป

โดยสรุปแล้ว การนิยามที่เหมาะสมที่สุด จะต้องเป็นการนิยามซึ่งครอบคลุมเอกลักษณ์ของศาสนามากที่สุด และไม่มีจุดบกพร่อง และมีความเป็นสากล ซึ่งเมื่อพิจารณาจากจุดนี้ จะทำให้เห็นว่า คือการนิยามของอัลลามะฏอบาฏอบาอีย์ และ อัลลามะ ญะวาดีย์ ออมูลีย์ เป็นการนิยามที่มีจุดเด่นมากกว่าการนิยามในรุปแบบอื่นๆ คือ

ศาสนา คือ การรวมกันของความเชื่อต่างๆเกี่ยวกับแก่นแท้ของมนุษย์ แก่นแท้ของโลก และกฎเกณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่ออันนั้น ซึ่งการปฏิบัติคือสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ให้ปฏิบัติในการวิถีชีวิตของมนุษย์

ศาสนา คือ หลักความเชื่อ, จริยธรรม, กฎเกณฑ์, กฎหมาย เพื่อบริหารสังคมมนุษย์และอบรมบ่มสอนมนุษย์ โดยมีเป้าหมายคือการชี้นำมนุษย์ เพื่อความผาสุกสถาพรของเขา

เพราะการนิยามรูปแบบนี้เป็นการนิยามที่มีความสากล และสอดคล้องกับอัตลักษณ์แก่นสารของศาสนา และในด้านตรงข้ามหากเราดึงเอาคำหนึ่งคำใดออกจากประโยคนี้ การนิยามความหมายของศาสนาก็จะไม่สมบูรณ์ เช่น หากเราดึงคำว่า ความเชื่อ ออกจากนิยามศาสนา การนิยามก็จะไม่สมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อพิจารณาประโยคโดยรวมทั้งหมดจะทำให้เราเข้าใจว่า การนิยามนี้ถือเป็นการนิยามที่มีความสมบูรณ์มากกว่าการนิยามใดๆ
อ้างอิง
[1]  พจนานุกรมไทยฉบับทันสมัยและสมบูรณ์, ฝ่ายวิชาการภาษาไทย บ.ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด หน้า 1058
[2] لسان العرب، ج 5 ص 329-340
[3] http://www.oxforddictionaries.com/definition/english/religion
[4] Mircea Eliade,studies in Religious Persian translate by Bahaudin karamshahee V I P99-102
[5] The Quest history and meaning in religion Persian translate by Jalal setari P17-18
[6] Mircea Eliade Studies in Religious Persian translate by Bahaudin karamshahee P76 V I
[7] Shi’a Islam ,P 1-3,Syed Muhammad Husayn Tabataba’i ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้แปลเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อ “ชีอะฮในอิสลาม” ซึ่งตรงกับหน้า 11
[8] Jean-Paul Willaime ,Sociologie des Religions, Paris, PUF, 2005, 3rd ed P 171-172 Persian trate by Abdul-raheem Kwahi
[9] Jean-Paul Willaime, Sociologie des Religions, Paris, PUF, 2005, 3rd ed P 21 Persian trate by Abdul-raheem Kwahi
[10] محمد تقی جعفری، فلسفه دین ؛ص106
[11] محمد تقی جعفری، فلسفه دین ؛ص105
[12] Robert E. hum the world’s living Religions ,P 22 Persian translate by Abdul-raheem Kwahi
[13] หน้าเดียวกัน
[14]  มูฮัมมัด อิกบาล ลาฮูลีย์ , محمد اقبال لاهوری،بازسازی اندیشه دینی در اسلام ترجمه محمد بقایی؛ص32
[15] William James ویلیام جیمز ؛دین و دوران ؛ترجمه مهدی قائنی ؛4-11
[16] Carl Jung Psychology and Religion P4-6 Persian Translate by  Fu’ad Ruhani
[17] Colin Browne Philosophy & Chistian Faith ,P109-110,Persian translate by Mikaelliyan
[18] Mircea Eliade,studies in Religious Persian translate by Bahaudin karamshahee V I P111
[19] کنت تامسون ؛دین و ساختار اجتماعی ؛ ترجمه علی بهرام پور ؛ص17-19
[20] หน้าเดียวกัน
[21] ไมเคิล ปีเตอร์ซัน จากหนังสือ Reason and Religious Belief ,P20  Persian Translate by Ahmad-Naragi and Ebrahim Sultani
[22] Shi’a Islam ,P 3 ,Syed Muhammad Husayn Tabataba’i
[23] Shi’a Islam ,P 4-7 ,Syed Muhammad Husayn Tabataba’i
[24] عبدالله جوادی آملی ؛شریعت در آیینه معرفت؛ص112
[25] محمد تقی مصباح یزدی؛آموزش عقاید ج1ص28
[26] محمد عبده، رشید رضا؛تفسیر المنار ؛ج3ص257
[27] جعفر سبحانی ؛مدخل مسائل جدید در علم کلام ص135
[28] محمد تقی جعفری ؛فلسفه دین ؛ص118-119
[29] سید مرتضی ؛رسائل المرتضی، ج2ص270
[30] امین الاسلام طبرسی؛مجمع‌البیان ؛ج5 ص34