ท่าทีและจิตวิญญาณของผู้คน คือสิ่งที่สามารถรักษาความแข็งแกร่งของประเทศได้ การทำลายมัน จะทำให้เสถียรภาพของความเป็นคนตกอยู่ในอันตราย ทว่าการหล่อหลอมจิตวิญญาณด้วยความคิดปรสิต ก็เป็นอันตรายต่อร่างกายของสังคมไม่น้อยไปกว่ากัน และหนึ่งในสิ่งที่มักจะถูกบั่นทอนอยู่เสมอคือ “เสรีภาพ” แต่คำว่า”เสรีภาพ” มันมีขีดจำกัด มีขอบเขตหรือไม่ ? ผู้คนมักจะละเลยถึง คำถามประเภทนี้เสมอ
เศรษฐกิจแบบทุนนิยมตะวันตก ใช้คำว่า”เสรีภาพ” เป็นเครื่องมือต้านแนวคิดเรื่องคุณธรรมในการค้า ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจไม่อยากให้มี เรื่องคุณธรรม เข้ามาแทรกแซงกลไกการตลาด นักร้องที่แต่งเนื้อหาหยาบๆ และเต็มไปด้วยคาวโลกีย์ อย่าง the weeknd หรือ fetty wap และวงอื่นๆ คงร้องเพลงไม่ออก ถ้ามีแนวคิดเรื่องศีลธรรม-คุณธรรม เป็นตัวเซ็นเซอร์ ผู้สร้างหนังจะไม่มีวันผลิตผลงานภาพยนตร์ ที่มีเนื้อหารุนแรง และกระตุ้นให้ผู้ชมคลั่งไคล้วิถีชีวิตของแต่ละตัวละครได้สำเร็จ(แม้ว่าชีวิตจริง “บทของตัวละครจะสะท้อนความสุดโต่งบางด้านก็ตาม) ถ้าพวกเขาไม่กำจัดแนวคิดเรื่องศาสนาและคุณธรรมที่เป็นตัวตีกรอบในการสร้างผลงานออกไปเสียก่อน
เรื่องของ”เสรีภาพ” จึงกลายเป็นขนมหวาน และของล่อใจ พร้อมๆกับที่เป็นกับดักในเวลาเดียวกัน รอให้หนูอย่างเรา เข้าไปติดกับ เมื่อกินเหยื่อ เราจะรับเอาค่านิยมปลอมปลอม เกี่ยวกับโลกนี้มาฝังไว้ในสมองโดยอัตโนมัติ วิธีที่มักใช้ถ่ายทอดชุดความคิดบางชิ้น เริ่มด้วยการเอาจิตวิญญาณของศาสนา มาบิดให้เบี้ยวจนทำให้หลายคน(อาจ)คิด ว่า การพูดเรื่องคุณธรรม ที่นำเสนอโดยคำสอนของศาสนานั้น คือการ ทำให้สังคมเกิดความไม่เป็นกลาง ล้าหลัง และจำกัดเสรีภาพของมวลชน
ผมขอบอก เสรีภาพ มันมีทั้งทางบวก และทางลบ ขึ้นอยู่ว่าจะเอาไปใช้ในทางไหน
คำถามสำคัญ คือ เราควรให้อะไรเป็นจิตวิญญาณหล่อหลอมสังคม ? จริงๆ มันคือ ทั้งสองสิ่ง นั่นคือ เสรี และ คุณธรรม
มีความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงว่า เสรีภาพ คือ หนทางสู่ความเจิรญ จริงๆเราต้องพูดว่า เสรีภาพเชิงบวก คือ หนทางสู่ความเจิรญ เพราะคำๆนี้ มันมีทั้งเชิงบวก และเชิงลบ แน่นอนว่า เสรีภาพ เป็นสิ่งที่ดี และทุกคนต่างก็แสวงหามัน แต่เราก็รู้ดีอีกเช่นกันว่า เสรีภาพมีกรอบขอบเขต ไม่ใช่สิ่งไร้พรมแดน เรากินทุกอย่างไม่ได้ที่อยากกิน เพราะบางอย่างก็เป็นโทษกับเรา การเป็นชนชั้นกลางทำให้เราใช้เงินตามอำเภอใจไม่ได้ โดยไม่สนใจอนาคต หรือ คนข้างหลัง เพราะมันจะทำให้เราเป็นคน”โลภ” และ”หมดตัว” ความเข้าใจแบบนี้ตอกย้ำเราอยู่เสมอ ว่า คนเรามีทั้งอัตตาใฝ่ต่ำ และความเห็นแก่ตัว เพราะต่อให้คนระดับ Super class จะมั่งคั่งสักเพียงใด มันก็ยังไม่เพียงพอสำหรับพวกเขา แม้พวกเขาจะอ้างว่า “เรามีสิทธิเสรีภาพในการแสวงหากำไรให้ตัวเอง” แต่วันหนึ่งความโลภอันนี้ จะทำให้สังคมเผชิญกับหายนะ ไม่แปลกที่คานธี จะกล่าวว่า “ทรัพยากรในโลกมีเพียงพอสำหรับทุกชีวิตบนโลก แต่ไม่พอสำหรับความโลภของคนเพียงคนเดียว”
อันที่จริงแล้ว การมีเสรีภาพแบบสุดโต่งไม่ใช่เสรีภาพ แต่คือการ”เอาแต่ใจตัวเอง” คือ คนที่ตัวเป็นผู้ใหญ่ แต่สวมวิญญาณเด็กดื้อที่กระทืบเท้าตัวเองเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เราเข้าใจเรื่องนี้ดี พอๆกับที่รู้ว่า พ่อ-แม่ทุกคน ตระหนักว่าการให้ลูกวัยรุ่นข องพวกเขา ทำทุกอย่างที่ใจปราถนา ได้ทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการนั้น ยอมทุกอย่างที่พวกเขาทักท้วง เป็นการทำร้ายพวกเขา ไม่ใช่ทำให้พวกเขามีเสรีอย่างสมบูรณ์
ปรัชญาที่สอนให้ทุกคนคิดว่า “เราจะทำอะไรก็ได้ ไม่ว่ากับชีวิตตัวเอง-สังคม-โลก และการห้ามเราเท่ากับการละเมิดเสรี โดยมีข้อแม้ว่า จะต้องไม่ไปเบียดเบียนใคร” นั้นควรถูกนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ความคิด ได้แล้วเพราะลึกๆมันสะท้อนให้เห็น ว่า มนุษย์จะฆ่าตัวตายก็ได้ เพราะเรามีเสรีภาพในการตัดสินใจ มนุษย์จะโก่งราคาใครก็ได้ หากตลาดของนักธุรกิจ นิยามว่า การขึ้นราคาสินค้าในยามวิกฤต ไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม
นี่เป็นการนำเสนอที่ออกจะแหวกแนวกับความคิดทั่วไปอยู่บ้าง แต่อย่างว่า มีผู้คนมากมาย อ้างคำว่า”เสรีภาพ”ในการกระทำความผิด และตบตาผู้คนเพื่อสนองกิเลศอยู่เสมอ การใส่แค่คำว่า “ต้องไม่เบียดเบียนใคร” ในนิยามจึงเป็นเพียงแค่ถ้อยคำสวยงามในทางทฤษฎี แต่ล้มเหลวในทางปฏิบัติ เพราะเสรีภาพ ไม่ใช่การด่าพ่อล่อแม่ใครก็ได้ ไม่ใช่การมีเสรีในการขายน้ำเปล่าขวดละ 200 บาท ในทะเลทราย ไม่ใช่การมีเสรีในการขึ้นราคาปลากระป๋อง ตอนน้ำท่วม ไม่ใช่การสร้างภาพยนตร์ที่ยุยง ส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง ไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ที่เหม็นคลุ้งไปด้วยคาวโลกีย์ ทว่าเสรีภาพที่แท้จริง คือสิ่งที่ต้องเข้ากันได้กับคุณธรรม และเดินไปคู่กับมัน ในวิถีแห่งชีวิต