ขณะกำลังท่องอินเตอร์เน็ต เพลิดเพลินไปกับการอ่านสาระเนื้อหาความรู้ มีข่าวชิ้นหนึ่งวิ่งขึ้นมาหน้าฟีดของผม มันเป็นเรื่องของ “อุบัติเหตุเรือล่ม” ในพิธี “โฮ้ล” (มาจากภาษาอาหรับ เเปลว่า ครบรอบปี) ซึ่งตรงกับวันเสียชีวิตของท่านโต๊ะกีเเซะ ที่มุสลิมชาวอยุธยาเคารพให้เกียรติในฐานะบรมครู ซึ่งสำนักข่าว”ข่าวสด” รายงานล่าสุดว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 28 คน
ท่ามกลางบรรยากาศที่โศกเศร้า ผู้คนมากมายต่างแสดงความเสียใจ และรุดเข้ามาช่วยเหลือกันหลายฝ่าย ผู้ที่ประสบเหตุได้รับความช่วยเหลือ จากศาสนิกชนชาวมุสลิมและชาวพุทธ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ข้าราชการรวมถึงสำนักจุฬาราชมนตรี ที่ออกมาให้กำลังใจและแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์นี้ แต่….
แต่แล้วก็มีกระแสหนึ่งถูกจุดขึ้นมา โดยกลุ่มคณะใหม่ หรือ “วะฮาบี” โดยบรรดาคนระดับท็อปคลาสของกลุ่มวาฮาบี เริ่มออกมาพูด และอธิบายเหตุผลว่า “สาเหตุที่เรือล่ม ที่เกิดอุบัติเหตุ เป็นเพราะพวกตอรีกัตทำชีริก ตั้งภาคี สร้างอุตริกรรมขึ้นมา อัลลอฮ จึงลงโทษพวกเขา” แล้วหลังจากนั้น ผู้คนที่ศรัทธาแกนนำระดับ top class ของกลุ่มวาฮาบี ก็เริ่มที่จะออกมาซ้ำเติม และตราหน้ามุสลิมชาวตอรีกัตที่ประสบอุบัติเหตุครั้งนี้ว่าเป็นพวก “มุชรีกีน” (ผู้ตั้งภาคี)
คำว่า”ชีริก” หรือคำว่า”มุชริก” มันเป็นคำที่รุนแรงและละเอียดอ่อน (sensitive) มากสำหรับชาวมุสลิม และคำนี้ เคยถูกนำไปใช้เรียกกับคนที่ต่อสู้และเป็นศัตรูกับศาสดาแห่งอิสลาม และในบางกรณีก็ใช้เรียกบุคคลที่จะต้องไปอยู่ในนรก ในโลกหน้า แต่ปัจจุบัน คำคำนี้กลับถูกนำมาใช้เรียกบรรดามุสลิมที่มีนิกายต่างไปจากกลุ่มคณะใหม่วะฮาบี โดยมีโปรแกรมตรวจสอบชีริก คือ แนวคิด แบบคณะใหม่ และตามจินตนาการของคณะใหม่ เสมือนว่าพวกเขาคือพวกเดียวที่จดลิขสิทธิ์ คำว่า”มุสลิม” ให้กับตัวเอง
ซึ่งต่อมา อีหม่าม “จักรกฤษ เส้นขาว” ซึ่งประจำอยู่มัสยิดอาลียินนูรอยน์ อยุธยา ในชุมชนเสียชีวิตจากเหตุเรือล่ม ก็ออกมาตอบโต้กลุ่มวะฮาบี ที่กล่าวหามุสลิมในชุมชนว่าเป็นพวกตั้งภาคี (ชีริก) ว่า “อย่าทำตัวเป็นพระเจ้า เที่ยวไล่ตัดสินคนอื่นว่าตกศาสนา”
ลองมองเรื่องนี้ผ่านตรรกะกันดูนะครับ ประโยค ” เรือล่มเพราะคนตั้งภาคี(ชีริก)” ถูกต้องหรือไม่ การหาคำตอบของเรื่องนี้ ทำได้จากการศึกษาวิธีคิดของทั้งสองฝ่าย ชุดตรรกะของฝ่ายคณะใหม่คือ
“การตั้งภาคีเป็นสาเหตุของการลงโทษ”
กลุ่ม ตอรีกัต ตั้งภาคี
กลุ่ม ตอรีกัต จึงถูกลงโทษ”
นี่คือชุดตรรกะ ที่กลุ่มคณะใหม่ ใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสิน ประโยคแรก ” การตั้งภาคีเป็นสาเหตุของการลงโทษ” ถูกต้องครับ ตามทัศนะของ อัล-กุรอ่าน และไม่มีมุสลิมนิกายใดมีความเห็นขัดแย้งกับประโยคนี้ แต่ประโยคที่ 2 และ 3 ผิดครับ เพราะการนำความหมายของ”การตั้งภาคี” มามอบให้กับกลุ่ม ตอรีกัต คือการตัดสินตามทัศนะของตนเอง ไม่ได้ตามหลักอัล-กุรอ่าน แต่อย่างใด
ถ้าดูในอัลกุรอ่าน คุณจะเห็นว่า การตั้งภาคีตามมุมมองของอัล-กุรอ่าน หมายถึง การเชื่อว่ามีพระเจ้ามากกว่า 1 องค์ (ชีริกในเตาฮีด, การเชื่อว่า มีพระเจ้า และมีสิ่งอื่น ที่อภิบาลสรรพสิ่ง โดยเป็นเอกเทศกัน(ชีริกในรูบูบียะฮ) , เชื่อว่ามีพระเจ้า อาจจะองค์เดียวหรือหลายองค์ แปลบูชาภักดีสิ่งอื่นร่วมกันกับ พระเจ้าด้วย (ชีริกในอิบาดัต) ซึ่ง ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน มีคำว่าชีริกปรากฎมากกว่า 180 ครั้ง ในรูปของไวยากรณ์คำนาม คำกิริยาที่แตกต่างกัน
ทำไมประโยคที่ 2 และ 3 จึงผิด เหตุผลเป็นเพราะ กลุ่มตอรีกัต ไม่ได้ถือว่า มีพระเจ้าอื่นนอกจากอัลเลาะห์ ไม่ได้ถือว่า มีผู้อภิบาลสรรพสิ่ง รวมกับพระเจ้า แล้วพวกเขายังไม่ได้ถืออีกว่า พวกเขาเคารพภักดีสิ่งอื่นร่วมกับอัลเลาะ ห์ เช่นนั้นแล้ว หากมองผ่านมุมนี้ กลุ่มตอรีกัต จะทำชีริกได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาไม่ได้เป็นมุชริก ในแบบใด ? การใส่ข้อหา ตั้งภาคี ตามความเข้าใจของตนเอง ให้กับผู้อื่น จึงเป็นการประกอบประโยคผิด เพราะผิดตรงที่ผู้ประกอบประโยค “ตอรีกัต ทำชีริก ตอรีกัต จึงถูกลงโทษ” เข้าใจความหมายของคำว่าชีริกไม่ถูกต้อง
ด้วยเหตุนี้ อิมาม จักรกฤษ จึงตั้งคำถามว่า “ชีริกคืออะไร? และวะฮาบีรู้จักชีริกดีแค่ไหน?”
การที่อิหม่าม จักรกฤษ อธิบายจุดยืนของกลุ่มว่า “อันที่จริงแล้ว สำหรับมุสลิมนั้น ถ้ามี (สิ่ง) อื่นนอกจากอัลเลาะห์แล้วถือว่าชีริกทั้งนั้น ถ้าเอาสิ่งอื่นนอกจากอัลเลาะห์เป็นพระเจ้า (ถือว่า) ชีริกทั้งนั้น” และ “และตราบใดที่พี่น้องของผมทุกคน มีคำปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ และมุฮัมหมัดเป็นศาสนทูตของอัลเลาะห์ ถามว่าผมไม่ใช่มุสลิมตรงไหน?” ประโยค ของ อิหม่ามจักรกฤษ ยังสะท้อนว่า ตอรีกัต ไม่ได้ถือสิ่งอื่น เป็นพระเจ้าร่วมกัน กับพระองค์ แล้วพวกเขา ยังคงยึดมั่น ต่อคำปฏิญาณ อันเป็นรากฐานสำคัญของ ความเชื่อในเรื่องเอกานุภาพอันนี้
อาจจะมีข้อโต้แย้งหลงเหลืออยู่ว่า แล้วที่ทำการแห่เรือนั่นล่ะ ไม่ใช่การบูชาสิ่งอื่นหรอกหรือ ? เราสามารถ มองหาคำตอบเรื่องนี้ ได้จากคำพูดของอิหม่ามจักรกฤษ ท่านได้ตอบล่วงหน้าไปแล้วว่า “กรณีของผม ผมกระทำการตออัต (เคารพให้เกียรติ) ต่อครู ผู้ที่ประสิทธิประสาทวิชาต่อผม ผมชีริกตรงไหน?” หมายความว่าในมุมมองของ อิหม่าม จักรกฤษ การจัดพิธีแสดงความเคารพต่อครู ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องชีริกหรือการตั้งภาคี แต่เป็นประเภทหนึ่งของวิธีการรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งมีบทบาทและมึความสำคัญต่อสังคมในรูปแบบหนึ่ง
ในเรื่องนี้ อาจย้อนแย้งได้ เพราะถ้าสืบค้นในประวัติศาสตร์ของบรรดาครูบาอาจารย์ กลุ่มวาฮาบี เราจะพบเจอ กับ เรื่องประหลาดมากมาย ดังนั้น ถ้าถูกถามว่า หากการจัดงานรำลึกถึงผู้มีบุญคุณ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แล้วทำไม ชุมชนวะฮาบีในอดีต ถึงดื่มน้ำเหลือจากศพของอิบนุตัยมี ยะฮ เอาสิริมงคลได้ ?(ดูในบิดายะฮ วัน นิฮายะ ของ อิบนุกะซีร เล่ม 16 หน้า 210 ในเรื่องนี้มี นักประวัติศาสตร์ ร่วมสมัยมากมาย ได้บันทึกไว้ในหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ )
ผมอยากให้มองว่า “ชีริก” กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการขยายอำนาจและอิทธิพลทางความคิดของกลุ่มคณะใหม่ มากกว่าการพยายามปฏิรูปศาสนาให้ถูกต้อง แน่นอนครับในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการนำคูรอฟาต (สิ่งที่ถูกเพื่มเข้ามาในศาสนา หรือ อุตริกรรม) เข้ามาผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมกับศาสนา แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ต้องทำลายเรื่องนี้ ด้วยการ ยุยงให้คนเกลียดชุมชนนั้นๆ และก็ไม่แน่ว่า อุตริกรรมตามความเข้าใจของบางคนอาจจะไม่ใช่อุตริกรรมจริงๆ เสียด้วย
ผมเชื่อว่าหลายคนคงสังเกตเห็นว่า กลุ่มวาฮาบี ก้าวร้าวเกินไป เพราะวาทกรรมและการปลุกระดม ที่พวกเขาสร้างกันขึ้นมานั้น เป็น hate speech เพราะพวกเขาไม่ฟังเหตุผลหรือคำอธิบาย ของฝ่ายตอรีกัตเลย จึงไม่แปลกที่อิหม่ามประจำมัสยิดอาลียีนนูรอยน์ ถึงได้พูดว่า ” อย่าทำตัวเป็นพระเจ้า เที่ยวไล่ตัดสินว่า คนอื่นว่าตกศาสนา”
เหตุผลที่ ผมบอกว่า ชีริก เป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจ เพราะถ้าดูในประวัติศาสตร์ คุณจะเห็นว่า มูฮัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ เริ่มต้นการเผยแพร่แนวทางของตนเอง โดยการสร้าง วาทะแห่ง”ชีริก” มองในมุมการเมือง ต่อให้ เป็นคนที่มาจากกลุ่มคณะใหม่ เขาก็ไม่ปฏิเสธเรื่องนี้ เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ และนั่นคือ โปรแกรมถอนชีริก เถลิงอำนาจ 1.0 โปรแกรมนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้ราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย สามารถตั้งตนเป็นกษัตริย์ และ ประกาศตัว เป็นตัวแทนผู้ดูแลบ้านของพระเจ้า ในเวลาต่อมา
แน่นอนบทความนี้อาจจะมีทั้งคนเกลียดและคนรัก ตามนิยาม และทัศนะของแต่ละคน แต่ผมอยากจะลองตั้งคำถามกับทุกๆท่าน และจินตนาการไปพร้อมพร้อมๆกันว่า ถ้าความเกลียด ,ชีริก-บิดอะฮ์ และการก่นด่าการสาปแช่ง “ความแตกต่าง” ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ศาสนา สังคมมุสลิมไทย ในอนาคต จะเป็นอย่างไร ?
“ไฟไม่ได้ติดขึ้นมาเอง คนเรานี่แหละที่จุดมัน”