ข้อถกเถียงเรื่อง : นักโทษข่มขืน “ควร” หรือ “ไม่สมควร” ถูกประหารชีวิต!!

1443
โทษการประหารชีวิต เป็นอีกประเด็นหนึ่งทางสังคมที่มีการถกเถียงกันอย่างมากมาย ภายใต้สีสันของความคิด และชีวิตที่หลากหลาย เรื่องโทษข่มขืน ถือเป็นประเด็นร้อนแรง และครุกรุ่นอยู่เสมอ มีการจุดกระแสรณรงค์ให้คาดโทษประหารชีวิตในโลกไซเซียล ทั้งแฮ็ชแท็ก ทั้งโพสต์สถานะ บ้างก็ถ่ายวิดิโอแสดงความเห็นกันเลยก็มี แน่นอนว่า ภายใต้สังคมที่แสนซับซ้อนและยุ่งเหยิงของเรา

มีคนแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แบ่งออกเป็นสองขั้ว คือ กลุ่มที่เห็นด้วย และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ทุกคนต่างยอมรับว่า การข่มขืน หรือ การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นอาชญากรรมร้ายแรงประเภทหนึ่ง  แต่สิ่งที่หลายคนเห็นต่างกัน เริ่มต้นจากคำถามว่า การประหารชีวิตคือผลที่สมควรต่อโทษการข่มขืนหรือไม่ ? บทความนี้ ผู้เขียนจะพาท่านผู้อ่าน สู้ห้องความคิดของทั้งสองฝ่าย โดยย่อยหลักปรัชญา และ แนวคิดของแต่ละฝ่าย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย ในรูปแบบของบทสนทนา

ผู้เขียนขอสมมติ ตัวละครใน บทสนทนานี้ โดยสมมติให้”เมธี” เป็นตัวแทนความคิดฝ่ายที่สนับสนุนให้ ประหารชีวิต ผู้ต้องหา โทษข่มขืน  และให้”เอก” เป็นตัวแทนความคิดของฝ่ายที่ รณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายโทษประหารชีวิต  และต่อไปนี้คือบทสนทนาระหว่างเมธีกับเอก

เมธี : ทำไมคุณถึงมองว่าการข่มขืนไม่สมควรมีโทษประหารชีวิต ?

เอก : ถ้าคุณเป็นคนมีศาสนาผมจะตอบว่า เพราะชีวิตของทุกคนมีค่า ชีวิตของทุกคน คือ ของขวัญ ไม่มีรัฐบาลใด หรือใครที่จะมีสิทธิ์มาทำลายมันได้ แต่ถ้าคุณไม่มีศาสนา ผมจะตอบว่า เพราะคุณรู้ดีว่าชีวิตของมนุษย์มีค่า ไม่ใช่เพราะพระเจ้า หรือ พลังลึกลับใดๆ มอบให้ แต่เพราะมันมีค่าในตัวของมัน  และค่าของมัน เป็นสิ่งที่ไม่ว่ารัฐบาลไหน ก็ไม่มีสิทธิ์พรากมันไปจากคุณได้ เพราะ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียม ไม่ว่า จะดีหรือเลว และไม่มีใครมีสิทธิ์ไปทำลายมัน.

เมธี : ถ้าคุณคิดอย่างนี้ผมคงต้องโต้แย้งว่า ข้อแรก ถ้าชีวิตคือของขวัญจากพระเจ้าหรือสิ่งที่จักรวาลมอบให้ เสรีภาพ ก็เป็นเช่นนั้น  มันคือ ของขวัญเช่นเดียวกัน ไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะพรากมันไปได้ ถ้าคิดตามหลักการนี้โลกของเราจะต้องไม่มีคุก ไม่มีใครมีสิทธิจะกักขังใครได้ ไม่ว่าเขาจะทำผิดอะไรก็ตาม เพราะมันคือการพรากเสรีภาพที่ทุกคนมีสิทธิที่จะมี  ข้อสอง ถ้าการสังหารชีวิตหนึ่ง ทำให้หลายชีวิตยังคงอยู่รอด รัฐบาลหรือผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ ย่อมมีสิทธิ์เอาชีวิตนั้น เพื่อรักษาชีวิตของคนส่วนมาก

เอก : มนุษย์เราเจริญแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ป่าเถื่อนและรุนแรงขนาดนั้นหรอก ที่คุณพูดมาฟังดูโหดร้ายเกินไป

เมธี : ถ้ามีผู้ร้ายสักคนลงมือบุกปล้นบ้านคุณ และเขากระโจนเข้ามาทำร้ายคนในครอบครัวของคุณ เวลานั้นคุณจะถือว่าการต่อสู้ของคุณเป็นเรื่องโหดร้ายหรือ ?

เอก : ถ้าผู้ร้ายคนนั้น คือ คุณ คุณจะยอมให้ผมลงโทษด้วบการพรากชีวิตคุณ หรือเปล่า ? เพราะฉะนั้น มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้าแตกต่างกับกรณีของการตัดสินโทษประหารชีวิต การพิจารณาโทษประหารชีวิตพิจารณาในเชิงของ ผลลัพธ์  รายการต่อสู้กับผู้ร้ายที่บุกเข้ามาในบ้าน  การพิจารณาในเชิงของ สถานการณ์

เมธี : การกลายเป็นฆาตกรในเชิงสมมติที่คุณมอบให้ผม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า การข่มขืน หรือ การก่ออาชญากรรม ย่อมมีบทลงโทษตามมา และถ้าหากผมต้องตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ผมอาจจะเห็นด้วยกับคุณ ที่อยากรักษาชีวิตของตนเอง แต่การเห็นด้วยของผม มีความรู้สึกส่วนตัว และตรรกแบบอาชญากรแฝงอยู่ มันจึงไม่อาจยึดเป็นกลางได้ และสิ่งหนึ่งที่ทุกคนตระหนักดี ก็คือ ไม่ว่าคุณจะพิจารณาจากด้านไหน การก่ออาชญากรรมของอาชญากร ย่อมมีผลที่อาชญากรคนนั้นต้องรับผิดชอบเสมอ

เอก : คุณไม่คิดบ้างหรือว่า ผู้ต้องหาบางคนอาจกลับตัวกลับใจ ถ้าประหารชีวิต ฆาตกร,นักโทษข่มขืน ก็เท่ากับว่า คุณได้ทำลายโอกาส ที่เขาอาจจะกลับตัวกลับใจ และแก้ไขตัวเอง บางทีเขาอาจจะกลับใจก็ได้

เมธี :การประหารชีวิตผู้ก่ออาชญากรรม ในทุกกรณี ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักที่ การทำให้ผู้ก่ออาชญากรรม เปลี่ยนแปลงตนเอง ในบางกรณีเป้าหมายหลัก คือ ความยุติธรรม และการปกป้องรักษาสังคม.

เอก : จริงๆแล้วผมอยากจะบอกว่า โทษประหารชีวิตนั้นมันเป็นเรื่องที่ล้าหลัง และแทบที่จะไม่ส่งผลใดๆเลย บางครั้งอาชญากรอาจไม่กลัวตาย และการฆ่าอาชญากรคนนั้น ก็ไม่ได้ทำให้เหยื่อฟื้นคืนชีพขึ้นมา และยังไม่ทำให้ผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ กลับไปสู่ภาวะที่ตนเองยังไม่ถูกคุกคามได้อีก

เมธี : ใครบอกว่าไม่มีล่ะ เคยลองไปดูในประเทศที่ ตั้งกฎหมายเด็ดขาด เกี่ยวกับอาชญากรรมบางประเทศบ้างไหม ประเทศที่ออกกฎเข้มงวดส่งผลอย่างไร ต่อการกระทำผิดเช่นนี้ คุณจะเห็นว่า มันส่งผลต่อสังคมอย่างน้อยที่สุด การลงโทษอาชญากร ก็ทำให้ไม่มีใคร กล้าทำความผิดนั้นอย่างเปิดเผยหรือทำอย่างโจ่งแจ้ง เช่นประเทศที่ลงโทษ ขโมยด้วยการตัดมือ หรือประเทศที่ลงโทษพ่อค้ายาเสพติด ด้วยการประหารชีวิต ในแต่ละปี เราแทบจะไม่ได้ยิน ภัยอาชญากรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศของพวกเขาเลย และในทางตรงข้าม คุณจะพบว่า ประเทศที่ยกเลิกกฎหมายประหารชีวิต กลับเป็นประเทศที่ต้องเจอกับปัญหาและความยุ่งยาก เกี่ยวกับเรื่องของการละเมิดสิทธิ์ หรือคุกคามทางเพศอยู่เสมอ และยังมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดอาชญากรรมจากประเทศที่ไม่มีกฎหมายประหารชีวิต มากกว่าเสียอีก

เอก : แต่การตัดสินอาชญากร ด้วยการฆ่า ก็เท่ากับเป็นการทำให้สังคมเปื้อนเลือด  กลายเป็นผู้ร่วมกันสังหารอาชญากรคนนั้น เราจะยอมให้ลูกหลานของเรา เติบโตมาภายใต้สังคมร่วมกันสังหารมนุษย์ได้อย่างไร ?

เมธี : เข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงเลยทีเดียว การกระทำใดก็ตามของมนุษย์ จะดีหรือจะไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและแรงจูงใจที่กระทำ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อของการกระทำ  การฆ่าก็เช่นเดียว กันตัวของมัน ไม่สามารถบอกได้ว่าดีหรือร้ายมันขึ้นอยู่กับแรงจูงใจและการกระทำ เช่นถ้าหากมีผู้ร้ายกำลังบุกบ้านของคุณ แล้วพวกเขากำลังจะสังหารครอบครัวของคุณ ถ้าหากคุณไม่ต่อสู้กับพวกเขาและยอมปล่อยให้มันเกิดขึ้น นอกจากคุณจะโดนตำหนิแล้ว มันยังสะท้อนหลักการใช้เหตุผลและสติปัญญาที่บกพร่องอีกด้วย จงมองเรื่องนี้เหมือน”ดาบสองคม” ดาบสองคม ทำได้ทั้งปกป้อง และทำร้ายผู้อื่น ไม่ได้หมายความว่า มีดาบแล้ว เท่ากับมันไม่ดี

เอก : แล้วถ้าประหารผิดขึ้นมาละ ถ้าหากมาพิสูจน์กันได้ทีหลังว่า ผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินประหารชีวิตนั้น บริสุทธิ์จากข้อกล่าวหานั้น ก็เท่ากับเราได้สังหารผู้บริสุทธิ์อยู่ดี แบบนี้มันก็ไม่สมควรที่จะมีกฎหมายโทษประหารชีวิต

เมธี : ข้อแรก ผมยอมรับว่า บางคดี ผู้พิพากษาได้ประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ ในบางครั้งผู้ต้องหา ก็ต้องอยู่ในคุกตลอดชีวิต ด้วยข้อหาที่ตัวเองไม่ได้กระทำ ข้อสอง ความผิดพลาดในการตัดสินพิพากษา ไม่ได้หมายความว่าต้องยกเลิกกฎหมายการประหารชีวิต แต่หมายความว่าต้องปฏิรูป และสร้างกระบวนการยุติธรรม ที่ทำให้สามารถ พิสูจน์อย่างมีน้ำหนักและชัดเจน นั่นก็คือการสร้างวิธีที่จะทำให้ไม่เกิดความผิดพลาด ในระบบการตัดสินพิพากษา ถ้าการตัดสินผิด คือ เหตุที่ทำให้ต้องยกเลิก การลงโทษผู้ต้องหา โดยนำผู้ต้องหามาคุมขังคุก ก็ต้องถูกยกเลิกเหมือนกัน  เพราะมีกรณีที่ศาลตัดสินผิด และผู้บริสุทธิ์ถูกสั่งจำคุก แต่ก็ไม่มีใครพูดว่า การตัดสินผิด คือ เหตุผลที่ทำการจองจำสมควรถูกยกเลิก ทุกคนต่างพูดกันว่า การตัดสินผิด ทำให้ผู้บริสุทธิ์ถูกอธรรม และบ่อน้ำที่หล่อเลี้ยงความอธรรม คือ ความประมาทของศาล มันไม่ได้มาจากการต้องโทษคุมขัง

และนี่คือบทสนทนา ที่แตละฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน อะไรที่เหมาะสมกับสังคม สิ่งนั้น ย่อมมีพื้นฐานของ “ปัญญา” ความยุติธรรม” และ”เสรีภาพ” เสมอ  และตราบใดที่สังคม ไม่มีความยุติธรรม เป็นเสาค้ำ เสรีภาพย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ และตราบใดที่เสรีภาพ ไม่อาจผลิบานในแผ่นดินได้ ปัญญาก็ไม่สามารถโบยบิน…