ทำไมชีอะฮ ถูกเรียกว่า “รอฟิเฎาะ” ?

1750

รอฟิเฎอะ สะกดด้วย อักษร รอ (ر) ฟา (ف) และฎอด (ض) ในทางภาษาหมายถึง “ละทิ้ง,การปล่อยสิ่งหนึ่ง หรือ การทิ้งบางคน”(1) เป็นคำที่ถูกเลือกมาใช้เรียก มุสลิมชีอะฮ์ ในทางประณาม จากหลายๆ คำที่ ”ชีอะฮ์” ถูกเรียก เช่น ฉี่อะฮ์ (ปัสสาวะ) ฮิสบุลล๊าต (พรรคพวกของล๊าตเจว็ดหนึ่งในสามสมัยยุคต้นอิสลาม) พวกโคไหมนี่ (ล้อเลียนชื่อ และเทียบกับภาษาไทย ด้วยการใช้คำพ้องเสียง) หรือ พวกตุรอบีย์ (พวกดิน) และคำหยาบมากมายต่างๆ นานา ที่ไม่จำเป็นต้องนำมาบรรยาย ซึ่งในคำทั้งหมดที่ใช้เรียก”ชีอะฮ์” คำว่า “รอฟิเฎาะฮ์” ถือเป็นคำด่าที่โบราณที่สุด เพราะมีการเรียกชีอะฮ์ด้วยคำนี้ตั้งแต่ยุคต้นของอิสลามตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ทำไม ชีอะฮ์ จึงถูกเรียกว่า รอฟิเฎาะฮ์ ? มีหลายเหตุผล ดังนี้

1.คำว่า รอฟิเฎาะฮ์ ถูกนำมาใช้เรียก”กลุ่มคนที่เชื่อในระบบอิมามหลังจากระบบศาสดา” ซึ่งก็คือ ผู้ที่เชื่อว่า อาลี บุตร อบีฏอลิบ เป็นตัวแทนผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในฐานะผู้นำภายหลังจากศาสดา โดยศาสดา เพื่อพระเจ้า และละทิ้งความเชื่อที่ว่า คอลีฟะฮ์สามท่านก่อนหน้า อาลี ได้รับการแต่งตั้งโดยศาสดา และเชื่อว่า อาลี(อ) คือ มนุษย์ผู้ที่ประเสริฐสุดรองลงมาจากศาสดามูฮัมมัด(ศ)”และเพราะเหตุนั้น พวกเขาจึงถูกเรียกว่า รอฟิเฎาะฮ์ ซึ่งจะสื่อใกล้เคียงกับหมายของคำว่า “คนนอกศาสนา” มากที่สุด (2) เพื่อให้ชีอะฮ์ถูกนำเสนอในฐานะสำนักคิดที่แปลกปลอม/จำกัดวงและระบุชีอะฮ์ด้วยชื่อดังกล่าวเพื่อสร้างความรู้สึกรังเกียจ

2.คำว่ารอฟิเฎาะฮ์ ในช่วงยุคแรก สื่อความหมายเดียวกับความหมายทางภาษา หมายถึง บุคคลที่ต่อต้าน/ละทิ้ง/ไม่ยอมรับ รัฐบาลในยุคสมัยของตน ซึ่งปรากฎหลักฐานในตอนหนึ่งที่ มุอาวิยะฮ์ ครั้งยังไม่เป็นคอลีฟะฮ์ กล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่งที่มาพบเขา หลังศึกญะมาล โดยจดหมายที่มุอาวิยะฮ์ เขียนถึง อัมรุ อาศ ความว่า”มัรวาน กับ รอฟิเฎาะฮ์ชาวบัศเราะฮ์กลุ่มหนึ่ง(ในประโยคนี้หมายถึง คนที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยอาลี บุตร อบีฏอลิบ)ได้มาพบกับเรา” จากคำพูดของมุอาวิยะฮ์ สื่อว่า ในศตวรรษแรก รอฟิเฎาะฮ์ มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า”กบฎ”ต่อต้านรัฐบาล โดยไม่เจาะจงว่า จะอยู่นิกายใด มัซฮับไหน (2) และจาก”กบฎทางการเมือง” ความหมายของคำดังกล่าวได้พัฒนากลายเป็น”กบฎศาสนา” เมื่อฝ่ายมุอาวิยะฮ์ ก่อตั้งราชวงศ์

3.ทำลายภาพลักษณ์และความชอบธรรมฝ่ายลูกหลานศาสดา(ศ) ซึ่งถือว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด นั่นก็คือ ชีอะฮ์ ถูกเรียกว่า “รอฟิเฎาะฮ์ ก็เพื่อลดทอนอำนาจ และความชอบธรรมของผู้นำจากลูกหลานศาสดา (ศ) ผู้ที่ไม่ต้องการให้วงศ์วานของมูฮัมมัด(ศ) ขึ้นเป็นผู้นำปกครอง จึงพยายามนำเสนอ กลุมผู้ภักดีต่อฝ่ายลูกหลานศาสดา ในนามของ”คนนอกศาสนา” และนำเสนอภาพลักษณ์ของลูกหลานศาสนา เพียงเชื้อสาย และพยายามอธิบายความเคลืรินไหวทางการเมืองของพวกเขา ในทางโลกเพียงประการเดียว เช่นที่อิบนุตัยมียะฮ์มองว่า อาลี รบกับมุอาวิยะฮ เพื่ออำนาจ ไม่ใช่ทำเพื่อพระเจ้าหรือศาสนาแต่ประการใด หรือ การที่ฮูเซน ลูกชายอาลี หลานชายศาสดา ต่อสู้กับ ยาซีด ลูกชาย ของมุอาวิยะฮ์ เป็นเรื่องผิด เพราะไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้นำ หน้าของลูกหลานศาสดา และผู้ภักดีต่อพวกเขา ถูกเสนอในลักษณะนี้ รอฟิเฎาะฮ์ ในบางสถานการณ์ ก็สื่อถึง”พวกบิดเบือน” โดยฝ่ายรัฐในยุคสมัยต้น ตั้งแต่ตระกูลอุมาวียะฮ์ และ อับบาซียะฮ์ ในยุคนั้น ใครที่มีทัศนะทางการเมืองขัดแย้งกับรัฐบาล จะถูกเรียกว่า”รอฟิเฎาะฮ์ เช่นกัน ดั่งที่มีปรากฎในบทสนทนาระหว่าง ญะอ์ฟัร อัซซอดิก บุตร มูฮัมมัดบาเกร บุตร อาลี บุตร ฮูเซน บุตร อาลี บิน อาบี ฏอลิบ อิมามท่านที่หกของชีอะฮ์ กับ อบูบาซีร หนึ่งในสาวกของท่านว่า

อบูบาซีร : ผู้คนพากันเรียกเราว่า รอฟิเฎาะ

อิมามญะฟัร(อ) : ขอสาบานต่อพระเจ้า พวกเขาไม่ได้เรียกเจ้าว่ารอฟิเฎาะฮ์หรอก ทว่า พระองค์อัลลอฮ ทรงมอบนามนี้ให้แก่พวกท่าน เหมือนกับที่เคยมี 70 คน จากเผ่าอิสราอิล ที่ศรัทธาต่อมูซา และด้วยเหตุนี้ ผู้คนจึงพาเรียกพวกเขาว่า รอฟิเฎาะเช่นเดียวกัน(4)

อย่างไรก็ตาม มีผู้รู้บางท่านให้ทัศนะว่า รอฟิเฎาะฮ์ หมายถึง กลุ่มผู้ที่ละทิ้ง เซด บิน อาลี บิน ฮูเซน ที่ตอนแรกได้มอบสัตยาบัน แต่ภายหลังจากที่รู้ว่า เซด ชื่นชมในคอลีฟะฮ์ ท่านที่ 1 และ 2 พวกเขาจึงได้ละทิ้งเซด จึงมีชื่อว่า รอฟิเฎาะฮ์ในภายหลัง แต่ทัศนะนี้ ยังคงมีปัญหา ตรงที่ มีรายงานจากนักประวัติศาสตร์ยุคต้นที่กล่าวว่า มีเพียงชาวเมืองกูฟะฮ เท่านั้นที่ทอดทิ้งเซด และฉีกการภักดีต่อเขา ซึ่งไม่ใช่ชีอะฮ์ในความหมายทั้งหมด และสาเหตุที่หักหลังเซด ก็ไม่ใช่เพราะเซดชื่นชม คอลีฟะฮ อบูบักร และ คอลีฟะอุมัร (5)

4.ทำให้ผู้คนหวาดกลัว และมองว่า ชีอะฮ์ เป็นพวกนอกศาสนา รอฟิเฎาะฮ์ ในภาคนี้สื่อถึง “ผู้พยายามทำลายศาสนา” “ไม่ใช่อิสลาม” ซึ่งยังคงใช้คำดังกล่าว สื่อในความหมายนี้จนถึงยุคปัจจุบัน เห็นได้จากทีวีจานดำ และคำปราศัยของนักตัดหัวในอาหรับ และมือระเบิดฆ่าตัวตายของกลุ่มวะฮาบีตักฟีรีย์

เมื่อเข้าสู่ยุคก่อตั้งสำนักคิดของแต่ละนิกาย เริ่มนับตั้งแต่ ศตวรรษที่ 2 คำว่า รอฟิเฎาะฮ์ ถูกนำมาใช้ เป็นยี่ห้อของชีอะฮ์อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ รอฟิเฎาะฮ์ ถูกให้ความหมายคล้ายคลึง กับ พวกนอกศาสนา และพวกที่รักอะฮลุลบัยต์เกินเหตุ และพวกคนโกหก ใครก็ตามที่เชื่อในความเป็นตัวแทนของ อาลี หลังจากศาสดา จะถูกเรียกว่า “รอฟิเฎาะฮ์” ทั้งหมด โดยนักวิชาการบางส่วนในยุคสมัยนั้น อธิบายว่า รอฟิเฎาะฮ์ หมายถึง พวก อิมามิยะฮ์ (ก็คือ ชีอะฮ์ในปัจจุบัน ) บางส่วนต่อต้านอย่างรุนแรง ถึงขนาดถือว่า รอฟิเฎาะฮ์ คือ ผู้ที่ออกจากศาสนาไปแล้ว ในยุคสมัยนั้น ชีอะฮ์จึงนำความไปปรึกษากับ อิมามของพวกเขาที่ถูกประนามว่าเป็นคนนอกศาสนา ทั้งๆที่ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวกัน ใช้คัมภีร์เล่มเดียวกัน เช่น ในรีวายัตหนึ่งจาก สาวกของอิมามญะฟัร ที่กล่าวว่า “ประชาชนได้ตั้งฉายาให้เรา ซึ่งมันทำให้ซี่โครงของเราหัก(เป็นการเปรียบเปรยถึงความขมขื่น) และหัวใจของเราแตกสลาย และเหล่านักการเมือง ผู้ปกครอง ก็ฉวยโอกาสจากการตั้งฉายานี้ ประกาศให้การหลั่งเลือดต่อพวกเราเป็นสิ่งฮาล้าล ”

อิมามญะฟัร ถามกลับว่า “ฉายาที่ท่านหมายถึง คือ รอฟิเฎาะฮ์ ใช่หรือไม่ ? ข้าพเจ้าตอบว่า : “ใช่แล้ว” อิมามจึงปลอบใจ แล้วกล่าวว่า : จงอย่าเศร้าไปเลย สาวกของมูซากลุ่มหนึ่ง(ที่ถูกฟาโรเนรเทศ) ก็ถูกเรียกแบบนี้ “(6)

จะเห็นได้ว่า ฮาดิษบทนี้ คล้ายคลึงกับบทก่อนหน้าที่นำเสนอไป ในตัวบท เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ชีอะฮ์ ถูกประณามในนามของรอฟิเฎาะฮ์ ตั้งแต่สมัยอิมามญะฟัร (อ) ที่น่าแปลกใจไปยิ่งกว่าคือ แม้ว่ากลุ่มผู้รักอะฮลุลบัยต์ จะถูกเรียกว่า รอฟิเฎาะฮ์ และถูกหาว่าหลุดจากศาสนา แต่ก็มีนักรายงานฮาดิษจำนวนมากมาย ที่อยู่ในสาระบบฮาดิษในตำราฮาดิษของอะฮลิซุนนะฮ์ และถูกกล่าวว่าเป็น “รอฟิเฎาะ” เช่น อิสมาอิล บิน มูซา ฟอรอซีย ซึ่งอิบนุฮะญัร กล่าวถึงเขาว่า “ชายคนนี้ถูกกล่าวว่าเป็นรอฟิเฎาะฮ์”(7) แม้ว่า เขาจะเป็นนักรายงานในสุนันอบีดาวูด (8)ก็ตาม

ความรุนแรงของการให้ความหมายคำว่า รอฟิเฎาะฮ์ ส่งผลให้เกิดมุมมองว่า พวกเขาเป็นผู้หลงทาง เพราะมอบความรักให้ลูกหลานนบี (ศ) ยุคสมัยนั้น การแสดงความรักต่อลูกหลานศาสดามูฮัมมัด (ศ) จึงถูกถือเป็นข้อห้าม และจะถูกมองว่า ออกจากศาสนา มูฮัมมัด บิน อิดริส ชาฟีอีย์ อิมามมัซฮับ ท่านนี้ จึงแต่งกลอนขึ้นมาบทหนึ่งว่า

ان كان رفضاً حب آل محمد***فليشهد الثقلان اني رافضي

หากการรักต่อวงศ์วานของมูฮัมมัด จะทำให้กลายเป็นรอฟิเฎาะฮ์แล้วไซร์ โอ้ญิน และมนุษย์เอ๋ย จงมาเป็นพยานเถิดว่า ฉันก็คือ รอฟิเฎาะฮ คนหนึ่ง (9)

(1):معجم مقاییس اللغة : كلمة رفض
(2):مقالات الإسلامیین و اختلاف المصلین، ص 16.
(3):نصر بن مزاحم وقعة صفين ص 24 انساب الاشراف بلاذري 3/72
(4):شیخ مفید، محمد بن محمد، الإختصاص، ص 104 – 105
(5) :أعیان الشیعة، ج ‏1، ص 21؛ شیعه شناسى و پاسخ به شبهات، ج ‏1، ص 112
(6):كافى :كليني 8/28
(7):عسقلانی، أحمد بن علی، تقریب التهذیب، ص 110
(8):ازدی سجستانی، أبو داود سلیمان بن اشعث، سنن أبی داود، ج 3، ص 481
(9):ديوان شافعي,ص 55. و ابن عساكر: تاريخ دمشق ج 9، ص 20 .