“Green Marketing” ส่องความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจโลกผ่านจริยธรรมธุรกิจสากล VS หลักจริยธรรมศาสนา 

1459

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและคมนาคมในยุคโลกาภิวัตน์ได้ผลักดันเศรษฐกิจและการเมืองโลกให้เจริญเติบโตขึ้นอย่างกว้างขวางเกิดการเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคลชุมชนหน่วยงานธุรกิจและรัฐบาลทั่วทั้งโลกกลายเป็นวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่ซึ่งประชากรโลกมีวิถีการอุปโภคบริโภคที่มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นทว่ามันก็เหมือนกับกิจกรรมอื่นๆของมนุษย์ซึ่งทุกๆการกระทำย่อมมีผลกระทบตามมาเสมอ

กำเนิด Green Marketing – การตลาดสีเขียว (การตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม)

วิถีการอุปโภคบริโภคที่ง่ายดายของโลกยุคใหม่ส่งเสริมให้ผู้คนกินใช้อยู่อย่างฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองกระทั่งเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างช่วยไม่ได้สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปสภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษการล้มตายของพืชพันธ์สิ่งมีชีวิตความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำและอาหารรวมไปถึงพลังงานที่ค่อยๆร่อยหรอลงไปเรื่อยๆอันมีสาเหตุหลักจากกิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่ต้องการตอบสนองความละโมบของมนุษย์เองได้ปลุกให้โลกตื่นตระหนกขึ้นด้วยความหวาดผวาผลที่ตามมาคือผู้บริโภคจำนวนหนึ่งตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้เกิดกระแสสำนึกต่อสภาพแวดล้อมเพราะเกรงว่าสักวันหนึ่งพลังงานอาจหมดไปหรือธรรมชาติจะสูญเสียสมดุลเกิดภัยพิบัติตามมา

โดยบางส่วนแลเห็นว่าพฤติกรรมและทัศนะคติที่มีต่อการซื้อขายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งอิทธิพลต่อความอยู่รอดปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมฉะนี้ Green Marketing หรือการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคยุคใหม่ที่เข้าใจว่าอาจจะช่วยแก้ปัญหานี้หรืออย่างน้อยที่สุดจะช่วยลดหย่อนปัญหาที่ว่าได้อย่างมีประสิทธิผล(อ้างจาก Harizan et al., 2013).  ) นั่นเพราะแนวคิด Green Marketing เรียกร้องให้ผู้บริโภคคำนึงถึงต้นทุนของ “คุณค่า” ในการเลือกใช้สินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคมในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคต่อลูกจ้างและสภาพแวดล้อมการดำเนินงานทางการตลาดจึงต้องใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพอย่างจริงจังมากขึ้นรวมทั้งยังต้องส่งเสริมสร้างสรรค์ให้เกิดผลดีต่อสังคมโดยรวมยิ่งๆขึ้นไป (อ้างจาก Prosoftcrm.in.th, 2017)

เห็นได้ว่าการตลาดเช่นนี้เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าและอิงกับหลักมนุษยธรรมพื้นฐานของมนุษย์ด้วยมันจึงไม่แปลกหากกระแสเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานจะกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกจับต้องมากที่สุดในปัจจุบันกระทั่งผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนจากทั่วทุกภูมิภาคจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับมันมากขึ้นและแม้แต่ยึดเอาการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในนโยบายขององค์กรบริษัทหรือหน่วยงานรัฐบาลระดับประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ฝรั่งเศสได้ร่างผ่านกฎหมายใหม่ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2020 โดยให้มีการระงับใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นถ้วยช้อนจานชามและเน้นว่าจะต้องผลิตจากวัสดุชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้กฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ Energy Transition for Green Growth – โครงการอันเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมด้านพลังงานเพื่อความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยให้ฝรั่งเศสมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปของโลกอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (อ้างจาก independent.co.uk, 2017)

สหรัฐฯเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกันภายใต้การปกครองของรัฐบาลโอบาม่าสหรัฐฯได้ทุ่มเงินจำนวนประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯไปกับการคิดค้นโครงการเพื่อต่อยอดการสร้างสรรค์พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนเพื่อสุขภาพที่ดีของสิ่งแวดล้อม (อ้างจาก Desan, 2009).

กระแสเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานฮอตฮิตเป็นอย่างมากทั่วโลกยุโรปอินเดียญี่ปุ่นทั้งออกและตกต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ไปตามๆกันและแม้แต่ในบ้านเราตามที่รับรู้กันอยู่หรือในประเทศอื่นๆจากภูมิภาคเดียวกันเช่นมาเลเซียที่มีนโยบาย The Malaysian Green Technology Policy ซึ่งส่งเสริมให้ผู้คนหันมารู้รักษาสิ่งแวดล้อมและรู้จักใช้พลังงานอย่างถูกวิธีโดยนโยบายดังกล่าวยังมีไว้เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วยตามที่มีการวิเคราะห์กันว่าเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชาติได้ (อ้างจาก Wong et al., 2012).

ผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่นๆที่ตามมาจากกระแสสำนึกต่อสภาพแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม Green Marketing ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความก้าวหน้าหรือความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหนึ่งเดียวที่เป็นผลพวงมาจากกระแสสำนึกต่อสภาพแวดล้อมทว่ามันยังได้เปลี่ยนแปลงให้ผู้บริโภคใช้สติและจิตสำนึกในกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้นด้วยดังนี้ผู้ประกอบการธุรกิจแบบเดิมๆจึงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเทรนนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นในกรณีตัวอย่างของแม็คโดนัล (McDonalds) กิจการร้านอาหารฟาสต์ฟูดชื่อดังมูลค่ามหาศาล ด้วยตัวเลขผู้บริโภคกว่า 68 ล้านคนต่อวัน จากกว่า 36,525 สาขาใน 118 ประเทศทั่วโลก  (อ้างจาก Aboutmcdonalds.com, 2016).

แม็คโดนัลถูกฟ้องร้องจากผู้บริโภคและได้รับคำวิจารณ์อย่างหนักจากนักวิชาการและประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะในช่วงปีหลังจนถึงปัจจุบันหลังจากที่ได้ลงทุนขยายกลุ่มผู้บริโภคไปยังเด็กและครอบครัวเมื่อปี 1979 ผ่านกลยุทธ์การตลาดด้วยเมนูใหม่ที่แถมมาพร้อมกับของเล่นเด็ก ‘Happy Meal’  คำวิจารณ์ส่วนใหญ่จะเน้นให้เห็นถึงภัยสังคมที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการใช้สื่อโฆษณาไปในทางที่มิชอบของทางผู้ประกอบการโดยกล่าวกันว่าแม็คโดนัลด์มีเจตนาใช้ของเล่น “หลอกล่อ” และชวนเชื่อให้เด็กๆซื้อกินอาหารฟาสต์ฟูดหรือ ‘อาหารขยะ’ จนกลายเป็นนิสัยเพื่อแสวงหาผลกำไรเข้ากระเป๋าตนโดยไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคที่ยังขาดวุฒิภาวะเช่นเด็กและเยาวชนอย่างไร้จริยธรรม (อ้างจาก Businessethicscases.blogspot.my, 2013).

และถึงแม้ว่าจะได้รับคำวิจารณ์และกระแสต่อต้านจากกรณีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องประกอบกับสถานการณ์โลกซึ่งมีการสำรวจพบตัวเลขเด็กที่ประสบปัญหาโรคอ้วนจากทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นตามลำดับถึงกับมีผลงานวิจัยชี้ออกมาว่าการแบนโฆษณาลักษณะเช่นนี้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการลดลงของอัตราเด็กอ้วนในจังหวัดQuebec ของประเทศแคนาดานักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of British Columbia อย่างTirtha Dhar และ Kathy Baylis (2011) ค้นพบว่าระยะเวลา 32 ปีที่จังหวัด Quebec แบนโฆษณาที่มีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กส่งผลทำให้มีการบริโภคพลังงานแคลอรี่จากฟาส์ตฟูดลดลงต่อปีจากเดิมไม่บริโภคอยู่ที่13.4 พันล้านแคลอรี่เพิ่มจำนวนเป็นไม่บริโภคแครอลี่มากถึง  18.4 billion ต่อปีแต่กระนั้นแม็คโดนัลด์ก็ไม่ได้สนใจสิ่งนี้และ Happy Meal ก็เป็นเมนูยอดนิยมที่ยังคงวางจำหน่ายอยู่ในทุกๆสาขาทุกภูมิภาค

เมื่อมิได้เป็นการละเมิดกฎหมายจึงเป็นไปได้ว่าทางผู้ประกอบการอาจพึ่งพิงอยู่กับทฤษฎีจริยศาสตร์สากลอันใดอันหนึ่งที่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมการขายของตนได้โดยอาจจะยึดใช้มันเป็นโล่ต้านกระแสสังคมเป็นปัจจัยเบื้องหลังความกล้าตัดสินใจที่จะยืนกรานใช้โฆษณาชวนเชื่อที่ว่ากันว่า ‘มิถูกมิควร’ รูปแบบเดิมขายชุด ‘อาหารขยะ’ Happy Meal ให้กับประชากรเด็กของโลกต่อไปจวบจนถึงในปัจจุบันนี้เหล่านี้ล้วนเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราควรหยิบยกมาอภิปรายกันอย่างเปิดเผย

ทฤษฎีจริยศาสตร์สากล ทางรอดของการเอาเปรียบผู้บริโภค?

ได้มีการจับเอาพฤติกรรมการขายและกลยุทธ์ทางเการตลาดของแม็คโดนัลด์ที่ว่ามาวิเคราะห์อย่างแพร่หลายทั่วโลกโซเชียวและสื่อสากลทั่วไปเทียบเคียงกับหลักจริยธรรมสากลที่มีอยู่ซึ่งแน่นอนย่อมมีที่มาจากทฤษฎีจริยศาสตร์อันเป็นผลงานวิชาการของนักปรัชญาตะวันตกที่มีความน่าเชื่อถือในอดีตรวบรวมสรุปเป็นบทเรียนประจำภาควิชาจริยศาสตร์ต่างๆเปิดสอนอยู่ทั่วไปตามสถาบันศึกษาและมหาวิทยาลัยทั่วโลก

อนึ่งทฤษฎีจริยศาสตร์โดยทั่วไปมีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพโดยทฤษฎีจะให้แนวทางในการแก้ปัญหาสามารถนำไปใช้ประเมินความผิด-ถูกทางจริยธรรม (อ้างจาก Ellis & Hartley, 1998) ณที่นี่เราจะขอยกทฤษฎีจริยศาสตร์สากลที่สำคัญและมีความเกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมทางธุรกิจอย่างทฤษฎีประโยชน์นิยม (Utilitarianism) และทฤษฎีหน้าที่นิยม (Deontologic Theory) มาอภิปรายกันตามลำดับ

ทฤษฎีประโยชน์นิยม (Utilitarianism) – ผู้ริเริ่มทฤษฎีคือเจเรมีเบททัม (Jeremy Bentham, 1748-1832) – เป็นทฤษฏีที่เน้นถึงผลของการกระทำมีหลักมหสุข (the greatest happiness principle) เป็นหลักคิดพื้นฐานดังนี้แล้วทฤษฎีจึงกำหนดแนวทางที่ว่าการกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุดทฤษฎีประโยชน์นิยมเชื่อว่าผลลัพธ์ที่เกิดจากการกระทำมีความสำคัญกว่าเจตนาหรือแรงจูงใจที่ก่อให้เกิดการกระทำนั้น (อ้างอิงจากสุวัฒน์, 2540) เมื่อเราลองประเมินจากแนวคิดนี้เราจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการขายของแม็คโดนัลด์ที่ค้านกับกระแสสังคมก็อาจนับเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้

แม็คโดนัลด์สามารถอ้างได้ว่าพฤติกรรมการขายสินค้าอาหารชุด Happy Meal ได้สร้างความสำราญให้กับคนหลายกลุ่มรวมไปถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกๆฝ่ายเช่นผู้บริหารซึ่งได้รับประโยชน์จากกำไรที่เพิ่มขึ้นหรือลูกจ้างพนักงานจากทั่วทุกสาขาที่มีโอกาสได้รับการจ้างงานต่อเนื่องจากกำไรของผู้บริหารไม่เกิดสภาวะว่างงานให้เป็นภาระของสังคมและแม้แต่เด็กก็ได้รับความสุขจากของเล่นที่ได้แถมหรือผู้ปกครองซึ่งสุขใจเมื่อลูกๆมีความสุขเพราะถ้ามิใช่เช่นนั้นชุดอาหารก็คงจะต้องถูกถอนออกจากรายการอาหารประจำร้านหรือไม่มีให้เห็นวางจำหน่ายอยู่ในทุกๆสาขาทั่วโลกอย่างที่เป็นอยู่สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำว่าชุดอาหารดังกล่าวเป็นที่ถูกยอมรับได้ในสังคมโลกจากผู้คนทุกๆเชื้อชาติและแม้ว่าแม็คโดนัลด์จะจงใจใช้สื่อโฆษณาไปในทางที่มิชอบเพื่อหลอกล่อเด็กให้ซื้อสินค้าก็ยังคงไม่ขัดแย้งกับทฤษฎีนี้อยู่ดีเพราะแนวทางการแก้ปัญหาของทฤษฎีนี้ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของการกระทำเหนือเจตนาหรือแรงจูงใจที่ก่อให้เกิดการกระทำนั้น

ทฤษฏีจริยศาสตร์ลำดับต่อมาที่เราจะหยิบมาอภิปรายคือทฤษฎีหน้าที่นิยม (Deontologic Theory) – ผู้ริเริ่มคืออิมมานูเอลคานท์ (Immanuel Kant, 1724-1804) เป็นทฤษฎีจริยศาสตร์ที่เน้นถึงการกระทำจึงมีความเชื่อว่าการกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำที่เกิดจากเจตนาดีโดยเป็นการกระทำตามหน้าที่ที่พึงกระทำโดยไม่ใช้ผลของการกระทำมาตัดสินความถูกต้องของการกระทำ (the end does not justifies the means) ดังนี้แล้วแนวทางแก้ปัญหาจากทฤษฎีในกลุ่มนี้จึงมักจะให้คุณค่ากับกฎเกณฑ์นโยบายและมาตรฐานของการปฏิบัติเหนือผลที่ตามมาจากการปฏิบัติสิ่งๆนั้น (Thelan et al., 1994) เช่นเดียวกันไม่ว่าจะลองเปลี่ยนทฤษฎีมุมมองพฤติกรรมการขายของแม็คโดนัลด์ก็ยังผ่านหลักจริยธรรมอยู่ดีเพราะสามารถอ้างได้ว่าได้ทำตามหน้าที่ที่พึงกระทำแล้วโดยผู้ประกอบการอาจอ้างถึงสิ่งที่ตนได้กระทำอย่างสมบูรณ์ในฐานะผู้ประกอบกิจการธุรกิจอาหารไม่ว่าจะเป็นการให้บริการที่เป็นระบบสภาพร้านที่สะอาดปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือการระบุข้อมูลทางโภชนาการสำหรับทุกๆเมนูอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ซึ่งแม็กโดนัลด์เองก็เปิดเผยสิ่งเหล่านี้ต่อสาธารณะทั้งภายในร้านอาหารบนวัสดุห่ออาหารและตามเว็ปไซต์ต่างๆชี้ให้เห็นว่าทางผู้ประกอบการได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์แล้วในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลสินค้าอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมเพื่อนำมาประกอบการประเมินคุณภาพและความเหมาะสมของสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อบริโภคอย่างสมเหตุสมผลให้กับบุตรหลานดังนี้แล้วจึงสามารถกล่าวได้ว่าพฤติธรรมการขายของแม็กโดนัลด์จัดเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามทฤษฎีหน้าที่นิยม

ทฤษฎีจริยศาสตร์สากล ย้อนแย้งกับเทรนด์ Green Marketingแห่งอนาคต?

จากกรณีศึกษาของแม็คโดนัลด์เห็นได้ว่าทฤษฎีจริยศาสตร์สากลที่มีชื่อเสียงทั้งสองต่างมีแนวทางแก้ไขปัญหาจริยธรรมที่สามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่สิ่งที่ค้านกับกระแสสังคมให้กลายเป็นการกระทำที่ถูกต้องได้อย่างง่ายดายและแม้ว่าผู้เขียนจะยกมาเพียงแค่สองทฤษฎีในการอภิปรายถึงประเด็นดังกล่าวทว่าทฤษฎีจริยศาสตร์สากลจากนักปรัชญาตะวันตกอื่นๆก็ไม่ได้ให้ผลการประเมินที่แตกต่างไปจากนี้มากนักไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีปัจเจกนิยม (Individualism) หรือแม้แต่ทฤษฎีคุณธรรม (virtue theory) ล้วนแต่มีแนวคิดทางจริยธรรมที่หละหลวมทั้งยังพร้อมให้เหตุผลสร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมทางการขายที่ว่ากันว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคของแม็คโดนัลด์  ที่ซึ่งขัดแย้งกับเทรนใหม่ Green Marketing ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆทั้งสิ้นด้วยประการฉะนี้ ผู้เขียนจึงเกิดความสงสัยว่า ทฤษฎีจริยศาสตร์สากล (และหลักจริยธรรมธุรกิจตะวันตก) อาจจะมีความล้าหลังไปไม่มากก็น้อย เมื่อเทียบเคียงกับความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และจำเป็นที่ นักวิชาการ รวมไปถึงสถาบันศึกษาจำเป็นต้องหยิบจับหลักจริยธรรมจากที่อื่นๆที่ไม่ได้มาจากตะวันตกมาทำการศึกษา วิจัย วิเคราะห์และพัฒนาให้เกิดเป็นทฤษฎีใหม่ๆที่ล้ำยุค ล้ำสมัยบ้าง ก็เห็นว่าจะไม่น่าเสียหายอะไร 

และบางทีความเชื่อทางศาสนาที่ใครๆเห็นว่าเป็นเรื่องล้าหลังก็อาจจะแฝงไปด้วยปรัชญาและความรู้ต่างๆที่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาการเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของมนุษย์ก็เป็นได้อย่างกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและGreen Marketing ซึ่งนอกจากจะเป็นเทรนเศรษฐกิจเทรนใหม่แล้ว ยังเป็นเสมือนเครื่องมือพิสูจน์อย่างอ้อมๆว่า มนุษย์โลกกำลังปฏิเสธระบบทุนนิยม ที่ถูกนำไปใช้เป็นแนวทางควบคุมระบบเศรษฐกิจของผู้คนส่วนมากในปัจจุบัน และมนุษย์กำลังยอมรับว่าแนวทางซึ่งเห็นดีเห็นงามกับการแสวงหาผลกำไรเป็นสำคัญนี้ ท้ายสุดแล้วไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และไม่อาจตอบสนองหลักมนุษยธรรม หรือสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางสติปัญญาของพวกเขา อีกทั้งยังส่งผลบ่อนทำลายความเป็นอยู่ที่สงบสุขของพวกเขาอีกด้วย

เทรนด์เศรษฐกิจยุคใหม่กับหลักจริยธรรมทางศาสนา

กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งใหม่ที่มนุษย์เพิ่งจะให้ความสำคัญกับมันเมื่อไม่นานมานี้ทว่ามันกลับมีอยู่ในคำสอนของหลายๆศาสนานมนามแล้วที่ศาสนาพุทธและอิสลามนำเสนอปรัชญาทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ Green Marketing คือการตลาดที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการแสวงหากำไรอย่างยั่งยืนไม่ใช่แสวงหากำไรสูงสุด (Sustainable profit not maximized profit) และเป็นการแข่งขันกันแบบเกื้อกูลและเอื้ออาทรต่อกันไม่ใช่แข่งเพื่อเอาชนะหรือทำลายคู่แข่งให้หมดสภาพและเป็นการตลาดที่ทำเพื่อประโยชน์ของลูกค้าและสังคมไม่ใช่เพื่อลูกค้าเพียงอย่างเดียว (Customer and Social Benefit not only Customer)  (อ้างจาก Prosoftcrm.in.th, 2017)

ในทางพระพุทธศาสนาหลังจากที่ได้พิจารณาหลักจริยธรรมต่างๆแล้วจะเห็นได้ว่าหลักคำสอนไม่ได้เพียงแต่คลอบคลุมอยู่แค่จริยธรรมระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์มนุษย์ต่อสังคมแต่ยังรวมไปถึงมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอีกด้วยมีการเน้นย้ำให้พุทธศาสนิกชนให้ความสำคัญและเมตตาต่อสิ่งมีชีวิตโลกชนิดอื่นๆพระพุทธศาสนาสอนให้คนรักความสงบและเชื่อว่าความโลภและความเห็นแก่ตัวนำไปสู่ความทุกข์ยากยิ่งไปกว่านั้นความเห็นแก่ตัวยังเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติดังคำกล่าวของท่านพุทธทาสภิกขุ (อ้างจากพุทธศาสนิกกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ, 2553) ที่ว่า

ทุกศาสนาต้องการหยุดความเห็นแก่ตัว เมื่อคนตกเป็นทาสของความเห็นแก่ตัว ไม่ต้องหวังว่าจะมีความสงบ พุทธศาสนิกชนที่แท้จริงต้องปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างจริงจังและจริงใจ  เมื่อนั้นเราจึงจะรักษาธรรมชาติไว้ได้  ตราบใดที่คนยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ก็ไม่สามารถที่จะป้องกันการทำลายป่าที่เพิ่มขึ้นได้

นอกจากนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ถูกอธิบายไว้ในทัศนะของพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกันคือการมีชีวิตที่ดีที่ประเสริฐการผลิตการบริโภคและการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ  ไม่ควรสิ้นสุดที่ตัวมันเองแต่ควรจะสิ้นสุดที่การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของบุคคล  สังคม  และสิ่งแวดล้อมพระพุทธเจ้าทรงสอนให้คนดำเนินชีวิตให้สมดุลกับธรรมชาติโดยวิธีต่อไปนี้

1. การกินให้น้อย ท่านสอนให้กินเฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เพราะการทำดังกล่าว จะทำลายธรรมชาติน้อยลง ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะลงด้วย

2. การอยู่อย่างผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ คนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อยู่ภายใต้กฏของธรรมชาติ อันได้แก่ การาเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้าทุกชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน เขาก็จะไม่ไปรบกวนสิทธิของผู้อื่น

3. การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด  พระพุทธเจ้าสอนให้คนใช้ธรรมชาติในการพัฒนาจิตใจ พฤติกรรม และศีลธรรมของตนเอง  ดังนั้นคนต้องเรียนรู้การใช้ทรัพยากรอย่างฉลาด

ส่วนจากศาสนาอิสลามก็มีหลักจริยธรรมและปรัชญาทางเศรษฐกิจว่าไว้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันตัวอย่างเช่นข้อห้ามไม่ให้สร้างความเสียหายต่อระบบความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมจากสรรพสิ่งที่เอกองค์อัลลอฮฺได้ทรงสร้างมาทั้งหมดเพื่ออำนวยประโยชน์และอำนวยความสุขแก่มนุษย์ซึ่งหากเกิดความเสียหายแล้วมนุษย์ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า

 “พวกเจ้าอย่าได้สร้างความเสียหายขึ้นในผืนแผ่นดินนี้ หลังจากที่มันได้ถูกปรับปรุงแก้ไขอย่างเหมาะสมแล้ว และจงวิงวอนขอต่อพระองค์ด้วยความยำเกรงและความปรารถนาอันแรงกล้า แท้จริงความเมตตาของอัลลอฮฺนั้นอยู่เคียงข้างกับผู้กระทำดีทั้งหลาย” (ซูเราะฮฺอะอฺรอฟ: 56)

หรือในอีกโองการที่พระองค์ได้ตรัสอีกว่า

 “และเมื่อเขาหันหลังไปแล้ว เขาก็เพียรพยายามในผืนแผ่นดินนี้ เพื่อก่อความเสียหายและทำลายพืชผล และเผ่าพันธุ์ และอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงชอบการก่อความเสียหายดังกล่าว” (ซูเราะฮฺอัลบากอเราะฮฺ: 205)

นอกจากนี้มารยาทและแบบฉบับต่างๆของท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ศ็อลฯ) ก็ยังชี้ชัดในเรื่องนี้อีกด้วยเช่นมาตรการไม่ให้มีการทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำหรือคำสั่งเสียไม่ให้มีการตัดต้นไม้และฆ่าสัตว์โดยไม่จำเป็นอิสลามยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้สัญจรบนท้องถนนและการรักษาทัศนียภาพของสิ่งแวดล้อมมีกำหนดมาตรการจากท่านศาสดาให้มีการเก็บขยะหรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผู้สัญจรบนท้องถนนและถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธาเป็นต้น

ในเรื่องของการรักษาทรัพยากรอิสลามได้สอนให้มนุษย์รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดรู้คุณค่าและไม่ฟุ่มเฟือยโดยถือว่าผู้ละเมิดเป็นพวกพ้องของมารร้ายชัยฏอนดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้อัลกุรอาความว่า “และเจ้าอย่าฟุ่มเฟือยแท้จริงบรรดาผู้ฟุ่มเฟือยเป็นพวกของมารซัยฏอนและมารชัยฏอนนั้นเป็นผู้เนรคุณต่อผู้อภิบาลของมัน” (อัลอิสรออฺโองการที่ 26-27)

ในทางปฏิบัติของท่านศาสดาได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างอย่างชัดเจนครั้งหนึ่งท่านศาสดาเดินผ่านซะอัดขณะที่เขากำลังอาบน้ำละหมาดอยู่ท่านศาสดาทักเขาว่า “ทำไมใช้น้ำฟุ่มเฟือยเช่นนี้?” เขาถามว่า “ในการอาบน้ำละหมาดมีความฟุ่มเฟือยกระนั้นหรือ?” ท่านศาสดาตอบอย่างเน้นย้ำว่า “มีสิถึงแม้ท่านจะอยู่ข้างแม่น้ำไหลผ่านอยู่ก็ตาม”

หรือในกรณีที่ท่านศาสดาได้ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ หรือปลูกป่าทดแทน กล่าวคือผู้ที่ทำการปลูกต้นไม้หรือหว่านเมล็ดพืชลงในดิน หากมีมนุษย์ สัตว์หรือนกได้มากินพืชผลเหล่านั้นเขาก็จะได้รับผลบุญเป็นค่าตอบแทน ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

“ มุสลิมคนหนึ่งคนใดที่ได้ปลูกตันไม้ยืนต้นหรือล้มลุก แล้วมีบรรดานก คนหรือสัตว์ต่างๆ มากินมัน เขาจะได้รับผลบุญในสิ่งที่เขาได้กระทำไว้” 

เหล่านี้เป็นเพียงแค่หลักจริยธรรมเบื้องต้นจากศาสนาทั้งสองซึ่งผู้เขียนยกมาเพียงคร่าวๆจากความเข้าใจโดยทั่วไปเท่านั้นเพราะไม่ได้มีเจตนาจะพิสูจน์กันซึ่งๆหน้าว่าอะไรคือระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนที่สุดถึงกระนั้นก็ตามสิ่งที่อยากจะพิสูจน์ณที่นี่คือความจริงที่ว่าแหล่งขุมทรัพย์ทางปัญญาซึ่งสามารถพัฒนาวิถีชีวิตของมนุษยชาตินั้นไม่ได้ฝังอยู่แต่ในดินแดนฝั่งตะวันตกเท่านั้นยังคงมีความรู้และปรัชญานำพาชีวิตอีกมากมายที่แฝงอยู่ในคำสอนของศาสนาซึ่งใครๆเห็นว่าเป็นเรื่องล้าหลังไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์ความจริงมีความเป็นไปได้ว่าสิ่งที่ธรรมชาติและมนุษย์โลกแสวงหาอาจจะมิใช่ความเจริญทางด้านวัตถุเสมอไปแต่เป็นความเจริญทางด้านศีลธรรมและบางทีสิ่งเหล่านี้ก็มิใช่สิ่งที่จำกัดความก้าวหน้าทางสติปัญญาของมนุษย์เสมอไปแต่ยิ่งสนับสนุนมันต่างหากวันหนึ่งมนุษยโลกอาจตื่นมาพบว่า “กฎเกณฑ์” ทางศีลธรรมที่เข้าใจกันว่าจำกัดเสรีภาพของพวกเขาอาจเป็นหนทางสู่ “เสรีภาพ” ที่แท้จริงก็เป็นไปเราไม่มีทางรู้ได้เลย….