อวสานประวัติศาสตร์กับมนุษย์ยุคสุดท้าย

965

อนาคตของโลก หรือ อวสานของประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องที่พบได้ตามคำสอนของศาสนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พุทธ คริสต์ ยิว อิสลาม และ แนวทางจาริกจิตวิญญาณในแต่ละมุมของโลกใบนี้ หรือแม้แต่ สำนึกคิดร่วมสมัยตะวันตกในยุคปัจจุบัน ก็มีการเอ่ยถึงเรื่องนี้ แม้กระทั่งคนที่เชื่อว่า ยุคแห่งการยึดมั่นในหลักการได้สิ้นสุดลงไปแล้ว และมนุษย์จะไม่สร้างสำนักคิดเหมือนสมัยก่อนขึ้นมาอีก ก็ยังมีมุมมอง มีทฤษฎีใหม่ๆ ที่อธิบายถึง อนาคตของโลก  อนาคตของประวัติศาสตร์ และ อนาคตของมนุษยชาติ อย่างมากมาย โดยเฉพาะใน ศตวรรษที่ 20 ในแผ่นดินตะวันตก มีนักคิด นักวิชาการ  ตลอดจนไปถึงบุคลากรทั้งหน้าเก่า และหน้าใหม่ ออกมาอธิบายถึง”ตอนจบของประวัติศาสตร์” หลากหลายรูปแบบ การทบทวน ศึกษา ความคิดของมนุษย์ที่พูดถึงเรื่องนี้ เนื้อหาที่สะท้อนถึงยุคสุดท้าย ที่ปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์ หรือในหนังสือ เป็นข้อพิสูจน์ได้ดี ว่าคนยุคปัจจุบัน ให้ความสำคัญ และสนใจต่อยุคสุดท้ายของมนุษย์มากมายเพียงใด

หนังสือ The End of History and the Last Man เขียนโดย ฟรานซิส ฟูโกยาม่า (Francis Fukuyama) นักคิดร่วมสมัยคนสำคัญของตะวันตก บางคนอาจรู้จักเขาในนามนักยุทธศาสตร์ระดับต้นๆของโลกตะวันตกสมัยปัจจุบัน และยังมีดีกรีเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากค่ายตะวันตก เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่พูดถึง “ยุคสุดท้าย” โดยในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการนำเสนอ มุมมองของนักคิดคนนี้ต่อเรื่อง”ยุคสุดท้าย” และ”ชะตากรรมของมนุษยชาติ” ซึ่งในเบื้องต้นขอให้ผู้อ่านทำความเข้าใจกันก่อนว่า เมื่อเราพูดถึง”ตอนอวสานของประวัติศาสตร์” เรากำลังพูดถึงอะไร เพราะบางทีอาจจะมีคนเข้าใจว่า อวสานของประวัติศาสตร์ คงจะหมายถึง ร้อย หรือ สองร้อย หรือ หลายพันปีข้างหน้า ซึ่งนั่นไม่ใช่ความหมายของยุคสุดท้ายที่ เราต้องการจะสื่อถึง อวสานของประวัติศาสตร์ ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ ไม่ได้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่นับจากเวลา และตัวเลขขวบปี แต่หมายถึง  “สังคมของมนุษยชาติที่ทุกความหวัง ทุกๆความปรารถนาแห่งความเป็นมนุษย์ ถูกเติมเต็มอย่างสมบูรณ์”

เราอาจรู้จักด้วยคำเรียกที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับยุคนี้ เช่น ยุคทองแท้จริง,ยูโทเปีย,ยุคพระศรีอารีย์,วันที่บุตรแห่งมนุษย์จะปรากฏ หรือ วันปรากฏของอิมามมะฮดีย์(อ)  ขึ้นอยู่กับว่า จะรู้จักยุคนี้ด้วยชื่อไหน จากใคร แต่ความหมายของ ตอนอวสาน ก็คือ ยุคที่มีสิ่งเหล่านี้ ยุคที่สังคมมนุษย์บังเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง ไม่มีแรงจูงใจใดๆหลงเหลือให้ขับเคลื่อนไปอีก เพราะทุกอย่างได้สู่จุดสมบูรณ์ของมันแล้ว

คนกลุ่มหนึ่ง บ้างอาจเรียกพวกเขาว่า อนาคตนิยม เชื่อว่า ”อนาคตของมนุษยชาติ จะสิ้นสุดลงด้วยระบบการปกครองหนึ่ง หรือ รัฐบาลหนึ่ง ที่สามารถเปลี่ยนแปลงความมืดมนทั้งปวงที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นแสงสว่าง และความเรืองรอง และสามารถดึงตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ออกมาได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีความขัดแย้งใดๆ และวิกฤติใดๆเกิดขึ้นอีก มนุษย์จะดำเนินไปทิศทางเดียวกัน”  

นี่คือความคิดของพวกเขา ความเชื่อนี้เหมือนกัน ไม่ว่า คนๆนั้น จะอยู่ค่ายวัตถุนิยม โลกีย์วิสัย หรือ จิตนิยม หรือ นับถือศาสนาก็ตาม ทุกฝ่าย ต่างมีความเห็นตรงกันว่า สังคมยุคสุดท้ายจะเป็นเช่นนี้ และนั่นคือ โลกแห่งอุดมคติ หรือ โลกที่ถูกสัญญาไว้ ต่างกันตรงที่วิธีการไปถึง และระบบการปกครองที่จะพามนุษย์ไปสู่จุดๆนั้น ซึ่งแต่ละค่ายก็มีคำอธิบายไว้แตกต่างกัน

การเข้าใจนิยามนี้ จะทำให้เรารู้ว่า เมื่อพูดถึงมนุษย์ยุคสุดท้าย เรากำลังพูดถึง มนุษย์แบบไหน มีความคิดอย่างไร แน่นอนว่า ไม่ใช่อดีตของมนุษยชาติที่เต็มไปด้วย ความขมขื่น การกดขี่ ,ความกระหายที่จะก่อสงคราม และความโลภ แต่หมายถึง มนุษย์ที่เตรียมทุกสิ่งให้พร้อมเพื่อการมาเยือนของยุคแห่งความเรืองรอง และสามารถไปถึง เข้าใกล้เป้าหมายที่รอคอยมาอย่างช้านาน มนุษย์ยุคสุดท้ายที่ศาสนาเชื่อพระเจ้า ได้ให้นิยามไว้ เป็นเช่นนี้ และโลกที่สำนักคิดสายศาสนาได้นำเสนอ รวมไปถึงทัศนะของนักคิดตะวันตกที่พูดถึงมนุษย์ยุคสุดท้าย ต่างก็อธิบายในลักษณะเช่นเดียวกัน ในประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่คิดว่า ระหว่างศาสนา และทฤษฎีของนักคิดวัตถุนิยมตะวันตก จะมีความแตกต่างกันมากนัก เพราะเมื่อเราพิจารณาในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของตะวันตก ก็จะเห็นจุดสูงสุดของนักคิดตะวันตก ที่พยายามให้คำตอบถึงเรื่อง อวสานของประวัติศาสตร์ ในทำนองเดียวกัน

เราสามารถพบ”ความคิดเรื่องยุคอวสานได้ในสำนักคิดทั้งที่ดับแล้วและที่ยังอยู่มากมาย ในสำนักคิดมาร์กซิสม์  สำนักคิดอย่างไลเบอรัลลิสม์ ในมุมมองของนักปราชญ์สำนักเอ๊กซิสเทนเซียลลิสม์ ก็มีคำอธิบายถึง อนาคตของโลก และมนุษย์ยุคสุดท้ายเป็นของตัวเอง แต่ละสำนักต่างก็มีคำอธิบาย และความฝันถึง อนาคตของมนุษย์ยุคสุดท้ายเป็นของตัวเอง แต่ละฝ่ายต่างพยายามขับเคี่ยวนำเสนอ โลกใบใหม่ และความพิเศษของมนุษย์ยุคสุดท้าย ในฐานะของ สังคมตัวอย่าง มนุษย์ตัวอย่าง อย่างน่าแปลกใจ  แต่อย่างไร ทั้งสังคมนิยม เสรีนิยม ทุนนิยม กษัตริย์นิยม หรือ แม้แต่ สำนักคิดที่ไม่ค่อยถูกเอ่ยถึงในมหาวิทยาลัย ทุกคนจากทุกสำนักต่างก็อ้างว่า”ถ้าทำตามปรัชญาของพวกเขา มนุษย์ก็จะพบกับความผาสุก ไปถึงจุดสูงสุดแห่งการมีชีวิต”

ฟูโกยาม่ามองว่า มีเพียงกระบวนการเดียวที่สามารถไปสู่จุดสมบูรณ์ และมีระบบระเบียบ  เขาชี้ว่า มาร์ก กับ เฮเกล(Georg Wilhelm Friedrich Hegel) ทั้งสอง ต่างมีความเชื่อว่า “การพัฒนาสู่ความสมบูรณ์ของสังคมมนุษยชาติเป็นสิ่งที่ไม่ได้ไร้ที่สิ้นสุด” เมื่อใดที่สังคมมนุษย์ก้าวหน้าในรูปแบบหนึ่งที่ไปถึงยอดบนสุดของมัน ในด้านเทคโลยี วิทยาศาสตร์ สังคม กฎหมาย อื่นๆ ทุกสิ่งทุกอย่างพัฒนาไปถึงสูงสุดที่พัฒนาได้ ปริศนาของโลกถูกคลี่คลาย จักรวาล ไม่กว้างใหญ่อีกต่อไป เมื่อนั้นความปรารถนาของมนุษย์จะถูกเติมเต็ม และนั่นคือเหตุที่ “ประวัติศาสตร์จำเป็นต้องยอมรับ”ความสิ้นสุด หรือ ตอนอวสาน”

ในปี 1989 ฟูโกยาม่า ได้เสนอทฤษฎี The End of History  ของเขา และได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ ในปี 1992 ในชื่อ The End of History and the Last Man โดยฟูโกยามา นำเสนอทฤษฎีของตนเองอย่างมั่นอกมั่นใจในหนังสือของเขาว่า

อุดมการณ์สุดท้ายของมนุษย์ชาติ หรือ กล่าวในอีกแบบหนึ่ง “อวสานของประวัติศาสตร์” จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มนุษย์ปฏิรูปสังคมโลก โดยยึดแนวคิดของเฮเกล และ มีแนวคิดเดโมเครซี่ บวกเสรีนิยมเป็นหลัก(ปกครองแบบประชาธิปไตย โดยยึดการปกป้องสิทธิของปัจเจกชนเป็นหลัก)

ฟรานซิส ฟูโกยาม่า อธิบายถึงสาเหตุว่าทำไม ต้องยึดแนวคิดแบบนี้ว่า “ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ในการะยอมรับ แนวคิด แบบประชาธิปไตยเสรีนิยม( liberal democracy) ในฐานะระบบการปกครองที่สามารถสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นได้ และเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะ ประชาธิปไตยเสรีนิยม สามารถเอาชนะ คู่แข่งอย่าง ระบบกษัตริย์ ลัทธิคอมมิวนิสต์ (communism)ลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) ด้วยเหตุนี้เอง ระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม จึงมีความเป็นไปได้มากกว่าระบบใดๆ ที่จะกลายเป็น ระบบสุดท้าย และอุดมการณ์สุดท้ายของมนุษยชาติ เพราะ มันเป็นระบบที่พัฒนาและปรับปรุงได้เมื่อเผชิญหน้ากับข้อบกพร่องและ สิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสติปัญญา และจากการเผชิญหน้านี้ ระบบเก่าอย่าง คอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์และอื่นๆ จึงล่มสลาย ในขณะที่ประชาธิปไตยเสรีนิยม ไม่มีช่องว่างของความขัดแย้งจากโครงสร้างภายในเหมือนระบบเก่า มันจึงเป็นระบบที่ยังคงอยู่ยงคงกระพัน

จากคำอธิบายนี้ สรุปง่ายๆก็คือ ฟูกายามา อวย ประชาธิปไตยเสรีนิยม และเชื่อว่า มันคือ ระบบที่สามารถส่งพวกเรา สิ่งที่เรียกว่า “มนุษย์” ไปสู่จุดพีคสุดของการพัฒนา ด้วยเหตุผล หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่ทว่าผู้เขียนไม่เชื่อเช่นนั้น ผู้เขียนไม่เชื่อว่า นั่นคือ ระบบการปกครองสุดท้าย ของมนุษย์ เพราะเราไม่ได้รู้สึกว่า ความยุติธรรม กำลังเจริญเติบโต ทั่วโลกเหมือนผืนหญ้า และความอธรรม กำลังถูกถอนรากถอนโคน เหมือนการกำจัดปรสิต จิตใจของมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ภายใต้ระบบนี้เลย ซ้ำร้ายมันยังสร้างวงจรความเห็นแก่ตัวของชนชั้นสูง และผู้มีอำนาจได้อย่างไร้ที่สิ้นสุด ไม่ว่าจะแก้กันยังไง ปัญหา เหล่านี้ ก็ไม่เคยหมดไป แล้วมันจะสามารถพามนุษย์ไปสู่จุดสูงสุดในทุกๆด้านได้อย่างไร ในเมื่อแม้แต่จิตใจ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ คำกล่าวที่ว่า”ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่รอด” มักใช้เป็นเหตุผลในการสร้างความชอบธรรม ให้คนรวย สามารถรวบได้ อย่างถูกต้อง และคนจน ก็ต้องยอมรับชะตากรรม เมื่อแยกคุณธรรมออกจากการเมือง เมื่อคุณธรรมไม่ใช่หลักการของประชาธิปไตย แล้วใส่การเอาใจสิทธิของปัจเจกระดับสูง เช่นนี้แล้ว Happy Ending ของมนุษยชาติ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ดังที่เราได้กล่าวไปแล้ว ฟูโกยาม่า ถือว่า มีเพียงกระบวนการเดียวที่สามารถนำประวัติศาสตร์ ไปสู่จุดสมบูรณ์ และมีระบบระเบียบได้ แต่ในความคิดของเขา แม้ว่า เฮเกล กับ มาร์กซ์ จะมีพิสูจน์เรื่องอวสานของประวัติศาสตร์ เหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกัน ตรงที่เฮเกล มองว่า ระบบเสรีนิยมคือระบบสุดท้าย และมาร์กซ์มองว่า สังคมนิยม คือ ระบบสุดท้าย

ทฤษฎีของฟูโกยามา มีความสำคัญ (ถูกให้ความสำคัญ)เป็นพิเศษ ตรงจุดที่ทฤษฎีนี้ดันไปส่งเสริมให้ตะวันตก ภายใต้การนำของ USA เป็นชาติ ที่ถือระบบการปกครองแบบเสรีนิยมอันประเสริฐ มีอำนาจมากขึ้น และอยู่เหนือกว่าระบบการปกครองอื่นๆของมนุษย์ และด้วยอำนาจทางการทหารที่แผ่กระจายทั่วโลก ทำให้ USA กลายเป็นชาติมหาอำนาจที่สามารถกำหนดชะตากรรมของโลกได้ตามที่ใจปรารถนา ทฤษฎีบทนี้ มันจึงกลายเป็นทฤษฎีที่เจาะจงไปแล้วว่า หากจะให้สังคมมนุษย์บังเกิดสันติสุขได้ สหรัฐฯจะต้องครองโลกก่อน มันยังถูกสร้างขึ้นมา เพื่อปูพื้นฐานให้เกิดการยอมรับบทบาทของ สหรัฐอเมริกาที่มีต่อโลก ในฐานะของผู้นำประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยม การล่มสลายของสหภาพโซเวียต บวกกับ ความสำเร็จของโลกตะวันตกบางประเทศ  ทำให้เหล่านักเผยแพร่ทฤษฎีของ USA และ สำนัก Think Tank รู้สึกหึกเหิมใจขึ้นมา ลำพอง และชะล่าใจ จนพวกเขาเริ่มเชื่อว่า ทุนนิยมเสรีจะชนะเสมอ ตลอดไป ในทุกสมรภูมิ มันจะไม่มีวันล้ม ฟูโกย่าม่าเอง ก็เป็นหนึ่งในนั้น และก็เพราะเชื่อเช่นนั้น เขาจึงเสนอทฤษฎีนี้ขึ้นมา

กรณี อิหร่าน และมุสลิมนิกายชีอะฮ์ เป็นสิ่งที่ ตะวันตกกังวลใจ และต้องการปราบให้สำเร็จ ฟูโกยามามีส่วนในการเสนอ แผนการนี้ ในปี 1986 ที่เยรูซาเล็ม ฟูโกยาม่า ได้เสนอแผนจัดการชีอะฮ์ ในงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยกลุ่มไซออนิสต์ เขาอธิบายง่ายๆว่า “ชีอะฮ์เหมือนวิหคที่มีปีกสองข้าง ที่ระดับความสูงที่วิหคตัวนี้กำลังบิน อยู่เหนือระยะการยิงของเรา ปีกข้างหนึ่งมีสีเขียว ปีกอีกข้างมีสีแดง ปิกสีเขียวคือ ความเชื่อเรื่อง(การมาปรากฏของผู้นำยุคสุดท้าย) มะฮ์ดี และ การเรียกร้องความยุติธรรม และปีกสีแดงคือ อาชูรอ (อุดมการณ์ตามแบบฉบับของอิมามฮูเซน ที่ได้สำแดงวีรกรรมและวาทกรรมต่อต้านผู้ปกครองที่อธรรมไว้ ณ แผ่นดินกัรบาลา) ชีอะฮ์ เฝ้ารอคอยความยุติธรรมมาอย่างใจจดใจจ่อ พวกเขามีความหวัง และมนุษย์ที่มีความหวัง ย่อมไม่มีวันยอมแพ้ เราไม่สามารถควบคุมมนุษย์ ที่อ้างว่า จะมีคนๆหนึ่งปรากฏตัว โดยเขาจะเปลี่ยนให้โลกที่เต็มไปด้วยความอธรรม กลายเป็นความยุติธรรม อีกครั้ง ปีกนี้เองที่ทำให้ชีอะฮ์บินสูง ทำให้ศรอาบยาพิษทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และจริยธรรม ไม่สามารถไปถึงเป้าหมาย  ในความคิดของฟูโกยาม่า ชีอะฮ์ มีอีกมุมหนึ่งที่สำคัญนอกจากปีกทั้งสองข้าง นั่นก็คือ วิหคตัวนี้ สวมเกราะที่มีชื่อว่า “วิลายัต” โดยในบรรดานิกายต่างๆของอิสลาม มีชีอะฮ์เพียงนิกายเดียวที่มุมมองของพวกเขา คือ วิลายัตฟะกีฮ์ (มีเพียงชีอะฮ์เพียงกลุ่มเดียวที่ ยึดในอำนาจของฟากีฮ์ นักการศาสนาระดับสูงสุด) หมายถึง ในทัศนะของชีอะฮ์ ผู้ที่เป็นฟากีฮ์ คือ ผู้ที่มีอำนาจสามารถสั่งการได้ตามครรลองคลองธรรมสูงสุด ต่อประชาชาติทั้งหมด มุมมองความเชื่อนี้ ถือว่า ดีกว่า ทฤษฎีปกครองด้วยปรัชญาชั้นสูงของเพลโต เสียด้วยซ้ำ” ดังนั้นในมุมมองของฟูโกยาม่า การทำลายชีอะฮ์ จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องปลดเกราะแห่งวิลายัตนี้เสียก่อน พร้อมๆกับ การสอยปีกสีเขียว และปีกสีแดง วิหคตัวนั้นจึงจะร่วงลงสู่พื้นดิน

ในข้อเท็จจริง ประชาธิปไตยเสรีนิยม  ไม่ได้กำลังพัฒนา แต่มันหยุดอยู่กับที่มานานแล้ว ซ้ำร้ายมันยังถดถอยลงคลองอีกด้วย ส่วนเหตุผลว่าทำไม  liberal democracy ถึงกำลังพัง การอธิบายคำตอบในเรื่องนี้ ผู้เขียนขอเสนอเนื้อหาไว้ใน บทความฉบับหน้า ในหัวข้อ “ข้อบกพร่องของประชาธิปไตยเสรีนิยม” แต่หากจะย้อนแย้งแบบสั้นๆ ก็ขอตั้งคำถามง่ายๆว่า ถ้า ประชาธิปไตยเสรีนิยม คือระบบสุดท้าย และกำลังสมบูรณ์จริง โลกทุกวันนี้ ก็ต้องมีอัตราของคนรวย คนจน สมดุลกันดีกว่าในอดีต แต่พอเอาเข้าจริงๆ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ที่กำลังตรึงทิศทางขับเคลื่อนของโลก กลับทำให้สมดุลหลายอย่างเริ่มมีช่องว่าง และระยะห่างที่มากเกินไป ถ้าหากระบบนี้กำลังพัฒนาจริงๆ ไม่ได้ถอยหลังลงคลอง อย่างที่โฆษณาไว้ แล้วทำไม คน 8 คน บนโลก จึงมีทรัพย์สินมากกว่า คนครึ่งหนึ่งบนโลก มันจะกลายเป็นระบบสุดท้ายไปได้อย่างไร ถ้าฝากหนึ่งของตราชั่งคือ คนจำนวน ไม่ถึง 10 คน ในขณะที่ อีกฝากหนึ่ง มีจำนวนเป็นพันล้านคน…….?